Tag: คนพาล

ความเสแสร้งของคนพาล

February 26, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 657 views 0

ได้ดูคลิปของรายการหนึ่ง ที่ ceo ปลอมตัวไปศึกษาพนักงานนิสัยไม่ดีคนหนึ่ง ก็เป็นคลิปที่ทำให้เห็นตัวอย่างของความกร่างและความเสแสร้งได้ชัด (จะโพสไว้ในคอมเม้นให้ได้ดูกันก่อน)

คือคนนิสัยไม่ดีเนี่ย เวลาที่เขาทำไม่ดี เขาใช้อำนาจ เอาแต่ใจ ทำผิด ฯลฯ เขาไม่ค่อยบอกให้คนอื่นรู้หรอก เวลาเขาไปพบผู้บังคับบัญชาก็จะปิดบังข้อมูลจากปัญหาที่ตนก่อ ทำให้ผู้บังคับบัญชา หัวหน้า เจ้าของ ไม่ได้รับรู้ความจริง

ร้ายไปกว่านั้น คือถ้าคนพาลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เรียกได้ว่ามีอำนาจที่จะบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้มาก คือจะซ่อนปัญหาที่เกิดจากตัวเองไว้ แล้วก็รายงานเรื่องอื่น ๆ ให้ดูเป็นปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง เป็นต้น

อย่างในเรื่องนี้ เจ้าของแฟรนไชส์สาขานี้ เขาก็ไม่ได้รู้ชัดเจนหรอกว่าผู้รับผิดชอบร้านเขาร้ายแค่ไหน แต่เขาคงพอได้ข้อมูลมาบ้างแหละ แค่ไม่ชัด ceo แฟรนไชส์นี้ก็เลยปลอมตัวไปสังเกตุการณ์ และพบว่าพนักงานคนที่ถูกชี้เป้านี้ ร้ายจริง ๆ ร้ายทั้งต่อพนักงานด้วยกันและร้ายต่อลูกค้า

เราจะได้เห็นตัวอย่างของความกร่าง อวดดี ถือดี ซึ่งส่วนมากก็แบบนี้แหละ อยู่มานาน สะสมอำนาจมานาน ใหญ่คับแผ่นดิน แต่พอโดนตรวจสอบเข้า โดนกล่าวหา ก็กลับกล่าวหาผู้ที่กล่าวหากลับ

ถ้าเราดูเฉพาะช่วงที่ ceo เอาข้อมูลมากล่าวหา ก็ดูจะเหมือนว่าไปรังแกพนักงานคนนี้ยังไงอย่างงั้น นี่คืออาการเสแสร้งแกล้งทำของคนพาล

บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ คนพาลนี่เขาจะไม่ชอบให้ตรวจสอบ ไปชี้ประเด็นหรือไปทักอะไรเขา ถ้าเราไปทัก ไปถามอะไรที่เกี่ยวกับอำนาจ บารมี หรือการทำงานของเขา เขาจะย้อนกลับมาแรง ๆ จะกล่าวหากลับ เพื่อปกปิดข้อด้อยของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีของคนพาลอย่างชัดเจน คือเมื่อถูกกล่าวหา ก็จะกล่าวหาโจทย์กลับ

เคสนี้ก็เหมือนกัน เขาก็จะโจมตีกลับ ให้เหมือนถูกกระทำ ให้เหมือนโดนเข้าใจผิด ใครไปเจอกับคนพาลนี่คงจะต้องปวดหัวกันเกือบทุกราย เพราะเขาจะไม่ตรงไปตรงมา เหมือนจะตรงแต่ก็ไม่ตรง เหมือนจะจริงใจแต่ก็ไม่จริงใจ ลึกลับ แอบซ่อน กลับกลอก น่าปวดหัวเป็นที่สุด ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปยุ่งมาก

ในเรื่องเขาก็ต้องลงทุนในการหาหลักฐานอ้างอิง ถึงขนาดปลอมตัวเข้าไป จึงจะเอาอยู่ ถ้าไม่มีหลักฐาน จะกล่าวหาไปก็จะกลายเป็นการประชันฝีปากกันเฉย ๆ

จะปราบคนพาลนี่ปราบไม่ง่าย ต้องใช้พลัง ใช้แรง ใช้คนจำนวนมาก ไม่เหมือนปราบบัณฑิต ถ้าคนนั้นมีความเห็นถูก เป็นคนดี ไม่เพ่งโทษ ตินิดเดียว เขาก็ปรับปรุงแล้ว หรือถึงไม่ปรับก็จะไม่มีอาการชังกระแทกกลับมาให้เสียบรรยากาศ

แต่ถ้าไปติเตียนคนพาล จะกลายเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง กลายเป็นเขามองว่าเราเป็นศัตรู เขาจะตั้งแง่กับเรา จับผิดเรา จองเวรเรากลับ ถ้าไม่มีบารมีที่มากพอ อย่าคิดจะไปชนกับคนพาลเชียว นอกจากจะใจเสียแล้ว ยังเสี่ยงมารพจญแบบไม่รู้จบอีกด้วย

นั่นเพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้นจะจัดการคนพาลไม่ต้องมากเรื่อง หาหลักฐานที่ชัด ๆ แล้วฟ้องผู้มีอำนาจ สืบสวน สรุปผล จบแล้วจับโยนออกไปเลยจะเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลามากที่สุด เพราะปล่อยให้พูดกันเปล่า ๆ ก็จะแถ เสแสร้ง แกล้งทำกันไปเรื่อย พาลจะสับสนเปล่า ๆ

พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 612 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น

การช่วยเหลือคนพาล

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 684 views 0

วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?

จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน

1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก

2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น

3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง

การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น

ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย

พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ

แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา

ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา

สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ

แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ

ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย

คนพาลสอนรัก

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 527 views 0

ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ

ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง

หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง

การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม

การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง

การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก

ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก

สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว

นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก

ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์

เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก

มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที

ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ