VIP โลกีย์ ราคีโลกุตระ

July 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,249 views 0

ถ้าตามสมมุติโลก คนที่เขามีชื่อเสียงมาก สนับสนุนมาก คนเขาก็นับว่าเป็น VIP (Very Important Person) จึงให้การต้อนรับ ดูแล ใส่ใจเป็นพิเศษ อันนั้นก็ตามโลกเขาไป

แต่ในความเป็นโลกุตระ หรือคนที่มุ่งปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสนั้น จะไม่ได้เอาสมมุติเหล่านั้นมาเป็นตัวยึดถือ ด้วยความเป็นบุญนิยม คือนิยมในการทำบุญ หรือการชำระล้างกิเลส ให้คุณค่ากับการชำระล้างกิเลส เว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียนเป็นโทษภัยโดยลำดับ จึงไม่ได้นิยมตามแบบทุนนิยม

แบบทุนนิยมก็ตามที่เรารู้กัน ใครมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีทุนมาก คนเขาก็ให้การยอมรับ ดูแล ใส่ใจ ให้โอกาส เป็น VIP ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยมจึงแตกต่างกันคนละขั้ว

สังคมธรรมมีราคี เมื่อมีทุนยิยมเข้ามาปนในบุญนิยม คือคนที่เขาเอาระบบทุนนิยมเข้ามาปน เข้ามาใช้ในสังคมปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเสื่อมจากธรรม เพราะไปเอาอธรรมมาเป็นตัวนำ

ผมเคยเห็นคนที่เขาป่าวประกาศว่าจะเข็นกงล้อธรรมจักร ปากเขาก็พูดไป 1 ปี 5 ปี 7 ปี เขาก็พูดอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำเขาไม่เหมือนที่ปากพูด เขาก็เอาทุนนิยมนี่แหละมาปฏิบัติ พอมีคนมาสนับสนุนเขา ด้วยเงินก็ตาม ด้วยการยอมรับเขาก็ตาม เขาก็ให้ความเป็น VIP กับคนนั้น ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนโตไปให้เขาด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นลีลาการเลียอันน่าขยะแขยงสุดจะพิศดารยิ่งนัก ด้วยความที่ปกติดูจะเป็นคนที่แสดงออกไปในเชิงกล้าและกร่าง แต่พอเจอเงิน เจอคนมีอำนาจก็ถึงกับอ่อนยวบยาบ กลายเป็นอวยเขา เลียเขา ส่งเสริมเขา (เพราะเขามาส่งเสริมตน) ซึ่งในกระบวนการทั้งหลายนี้ ไม่ได้มีวิถีบุญนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่วิถีโลกีย์หรือทุนนิยมล้วน ๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นรอยด่างของกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่จะต้องจัดการคนเหล่านี้ ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ตามหลักที่ในหลวง ร๙ ได้ตรัสไว้ว่า …

“….ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)

ในสังคมปฏฺิบัติธรรมก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีพร้อมกัน เสมอกันหมดได้ ความเป็นสังคมคือความปะปนกันในฐานะที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราจะส่งเสริมให้สังคมเกิดความเจริญในธรรม เราก็ต้องจัดการควบคุมคนที่มีลักษณะเมาในทุนนิยมหรือเป็นทุนนิยมโดยพฤติกรรม และส่งเสริมคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักบุญนิยม ให้ได้มีอำนาจ ปกครองคนไม่ดี ก็จะเจริญได้ตามลำดับ

ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากหรือมีอำนาจมาก ก็จะชักนำให้เกิดความเสื่อม เป็นราคีในหมู่โลกุตระ เป็นวิบากร้าย เป็นความล้าช้า ความลำบากในการปฏิบัติธรรม เป็นตัวถ่วงกลุ่ม เป็นยางเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการเข็นกงล้อธรรมจักร

กรณีศึกษา ไลฟ์โค้ชที่ไม่มีศีล

July 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,415 views 0

ช่วงก่อนนี้มีเรื่องราวในสังคมเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชที่ทำงานไม่โปร่งใส ไม่ทำงานไปตามที่ตนได้ประกาศไว้ มีอาการหมกเม็ด ไม่ชัดเจน สังคมจึงพากันจับตาในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียล เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

เรื่องราวเงียบหายไปพร้อมข้อกังขาราว ๆ 1 สัปดาห์ ไลฟ์โค้ชผู้ถูกกล่าวหาจึงได้มาแจ้งหลักฐาน ซึ่งในหลักฐานนี้เอง ก็ได้เป็นตัวมัดตัวเองอีกทีว่า เขาพูดไม่จริง

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ เขายังประกาศอยู่เลยว่าได้รับเงินบริจาคราว ๆ 8 แสน ซึ่ง ตัวเลขในบันทึกของบัญชีกลับไม่เป็นไปแบบนั้น ตัวเลขรวมที่แจ้งในบัญชีประมาณ 1.3 ล้าน แต่ก็ยังมีประเด็นอื่นที่หนักกว่า

คือในใบบันทึกรายการ ต้นเดือนเมษายน มีบันทึกว่าถอนเงินมาประมาณ 200,000 บาท ในการถอน 4 ครั้ง ใน 2 วัน และ 3 วันต่อมามีการโอนเงินรวม 1 ล้าน เข้าบัญชีของไลฟ์โค้ช ผู้นั้น ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมในเดือนเมษายน

ซึ่งดูจากการเบิกถอนก็ 1.2 ล้านเข้าไปแล้ว แม้เงินตั้งต้นในบัญชีเดิมจะมีเกือบแสน แต่ 8 แสน กับ 1.1 ล้าน ก็ยังมีส่วนต่างที่มากอยู่

ปัญหาก็คือเรื่องศีลธรรม การที่เมืองไทยมีคนที่ไม่มีศีลธรรม แต่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลอยู่นั้น จะเป็นพลังที่ชักนำคนไปสู่ทางเสื่อม ยิ่งคนไม่มีศีลธรรมเด่นดังเท่าไหร่ยิ่งเสื่อมไวเท่านั้น

ซึ่งจากหลักฐานนั้น เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเงินมันเกินล้าน เพราะมันมีการทำกิจกรรมโอนเงิน แล้วใครจะเข้าไปจัดการบัญชีเขาได้ ก็มีแต่เขานั่นแหละ แต่เขาก็เลือกที่จะไม่พูด พูดไม่หมด พูดไม่จริง อันนี้เขาก็ฟ้องตัวเองอยู่แล้วว่าเขาไม่มีศีล

คนจะแสวงหาความเจริญก็ควรจะเลือกคบคนมีศีล ให้คนมีศีลได้เป็นผู้นำ และหมั่นตรวจสอบความจริงกันด้วยใจปรารถนาดี ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นยังมั่นคงในศีลธรรมอยู่ไหม

แรก ๆ อาจจะไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ก็คบกันไป ศึกษากันไป ตรวจสอบกันไป แต่พอได้ผลชัด ได้หลักฐานชัด ว่าคิดไม่ซื่อ จิตไม่ตรง ประพฤติชั่ว ก็เลิกคบกันไป เป็นการสร้างมงคลในชีวิตคือห่างไกลคนพาล

คนพาลซื่อ ๆ แสดงออกกันชัด ๆ ยังพอรู้ได้ง่าย แต่คนพาลหมกเม็ดเน่าในอันนี้รู้ยาก พาหลง ร้ายลึกยิ่งกว่านักเลงหัวไม้

ก็หยิบกรณีนี้มาวิจารณ์กันไว้ ใครจะเข้าไปคบหากับคนไม่มีศีลก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ในมุมมองของผม ผมก็ไม่เอาด้วยหรอก แล้วใครไปเชื่อมต่อกับคนชั่ว ผมก็ไม่เอาด้วยเหมือนกัน เหมือนคนดีมาหาเรา แต่คนนั้นยังคบกับคนชั่ว อันนี้แปลก ๆ แสดงว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากล เขาดีจริงหรือเปล่า? หรือเขาแกล้งดี? ถ้าคบคนพาลอยู่ คนอื่นเขาจะไม่ไว้วางใจ ก็ต้องยอมรับกรรมไป

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,112 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

สัมมาศูนย์บาท มิจฉาค่าตัวแพง

July 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 976 views 0

สมัยศึกษาแรก ๆ แสวงหาหนทางธรรมใหม่ ๆ ผมก็เคยหลงไปหลงมาอยู่เหมือนกัน เพราะโลกนั้นร้ายลึก ทางหลงมากกว่าทางรู้ มันก็เป็นธรรมดาที่จะพลาดท่าเสียเวลาไป

แรก ๆ ก็สนใจศึกษาจากที่มันคล้าย ๆ ไลฟ์โค้ช แต่เขาอิงศาสนาพุทธเยอะ เขาก็เอาพุทธมาประยุกต์ แรก ๆ ยังไม่ดังก็สอนฟรีอยู่บ้าง แต่หลัง ๆ มีบริวารก็เริ่มเก็บเงินมากขึ้นและแพงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลักหมื่น หลักแสน

ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีเงินมากขนาดที่จะเอาไปใช้จ่ายในเรื่องนี้ แล้วมันก็ตะหงิด ๆ ในใจด้วยว่า แบบนี้มันไม่ควรนะ ก็เลยแสวงหาทางอื่นไปเรื่อย ๆ

จนพบครูบาอาจารย์ที่สอนฟรี ให้กินฟรี ที่พักฟรี รักษาฟรี มีแต่การแบ่งปัน ไม่มีเรื่องมารยาทสังคมเรื่องเงินให้ต้องมาเกรงใจ คือไม่มีการเรี่ยไรทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่มีการเรียกร้องให้บริจาคตามกำลังศรัทธาให้ลำบากใจ แถมยังต้องตั้งกติกากันอีกว่าถ้าจะช่วย ห้ามเกินที่กำหนด

พอศึกษาตาม ผ่านมาหลายปี ผมก็พบว่าถูกแล้ว ดีแล้วที่เราไม่ไปจ่ายเงินเรียนธรรมะ ดีแล้วที่เราไม่ไปสนับสนุนคนไม่ดี เพราะจากที่เราเห็น ยิ่งนานไป เขาก็จะยิ่งแสวงหาโลกธรรม หาชื่อเสียง หาเงิน ล่าบริวาร ตรงข้ามกับพุทธะทุกอย่าง ถ้าเราตามไปก็ไปนรกนั่นแหละ

เพราะพระพุทธเจ้าและสาวกท่านก็สอนฟรี ไม่ได้เก็บเงิน แม้สาวกที่เป็นฆราวาสก็สอนกันฟรี เรื่องธรรมะไม่มีใครเขาเอามาหากิน ธรรมทานเป็นของประเสริฐ ไม่ใช่ของซื้อขาย ก็เป็นอันเข้าใจว่าที่ถูกต้อง ค่ารวม ๆ ถ้าจะพากันเจริญคนสอนต้องพึ่งตัวเองได้ แล้วแสดงความจริงให้เห็นเลยว่าธรรมะเนี่ยไม่เรียกร้องจากใคร มีแต่ให้

แต่คนมิจฉา เขาก็จะรู้ทางหนีทีไล่ เขาจะไม่เอาภาพพุทธสาวกมาใส่ เขาก็จะตั้งชื่อของเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างบริบทขึ้นมาใหม่ แล้วก็เอาธรรมะมาหากิน พอเวลามีคนติ เขาก็จะมีทางหนี ทางเลี่ยง ตามที่เขาคิดไว้ว่าหนีได้

โดยสัจจะแล้วไม่มีใครหนีได้ กรรมทำแล้วต้องรับ ใครเอาธรรมะมาหากินนั้นบาปทั้งสิ้น เอามาหาเงินนี่หยาบร้ายมาก ขนาดทุกวันนี้ยังมีคนห่มจีวรเพื่อมาหาเงิน ทุกวันนี้มันเละไปหมดแล้ว ทำลายศาสนากันด้วยความโลภ สำคัญคือผู้ที่ตั้งตนเป็นแกนหลักที่มีอำนาจบริหารไม่จัดการ แสดงว่าเน่าในกันหมดแล้ว

ก็มีเหมือนกัน คนที่เคยรู้จักกัน เขาก็ไปหลงกับผู้แสวงหาในทางผิดเหล่านั้น ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาหรอก มันก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะเลือกชีวิตไปในเส้นทางไหน เลือกที่จะศรัทธาใคร เลือกที่จะทำตามใคร

เราก็เลือกได้แต่เส้นทางของตัวเอง ว่าเราจะทำตามครูบาอาจารย์นี่แหละทำตามท่าน ทำงานฟรี ช่วยคนฟรี ฝึกเสียสละให้หมดใจ อย่าไปเอาอะไรมาแลกแม้รอยยิ้มและคำขอบคุณ

ผมว่าคนที่เขาเก็บเงินคนที่มาปรึกษานี่เขาใจร้ายมากเลยนะ คนเขาทุกข์มาแล้ว เรายังจะไปเก็บเงินเขา ให้เขาลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก มันจะซ้ำเติมกันไปถึงไหนนั่น แม้เขาจะยินดีจ่าย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะมีกำลังจ่าย

ช่วยคนฟรีดีกว่า คัดกันด้วยศีลธรรมนี่แหละ จะช่วยใครก็แค่ดูทรงว่าตั้งใจปฏิบัติไหม มีศีลไหม ทำความดีเสียสละอะไรมาบ้าง ถ้ามีพื้นฐานดี มันก็น่าจะช่วยกันไม่ยาก แต่ถ้าแบบศีลไม่มี อัตตาจัด รู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง เถียงทุกคำ แบบนี้เอาไว้ก่อน เราน่าจะยังมือไม่ถึง คงต้องขอยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม มีศีลตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้วค่อยมาว่ากัน