Tag: โลกุตระ
VIP โลกีย์ ราคีโลกุตระ
ถ้าตามสมมุติโลก คนที่เขามีชื่อเสียงมาก สนับสนุนมาก คนเขาก็นับว่าเป็น VIP (Very Important Person) จึงให้การต้อนรับ ดูแล ใส่ใจเป็นพิเศษ อันนั้นก็ตามโลกเขาไป
แต่ในความเป็นโลกุตระ หรือคนที่มุ่งปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสนั้น จะไม่ได้เอาสมมุติเหล่านั้นมาเป็นตัวยึดถือ ด้วยความเป็นบุญนิยม คือนิยมในการทำบุญ หรือการชำระล้างกิเลส ให้คุณค่ากับการชำระล้างกิเลส เว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียนเป็นโทษภัยโดยลำดับ จึงไม่ได้นิยมตามแบบทุนนิยม
แบบทุนนิยมก็ตามที่เรารู้กัน ใครมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีทุนมาก คนเขาก็ให้การยอมรับ ดูแล ใส่ใจ ให้โอกาส เป็น VIP ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยมจึงแตกต่างกันคนละขั้ว
สังคมธรรมมีราคี เมื่อมีทุนยิยมเข้ามาปนในบุญนิยม คือคนที่เขาเอาระบบทุนนิยมเข้ามาปน เข้ามาใช้ในสังคมปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเสื่อมจากธรรม เพราะไปเอาอธรรมมาเป็นตัวนำ
ผมเคยเห็นคนที่เขาป่าวประกาศว่าจะเข็นกงล้อธรรมจักร ปากเขาก็พูดไป 1 ปี 5 ปี 7 ปี เขาก็พูดอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำเขาไม่เหมือนที่ปากพูด เขาก็เอาทุนนิยมนี่แหละมาปฏิบัติ พอมีคนมาสนับสนุนเขา ด้วยเงินก็ตาม ด้วยการยอมรับเขาก็ตาม เขาก็ให้ความเป็น VIP กับคนนั้น ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนโตไปให้เขาด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นลีลาการเลียอันน่าขยะแขยงสุดจะพิศดารยิ่งนัก ด้วยความที่ปกติดูจะเป็นคนที่แสดงออกไปในเชิงกล้าและกร่าง แต่พอเจอเงิน เจอคนมีอำนาจก็ถึงกับอ่อนยวบยาบ กลายเป็นอวยเขา เลียเขา ส่งเสริมเขา (เพราะเขามาส่งเสริมตน) ซึ่งในกระบวนการทั้งหลายนี้ ไม่ได้มีวิถีบุญนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่วิถีโลกีย์หรือทุนนิยมล้วน ๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นรอยด่างของกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่จะต้องจัดการคนเหล่านี้ ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ตามหลักที่ในหลวง ร๙ ได้ตรัสไว้ว่า …
“….ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)
ในสังคมปฏฺิบัติธรรมก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีพร้อมกัน เสมอกันหมดได้ ความเป็นสังคมคือความปะปนกันในฐานะที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราจะส่งเสริมให้สังคมเกิดความเจริญในธรรม เราก็ต้องจัดการควบคุมคนที่มีลักษณะเมาในทุนนิยมหรือเป็นทุนนิยมโดยพฤติกรรม และส่งเสริมคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักบุญนิยม ให้ได้มีอำนาจ ปกครองคนไม่ดี ก็จะเจริญได้ตามลำดับ
ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากหรือมีอำนาจมาก ก็จะชักนำให้เกิดความเสื่อม เป็นราคีในหมู่โลกุตระ เป็นวิบากร้าย เป็นความล้าช้า ความลำบากในการปฏิบัติธรรม เป็นตัวถ่วงกลุ่ม เป็นยางเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการเข็นกงล้อธรรมจักร
โสดถ่วงโลก ไม่ให้จมดิ่งไปมากกว่านี้
โดยวิถีของโลกนี้ก็มีอยู่บล็อกเดียวอยู่แล้ว คือใช้ชีวิตตามอยาก หาคู่บำเรอกิเลส แล้วก็สร้างครอบครัวครอบตัวครอบใจกันไป มีลูกมีหลาน นอนบนกองทรัพย์ที่ลูกหลานหามา แล้วก็ตายกันไป
เป็นสูตรสำเร็จที่คนเอาไว้ใช้ป้องกันสิ่งที่ตนเองกลัว กลัวไม่มีคนรัก กลัวไม่มีทรัพย์ กลัวลำบาก กลัวป่วยแล้วไม่มีคนดูแล กลัวตายแล้วไม่มีคนเผา กลัวไม่มีคนทำบุญส่งไปให้ สารพัดความกลัวที่จะทำให้คนแสวงหาสิ่งใด ๆ มาแปะ มาเติมเต็มให้รู้สึกอุ่นใจ
ทีนี้โมเดลใช้ชีวิตอยู่คนโสดนี่มันก็มีอยู่ในสังคมเหมือนกัน คือโสดเพื่อที่จะเสพอีกอย่าง โสดไม่ผูกมัด โสดไม่เอาภาระเป็นต้น คือเอาแต่ใจตนเองสุด ๆ นั่นแหละ อันนี้มันก็จะคงสภาพได้ช่วงหนึ่ง แต่เดี๋ยวกิเลสมันก็แส้เฆี่ยนให้วิ่งไปหาคู่อยู่ดี แม้จะหาไม่ได้ แต่ใจก็ยังถวิลหา ระลึกถึง ฝันถึง ฝังใจ ฯลฯ
ทั้งมีคู่และโสดที่เต็มไปด้วยความอยากเหล่านั้น ต่างก็อยู่ฝั่งเดียวกันคือฝั่งโลก หรือโลกียะ ความเป็นโลกคือวนเวียนอยู่กับโสดหรือมีคู่ เปลี่ยนสถานะไป แต่ไม่พ้นความอยาก
ทีนี้อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งโลกุตระ ซึ่งมีน้อยมาก น้อยอย่างเทียบกันไม่ได้เลย แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ แสดงตน แสดงธรรม เพื่อถ่วงโลกไว้ ไม่ให้ไหลลงมากกว่านี้ ไม่ให้มืดบอดไปมากกว่านี้
ถ้าไม่มีธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัส คนนี่มืดบอดเลยนะ ชีวิตจะเป็นไปได้ไม่กี่ทาง เช่น หาคู่ มีครอบครัว หรือไม่ก็โสดแบบอัตตาจัด ๆ เพื่อกลบเกลื่อนความอยาก
การมีธรรมะแสดงอยู่ ทำให้คนที่เขาทุกข์ เขาอยากหลุดพ้นจากทุกข์สามารถที่จะมีทางออกทาง ออกจากโลก มันก็มีแค่มาฝั่งโลกุตระเท่านั้นถึงจะพ้น เพราะความเป็นโลกคือความวน หลงเสพหลงสุขสารพัดลีลา ซึ่งจะทำพาทุกข์มาให้อย่างไม่มีวันจบสิ้น
การที่ผมพิมพ์บทความเรื่องโสดบ่อย ๆ นี่คือการถ่วงโลกไว้ เพราะเรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนทำจริง ๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่ได้มีเวลามาขยาย แต่ก็ได้ให้แนวทางไว้ แต่คนที่จะมาแสดงตัวตนให้ชัด ๆ น่ะมีน้อย คนที่จะมาเปิดเผยอย่างจริงจังก็มีน้อย ดีไม่ดีมีพวกผีแอบปลอมปนเข้ามาอีก
การพิมพ์ไปแต่ละบทความ คนที่มีปัญญาเขาจะได้ประโยชน์ทุกครั้ง แม้ทีละน้อยก็จะได้ประโยชน์ เพิ่มภูมิธรรม เพิ่มความรู้ แม้รู้อยู่แล้วก็ได้รู้เหลี่ยมรู้มุมเพิ่ม ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาก็ตรงข้ามนั่นแหละ เหมือนน้ำเต็มแก้ว ที่สำคัญเป็นน้ำเน่าด้วย เพราะไม่รู้จักว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรอะไรไม่ควร ซึ่งจะก็มักทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรลงไป
การบำเพ็ญทำดีก็ไม่มีอะไรมากกว่าการคิดดีซ้ำซาก การทำดีซ้ำซาก การพูดธรรมซ้ำซาก คือซ้ำ ๆ ทวน ๆ ไปอยู่แบบนั้น ซ้ำคือซ้ำ ย้ำในความดี ทวนคือทวนกระแสโลก
ถ้าได้ตามนี้ถือว่าเยี่ยม เชื่อไหม คนไม่มีภูมิธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมถึงผล ไม่มีมรรคผล เขาทำย้ำซ้ำทวนไม่ได้หรอก เพราะเขาจะไม่มีจิตยินดีในธรรม เขาจะเบื่อไปตามโลกีย์วิสัย คนที่มีญาณปัญญาจะมีความร่าเริ่งในธรรม ยินดีในธรรม เขาจะย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ในธรรมนั้นได้อยากผาสุก เบิกบาน แจ่มใส ก็เว้นเสียแต่ง่วงนอนมาก ๆ นั่นแหละ
ย้ำด้วยการทวนกระแสโลก อันนี้คือความจริง คนไม่มีธรรมจะไม่แกล้วกล้าอาจหาญ จะไม่กล้าท้า ไม่กล้าทวนกระแสโลก แสดงธรรมกระมิดกระเมี้ยน ไม่กล้าหาญ ไม่เปิดเผย มีแต่ภาพกว้าง ๆ แนวคิดกว้าง ๆ เป็นคอนเซ็ปต์ทั่ว ๆ ไปที่ใครก็รู้ได้ ไม่กล้าลงลึกในสภาวธรรม ไม่กล้าแจงแจงรายละเอียด เพราะตัวเองไม่พ้น มันก็จะเหนียม ๆ เก้อ ๆ อยู่แบบนั้น โดยเฉพาะตัวเองไม่มี มันก็ทวนไม่ได้ เขาก็ไม่กล้าแสดงตัวออกมาหรอก
สรุปคือเขาจะไม่มาทำงานพวกนี้หรอก ครูบาอาจารย์ที่ผมศรัทธาท่านพูดเรื่องเดิมมาหลายสิบปีแล้วก็ยังพูดเรื่องเดิมอยู่ ผ่อนน้ำหนักกว่าเก่าด้วย คือสมัยแรกท่านก็เข้มเชียว แต่มาตอนนี้น้ำหนักก็เบาลงแต่สวยงามมากขึ้น ศิลปะก็เปลี่ยนไปตามภูมิตามการประมาณของท่าน แต่หลักสำคัญคือเนื้อหาเก่า พูดเรื่องเก่า เรื่องเดิม
คือเรื่องที่สืบต่อมาตั้งแต่หลายต่อหลายชาติ ก็พูดเรื่องเดิมตั้งแต่ชาติที่แล้ว ยันชาตินี้ และคิดว่าชาติหน้าท่านก็คงจะพูดต่อไป เพราะมันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่สุดในโลก
คนมีปัญญาจะรู้ว่าพูดเรื่องการลดกิเลสเรื่องการไม่เบียดเบียนนี่มีประโยชน์ที่สุดในโลก ควรพูด ควรย้ำมากที่สุดในโลก เพราะไม่มีอะไรดีเท่ากับพูดหรือแสดงธรรมเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว
ผู้ใหญ่พาทำ
จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ
กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส
ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ
แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป
เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม
ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง
ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล
สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น
เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู
ไม่ทำบาปทั้งปวง
การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ
มุ่งทำแต่ความดี
ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ
ทำจิตใจให้ผ่องใส
หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน
การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก
ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส
….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา
การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)
– – – – – – – – – – – – – – –
21.2.2559