Tag: อัตตา
ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี
ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี
เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง
ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ
ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า”
ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้
แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ
ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ
ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม
ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา
ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น
แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้
นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้
ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย
ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด
แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด
คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น
แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย
และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม
ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
18.6.2558
บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข
บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข
ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ
1). วัฏสงสาร
ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ
2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก
แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง
3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน
สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา
4). โสดใช่ว่าเป็นสุข
การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง
5). กาม อัตตา อุเบกขา
ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม
เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย
เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ
6). โลกุตระสุข
บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่
โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ
7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง
การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้
หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน
ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้
และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ
ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)
เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน
– – – – – – – – – – – – – – –
15.5.2558
กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู
ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู
ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร
เห็นกิเลสเป็นมิตร
ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย
สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร
หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส
ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด
การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน
ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง
เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ
เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู
ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง
เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน
จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้
แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว
ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้
ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด
เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ
สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2558
มิตรแท้คนโสด
มิตรแท้คนโสด
ผมพิมพ์บทความเกี่ยวการไปสู่ความเป็นโสดไว้มากมาย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาในชีวิตคู่รักแต่ละอย่างนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เด็ดขาดหากยังจะต้องเป็นคู่รัก จึงสร้างบทความที่จะตัดเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นไปเลย
บทความแต่ละบทนั้นมีถ้อยคำที่ข่ม ประณาม ด่ากิเลสอยู่ด้วยเสมอ ชี้แจ้งโทษของการมีคู่และประโยชน์ของความโสด ซึ่งจะไปสู่ผู้อ่านที่มีลักษณะดังนี้
1). คนมีกิเลสที่เห็นว่ากิเลสคือทางชั่ว: แม้ว่าจะยังไม่สามารถสู้กิเลสได้ แต่เมื่ออ่านบทความไปแล้วก็จะกระตุก จะรู้สึกผิด จะมีความเกรงกลัวขึ้นมา คนเหล่านี้หากเพียรพิจารณาธรรม ที่ว่าด้วยประโยชน์ของความโสดและโทษชั่วของการมีคู่จะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นได้ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว (พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการพิจารณาโทษของกิเลสจะทำให้เกิดสมาธิ : วิตักกสัณฐานสูตร) การพิจารณาธรรมเพื่อชำระกิเลสจึงเป็นไปโดยง่าย
2). คนมีกิเลสที่สงสัยในกิเลส : คนเช่นนี้จะยังลังเลอยู่ว่า จะโสดดี หรือไม่โสดดี อย่างไหนเป็นสุขกว่ากัน ก็ให้เพียรศึกษาไปเรื่อยๆ พิจารณาประโยชน์ในการโสด และโทษของการมีคู่ให้มาก แต่ถ้าไปพิจารณาโทษของความโสดและประโยชน์ของการมีคู่มันก็มีทิศทางไปทางเสพกิเลส ไปนรกนั่นเอง
3). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลส : คนที่ประมาทต่อภัยของกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่ตายแล้ว แม้จะมีธรรมที่พาให้ปลดเปลื้องกิเลสออกแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวัน ก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอ เหมือนกับเอาไฟไปเอาศพ เหมือนเอาดาบไปแทงศพ ร่างที่ตายไปแล้วนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรเลย
4). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลสและมีอัตตาจัด: คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นอกจากจะไม่เห็นภัยของกิเลสแล้วยังเห็นกิเลสเป็นมิตร “เอากิเลสมาเป็นอัตตาของตน” พอกิเลสโดนด่าก็เหมือนตนถูกด่า เพราะในใจลึกๆมันเสพติดการมีคู่ จนกระทั่งไม่ยอมให้ใครมาทำลายทิฏฐินั้น แม้ใครเห็นแย้งไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมารมาจากไหน คนที่เมาอัตตาก็จะสู้กับเขาไปหมด
ส่วนคนไม่มีกิเลสขอยกไว้ แต่ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะมาอ่าน ท่านก็ย่อมยินดีในธรรมที่พาให้ลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลง อยู่ดี
เมื่อเห็นประโยชน์ในการพิจารณาธรรมที่พาออกจากกิเลสดังนี้ ผมจึงขอแนะนำบทความเกี่ยวกับความรักที่เป็นทางที่จะพาไปสู่รักที่ไม่มีกิเลสใดๆมาปนให้หม่นหมอง
คลังบทความ ความรัก(ที่เพียรละกิเลส)