Tag: คนดี

คนพาลที่ฝังตัวอยู่ในหมู่คนดี

February 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 675 views 0

เรื่องนี้ก็เคยมีมาก่อน สมัยพุทธกาล คนพาลระดับตำนาน คือพระเทวทัตผู้มักใหญ่ใฝ่สูง แข่งกับพระพุทธเจ้ามาตลอด ปองร้ายพระพุทธเจ้ามาตลอด ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา

ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักความเป็นพาลของพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นฉลาด รอบรู้ในการล่อลวง แสร้งทำ จนครั้งหนึ่งเคยล่อลวงพระที่บวชใหม่ให้เข้าไปศึกษาในสำนักตนเองได้ถึง 500 คน

พระเทวทัตก็ใช้องค์ประกอบของศาสนาที่มีอยู่นั่นแหละ ดัดนิด แปลงหน่อย ให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ดูน่าเคารพ แล้วก็ล่อลวงคนให้หลงตาม

พระที่บวชใหม่ก็ยังไม่รู้วินัย ยังไม่รู้ทิศทาง ก็โดนโน้มน้าวได้ง่าย สุดท้ายก็หลงตามไป ทั้ง ๆ ที่บารมีของทั้ง 500 คนนั้น อยู่ในระดับฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี สภาวะเช่นนี้ก็คือบรรลุอรหันต์นั่นแหละ นี่ขนาดคนมีภูมิอรหันต์ยังโดนพระเทวทัตล่อลวงได้เลย ท่านมีวิบากที่เคยทำชั่วร่วมกันมา ท่านก็ต้องรับ

คนที่สอนและพากลับมาให้ถูกทางคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปพากลับมาด้วยการสอนธรรมจนเข้าใจ เพราะพระเทวทัตนั้นประมาท หลงตนเองว่าอัครสาวกทั้งสองมาเพราะศรัทธาในตน จึงหลีกไปนอนพัก ปล่อยให้สมณะทั้งสองเทศสอนคนไป สุดท้ายตื่นมาพบว่าทั้ง 500 ที่ได้ล่อลวงมาถูกพากลับไปหมดแล้ว ถึงกลับกระอักเลือด

….

แม้สมัยก่อนก็ยังร้ายขนาดนี้ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง แทรกซึมเข้ามาแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย เกาะอยู่ ทนอยู่ เหมือนมะเร็งในร่างกายนั่นแหละ ฝังอยู่ เป็นเนื้ออยู่ แต่ก็เป็นพิษภัยต่อร่างกาย ทำให้ตายได้

ความจริงทุกวันนี้ภาพใหญ่ในสังคมมันก็เกิดเป็นสภาพของพระเทวทัตอยู่แล้ว สำนักมากมายสอนกันไปตามที่ตนชอบใจ ล่าทรัพย์ ล่าบริวาร ล่าอำนาจ ส่วนใหญ่ก็แตกเป็นแบบนี้ทั้งนั้น

มันจะมีแทรกปนอยู่ทุกระยะ ตั้งแต่ภาพใหญ่ จนมาถึงภาพย่อย คือเข้ากลุ่มมาเพื่อแสวงหาอำนาจ มักใหญ่ ใฝ่สูง อวดดี ฯลฯ

แต่คนพาลพวกนี้เขาจะฉลาด เขาจะไม่แสดงความพาลตรง ๆ เขาจะทำดีไปตามขั้นพื้นฐาน ดีที่คนโลก ๆ ทั่วไปเขาจะขยันทำได้ แต่ดีที่เหนือดีนี่เขาจะไม่เอา คือเขาจะทำดีแบบไม่ลดกิเลส หมายถึงทำดีไปเพื่อแลกอำนาจ ทำดีไปก็เสพความเอาแต่ใจ ได้ดั่งใจ กินอร่อย ๆ สร้างอำนาจ วาสนา บารมี อยู่ในนั้นนั่นแหละ แต่จะให้ลดกิเลส ลดกาม ลดอัตตา เขาจะไม่เอาด้วย

เขาก็รอเวลาที่จะมีโอกาสเติบโต ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเขาก็จะขยับ เช่นพระเทวทัตก็ไม่ได้ออกลายตั้งแต่แรก ก็ใช้เวลาสะสมประสบการณ์ ทำดีสอดใส้ชั่วมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายนั่นแหละ

ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนล้นทะลักคือจุดเด่นอันหนึ่งของคนพาล ก็รู้กันว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะคืออัครสาวก คือสาวกที่เลิศยอด แต่เมื่อพระเทวทัตเห็นท่านทั้งสองมาในสำนักตน ก็เกิดจิตลามก ว่าท่านทั้งสองศรัทธาตน พร้อมกับบอกคนอื่นว่า นี่ไงท่านเหล่านั้นมาเพราะศรัทธาในธรรมของเรา

นี่เห็นไหมว่าจิตลามกเป็นอย่างไร มันจะไม่รู้ฐานะแบบนี้แหละ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครใหญ่ใครเล็ก เพราะคิดแต่ล่าบริวาร ล่าโลกธรรม แค่เห็นเขาเดินเข้ามาใจมันก็ลำพอง จิตมันก็เลยประมาท พอไม่รู้ว่าใครเป็นใครก็เลยประมาทอย่างนี้ สำคัญตนผิด ดูถูกผู้อื่น ยกตนข่มผู้อื่น คือจุดเด่นของคนมักใหญ่ใฝ่สูง

คนพาลพวกนี้มีแทรกอยู่ในทุกกลุ่มทุกองค์กรนั่นแหละ เป็นเชื้อมะเร็งร้าย คอยกัดกินทำลายร่างกาย แล้วก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ หรือตรวจกันได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าภูมิธรรมน้อย ๆ เข้ามาศึกษาใหม่ ๆ หรือคนที่ทำดีอย่างไม่เน้นธรรมะ หรือแม้แต่คนที่อยู่มานานแต่ไม่มีมรรคผล ก็จะดูไม่ออก

มันต้องใช้ตาทิพย์ คือตาของผู้ที่ล้างกิเลสได้โดยลำดับ พอล้างกิเลสเรื่องใดได้ มันจะได้ตาพิเศษในเรื่องนั้น อย่างอัครสาวกนี่ก็ล้างกิเลสได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว และยังละเอียดละออเป็นพิเศษด้วย ก็เลยเห็นความพาลชัดเจน จนเอาภาระ ไปพาพระบวชใหม่กลับมา

องค์กรใหนไม่มีคนที่เอาภาระอย่างพระสารีบุตรหรือพระโมคคัลลานะ ก็จะต้องเสียคนดีไปเรื่อย ๆ ก็ปล่อยคนพาลเสพสะสมพลังชั่วไปเรื่อย ๆ ทำลายจิตวิญญาณไปเรื่อย ๆ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่แก้ไขนี่จะเป็นบาป อย่างพระโมคคัลลานะก็เคยดึงพระทุศีลออกจากองค์ประชุม อันนั้นท่านทำได้ถูกต้องตามฐานะ เป็นพระบวชใหม่ แม้จะมีภูมิสูง แม้จะรู้ ก็ไม่เหมาะที่จะทำ เพราะไม่เหมาะสมกับฐานะ ต้องให้รุ่นพี่ลุยก่อน ถ้าไม่มีคนทำจริง ๆ ถึงจะทำได้

อะไรที่มันชั่วช้า เบียดเบียน พาตกต่ำชัด ๆ เช่นถ้าผิดศีลชัด ๆ แล้วเนี่ย ก็คงต้องจัดการกัน จะปล่อยให้คนพาลอยู่สะสมอำนาจไปนาน ๆ มันจะปราบยาก พระพุทธเจ้าเปรียบคนทุศีลเหมือนหยากเยื่อ คือมันเหนียว แน่น หนึบ สกปรก รุงรัง เลอะเทอะไปหมด เอาออกไม่ได้ง่าย ๆ คนพาลที่มาฝังอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าไปให้อาหารเขา ก็เหมือนคนเป็นมะเร็งแล้วไม่หยุดกินอาหารเสริมกำลังมะเร็ง มะเร็งมันก็จะโต เจ็บปวด เบียดเบียนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วหยุดให้อาหารมะเร็ง ทำตรงกันข้าม ก็จะพอทุเลาไปได้บ้าง แต่ถ้ามะเร็งนั้นมันใหญ่จนเบียดเบียนร่างกาย ก็อาจจะจำเป็นต้องตัดทิ้งเสีย แม้จะเสียหายบ้าง แต่ก็เจ็บปวดน้อยที่สุด

ห่างไกลคนพาล คือตัวอย่างของคนดี

February 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 829 views 0

ความเด็ดขาดที่จะตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิตคือคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเป็นอยู่ผาสุก

ความห่วงกังวลก็เหมือนแผลเหมือนฝี ต้องคอยระวัง เจ็บปวดอยู่เป็นประจำ ชีวิตที่เนื่องด้วยคนพาลก็เช่นเดียวกัน

คนพาลคือผู้ที่ไม่ประพฤติไปตามธรรม ไม่เอาธรรมะ เกเร เอาแต่ใจ หมกมุ่นกับกิเลส

ถ้าชีวิตของเรานั้นห่างไกลคนพาลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเป็นจริงคือ เรามักจะรู้ตัวเมื่อสายไปเสียแล้ว คนพาลนั้นร้ายยิ่งกว่าเสือ เสืออย่างเก่งก็แค่ทำร้าย กัดเราตาย แต่ไม่มีพิษภัยมากกว่านั้น คนพาลนั้นมีพิษยิ่งกว่า แสร้งว่าเป็นคนดี ซ่อนตัวตนของความพาลอย่างแนบเนียน กว่าที่เราจะรู้ตัวก็เรียกว่าถลำคบหาไปเยอะ ใกล้เกินไป

แต่เมื่อเรารู้แล้วว่า คนนี้เป็นคนพาล คิดนี้ผิดศีล คนนี้พูดกลับกลอก ไม่พูดตามจริง พูดผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว ไม่ปฏิบัติตามธรรม เราก็ควรจะออกห่างมา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว การไปเตือนคนพาลจะยิ่งทำให้เขาจองเวรเรา คือเขาไม่ฟังเราแล้วก็หนึ่งประเด็น เขาจะเห็นว่าเราเป็นศัตรูของเขาก็อีกประเด็น ดังนั้น ถ้าเห็นความพาลแล้ว ผมจะเลือกถอยออกมาเลย

ยิ่งถ้าผิดศีลกันชัด ๆ นี่ไม่ต้องพูดถึง ส่วนใหญ่ก็จะให้เวลาประมาณหนึ่ง เพื่อจะดูว่าสำนึกบาปไหม ถ้าดูท่าทีแล้วไม่สำนึกก็ต้องห่างไว้ คนผิดศีลแล้วรู้ตัวยังพอคบหาได้ แต่คนผิดศีลแล้วไม่สำนึกคบไม่ได้

ทีนี้มันก็ต้องอาศัยความเด็ดขาดอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าไม่เด็ดขาด อนุโลม คบกันไป ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะไม่ช่วยคนพาลคนนั้น ไม่ทำประโยชน์ให้ตัวเองด้วย แล้วยังกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับคนที่เขาศรัทธาเราด้วย

ถ้าเราชัดเจน คนที่ดูเราอยู่ เขาจะมั่นใจขึ้น ถ้าเราไม่คบใครเขาจะถอยตามเรา ถ้าเราไม่คบคนพาล แล้วเขาไม่คบคนพาลตามเรา อันนั้นมันก็ดี แต่ถ้าเราไม่คบคนพาลแล้วเขายังคบคนพาลอยู่ก็เรื่องของเขา แต่เราก็ทำหน้าที่ของเราให้เห็นแล้ว เราทำให้ดูชัดเจนแล้ว ว่าเราคบหรือไม่คบใคร

มันต้องอาศัยความเด็ดขาดเหมือนพระโมคคัลลานะที่จับพระทุศีลโยนออกจากองค์ประชุมนั่นแหละ แต่เราไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นหรอก อันนั้นบารมีระดับอัครสาวก อย่างเราก็ทำให้ชัดเจนที่ตัวเราก็พอ

ให้เราพ้นจากอำนาจบารมีของคนพาล แน่ล่ะสมัยนี้คนพาลเขาไม่ได้มาตัวเปล่า ๆ ส่วนใหญ่ก็พกอำนาจ พกบารมีกันมาเยอะ ๆ ทั้งนั้น เพราะเขารู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้เขาได้เสพสมใจในกิเลสเขาได้ ยิ่งพาลลึกซึ้ง ยิ่งมีอำนาจมาก แสวงหาอำนาจมาก ใช้อำนาจมาก และบ้าอำนาจมาก จะยิ่งใหญ่ โต พองไปเรื่อย ๆ

ที่เขาโตก็เพราะว่าเราไม่เด็ดขาด ไปเติมอาหาร ไปเป็นแขนขาให้เขานั่นแหละ ถ้าเรายังอยู่ใต้อำนาจของคนพาลอยู่ ก็ยังเป็นมิจฉาชีพอยู่ มรรคผิด ในข้อมิจฉาอาชีวะ ที่ว่า “การมอบตนในทางที่ผิด” คือมอบตนรับใช้คนชั่วคนพาล คือการอยู่ใต้อำนาจ ใต้บารมีของคนพาล

ชีวิตมันต้องเป็นอิสระจากความชั่ว ไม่ถูกความชั่วบงการสิถึงจะผาสุก บางคนตัวเองไม่ทำชั่วแล้ว แต่ยังถูกความชั่วบงการอยู่ มันก็ยังมีส่วนผิดอยู่ดี

มันก็เลยต้องอาศัยความเด็ดขาดในการออกจากสิ่งไม่ดีนั้น ๆ แน่นอนว่ามีผลกระทบ แต่สุดท้ายมันจะดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตัวเราก็ได้ห่างไกลคนพาล คนอื่นเห็นเขาจะได้รู้ชัดเจนขึ้น เขาจะได้ตัดสินใจเลยว่าจะไปเติมพลังทางไหน ส่วนคนพาลก็ไม่ได้อาหารจากเรา ความพาลของเขาก็จะไม่เติบโตเพราะความไม่เด็ดขาดของเรา

วิธีรับมือคนมาจีบแบบบัณฑิต

January 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 682 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตคือผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด แล้วจะทำอย่างไร? เมื่อเราตั้งใจอยู่เป็นโสด แล้วมีคนมาจีบ

คนที่เขามาจีบเราในตอนที่เราปฏิบัติธรรมอยู่ ก็ไม่ต้องไปชังเขานะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปชอบเขากลับ เราก็ทำหน้าที่ของเราคือตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควร คือตั้งใจเป็นโสดแม้เขาจะมาจีบ มาชอบ หรือกระทั่งมาอ่อยเหยื่อก็ตาม

ก็ให้ตั้งจิตเราให้ถูก ให้ตั้งใจไว้ว่าหน้าที่ของเราคือความเกื้อกูล ไม่ทำให้เขาเป็นทุกข์ ไม่พาให้เขาหลง เท่าที่ปัญญาของเราพอจะทำได้

ที่เขามาชอบเรา มันมีหลายเหตุ อันนี้ไม่ต้องไปเดาให้เมื่อยหัว เสียเวลาเปล่า ๆ เอาเป็นว่าที่เขามาชอบเนี่ย มันจะทำให้เขาเป็นทุกข์แน่ ๆ เพราะเขาจะไม่มีวันสมหวัง

เพราะเราจะไม่ทำอย่างคนอื่นเขา เราจะไม่ล่อลวง ไม่เกี้ยวพาราสี ไม่ทำทีเล่นทีจริง ทิศของเราชัดเจนคือเราจะพากันไปพ้นความหลง พ้นจากความทุกข์ เรารู้ดีอยู่ว่าการไปมีคู่คือทางไปทุกข์ ดังนั้นการไม่รับรักเขา นั่นคือความเกื้อกูลที่เราพึงกระทำได้

เวลาคนเขาตอบรับรักกัน ส่วนใหญ่เขาก็ดีใจกันมากมายนั่นแหละ เพราะเขาเห็นของไม่ดีเป็นของดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาก็เลยหลงดีใจกับสิ่งที่จะพาให้เป็นทุกข์

พอคบกันไปแล้วทุกข์มันจะเริ่มเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จากความคาดหวัง ความเอาแต่ใจ ความพร่องของเหตุการณ์ต่าง ๆ การอยู่เป็นคู่นั้นมีแต่ทุกข์ ทุกจังหวะชีวิต ไปไล่ตรวจสอบดูเถอะ ถ้าเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนหรืออะไร ๆ ไม่ได้ดั่งใจ ความทุกข์จะเกิดขึ้นไหม แค่จินตนาการก็เห็นแต่ทุกข์ทั้งนั้น ของจริงก็ไม่เหลือหรอก เพราะทุกข์จริงและออกยากด้วย

ทีนี้เราเห็นทุกข์ขนาดนี้ เราก็จะไม่พาเขาไปทางนั้น เขาอาจจะผิดหวังที่เราไม่รับรัก แต่เขาจะไม่ทุกข์ไปมากกว่านั้น แล้ววันหนึ่งที่เขาสั่งสมประสบการณ์ของทุกข์จากความรักมากพอ เขาจะรู้ว่า การที่เราไม่ไปคบกับเขานั่นแหละ คือการเกื้อกูลกัน คือน้ำใจที่มีให้กัน คือการหวังให้เกิดแต่ประโยชน์ในชีวิตของกันและกัน

ก็อาจจะมีที่คนเขาคิดไปว่า ถ้าคบหากับคนดีที่ปฏิบัติธรรมก็คงจะดีสิ ไม่ทำร้ายเรา แต่ในความจริงมันจะทุกข์ไปอีกแบบ การคบหากันในโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในมิติของกาม แต่ถ้ามาคบหาคนที่ปฏิบัติธรรม จะต้องเผชิญกับมิติของอัตตา

ไม่ใช่แค่อัตตาของคู่หรอกนะ แต่เป็นอัตตาของเราด้วย เพราะบางทีฐานมันไม่เสมอกัน เช่น คู่เขาฐานศีล ๘ ขึ้นไปแล้ว เขาไม่สัมผัส ไม่มองตา ไม่คุยด้วย ไม่สมสู่ ไม่เหลืออะไรให้เสพแล้ว ทีนี้ถ้าเราฐานไม่ถึงมันจะทรมานจากความอยาก มันอยากได้ความรักแบบโลกีย์ แต่เขาไม่มีให้ มันจะทุกข์เพราะความอยากมันบีบคั้น มันก็จะทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง

ทีนี้การจะช่วยเขาจากการหลงรักเรานี่เป็นความยากอีกระดับ เพราะมันจะมีองค์ประกอบที่มากั้นเยอะ 1.เขาหลงเรา 2.มีวิบากกรรมที่เคยทำชั่วมา 3.ปัญญาของเรา

1.ถ้าเขาหลงเรานี่มันจะพูดกันเข้าใจยาก เหมือนตัวเราอยู่ตรงนี้ แล้วเขาไปมองตรงอื่น ก็จะสื่อสารกันยาก เพราะสาระของเราคือธรรมะ ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนั้นมันจะพาไปสู่ทิศทางที่ถูกได้ยาก

2.วิบากกรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและทำใจยอมรับ บางทีมันเกิดจากเราทำชั่วมามาก พอเวลาจะพูดดีทำดี มันจะไปไม่ออก ไม่เข้าท่าขึ้นมาเฉย ๆ หรือถ้าฝั่งเขา เขาก็อาจจะทำไม่ดีมามาก วิบากบาปมันเลยกั้นไว้

3.ปัญญาของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่พอจะพัฒนาได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะสมข้ามภพข้ามชาติ สุดท้ายก็ต้องใช้ตัวนี้แหละช่วยเขา เราต้องเก่งขึ้นเพื่อช่วยเขา แต่ก็ให้วางใจว่าขนาดพระพุทธเจ้าที่มีปัญญาสูงสุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้นางพิมพาบรรลุธรรมได้ทันที จะต้องหน่วงไปอีกสักพัก แม้นางพิมพาจะมีภูมิเก่าถึงขั้นอรหันต์ แต่มันจะฝ่าวิบากกรรมตามข้อ 2 ไม่ได้ง่าย ๆ ดังนั้นปัญญาตัวจบคือปัญญาปล่อยวาง คือช่วยเต็มที่แล้วปล่อยวางให้ได้ ให้รู้ว่าจังหวะไหนควรใช้ จังหวะไหนควรวาง

สรุป… การที่เราไปหลงตามเขาคืองานหลักของเรา ส่วนงานช่วยเขาเป็นงานรอง ถ้ามีกำลังถึงจะทำไปพร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ถ้ากำลังจิตไม่ถึง มันหวั่นไหว ก็ให้เน้นไปที่งานตัวเองก่อนเป็นหลัก เพราะถ้าเราพ้นทุกข์ได้ เราจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเรายังเป็นทุกข์ ยังหวั่นไหวกับเขาอยู่ เราจะช่วยเขาไม่ได้เลย ดีไม่ดีจะลากเขาลงนรกไปกับเราด้วยอีกต่างหาก

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

December 8, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 723 views 0

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

ความรักที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สวยงาม หอมหวาน เป็นสิ่งที่หลายคนแสวงหา ยอมทุ่มเท ลงทุนลงแรง เสียเวลามากมายเพื่อที่จะได้มันมาครอบครอง แต่สุดท้ายรักนั้นกลับเบาบางกว่าเมฆหมอก ไม่มีตัวตน สลายหายไป ทิ้งไว้แต่ความผิดหวัง

ถ้ามีรักแล้วมันเป็นสุขตลอดไป ก็คงจะไม่มีคนทุกข์ แต่ใช่ว่าคนจะแก้ปัญหาที่ความทุกข์ พวกเขากลับไปแก้ปัญหาที่ความรัก โทษรัก ใส่ความว่ารักนั้นทำให้ผิดหวัง เป็นทุกข์  ทั้งที่คนที่ไปตั้งความหวังไว้ผิด ๆ ก็คือคนที่แสวงหาความรักเหล่านั้น การแก้ปัญหาของพวกเขาคือแสวงหาคนรักที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น สุขยาวนานขึ้น นั่นคือทิศทางของความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความใคร่อยากเสพความรัก กลายเป็นความกลัวความผิดหวัง จึงพยายามหาสิ่งที่จะป้องกัน มาประกันให้รักนั้นคงอยู่ให้นาน เท่าที่ตนจะได้เสพสมใจตลอดไป

การป้องกันรักร้าวแตกสลายที่คนนิยมทำกันคือการยอม ยอมตามใจ ยอมให้ ยอมแพ้ ยอมเป็นเบี้ยล่าง ยอมเสียตัว ยอมเสียศักดิ์ศรี ยอมเป็นทาส ฯลฯ เพื่อแลกมาซึ่งการดำรงอยู่ของความรักเหล่านั้น แต่ถึงแม้จะยอมสักเท่าไหร่ จะจ่ายสักเท่าไหร่ จะแลกไปสักเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความรักนั้นจะไม่แปรผัน ความรักเหล่านั้นยังอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 อย่าง คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน

ผู้คนพยายามแสวงหาหนทางที่จะเอาชนะไตรลักษณ์ พยายามที่ก้าวข้ามความไม่เที่ยง ความทุกข์ และสร้างตัวตนขึ้นมาจากความว่างเปล่า ก็จริงอยู่ที่ว่าเขาอาจจะมีอำนาจ บารมีที่สามารถดำรงสภาพเหล่านั้นไว้ได้ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งใดในโลกหนีจากไตรลักษณ์ได้เลย เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ต้องเจ็บปวด ผิดหวัง ทรมาน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ นำมาซึ่งการกล่าวหากัน ทำร้ายกัน จนถึงขั้นฆ่ากันตาย ไม่ฆ่าคนอื่น ก็ฆ่าตัวเอง ด้วยความคับแค้นใจ ทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้กับสภาพรักที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มั่นคง ไม่แท้ ไม่จริง

ทุกวันนี้มีข่าวคนตายเพราะความรักมากมาย เรียกได้ว่าเห็นเกือบจะทุกวัน วันละ 1-2 ข่าว อันนี้เท่าที่เขานำมาทำข่าว ที่ไม่รู้อีกตั้งเท่าไร ความร้ายของความรักนั้นยิ่งกว่าอุบัติเหตุ เพราะจิตโลภ โกรธ หลง นั้นมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไปตามเหตุ  อุบัติเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาท (กรรมใหม่) อีกส่วนหนึ่งเกิดจากวิบากกรรมเก่า(ผลของการกระทำเก่า) แต่การทำร้ายกันเพราะความรัก ถูกกำหนดด้วยจิตอันมีกิเลสเป็นอำนาจในปัจจุบันล้วน ๆ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้ากิเลสมากก็ร้ายแรงมาก ถ้ามีธรรมะก็อาจจะพอข่มอาการได้บ้าง แต่ถ้าไม่มีกิเลส ก็จะไม่มีความเบียดเบียนใด ๆ เกิดขึ้นเลย

ถ้าเกิดบาดหมางกับคนดีมีศีลธรรม อย่างมากก็แค่ทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายนั่นก็แล้วแต่ใครจะปรุงสารพัดอาการไม่สบาย กินไม่ได้นอนไม่หลับขึ้นมาเอง แต่คนส่วนใหญ่ในโลกนั้นไม่ใช่คนมีศีลธรรม โดยมากแล้วเป็นคนไม่มีศีล แรกคบหากับคนไม่มีศีลก็อาจจะไม่เห็นโทษเห็นภัยอะไร แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา กิเลสมันกำเริบ มันก็จะทำผิดเกินไปถึงขีดที่อันตราย ด่ากันได้ ทำร้ายกันได้ ฆ่ากันได้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงมงคลชีวิต อันดับแรกเลยคือไม่คบคนพาล และในกรณีที่จำเป็นต้องเลือกคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เลือกคนมีศีล ศีลธรรมนั้นจะคุ้มครองคน ไม่ให้ทุกข์มาก ไม่ให้ลำบากมาก ดีที่สุดคือคบหาคนมีศีลระดับที่เขาไม่ยินดีในคู่ครองนั่นแหละ จะแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะเขาไม่มายุ่งอะไรกับเราแน่ ๆ อันนี้ก็เป็นกรณีของการถูกคลุมถุงชน

แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีหรอกคลุมถุงชน ก็มีแต่เลือกกันตามความหลงเท่านั้นแหละ ชอบแบบไหน ยึดมั่นถือมั่นแบบไหน ก็เอาแบบนั้น เคยได้ยินผู้หญิงที่เขาชอบผู้ชายเจ้าชู้ไหม? นั่นเขาชอบรสจัดแบบนั้น มันต้องมีลีลา ท่าทีเย้ายวน ล่อลวง หอมหวาน อันนี้มันก็ติดเสพรสไปตามอัตตาที่มี ดีไม่ดีจะเป็นอัตตาซ้อนไปอีกว่า “ข้าแน่” ข้านี่แหละจะปราบเสือร้าย มันก็เมาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คนเขาก็หลงไปตามภพตามภูมิของเขา ชอบอะไรก็ใฝ่หาอันนั้นมาเสพ เป็นความหลงที่พาให้แสวงหา แล้วก็วนเวียน สมหวัง ผิดหวัง เศร้า เหงา แล้วก็หาเสพใหม่ เป็นวงจรที่น่าสงสาร เนิ่นนานผ่านไปหลายภพหลายชาติก็ใช่ว่าจะหมดรส ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งคาดหวัง หาสิ่งใหม่มาเสพ ก็หวังว่าคนใหม่จะดีกว่าคนเก่า หรือไม่ก็มีประสบการณ์มั่นใจว่าเลือกได้ดีกว่าเก่า อันนี้มันก็ยังหลงโง่อยู่

เพราะสุขจริง ๆ สุขแท้ ๆ สุขโดยส่วนเดียวจากความรักมันไม่มีหรอก มันจะมีทุกข์ด้วยเสมอ แล้วเอาจริง ๆ ถ้าตัดเรื่องกิเลสออกไป สุขจากความรักมันไม่มีเลย ที่มันมีเพราะกิเลสมันปรุงสุขขึ้นมา ได้สมใจก็สุข ได้ดั่งใจก็สุข มันก็ไปปั้นสุขลวงขึ้นมาจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนกับเด็กที่อยากได้ของเล่น อยากมากจนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ พอโตขึ้นมาคิดย้อนไป อันนั้นเราไปอยากได้ขนาดนั้นได้ยังไงหว่า? นั่นกิเลสมันปรุงสุขลวงมาอย่างนั้น มันเห็นสิ่งไม่มีประโยชน์เป็นสิ่งมีประโยชน์ แล้วก็อยากได้อยากมี พอได้มาแล้วก็หลงเป็นสุขใจ กอดของไร้สาระอย่างเป็นสุข รสสุขจิตเราปั้นขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มี

เรื่องคู่ก็เช่นกัน จริง ๆ สุขมันไม่มี แต่ที่มันเป็นสุข เกิดอาการสุข รู้สึกสุข รู้สึกยินดี ปลื้มใจ อิ่มใจ อุ่นใจ พอใจ อะไรเหล่านี้มันก็ปั้นขึ้นมาเหมือนเด็กได้ของเล่นนั่นแหละ ถ้าโตแล้วจะเห็นเลยว่าของเล่นมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันมีสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า อันนี้ผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม พ้นทุกข์ พ้นโง่นะ แต่ถ้าผู้ใหญ่แบบหลงมัวเมาไม่เลิก เขาก็ยินดีกับเด็กที่ได้ของเล่นนั่นแหละ เหมือนกับคนที่แก่แล้ว ถึงวัยแล้ว แต่กลับมีจิตยินดีในคนคู่ ในความเป็นคู่ พวกนี้ก็ยังเป็นเด็กในทางธรรมอยู่ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กเล่นของเล่นแล้วอยากเล่นด้วย ยินดีกับการเล่นนั้นด้วย ส่งเสริมการเล่นนั้นด้วย มันก็พากันเมาไป เรื่องนี้มันก็เข้าใจยาก

คนที่ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธเจ้าแล้วสามารถล้างความหลงติดหลงยึดในเรื่องคู่ได้จริง จะไม่วนเวียนอยู่กับการแส่หาความรักอีกต่อไป จะเกิดสภาพของบัณฑิตโดยธรรม คือ มีการประพฤติตนเป็นโสดเป็นธรรมดา ส่วนคนที่พลาดพลั้งไปมีคู่แล้ว ก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง คือเห็นนรกจริง เห็นความลำบากจริง ๆ เห็นภาระจริง ๆ ที่ต้องแบกไว้ ให้หนัก ให้เหนื่อย ให้ลำบาก ก็จะมีความเหนื่อยกายเป็นหลัก ส่วนความเหนื่อยใจถ้าล้างความหลงไปได้มันก็ไม่ทุกข์ เหลือแต่ภาระ คือวิบากกรรมชั่วที่เคยทำมา ที่ต้องใช้เวลาในการชดใช้ หรือที่เรียกกันว่า “รับกรรม”

ก็ใช่ว่าคนคู่เขาจะออกจากสภาพความเป็นคู่ได้ง่าย ๆ แม้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเรานั้นจะมีสภาพจิตเหมือนเรา เกิดเขาเป็นผีห่าซาตานมาเกิด แล้วเราดันเลือกเขามาแล้ว ตอนเลือกก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีศีลธรรม ต่อมาตนเองก็พัฒนาขึ้น แต่คู่ไม่พัฒนาด้วย มันก็เหมือนผีกับเทวดาอยู่ด้วยกัน อันนี้มันก็ลำบากหน่อย เพราะถ้าจะไปหักกันรุนแรง พาลจะบาดเจ็บล้มตายแล้วกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันเปล่า ๆ

คู่เทวดากับเทวดา หรือคนดีมีศีลคู่กัน ถ้าพ้นหลง พ้นโง่ พ้นทุกข์แล้ว ที่เหลือก็แยกวงกันเท่านั้นเอง เพราะการคบหา การแต่งงาน สัญญาเหล่านั้นก็เป็นแค่เรื่องสมมุติขึ้นมา พอไม่ได้ยึดสมมุติ มันก็เลิกได้ทุกเมื่อ ก็แค่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เหมือนกับกรณีของพระมหากัสสปะ ที่มีคู่มีบารมีทางธรรมเหมือนกัน พอนึกจะเลิก ก็เลิกได้เลย แล้วก็แยกกันไปบวชตามทางของแต่ละคน

ส่วนคู่ผีกับผี ก็เป็นอย่างหัวข้อเรื่อง พากันหลงวนเวียน สุดท้ายก็จบด้วยความบาดหมาง ว่าร้ายกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันเอง ฆ่าคนอื่น ฆ่าตัวเอง ไม่มีพลังความดีคุ้มภัย ไม่มีศีลไว้คุ้มกันความชั่วของตนเอง ไม่มีกุศลธรรมคอยพาให้แคล้วคลาดปลอดภัย ห้อยพระดังแค่ไหนก็ไม่ช่วย เพราะคนจะเจอดี เจอร้าย ไม่ได้เกี่ยวกับพระที่ห้อยคอเลย แต่เกี่ยวกับกรรมที่ทำมา พระพุทธเจ้าสอนว่าเรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เราทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน

… สรุป เรื่องความรักก็เป็นความหลงแบบหนึ่งที่ทำให้คนเบียดเบียนกันได้มากถึงขนาดทำร้ายกัน ฆ่ากันตาย ฆ่าตัวตาย ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ยับยั้งได้ ลดภัยจากความรักนั้นทำได้ง่ายกว่าลดอุบัติเหตุเสียอีก แต่การจะเข้ามาศึกษาเพื่อลดทุกข์ โทษ ภัยจากความรักให้ถ่องแท้นั้น ทำได้ยากยิ่งเหลือเกิน

27.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์