Tag: การเพ่งโทษ

สวัสดีปีใหม่ ด้วยของขวัญจากปีเก่า

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 543 views 0

การจะมีปีใหม่ที่ดีนั้น การมีต้นทุนที่ดีจากปีเก่าก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เรียกว่า บุญเก่า, กุศลกรรมเก่า ตามที่ทำมา

ของขวัญจากปีเก่า เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากค่ายพระไตรปิฏกครั้งที่ 27 หลังจากที่ผมขึ้นสอบสภาวธรรม อาจารย์ได้ให้สิ่งที่สำคัญมาก ๆ กับชีวิตผม

ผมพูดในประเด็นเกี่ยวกับความไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยคน อจ. หมอเขียวได้สรุปให้ว่า…

ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่ศรัทธา จะสอนกันไม่ได้ คนเรามีจริตที่ต่างกัน ถ้าไม่ใช่ธาตุเดียวกันจะไปด้วยกันไม่ได้ อาจารย์ยกตัวอย่างว่าแม้จะเป็นเอกทัคคะ ก็ใช่ว่าจะสอนลูกศิษย์อีกสายให้บรรลุธรรมได้ คนเขาจะเลือกคนที่เป็นครูบาอาจารย์ของเขาเอง จะข้ามสายกันไม่ได้

เช้าวันต่อมา อาจารย์ยังสังเคราะห์เรื่องศรัทธาให้เพิ่มว่า คนที่ศรัทธา จะไม่ถือสา คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรผิดไปบ้าง คนที่ศรัทธาเขาจะไม่ถือสาเรานั่นเอง ส่วนคนที่เขาไม่ศรัทธาน่ะหรอ? ทำถูกก็ว่าทำผิด ทำดีก็ว่าทำไม่ดี เก่งแค่ไหนก็ห่วยในสายตาของเขานั่นแหละ

ผมได้ธรรมหมวดนี้แล้วเข้าใจทันทีเลย ว่าที่เราเสียพลังงานไปมากมายในแต่ก่อนนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไร คนที่เขาไม่ศรัทธานี่ไม่ใช่งานของเรานะ เราไม่ต้องขยันทำ เราเอาภาระแค่คนที่ศรัทธาเราก็พอ มันมีเพดาน มันมีข้อจำกัดที่ไม่มีวันจะฝ่าไปได้อยู่

แล้วศรัทธาแบบไหนล่ะ? ผมก็เอาศรัทธาที่ตัวเองมีกับอาจารย์มาวัดนี่แหละ ตลอดเวลาเกือบ 7 ปีที่รู้จักอาจารย์มา ผมไม่เคยรู้สึกว่ามีอาการเพ่งโทษถือสาใด ๆ เลย มีแต่การน้อมใจเอาประโยชน์ การปรับใจให้ไปตามในทิศที่ท่านสอน งานเพ่งโทษไม่ใช่งานของผม ไม่ใช่งานของคนที่จะปฏิบัติสู่ความผาสุก สรุป ถ้าได้ประมาณนี้ค่อยเอาภาระก็ได้ ไม่สาย

แล้วผมก็ไม่ได้รีบนะ ไม่ได้มีจิตคิดจะสั่งสอนใคร แบบศิษย์อาจารย์ ใครมาถามก็ตอบไปเท่าที่รู้ ไม่ได้คิดจะสร้างอะไร

แต่ก่อนก็ยอมรับว่ารีบไปบ้าง คือประเมินศรัทธาเขาพลาด ให้เครดิตเขามากไป ส่วนใหญ่ผมจะประเมินเขาสูงเกินความจริงทั้งนั้น มันก็เลยพลาด แต่ปัจจุบันนี่ ไม่ต้องกังวลเลย ใช้เวลากับธรรมะเป็นตัววัด คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในกาลเวลา คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในธรรม ดูกันไปนาน ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าว่า ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน

ผมก็จะใช้ความรู้จากของขวัญที่ได้มาจากปีก่อน ดำเนินชีวิตไปในปีใหม่ ผมเชื่อว่าปีใหม่จะเป็นปีที่ดีกว่าเดิม เพราะเราพัฒนาขึ้น รู้มากขึ้น โง่น้อยลง โจทย์จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่

สิ่งที่ได้รับมา เป็นกรรมฐานที่ทรงพลังมาก ๆ จนคิดว่าการดำเนินไปตามทางนี้แหละดี จะยิ่งได้ฝึกฝน ยิ่งได้บำเพ็ญ ที่สำคัญคือคนที่เข้ามาเกื้อกูลกัน จะเป็นคนจริงใจมากขึ้น และคนไม่จริงใจ จะกระเด็นออกไปเร็วยิ่งขึ้น นั่นก็ทำให้ปี 2563 นี้คงไม่ต้องมีเรื่องให้เมื่อยหัวมากนัก

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ ขอให้เป็นวันเริ่มต้นปีที่ดี ตั้งจิตตั้งใจที่จะทำสิ่งดี เพื่อเป็นต้นทุนสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน มั่นคง และถาวรกันครับ

ให้งดเนื้อสัตว์?

December 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,082 views 0

ผมไม่เคยบอกสักคำว่าทุกคนต้องงดเนื้อสัตว์ แค่นำเสนอข้อมูลไปแล้วให้ไปพิจารณาเอาเองว่าสมควรไหม? อย่างไร? แล้วก็เลือกกันเอาเอง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องลดเนื้อกินผักทีไร มีชาวยัดเยียดมาใส่ยศ “สาวกพระเทวทัต” กันทุกทีเลย ผมว่าพวกเขาน่าจะมีปัญหาในการจับใจความและการสรุปความนะ เป็นปัญหาใหญ่ในการสื่อสารเลย

มีบางคนบอกว่าผมพยายามให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ …แต่ผมว่าไม่นะ แค่เผยแพร่ความรู้ไปเท่านั้นแหละ มีของดีเราก็แจกจ่ายกันไป ทำไมต้องโง่ไปหวังผลด้วยล่ะว่ามันจะเกิดดีหรือไม่ดี แค่ทำดีก็พอแล้ว

…ผมไม่เห็นรู้สึกเดือดร้อนเลย ถ้าจะใครกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ใครอยากกินก็กิน ไม่อยากก็ไม่ต้องกิน ทุกคนก็รับผิดชอบกรรมของตัวเองไป ทำไมต้องไปเดือดร้อนแทนคนอื่น??

ส่วนคนที่คิดจะมาศึกษาธรรมะ ผมจะบอกว่าถ้าแค่ฐานกินเนื้อสัตว์ ยังทำความเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นโทษอย่างไร ไอ้ที่ยากกว่าเช่น กินจืด กินมื้อเดียว โสด ทำงานฟรี ฯลฯ นี่คุณจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

ธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบังคับกันนะ แต่จะเป็นไปตามฐานของแต่ละคน คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ ทำได้ก็ได้ คนที่เบื้องต้นยังไม่ได้ก็หัดขั้นต้นไปก่อน อย่าไปลัดเอาเบื้องปลาย มันไม่มีหรอก มันเฉโกเท่านั้นแหละ

สุดท้ายผมล่ะสงสารคนที่เห็นผิดจับใจ แค่เข้ามาข่มก็สร้างวิบากให้ตัวเองมากพอแล้ว ไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าถิ่นนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน บางทีอัตตามันหนา พกความมั่นใจมาเต็มที่สุดท้ายได้กลับบ้านไปคือชั่วกับซวย…คุ้มไหมเนี่ย

………..

ลักษณะที่เจอส่วนใหญ่ คนจะเข้ามาพร้อมชุดความคิดที่สรุปมาแล้ว ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ฉันเห็นอย่างนั้น ไม่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันหรอก แค่อยากจะมาสรุปว่าฉันเห็นของฉันแบบนี้ ของเธอผิดและของฉันถูก

บางทีเรื่องที่เอามากล่าวหาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทความก็มี ไม่รู้ไปสุมไฟแค้นมาจากไหน ประเด็นมากมายปนกันมั่วไปหมด หลุดประเด็นหลักมาสร้างประเด็นใหม่ก็มีเหมือนกัน

ทำไมมันต้องเป็นอย่างที่เห็นแล้วเข้าใจด้วยล่ะ สิ่งที่เห็นและเข้าใจมันจะต้องถูกต้องเสมอไปเลยรื้อ~ บางทีก็มาเดาใจกันไปว่าฝืนทน กดข่ม อยากให้คนอื่นเลิกกินเนื้อสัตว์ ฯลฯ มันก็เดากันไปไกล รู้จักคบคุ้นเคยคุยกันรึเปล่าก็ไม่ใช่

จะมาตัดสินกันด้วยเวลาอันสั้นนี่มันไม่ได้หรอกน้า มันต้องดูกันไปนานๆ ศึกษากันไปนานๆ พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลยว่าเรื่องศีลเรื่องปัญญาจะต้องดูกันนานๆ ไม่ใช่กาลเพียงชั่วครู่ คนมีปัญญารู้ได้ คนไม่มีปัญญาต่อให้นานแค่ไหนก็รู้ไม่ได้ … นี่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆละน้า

แต่นักรบ anti มังฯ เขาก็บุกโจมตีชาวมังฯ ไปเรื่อยๆนั่นแหละ ก็ไม่มีอะไรหรอก แค่ไปดีขวางหูขวางตา เขาก็เล่นเอาแล้ว ถ้าไม่ดีจริงเขาก็เล่นเราอีก แหม่ คนเราจะมาจับผิดอะไรคนอื่นกันนักกันหนา เรื่องตัวเองไม่ค้นหา ผิดชาวบ้านนี่ล่ะจับกันจังเลย

………..

หลังจากที่พิจารณาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ผมก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ และเป็นคำตอบที่แลกมาด้วยการเปื้อนซะเยอะเลย

การที่มีคนเข้ามาเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอันนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่มันเกิดจากสาเหตุกิเลสหยุมหยิมประการใดนั้นเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้มาก เลยพยายามหาคำตอบอยู่พักใหญ่

ก็ได้ข้อสรุปเป็นว่าเขาก็มาเสพให้สมใจนั่นแหละ อันนี้ภาพกว้างๆ คงไม่ขยายไว้ในที่นี้ คือมาเสพการได้แสดงออก การได้พูด ได้ข่ม ได้แสดงตัวตน ฯลฯ ซึ่งผมเคยคิดว่ามุมนี้เป็นมุมติดดีน่าจะพอแก้ไขกันได้ แต่จริงๆไม่ใช่เลยนะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หมายถึงถ้ามาแนวเพ่งโทษเมื่อไหร่ก็นั่นแหละคนพาล ซึ่งนี่มันเลวร้ายกว่าสภาพของการติดดีอีกนะ เพราะมันคือติดชั่ว อันนี้ที่ผมประเมินผิดไป

แล้วทีนี้มงคล 38 ข้อแรกท่านให้ห่างไกลคนพาล คือต้องห่างทั้งกาย วาจา ใจ เลย คืออย่าไปสาละวนอยู่กับคนพาล มันจะเปื้อน มันจะเละ และแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก

สรุปว่าถ้ามาแนวๆเพ่งโทษ นี่ก็ให้ปล่อยไปเลย ไม่ต้องข้องแวะ ถือเป็นมงคลในชีวิตครับ (ภาษาฝรั่งว่า don’t feed trolls )

พอรู้แล้วเลยมาแบ่งปันประสบการณ์ให้ร่วมเรียนรู้กันครับ

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,946 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,957 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์