Tag: ความเสื่อม

การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ” (2)

October 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,388 views 0

อ่านบทความก่อนหน้านี้ : การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ”

ผมเองไม่ได้มีความเห็นว่าควรฉายหรือไม่ควรฉายนะ โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะสนใจ เพราะศาสนาไม่สามารถถูกทำลายด้วยภาพยนต์เรื่องเดียวหรอก ศาสนาไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น

เพราะถึงไม่สร้างหนังเรื่องนี้ ก็มีให้ดูตามข่าวกันอยู่เกือบทุกวันอยู่แล้ว มันแสดงให้เห็นความเสื่อมของศีลธรรมในสังคมมานานมากแล้ว

ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมได้ก็เพราะคน ถ้าคนมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ต่อให้ทำอีกสิบหรือร้อยอาบัติมันก็เท่านั้นแหละ มันก็เป็นแค่สื่อสารคดีให้เขาคนมีปัญญาเขาศึกษาเท่านั้นเอง

ศาสนาคงอยู่ได้เพราะความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ ถ้าเอากันชัดๆก็นักบวชนี่แหละ ที่เป็นตัวแสดงภาพลักษณ์ของศาสนา

ถ้ามันจะเสื่อมลงก็เพราะคน จะเจริญขึ้นก็เพราะคน ไม่ได้เกี่ยวกับสรรเสริญ( การสร้างหนังมาชม ) นินทา( การสร้างหนังมาสะท้อนปัญหา )อะไรเลย เพราะความเป็นจริงที่ผู้คนเห็นกันทุกวันนี้มันก็ชัดอยู่แล้ว

ถ้านักบวชส่วนรวมมีความประพฤติดี เขาก็ไม่กล้าสร้างหนังแบบนี้ขึ้นมาหรอก เพราะคนจะต่อต้าน หาเรื่องซวยเปล่าๆ แต่กระแสตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น น้ำหนักมันไม่ได้ไปในทิศทางเดียว มันมีทั้งต่อต้านทั้งสนับสนุน

พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าให้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อรักษาภาพลักษณ์เพื่อให้ได้ลาภ สักการะ สรรเสริญ แต่ให้ปฏิบัติไปเพื่อการพราก เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ที่หวงลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข

แล้วสิ่งที่ทำผิดทั้งหลายน่ะให้รีบแก้ไข ถ้ารีบแก้ไขมันก็จะไม่เสื่อม แต่ถ้าปล่อยไว้มัวแต่แก้ตัวหรือนิ่งทำเฉยมันก็จะเสื่อม ทุกวันนี้มีการแก้ไขกันเป็นตัวอย่างไหม? มีแต่อุ้มคนผิด เลี้ยงนักบวชทุศีล มันก็เสื่อมสิ พาเสื่อมปุ๊ปเดี๋ยวก็มีคนเอาไปตีแผ่อีก มันเป็นไปตามวิถีโลกอยู่แล้ว

ผมยืนยันเลยนะว่า ถึงจะฉาย”อาบัติ rate x( อย่างที่มีข่าวกันทุกวันนี้ ) พุทธก็ไม่เสื่อมไปจากคนที่มีของจริงหรอก ใครเขามีปัญญาเขาก็ศรัทธาอยู่แบบนั้น ส่วนใครสิ้นศรัทธาก็จากไป มันเป็นการคัดสรรโดยธรรมชาติเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธในมุมของผมนั้นไม่ลึกลับ เชิญใครมาดูก็ได้ว่าเราปฏิบัติเช่นนี้ เห็นเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้ ใครจะด่าจะว่า วิจารณ์ยังไงก็ได้ ศาสนาที่ไม่ยอมให้คนอื่นตินั้นไม่เจริญหรอก เช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ยอมให้ใครวิจารณ์ เขาก็ยากจะเจริญเช่นกัน

ผมก็แอบสงสัยนะ ว่าการที่คิดจะแบนหรือปิดบังเนี่ย มันจะทำไปได้ตลอดหรอ ในเมื่อทุกวันนี้ก็เละเทะขนาดนี้แล้วเนี่ย

โดยส่วนตัวแล้วมองว่าถ้าปิดๆไว้ก่อนแล้วรีบแก้ไขสิ่งผิด มันก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าปิดไว้แล้วไม่แก้ไข ปล่อยให้ศีลธรรมเสื่อมแบบนี้มันจะบาปทะลักเอานะ

ภาพยนต์อาบัติ กับความเสื่อมของศาสนาพุทธ

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,008 views 1

การนำเสนอภาพยนต์ “อาบัติ”

เรื่องนี้ตอนแรกก็ไม่ได้มีกระแสอะไรมากมาย แต่พอถูกแบนด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่งาม ฯลฯ สรุปคือรับไม่ได้ที่จะเห็นภาพศาสนาพุทธเป็นเช่นนั้น ก็เกิดกระแสขึ้นมาในหลายๆที่

ผมได้เห็นเนื้อหาบางส่วนจากตัวอย่างแล้ว มองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะจากที่ศึกษาในพระไตรปิฎก เรียกว่าที่โหดกว่านี้ยังมีอีกเยอะ บรรยายถึงความเสื่อมไว้เป็นขั้นเป็นตอน

เช่น นักบวชในศาสนาชายหญิงเปิดของลับให้กันดู หมายจะให้อีกฝ่ายเกิดความใคร่อยากสมสู่กัน หรือนักบวชในศาสนาแม่ลูกสมสู่กัน และยังมีอีกหลายกรณีที่เข้าขั้นวิตถาร ก็มีให้ศึกษากันทั่วไปในพระไตรปิฎก

ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษา เพราะความเสื่อมในศาสนามีอยู่เสมอ และมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษา เราก็จะไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นอย่างไร และควรจะแก้ไขอย่างไร

ซึ่งจะทำให้ศาสนาพุทธค่อยๆกลายเป็นศาสนาแห่งความงมงาย เป็นเรื่องลึกลับ แตะต้องไม่ได้ กลายเป็นศาสนาเทพเทวดา นักบวชกลายเป็นผู้วิเศษ บริสุทธิ์ได้เพียงแค่ห่มผ้าเหลือง

ในสมัยพุทธกาลนั้นฆราวาสมีบทบาทมากกว่าในปัจจุบัน การคว่ำบาตรนักบวชทุศีล ก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้ายังสรรเสริญ ถ้าฆราวาสไม่ดูแลศาสนา แล้วใครจะดูแล?

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,542 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,032 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)