Tag: ศีลธรรม

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

May 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 29,670 views 2

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

คู่บุญนั้นมีจริงไหม ลักษณะจะเป็นอย่างไร แล้วชาตินี้เราจะได้พบเจอหรือไม่ ในบทความนี้ก็จะมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้กัน

คู่บุญคืออะไร

ความหมายของคู่บุญนั้นก็คือ คู่ที่พากันเจริญไปอย่างเดียว พากันทำสิ่งที่ดีงาม พากันชำระกิเลส พากันศึกษาธรรม เจริญในศีลขึ้นไปเรื่อยๆ ดูแลเกื้อกูลกัน เป็นกัลยาณมิตรที่คอยตักเตือน สร้างเหตุแห่งการพ้นทุกข์ไปด้วยกัน

การเป็นคู่บุญนั้นจะไม่พากันไปในทางเสื่อม ไม่พากันไปสะสมกิเลส ถ้าเป็นคู่ชายหญิง ก็จะไม่คบหากันเหมือนคู่รัก แต่จะมีสถานะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ไม่มีอะไรเกินเลย เพราะการเป็นมากกว่าเพื่อนนั้นเป็นทางที่เสื่อมจากธรรม เป็นทางของกิเลส เป็นเรื่องของความหลง ผู้ที่จะพากันไปเจริญย่อมไม่ยินดีผูกมัดกันด้วยเรื่องทางโลกเช่นการแต่งงาน

เพราะการคบหากันเป็นคู่รักตลอดจนแต่งงานนั้น เป็นทางเดินที่เต็มไปด้วยการบำเรอกิเลสแก่กัน เป็นการสร้างความผูกมัดในบ่วงกรรมของกันและกัน ผู้ที่จะพากันเจริญย่อมไม่ผูกมัดกันด้วยอกุศลกรรมใดๆ แต่จะผูกมัดกันด้วยกุศลกรรมเท่านั้น เรียกได้ว่าชั่วไม่ทำ พากันทำแต่ความดี

ซึ่งก็จะไม่มีความหลงหรือความลำเอียงใดๆ อันเกิดจากกิเลสให้ต้องพัวพันกันด้วยเรื่องอกุศล คู่บุญจึงเหมือนเพื่อนนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง ที่เรามองว่าเหมือนกับเพื่อนคนอื่นทั่วๆไปบนโลก ดังนั้นจึงสามารถคอยตักเตือนให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงได้

คู่บุญเกิดมาได้อย่างไร?

คู่บุญเกิดมาจากกรรมดีที่ทำมาร่วมกันมาหลายต่อหลายชาติ จึงเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดให้กลับมาทำดีร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีคู่บุญที่พากันเจริญ เพราะการจะมีคู่ปฏิบัติธรรมนั้นต้องหยุดชั่วทำดีให้มากพอที่จะมีกรรมดีให้คงสถานะมิตรต่อไปด้วย

การเป็นคู่รักกันนั้นยากยิ่งนักที่จะกลายเป็นคู่บุญ เพราะจะมีกรรมชั่วที่ร่วมกันเสพมากมาย ทั้งเอาแต่ใจ ทั้งทะเลาะกัน ทั้งตบตีกัน ทั้งสมสู่กัน ถึงจะพากันทำดีในบางช่วงของชีวิตแต่ก็ต้องมารับกรรมชั่วที่ทั้งคู่ทำอยู่ดี จึงทำให้เกิดผลเจริญได้ยาก เพราะจะมีรักกันบ้าง ชังกันบ้าง โกรธกันบ้าง เกลียดกันบ้าง อาฆาตกันบ้าง คู่รักจึงมีหนี้บาปหนี้กรรมที่ต้องให้มาชดใช้กันมากกว่าพากันไปเจริญ

คู่บุญกัลยาณมิตร

การเป็นคู่บุญนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนต่างเพศ จะเป็นเพศเดียวกันก็ได้ วัยเดียวกันก็ได้ ต่างวัยก็ได้ ซึ่งก็คือคนที่เข้ามาเกื้อกูลกันและกันให้เจริญขึ้นไปในทางธรรม

ยกตัวอย่างเช่นพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร ท่านก็เป็นเพื่อนกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันมาหลายชาติ เกิดชาติไหนก็มักจะเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือกัน พากันเจริญร่วมกันอยู่เสมอ นี้คือลักษณะของนักปฏิบัติธรรมที่เกิดมาเป็นคู่ บำเพ็ญเพียรเป็นคู่

ในกรณีต่างเพศหรือต่างวัยก็เช่นกัน สามารถเป็นคู่บุญได้ แต่ลักษณะของคู่บุญที่แท้จริงแล้วจะเอื้อให้เกิดมาเรียนรู้ร่วมกันด้วยโอกาสที่สะดวกที่สุด การมาเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรมชายหญิงนั้นก็อาจจะไม่สะดวกนัก หรือในคู่ที่ต่างวัยกันก็อาจจะมีคนหนึ่งชิงตายไปเสียก่อน ดังนั้นคู่บุญที่บำเพ็ญบารมีร่วมกันมาหลายต่อหลายชาติมักจะเกิดในเพศและวัย รวมถึงองค์ประกอบต่างๆในชีวิตที่ใกล้เคียงกันเพื่อเอื้อให้เกิดการเจริญในธรรมได้ดีที่สุด

คู่รักสู่คู่บุญ

หัวข้อนี้อาจจะถูกใจคนอยากมีคู่รักและเจริญในธรรมไปด้วย แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะการเปลี่ยนจากคู่รักมาสู่คู่บุญนั้นจะต้องผ่านแบบทดสอบมากมาย

การเป็นคู่รักนั้นเกิดจากความหลงเสพหลงสุข เมื่อมีความรักก็อยากได้อยากเสพ จึงหาคนมาครองคู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบางคนที่มีความพยายามที่จะเจริญในธรรม ดังนั้นจึงต้องขัดเกลากิเลสของตนและคู่เพื่อให้พัฒนาสู่ภพที่เอื้อให้เกิดความเจริญสูงสุด

การขัดเกลากิเลสนั้นมีตั้งแต่การไม่พากันไปสู่ทางชั่ว ไม่บำรุงบำเรอกิเลสให้กันและกัน และในส่วนที่ยากที่สุดคือไม่สมสู่กัน เป็นเรื่องยากที่จะบอกให้คนรักไม่สมสู่กันตั้งแต่วันแรกที่คบหากันไปจนตาย เพราะถ้าไม่ต้องการสมสู่กันแล้ว น้ำหนักในการมีคู่ครองก็แทบจะเบาลงไปในทันที ดังนั้นปราการแรกสู่ความเจริญคือให้เว้นขาดจากการสมสู่กับคู่ของตนตั้งแต่เริ่มรู้จักกัน

เมื่อเป็นคู่กันแล้ว แต่งงานกันแล้ว แม้จะไม่สมสู่กันก็ยังไม่เรียกได้ว่าหลุดพ้นหรือสามารถเจริญในธรรมได้ดีนัก เขาทั้งคู่ต้องสลัดความหลงในรูปของกันและกัน ผู้ชายก็ไม่หลงในความเป็นหญิง ผู้หญิงก็ไม่หลงมัวเมาในรูปกายของตัวเองและไม่หลงยึดว่าต้องมีชายมาบำเรอตน

ปฏิบัติไปเรื่อยๆหลายภพหลายชาติ ผู้หญิงที่สามารถทำลายภาวะของความเป็นหญิงในตนลงได้ ตัดเหตุแห่งความเป็นหญิงได้ ก็จะเปลี่ยนมาเกิดเป็นเพศชายได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเพศชายด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่ หากยังตัดความอยากในการสมสู่หรือความรักใคร่ออกไม่หมด ในชาติใดชาติหนึ่งก็อาจจะกลายเป็นชายรักชายก็ได้ ไปๆมาๆ กิเลสเพิ่มก็เวียนกลับสลับกันไปเป็นชายหญิงกันใหม่

ดังนั้นกว่าจะเปลี่ยนคู่รักมาเป็นคู่บุญได้แท้จริงนั้นยากมาก ต้องพรากจากการสมสู่ ต้องพรากจากความหลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกรรมที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ใช่ว่าจะหลุดพ้นกันได้ง่ายๆ แม้คนหนึ่งไม่อยากสมสู่ แต่อีกคนอยากสมสู่ สุดท้ายก็ต้องมาคอยบำเรอกัน ซึ่งก็จะผูกติดกันไปแบบคู่รักเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน

ถ้าถามว่าคู่รักเช่นนี้ทำบุญได้ไหม ก็ตอบว่าได้ แต่ไม่สามารถทำได้ดีและเจริญได้เร็วเท่ากับคู่บุญที่เป็นเพื่อนกัน ถ้าเทียบกันแล้วก็เหมือนกับม้าที่วิ่งแข่งกับเต่า ดังนั้นหากจะเรียกคู่รักว่าคู่บุญนั้นก็คงจะไม่เข้าในความหมายของคู่บุญที่ยกไว้ในตอนต้น จึงสรุปว่าการยังอยู่ในภพของคู่รักนั้น จึงไม่เรียกว่าคู่บุญ เพราะยังมีเหตุในการทำบาปและความเสื่อมแห่งมิตรภาพอยู่ในความเป็นคู่รักนั้น

คู่บุญหรือคู่บาป

มาถึงคู่สุดท้าย คือคู่บาป คู่ที่พากันใช้ชีวิตไปตามสังคมและโลก ทำทานบ้าง เข้าวัดบ้าง สนองกิเลสกันบ้าง สมสู่กันบ้าง เรียกง่ายๆว่าใช้ชีวิตไปตามวิถีของคนทั่วไปนั่นเอง

การมีคู่แบบนี้ไม่เป็นบุญสักนิดเดียว เพราะบุญคือการชำระกิเลส แต่คู่รักที่ไม่ยินดีถือศีล ไม่ยินดีในการลดกิเลส ไม่ละเว้นการสมสู่ ไม่สลัดความหลงในรูปของกันและกัน แถมยังพากันบำเรอกามกันอย่างไม่เกรงกลัวพิษภัยของบาปจึงพาเป็นคู่ที่พากันไปแต่ทางเสื่อม หรือที่เรียกว่าคู่บาป

เขาเหล่านั้นก็จะเกิดมาเป็นตัวเวรตัวกรรมของกันและกัน คอยฉุดกันลงนรก หากคนใดคนหนึ่งทำกุศลมากพอจนจะได้ฟังธรรมที่พาพ้นทุกข์ อีกคนหนึ่งก็จะฉุดไปลงนรก ไม่ยอมให้อีกคนได้โผล่พ้นขึ้นมาจากใต้กองกิเลส เพราะกลัวว่าถ้าหากคู่ของตนทิ้งตนไปสนใจธรรมแล้วตนเองจะไม่เหลือใครให้เสพ แล้วก็ผลัดกันสกัดกั้นกันและกันอย่างนี้ไปอีกหลายภพหลายชาติ เป็นภาระของกันและกัน เป็นตัวถ่วงความเจริญของกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน

ข้อสังเกตง่ายๆคือคู่บาป จะพาให้เราลดศีลของเราหรือลดความเจริญในธรรม คือธรรมที่มีอยู่แล้วก็เสื่อมลง เช่น เราเป็นคนที่กินมังสวิรัติอยู่แล้ว แต่พอไปมีคนรัก เขาไม่ยินดีที่จะถือศีลตามเรา ถึงแม้จะพยายามทำตามก็ทำได้ยากได้ลำบากจนเขารู้สึกกดดัน เราจึงรู้สึกเห็นใจเขาและเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เป็นเพื่อนเขา

หรือผู้หญิงที่ตั้งใจจะไม่สมสู่จนกว่าจะแต่งงาน แต่เมื่อเจอกับคู่บาปที่มีถ้อยคำสนองกิเลส คำหวานที่ล่อลวงให้ยอมพรากพรหมจรรย์ไปให้เขาก่อนถึงวันที่คิดว่าสมควร ลักษณะเหล่านี้คือคู่ที่พาให้ตกต่ำลง ให้เสื่อมจากศีลธรรมที่เป็นมาตรฐานที่เคยตั้งไว้

หรือพอเราจะไปทำกุศล ไปทำทาน เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไปเจอครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่จะไปบวช คนรักของเราก็จะกั้นขวางไว้ไม่ให้เราได้เข้าใกล้ธรรม ไม่ให้เราได้สร้างกุศลหาเจริญในธรรมนานนัก หรือที่หนักๆเลยก็พวกที่จับพระสึกมาแต่งงานก็มีให้เห็นกันมาแล้ว นี่คือพลังของคู่บาปที่จะพยายามพาเรากลับไปนรก กลับไปในทางเสื่อมและจะต้องวนเวียนคอยลากกันและกันกลับไปนรกเพราะจะไม่มีใครยอมให้ใครทิ้งกันไปเจริญ จะต้องอยู่สนองความใคร่อยากด้วยกัน จะต้องมาบำเรอกิเลสของกันและกัน จะต้องเป็นตัวตนของกันและกัน ชาตินี้คนหนึ่งลากอีกคนลงนรก อีกชาติหนึ่งก็จะโดนแก้แค้นโดยการถูกลากลงนรก ผูกพันกันไปด้วยหนี้บาปหนี้กรรมกันอีกหลายกัปหลายกัลป์

. . . จะเห็นได้ว่าการเป็นคู่รักกันโดยไม่มีศีลธรรมนั้นจะพาให้หลงวนอยู่ในกองกิเลสยากจะหลุดออกมาได้ ส่วนคู่รักที่มีศีลมีธรรมนั้นก็กว่าจะทำลายความเป็นคู่รักให้เหลือแต่คู่บุญได้นั้นก็ยากเย็นแสนเข็ญ กามก็อยากเสพ กุศลก็อยากทำ กว่าจะถึงคู่บุญจริงๆนั้นก็ไกลแสนไกล

ดังนั้นเป็นเพื่อนกันตั้งแต่แรกจะดีกว่า อย่าไปหลงผูกกันให้ลำบากต้องมาแก้กันทีหลัง เพราะตอนแก้มันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนผูก เหมือนกับตอนที่กิเลสเข้ามาแล้วมันไม่ได้ล้างออกไปกันได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้จะมีวิธีทำลายกิเลสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วประกาศไว้อยู่ ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำใจให้เข้าถึงแก่นแท้แห่งความรู้เหล่านั้นได้ง่ายๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง

March 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,477 views 0

ศีลธรรมไม่ได้เสื่อมลง
คนไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรม

เพราะศีลธรรมนั้นไม่มีอยู่ในคนตั้งแต่แรก…
ความเจริญในศีลธรรม อยากได้ต้องสร้างเอง

……………………

ใกล้กลียุคนี้เอง คนดีค่อยๆตายจาก คนชั่วค่อยๆเกิดขึ้น สังคมไม่ได้เสื่อมจากศีลธรรมไปตามยุคสมัย แต่เสื่อมจากการค่อยๆสูญเสียคนดี และคนไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย

เป็นธรรมชาติของโลกที่จะหมุนวนเจริญและเสื่อมไปแบบนี้ สลับสับเปลี่ยนไปมาไม่รู้กี่ล้านล้านล้าน….รอบแล้ว

คนดีที่ยังยินดีอยู่กับเรื่องโลก วนอยู่ในโลกธรรม ยังยินดีเสพสุข ก็จะทุกข์จากความเสื่อมที่จะเข้ามา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะหันเหชีวิตมาแสวงหาทางออกจากโลก

…ออกจากโลกียะ ไปสู่โลกุตระ โลกใหม่ที่หยุดทุกการเคลื่อนไหว และทวนทุกกระแสโลกเดิม

– – – – – – – – – – – – – – –

29.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,016 views 0

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

ในปัจจุบันนี้การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะต่างๆไปว่าจะเป็นการซื้อทอง ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ที่หวังผลเก็งกำไรนั้น เป็นกิจกรรมที่เห็นและยอมรับได้โดยทั่วไปในสังคม

ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนอื่นๆในปัจจุบันนั้นจะเป็นลักษณะของการพนันแบบชัดเจน แต่ผู้ที่สนใจและหลงไปกับการลงทุนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเหตุผลมากมายมาค้านแย้งได้ว่าการเล่นหุ้นของตนไม่ใช่การพนัน ไม่ใช่อบายมุขมีอีกมากมายหลายล้านเหตุผลที่จะบอกว่าการเล่นหุ้นไม่ผิด สังคมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป

ในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ มาตรฐานของศีลธรรมก็มักจะตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เคยเป็นกงจักรก็กลายเป็นดอกบัว และในอนาคตกงจักรที่เราเห็นในปัจจุบันก็จะค่อยๆกลายเป็นดอกบัวเช่นกัน เหตุนั้นเพราะอะไร? นั่นเพราะความเสื่อมจากศีลธรรมของคน เมื่อคนเสื่อมก็ไม่มีความรู้มาแยกแยะดีชั่ว อันไหนบาปอันไหนบุญ แต่ความหลงผิด หลงติด หลงยึดในตัวตนนั่นเองที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ากงจักรเป็นดอกบัว เรามักจะถูกล่อด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเหมือนน้ำผึ้งที่เคลือบอยู่บนใบมีดโกน

ความฉลาดของกิเลส

กิเลสนี่มันร้ายสุดร้าย มันฉลาดกว่าเราเยอะ แม้เราจะ IQ180 ก็ตาม แต่กิเลสมักจะล้ำหน้าเราไปเสมอ เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นและการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันจะแสวงหาเหตุผลให้เราไปเล่นหุ้น ให้เราลงทุน มันจะมีเหตุผลอ้างอิงมากมายเพื่อใช้หักล้างศีลธรรม ทำลายศีลธรรมทิ้งเพื่อเสพกิเลส กิเลสนี่มันคือนักสร้างเหตุผลที่ทำให้เราหลงไปจมอยู่ในนรกได้อย่างรู้สึกเป็นสุข เราก็รู้สึกเป็นสุขจริงๆตามที่กิเลสนั้นส่งพลังให้นะ แต่เวลาทุกข์จากความเสียหายหรือเครียดจากการลงทุนนี่กิเลสมันไม่ทุกข์ด้วยนะ แต่มันก็จะเป่าหูให้เราลงทุนต่อ ศึกษาต่อ หลงวนเวียนต่อ เหล่านี้คือพลังของกิเลส จะเรียนรู้มาแค่ไหน เกียรตินิยม จบเมืองนอก ปริญญาเอก ศาสตราจารย์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน เถ้าแก่พันล้าน ฯลฯ ต่างก็แพ้ให้กิเลสทั้งนั้น

จริงๆจะว่าไปมันก็โลภตั้งแต่คิดจะเข้าไปลงทุนแล้ว ความโลภนี่แหละผลักดันให้เราสนใจ ให้เราขยับมือ ขยับขา ขยับปากเข้าไปสู่โลกแห่งการลงทุน กิเลสมันจูงเราเข้าไปตั้งแต่แรกแล้วเราก็ยังไม่รู้ตัว แล้วตอนที่หลงวนเวียนอยู่ในนรกแห่งการลงทุนจะไปเหลืออะไร มันก็มืดบอดเท่านั้นเอง มองกิเลสดีไปหมด มองการลงทุนดีไปหมด

แล้วยังมีการหลงไปด้วยนะว่าถ้ารวยแล้วจะเอาเงินมาทำกุศล นี่กิเลสมันหลอกซ้อนไว้แบบนี้ มันเอาความดีมาล่อให้ทำบาป ดูซิกิเลสมันแผนซ้อนแผนมันฉลาดขนาดไหน

เล่นหุ้นอย่างไม่โลภ

มีหลายความคิดเห็นได้เสนอว่าก็เล่นหุ้นอย่างไม่โลภสิ เล่นแบบเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องความโลภนี่มันไม่เข้าใครออกใคร บางคนก็ว่าโลภน้อยไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้วไม่โลภเลยมันจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจริงๆเราโลภมากโลภน้อย เพราะถ้าวัดจากสังคมส่วนใหญ่มันอาจจะผิดเพี้ยนไปก็ได้

ถ้าบอกว่าไม่โลภเลยนี่มันต้องลงทุนให้ได้กำไรเท่ากับศูนย์หรือติดลบนะ เพราะไม่มีความโลภจึงไม่มีความคิดจะเอาเลย มีแต่ใจที่อยากสนับสนุนกิจการ อยากสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันความเจริญ เอาแบบเท่าทุนกับขาดทุนเลยนะ อย่าไปเอากำไร เพราะถ้าคิดถึงกำไรแม้แต่สลึงเดียวนี่ใจมันก็โลภแล้ว พอโลภมันก็เป็นบาปแล้ว แถมกิจกรรมที่โลภนี่มันก็อบายมุข เงินมากเงินน้อยไม่สำคัญเท่ากับจิตที่โลภ

หรือแม้แต่การออมนี่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเก็บสะสมนะ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เดี๋ยวนี้เราหลงประเด็นกันไปว่าการออมต้องมีเงินงอกเงย จริงๆเก็บออมคือเก็บไว้ใช้เท่านั้น เรื่องการงอกเงยนี่มันคือกิเลสมันงอกออกมาทีหลัง บางธุรกิจบางองค์กรเขาก็เสนอมาว่า ถ้ามาฝากเงินกับเขา เขาก็จะให้ดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้แต่ละที่เขาก็ไม่ได้ให้เท่ากันเสมอไป เราก็จะเลือกที่ให้มากที่สุด นี่ความโลภมันเกิดแล้วเห็นไหม แล้วเงินที่เขาเอาจากเราไปเขาก็ไม่เอาไปเก็บไว้เฉยๆนะ เขาเอาไปปล่อยกู้ เอาไปขูดรีดเอากำไร เอาไปให้ธุรกิจต่างชาติกู้ยืมมาถล่มประเทศไทยอีกที หรือไม่ก็ให้ธุรกิจในไทยถล่มกันเองนี่แหละ ก็เบียดเบียนกันต่อไป นี่หรือคือการออม เขาเอาเงินน้อยๆมาล่อเราและเราก็เพิ่มกิเลส เพิ่มวิบากบาป มันเป็นการเก็บออมตรงไหน นี่มันการลงทุนในธุรกิจบาปแท้ๆเลย

พอไล่กันไปจนเริ่มจะจนมุมก็อาจจะยอมรับว่า “เออ!!..ฉันโลภ” จริงๆวิธีประชดประชันเหล่านี้มันก็มาจากเสียงของกิเลสเหมือนกัน ประมาณว่าปล่อยให้ฉันได้เสพกิเลสของฉันเถอะอย่าเอาศีลธรรมมาใกล้ฉันเลย ว่าแล้วก็เสพกิเลสต่อไป เห็นไหมว่าผีมันกลัวศีลจริงๆ ถ้าใช้ศีลนี่จะจับผีได้ ถ้าผีหนีไม่ได้ ผีจะทุกข์ร้อนทรมานเลยนะ ผีอะไร? ก็ผีขี้โลภนี้ยังไงละ

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผี เป็นคนโลภ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนักเลย ทางข้างหน้าของผีขี้โลภ หรือที่เรียกกันตรงๆว่า “ผีเปรต” นี่มันมีแต่นรก นรกนี้คือความเดือดเนื้อร้อนใจ มันเป็นผีในจิตของคนและมันก็เกิดนรกในจิตของคนนี่แหละ มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ หุ้นขึ้นก็ทุกข์เพราะจิตโลภอยากให้ขึ้นเยอะๆ หุ้นตกก็ทุกข์เพราะเสียดายทรัพย์ หุ้นขึ้นหุ้นลงก็สะสมกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหายแน่แท้จริงเชียว

เล่นหุ้นให้เป็นกุศล

จริงๆแล้ววิธีเล่นหุ้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล ให้เกิดความดีงามในชีวิตมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มันไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหรอก ที่อยู่ในตลาดหุ้นนี่ก็นรกเป็นส่วนใหญ่ นรกมาก นรกน้อยก็แตกต่างกันไปตามมิจฉาอาชีวะและมิจฉาวณิชชาที่กระทำอยู่

หุ้นที่เป็นกุศลเป็นความดี ที่ให้กำไรในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย มีแต่การลงทุนที่ได้ผลกำไรอย่างแน่นอน เรื่องขาดทุนนี่ไม่มีเลย ไม่ใช่ zero-sum game อย่างทั่วๆไป ไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนขาดทุน มีแต่คนได้กำไร

การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นคือการลงทุนไปกับสิ่งที่ดีงาม คือลงทุนกับคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสังคม คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ทำกุศล เสียสละเพื่อคนเป็นอันมาก นี่แหละคนหรือกลุ่มคนที่ควรจะลงทุน เป็นเนื้อนาบุญที่หาได้ยาก

ถ้าเราไปลงทุนกับคนที่ถือศีล เป็นฤๅษีอยู่ป่า อยู่อย่างปลีกวิเวก เก็บตัวไม่อยู่กับโลก แม้จะเอาเงินหรือสิ่งของไปให้ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์มากมาย เมื่อไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ได้ผลแห่งการให้นั้นๆ ต้องแยกกันระหว่างบุญกับกุศล บุญคือจิตที่คิดสละ ในบทความนี้จะยกเรื่องบุญไว้ก่อน จะกล่าวกันแต่ในเรื่องของกุศลคือความดี และอานิสงส์คือประโยชน์ที่เกิด ดังเช่นที่ยกตัวอย่างมา เราไปทำกุศลกับคนที่ไม่ทำกุศล ประโยชน์ก็เกิดไม่มาก แม้ภาพจะสวย จะดูดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็เกิดกุศลน้อยอยู่ดี

ตัวอย่างถัดมา เป็นกรณีที่เราไปทำกุศลให้คนที่เราหลงคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ หลงว่าเป็นผู้บรรลุธรรม ตามที่เห็นได้ทั่วไปในข่าว อันนี้ไม่เป็นกุศล ถือว่าลงทุนผิด ไปลงทุนให้คนที่ปฏิบัติผิดทาง แล้วปัจจัยที่เราส่งเสริมไปเหล่านั้นก็ไปเสริมกิเลสเขา ให้เขาได้ทำชั่ว ได้เกิดความโลภ ใช้ปัจจัยเช่นเงินของเราไปบำรุงบำเรอกิเลสตน ซื้อของฟุ่มเฟือย สร้างของที่ไม่จำเป็น สร้างบริวาร หารายได้ บิดเบือนคำสอนของศาสนา เราต้องรับผลของการลงทุนที่ติดลบนี้ไปด้วย ในกรณีนี้จะขอยกไว้เป็นตัวอย่างในข้อยกเว้นสำหรับหัวข้อนี้

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนให้กับคนที่ปฏิบัติตัวดีทั่วไป ก็คือการส่งเสริมคนดีนี่เอง เห็นว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ส่งเสริมอุดหนุนเขา ให้เขามีโอกาสที่ดี ให้เขามีหน้าที่การงานที่ดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย”

นี่คือลักษณะของการลงทุนให้เกิดสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินหรือปัจจัยใดๆเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำการสนับสนุนอุ้มชูคนดีเท่าที่ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ทรมานจนเกินไป เห็นคนทำดีที่ไหนเราก็ไปช่วยสนับสนุนเขา เป็นกำลังให้เขา ปกป้องเขา แค่นี้ก็เป็นการลงทุนที่ดีแล้ว

ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนไปกับคนที่ปฏิบัติดี คนที่เสียสละตัวเองช่วยเหลือสังคม พาให้สังคมทำดี เกิดการสำนึกดีขึ้นในหมู่คณะ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเสียสละตนเอง ทิ้งความสุข ความสงบ ความสบายของตัวเองเพื่อทำงานให้กับสังคม ให้กับชุมชน ให้กับโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง เป็นดังเนื้อนาบุญที่สามารถสร้างกุศลให้เติบใหญ่ไม่มากก็น้อย

การเติบโตของการลงทุนนี้เป็นอย่างไร? เมื่อเราสนับสนุนคนดีที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตน หวังแต่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ เขาเหล่านั้นจะใช้ปัจจัยที่เราให้ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือการสนับสนุนต่างๆให้เป็นไปเพื่อผู้อื่น เมื่อคนเราคิดถึงแต่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่ปัญญาของเขาจะสามารถสร้างได้ และการไม่เห็นแก่ตัวนั้นเองก็เป็นปัญญาที่มากมายอยู่แล้ว

การเสียสละเงินเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องง่าย การเสียสละแรงงานเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีก็ยากขึ้นมาหน่อย การเสียสละเวลาเพื่อช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามก็เป็นเรื่องยาก แต่การเสียสละชีวิตเพื่ออนุเคราะห์สังคมและโลกเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก

ดังนั้นหากเราคิดจะลงทุนให้เกิดกุศล เกิดความดี เกิดประโยชน์แท้แก่ชีวิตเรา ก็ให้เลือกลงทุนให้ดี สนับสนุนคนดีให้ทำดี แต่อย่าประมาทในกุศลแม้น้อย แม้ว่าการเสียสละเงินจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนที่เสียสละแรงงาน เราก็ควรจะสนับสนุนให้เขาทำดี แม้จะเป็นความดีที่ไม่มาก แต่ก็วันหนึ่งก็อาจจะเติบโตเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ในกุศล ไม่ควรหยุดทำความดี ไม่ควรหยุดลงทุนให้กับผู้ทำความดี เพราะสิ่งเหล่านี้เองเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กำไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” ,”ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”,”ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”,”ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ”,”นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”

แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เราจะได้รับผลของกรรมดีที่เราทำ เราคิดแต่จะให้ เราก็มีแต่จะได้รับ เป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ

เห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราสามารถลงทุนได้โดยใช้กำลังหลายๆอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะแรงกาย หรือใช้ปัญญาก็สามารถลงทุนในหุ้นชีวิตเหล่านี้ได้ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่บาป ไม่ใช่การพนัน เป็นกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

25.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,229 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์