Tag: พระไตรปิฏก

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

June 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,213 views 0

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

แล้วชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์กินได้อย่างไร?

หากได้ชมซีรี่พระพุทธเจ้าตอนที่ 30 จะมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไปห้ามการนำสัตว์ไปฆ่าเพื่อบูชายัญ โดยมีบทพูดในละครที่น่าสนใจเช่น “ข้อยอมตายตรงนี้แต่ข้าหลีกทางให้ไม่ได้” , “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่”

ยอมตายแต่ไม่ยอมให้ฆ่า นั่นหมายถึงแม้เหตุแห่งชีวิต ท่านก็จะไม่สนับสนุนในการฆ่า ในพระไตรปิฏกมีหลักฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบของการฆ่าไว้ชัดเจน และการฆ่านั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ดังนั้นไม่ว่าจะฆ่าด้วยเหตุผลอะไรย่อมไม่ใช่แนวทางของพุทธ

แต่ในทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นเนื้อที่มาจากการฆ่า เป็นเนื้อนอกพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีสิ่งดีใดๆในเนื้อสัตว์นั้นเลย และซ้ำร้ายการค้าขายเนื้อสัตว์ยังเป็นการค้าที่ผิดของพุทธด้วย นั่นหมายถึงชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าและไม่ค้าขายเนื้อสัตว์

ในสมัยพุทธกาลนั้น การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องสามัญมากๆ ขนาดพระเทวทัตที่ได้ชื่อว่าชั่วที่สุดในโลกก็ยังขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติให้ภิกษุไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ถึงกระนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่เห็นตามนั้น ทรงตรัสว่าให้กินเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าเขาฆ่ามา เพราะแท้จริงแล้วเนื้อสัตว์ที่กินได้โดยไม่มีองค์ประกอบของการฆ่าที่ผิดพุทธเข้าไปเกี่ยวอยู่นั่นมีอยู่ คือเดนสัตว์ที่เหลือจากการถูกล่าโดยสัตว์ และสัตว์ที่ตายของมันเอง

ประโยคในละครที่ว่า “หากมีบาปเกิดขึ้นในนามของศาสนาข้าจะต้องคัดค้านแน่” ยังกำชับแนวทางของพุทธได้ดี แม้จะเป็นคำที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาใหม่ แต่ทิฏฐิยังคงเดิม นั่นคือ นอกจากจะไม่ฆ่าเองแล้ว ยังไม่สนับหนุนให้คนอื่นฆ่า และยังแสดงความกรุณาโดยการคัดค้าน ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

พระพุทธเจ้ายังเคยถูกกล่าวตู่ว่ากินเนื้อสัตว์ โดยฝ่ายที่ไม่ศรัทธา นั่นหมายถึงว่าปกติแล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์ แล้วฝ่ายที่ไม่ศรัทธาจ้องจะหาทางทำลายชื่อเสียง จึงใช้วิธีป่าวประกาศว่าพระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านให้กินอาหารที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เนื้อสัตว์ที่ถูกพุทธก็หาได้ยากกว่าพืชผักอยู่แล้ว และเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาก็ยังมีโทษเจือปนอยู่ ท่านได้ตรัสไว้ในสูตรอื่นๆว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงมีส่วนในการเบียดเบียน ทำให้ตนเองนั้นมีโรคมากและอายุสั้น นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

บาปแม้น้อยไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านได้ฝากทิ้งไว้ ในเมื่อเรารู้แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีส่วนแห่งบาปอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แล้วเราจะยังยินดีรับเนื้อสัตว์นั้นมากินได้อย่างไร เราไม่รู้สึกผิดบาปเลยหรือ? ไม่ตะขิดตะขวงใจกันเลยหรือ? เรายอมมีส่วนในบาปนั้นเพียงเพื่อจะได้เสพรสสุขลวงจากเนื้อสัตว์เท่านั้นหรือ? เรายินดีในการฆ่าเพียงเพื่อให้ตนได้เสพสุขอย่างนั้นหรือ? เราปล่อยวางเหตุผล แต่เรายังมุ่งเสพกามที่ผิดจากทางของพุทธไปมาก นี่คือทางพ้นทุกข์จริงหรือ?

เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ของเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีเลย แม้จะทำให้อิ่มท้องได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ต้องการพ้นทุกข์สมควรบริโภค แล้วทีนี้ชาวพุทธจะหาเนื้อสัตว์มากินได้อย่างไร? แล้วจำเป็นต้องหากันหรือไม่? หรือแท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจเนื้อสัตว์ว่าเป็นอาหารเสียเลยยังจะง่ายกว่าที่ต้องมารู้สึกไม่ดี สงสัย ตะขิดตะขวงใจกับการกินเนื้อสัตว์ในแต่ละครั้ง

– – – – – – – – – – – – – – –

16.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,477 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เทศกาลกินเจ

September 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,801 views 0

เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ

เข้าช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ก็มักจะเป็นช่วงที่สังคมหยิบยกเอาเรื่องของการกินเจ สาระความรู้ แม้แต่ข้อคิดเห็นความเข้าใจในเรื่องของการกินเจออกมาแชร์กัน

สารภาพตรงๆว่าผมเอง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยกินเจเลย ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรับรู้ พึ่งจะมากินมังสวิรัติมาได้ปีกว่าๆ ในปีนี้ก็เลยลองไปเดินดูบรรยากาศที่เยาวราชกันสักหน่อย และแวะเข้าไปซึมซับบรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจที่วัดมังกรฯกันสักนิด เพื่อที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มากกว่าอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตและดูจากทีวี

เรามักจะได้เห็นการวิวาทะเกี่ยวความเชื่อเรื่องการกินเจอยู่บ่อยๆในสังคมออนไลน์ ว่ากินเจดี หรือไม่ดี ต้องกินหรือไม่ กินอย่างไร แบบไหนจึงจะดี แล้วต้องคิดต้องทำอย่างไรถึงจะดี บ้างก็ยกหลวงปู่หลวงพ่อที่ตนนับถือมาอ้าง บ้างก็ยกพระไตรปิฏกมาอ้าง ว่าสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นดี กลายเป็นเทศกาลที่มักจะเห็นคนห้ำหั่นกันด้วยอัตตากันอยู่บ่อยๆ

จะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกินเจ เพราะเรื่องกินนั้นเป็นประเด็นหลักที่สังคมรับรู้และให้ความสำคัญมาก

คนกินเจ…

ผมคิดว่าการที่คนเราลองเปลี่ยนมากินเจนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มีโอกาสได้ลดเนื้อกินผักหรือกินอะไรแทนเนื้อสัตว์ก็กินไปเถอะ ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ดีแล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เราไปกินเจแล้วรู้สึกว่าเราดีกว่าคนอื่นนั้น ยังไม่ดี อันนี้ควรจะแก้ไข คนกินเจบางคนมักจะสำคัญตัวเองว่าฉันใจบุญ ฉันดี ฉันมีศีล ซึ่งความติดดียึดดีเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่ไปทำร้ายทำลายใจคนที่เขาไม่กินเจ

คนที่กินเนื้อเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีไปเสียทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทั้งชีวิตที่ผ่านผมเองก็กินเนื้อมาตลอดและต้องบอกตรงๆเลยว่า สมัยก่อนก็ชอบเนื้อมาก ถึงขั้นเสพติดเนื้อกันเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง…แปรผันได้ตลอดเวลา ติดได้ก็เลิกได้ บางทีคนที่เขายังกินเนื้อในวันนี้ แต่ปีหน้าเขาอาจจะลดเนื้อกินผักได้มากกว่าคนที่กินเจปีละครั้งก็ได้ ดังนั้นคนกินเจก็อย่าไปปรามาส อย่าไปสบประมาทคนที่เขายังกินเนื้ออยู่ เพราะเขาแค่ยังไม่รู้ถึงโทษของการกินเนื้อ เราไม่รู้หรอกว่าใครมีบุญบารมี มีวาสนาสะสมมาเท่าไหร่ คนที่กินเจก็ควรจะมุ่งมั่นกินเจของตนไป ขยายขอบเขตการลดการเบียดเบียนให้ได้มากขึ้น เป็นเดือน เป็นปี อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่าถือศีลตามเทศกาล ถือตามชาวบ้าน ถือศีลแบบไม่มีปัญญา

ดังนั้นการเพ่งโทษคนที่ไม่กินเจ หรือกินเจไม่เคร่งครัด จึงไม่ใช่วิสัยที่คนถือศีลกินเจควรทำ เพราะสิ่งที่เราควรทำคือขัดเกลาจิตใจตนเอง ไม่ใช่จิตใจของผู้อื่น

คนไม่กินเจ…

ส่วนคนที่ไม่ได้กินเจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่เราเห็นคนกินเจ เราก็ควรจะยินดีกับเขา เห็นคนที่เขาคิดจะทำดี แม้ว่ามันจะยังไม่ดีเลิศอะไร แต่เขาก็ยังคิดจะทำสิ่งที่ดีเท่าที่เขาจะทำได้ แม้เราจะยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นดี เราไม่ยินดีทำตามก็ไม่เป็นไร แต่การที่เราไปเพ่งโทษคนที่เขาทำดี อันนี้ก็ไม่ดี เขาตั้งใจทำดีเรายังไปว่าเขาไม่ดี เรานั่นแหละไม่ดี เขาทำดีเราควรจะช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยสนับสนุนให้เขาทำดี ไม่ใช่ไปคอยไปจับผิดเขา คอยแสดงท่าทีเขาให้เลิกทำดี กลับมากินเนื้อเป็นปกติเหมือนอย่างเรา

การกินเจหรือลดเนื้อกินผักนั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องเดินสวนกระแสแห่งความอยาก ถ้าหากเรายังไม่เคยท้าทายตัวเอง เอาแต่ลอยไปตามสายน้ำแห่งความอยาก ก็ยากที่จะเข้าใจจิตใจของผู้ที่กินเจ ดังนั้นเพื่อการศึกษา คนที่ไม่กินเจ ก็อาจจะลองมากินเจดูบ้างก็ได้ ว่าสิ่งที่เขาว่ายากนั้นยากอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาว่าดีนั้นดีจริงอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่าการกินเจไม่ได้ทำให้ใครเป็นคนดี และคนดีทุกคนไม่จำเป็นต้องกินเจ แต่เราเองก็ควรจะรับรู้ด้วยว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดการเบียดเบียน ซึ่งเราผู้กินเนื้อแต่ละคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มชูและพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม การค้าขายสัตว์เป็นหรือสัตว์ตายนั้น เป็นการค้าขายที่ผิดในทางของพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เรายังไปสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ เราก็ควรจะรับรู้ด้วยว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองแห่งบาปนี้เช่นกัน

การกินเจที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง คล้ายเนื้อสัตว์ออกมามากมาย เป็ดเจ ไก่เจ หมูเจ ฯลฯ ทำให้หลายคนสงสัยว่าการกินเจจะดีจริงหรือในเมื่อใจเรายังติดในรสชาติของสัตว์นั้น

ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะให้คนกิเลสหนาหักดิบมากินผักเลยมันเป็นไปไม่ได้ โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมจึงได้ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์กับผู้ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นใหม่ หัดใหม่ หรือยังตัดความอยากไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นการลดการเบียดเบียนที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าเรากินกันได้แบบนี้ทุกคนบนโลก ก็จะไม่มีสัตว์ใดตายเพราะความอยากของเรา จริงไหม?

แต่เชื่อเถอะว่าเนื้อสัตว์เทียมเหล่านั้นก็ไม่สามารถหยุดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้หรอก ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาเหล่านั้นก็จะกลับไปหาเนื้อสัตว์จริงๆกิน เพราะความหิวกระหาย เพราะความอยาก เพราะกิเลสที่ถูกกดข่มไว้นานนั้นได้เพิ่มปริมาณและทะลักออกมา หรือที่เรียกว่าตบะแตก

ไม่มีสังคมใดที่จะมีคนดีคนเก่งไปเสียทั้งหมด คนที่กินเจได้แบบบริสุทธิ์ต่อเนื่องทั้งชีวิตก็คงจะมีอยู่ แค่เราอาจจะไม่เคยเห็น และถึงจะมีจริง เขาเองก็ไม่ได้สามารถที่จะสอนหรือแนะนำให้ทุกคนกินเจได้บริสุทธิ์ได้เหมือนเขา เพราะคนส่วนมากนั้นมีกิเลสที่หนาในระดับที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้ก็เลยมีผลิตภัณฑ์อาหารเจ เนื้อสัตว์เจขายกันอยู่ทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

27.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,459 views 0

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง

ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย

จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …

ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…

ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย

ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย

เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ

เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ

ความเสื่อมของศาสนา…

ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา

เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย

เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต

เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ

ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…

การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง

เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม

เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย

เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน

การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….

ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …

ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์