การปฏิบัติธรรม

จะผาสุกยั่งยืน ถ้าไม่คบอสัตบุรุษ (เรื่องการประพฤติตนเป็นโสด)

January 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 736 views 0

อสัตบุรุษ นั้นคือคนที่ทำตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอน ยินดีในทางตรงกันข้าม และชักชวนให้ผู้คนทำในทางตรงกันข้าม

อสัตุบุรุษ ในการประพฤติตนเป็นโสดก็คือ ผู้ที่ตนเองก็ไม่ได้ประพฤติตนเป็นโสด ยังหมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีพอใจที่จะมีคู่ ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีคู่ และชักชวนให้คนอื่นยินดีพอใจในการมีคู่ พูดถึงแต่ประโยชน์ในการมีคู่

องค์ประกอบเหล่านี้ประยุกต์จากพระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1459 ซึ่งการเว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียน เป็นองค์ประกอบของสาวก ส่วนการเข้าไปเบียดเบียนนั้น คือองค์ประกอบของคนนอกศาสนา

เรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นเรื่องหนึ่ง เพราะยังเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นเป็นทุกข์อยู่ ยังผิดศีลอยู่ แต่ก็เบากว่าการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ แต่ความรักนี่เอง ก็เป็นเหตุในการฆ่าและทำร้ายกัน ดังที่ได้เห็นข่าวกันมากมายในสังคมปัจจุบัน

คนจะอยู่ผาสุก เป็นโสดได้อย่างยั่งยืน ต้องห่างจากธรรมของอสัตบุรษ ถึงแม้เขาจะเป็นนักเขียน นักพูด เกจิดัง หรือครูบาอาจารย์ที่มีชื่อ แต่อ่านหรือฟังแล้วน้อมใจไปในทางให้ยินดีในการมีคู่ ให้หมกมุ่นในการหาคู่ อันนี้ไม่ใช่ทางแล้ว คนจะมีคู่เราไม่บอกอะไร เดี๋ยวเขาก็ไปมีของเขาอยู่ดี ไม่ต้องไปชี้โพรงให้กระรอก ต้องไปทำแบบนั้น ต้องไปตรวจสอบแบบนี้ เพื่อไปมีคู่หรอก เพราะสุดท้ายจะพยายามคัดกรองยังไง ไปมีความรักมันก็คือการพาไปทุกข์อยู่ดีนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่เปิดเผย ไม่เผยแพร่จึงจะเจริญ เรื่องพาหาคู่นี่จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องพาพ้นทุกข์ มันเป็นเรื่องพาเพิ่มทุกข์ คนไปศึกษาเขาก็เกิดความอยากมีคู่ มันก็เป็นบาปทั้งตนเองและผู้อื่น มันก็พากันทุกข์

เราจะสามารถสังเกตได้จากหลัก 3 ข้อ คือ 1.ละเว้นจากอธรรมนั้น 2.ไม่ชักชวนคนให้สนใจในอธรรมนั้น 3.กล่าวสรรเสริญคุณของการเว้นจากอธรรมนั้น

1.เราจะประพฤติตนเป็นโสดเนี่ย เราก็ต้องดูก่อนว่าคนที่เราศึกษาเรียนรู้อยู่ เขาเป็นโสดหรือเปล่า อันนี้ประเด็นแรกชัด ๆ เลย ถ้าเขาไม่ได้เป็นโสด เขาจะมาสอนธรรมหมวดนี้ไม่ได้หรอก สอนไปก็เพี้ยน มันจะเบี้ยว ๆ ไปตามความเห็นของเขา เพราะเขายังยินดีในการมีคู่อยู่ ทิศมันก็จะไปทางมีคู่ เช่น มีคู่ไม่ทุกข์ มีคู่ไม่ผิด เป้ามันจะไม่ชัด เขาจะพาเราประพฤติตนเป็นโสดไม่ได้

2. เราก็ดูว่าคนที่เราศึกษาอยู่นี่เขาชักชวนคนไปทางไหน ไปเป็นโสดหรือไปมีคู่ คนที่เขาชวนไปเป็นโสด เขาก็จะชวนอยู่นั่นแหละ จะไม่วกไปวนมา ทิศมันจะชัด ถ้ามันไม่ชัว มันมัว ๆ มันก็มัวไปตามจิตของเขา ถ้าตามภาษาใคร ๆ ก็ต้องพูดว่าอย่าไปมีคู่เลย แต่ต้องดูกันไปยาว ๆ ดังเช่นว่าตอนคนอื่นจะไปแต่งงาน ตอนลูกศิษย์จะไปแต่งงาน เขามีความเห็นยังไง เขาชักชวนให้เป็นโสดได้ไหม หรือไปยินดีที่เขาไปแต่งงาน ต้องดูกันตอนมีเหตุการณ์จริงกระทบ เพราะบางทีการแสดงธรรมมันก็เป็นแค่แนวคิด ที่จำ ๆ มา การชักชวนคนอื่นให้เป็นโสดที่แท้จริง ตัวเองก็ต้องช้กชวนตัวเองให้เป็นโสดด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนแล้วทำเองไม่ได้

3. เขาจะฉลาดในการพูดคุณประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด โทษของการไปมีคู่ ปัญญาคือผลของการปฏฺิบัติได้ การแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญทานกระแสโลกเป็นผลของคนที่ข้ามพ้นกิเลสได้ มันจะขัดกับโลกอย่างชัดเจน โลกนี่เขาพากันไปมีคู่ ยินดีในการมีคู่ แต่ศาสนาพุทธไม่ยินดี พอคนขยับขึ้นมาเป็นฐานศีล 8 จะพัฒนาสู่การพรากจากคู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงระดับที่สูงกว่านั้น แม้โดยฐานต่ำสุดของพุทธยังอนุโลมให้มีคู่ผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็ใช่ว่าสาวกที่ตั้งใจปฏฺิบัติจะหยุดแช่อยู่ที่ผัวเดียวเมียเดียว ผู้ปฏิบัติตนสู่ความไม่เสื่อมจะเพิ่มระดับการพรากไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะไม่มีสักผัวสักเมียนั่นแหละ

คนไม่พ้นเขาพูดไม่ชัดหรอก ให้เขาเปรียบเทียบประโยชน์ของการอยู่เป็นโสดกับมีคู่ เขาจะไม่ชัด ฟันไม่ขาด มันจะเหมือนดีเหมือนกัน อันนี้มันก็มัว ๆ ไม่แจ่มแจ้ง คิดเอาเดาเอาตามกิเลสมันก็เหมือนกันสิ แต่เหมือนกันแล้วเขาเลือกเป็นโสดไหมล่ะ ดูไปเถอะ ส่วนมากเขาว่าทุกข์เหมือนกันแต่เขาก็ไม่เลือกอยู่เป็นโสดกันหรอก อันนี้คือความจริง พูดก็อย่างหนึ่ง ทำก็อย่างหนึ่ง ก็ต้องดูกันไป

คนที่ไปศรัทธา ไปคบหา ไปศึกษากับคนที่เขาไม่ได้มีธาตุที่จะดำรงความโสดได้อย่างยั่งยืน เขาจะตั้งตนอยู่บนความโสดได้ไม่นาน มันไม่มีธาตุที่จะเอาชนะกิเลส มันมีแต่ธาตุที่แพ้กิเลสมารวมกัน ยิ่งรวมกันมากเท่าไหร่ มันจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการแพ้มากเท่านั้น ดีไม่ดีก็หาผัวหาเมียกันในที่ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ อันนั้นคือมันไม่มีแรงต้าน

โดยหลักแล้ว จะพ้นทุกข์มันต้องมีแรงของผู้รู้มาต้านจากกิเลสบ้าง ถ้าเราศรัทธาครูบาอาจารย์ มันจะรู้สึกผิดในใจอยู่ แต่สู้ได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีธาตุพาโสด มีแต่ธาตุหมกมุ่นในคู่ครอง ไม่ต้องห่วง พอคิดจะมีคู่ จะมีได้ไวเหมือนขับรถบนทางด่วนชานเมืองตอนเช้ามืดที่ไม่ต้องจ่ายเงินผ่านด่าน มันจะไม่มีแรงต้าน ไม่มีหิริ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจเลย อย่างเก่งมันจะมีแค่ตรวจสอบเพื่อเสพ ว่าใช่อย่างที่ใจฉันใคร่อยากไหม แต่มันจะไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เพราะไม่มีศีลเป็นตัวกำหนด

ผมเห็นมาหลายคนแล้ว ที่ดูเหมือนจะท่าดี แต่สุดท้ายก็ไปมีคู่แบบเละเทะผิดกับภาพที่เคยสร้างไว้ เราก็รู้ อ่อ กิเลสมันเก็บกด พอมันได้เสพปุ๊ปมันก็ระเริงกามกันเลย

แล้วเขาจะไม่อาย ไม่สำรวมด้วยนะ เพราะเขาไม่มีหิริ สำนักหรือกลุ่มของเขาไม่มีสอน ถ้าอยู่ในสำนักที่ถูกต้องหรือปฏิบัติเข้ม ๆ ไม่มีหรอก มาอวดคู่น่ะ เขาจะอาย เพราะเขามีหิริ คือความละอายต่อบาป

อันนี้ก็ยกมาเตือนกันไว้ ตามที่พระุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ” เพราะถ้ามาปฏิบัติธรรมแล้วยังไม่เลิกคบคนพาล ไม่เลิกคบอสัตบุรุษ (ผู้ไม่รู้ธรรมแท้จริง) ไม่มีวันพ้นทุกข์หรอก

ก็บอกไว้สำหรับคนที่ฐานถึง ที่พอจะประพฤติตนเป็นโสดได้ มีองค์ประกอบที่จะทำได้ คุณไม่ต้องลงไปเล่นอย่างเขาอีก ให้น้อง ๆ ที่เขาเพิ่งมาปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ เล่นไป เราเห็นทุกข์แล้ว เราจะไปวนเวียนจมกับทุกข์อยู่ทำไม เราก็อยู่เป็นโสดไหว เราก็อยู่ไปสิ คนเรานั้นต่างกัน แต่ให้ทำตามทิศทางที่ปฏิบัติแล้วผาสุกกว่า ไอ้แบบที่เขาทำแล้วไม่สุข หรือสุข ๆ ทุกข์ ๆ นี่อย่าไปเอา อย่าไปตามมวลส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ทำแบบนี้ อันนี้ส่วนน้อยแล้ว ต้องสำรวมระวังกันไว้ให้ดี

ที่ได้มาอ่าน ๆ กัน มาพบเจอกันนี่จริง ๆ ส่วนใหญ่ผมว่า น่าจะพอมีกำลังในการประพฤติเป็นโสดทั้งนั้นแหละ ได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ความพากเพียร ก็ขึ้นอยู่กับจะก้าวขึ้นหรือจะก้าวลง ชีวิตมันก็มีแค่นี้

สละสิ่งของกับสละคู่ มันก็คล้าย ๆ กันนั่นแหละ

January 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 773 views 0

ทาน หรือการให้ การสละออก นี่มันมีลำดับของมันนะ มันต้องเริ่มจากของที่สละง่ายก่อน ของที่ยึดน้อย ๆ ไปเป็นลำดับ ต้องหัดพราก หัดสละจากของที่รักน้อย ๆ ก่อน เช่นทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ

อันนี้ถ้าเกิดและโตในเมืองไทย ถือว่าต้นทุนดี เพราะเมืองไทยยังมีการ “ทาน” ให้เห็นอยู่เป็นประจำ แม้แก่นศาสนาจะแทบไม่เหลือแล้ว แต่รูปรอยของการทำดียังคงอยู่ให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีในปัจจุบัน

เราก็ต้องเริ่มจากการสละไปทีละเรื่อง แต่ละเรื่องจากมีความยากง่ายไม่เท่ากัน แต่ละคนก็ต่างกันไปอีก อยู่ที่ใครจะยึดอะไรไว้

เบื้องต้นก็เป็นสิ่งของนอกกาย ที่เรามีสิทธิ์ครอบครอง เราก็สละให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ ไม่หวงไม่ยึดไว้ สุดท้ายแม้แต่คนที่เรารัก ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่นอกกาย ก็สามารถสละเป็นทานได้เช่นกัน

ทานบารมีที่สูงที่สุดในโลก พระพุทธเจ้าได้ทำไว้ในชาติของพระเวสสันดร คือให้ลูกเป็นทาน ให้ภรรยาเป็นทาน คนที่จะเข้าใจในทานระดับนี้ต้องเรียนรู้ทานในระดับต้น ๆ ก่อน ถึงจะพอเห็นภาพว่ามันยาก มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ของจิตมนุษย์ที่สามารถสละได้แม้สิ่งที่ตนรักที่สุด

แต่ตอนนี้เราจะทำง่ายกว่า เพราะเรามีคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นแกนแล้ว เรียกว่ามีแผนที่ มีบทสรุป มี how to ให้สละสิ่งเหล่านี้กันได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องบำเพ็ญเท่าท่าน เพราะท่านทำมาหมดแล้ว แล้วสรุปมาสอนให้เราได้เรียนรู้

สิ่งของกับคู่ครอง มันจะต่างกันตรงน้ำหนักที่ยึดไว้ แต่รูปแบบการปฏฺิบัติคือ “ทาน” เหมือนกัน บางคนให้เขาสละเวลา สละเงินหาของใส่บาตรทุกเช้า เขาก็ทำได้ แต่ให้เขาสละคู่ครอง สละสิทธิ์ในการมีคู่อย่างเต็มใจ อันนี้น้อยคนที่น่าจะทำได้

ทานยิ่งสละมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีบารมีและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นมากเท่านั้น ลดตัวตนได้มากเท่านั้น โดยเนื้อแก่นของทานแล้ว ไม่ใช่มูลค่าของวัตถุสิ่งเขา แต่เป็นจิตที่ยึดผูกพันคน สัตว์ สิ่งของเหล่านั้นไว้ เราก็ใช้องค์ประกอบของทานหรือการสละออกนี่แหละ เป็นอุบายในการพรากจากของที่เรารัก

ถ้ามันยึด มันจะยื้อ มันจะไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้เขา เรื่องคู่นี่มันสละกันยาก มันก็ต้องเริ่มจากทานสิ่งที่พอจะสละได้กันก่อน หัดแบบง่าย ๆ กันก่อน แล้วสั่งสมบารมีมาเรื่อย ๆ มันจะมีกำลังพอที่จะสละสิ่งที่รักมาก ๆ ไหว

มันต้องเป็นไปตามลำดับของมัน ง่าย กลาง ยาก ต้องฝึกฝนไปตามลำดับ ไม่ลัดขั้นตอน ถ้าลัดมาก กิเลสมันจะบีบคอให้กลับไปเสพ ต้องล้างความยึดไปตามลำดับ

…ส่วนสละโสดนั้นไม่เรียกว่าสละ ไม่เรียกว่าทาน เพราะเป็นการเอามาเพิ่ม ปัญหาไม่ลด ปัญญาไม่เพิ่ม เป็นภาษาเฉย ๆ พิมพ์ไว้กันคนแซว

การยอมพรากจากคู่ คือที่สุดของทุกข์ในการมีคู่

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 697 views 0

พิมพ์เรื่องคนโสดมาก็มาก ตอนนี้พิมพ์ในมุมคนคู่บ้าง เชื่อไหมว่าสุดท้ายเมื่อคนมีคู่เข้าใจธรรมะ เขาก็จะหันมาเป็นโสดกันทั้งนั้น

มีหลักฐานมากมายจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งที่มีการสละภรรยาเป็นทาน ในชาดกบทนี้ เป็นชาดกที่ผมรับรู้มาว่าคนข้องใจกันมาก ไม่เข้าใจว่าการสละลูก เมียเป็นทานคือการบำเพ็ญบารมีตรงไหน ซึ่งจริง ๆ มันก็เข้าใจยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องเหนือโลก เหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปไปแล้ว

เชื่อไหมว่าถ้าเราบำเพ็ญไปเรื่อย ๆ คู่ครองของเราก็จะมีบารมีที่มากตามไปเรื่อย (เพื่อปราบเรานั่นแหละ) เขาจะมาแบบครบเลย หน้าตา ฐานะ การศึกษา นิสัย มารยาท ธรรมะ จะดีพร้อม งามพร้อม หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมีจุดเด่นพิเศษที่เราพ่ายแพ้ ไม่ยอมปล่อยเพราะยึดสิ่งนั้นไว้

การปฏิบัติธรรมในเรื่องคู่ในบทจบก็คือ “เขาดีขนาดนี้ ยอมสละเขาได้ไหมล่ะ” มันจะยากก็ตรงนี้นี่แหละ คนก็งง จะสละทำไม ก็เขาเป็นคนดี เขาก็ดีกับเราขนาดนี้

เจอคู่ชั่ว ๆ นี่มันทิ้งกันไม่ยากหรอก ดีไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แต่เจอคู่ดีนี่มันทิ้งยาก ติดสวรรค์ ติดสุข ติดความเป็นเทวดา(มีอำนาจ มีคนบำเรอ) หรือไม่ก็ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ

พอคนทำดี มันจะมีกุศลกรรมให้ได้รับ บางทีมันจะมาในรูปของคู่ครอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นลาภ แต่ก็เป็นลาภเลว ที่คนหลงดีใจได้ปลื้มกับมัน อยู่กับมัน แล้วก็แช่อยู่ในภพคู่ครองนั้น ๆ นานนนนนนนน…

ให้คิดก็คิดกันไม่ออกเลยนะ เจอคู่ดีสมบูรณ์ครบพร้อมจะออกยังไง จะถอนใจออกมายังไง ก็มีแต่จะเอาเขาเป็นที่พึ่งเท่านั้นแหละ ชีวิตติดเมถุน มันจะติดเสพความเป็นเทวดา ความเป็นคนพิเศษ ความมีอำนาจ มีการให้เกียรติ ให้ความรัก ความเอาใจ ความสำคัญ เป็นเครื่องร้อยรัดคนไว้กับทุกข์ เรียกว่าเมถุนสังโยค

แต่เชื่อไหม แม้จะดีแค่ไหน มันจะมีจุดพร่อง มีจุดพลาดเสมอ ทีนี้คนที่หลงจะมองข้ามจุดพร่องตรงนี้ไป แล้วไม่เอามาพิจารณาทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เห็นโทษภัยอื่น ๆ ที่ตามมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมันเป็นกิเลสฝั่งติดสุข มันจะแกะยาก ถอนยาก

ไม่ต้องไปคิดถึงระดับพระเวสสันดรหรอก อันนั้นมันไกลไป ไม่ใช่ฐานะที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ก็ใช้หมวดทานมาเป็นกรรมฐานได้

เช่น คนดีนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ใช่ไหม แล้วเราเอามาเก็บไว้คนเดียว คนอื่นเขาก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเราสละออกไป คนอื่นเขาก็ดีใจ เพราะเราปล่อยคนดีคนหนึ่งกลับไปให้โลก เขาก็ไม่ต้องมาแย่งเรา ไม่ต้องผิดศีล

ยิ่งถ้าเราปล่อยเขาไปแล้วเขาไม่มีคู่ใหม่ ยิ่งดีใหญ่เลย เขาก็จะได้ใช้ชีวิตเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องบำเรอเรา ไม่ต้องบำเรอใครอีกให้เสียเวลาชีวิต

ที่สำคัญเราจะช่วยเขาได้ เราจะพาเขาเจริญได้ เพราะการผูกกันไว้นี่มันเจริญได้ยาก มันติดเพดาน มันมีอกุศลวิบากต่อกันมาก แต่ถ้าเราปล่อยได้ เขาจะเห็นเราเป็นตัวอย่าง อาจจะขัดข้องขุ่นใจบ้าง แต่เขาจะจำว่ามันมีสิ่งดีกว่าการอยู่เป็นคู่กันอยู่ในโลก นั่นก็คือการไม่อยู่เป็นคู่กันนั่นเอง

ยกตัวอย่างมาแล้วก็รู้สึกว่ายากโคตร ๆ แต่จะเป็นโสดอย่างผาสุกได้ต้องพิจารณาธรรมหมวดนี้เหมือนกัน มันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็นโสดอย่างยั่งยืน มันต้องยินดีที่จะสละโควต้าของตัวเองที่จะมีคู่ไปให้คนอื่น

ไม่ต้องห่วงหรอก เราล่อลวงคนอื่นมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่วิบากกรรมเขาจะไม่มาเอาคืน ถึงจะตั้งจิตเป็นโสด แต่ก็จะมีผู้ท้าชิงอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าจะไม่มีคู่ หรือจะสละไปแล้ว แล้วเขาจะหายไป เขาไม่หายไปไหนหรอก เขาก็วนเวียนมาอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่ทำบาปด้วยกันไว้มาก และถ้าเป็นคนดีจะมีอีกแรงหนึ่งคือเป็นที่รักของเขา เขาก็ยึดไว้

แท้จริงแล้วคู่ครองเป็นสภาพสมมุติที่คนยึดไว้ ความเป็นพ่อแม่ลูกยังดูจริงยิ่งกว่า แต่คนกลับไม่ค่อยยึดอาศัย ไม่ค่อยเห็นจะมีใครตั้งตนเป็นโสดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าสักเท่าไหร่ จริง ๆ มันก็สมมุติเหมือนกันนั่นแหละ แต่ดันไปหลงสมมุติตัวที่มันตื้น มันเบียดเบียน มันเป็นบาป แล้วดันทิ้งสมมุติที่เป็นความเกื้อกูล เป็นกุศล

สรุปกันสั้น ๆ ว่า อาการทุกข์ที่เกิดเพราะไม่อยากพราก ไม่อยากสละจากคู่ นั่นแหละคือประตู ถ้ารู้แจ้งในทุกข์นี้ก็จบ จิตจะปล่อย จะยอมพราก สละได้ ทิ้งได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ยึดติดว่าคนคนนั้นเป็นคู่อีกต่อไป จะเข้าใจทั้งสัญญาแบบโลก ๆ กับการไม่ยึดสัญญาแบบโลก ๆ จะตัดสินใจตามกุศลเป็นหลัก

หัดพิมพ์มุมคนคู่ เอาไว้เท่านี้ก่อน ได้เหลี่ยมหนึ่งก็ยาวแล้ว ไว้วันหลังค่อยว่ากันใหม่

การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง

December 31, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 736 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)

ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป

แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา

ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง

ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์

แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ

จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย

ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน