Tag: ฤๅษี

การปฏิบัติต่อกิเลส

March 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,127 views 1

การปฏิบัติต่อกิเลส

ดูภาพขนาดเต็มหรือดาวน์โหลด [กดที่นี่] | Download full size 1800×1976 px [Click here]

การปฏิบัติต่อกิเลส

กิเลสนี้ก็เหมือนไม้ที่ไฟกำลังลุกไหม้ มันร้อนแรง เผาทำลาย เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราไม่สามารถมองเห็นทุกข์หรือไฟของกิเลสได้ง่ายนัก กิเลสจึงเป็นเหมือนความหอมหวานของชีวิต จนหลายคนได้ใช้กิเลสเป็นเครื่องชี้นำชีวิตอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาสรุปวิธีปฏิบัติต่อกิเลสโดยย่อพอให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติกัน

1). ทาสกิเลส

แรกเริ่มแต่ดั้งเดิมนั้น เราก็เป็นอิสระจากกิเลส หรือที่คนเรียกว่าจิตเดิมแท้ แต่ด้วยจิตเดิมมันไม่มีปัญญา หรือที่เรียกว่ามันโง่ พอได้ยิน ได้เสพอะไรเข้าก็หลงสุข หลงติดหลงยึดไปหมด เลยกลายเป็นทาสกิเลสนั่นเอง ซึ่งทาสกิเลสนี่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

2). สมถะ

สมถะคืออุบายทางใจ เป็นวิธีปฏิบัติต่อกิเลสที่มีอยู่คู่โลกมาช้านาน เป็นวิธีที่จะเข้ามาช่วยกด ต้าน ยับยั้งกิเลส แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำลายกิเลสได้ คนที่เก่งในด้านสมถะจะสามารถกดข่มกิเลสได้ในระดับอัตโนมัติ ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นแล้วหลงเข้าใจว่าสมถะคือวิปัสสนา อาจจะกลายเป็นฤๅษีติดภพไปอีกนานแสนนานก็ได้ การฝึกสมถะเป็นเรื่องที่ดี แต่การหลงไปในสมถะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลา

2.1). สมถะทั่วไป คือการกดข่มลงไปตรงๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุท-โธ กำหนดรู้ตามจุดต่างๆในร่างกาย การเพิ่มตัวรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดินจงกรม หรือกำหนดเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆก็ตามให้เป็นจุดรวมของจิตนั้นๆไม่ให้ฟุ้งซ่าน

2.2). ปัญญาสมถะ คือการใช้เหตุและผลเข้ามาช่วยจัดการกับความคิดหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ใช้ตรรกะ ใช้ธรรมมะเข้ามาช่วยกดอาการสั่นไหวของจิตที่เกิดขึ้น เช่น มองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มองว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งเหล่านี้คือการใช้ปัญญาเข้ามาช่วยกดจิตให้อยู่ในสภาพนิ่ง

….จุดประสงค์ของสมถะคือการดับความคิด การปรุงแต่ง หยุดความต่อเนื่องของกิเลสไว้ กดไว้ ยับยั้งไว้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เป็นวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิธีสมถะเหล่านี้มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ดังนั้นผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในตนเอง

3). อริยสัจ

3.1).ทุกข์ คือการเริ่มเดือดร้อนจากผลของกิเลสนั้นๆ การเห็นทุกข์นั้นเป็นด่านแรกในการเห็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ถ้าคนยังไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่เห็นธรรม โดยปกติแล้วคนจะเข้าใจว่ากิเลสเป็นสุข การได้เสพเป็นสุข แต่สุขเหล่านั้นเป็นของลวง เมื่อสิ้นสภาพที่ได้เสพหรือสุขลวงหาย ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

3.2).สมุทัย เมื่อเห็นทุกข์ก็ต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์ ว่าสิ่งใดทำให้ทุกข์ ในขั้นตอนของสมุทัยคนจะหลงไปกับการทำสมถะเสียมากเพราะมองไปที่ผลแต่ไม่ได้มองไปที่เหตุ หรือมองเหตุก็มองแค่ตื้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วต้องค้นไปที่รากของกิเลส ไม่ใช่ดูเพียงแค่การสั่นไหวของจิต แต่ค้นให้ลึกไปว่าเรายึดติดสิ่งนั้นเพราะเราติดรสสุขในอะไร เราติดรสสุขนั้นเพราะอะไร ต้องค้นลงไปให้เจอเหตุ

3.3).นิโรธ เมื่อเจอเหตุแล้วก็มาถึงการดับทุกข์ คือจะดับแบบไหน การดับนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ดับชั่วคราวไปถึงดับอย่างถาวร ถ้าดับชั่วคราวก็ใช้สมถะกดไปก่อน เพื่อลดพลังของกิเลส หรือจะดับให้ถาวรก็ต้องใช้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้อธิปัญญาที่จะมาต่อกรกิเลสนั้นๆ

3.4).มรรค เมื่อวางเป้าหมายของการดับแล้วก็มาถึงวิถีทางดับกิเลส ซึ่งมีกระบวนการคิด พูด ทำไปโดยลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างถูกตรงตั้งแต่ความเห็นความเข้าใจ จึงจะเกิดสมาธิที่ถูกตรงได้ การปฏิบัติที่เข้าใจผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ไปคนละทิศละทางกับการดับทุกข์

4). ผล (วิมุตติ)

เมื่อพากเพียรปฏิบัติมรรคอย่างถูกตรงก็จะได้ผลคือวิมุตติ หรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งชำแหละกิเลสในทุกลีลาที่ได้เจอมา

แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะให้ผลเช่นกัน ดังเช่นการใช้สมถะที่เข้าใจผิดว่าตนนั้นวิปัสสนา ก็จะได้ความสงบจากกิเลสที่เกิดจากการดับแบบกดข่มเช่นกัน การปฏิบัติใดๆอย่างตั้งมั่นล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

แต่นัยสำคัญคือผลเหล่านั้นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ดังชื่อเต็มของมรรคก็คือ “สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘” นั่นหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความเป็นผู้เจริญโดยมีองค์ประกอบครบพร้อมทั้ง ๘ ประการ คือต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูก ความคิดที่ถูก การพูดที่ถูก การกระทำที่ถูก การเลี้ยงชีพที่ถูก ความเพียรที่ถูก การรู้ตัวที่ถูก และสภาพความตั้งมั่นที่ถูก

แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าถูก? ในเมื่อกิเลสคือความผิด นั่นหมายถึงการไม่มีกิเลสคือความถูก ดังนั้นการคิด พูด ทำใดๆที่มีผลในการลดกิเลส ไม่ส่งเสริมกิเลส ทำลายกิเลส นั่นคือสิ่งที่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี “ คือปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค แม้เราจะเห็นว่าเส้นทางการปฏิบัติและความเข้าใจนั้นมีหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการพ้นทุกข์อย่างยั่งยืนนั้นมีทางนี้ทางเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,791 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันคือผู้หลุดพ้น

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,327 views 0

ฉันคือผู้หลุดพ้น

ฉันคือผู้หลุดพ้น

…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ

(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)

สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ

1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก

มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ

2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด

ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด

คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก

คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป

3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส

สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด

หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก

ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้

ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร

4).การรู้ประมาณ

การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน

ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด

เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย

ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี

ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด

ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น

ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน

ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก

คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้

5).ปัญญากับมังสวิรัติ

การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ

แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์

พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก

การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง

เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด

ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน

6). ทางสายกลวง

ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ

คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น

คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ

7).กินมังเหยาะแหยะ

คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน

จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว

การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น

คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์

ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร

8). กินอยู่อย่างพอดี

หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง

ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ

ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ

9).มังสวิรัติบารมี

ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม

หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า

ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส

พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก

ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน

หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

2.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์