Tag: นรก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,137 views 0

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

นักสะสม ผู้ยึดติดกับโลก

การมี การได้รับ การได้ครอบครอง หรือการได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นได้ความรู้สึกสุขก็จะยึดมันไว้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสะสม

นักสะสมนั้นสามารถสะสมได้ตั้งแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรมจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เรียกได้ว่าติดสุขในอะไรก็มักจะสะสมสิ่งนั้น และสิ่งที่เราทุกคนนิยมสะสมกันมากที่สุดก็คือการสะสม “กิเลส

กิเลสเป็นพลังที่พาให้คนหลงไปในสุขลวงในมุมที่แตกต่างกัน บางคนไปสุขกับการสะสมสิ่งของ บางคนสุขกับการสั่งสมคนรัก บางคนสุขกับการได้รับคำสรรเสริญเยินยอ เมื่อได้รับสิ่งใดก็จะยิ่งอยากได้รับสิ่งนั้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นคนที่กระหายใคร่อยากจะเสพในสิ่งที่ตนหลงรักและชอบใจ

การสะสมกิเลสนั้นง่าย มีคนเก่งในการสะสมกิเลสมากมาย ยิ่งสนองกิเลสตนเองและกระตุ้นกิเลสผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ก็มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ เป็นคนที่มีคุณค่าต่อโลก ฯลฯ

ต่างจากการเลิกสะสมกิเลส การลดกิเลส การละกิเลส การทำลายกิเลส เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก แม้จะเห็นแต่ก็ไม่ใยดี ไม่ยินดีที่จะลดกิเลส เพราะเข้าใจว่าการสะสมกิเลสมันได้สุขมากกว่า

ถึงแม้จะสนใจก็ใช่ว่าจะหาคนที่พาลดกิเลสได้ง่ายนัก เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสของกิเลสที่เชี่ยวกราก ยากแท้จะหาผู้ใดที่สามารถจะทวนกระแสของกิเลสนั้นได้ และยากยิ่งกว่าคือการจะพาตัวเองออกจากกระแสของกิเลสไปเจอคนเหล่านั้น จึงได้แต่ปล่อยให้ชีวิตลอยไปตามกระแสของกิเลส สนองกิเลส สะสมกิเลส เสพสุขอยู่ในโลกอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเสพสุขอยู่แต่เรื่องโลก ไม่ว่าจะในระดับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม หรืออัตตา ต่างก็ล้วนสร้างความยึดมั่นที่ตรึงตนเองให้อยู่ในโลกมากขึ้น แม้จะต้องทนทุกข์จากกิเลส แต่ก็จะหลงมัวเมาจนไม่สามารถมองเห็นกิเลสได้ เหมือนกับปลาที่อยู่ในน้ำย่อมหมายเอาว่าแม่น้ำนั้นแหละคือที่อาศัยของมัน และโลกเหนือน้ำไม่มีอยู่จริง ถึงจะมีจริงก็อยู่ไม่ได้

แท้จริงแล้วกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ยึดเราไว้กับโลก ยิ่งเราสะสมกิเลสมากเท่าไหร่ แรงยึด แรงที่ดูดดึงไว้กับเรื่องโลกก็จะมากเท่านั้น ดังนั้นการจะพยายามทวนกระแสโลก การจะออกจากโลก จนกระทั่งการจะอยู่เหนือโลกที่เรียกกันว่า “โลกุตระ” นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ในวิสัยของนักสะสม

กิเลสจะบังตาของนักสะสมไว้ เรียกว่าเห็นก็ไม่ได้ ถึงเห็นก็ไม่รู้ ถึงรู้ก็ไม่เข้าใจ ถึงเข้าใจก็เป็นเพียงตรรกะหรือคำบอกเล่าที่ยินได้ฟังมา

แม้จะพยายามยอมตัดใจเลิกสะสม แต่กิเลสก็มักจะเหนี่ยวรั้งไว้ ถึงจะเลิกอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ถึงจะบังคับข่มใจอย่างไรก็จะมีแต่ความทรมานที่กิเลสมอบให้ บังคับให้นักสะสมเหล่านั้นกลับไปเสพด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ

ดังนั้นการสะสมจึงกลายเป็นนรกที่ตนเองสร้างไว้ขังตัวเอง ยึดสะสมมากก็ยิ่งลึกมาก ยิ่งปีนขึ้นมายาก ต่อให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถขนาดไหน ต่อให้ได้ปริญญาเอกเป็นร้อยใบ ต่อให้ได้ชื่อว่าฉลาดรอบรู้และเป็นที่ยอมรับในสังคม ต่อให้เป็นนักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมที่เคร่งศีล ต่อให้นักรบที่ว่าแน่แค่ไหน ผ่านความเจ็บปวดความเสี่ยงตายมาเท่าไร แต่ถ้าไม่ได้เรียนวิชาล้างกิเลสก็จะไม่สามารถหลุดออกจากห้วงนรกของการสะสมกิเลสที่ลึกสุดลึกได้

นรกของนักสะสมจึงกลายเป็นหลุมดำที่คอยดูดคนที่หลงสุขลวงเข้าไปเสพสุข กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มั่วกาม เมาอบาย บ้าอัตตา จึงกลายเป็นนรกที่ต้องเผชิญไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตที่หลงเข้าใจว่าเป็นความสุขแท้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,017 views 0

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

ในปัจจุบันนี้การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะต่างๆไปว่าจะเป็นการซื้อทอง ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ที่หวังผลเก็งกำไรนั้น เป็นกิจกรรมที่เห็นและยอมรับได้โดยทั่วไปในสังคม

ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนอื่นๆในปัจจุบันนั้นจะเป็นลักษณะของการพนันแบบชัดเจน แต่ผู้ที่สนใจและหลงไปกับการลงทุนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเหตุผลมากมายมาค้านแย้งได้ว่าการเล่นหุ้นของตนไม่ใช่การพนัน ไม่ใช่อบายมุขมีอีกมากมายหลายล้านเหตุผลที่จะบอกว่าการเล่นหุ้นไม่ผิด สังคมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป

ในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ มาตรฐานของศีลธรรมก็มักจะตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เคยเป็นกงจักรก็กลายเป็นดอกบัว และในอนาคตกงจักรที่เราเห็นในปัจจุบันก็จะค่อยๆกลายเป็นดอกบัวเช่นกัน เหตุนั้นเพราะอะไร? นั่นเพราะความเสื่อมจากศีลธรรมของคน เมื่อคนเสื่อมก็ไม่มีความรู้มาแยกแยะดีชั่ว อันไหนบาปอันไหนบุญ แต่ความหลงผิด หลงติด หลงยึดในตัวตนนั่นเองที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ากงจักรเป็นดอกบัว เรามักจะถูกล่อด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเหมือนน้ำผึ้งที่เคลือบอยู่บนใบมีดโกน

ความฉลาดของกิเลส

กิเลสนี่มันร้ายสุดร้าย มันฉลาดกว่าเราเยอะ แม้เราจะ IQ180 ก็ตาม แต่กิเลสมักจะล้ำหน้าเราไปเสมอ เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นและการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันจะแสวงหาเหตุผลให้เราไปเล่นหุ้น ให้เราลงทุน มันจะมีเหตุผลอ้างอิงมากมายเพื่อใช้หักล้างศีลธรรม ทำลายศีลธรรมทิ้งเพื่อเสพกิเลส กิเลสนี่มันคือนักสร้างเหตุผลที่ทำให้เราหลงไปจมอยู่ในนรกได้อย่างรู้สึกเป็นสุข เราก็รู้สึกเป็นสุขจริงๆตามที่กิเลสนั้นส่งพลังให้นะ แต่เวลาทุกข์จากความเสียหายหรือเครียดจากการลงทุนนี่กิเลสมันไม่ทุกข์ด้วยนะ แต่มันก็จะเป่าหูให้เราลงทุนต่อ ศึกษาต่อ หลงวนเวียนต่อ เหล่านี้คือพลังของกิเลส จะเรียนรู้มาแค่ไหน เกียรตินิยม จบเมืองนอก ปริญญาเอก ศาสตราจารย์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน เถ้าแก่พันล้าน ฯลฯ ต่างก็แพ้ให้กิเลสทั้งนั้น

จริงๆจะว่าไปมันก็โลภตั้งแต่คิดจะเข้าไปลงทุนแล้ว ความโลภนี่แหละผลักดันให้เราสนใจ ให้เราขยับมือ ขยับขา ขยับปากเข้าไปสู่โลกแห่งการลงทุน กิเลสมันจูงเราเข้าไปตั้งแต่แรกแล้วเราก็ยังไม่รู้ตัว แล้วตอนที่หลงวนเวียนอยู่ในนรกแห่งการลงทุนจะไปเหลืออะไร มันก็มืดบอดเท่านั้นเอง มองกิเลสดีไปหมด มองการลงทุนดีไปหมด

แล้วยังมีการหลงไปด้วยนะว่าถ้ารวยแล้วจะเอาเงินมาทำกุศล นี่กิเลสมันหลอกซ้อนไว้แบบนี้ มันเอาความดีมาล่อให้ทำบาป ดูซิกิเลสมันแผนซ้อนแผนมันฉลาดขนาดไหน

เล่นหุ้นอย่างไม่โลภ

มีหลายความคิดเห็นได้เสนอว่าก็เล่นหุ้นอย่างไม่โลภสิ เล่นแบบเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องความโลภนี่มันไม่เข้าใครออกใคร บางคนก็ว่าโลภน้อยไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้วไม่โลภเลยมันจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจริงๆเราโลภมากโลภน้อย เพราะถ้าวัดจากสังคมส่วนใหญ่มันอาจจะผิดเพี้ยนไปก็ได้

ถ้าบอกว่าไม่โลภเลยนี่มันต้องลงทุนให้ได้กำไรเท่ากับศูนย์หรือติดลบนะ เพราะไม่มีความโลภจึงไม่มีความคิดจะเอาเลย มีแต่ใจที่อยากสนับสนุนกิจการ อยากสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันความเจริญ เอาแบบเท่าทุนกับขาดทุนเลยนะ อย่าไปเอากำไร เพราะถ้าคิดถึงกำไรแม้แต่สลึงเดียวนี่ใจมันก็โลภแล้ว พอโลภมันก็เป็นบาปแล้ว แถมกิจกรรมที่โลภนี่มันก็อบายมุข เงินมากเงินน้อยไม่สำคัญเท่ากับจิตที่โลภ

หรือแม้แต่การออมนี่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเก็บสะสมนะ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เดี๋ยวนี้เราหลงประเด็นกันไปว่าการออมต้องมีเงินงอกเงย จริงๆเก็บออมคือเก็บไว้ใช้เท่านั้น เรื่องการงอกเงยนี่มันคือกิเลสมันงอกออกมาทีหลัง บางธุรกิจบางองค์กรเขาก็เสนอมาว่า ถ้ามาฝากเงินกับเขา เขาก็จะให้ดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้แต่ละที่เขาก็ไม่ได้ให้เท่ากันเสมอไป เราก็จะเลือกที่ให้มากที่สุด นี่ความโลภมันเกิดแล้วเห็นไหม แล้วเงินที่เขาเอาจากเราไปเขาก็ไม่เอาไปเก็บไว้เฉยๆนะ เขาเอาไปปล่อยกู้ เอาไปขูดรีดเอากำไร เอาไปให้ธุรกิจต่างชาติกู้ยืมมาถล่มประเทศไทยอีกที หรือไม่ก็ให้ธุรกิจในไทยถล่มกันเองนี่แหละ ก็เบียดเบียนกันต่อไป นี่หรือคือการออม เขาเอาเงินน้อยๆมาล่อเราและเราก็เพิ่มกิเลส เพิ่มวิบากบาป มันเป็นการเก็บออมตรงไหน นี่มันการลงทุนในธุรกิจบาปแท้ๆเลย

พอไล่กันไปจนเริ่มจะจนมุมก็อาจจะยอมรับว่า “เออ!!..ฉันโลภ” จริงๆวิธีประชดประชันเหล่านี้มันก็มาจากเสียงของกิเลสเหมือนกัน ประมาณว่าปล่อยให้ฉันได้เสพกิเลสของฉันเถอะอย่าเอาศีลธรรมมาใกล้ฉันเลย ว่าแล้วก็เสพกิเลสต่อไป เห็นไหมว่าผีมันกลัวศีลจริงๆ ถ้าใช้ศีลนี่จะจับผีได้ ถ้าผีหนีไม่ได้ ผีจะทุกข์ร้อนทรมานเลยนะ ผีอะไร? ก็ผีขี้โลภนี้ยังไงละ

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผี เป็นคนโลภ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนักเลย ทางข้างหน้าของผีขี้โลภ หรือที่เรียกกันตรงๆว่า “ผีเปรต” นี่มันมีแต่นรก นรกนี้คือความเดือดเนื้อร้อนใจ มันเป็นผีในจิตของคนและมันก็เกิดนรกในจิตของคนนี่แหละ มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ หุ้นขึ้นก็ทุกข์เพราะจิตโลภอยากให้ขึ้นเยอะๆ หุ้นตกก็ทุกข์เพราะเสียดายทรัพย์ หุ้นขึ้นหุ้นลงก็สะสมกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหายแน่แท้จริงเชียว

เล่นหุ้นให้เป็นกุศล

จริงๆแล้ววิธีเล่นหุ้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล ให้เกิดความดีงามในชีวิตมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มันไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหรอก ที่อยู่ในตลาดหุ้นนี่ก็นรกเป็นส่วนใหญ่ นรกมาก นรกน้อยก็แตกต่างกันไปตามมิจฉาอาชีวะและมิจฉาวณิชชาที่กระทำอยู่

หุ้นที่เป็นกุศลเป็นความดี ที่ให้กำไรในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย มีแต่การลงทุนที่ได้ผลกำไรอย่างแน่นอน เรื่องขาดทุนนี่ไม่มีเลย ไม่ใช่ zero-sum game อย่างทั่วๆไป ไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนขาดทุน มีแต่คนได้กำไร

การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นคือการลงทุนไปกับสิ่งที่ดีงาม คือลงทุนกับคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสังคม คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ทำกุศล เสียสละเพื่อคนเป็นอันมาก นี่แหละคนหรือกลุ่มคนที่ควรจะลงทุน เป็นเนื้อนาบุญที่หาได้ยาก

ถ้าเราไปลงทุนกับคนที่ถือศีล เป็นฤๅษีอยู่ป่า อยู่อย่างปลีกวิเวก เก็บตัวไม่อยู่กับโลก แม้จะเอาเงินหรือสิ่งของไปให้ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์มากมาย เมื่อไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ได้ผลแห่งการให้นั้นๆ ต้องแยกกันระหว่างบุญกับกุศล บุญคือจิตที่คิดสละ ในบทความนี้จะยกเรื่องบุญไว้ก่อน จะกล่าวกันแต่ในเรื่องของกุศลคือความดี และอานิสงส์คือประโยชน์ที่เกิด ดังเช่นที่ยกตัวอย่างมา เราไปทำกุศลกับคนที่ไม่ทำกุศล ประโยชน์ก็เกิดไม่มาก แม้ภาพจะสวย จะดูดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็เกิดกุศลน้อยอยู่ดี

ตัวอย่างถัดมา เป็นกรณีที่เราไปทำกุศลให้คนที่เราหลงคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ หลงว่าเป็นผู้บรรลุธรรม ตามที่เห็นได้ทั่วไปในข่าว อันนี้ไม่เป็นกุศล ถือว่าลงทุนผิด ไปลงทุนให้คนที่ปฏิบัติผิดทาง แล้วปัจจัยที่เราส่งเสริมไปเหล่านั้นก็ไปเสริมกิเลสเขา ให้เขาได้ทำชั่ว ได้เกิดความโลภ ใช้ปัจจัยเช่นเงินของเราไปบำรุงบำเรอกิเลสตน ซื้อของฟุ่มเฟือย สร้างของที่ไม่จำเป็น สร้างบริวาร หารายได้ บิดเบือนคำสอนของศาสนา เราต้องรับผลของการลงทุนที่ติดลบนี้ไปด้วย ในกรณีนี้จะขอยกไว้เป็นตัวอย่างในข้อยกเว้นสำหรับหัวข้อนี้

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนให้กับคนที่ปฏิบัติตัวดีทั่วไป ก็คือการส่งเสริมคนดีนี่เอง เห็นว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ส่งเสริมอุดหนุนเขา ให้เขามีโอกาสที่ดี ให้เขามีหน้าที่การงานที่ดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย”

นี่คือลักษณะของการลงทุนให้เกิดสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินหรือปัจจัยใดๆเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำการสนับสนุนอุ้มชูคนดีเท่าที่ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ทรมานจนเกินไป เห็นคนทำดีที่ไหนเราก็ไปช่วยสนับสนุนเขา เป็นกำลังให้เขา ปกป้องเขา แค่นี้ก็เป็นการลงทุนที่ดีแล้ว

ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนไปกับคนที่ปฏิบัติดี คนที่เสียสละตัวเองช่วยเหลือสังคม พาให้สังคมทำดี เกิดการสำนึกดีขึ้นในหมู่คณะ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเสียสละตนเอง ทิ้งความสุข ความสงบ ความสบายของตัวเองเพื่อทำงานให้กับสังคม ให้กับชุมชน ให้กับโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง เป็นดังเนื้อนาบุญที่สามารถสร้างกุศลให้เติบใหญ่ไม่มากก็น้อย

การเติบโตของการลงทุนนี้เป็นอย่างไร? เมื่อเราสนับสนุนคนดีที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตน หวังแต่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ เขาเหล่านั้นจะใช้ปัจจัยที่เราให้ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือการสนับสนุนต่างๆให้เป็นไปเพื่อผู้อื่น เมื่อคนเราคิดถึงแต่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่ปัญญาของเขาจะสามารถสร้างได้ และการไม่เห็นแก่ตัวนั้นเองก็เป็นปัญญาที่มากมายอยู่แล้ว

การเสียสละเงินเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องง่าย การเสียสละแรงงานเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีก็ยากขึ้นมาหน่อย การเสียสละเวลาเพื่อช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามก็เป็นเรื่องยาก แต่การเสียสละชีวิตเพื่ออนุเคราะห์สังคมและโลกเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก

ดังนั้นหากเราคิดจะลงทุนให้เกิดกุศล เกิดความดี เกิดประโยชน์แท้แก่ชีวิตเรา ก็ให้เลือกลงทุนให้ดี สนับสนุนคนดีให้ทำดี แต่อย่าประมาทในกุศลแม้น้อย แม้ว่าการเสียสละเงินจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนที่เสียสละแรงงาน เราก็ควรจะสนับสนุนให้เขาทำดี แม้จะเป็นความดีที่ไม่มาก แต่ก็วันหนึ่งก็อาจจะเติบโตเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ในกุศล ไม่ควรหยุดทำความดี ไม่ควรหยุดลงทุนให้กับผู้ทำความดี เพราะสิ่งเหล่านี้เองเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กำไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” ,”ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”,”ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”,”ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ”,”นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”

แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เราจะได้รับผลของกรรมดีที่เราทำ เราคิดแต่จะให้ เราก็มีแต่จะได้รับ เป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ

เห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราสามารถลงทุนได้โดยใช้กำลังหลายๆอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะแรงกาย หรือใช้ปัญญาก็สามารถลงทุนในหุ้นชีวิตเหล่านี้ได้ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่บาป ไม่ใช่การพนัน เป็นกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

25.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,309 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ชาตินี้ ชาติหน้า

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,602 views 0

ชาตินี้ ชาติหน้า

ชาตินี้ ชาติหน้า

คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน

อดีต…จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้

ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น

กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน

คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน

มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต

คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่

การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล

แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ

บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต

เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ

ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต

การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง

ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ

ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ

ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี

ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ

ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้

….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง

ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง

จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์