ทันทีที่หันหลังไปจากธรรม เราก็ห่างกันไกลแล้ว

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 594 views 0

เมื่อชีวิตเราหันมาปฏิบัติธรรม สังคมและกลุ่มเดิม ๆ ก็จะจางไปเป็นธรรมดา ก็อาจจะมีบ้างที่มาสนใจเหมือนกับเรา แต่ถ้าเขาไม่ได้มีศรัทธาในธรรมที่เสมอกัน ไม่นานเดี๋ยวเขาก็จะหลุดไป

ผมก็เคยมีเพื่อนที่มีสนใจธรรมในทางเดียวกันนะ แต่ไม่นานเขาก็ห่างไป ก็เคยนึก ๆ เสียดายว่าพื้นฐานก็ดี ปัญญาก็มี วันใดวันหนึ่งเขาก็คงกลับมาล่ะมั้ง

แต่ในความเป็นจริงมันยากกว่าที่ผมคิด เมื่อได้คิดทบทวนไปว่า เราตั้งใจปฏิบัตินะ ชีวิตเราดำเนินไปตามทางปฏิบัติที่ถูกต้องนะ แล้วเขาหันหลังเดินไปคนละทิศกับเรา มันก็ห่างไปเรื่อย ๆ ล่ะซิ

เหมือนเราพยายามจะเดินขึ้นเหนือ เขาเดินลงใต้ เดินก้าวละวินาที ผ่านไปหนึ่งวินาทีก็ห่างกันสองก้าวแล้ว เขาก็ไปทาง เราก็ไปอีกทาง มันไม่มีทางที่จะกลับมาเจอกันหรอก

ก็คงเหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ขยายข้อธรรมในเรื่องอนันตริยกรรมไว้ว่า ถ้าเจอหมู่มิตรดีแล้ว รู้ว่าคนนั้นกลุ่มนั้นเป็นคนดีจริง แต่ไม่ทำตาม ไม่ปฏิบัติตาม ทำตรงข้าม ก็เข้าข่ายมีกรรมหนัก

ผมเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่า คนจะเข้ามาหาเราได้ มาศึกษาร่วมกับเราได้ เขาจะต้องมีศีล หรือพยายามปฏิบัติศีลที่ใกล้เคียงกับเรา หรือทำความดีอะไรอย่างหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจนอยู่ มันก็จะพาวนมาเจอกันได้ แต่พอเขาเสื่อมจากศีล เสื่อมจากความดี เขาก็จะหลุดไปเอง

ดังนั้นการจะมาพบกันได้อีกนั้น เขาจึงต้องหยุดชั่วและทำดีมาก ๆ ซึ่งมันจะยากกว่าเจอกันตอนแรกแบบมหาศาล เพราะมันมีวิบากบาปที่เคยหันหลังไม่เอาสิ่งดีแบบเรามาแล้ว จริง ๆ มันก็คือจิตดูถูกนั่นแหละ คือรู้ว่าเราดีนะ แต่ไม่เอาหรอก ไปเอาอย่างอื่นดีกว่า

ถ้าเราไม่ดีจริง มันก็จะไม่มีโทษมาก แต่ถ้าเราดีจริง ปฏิบัติถูกตรงจริง ก็เรียกว่าทำความฉิบหายให้กับชีวิตเลยล่ะ อาจจะกลายเป็นเกิดมาตายเปล่าไปชาติหนึ่งก็ได้ (โมฆะบุรุษ)

อันนี้แค่คนหันหลังเดินไปจากเรานะ ไม่นับคนเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก นินทา ฯลฯ พวกนี้ไม่ต้องห่วงนรกอยู่แล้ว นรกตั้งแต่วิบากจากกิเลสตัวเองเป็นชั้นแรก นรกชั้นที่สองก็ตามความจริงที่ได้ดูถูกไว้ ถ้าเรามีคุณค่าจริง แล้วเขาตีค่าว่าถูก เขาก็บาปมาก แต่ถ้าเราราคาถูกแล้วเขาตีค่าว่าแพง อันนี้เราขาดทุน (สรรเสริญโตเกิน) แต่ฝั่งยินดีกัน ศรัทธากันก็พอจะบอกจะปรับกันได้ แต่ฝั่งไม่ศรัทธานี่ลืมไปได้เลย ไม่ต้องเอาภาระ เพราะเขาไม่ศรัทธา บอกไปเขาก็หาว่าแก้ตัว ยังไง ๆ ถ้าเป็นคนพาล เขาก็ย่อมมีการเพ่งโทษเป็นประจำอยู่ดี อันนี้เราไปแก้เขาไม่ได้

ยังดีที่ชาตินี้ยังเหลือเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรม ที่ยังพอพูดคุยกันเข้าใจอยู่ คือทันกัน เห็นตรงกัน ส่วนครูบาอาจารย์ก็ยกไว้ อันนั้นท่านทันอยู่แล้ว เพราะท่านไปไกลกว่าเรา ส่วนใหญ่ที่เจอมานี่นอกจากจะไม่ทันแล้วยังงงกันอีก ดีไม่ดีตีความผิดไปเพ่งโทษเราก็มี ถามวัวตอบควายก็มี มันก็ส่วนใหญ่ล่ะนะที่ความเห็นไม่ตรงกัน ความเร็ว(จิต)ไม่เท่ากัน จะหาเท่ากันและสูงกว่า มันก็คงจะเป็นส่วนน้อยนั่นแหละ

คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นอย่างไร?

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 849 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หรือแปลเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า คนพาลชอบเพ่งโทษ หรือ การเพ่งโทษคือพลังของคนพาล

ผมจะยกตัวอย่างให้อ่านกันกับเคสเพ่งโทษถือสา แบบมีอคติฝังใจ จะได้ศึกษาว่าถ้าแบบนี้ให้ห่างไว้

ก็เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมคุยกับกับเพื่อนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นเพื่อนใหม่ คุยกันก็หลายเรื่อง จนเราพูดทักเพื่อนใหม่ไป เขาก็รีบสรุปเลยว่า เราเพ่งโทษในเรื่องที่เขาพูด เพราะเราไปทักในเรื่องที่เขาศรัทธา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีเจตนาเพ่งโทษ แต่เรามีเจตนาจะช่วยเพื่อน เห็นเพื่อนจิตใจฟุ้งฟูล้นปลี่ไปกับโลกธรรม ก็เห็นว่าเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรม แล้วเขาสนใจมาศึกษาร่วมกับเรา ก็เลยช่วย เราทักกิเลสเขา แต่เขาไปตีความว่าเราเพ่งโทษเรื่องเขา

แต่อันนั้นเขาคิดคนเดียวนะ อีกสองเสียงไม่ได้เห็นตามเขา คือผมก็เห็นอย่างผม เพื่อนอีกคนก็เห็นอย่างผม ได้ฟังก็เข้าใจว่าไม่ได้เพ่งโทษอะไร เพียงแค่บอกกัน มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดประเด็นกัน แต่เพื่อนใหม่นี่พอเขาเข้าใจอย่างนั้น เหมือนจิตเขาหลุดเลย เขา”เดา“ไปว่าเราเพ่งโทษเขาอีก นี่มันเพ่งโทษซ้อนในเพ่งโทษ เป็นนรกตื้น ๆ ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิด ก็ยังเกิดได้

ปกติถ้าไม่มีใครขอไว้ ผมจะไม่ไปติหรือไปทักใครเป็นส่วนตัว หรือถึงจะขอไว้ แต่ก็จะดูอินทรีย์พละด้วยว่าไหวหรือไม่ ซึ่งปกติผมคุยกับเพื่อนสนิทก็ทักกัน วิเคราะห์เรื่องกิเลสประจำอยู่แล้ว เรียกว่าชินล่ะนะ

ทีนี้เอามาตรฐานที่เราทำประจำมาใช้กับเพื่อนที่เข้ามาใหม่ แล้วความเห็นมันไม่ตรงกัน แล้วเขาปรับไม่ทัน เขาเพ่งโทษไปแล้ว เขาปิดประตูไปแล้ว ไม่ฟังเสียงคนอื่นแล้ว เขาถอนความเห็นผิดไม่ได้แล้ว อธิบายไปก็ไม่ช่วยอะไร

ผ่านไปไม่กี่วัน เพื่อนสนิทผมไปคุยปรับใจให้ เพราะเห็นว่าเขาเพ่งโทษแค่ผม ไม่ได้เพ่งโทษเพื่อน น่าจะพอฟังกันได้อย่างไม่มีอคติ แต่ที่ไหนได้ เพื่อนสนิทผมมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า พูดไม่เข้าเลย เหมือนมีอะไรกั้น เขาไม่ฟัง แถมจิตเขาฝังความเข้าใจผิดไปอย่างยึดมั่นถือมั่นแล้วด้วย

โอ้โห! ผมนี่ซึ้งเลย เวลาคนจะโง่ นี่เขาโง่ได้หนักแน่นจริง ๆ คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลังจริง ๆ เดาเอาเอง สรุปเอง ชิงชังเอง ยึดเอง แล้วพาลมาข่มผมซ้ำด้วยนะว่าผมไปเพ่งโทษ ภูมิผมไม่ถึง ไม่น่าเล่าให้ผมฟัง

ทั้งที่จริง ๆ มันตรงกันข้าม เหมือนมีเด็กได้ของเล่นชิ้นใหม่มา แล้วตื่นเต้น เอามาอวด ผมก็ทักไปว่าความตื่นเต้นมันไม่งาม เด็กก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วสรุปว่าไม่น่าเอาของเล่นมาโชว์เราเลย อะไรประมาณนี้ …

ก็เอานะ แบบนี้ก็ห่าง ๆ กันไว้ จริง ๆ เขาก็ห่างจากเราไปเพราะเขาเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก เขาก็ไม่ศรัทธาเราอยู่แล้วนั่นแหละ

เจอแบบนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า อย่าไปรีบปักใจเชื่อว่าเขาจะรับเราไหวนะ บางคนเหมือนจะแกร่ง แต่ก็ได้แค่ท่าดี อินทรีย์พละเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ท่าที ไม่ใช่บุคลิก ดูเผิน ๆ ดูไม่ออกหรอก ต้องคบคุ้นกันนาน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

ก็ได้เรียนรู้อีกว่าไม่ต้องไปเอาภาระมาก บางทีบางเรื่องมันก็ต้องดูกันไปยาว ๆ ก่อนจะตัดสินใจช่วย ไม่ช่วยนี่ไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าจะช่วย ศรัทธาเขาต้องเต็มที่ เต็มใจ ไม่ใช่มาแบบลองของ อันนั้นเสียเวลาสุด ๆ

จะมีอะไรเสียเวลาชีวิตเท่ากับไปคบคนพาล สร้างกุศลก็ได้น้อย ส่วนบุญนี่ไม่มีเลย เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ ไม่ต้องไปลงทุน ไม่ต้องไปยุ่งมาก

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 729 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก

February 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,186 views 1

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเป็นทุกข์ ร้อนรน กระวนกระวาย เมื่อคนเกิดความรัก ก็เหมือนเขาถูกมนต์สะกดของกามเทพ ให้หลงใหล มัวเมา ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก ความจริงแล้วสิ่งที่ลวงคนให้หลงไปกับความรักก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกามราคะและอัตตาเท่านั้นเอง

ในมุมมองของธรรมะ ความรักไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทุ่มเทเพื่อให้ได้มา เป็นเพียงสิ่งที่ควรจะทุ่มทิ้งไป แต่ในมุมโลกียะความรักนั้นเหมือนกับเป้าหมายในชีวิตที่หลายคนเฝ้าฝันที่จะได้มาครอบครอง ทุ่มกายเทใจแลกมันมา ท้ายที่สุดก็จะได้มาแค่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์เท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้าสอนว่า ในความรักนั้น มีเพียงแค่ทุกข์ ไม่มีอะไรปนอยู่นอกจากทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีความดีงามอะไร มีแต่ความทุกข์ล้วน ๆ นี่คือมุมมอง ที่เห็นผ่านสายตาของผู้ที่หมดกิเลส จึงได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ในเมื่อความรักนั้นทำให้เขาเหล่านั้นตาบอดอยู่

เมื่อความรักเกิด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นทันที ความอยากได้อยากครอบครองก็เกิดขึ้น ความอยากเติบโตขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ความหวง ความโกรธ ก็จะแรงเป็นเงาตามตัว มีใครบ้างที่เกิดความรักแล้วไม่ทุกข์ ไม่มีหรอก เพียงแต่เขาจะรู้รึเปล่าว่านั่นคือ อาการของทุกข์ ความกระวนกระวายใจ ความคิดถึง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ที่รบกวนจิตใจ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะให้มีเสี้ยนตำฝังในเท้า เดินไปก็เจ็บไป ความรักก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความอยาก ความใคร่ ความกระสัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตอยู่ไม่เป็นสุข วิ่งวนไปวนมาแต่เรื่องความรัก หาวิธีให้ได้มาเสพ ให้ได้สุขมากขึ้น หมกมุ่นอยู่กับความคันในใจเหล่านี้เรื่อยไป

แม้จะได้ความรักมาครอบครองแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป มันอาจจะโตขึ้นเพราะมีกามราคะและอัตตาเป็นอาหาร มันอาจจะรู้สึกสุขเพราะได้เสพสมอารมณ์กิเลสอยู่บ้าง แต่สุดท้ายมันจะหายไป ไม่ว่าความรักใด ก็ต้องเผชิญกับ “ความแก่” เป็นสภาพเสื่อมถอย เป็นขาลงของความรัก ความอ่อนแรง ไม่สดชื่น ความไม่ทันใจ ไม่ได้อย่างใจเหมือนก่อน ไม่เหมือนสมัยวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนทุกข์เพราะผิดหวัง เพราะมันไม่สุขสมใจเหมือนก่อน แม้จะพยายามแค่ไหน มันก็ไม่สุขเท่าตอนรักกันใหม่ ๆ นี้คือสภาพแก่ หรือความชราในความรัก นั่นเพราะกิเลสมันไม่ใช่สิ่งเที่ยง ไม่ใช่ว่าเสพรสเดิมแล้วมันจะสุขเท่าเดิมตลอด มันต้องหารสใหม่ ๆ มาเติมเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้คู่รักต้องพยายามเติม พยายามบำเรอกันยิ่งขึ้น ๆ เพื่อที่จะหนีจากความแก่เหล่านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนก็ต้องแก่ ความรักก็ต้องเสื่อม มันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะพาให้คนผู้ยึดมั่นถือมั่นในความรักนั้นทุกข์และเศร้าหมองกันเลยทีเดียว

ก็อาจจะมีบ้างที่มีคนที่มีความสามารถในการบำเรอกิเลสอีกฝ่าย มีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุขบำเรอให้ แม้จะพยายามทำให้ความเสื่อมของความรักนั้นเกิดช้าที่สุด แต่ความรักก็ยังหนีความเจ็บป่วยไปไม่ได้ คนสองคนไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันไปได้ตลอด มันจะมีเรื่องที่ทำให้เกิดการกระทบของความเห็นที่แตกต่าง แรกรักก็อาจจะยอมกันไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นถือมั่นมาก ๆ ถึงกับไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะกัน การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน อาการเหล่านี้คือสภาพเจ็บป่วยในความรัก เป็นแผลใจ เป็นรอยด่าง เป็นสภาพเสื่อมแบบสะสม เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ที่คนรักกันเลิกกันก็เพราะทะเลาะกันนี่แหละ ก็อาจจะมีบางคู่ที่จะเลิกกันไปเฉย ๆ เพราะไม่ได้ทะเลาะหรือผิดใจกัน แต่ที่เขาเลิกกันนั้น ก็เพราะว่าเขาเป็นทุกข์ เพราะทุกข์จากความรักมันมากกว่าการเลิกกัน เลิกกันมันเป็นสุขกว่า เขาก็เลิกกัน เพราะรักแล้วมันทุกข์ เขาเป็นทุกข์หนัก เขาก็ไม่อยากแบกมันไว้ เขาก็เลิก ส่วนที่ไม่เลิกก็ประคองกันไป เยียวยาแผลใจกันไป อยู่กันอย่างชิงชัง หวาดระแวง เป็นความอาฆาตแค้นสะสมไว้ในใจทีละน้อย ๆ จองเวรจองกรรมกันไปเรื่อย ๆ

สุดท้ายก็มาถึงความตายในความรัก มาถึงจุดที่มันต้องพราก เขาบังคับให้พราก ไม่จากเป็น ก็จากตาย ถ้าจากตายก็อาจจะทุกข์หนักมาก เพราะสูญเสียชัดเจน ก็น่าเห็นใจคนที่เข้าไปรัก รักใครแล้วเสียคนนั้นไป ก็เป็นทุกข์ รักมากทุกข์มาก ส่วนจากเป็นนี่ก็หลากหลายมิติ สารพัดบทละครที่วิบากกรรมจะสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นทุกข์ จะเล่นเป็นบทไหน ก็ต้องเป็นทุกข์ จะจบแบบชัดเจนก็ทุกข์ จบแบบไม่ชัดเจนก็ทุกข์ เพราะเขาจะให้พรากจากสิ่งที่รัก สุดท้ายจะเล่นได้รางวัลตุ๊กตาทองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยึดมาก จริงจังมาก ทุกข์มาก

ไล่มาตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องความรัก ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นที่เกิดขึ้น ทนทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ไม่เห็นจะน่าได้น่ามีหรือน่าครอบครองตรงไหน มีทุกข์จะมีไปทำไม ก็เว้นเสียแต่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็กลับหัวกันกับเนื้อหาในบทความนี้แหละ อธิบายแบบกลับหัวได้เลย มันจะไปคนละทิศ ก็ไปทิศที่กิเลสชอบ ทิศที่กิเลสพอใจ แต่ไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องพบกับทุกข์ในความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป

พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่าคนที่ไม่มีรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ที่มีความสุข สรุปกันชัด ๆ “คนที่ไม่มีความรัก คือคนที่มีความสุข” เป็นสภาวะที่เข้าถึงได้ยาก แต่ก็เป็นความจริงที่ควรจะยึดอาศัยไว้เป็นเป้าหมาย ถ้าไม่พากเพียรปฏิบัติธรรมที่ถูกตรงอย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางเข้าถึงสภาพที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงได้  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะของท่านนั้น เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สาวกที่ปฏิบัติถูกตรง)

ดังนั้นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างตั้งมั่น ก็จะเพียรพยายามศึกษาให้รู้จักทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของความรัก จนก้าวข้ามพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก ตลอดจนเรื่องทุกข์ใจอื่น ๆ ได้โดยลำดับ

13.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์