Tag: ความรู้
อาการดูดดึง (เรื่องความรัก)
ก็มีคนเขามาเล่าว่า เจอคนที่มีอาการดูดดึง แต่จากที่เล่า เขาก็ไม่ชัดในอาการของตนเองสักเท่าไหร่นัก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดได้กับผู้ประพฤติตนเป็นโสดมือใหม่ทุกคน
เมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนเริ่มเกมตำรวจจับผู้ร้าย ทีนี้เราก็ต้องจับโจรให้ได้ จะจับได้ก็ต้องใช้สติ เพราะโจรมันทั้งไว ทั้งพรางตัว ถ้าสติเราไม่แกร่ง ไม่แม่น เราจะจับโจรหรืออาการเหล่านั้นได้ไม่ชัด
จะย่อสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นเครื่องมือปฏฺิบัติในการตรวจจับกิเลสสั้น ๆ ให้พอเข้าใจกัน
กายในกาย – มีสติรู้อาการที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง , หันไปมองบ่อย , ประหม่า ฯลฯ
เวทนาในเวทนา – มีสติจับอาการสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มันจะมีไป 3 ทาง ถ้าเราเจอคนที่ชอบ มันก็จะสุข ก็ต้องจับทางให้ได้
จิตในจิต – มีสติจับตัวตนของกิเลส ว่าที่เกิดสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ๆ เกิดเพราะเรามีความเห็นอย่างไร เราเห็นผิดอย่างไร (มิจฉาทิฏฐิ) ประเด็นไหน มุมไหน
ธรรมในธรรม – มีสติรู้ว่าจะต้องใช้ธรรมหมวดไหน ข้อไหน ประโยคไหน มาแก้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น เมื่อเห็นว่าคนคนนั้นดี เป็นของน่าได้น่ามี เราก็ใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าว่า เป็นลาภเลว ไม่น่าได้ ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ประเสริฐ เป็นต้น
ธรรมในธรรมนี้จะเป็นลักษณะของการสอนใจ หรือการดัดจริต จากมิจฉา(ผิด) ให้เป็นสัมมา(ถูก) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีครูบาอาจารย์และมิตรดีสหายดีที่มีธรรมในเรื่องนั้น ๆ ช่วยเป็นมาตรฐาน หรือกรอบของความดีให้ปฏิบัติตามได้
… เมื่อเราจับอาการได้ บางครั้งเราอาจจะประมาณตัวเองไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ไขเหตุการณ์ตรงหน้ายังไง ก็ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่า “สู้ไปก็แพ้แน่นอน” ดังนั้นการหนีจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม
หนี แล้วห่างไว้ คือห่างจากสิ่งที่ทำให้ต้องกังวลและหวั่นไหว ในเมื่อเรายังไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับโจทย์นั้น เราก็ควรจะเลี่ยงออกมาก่อน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมในเรื่องที่พอจะทำไหว สะสมกำลัง สะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ จะแกร่งขึ้น อินทรีย์พละจะสูงขึ้นจากการล้างกิเลสได้เป็นเรื่อง ๆ โดยลำดับ
ถ้ากำลังสติแกร่ง ๆ จะจับอาการได้ก่อนที่คอจะหันไปมอง ก่อนจะกลอกลูกตาไปดู จะจับความรู้สึกอยากจะเสพในใจได้ รู้ว่าอยากเป็นสุข ได้มองแล้วจะเป็นสุข เพราะหลงใน ? ของเขา แล้วใช้ธรรมมากำราบความกำเริบของกิเลสได้ทันที สู้วนไปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตัดกำลังกิเลสไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ความเด็ดขาดจะขึ้นอยู่กับปัญญา (ความรู้จริงในโทษภัยของกิเลส) ไม่ใช่ความรู้ (ความจำตามที่เรียนมา) บางทีรู้มากแต่รู้ไม่ทันกิเลสก็มี ถึงเวลาที่กระทบควักความรู้ออกมาแทบไม่ทัน เผลอ ๆ เจอเขายิ้มให้ ความรู้หล่นกระจายหมด สติแตกกระเจิง แพ้ไปได้อีก
สภาวะดูดดึง รู้สึกแปลก รู้สึกพิเศษเหล่านี้ จริง ๆ มันก็ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก รู้แค่ว่าให้ระวังไว้ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “เจอปุ๊ปรักปั๊บนั่นแหละตัวเวร”
คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ ไปล่อลวงใครมาก็หลายคนและซ้ำซากมาหลายต่อหลายชาติ ดังนั้น ถ้ามันจะมีสัญญาณว่า “เริ่มต้นยกที่ 1” มันก็ไม่แปลกอะไร อย่าไปให้ความสำคัญ มันเป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าไปติดในใจ อย่าไปยึดไว้ ปล่อยเขาไปตามเวรตามกรรมของเขา เหมือนที่โบราณเขาว่า ได้ยินเสียงเรียกอะไรกลางค่ำกลางคืน อยากไปทักกลับ อาการพวกนี้ก็เช่นกัน อย่าไปหาสาระอะไรกับมันมาก ไปสนใจ ไปใส่ใจ เดี๋ยวของจะเข้าตัว เดี๋ยวไปรับเขาเข้ามาในชีวิตแล้วมันจะยุ่ง
ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าจะรับมือไหว ทำเฉย ๆ ห่าง ๆ ไว้จะดีกว่า ที่เหลือคือจะเผลอเอาตัวเองไปคลุกกับเขาเหมือนก่อนรึเปล่าเท่านั้นเอง ไปหลงงมงายอีกชาติรึเปล่า มันก็ต้องใช้ความอดทนเหมือนกัน เพราะบางคนเขาก็ตามจีบเป็นสิบ ๆ ปี การประพฤติตนเป็นโสดก็ยากตรงนี้แหละ ตรงที่เจ้ากรรมนายเวรเขาขยันมาคอยทวงหนี้บาปที่เราได้ก่อไว้
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบ กามราคะเหมือนเป็นหนี้ ถ้าเรายังมีความอยากมีคู่ เราก็จะต้องจ่ายหนี้เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เพราะเราต้องเอาเขามาเป็นของเรา เอามาเสพ เป็นตัวเป็นตน เราก็ต้องจ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกข์ไปเรื่อย ๆ เจ็บช้ำไปเรื่อย ๆ
ถ้าใครปลดหนี้ก้อน “คู่ครอง” ได้ ชีวิตก็สบายไปเยอะ จะเหลือหนี้ เหลือกามเรื่องอื่น ๆ มันจะเบาลงมา ก็ใช่ว่าไม่เป็นภัย เพียงแต่หนี้มันน้อยลง ก็จ่ายดอกเบาลง มันก็คล่องตัวขึ้น
ใครอยากมีชีวิตหนี้ จ่ายไม่จบไม่สิ้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตนเป็นโสด ปล่อยไหลไปตามโลก ไปตามกิเลส เดี๋ยวก็มีเจ้าหนี้มาทวงในวันใดวันหนึ่งเอง แล้วเขาก็ไม่ได้ทวงอย่างสุภาพหรอกนะ เขาทวงกันอย่างมาเฟีย อย่างอันธพาล ไปดูเถอะ ความทุกข์ในชีวิตคู่หนักขนาดไหน เจ็บ แค้น อาฆาต ทำร้าย ฆ่ากันตาย ก็เริ่มต้นจากเหตุแห่งความหลงในรสรักทั้งสิ้น
ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก
เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้
ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้
ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก
นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า
มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง
ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส
ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก
ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้
ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง
ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย
ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้
ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง
โสดดีหรือมีคู่ – ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ผมได้ร่วมโครงการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย โครงการโสดดีหรือมีคู่ โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ครับ ล่าสุดก็มีผลงานออกมาเผยแพร่กันมากมายทีเดียว เป็นแนวคิดของคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสด ตามแนวทางของพุทธศาสนา ด้วยวิธีการสอนแบบแพทย์วิถีธรรม ก็ติดตามกันได้ครับ เนื้อหาด้านล่างก็ยกมาสำรองไว้ แต่ในหน้าหลักจริง ๆ ก็จะเป็นหน้า โสดดีหรือมีคู่ ครับ
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ชื่อเล่น: ดิน เพศ:ชาย อายุ:36 ปี สถานภาพ:โสด (เคยมีแฟน)
รู้จักและปฏิบัติตามหลักแพทย์วิถีธรรมมาแล้วเป็นระยะเวลา:6 ปี
ก่อนพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอยู่เป็นโสดหรือมีคู่อย่างไร?
ตั้งแต่เด็กจนโตขึ้นมา ก็ศึกษาธรรมะทั่ว ๆ ไป ความคิดไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ การอยู่เป็นโสด ไม่เคยมีในหัว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ไม่สนใจ ไม่ใช่เป้าหมาย แน่นอนว่าความเชื่อก็ต้องเป็นด้านตรงกันข้าม คือเชื่อว่ามีคู่แล้วชีวิตมันจะเป็นสุขแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สุขจากสารพัดเสพ
จริง ๆ ในการมีคู่มันก็ทุกข์อยู่ แต่สุขลวงมันก็บังไว้ ให้หลง ให้งง ให้แสวงหา ให้ยึดติดอยู่แบบนั้น ไม่ละ ไม่หน่าย ไม่คลาย นั่นเพราะยังไม่เห็นทุกข์ที่เป็นของแท้ของจริง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นทุกข์แสนสาหัสอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความมืดบอด ตามองเห็น แต่ปัญญาไม่มี จึงไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง อีกทั้งธรรมะโลก ๆ จนถึงกระทั่งกลุ่มที่ศึกษา ก็ไม่มีพลังในการส่งเสริมการเป็นโสด ไม่สอนให้เห็นโทษภัยของการมีคู่ แม้ธรรมะที่แสดงอยู่ในโลกตามที่ได้รู้ เมื่อศึกษาดูก็ไม่ได้รู้สึกถึงโทษภัยใด ๆ เลย
หลังพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?
มาเข้าค่ายครั้งแรกเป็นค่ายสุขภาพ แต่เมื่อได้ยินอาจารย์หมอเขียว ยกธรรมะในหมวดของการอยู่เป็นโสดและคนคู่ โดยยกพระไตรปิฎกมาอ้างอิง ก็ได้รู้มากขึ้น ได้เข้าใจถึงน้ำหนักที่มากขึ้น ได้ความชัดเจนอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน
แต่ถึงกระนั้นความอยากมีคู่ก็ไม่ได้หายจางไปไหน ความรู้ยังคงเป็นเพียงแค่ความรู้ ไม่ใช่ความเข้าใจตามจริง ก็ยังมีจิตแสวงหาอยู่ สมัยนั้นก็นั่งหน้าเวที อาจารย์ก็แสดงธรรมเรื่องคู่ ใจก็คิดถามอาจารย์ว่า แล้วมีได้ไหม? แล้วมีได้ไหม? ว่าแล้วก็หาทางจนได้ มันมีช่องเล็ก ๆ ให้มุดเข้าไป เป็นช่องอนุโลมของเด็กน้อย เราก็คิดว่าเราไม่ไหวหรอกชาตินี้ ขอมีก่อนแล้วกันนะ เอาฐานนี้แหละ
ไป ๆ มา ๆ เจอของจริงเลย คือต้องเจอทุกข์จากความรักจริง ๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเข้าใจ ว่าความทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อะไรคือการเกื้อกูล อะไรคือการเบียดเบียน อะไรคือความรักที่แท้จริง อะไรคือความลวงของกิเลส แต่กว่าจะผ่านมันมาได้ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนผ่านสงความมา แขนขาด ขาขาด จากการรบไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในสองปี เล่นจริง รักจริง เจ็บจริง ทุกข์จริง เรียกว่าสาหัส แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจทุกกระบวนการของกิเลสในเรื่องความรัก ตั้งแต่เกิดยันดับ จะเรียกว่าคุ้มค่าไหม? ก็ไม่หรอก เพราะถ้าเราไม่หลงไปแบบนั้นมันก็ดีกว่า เพราะอะไรที่ทำไปแล้วมันก็จะกลายเป็นวิบากกรรม มันก็ต้องรับ มันก็ต้องทนใช้
สุดท้ายก็พบว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่ครูบาอาจารย์สอน นี่แหละจริงที่สุด ผาสุกที่สุด ทางอื่นไม่สุขเลย ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ตอนนี้เราปฏิบัติจนได้ปัญญามาแล้ว เราก็ไม่ต้องไปโง่แสวงหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว มันก็สบายไป
ท่านมีการปฏิบัติต่อไปอย่างไร?
การปฏิบัติต่อจากนี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง ให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือตนเองก็ยินดีในการอยู่เป็นโสด ยินดีในธรรมที่พาให้คนเป็นโสด และยังส่งเสริมผู้อื่นให้ยินดีและปฏิบัติตนในการอยู่เป็นโสด หรือถ้าอยู่เป็นคู่ ก็ให้มีศิลปะในการพราก ในการปฏิบัติเพื่อความละหน่ายจากคลายจากความยึดมั่นในความผูกพันธ์ ในบทละครที่หลงไปเล่น เพราะจริงๆ แล้ว สถานะคู่คือสถานะสมมุติที่คนปั้นกันขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มีอะไรหรอก คนเต็มคน จะไม่ต้องการแสวงหาคนอื่นมาเติม และยังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือสำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นคนของเรา นี่คนรักเรา นี่ญาติเรา นี่เพื่อนสนิทเรา ฯลฯ มันจะเป็นอิสระจากสภาพยึดจะเสพสิ่งดีจากบุคคลหนึ่ง ๆ
และเพื่อการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น ก็จะพยายามรักษาระยะห่างกับเพศตรงข้ามที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ไม่ให้สนิทเกินไป ไม่ให้หวั่นไหวจนเกินเลย โดยใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ในการตรวจจับอาการที่ดูเหมือนจะเป็นอกุศล ถ้ามีแนวโน้มว่าท่าจะไม่ดีก็ถอยออกมา หรือคบหาในระยะที่ไม่ใกล้จนเป็นอกุศลในใจเขา
ความชัดเจนในความเป็นพุทธ
ถ้ายังมีความเห็นดังเช่นว่า ศาสนาไหนก็สอนเหมือนกัน ทางขึ้นเขามีหลายทาง ทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถึงนิพพานได้เหมือนกัน ความเห็นนั้นยังเป็นความตื้น ความไม่ชัดในสัจจะ ความไม่ชัดเจน ลังเล สงสัย มีความเห็นผิด
พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว คือสัมมาอริยมรรค ศาสนาไหนที่ไม่มีมรรคก็ไม่มีผล และแม้ในทางแห่งมรรคนี้ มารก็มักจะมาล่อลวงให้หลงทางได้เช่นกัน นั่นหมายถึงในมรรคก็ยังมีความลวงอยู่ในผู้ที่ไม่ชัดเจน พาให้หลงทางกันไป
การหลุดพ้นจากกิเลสกับการทำความดีนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การทำความดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส แต่การหลุดพ้นจากกิเลสคือความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ความเป็นพุทธนั้นต้องชัดเจนในความรู้จริงว่า ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในโลกแม้จะมีมากมาย แต่สุดท้ายแล้วความรู้ที่จะสามารถพาให้พ้นทุกข์มีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้น
ไม่ใช่รู้เพราะจำเขามา ฟังเขามา แต่เพราะศึกษาและปฏิบัติจนเห็นผลในตนว่านี่แหละ ทางนี้แหละ ทางอื่นไม่ใช่ ทางอื่นไม่เหมือนทางนี้ รู้ชัดในทางปฏิบัติทางนี้ และรู้ข้อดีข้อเสียในทางปฏิบัติทางอื่นว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลอย่างพุทธได้
จะไม่มีความมัว ความไม่ชัด การเหมารวม ฯลฯ ว่าศาสนาอื่นใดหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาจะสามารถเข้าถึงธรรมนี้ ได้ดังเช่นผู้ปฏิบัติจนสำเร็จมรรคผลโดยลำดับ