Tag: มังสวิรัติวิถีพุทธ

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,537 views 0

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเป็นองค์รวมเพื่อตรวจสอบและฆ่ากิเลส หากท่านไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การตรวจสอบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ซ้ำยังเป็นโทษเพราะการที่ไม่มีความเข้าใจในกิเลส ไม่เข้าใจในการวิปัสสนา ไม่เข้าใจธรรมจะทำให้เข้าใจความหมายและตีความเนื้อหาในบทความนี้ผิดได้

ในบทความนี้เราจะตรวจสอบกันสองอย่าง 1. กาม หมายถึงกามภพ การที่เข้าไปเสพไปติดไปยึดเนื้อสัตว์อยู่ และตรวจไปถึงรูปภพ อรูปภพ 2.อัตตา หมายถึงสภาพยึดดีถือดี

การอ่านและทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้วนำไปทดสอบในชีวิตจริงหากยังเกิดสภาพของกามและอัตตาขึ้นอยู่ถือว่ายังไม่ผ่าน ให้เพียรพยายามฝึกฝนตัวเองล้างกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วค่อยกลับมาตรวจใจอีกครั้ง

ขั้นตอนที่1).กินร่วมโต๊ะ

เมื่อเราต้องไปกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตรสหาย หรือกระทั่งคนรัก เราซึ่งเป็นคนกินมังสวิรัตินั้นก็มักจะมองหาเมนูผักละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถสั่งเมนูผักมากินเป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมนูเนื้อสัตว์มากมายวางอยู่บนโต๊ะ เราไม่สามารถเบือนหน้าหนีสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ากลิ่น กลิ่นที่น่าดม รสที่เคยติด สัมผัสที่เคยคุ้น มันยังคงหลอกหลอนอยู่ข้างหน้า

ขั้นตอนที่2). ตรวจสอบกาม

ถ้าหากเรายังมีความอยากอยู่ อาการของเราก็จะออกชัด อย่างเช่นผู้ที่ยังอยู่ในกามภพ คือยังหยุดเสพไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่ทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ในวงอาหารนี้เอง บางคนนี่ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่กินแล้วนะ แต่ถ้ากินเป็นกลุ่มทีไรก็พลาดทุกที อันนี้คือยังไม่สามารถออกจากกามภพได้อย่างเด็ดขาด

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ คือมีความอยากเป็นรูปให้เห็นเช่นมีคำพูดในใจว่าอร่อย อยากกิน น่ากิน ฉันอยากกินแต่ก็อดกลั้นบังคับตัวเองไม่ให้ไปกินได้ อาการจะออกเป็นการมองไปที่เมนูเนื้อสัตว์บ่อยๆ น้ำลายสอ อยากกินแต่กดข่มไว้ ผู้ที่มีสติดีและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองจะรับรู้อาการได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในรูปภพจะดูดีเหมือนคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสมบูรณ์เพราะไม่กินแล้ว แต่จิตใจข้างในยังอยากกินอยู่ คนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกอยากก็คือคนมีอัตตามาก ยึดดีมาก เรียกภาษาชาวบ้านว่าเก๊กหรือทำเป็นเก่ง

แต่รูปภพก็ยังถือว่าดี เจริญขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องระวังอัตตาด้วยเพราะอัตตาที่หลงว่าตัวเองเก่งนี่เองคือตัวบังไม่ให้เราเจริญในธรรมขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรับรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องกดข่ม ยังไม่ต้องรีบหาเหตุผลมาบอกว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้เห็นปริมาณความอยากก่อน เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจึงจะสามารถเห็นความอยากได้ชัด เพราะถ้าเรามัวไปหมกมุ่นกับภาพลักษณ์หรือมัวแต่เก๊กก็ยากที่จะเห็นความอยากของตัวเอง

เมื่อไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ก็ปิดประตูในการล้างกิเลสของตัวเองไปเลย เพราะไม่เห็นแล้วมันก็ไม่รู้จะล้างอย่างไร นักมังสวิรัติจะมาติดอยู่ในรูปภพนี้กันมากเพราะจะใช้การกดข่ม ใช้ตรรกะ ใช้ความดีเข้ามากดไว้ ทำให้มีอัตตา ไม่ยอมมองไปที่ความอยาก มองเห็นแค่เพียงกินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ถ้าใครจะยินดีอยู่ในภพนี้ก็ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ใครจะเลือกกรรมแบบไหนให้ตัวเอง

ส่วนผู้ที่มาติดอยู่ในอรูปภพ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแม้ว่าจะเอามาวางล่อตรงหน้าก็ไม่รู้สึกว่าอยากกิน แต่อาจจะยังเหลือความรู้สึกเสียดาย เป็นความรู้สึกขุ่นมัวที่ไม่ใส ไม่ยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่จะไม่ออกอาการใดๆให้คนอื่นหรือตัวเองเห็นได้ชัด ต้องใช้สติที่ละเอียดจับความเปลี่ยนแปลงของกาย หมายถึงทั้งจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอาการที่สังเกตได้ยาก เล็กๆ เบาๆ สั้นๆ เหมือนกับฟ้าผ่า ฟ้าแล่บ เมฆฝนขมุกขมัว คนที่ไม่มีญาณปัญญาหรือตัวรู้กิเลสจะจับกิเลสใดๆในอรูปภพนี้ไม่ได้เลย เหมือนจะไม่มี มองไม่เห็น แต่จริงๆแล้วมันยังมีอยู่แต่จับมันไม่ได้ มันยังเป็นความอยากที่เหลืออยู่เล็กน้อยที่ทำให้ขุ่นมัวในใจ ในระยะเริ่มต้นต้องใช้อาการทางกายสะท้อนให้เห็นเอาเช่นน้ำลายไหล เสียงท้องร้อง แต่ถ้าเก่งๆจะรู้ได้เองว่ากิเลสยังเหลืออยู่หรือไม่คนที่ติดอยู่ในภพนี้จะดูดีมาก ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์แต่ถ้าไม่ยอมล้างกิเลส ก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้เหมือนที่เราเห็นนักมังสวิรัติหลายคนที่กลับไปกินเนื้อสัตว์แล้วไม่สามารถกินมังสวิรัติได้อีกเลย นั่นเพราะกิเลสมันแอบโต เพราะใช้วิธีกินมังสวิรัติโดยการกดข่มความอยากไว้สุดท้ายก็จะทนความอยากไม่ได้วันใดวันหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งก็จะเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์

การพ้นจากกิเลสสามภพ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพในโจทย์ข้อนี้นั้นเพียงแค่เหตุการณ์กินร่วมโต๊ะ หากผ่านไปได้โดยที่ไม่มีความอยากเกิดขึ้นให้ได้รับรู้ก็ถือว่าผ่าน รอไปทดสอบในด่านของอัตตา หรือในระดับต่อๆไปได้

ขั้นตอนที่3). ตรวจสอบอัตตา

หากว่าเราเป็นผู้ผ่านในระดับกามมาแล้ว คือยินดีที่จะไม่เสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีเนื้อสัตว์มาวางตรงหน้าก็ไม่อยากกิน ไม่กินโดยที่ยังมีความสุขใจอยู่ แต่กลับมีอาการของฝั่งอัตตาขึ้นมาแทนเช่นไม่ชอบใจที่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่ชอบที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนกินเนื้อสัตว์ ไม่ชอบใจที่ได้กลิ่นเนื้อสัตว์และเห็นคนกินเนื้อสัตว์แสดงท่าทีเอร็ดอร่อย มีอาการรังเกียจกลิ่นและรังเกียจผู้ร่วมโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากร่วมโต๊ะ อยากจะแยกๆกันกินจะดีกว่า

อาการเหล่านี้เรียกว่าความยึดดีถือดี มันจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่มันก็จะไม่มีความสุขที่ต้องกินร่วมโต๊ะกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คือไม่ยินดีร่วมใช้เวลาด้วยกัน รู้สึกขุ่นเคือง รังเกียจ ไม่ชอบใจอยู่ในใจลึกๆหรือกระทั่งแสดงอาการรังเกียจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นได้

การมีอัตตาหรือการยึดดีถือดีเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่ควรจะมี เพราะยังถือว่าเป็นความชั่วอยู่ ในส่วนที่กินมังสวิรัติได้นั้นดีแล้วแต่หากยังมีอาการเหล่านี้ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ดี เรียกว่า นรกคนดี คือหลงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่าคนอื่นก็เลยยกตนข่มท่าน ยกว่าตัวเองดีแล้วมักจะข่มผู้อื่นด้วยถ้อยคำ ท่าทาง ความคิด ฯลฯ

คนที่ติดดีเหล่านี้ยังไม่ผ่านด่านอัตตา จะเป็นลักษณะของมังสวิรัติทำลายโลก คือกินผักกินหญ้าไปก็ทำร้ายจิตใจคนอื่นไปด้วย ยังถือว่าหยาบอยู่ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมผู้ลดเนื้อกินผัก เป็นอัตตาระดับหยาบธรรมดาๆไม่ใช่สิ่งพิเศษแต่อย่างใด สามารถมีได้ในคนกินมังสวิรัติทั่วไปโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อัตตาตัวนี้มา เป็นกิเลสที่เห็นได้โดยทั่วไป ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ายกย่อง หยาบ มีโทษมาก เป็นภัยมาก สร้างบาปกรรมอย่างมาก

ขั้นตอนที่4). สรุปผล

เราจำเป็นต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆย้ำๆ มีโอกาสก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ตัวเองได้เห็นกิเลสชัดยิ่งขึ้น เพราะความไม่อยากนี่ก็เป็นกิเลสเช่นกัน ผู้ที่ผ่านด่านนี้คือผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายใดๆแม้จะต้องร่วมโต๊ะกับผู้อื่นซึ่งเขาเหล่านั้นยังกินเนื้อสัตว์อยู่

ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านที่ง่าย หากจิตใจของท่านยังวนเวียนอยู่ในกามและอัตตาก็อย่าเพิ่งรีบขยับไปตรวจขั้นต่อไปให้มันลำบากเพราะถ้าด่านง่ายแบบนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ด่านยากกว่านี้ก็ไม่มีวันที่จะผ่านได้ ดังจุดประสงค์ของเราคือการล้างกิเลส ซึ่งการกินมังสวิรัตินั้นเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะล้างกิเลสเป็น แต่คนล้างกิเลสเป็นจะกินมังสวิรัติได้ เป็นการกินในลักษณะรู้แจ้งโทษชั่วทุกประการทั้งในมุมกามและอัตตา สุดท้ายเนื้อสัตว์เราก็จะไม่กินและอัตตาเราก็จะไม่มี

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

November 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,632 views 0

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมจึงต้องหยิบยกการกินมังสวิรัติมาเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปฝึกสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฝึกขยับร่างกายเพ่งกสิณ ฯลฯ

การนำมังสวิรัติมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่การฝึก แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบจริง เข้าสู่สนามชีวิตจริง เจอกิเลสจริง สู้กับกิเลสจริง ทำลายกิเลสจริง เราจะทำการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกับการเรียนรู้ความพ่ายแพ้ต่อกิเลสนับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะชนะมันในวันใดวันหนึ่ง ชาติใดก็ชาติหนึ่งซึ่งเป็นการชนะครั้งสุดท้าย

จริงๆแล้วเราสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหัวข้อปฏิบัติธรรมก็ได้ เช่น ความโกรธ ความโลภ เรื่องปวดหัวในที่ทำงาน เรื่องวุ่นวายในครอบครัว ปัญหาชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้มาให้เราได้ฝึกปฏิบัติทุกวันเหมือนอย่างการกินมังสวิรัติ

พระไตรปิฎกในบทของอาหาร ๔ ว่าด้วยเรื่องอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญของชีวิต ในข้อ ๑ จะเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และในข้อ ๒ คือเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร ซึ่งเราจะเน้นหนักในข้อนี้

ผัสสะ คือสิ่งกระทบ คือการกระทบ คือการที่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระทบแล้วตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเปิดรับ หรือรับรู้สิ่งนั้นได้ การมีผัสสะนั้นทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีกิเลสมาก แล้วเกิดผัสสะจิตใจจะเกิดทุกข์ กระวนกระวายมาก เหมือนกับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินมังสวิรัติ เมื่อเจอเนื้อสัตว์ก็จะเกิดความอยากรุนแรง เกิดทุกข์แรง

การปฏิบัติธรรมด้วยเหตุอื่นๆนั้นสามารถทำได้ เช่นความโกรธ เมื่อเรามีผัสสะเข้ามาเราก็สู้กับความโกรธนั้น หาเหตุแห่งความโกรธนั้น ดับความโกรธนั้นด้วยวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเกิดความโกรธ แล้วใครจะมาช่วยทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วถ้าความโกรธนั้นเกิดขึ้นจริงเราจะหยุดได้ ดับได้ ปล่อยวางได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเราหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม ก็ขอยืนยันเลยว่ายาก เพราะเราจะควบคุมปริมาณผัสสะที่เข้ามาไม่ได้ ควบคุมความรุนแรงไม่ได้ และความโกรธนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องเจอในชีวิตอยู่แล้ว เหมือนสนามรบจริงๆ ถึงเราไม่อยากเข้าร่วมก็ต้องเข้าร่วมอยู่ดี

ไม่เหมือนกับการกินมังสวิรัติ คือเราสร้างสนามซ้อมขึ้นมา แต่ซ้อมกับกิเลสจริงๆของเรานี่แหละ เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราจะสู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ของเรา เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร เช่น วันละประมาณ 3 มื้อ หรือในมื้อเย็นต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนๆ จะสู้กิเลสอย่างไร ซึ่งเมื่อเราหัดปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ จะสามารถประมาณกำลังของผัสสะให้เหมาะกับกิเลสได้ง่าย เจริญได้ง่าย ไม่ยากเกินไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพ และสร้างกุศลจากการละเว้นมากมาย

สนามปฏิบัติธรรมมังสวิรัตินั้นจะเกิดขึ้นมาไม่ได้หากเราไม่ถือเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ได้ถือศีลมังสวิรัติ ไม่ได้บำเพ็ญตบะงดเว้นเนื้อสัตว์ เมื่อเราไม่มีเครื่องกั้นกิเลส เราก็จะไม่เห็นกิเลส แม้ว่าจะใช้ชีวิตผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะไม่เห็นกิเลส แตกต่างจากคนที่ตั้งศีลมังสวิรัติไว้ในใจ เขาเหล่านั้นจะเห็นกิเลสอย่างชัดเจนเมื่อมีผัสสะ มีเนื้อสัตว์ตรงหน้า มีสเต็ก มีหมูปิ้ง มีเนื้อย่าง มีอาหารทะเล สิ่งเหล่านี้คือผัสสะที่เข้ามากระตุ้นให้กิเลสเกิดอาการอยากเสพ เมื่อกิเลสไม่ได้เสพสมใจก็จะออกอาการทุกข์ทรมานใจ กระทั่งส่งผลไปถึงทรมานกายเลยก็สามารถทำได้ เช่นเมื่อไม่ได้กินเนื้อก็ออกอาการหมดแรง น้ำลายไหล หิวกระหาย ท้องร้อง ไม่สบาย ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เกิดจากกิเลสสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติ เป็นสภาพลวงตาที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หลงว่าการได้เสพเนื้อสัตว์นั้นจะสร้างสุขให้และเมื่อไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เราก็จะเป็นทุกข์

การปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติเพื่อทำลายความอยากเสพเนื้อสัตว์จึงเป็นเหมือนทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งจริง เพราะถึงแม้ว่าเราจะพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส กลับไปเสพเนื้อบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเสียรุนแรง ไม่เหมือนกับเรื่องของความโกรธ ถ้าเหตุการณ์ใดเกิดแล้วทำให้โกรธจนคุมสติไม่อยู่ สร้างบรรยากาศที่ไม่พอใจออกไป แสดงสีหน้าไม่พอใจออกไป แสดงอาการไม่พอใจออกไป เช่น ด่า ว่า กล่าว แขวะ ประชด ลงไม้ลงมือ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ดังนั้นการนำมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้ผู้เริ่มปฏิบัติธรรมได้เข้าใจกระบวนการของการล้างกิเลส โดยใช้การปฏิบัติที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมใดๆเข้าไปในชีวิต มีแค่เพียงการลดการเสพ ลดความอยากลงไปเท่านั้น ผิดพลาดก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้าล้างกิเลสได้ก็เจริญมาก

เมื่อประเมินจากความคุ้มค่าในการเลือกข้อปฏิบัตินี้มาเป็นกรรมฐาน จึงได้สร้างกลุ่มปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติขึ้นมา และเผยแพร่แนวทางและวิธีการเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีเวลาว่างไปวัด ไม่มีเวลาทำทาน ไม่มีเวลาฟังธรรม ได้ลองปฏิบัติโดยใช้การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนที่กิเลส เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน หรือพึ่งพาใคร เพราะเราปฏิบัติที่ใจ ใจที่มีกิเลส มีกิเลสตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น เราถือศีลให้เห็นกิเลส

เมื่อเห็นกิเลสก็พิจารณาโทษของกิเลสไปเรื่อยๆนั้น จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือทำตนเองให้มีธรรมะ การจะมีธรรมะได้นั้นต้องกำจัดความหลงผิดในธรรม คือความไม่เป็นธรรม ความลำเอียง ความโง่ ความมัวเมา ฯลฯ เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการทำลายกิเลส ไปใช้กับกิเลสตัวอื่นได้เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลงเสพ หลงติด หลงยึด ฯลฯ เพื่อความเจริญอื่นๆสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,257 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์