Tag: ความสุข

เป็นโสดสุขจริงหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 561 views 0

เป็นประเด็นที่หลายคนคงสงสัยและเคลือบแคลงใจ ว่าเอาอะไรมาพูดว่ามันเป็นสุข มันเป็นความสบาย ก็เป็นโสดอยู่ทุกวันไม่เห็นจะเป็นสุขอะไร?

ตอบขยายประเด็นนี้กันหน่อย การอยู่เป็นโสด จะสุขจริงก็ต่อเมื่อ ได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องจนพ้นความอยากมีคู่ไปแล้วเท่านั้น จึงจะสุขได้จริง เพราะไม่มีตัณหามาคอยเฆี่ยนตีให้เหนื่อยใจ

ถ้าคนปกติให้อยู่เป็นโสดนะ แค่เขาคิดก็ทุกข์แล้ว จะให้เขาตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสด เขาจะยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่ ยิ่งให้เขาตั้งจิตโสดไปทั้งชาติทุกชาตินี่เขาไม่เอาเลย วิ่งหนีเลย

ที่เขาไม่เอาเพราะถ้าอยู่เป็นโสดแล้วมันจะไม่ได้เสพทั้งกามทั้งอัตตา เพราะเขาหลงว่ารสกามรสอัตตานั้นเป็นสุข เขาเลยต้องเหลือเผื่อไว้เสพ เขาจะไม่ตัดรอบเป็นโสดสนิทถาวร มันจะมีช่องเหลือ ๆ เผื่อ ๆ ไว้ให้เสพ แม้เขาจะอยู่เป็นโสดได้ แต่จะมีข้อแม้ในการมีคู่เหลือไว้ ซึ่งเขาจะเปิดให้เฉพาะกับคนที่ถูกใจเขาเท่านั้น โดยทั่วไปอาจจะดูไม่ออกหรอก

แต่จะสามารถรู้ได้ด้วยการตั้งจิตปฏิบัติตนเป็นโสดนี่แหละ ว่ามันจะมีมุมหาคู่มุมไหนเหลืออยู่ในใจ ไม่ว่ายังไงร้อยทั้งร้อยมันจะออกอาการเมื่อกระทบสิ่งที่ถูกใจ ยิ่งตั้งใจปฏิบัติและอยู่ใกล้กับบัณฑิตที่เขาปฏิบัติตนเป็นโสดได้ดีแล้ว เขาจะมองออก มันจะมีอาการเฟ้อ ๆ เกิน ๆ ออกมาเสมอ ซึ่งก็จะได้ช่วยกันตรวจสอบว่าใช่ไม่ใช่อย่างไร ซึ่งกิเลสในเรื่องอยากมีคู่นี่มันแอบได้เนียนสุด ๆ ถ้าไม่ตั้งใจจริง ไม่รู้หรอกว่ามันเหลือเศษอะไรอยู่ คิดเอาเองก็ไม่ได้ เพราะตัวหลงมันจะหลอกให้เราคิดว่าไม่ใช่ ต้องอาศัยหมู่มิตรดีในการตรวจสอบ มันจะหลุดอาการหรือความเห็นผิดออกมาเอง

ทีนี้สภาพความเป็นสุขถาวรยั่งยืนนี่มันเป็นสิทธิพิเศษ สำหรับคนที่ปฏิบัติจนพ้นแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ฐานะทั่วไปที่จะเข้าถึงได้ง่าย ๆ ใช้เงินซื้อก็ไม่ได้ แค่คิดเอาก็เป็นไปไม่ได้ มันจะไม่สุขเหมือนภาคทฤษฎี

เพราะถ้ายังมีความอยากมีคู่อยู่ กิเลสมันจะเถียงทุกวัน มันจะหาทางไปมีคู่ตลอด คอยสอดส่อง คอยมองหา ฝันหา คะนึงหา สิ่งที่ใฝ่ฝัน มันจะยังเหลือฝัน เหลือความหวังอยู่ สิ่งเหล่านี้แหละคือทุกข์ เพราะจิตมันยังอยากเสพอยู่ จะให้เลิกเสพ มันจะไม่สุข

ดังนั้นจะให้คนทั่วไปเป็นโสดแล้วเป็นสุขจะเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับบอกคนที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ว่าไม่ดื่มไม่สูบสบายกว่า ประหยัดกว่า สุขภาพดีกว่า แต่เขาจะเลิกไม่ได้ เพราะเขาเสพติด ติดในรสสุขนั้น ๆ แม้ภาคทฤษฎีจะรู้ว่าเป็นโทษ ภัย ผลเสีย แต่เขาจะออกไม่ได้ เพราะเขาให้ราคารสสุขจากเสพนั้นมากกว่า จะให้เลิกตอนไหนเขาจะเป็นทุกข์ตอนนั้นแหละ แค่ไม่ได้เสพวันหนึ่งเขาก็ทุกข์แล้ว

ความเป็นโสดก็เช่นกัน ความโสดเป็นสถานะที่ดี ที่ควรปฏิบัติตนดำรงไว้ซึ่งความโสด ใครศึกษาธรรมะมาก็น่าจะพอได้รู้อยู่บ้างว่าพุทธนั้นยินดีในการไม่ผูกพัน แต่นั้นก็เป็นแค่ความรู้ ความจริงก็คือความจริง

ความจริงคือสภาพทุกข์ สุข ในใจที่เกิดขึ้นมา เป็นสภาพที่สะท้อนว่าเรายังมีความหลงอีกเท่าไหร่ ถ้าหลงมาก แล้วตั้งจิตโสดวันนี้ ก็จะทุกข์ทันทีที่ตั้งเลย ดีไม่ดีไม่ยอมตั้งใจอีกต่างหาก

แต่ก็ใช่ว่าจะต้องให้ทุกคนเข้าถึงสภาพนี้กันทั้งหมด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ คนที่ยินดีในธรรมนี้ก็จะเข้าถึงธรรมแบบนี้ คนไม่ยินดีเขาก็ไม่เอา มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนหันมายินดีในความเป็นโสด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่ามีศีล ๕ ตลอดชีวิตเสียอีก มันจะได้เฉพาะบางคน ได้เฉพาะบัณฑิตเท่านั้น

อย่างที่ผมขยันพิมพ์ ๆ เรื่องคนโสดคนคู่ ผมก็เผื่อเฉพาะคนที่ตั้งใจเท่านั้น ส่วนใครไม่สนใจก็เป็นเรื่องของเขา เพราะผมเชื่อว่าคนที่ตั้งใจก็มี แต่จะให้ประมาณธรรมให้เหมาะกับทุกกลุ่มนั้นมันเป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องเอาคนที่เข้าท่าไว้ก่อน ส่วนพวกที่เขายังไม่ยินดีปฏฺิบัติธรรม ก็ไม่ไปเผื่อเขาหรอก มันกว้างไป เหนื่อยไป เปลืองแรง เอาเฉพาะกลุ่มที่พอจะเข้าท่าดีกว่า

จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 614 views 0

ถาม จะเป็นโสดหรือมีคู่ ก็มีสุขทุกข์เหมือนกัน จริงหรือไม่?

ตอบ ไม่จริง

ในสมัยพุทธกาล เคยมีชาวบ้านมาเถียงพระพุทธเจ้าอยู่เหมือนกันในประเด็นนี้ ชาวบ้านมาอวดภูมิว่า ถึงแม้การมีความรักจะเป็นทุกข์ แต่ก็มีสุขอยู่

พระพุทธเจ้าท่านตอบเพียงว่า ความรักนั้นมีแต่ทุกข์ ไม่มีสุขอยู่เลย ชาวบ้านก็ยังเถียงอยู่เช่นนั้น สุดท้ายก็เดินหนีจากพระพุทธเจ้าไปถามความเห็นกลุ่มคนที่อยู่แถวนั้น คนกลุ่มนั้นก็เห็นด้วยกับชาวบ้านคนนั้น ก็เออออกันไปว่ารักนั้นมีทั้งสุขและทุกข์ซิ ถึงจะถูกต้อง

นั่นคือความเห็นผิดของผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ จะเห็นสภาพสองสภาพเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่มันไม่เหมือนกันเลย แต่เขาจะพยายามทำให้เหมือนกัน จะได้เป็นข้ออ้างว่า จะเป็นอะไรก็เหมือนกันนั่นแหละ ทำให้มันดูธรรมดา ให้มันดูเป็นธรรมชาติไป กลบเกลื่อน ๆ ไป ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา

ความรู้โลกีย์ก็แบบนี้ โสดก็ทุกข์แบบหนึ่ง มีคู่ก็ทุกข์แบบหนึ่ง แต่เขาไม่เข้าใจดีกรี หรือระดับของความทุกข์ที่แตกต่างกัน ก็เลยตีขลุมไปว่ามันคล้าย ๆ กัน

เพราะจริง ๆ มันไม่เหมือนกันเลย ในบทธรรมที่รู้กันโดยทั่วไปเช่น มีรัก 100 ก็ทุกข์ 100 มีรัก 1 ก็ทุกข์ 1 ไม่มีรักไม่ทุกข์เลย คนเขาจะไม่เข้าใจว่าถ้าไม่มีรัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก มันจะไม่ทุกข์อย่างไร

นี่คือสภาพของความลึกซึ้งของพุทธ ที่เดาเอาไม่ได้ รู้ตามได้ยาก เข้าถึงได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้น จะเอาความรู้โลก ๆ มาเถียง มันก็เหมือนชาวบ้านมาเถียงกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ แม้ตัวเองจะยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเองถูก แต่สุดท้ายมันจะไม่พ้นทุกข์ เพราะมีความคิดเห็นและปฏิบัติไปคนละทางกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

ในความเป็นจริงแล้ว การมีคู่นั้น จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมายมหาศาลยิ่งนัก มีเหตุให้กังวลระแวงหวั่นไหวมากกว่าการอยู่เป็นโสดมากมาย

จะยกตัวอย่างเช่น เอาแค่คู่ไม่พูดด้วยตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่มองหน้า ระหว่างคนที่มีคู่ กับคนโสดใครจะทุกข์กว่ากัน

หรือมีคนมาพูดไม่ถูกใจ ระหว่างคนคนนั้นเป็นเพื่อนทั่วไป กับคนนั้นเป็นคู่ครอง อันไหนเราจะมีอาการขุ่นเคืองใจมากกว่ากัน

จะสังเกตว่าคนคู่มักจะทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องที่คนอื่นเขาก็งงกันว่าเรื่องแค่นี้ต้องทะเลาะ ต้องงอน ต้องโกรธกัน นี่แหละคือความโง่ของคนคู่ที่มองไม่เห็นทุกข์ที่มากกว่าการอยู่เป็นโสด เพราะในความจริงมันทุกข์มากกว่า ส่วนความสุขนั้นไม่มีเลย

เพราะความสุขเหล่านั้นเกิดจากกิเลสปั้นขึ้นมาเมื่อได้เสพสมใจ เช่นเขาสวย เขาเอาใจ เขาดีกับเราแล้วสุขใจ ถ้าคนเสพติดตรงนี้เขาจะเป็นสุข แต่ถ้าคนไม่เสพติด ไม่มีตัณหา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่หลง เขาจะไม่เป็นสุข เพราะจริง ๆ มันไม่มีรสสุข แต่คนเขลาปั้นรสสุขขึ้นมาหลอกตัวเองและผู้อื่น คือกิเลสมันหลอกอยู่ ก็เหมือนที่ชาวบ้านเถียงพระพุทธเจ้านั่นแหละ ที่เขาเห็นว่าสุขเพราะเขาหลง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ามีแต่ทุกข์ เพราะท่านเห็นความจริงตามความเป็นจริง

มันก็ต่างกันแบบนี้นี่เอง ต่างกันที่ปัญญาในการมองเห็นทุกข์ สุข ในเหตุปัจจัยที่ต่างกัน

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,377 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

August 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,570 views 0

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี

สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี…

ความจริงข้อหนึ่งที่เป็นอมตะไปตลอดกาลนั่นก็คือ ความเป็นโสดนั้นคือสถานะที่สงบสุขที่สุด แต่ความจริงนี้กลับถูกบดบังไปด้วยความหลงผิด จนทำให้ความจริงเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ถึงกระนั้นความจริงก็ยังเป็นความจริง ความสุขที่สุดก็คือสุขที่สุดและมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

หากจะหาข้อดีที่สุดของความโสดที่ว่าสุขนั้น ก็คงจะต้องยกเรื่องของความไม่มีทุกข์ขึ้นมาว่ากัน เพราะความโสดนั้นไม่ต้องประสบทุกข์ใดๆ จากการมีคู่เลย ผู้ที่ล้างความอยากมีคู่ ล้างความหลงในสุขลวงได้จริงจะเห็นแต่ความทุกข์ในการมีคู่ นั่นหมายถึงการจะพ้นทุกข์เหล่านั้น ก็คือความเป็นโสด นั่นหมายความว่าการไม่ต้องทุกข์จากการมีคู่ก็สุขมากเกินพอแล้ว

แต่ความสุขจากความโสดกลับไม่ใช่สิ่งที่มีในโลกนี้ แต่เป็นเรื่องของโลกหน้า…. โลกนี้คืออะไร? โลกนี้ก็คือโลกที่ยังมีกิเลส ยังหลงสุข หลงติดหลงยึดในรสสุขของการมีคู่ ผู้ที่มีตัณหาและอุปาทานในการมีคู่ จะไม่สามารถหาความสุขของความโสดได้เลย เพราะเขาหลงว่าการมีคู่เป็นสุข เมื่ออยากได้อยากเสพการมีคู่แล้วไม่สมใจอยากก็ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นความโสดจึงเป็นทุกข์สำหรับชาวโลกีย์ เป็นเหมือนคำสาป เป็นเหมือนคุกเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความอยาก

โลกหน้าคืออะไร? โลกหน้าก็คือโลกที่พ้นไปจากกิเลส พ้นจากความอยาก พ้นจากความหลงติดหลงยึดในสุขลวง เกิดดวงตาเห็นธรรมว่าแท้จริงแล้วการมีคู่มีแต่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ดังนั้นความสุขในความโสดจึงมีเฉพาะผู้ที่เข้าถึงโลกหน้า คือโลกุตระ ไม่มีความเห็นเหมือนกับคนทั่วไป แตกต่างจากผู้คนทั่วไป

ถ้ามองในมุมโลกียะ ความสุขกว่าความโสดย่อมมีมากมาย ซึ่งหลายคนสามารถพิจารณาข้อเสียของความโสด ข้อดีของการมีคู่เพื่อเข้าถึงสุขลวงได้อย่างมีความสุขจริงๆ เกิดรสสุขจริงๆ แต่สุขนั้นไม่ใช่ของจริง มันเสื่อมสลายและเลือนหายได้ จึงเป็นความหลงในสุขลวงอย่างแท้จริง

ถ้ามองในมุมโลกุตระ ความสุขกว่าความโสดยอมไม่มี ซึ่งเราไม่สามารถพิจารณาถึงข้อดีของการที่เราจะไปมีคู่ได้เลย นึกไปก็เห็นแต่ข้อเสียมากมาย และเห็นแต่ข้อดีของความเป็นโสด เพราะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีความเต็มในตนเอง ไม่ขาดไม่พร่อง ไม่ต้องเรียกร้องโหยหา

หากเรายังไม่สามารถชำระล้างความอยากในการมีคู่ได้เราก็จะไม่เห็นความสุข ไม่เห็นคุณค่าใดๆในความโสด จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่

หากเราชำระความอยากในการมีคู่ได้ เราก็จะไม่เห็นว่าสุขลวงที่เคยมีเป็นความสุขอีกต่อไป เราจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นทุกข์แท้ๆที่เกิดขึ้นจากความผูกพัน เป็นบ่วงของกันและกัน และจะเป็นโสดด้วยจิตใจที่ยินดีเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วของกิเลสเหล่านั้น

ตามความเห็นทางโลกเขาก็จะสรรหาเหตุผลดีๆมากมายในการมีคู่ หาข้อยกเว้น หาข้ออ้างที่ดูดี เพื่อที่จะให้การมีคู่นั้นดูเป็นที่น่ายอมรับ เป็นที่น่าชื่นชม เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี เป็นคุณค่า เป็นตัวตน

ตามความเห็นทางธรรม ก็จะไม่พยายามแสวงหาเหตุผลใดๆมาค้านแย้งคุณค่าของความโสด เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสเกี่ยวกับโทษของการมีคู่ไว้มากมาย ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ในธรรมจึงไม่คิดจะต่อต้านความเห็นที่ว่าความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดสู่การพ้นทุกข์

…. จากที่ยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่า มุมมองของคนเรานั้นต่างกัน แต่ความแตกต่างนั้นมีเหตุ นั่นก็คือกิเลสเป็นเหตุของความแตกต่าง ผู้มีกิเลสจะมีความแตกต่างกันไปตามความหลงติดหลงยึดของแต่ละคน แต่ผู้ที่ล้างกิเลสในเรื่องคู่ได้นั้นจะมีความเห็นตรงกัน เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ขัดกัน นั่นเพราะการหลุดพ้นจากกิเลสนั้นมีรสเดียวกัน ใครที่สามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ก็จะรับรู้เหมือนกัน

ดังนั้น คำว่า “สุขกว่าโสด ในโลกนี้ไม่มี” จึงเป็นคำกำกวมที่ตีความได้ตามความเห็น ถ้ายังมีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ความสุขกว่าความโสดมันไม่มีจริงในโลก” แต่ถ้าไม่มีความอยากก็จะเข้าใจในแนวทางที่ว่า “ ในโลกนี้ไม่มีความสุขใดเท่าความโสดแล้ว

แต่ความจริงนั้นความโสดคือสถานะที่ดีที่สุดในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เราจะควรพิจารณาคุณค่าของความโสดเพื่อเข้าถึงประโยชน์นั้น และควรพิจารณาโทษ ภัย ผลเสียของการมีคู่เพื่อออกจากความหลงเสพหลงสุขนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

30.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)