Tag: ศีลธรรม

ทำไมจึงนอกใจ

July 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,832 views 1

ทำไมจึงนอกใจ

ได้อ่านกระทู้ที่เข้ามาเสนอความคิดกันในเรื่องที่ว่า ทำไมถึงนอกใจ? ทำไมถึงมีคนอื่น? ผมอ่านแล้วก็คิดว่าน่าจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้หน่อย เพราะน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ยังไม่ชัดเจนว่าแท้จริงนั้นปัญหาเกิดจากอะไร

เมื่อความเป็นครอบครัวสั่นคลอน

ไม่ว่าคู่ครองจะเลวร้ายอย่างไร ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไปมีคนใหม่ เพราะความจริงนั้นเราสามารถทำให้ถูกต้องได้ คือพูดคุยทำความเข้าใจ ว่ากำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้น แล้วหาวิธีที่จะร่วมกันแก้ปัญหา นี้คือสภาพที่ใจยังเป็นครอบครัวอยู่ ยังไม่เอาอัตตาเป็นใหญ่ แต่เอาครอบครัวเป็นใหญ่ ถ้าไม่ยินดีจะปรับปรุงทั้งคู่ จะเลิกรากันด้วยความเข้าใจก็ทำได้ แต่ถ้าจะไปหักอีกคนหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดนั้น ก็เป็นการก่อเวรโดยไม่สมควร การเลิกกันนั้นควรเป็นความสมัครใจและไม่สร้างความแค้นเคืองใจแก่กันและกัน จากนั้นจะไปมีคนใหม่หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราไม่สมควรทำตัวเหมือนเด็กที่ทิ้งของเล่นชิ้นเก่าแล้วไปสนุกกับชิ้นใหม่เพราะเบื่อได้ เพราะคนนั้นต่างจากวัตถุ มีชีวิตจิตใจ ที่สำคัญคือมีการจองเวรจองกรรม หากเราทำร้ายจิตใจเขา เขาก็มีสิทธิที่จะโกรธแค้นอาฆาตเราได้ บางครั้งทำร้ายกันแค่ในชาตินี้ชาติเดียว แต่เขาก็ถึงกับสาปแช่งจะจองเวรจองกรรมกันไปทุกชาติก็มี

ในตอนแต่งงานเราก็ต้องเตรียมตัวยอมรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลังแต่งงานอยู่แล้ว แต่ในความจริงน้อยคนนักที่จะยอมรับชีวิตแต่งงานได้ นั่นเพราะไม่รู้จริงว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร แต่ก็มีหลายคู่ที่ยอมทนทุกข์เพื่อที่จะได้เสพสุขบางอย่าง คนทนได้ก็ทนไป แต่คนที่ทนไม่ได้ก็มักจะเกิดปัญหา

การครองคู่นั้น จะต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เกิดปัญหาหนึ่งขึ้นมาแล้วก็สร้างอีกปัญหาหนึ่ง การมัวแต่โทษอีกฝ่ายนั้นไม่เกิดผลดีอะไร เพราะเมื่อเป็นครอบครัวแล้ว จะต้องแก้ปัญหาแบบครอบครัว ไม่ใช่แก้แบบฉันแก้ เธอแก้ แยกเป็นส่วนตน ไปตามอัตตาของแต่ละคน แน่นอนว่าส่วนตนก็ต้องแก้ แต่ต้องเอาความผาสุก ความสามัคคีของครอบครัวเป็นที่ตั้งด้วย บางครั้งการแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงจุดเสียทีเดียว แต่ก็ต้องยอมอะลุ่มอล่วยกันไปบ้าง ทั้งนี้ทิศทางที่ปัญหาจะคลายลงไปได้คือการแก้ไปสู่การลดความโลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย ถ้าทำตรงข้ามจะเป็นการพอกพูนปัญหา

สาเหตุของการนอกใจ

การที่คนเรานอกใจคู่ครองไปหาคนอื่นนั้น ไม่มีสาเหตุอะไรนอกจากความใคร่อยากของตัวเองที่มากไปกว่าระดับของศีลธรรมที่ตนมี เพราะถ้าคนมีศีลธรรมสูง ถึงจะเจอปัญหาก็จะไม่ออกจากกรอบศีลธรรมนั้นๆ ของตน แต่ที่ออกจากกรอบศีลธรรม นั่นเพราะไม่เคยมีกรอบศีลธรรมนั้นจริงนั่นเอง

ศีล ๕ นั้นคือข้อปฏิบัติพื้นฐานสู่ความมั่นคงในการเป็นมนุษย์ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศีล ๕ อย่างตั้งมั่น แบบที่เห็นว่ามี วันหนึ่งอาจจะไม่มีก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นไปตามสภาพการพัฒนาของจิตวิญญาณ คนจะเจริญได้มันต้องจากต่ำมาสูง ไม่มีใครสูงตั้งแต่แรก ดังนั้นคนโดยมากจิตจึงแกว่งอยู่ระหว่างภพของมนุษย์ กับเปรต อสูร เดรัจฉาน ฯลฯ ไปจนกว่าจะเต็มรอบ จึงจะเป็นมนุษย์ที่มีศีล ๕ บริบูรณ์ได้นั่นเอง

เมื่อคนเรามีพื้นฐานศีลธรรมไม่เท่ากัน นั่นหมายถึงการแก้ปัญหาของคนที่ต่างกัน ถ้าคนมีศีลธรรมสูง เขาจะแก้เฉพาะปัญหาที่เกิด จะไม่สร้างปัญหาใหม่ ที่นอกกรอบศีลธรรมนั้นๆ แต่ถ้าคนไม่มีศีลธรรม เขาก็จะแก้ปัญหาโดยไม่มีกรอบ เอาความพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาใหม่

การนอกใจนั้นไม่ใช่เรื่องของกรรมบันดาล แต่เป็นเรื่องของเจตนาที่คนคนหนึ่งตั้งใจทำด้วยเหตุอันมี ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุ

เมื่อคนเรามีกิเลสมาก และมีกรอบศีลธรรมต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะนอกใจได้ง่าย เมื่อเขามีราคะมาก เขาจึงมีความใคร่อยากในการเสพกามที่มาก เมื่อกรอบศีลธรรมต่ำ เขาจะไม่สนใจสิ่งใด ขอแค่ให้ตนได้เสพก็พอ, เมื่อเขามีโลภะมาก เขาจะไม่พอใจในการได้ครอบครองคู่เพียงแค่คนเดียว เขาจะอยากได้อยากเสพมากขึ้นไปอีก ให้มีสำรองไว้บำเรอเขามากๆ, เมื่อเขามีโทสะมาก เขาจะไม่มีสติที่จะรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง ทุกคนจะผิดยกเว้นเขา คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดีดั่งใจเขา เขาก็จะใช้ความผิดของคนอื่นตามที่เขาเข้าใจนี่แหละ เป็นเหตุผล เป็นน้ำหนัก เป็นความเห็นอกเห็นใจที่เขาจะนอกใจได้อย่างชอบธรรมตามที่เขาคิด ทั้งหมดนั้นคือความหลงของเขา(โมหะ) เพราะเขาหลงว่าการนอกใจเป็นสิ่งที่ดี หลงว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หลงว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพ้นทุกข์ได้ เขาจึงยินดีนอกใจ แม้ว่ามันจะสร้างปัญหาอีกมากมายก็ตามที

คนกิเลสมากก็มักจะมีศีลธรรมต่ำเป็นธรรมดา เขาจะไม่มีปัญญารู้ถึงโทษของสิ่งที่กระทำลงไป เรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หลายคนมักจะเห็นว่าการนอกใจของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นคำตอบของชีวิต เป็นสิ่งที่สมควรเลือก ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่นอกใจ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นความเห็นที่สร้างแต่ความฉิบหายให้ชีวิต นี่คือสภาพของคนที่หลง

จริงๆ ตอนแต่งงานนั่นแหละ คือตอนที่คนคิดจะหยุดแล้ว พร้อมแล้ว พอใจแล้วกับคนที่จะแต่งงานด้วย ถ้าไม่โดนคลุมถุงชนหรือท้องก่อนแต่งโดยมากก็จะเป็นเช่นนั้น แต่เขาคิดแต่ตอนนั้น เขาไม่รู้จักกิเลสตัวเอง เขาไม่รู้ว่ามันไม่รู้จักพอ กิเลสมันอยากได้อยากเสพไม่มีหยุด มันก็เลยนอกใจในท้ายที่สุด พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ว่าการนอกใจที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากปัญหาของครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงปัญหามันอยู่ที่ตัวศีลธรรมของผู้ที่นอกใจเอง

ตอนที่เราเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ ตกลงกัน แต่งงานกัน หลายคู่ก็จะมีคำมั่นสัญญา ที่ดูซาบซึ้ง อบอุ่น มั่นคง จริงใจ เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นเขาก็มักจะคิดอย่างนั้นจริงๆ จะอยู่คู่กันไปจนแก่เฒ่า เขาก็คิดแบบนั้นกันจริงๆ ทีนี้วันหนึ่งเขาก็ผิดสัจจะของตัวเอง นี่ไปผิดศีลข้อ ๔ อีก การนอกใจคู่นี่พาให้ผิดศีลทุกข้อนั่นแหละ เรียกว่าลากลงนรกกันไปเลย

ถ้ามันผิดคำสัญญาแล้วไปทางเจริญกว่า เช่น จะไปบวชไม่สึก ไปแสวงหาความผาสุกที่ยิ่งกว่า นี่มันก็ไปทางธรรมะ แต่ถ้าผิดคำสัญญาแล้วไปทางเสื่อม เช่นไปนอกใจ มีกิ๊ก มีชู้ มีเมียน้อย นี่มันไปทางอธรรม โลกนี้ไม่เที่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปยึดสัญญาว่าเที่ยง อย่าไปหวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางธรรมะมันก็น่าอนุโมทนา แต่ถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางอธรรมก็ควรจะเมตตาเขา เพราะคนที่เห็นการผิดศีลเป็นสิ่งดีนี่เขาก็สร้างทุกข์ให้ตนเองมากพออยู่แล้ว เราจะไปเหยียบย่ำซ้ำเติมให้เขาลงนรกลึกลงไปอีกทำไม

รู้อย่างนี้แล้วคนที่คิดจะนอกใจก็อย่าไปพยายามหาเหตุผลให้มันมากมาย ถึงมันจะมีเหตุผลที่ดูดีแค่ไหน แต่กรรมจากการนอกใจคู่ครองนั้นให้ผลเจ็บแสบกว่าที่คิดแน่นอน เพราะการผิดศีลในระดับต่ำกว่าศีล ๕ ก็เหยียบภพที่ต่ำกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ส่วนคนที่ทำไปแล้วก็ควรสังวร ยอมรับบาปที่ได้ทำลงไป ยอมรับว่ากิเลสเรานี่มันร้าย อย่าไปโทษคนอื่น เรียกว่ายอมรับผิด แล้วแก้ไขจิตที่บิดเบี้ยวให้มันถูกตรง จะมีโอกาสเจริญได้ในวันใดวันหนึ่ง

แต่โดยสามัญของกิเลสแล้ว เมื่อมีกามมาก ก็จะมีอัตตามากเป็นเงาตามตัว ผู้ที่ผิดศีลผิดธรรมนอกใจคู่ครอง ก็ใช่ว่าจะยอมรับกันได้ง่ายๆ เพราะอัตตานั้นเอง คือตัวที่จะขวางกั้นไม่ให้เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง คนมีอัตตาจัด จะสำคัญตนผิด จะเอาตนเป็นหลัก โลกจะหมุนรอบตน ทุกคนต้องบำเรอตน ตนไม่มีวันผิด ถึงตนผิดก็ผิดน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อผู้มีอัตตาจัดทำผิด ความจริงจึงถูกบิดเบี้ยว ไปโทษคนนั้นที คนนี้ที จึงเป็นความเสื่อมที่ต่อเนื่องของผู้ที่ผิดศีลนั่นเอง

ล้างใจจากคนนอกใจ

ทีนี้หลายคนที่ถูกคู่ครองนอกใจก็มักจะเป็นทุกข์ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต จองเวรจองกรรม บางคนก็สาปแช่ง ว่าให้เขาเจอแบบที่เราเจอ เขาถึงจะได้รู้สึกว่ามันชั่ว มันทุกข์ มันทรมานแค่ไหน … ก็นี่ไง เรากำลังเจออยู่นี่ไง การที่เราถูกเขานอกใจนี่แหละคือผลกรรมที่เราเคยหลงทำมา ชาติใดชาติหนึ่งเราก็หลงมาเหมือนเขานั่นแหละ เราก็เลยต้องมารับผลกรรมที่เราทำมาในชาตินี้

ดังนั้นจะไปโกรธคนที่นอกใจมันก็ไม่ถูก เพราะสิ่งนั้นเราทำมาเอง เป็นผลจากเหตุของเราเอง แล้วเราจะไปโกรธแค้นชิงชังรังเกียจเขาทำไม ในเมื่อเราก็เคยทำสิ่งนั้นมาก่อน จริงๆ แล้วเราควรจะเมตตาเขาด้วยซ้ำ นี่เขาหลงอยู่นะ เขาเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาไม่รู้ดีรู้ชั่ว เรื่องศีลธรรมนี่มันก็พอจะบอกกันได้ แต่จะให้เข้าใจลึกซึ้งถึงโทษภัยของการไม่มีศีลธรรมนี่มันต้องเรียนผิดเรียนถูกกันอีกหลายชาติ สรุปคือเราไม่ควรจะไปจองเวรจองกรรมเขาอีก ผลกรรมใดที่เรารับแล้วก็จบไป ไม่ต้องไปต่อความยาวสาวความยืด แล้วก็ทำความเข้าใจและเมตตาเขา คนมีกิเลสก็แบบนี้ คนหลงก็แบบนี้ คนไม่มีศีลธรรมก็แบบนี้ ก็เรานี่แหละที่หลงเลือกเขามาเป็นคู่เอง สุดท้ายปัญญาเราก็เท่านี้ จะไปหวังให้เขาดีอะไรกันมากมาย เขาก็ดีได้เท่าที่เขาจะดีนั่นแหละ

ส่วนคนที่เขานอกใจ เขาก็ต้องเรียนรู้จากการรับผลกรรมจากการกระทำนั้นอีกหลายชาติ จนกว่าเขาจะรู้ซึ้งว่าการนอกใจนี่มันชั่วนะ มันไม่ดีนะ มันไม่มีประโยชน์ มันทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นนะ พอเขามีปัญญาเต็มรอบ เขาก็จะเลิกทำเอง พอเขาเลิกทำชั่ว ทีนี้มันก็จะเหลือแต่รับผลกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเท่านั้น นั่นคือ ชาติใดชาติหนึ่งในอนาคต แม้เขาจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เขาก็จะเจอกับคนที่มาทำผิดศีลต่อเขา มานอกใจเขา เหมือนอย่างที่เราต้องมารับผลกรรมในวันนี้

นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าเราจะทำดีแสนดี เป็นคนดี มีศีลธรรมแค่ไหน เราก็จะต้องเจอกับผลกรรมที่เราทำไว้อย่างไม่ขาดไม่เกิน แล้วเราจะทำอย่างไรในเมื่อเราไม่อยากเป็นทุกข์? เราก็ต้องล้างกิเลสในส่วนของเรา ส่วนที่เราจะไปผิดศีลนั้นเราอาจจะไม่ทำแล้ว แต่ถ้าคนอื่นมาทำผิดศีลกับเราแล้วเรายังชั่วอยู่ไหม? ชั่วในส่วนนี้คือ เรายังไปหลงชิงชังรังเกียจ เคียดแค้น อาฆาต พยาบาท จองเวรจองกรรมกับเขาอยู่หรือไม่ เรายังมีความหลงไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมอยู่หรือไม่ นี่คือส่วนของความชั่วที่เราจะต้องชำระล้างบาปในตัวเรา

บาป หรือกิเลสของเขา เขาก็ต้องล้างของเขา เราบอกได้ก็บอก ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ปล่อยวาง แต่บาปของเรา เราก็ต้องล้างเอง จะรอให้รับผลกรรมชั่วหมดแล้วมีแต่คนดีรอบตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ นั่นหมายความว่าไม่มีวันที่จะมีอะไรสมบูรณ์แบบอย่างที่ใจเราคิด ดังนั้นถ้าเราหมั่นล้างความยึดมั่นถือมั่นในความสมบูรณ์แบบ ล้างความยึดดีถือดี พร้อมกับวางใจ ให้อภัยกับความผิดพลาดของผู้อื่น เราก็จะได้พบกับความผาสุกที่มั่นคงและยั่งยืนในวันใดก็วันหนึ่ง

27.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศรัทธา

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,539 views 1

ศรัทธา

ศรัทธา

คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา

คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด

คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม

คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน

คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน

. . . . . . . . . . . . . . . . . .

คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ

คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน

คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น

คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ

คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ” (2)

October 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,289 views 0

อ่านบทความก่อนหน้านี้ : การนำเสนอภาพยนตร์ “อาบัติ”

ผมเองไม่ได้มีความเห็นว่าควรฉายหรือไม่ควรฉายนะ โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะสนใจ เพราะศาสนาไม่สามารถถูกทำลายด้วยภาพยนต์เรื่องเดียวหรอก ศาสนาไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น

เพราะถึงไม่สร้างหนังเรื่องนี้ ก็มีให้ดูตามข่าวกันอยู่เกือบทุกวันอยู่แล้ว มันแสดงให้เห็นความเสื่อมของศีลธรรมในสังคมมานานมากแล้ว

ศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมได้ก็เพราะคน ถ้าคนมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ต่อให้ทำอีกสิบหรือร้อยอาบัติมันก็เท่านั้นแหละ มันก็เป็นแค่สื่อสารคดีให้เขาคนมีปัญญาเขาศึกษาเท่านั้นเอง

ศาสนาคงอยู่ได้เพราะความบริสุทธิ์ของผู้ปฏิบัติ ถ้าเอากันชัดๆก็นักบวชนี่แหละ ที่เป็นตัวแสดงภาพลักษณ์ของศาสนา

ถ้ามันจะเสื่อมลงก็เพราะคน จะเจริญขึ้นก็เพราะคน ไม่ได้เกี่ยวกับสรรเสริญ( การสร้างหนังมาชม ) นินทา( การสร้างหนังมาสะท้อนปัญหา )อะไรเลย เพราะความเป็นจริงที่ผู้คนเห็นกันทุกวันนี้มันก็ชัดอยู่แล้ว

ถ้านักบวชส่วนรวมมีความประพฤติดี เขาก็ไม่กล้าสร้างหนังแบบนี้ขึ้นมาหรอก เพราะคนจะต่อต้าน หาเรื่องซวยเปล่าๆ แต่กระแสตอนนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น น้ำหนักมันไม่ได้ไปในทิศทางเดียว มันมีทั้งต่อต้านทั้งสนับสนุน

พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าให้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อรักษาภาพลักษณ์เพื่อให้ได้ลาภ สักการะ สรรเสริญ แต่ให้ปฏิบัติไปเพื่อการพราก เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ที่หวงลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข

แล้วสิ่งที่ทำผิดทั้งหลายน่ะให้รีบแก้ไข ถ้ารีบแก้ไขมันก็จะไม่เสื่อม แต่ถ้าปล่อยไว้มัวแต่แก้ตัวหรือนิ่งทำเฉยมันก็จะเสื่อม ทุกวันนี้มีการแก้ไขกันเป็นตัวอย่างไหม? มีแต่อุ้มคนผิด เลี้ยงนักบวชทุศีล มันก็เสื่อมสิ พาเสื่อมปุ๊ปเดี๋ยวก็มีคนเอาไปตีแผ่อีก มันเป็นไปตามวิถีโลกอยู่แล้ว

ผมยืนยันเลยนะว่า ถึงจะฉาย”อาบัติ rate x( อย่างที่มีข่าวกันทุกวันนี้ ) พุทธก็ไม่เสื่อมไปจากคนที่มีของจริงหรอก ใครเขามีปัญญาเขาก็ศรัทธาอยู่แบบนั้น ส่วนใครสิ้นศรัทธาก็จากไป มันเป็นการคัดสรรโดยธรรมชาติเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธในมุมของผมนั้นไม่ลึกลับ เชิญใครมาดูก็ได้ว่าเราปฏิบัติเช่นนี้ เห็นเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้ ใครจะด่าจะว่า วิจารณ์ยังไงก็ได้ ศาสนาที่ไม่ยอมให้คนอื่นตินั้นไม่เจริญหรอก เช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ยอมให้ใครวิจารณ์ เขาก็ยากจะเจริญเช่นกัน

ผมก็แอบสงสัยนะ ว่าการที่คิดจะแบนหรือปิดบังเนี่ย มันจะทำไปได้ตลอดหรอ ในเมื่อทุกวันนี้ก็เละเทะขนาดนี้แล้วเนี่ย

โดยส่วนตัวแล้วมองว่าถ้าปิดๆไว้ก่อนแล้วรีบแก้ไขสิ่งผิด มันก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าปิดไว้แล้วไม่แก้ไข ปล่อยให้ศีลธรรมเสื่อมแบบนี้มันจะบาปทะลักเอานะ

เลือกสักคน ฉันหรือเขา…เราหรือเธอ

August 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,447 views 0

เลือกสักคน ฉันหรือเขา…เราหรือเธอ

ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนเมื่อเรากำลังรับบทบาทของผู้ที่กำลังจะถูกตัดสินชะตากรรมว่าจะอยู่หรือไป เราควรทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น

เมื่อเรามีคู่ครองที่คบหาดูใจกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนรู้ใจ แฟน หรือคู่แต่งงาน ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปในสังคมว่าคบหากัน แต่แล้ววันหนึ่งกลับมีผู้ท้าชิงตำแหน่งเข้ามา ซึ่งในเวทีนี้ไม่มีตำแหน่งตัวสำรอง ไม่มีที่ยืนสำหรับผู้เป็นที่สอง มีแต่คนที่อยู่หรือคนที่ไป ในสถานการณ์เช่นนี้เราควรจะตัดสินใจเช่นไร?

ถ้าเรายังอยู่ในระดับคบหาดูใจ แล้วมีคนอื่นเข้ามาก็คงไม่ต้องสนใจอะไรมาก ในขั้นตอนนี้ก็พิสูจน์ใจกันไปว่าจะมั่นคงได้แค่ไหน ถ้าไม่มั่นคงก็ปล่อยไป ไม่ต้องไปเอาชนะหรือเสี่ยงลองใจใครให้เสียเวลา เพราะถ้าเขาคิดว่าจะมั่นคงกับเราจริงๆแล้วล่ะก็ เขาก็จะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้าจนหลงทางอย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาหลงทางห่างหาย ก็ไม่จำเป็นต้องไปตามเขา ไม่จำเป็นต้องพยายามเอาชนะ บังคับ บีบคั้น ยั่วยวนหรือเอาไปอะไรไปแลกเพื่อให้เขากลับมาเลย

ถ้าเรากับคู่มีความสัมพันธ์กันมาก แล้วคนที่เข้ามาใหม่มีความสัมพันธ์ที่เกือบจะใกล้เคียงกัน เช่นในคู่รักที่อยู่ในลักษณะของแฟนหรือสามีภรรยา แล้วมีใครอีกคนโผล่เข้ามาในชีวิต ในระดับความสัมพันธ์ที่คู่ของเราต้องเลือก ระหว่างเราหรือคนใหม่ที่เข้ามา ถ้าในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลือกที่รอคอยการตัดสินชะตากรรม แต่ควรเป็นคนที่ตัดสินใจ

เพราะถ้าเขามั่นคงจริงก็จะไม่มีสถานการณ์เช่นนี้ คู่ที่ดีย่อมมีความยับยั้งชั่งใจ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป โดยทั่วไปแล้วคนในยุคนี้ยังมีความรู้ศีลธรรมพื้นฐานในเรื่องการครองคู่ว่าอะไรดีหรือชั่ว แต่จะทำดีหรือชั่วนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นการมีคนใหม่หรือมือที่สามเข้ามานั้นเป็นสัญญาณของการผิดศีล

ในศีลข้อ ๓ นั้นในระดับหยาบๆว่าด้วยการไม่นอกใจคู่ของตน การนอกใจนั้นมีตั้งแต่ระดับกายกรรม คือไปข้องแวะ แตะตัวสมสู่กัน วจีกรรม คือการหยอกเย้า ป้อนคำหวาน แซวกัน จีบกัน มโนกรรม คือมีจิตคิดอยากจะได้คนที่ไม่ใช่คู่มาเสพ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง เมื่อจิตเกิดนอกใจ เกิดความอยากได้อยากเสพในคนที่ไม่ใช่คู่ของตนแล้ว การหยอกล้อ การจีบ จนเกินเลยไปถึงการนอกกายไปสมสู่กับคนที่ไม่ใช่คู่ ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

คนที่ผิดศีลข้อ ๓ ในระดับนี้ถือว่าหยาบมาก เพราะมีการเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจผู้อื่นอย่างรุนแรง เพราะไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาคำสัญญาที่ตัวเองให้ไว้ ทำให้ผิดศีลข้ออื่นๆไปด้วย เหตุเพราะมีความใคร่อยากเสพจนตามืดบอด รักชั่วเกลียดดี เอากิเลสไม่เอาธรรมะ ยอมทำลายศีลธรรมขอเพียงแค่ได้เสพสุข และที่สำคัญที่สุดคือทำร้ายจิตใจคนที่ตนเองนั้นเคยบอกว่ารักที่สุด เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมที่หนักหนาคนที่ผิดศีลในระดับเช่นนี้ ถึงจะถูกเรียกว่าชั่วก็ไม่แปลกอะไร

ดังนั้นเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องไปเป็นตัวเลือกใดๆเลย เพราะเขาได้เลือกไปแล้ว เขาเลือกที่จะเสพคนใหม่ดีกว่าเสพคนเก่า หรือในขั้นโลภมากก็รั้งไว้เพื่อเสพทั้งสองคน แล้วเราจะตัดสินใจอย่างไร จะปล่อยคนชั่วให้ออกไปจากชีวิต หรือจะเก็บคนชั่วไว้ก็เป็นสิทธิ์ที่เราเลือกจะรับไว้ได้ทั้งสองทาง

มงคล ๓๘ คือสิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ เป็นความเจริญในชีวิต ข้อแรกที่ควรทำก็คือการห่างไกลคนพาล คนชั่วคนผิดศีลนี่เอาให้ห่างจากชีวิตก่อนเลย จึงจะเป็นมงคลในชีวิต คนที่ยินดีรับคนผิดศีล คนผิดสัจจะไว้ในชีวิต การจะหวังความสุขความเจริญที่แท้จริงนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่หวังได้

แล้วเรายังจะรออะไรอีก รอให้คนผิดศีล รอให้คนที่ผิดสัจจะตัดสินชะตากรรมของเราอย่างนั้นหรือ หากเขาเป็นผู้ผิดศีลแล้วเขาจะมีความเที่ยงธรรมได้อย่างไร การตัดสินใจใดๆของเขาย่อมจะเป็นไปตามระดับศีลธรรมที่เขามีนั่นเอง นั่นหมายถึงเรากำลังให้คนชั่วมาตัดสินความสุขความทุกข์และความเป็นไปในชีวิต มันดีแล้วอย่างนั้นหรือ มันถูกต้องแล้วอย่างนั้นหรือ มันสมควรแล้วอย่างนั้นหรือ…

– – – – – – – – – – – – – – –

26.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)