Tag: พิจารณา

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,388 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายชนะทุกสิ่ง

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,716 views 0

ความตายชนะทุกสิ่ง

ความตายชนะทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือต่ำต้อยเพียงใด ชีวิตก็ต้องดำเนินมาถึงความตาย แม้ชีวิตจะมีแต่ความสุข ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ คนรัก ญาติมิตร บริวาร หรือกระทั่งความทุกข์ โรค ภัย ไข้เจ็บ ความเหงา เศร้า ทรมาน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย ทุกสิ่งช่างไร้ค่า…เมื่อต้องเผชิญกับความตาย

เมื่อความตายมาถึง สิ่งที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะผ่านไปได้ก็เฉพาะจิตวิญญาณเท่านั้น ส่วนทางที่ไปนั้น ก็เป็นไปตามกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมา คงจะมีหลายคนในโลกที่ไม่เชื่อและยังไม่เข้าใจเรื่องตายแล้วไปไหน?

ความตายไม่ได้นำไปสู่การดับสูญ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนจากคนที่นอนป่วยกลายเป็นสิ่งอื่น ตามกรรมที่เขาได้ทำมา ทำชั่วก็ไปชั่ว ทำดีก็ไปดี ทำชั่วดีปนกัน กรรมเขาก็คำนวณให้ออกไปอย่างเหมาะสม นั่นก็เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเราที่นั่งอ่านบทความอยู่ตรงนี้ก็เป็นผลจากกรรมในอดีต เราเกิดมาพร้อมกับกรรมดีกรรมชั่วที่เราทำมาแต่ชาติปางก่อน

การที่เราเกิดมามีกินมีใช้เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยสี่ โดยทั่วไปก็มักมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ เป็นเรื่องของโชค แต่ในทางพุทธไม่มีคำว่าบังเอิญหรือโชคดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงที่ว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งดีสิ่งชั่วเหล่านั้นที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น

ความตายที่ผ่านเข้ามาก็เป็นเพียงการชำระล้างของกรรม เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่สะสมโลกียะทรัพย์ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขลวงๆ ก็จะต้องพลอยสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดทุนไปตามๆกัน คงจะมีแต่ผู้ที่สะสมอริยทรัพย์ คือบุญและกุศลเท่านั้นที่พอจะสามารถกอบโกยทุนบางส่วน ไปลงทุนในละครบทต่อไปได้

ความตาย และการเกิดของกิเลส…

แต่ความตายก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าการเกิด การเกิดนั้นย่อมเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะความเกิดเป็นเหตุแห่งความตาย ตายแล้วก็เกิดวนกันไปอยู่อย่างนี้ ดังที่กิเลสเกิดในแต่ละวัน เช่น เราอยากกินของที่ชอบ กิเลสก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่ว่าจะได้กินหรือไม่ได้กิน มันก็จะดับไปของมันเอง แต่แล้ววันต่อมามันก็เกิดอีก แล้วก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่นานไปก็ดับไปอีก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ไม่มีวันจบสิ้น

แม้ว่าความตายนั้นจะชนะทุกสิ่งได้ แต่ความตายของกิเลสนี้ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นเอง กิเลสคือศัตรูร้ายที่ฝังตัวแอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเรา เป็นตัวบงการให้มีการเกิด แต่ตัวมันเองจะไม่ยอมตาย ถ้ามัวแต่เลี้ยงมันไว้ คนที่ตายก็เป็นตัวเราเองนี่แหละ แล้วมันก็จะสั่งให้เราเกิด เพื่อหาอาหารให้มัน ให้เสพสมใจมัน ใช้งานเราจนร่างกายที่ได้รับมาทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เฒ่า แล้วก็ตายจนต้องทิ้งร่างนี้ไป เบิกทุนบุญกุศลในชาติก่อนเพื่อเกิดมาตายไปชาติหนึ่งเปล่าๆ โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ คือการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์ เพราะมัวแต่ทำตามคำสั่งกิเลสให้ไปสะสมโลกียะทรัพย์

การจะเอาชนะกิเลสนั้น จึงจะเป็นต้องสวนกระแส ต้องคอยต้าน คอยฝืน ไม่ทำตามกิเลส พิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของกิเลสนั้นๆ ค้นหาว่าจริงๆแล้วเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร และเข้าไปค่อยๆพิจารณาตามจริงถึงสาระแท้ของสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าจริง หรือแค่กิเลสต้องการ เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างตั้งมั่น จนเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์หรือสาระใดๆเลย กิเลสก็จะยอมถอย ยอมตายไปจากใจของเราเอง เป็นการชนะศึกจากการรบกับกิเลสโดยใช้ปัญญา

เป็นการมอบความตายให้กับกิเลส โดยที่มันเองก็ยินดีที่จะตาย และตายไปตลอดนิรันดร์กาล เป็นความตายที่เอาชนะได้แม้แต่กิเลส เป็นความตายที่ไม่ต้องมีการกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมีการตายอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

August 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,221 views 0

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดมาไม่สวยตามที่คนอื่นเขาเข้าใจ ยังต้องไปลำบากทำให้มันสวยของมันมาดีอยู่แล้วก็ไปเสริมเติมแต่งตัดต่อให้มันเป็นไปตามความอยาก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่จริงแล้วทำไปเพื่ออะไร…

การมีความสวยงาม มักดูเป็นเรื่องดี มีแต่คนอิจฉา อยากจะเป็น อยากจะสวยบ้าง อยากจะดูดีบ้าง เหล่าหญิงผู้ที่เข้าใจว่าตัวเองมีหน้าตาธรรมดาทั่วไปก็เลยต้องลำบากไปหาเครื่องเสริมเติมแต่งให้หน้าตาออกมาดูดี หรือถ้ายังไม่พอใจก็จะเริ่มแต่งตัว ไปจนถึงเปิดนั่นนิด เปิดนี่หน่อย จนถึงกระทั่งใช้ร่างกายของตนเป็นจุดขาย โดยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเราอยากจะสวยไปทำไม…

มีหลายคนที่ไม่ได้เกิดมาสวยเลิศเลอ ก็เลยต้องพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสวย ต้องหาเครื่องบำรุง เครื่องประดับ เสื้อผ้าหน้าผม จนกระทั่งการไปผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ออกมาสวยหรือดูดี เหตุที่ผลักดันความอยากสวยเหล่านี้ ถ้าจะอ้างกันไปคงจะมีหลายประการ แต่ถ้าจะเจาะลงรากลึกๆก็คงจะเป็นเรื่องของความหลงในรูปของตัวเอง กับอยากให้ผู้อื่นสนใจ

ความหลงในรูปและ อยากให้ผู้อื่นสนใจ

คือเข้าใจว่า สวยจึงจะดี ต้องดูดีผิวเนียนหุ่นดี จึงจะดี ต้องมีหน้าตาแบบนั้น แต่งกายแบบนี้จึงจะดี ฯลฯ และหลงไปในความสวยของตัวเอง เสพติดความสวยจนต้องหาสิ่งมาปรนเปรอบำเรอความสวย

ความหลง ความอยากหรือกิเลสเหล่านี้ ถ้ามีมากๆก็จะทะลักออกข้างนอก ไม่อยู่ข้างในตัว คือจะเริ่มเผยแพร่ความสวยของตนออกไป เช่นถ่ายรูปตัวเอง ทำท่าแบบนั้นแบบนี้ เริ่มเปิดโป้เปลือยออกสู่สาธารณะ เพราะความหลงในความสวยของตัวเองมันมากจนควบคุมไม่ไหว และหลงเข้าใจผิดว่าเป็นของควรอวด เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งควรค่าแก่การนิยม เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งดี จึงทำให้ไม่สำรวมกายแจกจ่ายออกให้ผู้อื่นรู้ว่าฉันสวย ฉันดูดี สนใจฉันสิ ดังนั้นเหตุหลักๆที่ผลักดันให้คนเกิดความอยากสวยก็คือ ความอยากให้ผู้อื่นสนใจ เป็นที่สนใจ เป็นที่นิยมชมชอบ หรือติดโลกธรรมนั่นเอง

ความอยากให้ผู้อื่นสนใจไม่ได้หมายเพียงแค่เรื่องคู่ แต่เป็นเรื่องที่ขยายไปไกลถึงกระทั่งหมกมุ่นในคำสรรเสริญ คำชม ความนิยมชมชอบ ดังที่จะเห็นได้ชัดในปัจจุบัน มีผู้หญิงมากมายสร้างตัวเองให้เป็นที่นิยม บ้างก็ขายความสวย บ้างก็ขายความน่ารัก บ้างก็ขายเรื่องราว บ้างก็ขายไปถึงร่างกาย เช่น เอาร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้มาโชว์ เปิด โป้ เปลือยกันไปเพื่อแลกกับความนิยมชมชอบ

ความนิยมชมชอบเป็นเสมือนแหที่หว่านลงไปในทะเล แท้ที่จริงแล้ว คนเราก็มักจะมีแรงผลักดันจากความเหงา การต้องการคนเข้าใจ เธอเหล่านั้นใช้วิธีด้านปริมาณเพื่อจะมาคัดคุณภาพของสิ่งที่จะได้รับ เพราะเมื่อสร้างความสวยงามที่มากขึ้น ก็จะมีคนเข้ามามากขึ้น เมื่อมีคนเข้ามามากขึ้นก็จะสามารถเลือกได้มากขึ้น สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของการมีคู่

แต่ในความจริง ความสวยงามหรือความนิยมเหล่านั้นจะดึงเอามาได้เฉพาะคนที่มีกิเลส เหมือนการตกปลาก็คงจะมีเฉพาะปลาที่หิวโหยและโง่เท่านั้นที่จะมากินเหยื่อ ดังนั้นการตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาความสวยดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นบทความจนกลายมาเป็นที่นิยม ก็เพียงแค่หาเหยื่อโง่ๆ ที่มาหลงไปกับความสวยและยินยอมพร้อมใจจะมาปรนเปรอกิเลสของตัวเองได้เท่านั้นเอง

จริงอยู่ที่ว่าผู้ชายนั้นชอบคนสวย ก็ไม่ต่างกันจากผู้หญิงที่ชอบผู้ชายดูดี เป็นความหลงในรูปของร่างกาย เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นของหยาบ รู้ได้เพียงแค่ใช้การมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสของผู้ชายเหล่านั้นจะหยุดลงแค่เสพรูปกาย เขาเหล่านั้นยังมีความต้องการอีกมากมายที่คุณอาจจะคิดไม่ถึง จึงเรียกได้ว่า สวยอย่างเดียวไม่เพียงพอจะเติมเต็มกิเลสเขาได้หรอก

ดังนั้น ไม่ว่าจะพยายามที่จะสวยเพื่อบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง หรือปรนเปรอกิเลสของผู้อื่น ก็มีปลายทางเป็นนรก ที่เดือดร้อนใจ และความผิดหวังด้วยกันทั้งนั้น เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมได้เต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเติมก็ยิ่งขาด

ผู้ที่ยังอยากสวยพึงพิจารณาให้เห็นลึกลงไปถึงความอยากของตัวเองว่า อยากสวยไปทำไม? สวยแล้วอยากจะได้อะไร ?อยากได้มาแล้วจะเอามาทำอะไร? ได้มาแล้วจะสุขจริงไหม? แล้วจะสุขเช่นนั้นไปตลอดไหม? ทั้งหมดที่ทำมาคืออะไร?เป็นไปเพื่อสร้างสุขหรือแท้จริงแล้วเป็นทุกข์?

หากว่าเราเข้าใจว่าความอยากสวยเหล่านั้นเป็นเพียงแค่คำสั่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกให้เราหลงไป เราก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สุดท้ายแล้วถึงจะมีความสวยแต่ก็ไม่ยึดติดความสวย ถึงจะไม่สวยก็ไม่ไขว่คว้าหาความสวย เพราะรู้แน่ชัดในใจแล้วว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สาระแท้ของชีวิต

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์