Tag: ปล่อยวาง

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,204 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,353 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีปล่อยวางความรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 95,767 views 11

วิธีปล่อยวางความรัก

วิธีปล่อยวางความรัก

…ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา

ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ นั่นเพราะการปล่อยวางของเรานั้นยังไม่ทำจนถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้งนั่นเอง

วิธีที่เราใช้เพื่อปล่อยวางความรักนั้นมีหลายวิธี แต่ในบทความนี้จะสรุปรวมมาให้แบบกว้างๆ 3 วิธี คือ 1).เปลี่ยนเรื่อง 2).ปัดทิ้ง 3). เข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1). เปลี่ยนเรื่อง

วิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปคือการหากิจกรรมทำ ท่องเที่ยวไปในที่ที่ไม่เคยไป ศึกษาเรื่องที่ไม่เคยรู้หรือแม้แต่การเน้นลงไปในเรื่องเดิมเช่น ชอบเที่ยวอยู่แล้วก็เที่ยวให้หนักขึ้น ก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ควรจะสนใจอยู่ให้ไปสนใจเรื่องใหม่ที่เรากำลังทำอยู่นั่นเอง

จะเรียกว่ากลบเกลื่อนก็ว่าได้ หลายกิจกรรมนั้นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีสอดแทรกอยู่ เช่นถ้าเราไปหาแฟนใหม่ เราก็จะสามารถปล่อยวางแฟนเก่าได้ เพราะเราเลิกยึดแฟนเก่ามายึดแฟนใหม่แทน แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้มันแค่ถูกกลบทำเป็นลืมเท่านั้น นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ดี ส่วนกิจกรรมที่ดีเช่น เรากลับไปดูแลพ่อแม่และพบว่าความรักของท่านมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ซึ่งทำให้เราปล่อยวางรักที่จากไปพร้อมกับอดีตคนรักได้ เพราะได้พบกับความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า นี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนเรื่องอยู่ดี

การเปลี่ยนเรื่องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่หลายคนนิยมใช้เพราะเข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกุศลก็ยังถือว่าดี แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เป็นอกุศลสร้างบาป เวร ภัยให้ตัวเองเช่น อกหักแล้วทำตัวเสเพล ใจแตก เที่ยวผับ เมาเหล้า บ้าผู้หญิง อย่างนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่พาลงนรกได้เช่นกัน

2).ปัดทิ้ง

ในมุมของการปัดทิ้งจะมีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วิธีสามัญธรรมดาคือการพยายามไม่พูดถึง ไม่ใส่ใจ ใครทักก็ทำเฉยๆ เห็นภาพเก่าๆก็ทำลืมๆไป จนมาได้ศึกษาธรรมะบ้างจึงได้พบกับวิธีการทางธรรมซึ่งเรียกว่าสมถะวิธี

สมถะคืออุบายทางใจ มีไว้เพื่อพักจิตพักใจ ใช้กดข่ม ใช้ตบ ใช้แบ่งเบาผัสสะที่เข้ามา ผู้ที่ฝึกสมถะได้มากๆจะสามารถกดข่มอาการหวั่นไหวในใจจากอาการปล่อยแต่ยังไม่วางได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมถะก็ยังมีขอบเขตของผลที่จะได้รับแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะแบ่งสมถะออกเป็นสองวิธี

2.1).เจโตสมถะ

คือการใช้พลังกดข่มเอาดื้อๆนี่แหละ หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าใช้สติ , รู้ , หรืออะไรก็ตามแต่ภาษาบัญญัติเป็นลักษณะของการย้ายจิตที่จมอยู่ ณ สภาพหนึ่งเปลี่ยนไปจมอยู่อีกสภาพหนึ่งโดยการปัดผลของผัสสะ(การกระทบ)นั้นทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น แฟนเก่าเดินมาใจเราก็หวั่นไหวแต่ด้วยความที่เราฝึกสติมาเราก็รู้ตัวว่าจิตกำลังเกิดก็ปัดอาการเหล่านั้นทิ้งไปได้ทันที ลักษณะนี้คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดไปแล้วแต่ไปปัดทิ้งไม่นำมาพิจารณาต่อ จบเรื่องไปตรงนั้น ดับไปตรงนั้นแล้วเข้าใจว่าการดับมันเป็นแบบนั้น

จริงๆแล้วมันเป็นการดับที่ปลายเหตุ ซึ่งในขีดสูงสุดที่เจโตสมถะจะทำได้คือดับทุกอาการของเวทนาที่เกิด ดับไปจนถึงสังขารหรือกระทั่งสัญญาในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ คือเมื่อมีผัสสะแล้วเกิดอาการจะสามารถดับได้ทันทีโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นคนที่มีพลังของเจโตสมถะเต็มที่ ลักษณะจะดูเหมือนว่ามีสติเต็มแต่หากมองในทางพุทธจริงๆแล้วจะพบว่าสติไม่เต็มเพราะถูกตัดความต่อเนื่องของสติขาดไปตั้งแต่ปัดทิ้งแล้ว

ข้อดีของเจโตสมถะคือไม่ต้องคิดมาก วิธีการเรียนรู้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน สอนกันไม่นานก็จับหลักได้ มีสอนกันโดยทั่วไป เป็นวิธีที่มีมาก่อนพุทธศาสนาและจะมีไปจนตราบโลกแตก เอาเป็นว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็มีวิธีแบบนี้

ข้อเสียของเจโตสมถะคือการใช้สติตัดอาการเหล่านั้นทิ้งเสีย จึงไม่สามารถเข้าสู่วิปัสสนาได้ แต่คนมักจะหลงว่านี่คือการวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วยังคงอยู่ในขีดของเจโตสมถะเท่านั้น การเข้าวิปัสสนานั้นต้องเริ่มที่ญาณ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ แต่วิธีของเจโตสมถะจะไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้เลย รู้เพียงแค่ว่าจิตเกิดแล้วก็ทำให้มันดับไปเท่านั้นเอง เข้าใจการเกิดและดับเพียงเท่านั้น ไม่ได้ขุดค้นไปที่ต้นเหตุ กระทำเพียงแค่ปลายเหตุ

ซึ่งคนที่เก่งในเจโตสมถะมักจะหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมเพราะสามารถดับหลายสภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว จะยกตัวอย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้าคืออุทกดาบส และอาฬารดาบส ซึ่งโดยรวมก็เป็นสายสมถะเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยืนยันแล้วว่าไม่บรรลุธรรม

ความเข้าใจที่ว่าสติมาปัญญาเกิดนั้นยังเป็นความเข้าใจที่อธิบายได้ยากและทำให้คนหลงลืมศีล มุ่งแต่ปฏิบัติสมถะซึ่งเป็นสายหลักของเจโตสมถะ เมื่อไม่กล่าวถึงศีล ไม่มีศีลในข้อปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไปเป็นองค์รวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อมไม่เกิดมรรคผล ไม่เป็นพุทธ ไม่เข้าใจในพุทธ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องศีล สมาธิ ปัญญา หากเราฝึกเพียงสติแล้วหวังจะให้ปัญญาเกิด ปัญญาที่ได้จะเป็นปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบปล่อยวางทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า เหมือนสภาพปล่อยก่อนหน้าที่จะถือ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าไปถือเพราะอะไร

การปล่อยวางความรักโดยใช้เจโตสมถะนี้จะไม่สามารถวางได้จริง พอเจอผัสสะเช่นแฟนเก่าเดินมา เขาแต่งงานใหม่ก็ต้องมาดับจิต ข่มจิต ปัดจิตตัวเองทิ้งเป็นรอบๆไป เจอหนักๆเข้าก็ไม่ไหวสติแตกได้เช่นกัน

2.2).ปัญญาสมถะ

เป็นลักษณะของผู้พิจารณาที่มีชั้นเชิงขึ้นมาบ้าง ใช้ปัญญาเข้ามาเสริมบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญญาทางโลก เป็นเหตุผลทางโลก เป็นสัจจะที่รู้กันในโลก ไม่ใช่สัจจะที่เกิดในใจ

ลักษณะของการใช้ปัญญาเข้ามาเสริมในเชิงของสมถะคือมีการใช้กรรมฐานเข้ามาพิจารณาร่วม ส่วนกรรมฐานจะเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาเป็นกรรมฐาน ยกตัวอย่างเช่น พอเราอกหักก็แล้วปล่อยวางไม่ได้ เขาก็จะแนะนำว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ใช้การพิจารณาธรรมอย่างนี้เข้ามาช่วย จะมีลักษณะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณา เป็นการใช้กรรมฐานในลักษณะเช่นเดียวกับ พุทโธ , ยุบหนอพองหนอ แต่จะนำบทธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

โดยรวมแล้วปัญญาสมถะนั้นเหมือนจะดี มีสอนกันโดยมาก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลเข้ามากดข่มความทุกข์ ใช้เหตุผลเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่น เอาสัจจะ เอาความรู้ เอาตรรกะ เอาปัญญาโลกียะ เข้ามากดจิตไว้ ซึ่งก็เป็นลักษณะของสมถะเช่นกัน

ข้อดีของปัญญาสมถะนั้นก็มีมาก เพราะเริ่มจะใช้เหตุผลในการพิจารณาออกจากทุกข์บ้างแล้ว ไม่ใช่การตบทิ้งเอาดื้อๆหรือหลงเข้าใจเพียงว่าการแก้อวิชชาก็แค่เพียงรู้ รู้ รู้ เท่านั้น จะเริ่มละเอียดในจิตมากขึ้น

ข้อเสียของปัญญาสมถะนั้นก็มีอยู่ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมแต่มักจะหลงว่าถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะมีการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณาความทุกข์ แต่ปัญหาคือล้วงไม่สุด ล้วงไม่ลึกถึงสมุทัย เจอแค่ปัญหาปลายๆก็พิจารณาเพียงปลายๆแล้วจบลงตรงนั้นคล้ายๆว่าเราพอเจอความยึดมั่นถือมั่นเราก็จะพิจารณาแค่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เจาะลงไปในเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากอะไร

พอไม่ได้พิจารณาลงไปที่เหตุกิเลสก็ไม่มีทางดับ มันเพียงแค่ซ่อนตัวอยู่เพราะมีพลังของสมถะมากดไว้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนหลงไปได้มาก จะมีสภาพเหมือนเข้าใจทั้งธรรมและเข้าใจทั้งทุกข์ ซึ่งโดยมากจะมีรูปแบบการพิจารณาที่เป็นแบบแผนชัดเจน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่ได้ล้วงลึกไปที่เหตุ

เหมือนกับหมอที่เห็นว่าคนไข้น้ำมูกไหลก็สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ทั้งที่เหตุของน้ำมูกนั้นเกิดได้มากมายหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่น้ำมูกไหลนั้นเป็นปลายเหตุ ลักษณะของปัญญาสมถะจะเป็นเช่นนี้ เหมือนจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ได้ดับไปที่รากของปัญหา

…. จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิถีแห่งสมถะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงสมุทัยได้ เมื่อไม่ถึงสมุทัย ไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงวิปัสสนา เพราะการวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเริ่มกันที่นามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเรียกได้ว่ากระทำวิปัสสนา คือการเห็นว่ากิเลสมันเริ่มจากตรงไหน กิเลสตัวใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดทุกข์

ซึ่งสมถะวิธีนี่เองคือตัวกั้นไม่ให้เราไปถึงสมุทัย โดยเฉพาะวิธีเจโตสมถะซึ่งจะตบทิ้งทุกๆผลของผัสสะที่เข้ามาทำให้ทุกข์ เมื่อตบเวทนา สังขาร สัญญา เหล่านั้นทิ้งไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาเหตุแห่งทุกข์อีก ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธเจ้า ในบทของอาหาร ๔ ในข้อหนึ่งที่ว่า ผัสสาหาร หมายถึงคนเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตเพื่อความเจริญทางจิตใจ ต้องรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นและค้นต่อไปว่าเวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านั้นเกิดเพราะเหตุใด มิใช่จิตเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วปัดทิ้ง ตบทั้ง ดับทิ้ง แบบนี้เป็นวิถีของฤๅษี

3). เข้าใจ

ก่อนที่เราจะเข้าใจสิ่งใดได้นั้นเราจะต้องเห็นทุกข์กับมันอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน ดังคำตรัสที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” จะลองยกตัวอย่างการเห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมในแบบโลกๆให้พอเห็นภาพกันโดยสังเขป

ครั้งหนึ่งได้กินยำไข่แมงดาแต่กลับมาพบว่าปวดหัวหายใจขัด ครั้งนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าผิดที่ไข่แมงดาหรือผิดที่เราเพราะคนอื่นกินก็ปกติดีมีแต่เราเป็น ก็เลยมีการลองครั้งที่สองครั้งนี้หายใจขัดเหมือนเดิม พูดไม่ค่อยได้ ปวดหัวตัวร้อน ยังไม่ชัดแต่ก็เริ่มมั่นใจขึ้นแล้วว่าไม่ได้ผิดที่ไข่แมงดาแน่ สุดท้ายก็เลยต้องลองให้ชัดกับยำไข่แมงดาครั้งที่สาม ครั้งนี้หายใจแทบไม่ออก หายใจได้ทีละสั้นๆ ปวดหัว เหงื่อออก หมดแรงไปทั้งตัว เลยมั่นใจว่านี่แหละ “ฉันแพ้ไข่แมงดา”

การกินสามครั้งจากคนละช่วงเวลาห่างกันนานนับปี ต่างสถานที่ทำให้เข้าใจว่าไข่แมงดาไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นเราเองที่ผิด ที่แพ้ไข่แมงดา หลังจากได้เห็นทุกข์จากความเจ็บปวดทรมานนั้น ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอีกไหม อยากกินอีกไหม ครั้งหน้าอาจจะตายก็ได้นะ พอพิจารณาเข้ามากๆประกอบกับทุกข์จำนวนมากที่ได้รับจึงทำให้รู้สึกเข็ดขยาดกับไข่แมงดา

ทุกข์คืออาการแพ้ไข่แมงดา เหตุแห่งทุกข์คือเราอยากกินไข่แมงดาเพราะเขาว่าอร่อย ถ้าจะดับทุกข์ก็ไม่ต้องอยากกินไข่แมงดา ก็ใช้วิธีสำรวมกายวาจาใจไม่ให้ไปยุ่งกับไข่แมงดา

เมื่อพิจารณาดีแล้วจึงเกิดสภาพเข้าใจและยอมรับว่าไข่แมงดากับเราเข้ากันไม่ได้ เราจึงยอมไม่กินไข่แมงดาได้อย่างสบายใจ แม้ใครจะให้ฟรีก็ไม่กิน เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์มาก นี่คือตัวอย่างการวิปัสสนาแบบโลกๆทั่วไปที่ยกมาเพื่อจะพอให้จินตนาการภาพของการวิปัสสนาได้บ้าง

3.1) วิปัสสนา

วิปัสสนาคืออุบายทางปัญญา คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ และเข้าใจวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค

วิปัสสนานั้นต่างออกไปจากสมถะจนเรียกได้ว่าไปคนละทาง เพราะสมถะนั้นใช้การดับ ปัดทิ้ง ตบทิ้ง ส่วนวิปัสสนานั้นจะใช้เวทนาจากผัสสะนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการพิจารณาหาสมุทัยต่อ ซึ่งแม้แนวทางปฏิบัติจะต่างกันมาก แต่หากผู้ใดที่สามารถเข้าใจได้ทั้งวิปัสสนาและสมถะก็จะสามารถเจริญได้ไว เพราะทั้งสองวิธีใช้เกื้อหนุนกันได้ ส่งเสริมกันได้ โดยใช้สมถะเป็นตัวพัก เป็นตัวลดปริมาณเวทนาที่เกิดจากสังขารได้ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำก่อนแล้วจึงค่อยเผา”

นั่นหมายถึงว่าในบางครั้ง บางผัสสะที่เข้ามาอาจจะมีกำลังแรงเกินกว่าที่เราจะรับไว้ เราก็ใช้สมถะตบทิ้งไปสัก 80 % เหลือไว้ 20% ไว้พิจารณาต่อก็ได้ เพราะหากเรารับไว้ทั้งหมดอาจจะเกิดอาการสติแตกได้ เมื่อคุมสติไม่อยู่ก็ไม่ต้องหวังจะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะรากของการวิปัสสนานั้นก็ต้องเริ่มจากสติเช่นกัน แต่สตินี้ต้องเป็นสายต่อเนื่องไปจนพิจารณาจบ จะไม่กดทิ้ง ไม่ดับทิ้ง ไม่ทำเป็นลืม ไม่เปลี่ยนเรื่อง แต่เป็นการนำสิ่งกระทบนั้นๆมาพิจารณาจนเกิดปัญญาว่าเพราะเหตุใดเราจึงทุกข์กับสิ่งนั้น

3.2). วิปัสสนา…ค้นหาเหตุแห่งทุกข์

การวิปัสสนานั้นต้องเริ่มจากผัสสะ คือมีสิ่งกระทบยกตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิก วันเวลาผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวสั่น ตัวเย็น อยากมอง อยากสบตา อยากคุย ถ้ามีสติดีก็ให้จับตรงนี้ให้ชัดๆ ส่วนจะตบทิ้งหรือจะปล่อยก็ให้ประมาณตามกำลังที่จะทนไหว ถ้าเราเลือกไม่ทักทาย เราก็กลับมาพิจารณาต่อให้เห็นว่าทำไมมันยังเกิดอาการเหล่านี้อยู่ แน่นอนมันคือความยึดมั่นถือมั่น แต่ยึดในอะไรล่ะ? ณ ตอนนี้เราก็ต้องขุดค้นลงไปว่าเรายึดในอะไร หรือจะใช้วิธีจินตนาการก็ได้ ดูรูปเก่าก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ใดๆแล้วใจฟูก็นั่นแหละ เช่นดูรูปถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันแล้วยังแอบมีความสุข ก็ให้ค้นลงไปอีกว่ามีความสุขเพราะอะไร เพราะในการเที่ยวครั้งนั้นเขาเอาใจ เขาจ่ายเงินให้หมด เขาดูแลเอาใจใส่เรายังกับเราเป็นเจ้าหญิง ยังไม่พอต้องขุดลงไปอีกว่าทำไมเราถึงพอใจและยินดีกับการที่เขาเอาใจใส่ เพราะเราอยากให้ใครมาดูแลใช่ไหม เพราะเราโลภใช่ไหม หรือเพราะเราอยากให้ใครเห็นความสำคัญของเรา ค้นไปค้นมาไปมั่นใจตรงที่ว่าเพราะเราชอบที่ใครมาเห็นความสำคัญของเรา แล้วทีนี้ก็ค้นไปอีกว่าทำไมเราจึงอยากให้ใครมาสนใจเรา ก็ไปเจอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่สนใจเราเลย จะค้นไปอีกก็ได้ เพราะจริงๆเราไม่เข้าใจพ่อแม่ เราทำอะไรเราก็อยากโชว์ อยากได้รับคำชมเมื่อไม่ได้ก็เลยน้อยใจ

เอาแค่ประมาณนี้แล้วกันนะ นี่คือกระบวนการหนึ่งของการวิปัสสนาคือการค้นไปที่เหตุ มันต้องเจอเหตุก่อนไม่ใช่ยังไม่เจอเหตุแล้วไปพิจารณา กิเลสมันจะไม่ตาย แล้วเหตุนี่ไม่ใช่เจอกันง่ายๆนะ ต้องใช้ปัญญาขุดค้นกันไปหลายรอบ บางทีเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เจอ ถ้าจะให้ดีก็ให้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ช่วยไขให้ก็จะเร็วขึ้น

เอาอีกตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน เช่นแฟนเราบอกเลิก ผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวชา ไม่อยากคุย ไม่อยากเจอ แต่เผลอก็มองทุกที ก็เก็บเรื่องมาพิจารณาต่อค้นไปในเหตุที่ทำไมเราจึงมีอาการทุกข์ หรืออาการที่จิตนั้นหวั่นไหว ทั้งๆที่เขาทิ้งเรา เราก็โกรธเขานะ แค้นเขาด้วย แต่ทำไมมันยังมองเขา ก็ค้นไปที่ปลายแรกคือโกรธ เราโกรธเพราะเขาทิ้งเรา เขาพรากเราออกจากสภาพที่เรายังสุข เหมือนกับเขาพรากความสุขของเราไปเราจึงโกรธเขา เหตุนั้นเพราะเรามีความสุขมากจนเราเผลอประมาท ทำให้เขาไม่พอใจในบางเรื่องจนเขาตัดสินใจเลิกกับเราก็เป็นได้ ทบทวนให้ดีในส่วนนี้ล้างโกรธให้ได้ก่อน

เมื่อล้างโกรธได้ จะล้างสภาพผลักได้ ซึ่งจะเหลือสภาพดูดคือรักและคิดถึง จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดเริ่มยอมรับผิด แต่อย่าเพิ่งรีบไปขอโทษ ให้พิจารณากิเลสลงไปต่อว่า เราไปรักไปคิดถึงเขาเพราะอะไร เพราะสิ่งใดเหตุการณ์ใดที่เขาทำกับเราอย่างที่ยกไว้ในตัวอย่างแรก ค้นให้สุดๆจะพบกับรากของกิเลสของตัวเอง แล้วล้างกิเลสของตัวเองให้ได้ก่อนจะกลับไปคุยกับเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าการจะปล่อยวางได้นั้นต้องหาเหตุที่ไม่ยอมปล่อยวางก่อน เราไม่สามารถปล่อยวางได้เพียงพูดว่า ปล่อยวางเพราะมันจะไม่วางจริงจะวางได้แต่คำพูดได้แต่รูปข้างนอกส่วนข้างในใจนั้นยังคงร้อนรุ่มเพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกล้างไป แม้จะกดข่มด้วยสมถะแต่ถ้าโดนยั่วต้องใกล้ชิดหรือเจอผัสสะที่แรงมากๆก็จะกดไม่ไหวสติแตกไปได้

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย กิเลสนั้นมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ถ้าเราไม่ฉลาดในการค้นหาต้นตอของกิเลสก็ไม่มีวันที่จะรักษาโรคร้ายนี้หาย มันจะยังคงแพร่เชื้อลุกลามทำลายร่างกายและจิตใจของเราไปเรื่อยๆเราต้องค้นให้เจอว่าเราไปยึดไว้เพราะอะไร จึงจะสามารถทำลายความยึดนั้นได้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ การจะดับทุกข์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย

3.3).วิปัสสนา…พิจารณากิเลส

ทีนี้มาถึงขั้นตอนพิจารณา การวิปัสสนานั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะหลักการพิจารณาจะปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสนั้นๆ บางเรื่องต้องหนักในเรื่องกรรม บางเรื่องต้องหนักในเรื่องไม่เที่ยง และในระดับต่างกันของกิเลสตัวเดียวกันก็ใช้การพิจารณาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าควรใช้ธรรมใดมากกว่าธรรมใดและใช้ธรรมไหนจึงจะเหมาะสม แต่ผู้พิจารณาควรรู้ด้วยตนเองว่าเรานั้นยึดติดในมุมใดมากก็ใช้ธรรมข้อนั้นแหละมาแก้กิเลสตัวนั้น คือการใช้ธรรมแก้ปัญหาให้ถูกจุด เหมือนกับการให้ยากำจัดเชื้อโรคร้ายที่ถูกตัวถูกตนโดยไม่มีผลกระทบไปถึงส่วนที่ดีอื่นๆในร่างกาย

หลังจากที่เราจับโจรหรือจับตัวกิเลสได้แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกิเลสหรือการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลส โดยใช้หลักไตรลักษณ์ คือความทุกข์ของการมีกิเลสนั้นว่าถ้าเรายังมีกิเลสมันจะทุกข์อย่างไร ความไม่เที่ยงของกิเลสนั้นว่ามันไม่เที่ยงไปทางใดกิเลสมันเพิ่มหรือมันลด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแล้วมันเกิดใหม่อย่างไร ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นว่าแท้จริงแล้วกิเลสนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา กิเลสเป็นเพียงแขกที่แวะเข้ามาในบ้านเราแล้วยึดบ้านเราเป็นสมบัติของมันแล้วยังใช้เราให้ทำงานหาสิ่งของมาบำเรอกิเลส และด้วยความหลงผิดไปในบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารับใช้กิเลสด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ทั้งๆที่กิเลสไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตเรา

หลักการต่อมาคือการพิจารณาประโยชน์และโทษของกิเลส ว่าหากเราออกจากกิเลสนี้หรือทำลายกิเลสนี้เสียจะเกิดประโยชน์ใดบ้างในชีวิตเรา และหากว่าเรายังยึดมั่นในกิเลสนี้อยู่เรายังจะต้องรับทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียใดอีกที่จะเข้ามาในชีวิตเราในอนาคต จะสร้างภาระ สร้างความลำบากให้แก่เราอย่างไรบ้าง

และพิจารณาไปถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม ให้เข้าใจก่อนว่ากิเลสนี้คือผลของกิเลสที่สั่งสมมาในชาติก่อนๆส่วนหนึ่งและในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำลายได้เพียงแค่คิด แต่การพิจารณาไปถึงกรรมข้างหน้าที่จะต้องรับก็จะสามารถช่วยคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นในตอนนี้ยังทำลายยากขนาดนี้ แล้วถ้าเราสะสมกิเลสมากเข้าไปอีกจะยากขนาดไหน แล้วยังมีผลกรรมที่จะเกิดจากการที่เราตามใจกิเลสนี้อีกมากมายในอนาคตที่เราต้องรับไว้ ต้องแบกไว้ เช่นหากเรายังคงเอาแต่ใจตัวเอง เราก็มักจะต้องแพ้ทางให้กับคนที่เอาใจเก่งแต่ไม่จริงใจอยู่เรื่อยไป เพราะเราหลงติดในความเสพสมใจในอัตตา พอมีคนมาสนองอัตตาได้ก็ยอมเขา สุดท้ายพอโดนพรากไปก็ต้องทุกข์ใจ

3.4).ตั้งศีล

วิธีที่จะเข้าถึงการปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คิดเอา แต่ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพียงแค่เราตั้งศีลหรือตั้งตบะไว้ง่ายๆว่าเราจะไม่หวั่นไหวในเรื่องเขา แล้วลองเปิดรูปเก่าๆ เปิดดูข้อความเก่า ค้นอดีตทั้งดีและร้ายทั้งหมดที่มี ถ้าอดีตยังเฉยๆอยู่ก็ลองจินตนาการอนาคตไปเลยว่าถ้าเขากลับมา ถ้าเขามาง้อ ถ้าเขาไปแต่งงาน หรือถ้าเขาตายเราจะหวั่นไหวหรือไม่การตรวจเวทนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันนี้เป็นการตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นไปเพื่อการล้างกิเลสเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติธรรม แม้ลมหายใจขัดเสี้ยวหนึ่งก็รู้สึกตัวแล้ว แม้กลืนน้ำลายก็รู้สึกตัว แม้จิตขุ่นเคืองก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองต้องใช้การฝึกสังเกตตัวเองให้มาก ผู้ฝึกสมถะมามากจะค่อนข้างรับรู้ได้ดีในการกระเพื่อมของจิตโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นตัวสะท้อนของใจ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเรายังหวั่นไหว เป็นเพราะเรามีกิเลส ก็ให้เราขุดค้นหารากของกิเลสดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และพิจารณาไปตามธรรมที่ควรแก่กิเลสนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วจะค่อยๆ เจอกิเลสที่แอบอยู่ในซอกหลืบลึกไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะเจอแค่ตัวหยาบ พอพิจารณาได้ผลสำเร็จไปก็เหมือนกับผ่านไปด่านหนึ่งก็จะเจอด่านใหม่ไปเรื่อย ซึ่งต้องอาศัยผัสสะที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จากดูรูปเก่า คิดถึงวันเก่า อาจจะต้องลองจินตนาการถึงการพบเจอ หรือถ้ามีโอกาสเจอกันก็ไปเจอไปทดสอบดูว่าเรายังเหลืออาการอะไรอีกไหม ซึ่งการทดสอบเหล่านี้อาจจะพลาดได้ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยตรวจสอบ เพราะบางทีอัตตามันจะบังไม่ให้เราเห็นกิเลส ทั้งนี้กัลยาณมิตรควรมีธรรมระดับหนึ่ง ไม่ลำเอียงเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ให้มองตามความเป็นจริง

…สรุป

การวิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนี้ ถ้าเพียรพิจารณาจนรู้ว่าคลายกิเลสได้จริง จะมีลักษณะอาการเป็นไปตามวิปัสสนาญาณ ๑๖ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทำลายกิเลสแต่ละตัวนั้นจะมีขั้นตอนไปตามญาณเหล่านั้น เปลี่ยนกิเลสตัวใหม่ก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ความแตกต่างของสมถะกับวิปัสสนาคือสมถะจะได้อย่างมากแค่ “เคหะสิทตอุเบกขา” ซึ่งเป็นการวางเฉยอย่างทั่วไป แบบไม่ได้ใส่ใจ แบบไม่มีปัญญา แต่การวิปัสสนาจะได้ผลสูงสุดคือ “เนกขัมมสิตอุเบกขา” คือการอุเบกขาอย่างผู้รู้แจ้ง ที่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการขัดเกลากิเลสจนเกิดผลเป็นสภาวะอุเบกขาแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะอุเบกขาเหมือนกันแต่การรับรู้ภายในต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

10.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,174 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์