Tag: โลกุตระ

คู่บารมี

July 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,025 views 0

คู่บารมี

คู่บารมี

คนที่จะมาเป็นคู่บุญคู่บารมีจริงๆแล้วสังเกตได้ไม่ยาก เพียงแค่ถือศีลตั้งตบะ ปฏิบัติธรรมให้แกร่งกล้า ถ้าเขาคนนั้นเป็นของจริง เขาก็จะตามมาได้เอง

ในกรณีตัวอย่างของพระนางยโสธรา ซึ่งละทิ้งการประดับแต่งตัว เปลี่ยนมานอนพื้นที่แข็ง กินมื้อเดียว เป็นต้น ซึ่งเป็นบารมีเก่าที่ท่านสะสมมามาก

ส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่อยากจะถือศีลปฏิบัติธรรมกัน มักจะพากันให้เสื่อมจากศีล พากันไปชั่ว จึงไม่สามารถวัดได้จริงว่าคนที่หมายปองนั้นเป็นคู่บุญคู่บารมีหรือไม่ เพราะโดยมากก็ลากกันลงนรก พากันมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เป็นคู่เวรคู่กรรมกันเสียมากกว่า

ถ้าอยากลองทดสอบกันจริงๆ ก็ให้ถือศีลให้มั่น ตั้งตบะให้สูงเท่าที่จะทำได้ เลิกกินเนื้อสัตว์ กินมื้อเดียว เว้นจากการสมสู่ ไม่รับบุตรและภรรยา(สามี) คือไม่คบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานเลยก็ยิ่งดี เป็นศีลระดับสูงที่จะมาคัดว่าคนนั้นของจริงหรือไม่ ถ้าเป็นพวกคู่บาปคู่เวรนี่เจอศีลนิดหน่อยก็หนีแล้ว แต่ถ้าเป็นของจริงเราตั้งใจปฏิบัติธรรมขนาดไหนเขาจะไม่หนี เขาจะตาม เพราะเขาตามมาหลายชาติแล้ว ชาตินี้เขาก็เลยตามได้สบายๆ แถมเขาจะไม่ผูกมัดเราด้วยสิ่งต่างๆ ยอมปล่อยให้เราคงสถานะเช่นนั้น และยังเอื้อให้เราปฏิบัติได้สูงยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย แต่คู่เวรคู่กรรมนั้นจะตามไม่ไหว เพราะพลังดีจะกั้นคนชั่วให้ออกจากชีวิตหรือไม่ก็จะกลายเป็นมารที่พยายามผูกมัดเราด้วยสถานะของคนคู่ ยั่วยวนเราให้หลงเสพหลงสุข ให้เสื่อมจากศีล เพื่อให้เขาได้เสพสุขจากเรา

จะเห็นได้ว่าคู่บารมีคือผู้ที่เข้ามาทำให้เรามิทิศทางที่เจริญเติบโตขึ้นในทางธรรม ทำให้พ้นจากวิธีของโลกียะ ไปสู่โลกุตระ ในทางกลับกันคู่เวรคู่กรรมจะเข้ามาฉุดไม่ให้เราโตในทางธรรม ทำให้เราหลงวนอยู่กับโลกียะ มัวเมาอยู่กับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ไม่ปล่อยให้เราพ้นจากความหลงเหล่านี้

คู่บารมีจะอยู่ในสภาพของเพื่อน แม้ต่างเพศก็จะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ถึงจะพลาดแต่งงานไปแล้วแต่สุดท้ายจะอยู่กันเหมือนเพื่อน เพราะเป็นสถานะที่ดีที่สุดที่จะพากันให้เจริญ

ในละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๑ ได้มีบทพูดว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ทนทุกข์เล่า” หมายถึงการไม่เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กน้อย ยอมไม่ครองคู่เพื่อให้ประโยชน์ที่มากกว่ากับผู้อื่น แทนที่จะให้เวลากับคนแค่สองคน ก็เอาเวลาไปใส่ใจกับคนอีกมากจะดีกว่า เมื่อเห็นเช่นนี้ ศิษย์พระพุทธเจ้าทุกคนย่อมสละประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า

การไม่ครองคู่ และคงสถานะเป็นเพียงแค่เพื่อน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน จึงเป็นความเจริญของผู้ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,353 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,206 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดไม่เป็นสุข

May 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,236 views 0

ช่วงนี้เหมือนมีไฟพิมพ์เรื่องโสดๆนี้มาก จึงเอาโอกาสนี้มาไขความกันหน่อย

บทความความรักทั้งหลายที่ผมพิมพ์ขึ้นมานี้ มีเนื้อหาเพื่อให้ออกจากกามเป็นหลัก(การหลงว่าการมีคู่เป็นสุขเมื่อได้เสพ) คนที่พยายามพิจารณาตามไปจะค่อยๆคลายจากกามได้

ทีนี้ถ้าเราเอาแต่กดข่ม ทนฝืน โดยไม่เห็นตัวกิเลสที่เป็นเหตุให้เราอยากเสพนั้น เราจะยิ่งเครียดไปเรื่อยๆ ยิ่งพยายามก็ยิ่งยาก ยิ่งกดดัน ยิ่งทำก็ยิ่งท้อ สุดท้ายก็ตบะแตกนั่นแหละ

สภาพของ “โสดอย่างเป็นสุข” ความโสดที่ไม่มีกามและอัตตาเป็นสภาวะที่เดาเอาไม่ได้ เหมือนจะไม่มีจริงในโลก(โลกียะ) ซึ่งจริงๆมันก็มีแต่ไม่ได้อยู่ในวิสัยของโลก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโลก (โลกุตระ)

คนที่พยายามเดาจะเข้าใจไม่ได้ จึงคิดว่าเป็นเพียงจินตนาการ เป็นอุดมคติ เป็นความฝัน เป็นภพของคนเจ็บจากความรัก เป็นคนเกลียดความรัก ซึ่งก็ถูกที่เขาจะคิดแบบนั้น เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้เพียงแค่การด้นเดาเอาเอง

เดาไปก็ผิด คิดเอาก็หลงทาง มีทางเดียวคือน้อมใจเข้ามาศึกษาและเพียรปฏิบัติจนเห็นผลเองในตน

แถม… บทความ “โสดไม่ได้เสพ” ที่ลงไปก่อนหน้านี้คือแผนที่แรกที่เราจะสามารถใช้แกะรอยกิเลสได้

การจะทำลายกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัยนั้น หากไม่พิจารณาลงไปที่เหตุเกิดของกิเลสนั้นก็ไม่มีทางทำลายได้

ก่อนจะข้ามไปที่ โทสะ โมหะ โลภะ ราคะ หรือกิเลสใดก็ตาม ให้ค้นให้ชัดว่าเราอยากเสพอะไร แล้วจึงค่อยพิจารณาเพื่อระบุจำแนกชนิดของกิเลสอีกที

แล้วค่อยเจาะลงไปอีก ลงไปอีก กิเลสจะมีลักษณะเป็นชั้นๆที่ซับซ้อนการกรรมที่ผูกมา