ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล
การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ คลุกอยู่กับคนพาล
การปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นมงคลประการแรกจะเริ่มต้นด้วยการห่างไกลคนพาล
แต่ความเป็นคนพาลนั้นใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย จำเป็นต้องใช้ธรรมะในการจำแนกให้ชัดเจน ยิ่งเรามีธรรมะในใจ ล้างความพาลของตัวเองได้เท่าไหร่ เราจะเห็นพาลข้างนอกได้มากขึ้น คนมีศีล ๕ ก็จะเห็นความพาลของคนไม่มีศีล ๕ คนที่มีศีลสูงกว่า ก็จะเห็นความเห็นผิดของคนที่มีฐานต่ำกว่า คนที่สูงที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งตรัสรู้แรก ๆ เห็นความจริงทั้งหมดเลยว่าโลกนี้ไม่น่าสอนใครเลย คงจะเหนื่อยเปล่า แต่สุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสร้างศาสนา เพื่อสอนคนที่มีกิเลสเบาบาง job description ท่านสอนเท่านี้ ท่านไม่ได้สอนทั้งหมดในโลกนะ ขนาดพระพุทธเจ้ายังห่างไกลคนพาล คบ(สอน)คนที่ตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์เลย (บัณฑิต)
สมัยก่อนผมก็เคยพลาดคบคนพาล แบบพาเที่ยวพาผิดศีล เกเร เกเรียนทั่วไปก็เคยอยู่ แต่แบบนั้นก็ไม่ทำให้โง่หนักหนาเท่ากับไปพลาดคบคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต
คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต จะมาพร้อมกับความฉลาดทางโลก ความฉลาดในการสร้างโลกธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อล่าบริวาร ล่าอำนาจ ล่าทรัพย์ ฯลฯ
ตอนเราศึกษาธรรมใหม่ ๆ เราก็ไม่รู้อะไรมาก หยิบจับอะไรได้ก็อันนั้นแหละ แต่สุดท้ายนั่นแหละ มันเป็นพิษ มันเป็นกับดักที่พวกคนพาลวางไว้ เขาก็สร้างตัวตน สร้างชื่อเสียง ตลอดจนสร้างภาพว่าตนนั้นบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ คือชอบที่จะพยายามสื่อสารกำกวม ๆ แต่จะไม่ยอมให้ตรวจสอบ ถ้าไปถามจะปัดไปปัดมา เข้าถึงยาก พูดจาวกวน ฯลฯ เสียเวลาศึกษาผิด ๆ อยู่หลายปี แต่เสียเวลาอีกหลายปีกับการล้างสัญญาที่เรียนมาผิด ๆ เรียนมาผิดนี่ต้องล้าง เสียเวลา พาสับสนนะ ใช่ว่าดี เป็นสัญญาพาหลง เป็นความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์
ต่อมาก็มาเจอธรรมะสายความรัก วาทะสวยหรู แค่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีรักได้ รักอย่างมีสติก็มีรักได้ มีรักก็พาเจริญได้ โอโห้! โลกสวยขึ้นมาทันที ถูกใจกิเลสยิ่งนัก มิน่าทำไมเขาดังกัน ก็เพราะมันเอื้อให้เสพกิเลสนี่เอง แต่พอมาศึกษาของจริง วาทะที่กล่าวมานี่เป็นภพทั้งนั้นแหละ เป็นข้ออ้างไว้เสพกามเสพอัตตา คือเวลาคนจะเสพตามกิเลสเนี่ย เขาจะมีวิธีคิด มีวิธีพูดให้มันดูดี ให้ดูเท่ ให้ดูข่มคนอื่น ให้ดูหลุดพ้น จะได้เสพได้โดยไม่มีใครด่า ว่า นินทา ติเตียน ก็สร้างวาทกรรมแห่งอธรรมมามอมเมาตัวเองและคนอื่น อันนี้ผมก็หลงอยู่ปีสองปีเหมือนกัน เสียเวลามาก ขยะยังมีประโยชน์กว่า เพราะยังเอาไปรีไซเคิล ทำปุ๋ย ถมทะเลได้ ความเห็นผิดไม่มีค่าอะไรเลย
พวกคนพาลล้ำลึกนี่มันพาฉิบหายได้มาก คือพาให้เกิดความเห็นผิด จิตวิปลาศไปได้เลย เมาอยู่ในโลกนั้นแหละ แล้วหลงด้วยนะว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลิศ สิ่งดีกว่านี้ไม่มี สิ่งดีนี้ดีที่สุด เหมือนกับหนอนที่ยินดีในการจมอยู่ในกองขี้ กินอยู่ในกองขี้ เพื่อนเทวดามาทักให้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า กลับชวนเทวดามากินขี้ด้วยเสียอีก อะไรประมาณนี้
เรื่องแบบนี้มันจะหลุดได้ยาก เพราะจะถูกมอมเมาแบบมืดแปดด้าน วิบากจะบังแบบมิด ๆ เลย แต่ก็พอจะมีช่องที่แสงส่องมาบ้าง คือการถือศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น การหมั่นทำความดี กุศลจะดลให้เจอกับสัตบุรุษ แล้วจะได้ฟังสัจธรรม แล้วนำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ขออย่างเดียวอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว อวดดี อวดรู้ แบบนี้ก็จมอยู่กับกองขี้เหมือนเดิมนั่นแหละ เก่งสุดก็เป็นหนอนในกองขี้ ภูมิใจอยู่กับกองขี้ ยินดีกับชีวิตในกองขี้ ไม่มีทางรู้จักและพัฒนาไปมากกว่านั้นได้เลย
สุดท้ายแล้วความเป็นพาลในตนนี่แหละ คือสิ่งที่จะสกัดกั้นการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะฟังธรรมไปก็เพ่งโทษไป ศึกษาไปก็ข่มคนอื่นไป เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับโมฆะบุรุษในประเด็นที่ว่า เขาเหล่านั้นศึกษาธรรมไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็มีแต่เอาไว้ข่มชาวบ้าน กับเอาไว้กันคนมาติฉินนินทาเท่านั้นเอง
สรุปว่าใครก็ต้องเคยชั่วเคยพาลมาทั้งนั้นแหละ แต่จะพยายามออก พยายามแก้ไขรึเปล่าก็อีกเรื่อง ถ้าพยายามออก พยายามละ ก็เป็นคนดี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว“
คนพาลที่ฝังตัวอยู่ในหมู่คนดี
เรื่องนี้ก็เคยมีมาก่อน สมัยพุทธกาล คนพาลระดับตำนาน คือพระเทวทัตผู้มักใหญ่ใฝ่สูง แข่งกับพระพุทธเจ้ามาตลอด ปองร้ายพระพุทธเจ้ามาตลอด ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนา
ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักความเป็นพาลของพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นฉลาด รอบรู้ในการล่อลวง แสร้งทำ จนครั้งหนึ่งเคยล่อลวงพระที่บวชใหม่ให้เข้าไปศึกษาในสำนักตนเองได้ถึง 500 คน
พระเทวทัตก็ใช้องค์ประกอบของศาสนาที่มีอยู่นั่นแหละ ดัดนิด แปลงหน่อย ให้ดูน่าเชื่อถือ ให้ดูน่าเคารพ แล้วก็ล่อลวงคนให้หลงตาม
พระที่บวชใหม่ก็ยังไม่รู้วินัย ยังไม่รู้ทิศทาง ก็โดนโน้มน้าวได้ง่าย สุดท้ายก็หลงตามไป ทั้ง ๆ ที่บารมีของทั้ง 500 คนนั้น อยู่ในระดับฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี สภาวะเช่นนี้ก็คือบรรลุอรหันต์นั่นแหละ นี่ขนาดคนมีภูมิอรหันต์ยังโดนพระเทวทัตล่อลวงได้เลย ท่านมีวิบากที่เคยทำชั่วร่วมกันมา ท่านก็ต้องรับ
คนที่สอนและพากลับมาให้ถูกทางคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ไปพากลับมาด้วยการสอนธรรมจนเข้าใจ เพราะพระเทวทัตนั้นประมาท หลงตนเองว่าอัครสาวกทั้งสองมาเพราะศรัทธาในตน จึงหลีกไปนอนพัก ปล่อยให้สมณะทั้งสองเทศสอนคนไป สุดท้ายตื่นมาพบว่าทั้ง 500 ที่ได้ล่อลวงมาถูกพากลับไปหมดแล้ว ถึงกลับกระอักเลือด
….
แม้สมัยก่อนก็ยังร้ายขนาดนี้ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง แทรกซึมเข้ามาแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย เกาะอยู่ ทนอยู่ เหมือนมะเร็งในร่างกายนั่นแหละ ฝังอยู่ เป็นเนื้ออยู่ แต่ก็เป็นพิษภัยต่อร่างกาย ทำให้ตายได้
ความจริงทุกวันนี้ภาพใหญ่ในสังคมมันก็เกิดเป็นสภาพของพระเทวทัตอยู่แล้ว สำนักมากมายสอนกันไปตามที่ตนชอบใจ ล่าทรัพย์ ล่าบริวาร ล่าอำนาจ ส่วนใหญ่ก็แตกเป็นแบบนี้ทั้งนั้น
มันจะมีแทรกปนอยู่ทุกระยะ ตั้งแต่ภาพใหญ่ จนมาถึงภาพย่อย คือเข้ากลุ่มมาเพื่อแสวงหาอำนาจ มักใหญ่ ใฝ่สูง อวดดี ฯลฯ
แต่คนพาลพวกนี้เขาจะฉลาด เขาจะไม่แสดงความพาลตรง ๆ เขาจะทำดีไปตามขั้นพื้นฐาน ดีที่คนโลก ๆ ทั่วไปเขาจะขยันทำได้ แต่ดีที่เหนือดีนี่เขาจะไม่เอา คือเขาจะทำดีแบบไม่ลดกิเลส หมายถึงทำดีไปเพื่อแลกอำนาจ ทำดีไปก็เสพความเอาแต่ใจ ได้ดั่งใจ กินอร่อย ๆ สร้างอำนาจ วาสนา บารมี อยู่ในนั้นนั่นแหละ แต่จะให้ลดกิเลส ลดกาม ลดอัตตา เขาจะไม่เอาด้วย
เขาก็รอเวลาที่จะมีโอกาสเติบโต ถ้ามีโอกาสเดี๋ยวเขาก็จะขยับ เช่นพระเทวทัตก็ไม่ได้ออกลายตั้งแต่แรก ก็ใช้เวลาสะสมประสบการณ์ ทำดีสอดใส้ชั่วมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตายนั่นแหละ
ความมักใหญ่ใฝ่สูงจนล้นทะลักคือจุดเด่นอันหนึ่งของคนพาล ก็รู้กันว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะคืออัครสาวก คือสาวกที่เลิศยอด แต่เมื่อพระเทวทัตเห็นท่านทั้งสองมาในสำนักตน ก็เกิดจิตลามก ว่าท่านทั้งสองศรัทธาตน พร้อมกับบอกคนอื่นว่า นี่ไงท่านเหล่านั้นมาเพราะศรัทธาในธรรมของเรา
นี่เห็นไหมว่าจิตลามกเป็นอย่างไร มันจะไม่รู้ฐานะแบบนี้แหละ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครใหญ่ใครเล็ก เพราะคิดแต่ล่าบริวาร ล่าโลกธรรม แค่เห็นเขาเดินเข้ามาใจมันก็ลำพอง จิตมันก็เลยประมาท พอไม่รู้ว่าใครเป็นใครก็เลยประมาทอย่างนี้ สำคัญตนผิด ดูถูกผู้อื่น ยกตนข่มผู้อื่น คือจุดเด่นของคนมักใหญ่ใฝ่สูง
คนพาลพวกนี้มีแทรกอยู่ในทุกกลุ่มทุกองค์กรนั่นแหละ เป็นเชื้อมะเร็งร้าย คอยกัดกินทำลายร่างกาย แล้วก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ หรือตรวจกันได้ง่าย ๆ ยิ่งถ้าภูมิธรรมน้อย ๆ เข้ามาศึกษาใหม่ ๆ หรือคนที่ทำดีอย่างไม่เน้นธรรมะ หรือแม้แต่คนที่อยู่มานานแต่ไม่มีมรรคผล ก็จะดูไม่ออก
มันต้องใช้ตาทิพย์ คือตาของผู้ที่ล้างกิเลสได้โดยลำดับ พอล้างกิเลสเรื่องใดได้ มันจะได้ตาพิเศษในเรื่องนั้น อย่างอัครสาวกนี่ก็ล้างกิเลสได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว และยังละเอียดละออเป็นพิเศษด้วย ก็เลยเห็นความพาลชัดเจน จนเอาภาระ ไปพาพระบวชใหม่กลับมา
องค์กรใหนไม่มีคนที่เอาภาระอย่างพระสารีบุตรหรือพระโมคคัลลานะ ก็จะต้องเสียคนดีไปเรื่อย ๆ ก็ปล่อยคนพาลเสพสะสมพลังชั่วไปเรื่อย ๆ ทำลายจิตวิญญาณไปเรื่อย ๆ ถ้ามีอำนาจแล้วไม่แก้ไขนี่จะเป็นบาป อย่างพระโมคคัลลานะก็เคยดึงพระทุศีลออกจากองค์ประชุม อันนั้นท่านทำได้ถูกต้องตามฐานะ เป็นพระบวชใหม่ แม้จะมีภูมิสูง แม้จะรู้ ก็ไม่เหมาะที่จะทำ เพราะไม่เหมาะสมกับฐานะ ต้องให้รุ่นพี่ลุยก่อน ถ้าไม่มีคนทำจริง ๆ ถึงจะทำได้
อะไรที่มันชั่วช้า เบียดเบียน พาตกต่ำชัด ๆ เช่นถ้าผิดศีลชัด ๆ แล้วเนี่ย ก็คงต้องจัดการกัน จะปล่อยให้คนพาลอยู่สะสมอำนาจไปนาน ๆ มันจะปราบยาก พระพุทธเจ้าเปรียบคนทุศีลเหมือนหยากเยื่อ คือมันเหนียว แน่น หนึบ สกปรก รุงรัง เลอะเทอะไปหมด เอาออกไม่ได้ง่าย ๆ คนพาลที่มาฝังอยู่ก็เหมือนกัน ถ้าไปให้อาหารเขา ก็เหมือนคนเป็นมะเร็งแล้วไม่หยุดกินอาหารเสริมกำลังมะเร็ง มะเร็งมันก็จะโต เจ็บปวด เบียดเบียนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นมะเร็งแล้วหยุดให้อาหารมะเร็ง ทำตรงกันข้าม ก็จะพอทุเลาไปได้บ้าง แต่ถ้ามะเร็งนั้นมันใหญ่จนเบียดเบียนร่างกาย ก็อาจจะจำเป็นต้องตัดทิ้งเสีย แม้จะเสียหายบ้าง แต่ก็เจ็บปวดน้อยที่สุด
ช่วงบอกเล่า : บทความชุดคนพาล
เวลาที่ปรุงเรื่องอะไร มันก็มักจะมีประเด็นน่าสนใจงอกเงยขึ้นมาเรื่อย ๆ เรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะประสบการณ์เยอะ พอได้อ่านพระไตรปิฎก มันก็จะยิ่งชัดขึ้นอีก เพราะสิ่งที่เราได้เผชิญมา ก็ตรงกับพระพุทธเจ้าตรัสไว้ เราเอามาเทียบกันนี่มันก็ใช่เลย มันเป็นสิ่งดีที่ควรจะทบทวนและเผยแพร่นะ
บอกกันตรง ๆ ว่าเรื่องที่เตรียมไว้มีอีกหลายเรื่อง พิมพ์กันเป็นสิบวันก็คงไม่หมด เพราะเวลาอ่านพระไตรปิฎกนี่มันก็เพลิน เดี๋ยวไปสูตรนั้น เดี๋ยวไปสูตรนี้ เชื่อมโยง สอดคล้อง เรียบเรียงเข้ากับประสบการณ์ มันสนุกมาก
ถ้าติดตามกันไปต่อ จะมีบทที่ภาษาหนักขึ้นเรื่อย ๆ นี่ก็ยังเก็บไว้ก่อน เพราะเรื่องมันหนัก ก็เอาเรื่องเบา ๆ ผิว ๆ ตื้น ๆ ปูทางกันไปก่อน เพราะถ้ายกพระไตรปิฎกมาขยายกันนี่มันจะมัดคนพาลกันเลยทีเดียว
ชีวิตผมนี่พลาดพลั้งเพราะคนพาลมาหลายเรื่อง แต่ที่มาขยายกันได้ ไม่ใช่เพราะผมพลาด ผมพิมพ์ได้เยอะเพราะผมห่างไกลจากคนพาลได้ พอห่างไกลได้มันจะเห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ไปคลุกคลีใกล้ชิดความพาลนี่บางทีมันจะมีวิบากอะไรมาบัง มันจะไม่เห็น ต้องถอยห่างมาประมาณหนึ่งจึงจะเห็น
ถ้าใครพ้นจากคนพาลมาได้ถึงจะซึ้ง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเปรียบกับกิเลสว่า เหมือนเราตาบอดแล้วมีคนเอาผ้ามาให้ บอกว่าผ้าที่ให้นั้นสวยงามและมีคุณค่า เราก็หลงดีใจ ชื่นชม ซึ้งในน้ำใจของเขาที่ให้ของดีเรามา แต่ความจริงผ้านั้นเป็นผ้าเก่า สกปรกมอมแมม แต่คนตาบอดเขามองไม่เห็น เขาก็ไม่รู้
…พอเขาได้ผ่าตัดรักษาตา มองเห็นได้ เขาจึงพบว่าผ้านี้สกปรก ไม่งาม ก็คิดเอาว่าโดนหลอกมาตลอดเป็นยังไง คบคนพาลก็อย่างนั้นแหละ มันจะซาบซึ้งตอนได้ธรรมะมารักษาใจที่มืดบอดจนมองเห็นความจริงนี่แหละ เรียกว่าเจ็บจนจุกในใจเลยก็ว่าได้ หลงอวย หลงชื่นชมไปเยอะซะด้วย
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ผมนำมาพิมพ์กันมากมายในช่วงนี้ครับ
ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล?
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล
เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง คือไม่เข้าไปคบหาหรือคลุกคลีกับคนพาล
เพราะคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลังและยังชักนำให้เป็นไปในทางเสื่อม การเพ่งโทษของคนพาลคือ คบกันไป เดี๋ยวก็ชักนำให้ไปเพ่งโทษคนนั้นคนนี้ ดีไม่ดีสุดท้ายจะกลายมาเพ่งโทษถือสาเราเสียเอง การชักนำสู่ความเสื่อมคือ พาให้ผิดศีล ไม่สนับสนุนในการเพิ่มศีล ไม่เข้าหาธรรม พาหมกมุ่นอบายมุข ให้มัวเมาในกาม ให้หลงในอัตตา
ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของคนพาล ก็จะคลุกอยู่กับคนพาล นอกจากจะไม่พาพ้นทุกข์แล้ว เผลอ ๆ ยังไปติดธาตุแห่งความพาลเพิ่มขึ้นมาอีก
ดังนั้นอันดับแรกของการปฏิบัติตนสู่ความผาสุก คือห่างไกลคนพาลให้ได้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ก็เอาคนพาลที่เป็นบุคคลให้ชัดเจนก่อน
เพราะความพาลนี่มันแพร่กระจายได้ แทรกซึมได้ เลียนแบบกันได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห่างมาก่อน
แล้วมาคบบัณฑิตต่อ จึงจะดำเนินไปสู่ทางเจริญ ไม่คบบัณฑฺิตนี่ปิดประตูเจริญเลย เพราะธรรมในศาสนาพุทธเรียนรู้เองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมต้องเริ่มจากคบสัตบุรุษเท่านั้น
ผมใช้หลักนี้ในการคัดคนเป็นหลักเลย ใครที่เขาดูเหมือนจะดีนี่ต้องดูว่าเขาคบใครเป็นบัณฑิต เขาถือใครว่าบัณฑิต เขายกให้ใครใหญ่กว่าเขา หรือเขาถือว่าใครเป็นคนพาล เขาห่างไกลใคร ก็ต้องพิจารณากันไป เพราะสมัยนี้คนพาลมาแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเยอะ มันก็ต้องพิสูจน์
อย่างบางคนก็มีแต่ความอวดเก่ง แต่ไม่มีความจริง คือเก่งวาทะ อวดดี อวดรู้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โมฆะบุรุษนั้น เมื่อเรียนธรรม แม้จะรู้อยู่หลายสูตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเอาความรู้ธรรมนั้นไปดูถูก อวดเบ่ง อวดดี หรือไม่ก็เอาไว้กันคนมานินทาเท่านั้นเอง
ยกเว้นน้อยท่านที่จะมีภูมิเก่ามามาก ท่านเหล่านั้นจะแสดงกำลังให้เห็นทั้งนามทั้งรูปว่ามีของจริง ถ้าเราสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ได้เองว่าสู้ไม่ได้ เพราะรูปก็จะเหนือกว่า นามก็จะเหนือกว่าอย่างถูกสมมุติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างเช่นที่ผมแจกแจงธรรมะในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขาสัมมาทิฏฐิแต่ไม่มีภูมิเท่า เขาจะรู้ได้เองว่าเขาแจกขนาดนี้ไม่ได้ เขาไม่ละเอียดละออเท่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ชัดในสภาวะขนาดนี้ คนไม่รู้ธรรมจริงแจกสภาวะเป็นภาษาไม่ได้หรอก ให้แจกล่ะงงเป็นไก่ตาแตกเลย หรือไม่ก็พูดวน พูดมั่ว พูดไม่เต็มปาก ถ้าไม่เชื่อเอาหัวข้อที่ผมพิมพ์เด่น ๆ ไปขยายสิ เดี๋ยวผมจะติให้ เชื่อไหมว่าผมติเก่งกว่าผมพิมพ์อีกนะ เพราะตินี่มันง่าย หาจุดผิดนี่มันง่าย ยิ่งเราชัดในเรื่องไหน ๆ เราจะรู้จุดพลาดของเรื่องนั้น ๆ
เช่น ผมเผยแพร่ธรรมในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขายังหลงผัวหลงเมียอยู่ ถ้าเขามีความเห็นถูกอยู่บ้าง เขาจะไม่กล้ามาแสดงความเก่งให้เห็นเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยู่ในจุดด้อย น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก พูดมาก็โดนสวน ผมก็ถามง่าย ๆ กลับนั่นแหละ ทำไมยังอยู่กับคู่? ยังมีประโยชน์อะไร? มีอะไรติดใจ? ไม่มีประโยชน์ใหญ่กว่านี้ให้ทำหรอ? กตัญญูผัวเมียมันดีกว่ากตัญญูพ่อแม่ตรงไหน? ฯลฯ เชื่อไหม ถาม ๆ ไปถ้าคนไม่มีภูมิถึง เขาจะหลุด เขาจะตอบไม่ได้ แล้วเขาจะโกรธ แต่ผมไม่ถามหรอก เพราะคนมีปัญญาเขาไม่มาสู้กับเราตั้งแต่แต่แรกแล้ว เราจะไปเปลืองแรงกับคนไม่มีปัญญากันทำไม
ถ้าคนเหนือกว่าเขาจะโชว์ภูมิให้รู้จักกัน ก็ไม่ยากหรอก เดี๋ยวเขาจะแสดงเพลงกระบี่เดียวกันที่ล้ำลึกกว่าให้เราได้เห็นเอง คือที่เราทำได้ เขาก็จะทำให้ดู และจะแสดงสิ่งที่เราทำไม่ได้เพิ่มเติมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย คนที่เหนือกว่าเขาจะมีศิลปะในการแสดงตัวตนให้งดงาม หนักแน่น และน่าเลื่อมใส
ส่วนคนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้อะไรหรอก ดีไม่ดี พูดข่มเราเสียอีก สำคัญตนว่าเหนือกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ชัดเจน ก็มีเหมือนกัน
อันนี้เป็นมิติของคนพาลที่ล้ำลึกขึ้น คือเป็นคนพาล แต่แสร้งว่าเป็นบัณฑิต แสร้งว่าเป็นผู้รู้ เป็นกับดักที่ดักทั้งตัวเองทั้งคนอื่นไปในตัว
ดังนั้น ผมจึงใช้หลักนี้ในการประเมินข้อธรรม คนไม่เคยพบกัน ไม่เคยสัมผัสความจริงของกันและกันมันจะศึกษากันยาก เก่งสุดได้แค่สื่อภาษา การแจกแจงรายละเอียดนั่นแหละ คือการเผยให้ชัดเจนขึ้น บางทีมาเป็นข้อธรรม มาเป็นคำคม มันรู้ไม่ได้ชัด มันตรวจความจริงได้ยาก ว่าเป็นบัณฑิตจริงรึเปล่า เพราะจำมาก็มี เหมือนคำที่เขาว่า “พระใบลานเปล่า” รู้มากรู้หมดแต่เอาตัวไม่รอดก็มี
เพราะการจะศึกษา การจะช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูลกันนั้นต้องมีของจริง คือทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้จริง จะมีกำลังมาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงทำตนให้ได้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จะไม่มัวหมอง”
บางทีแจกมาก แต่เป็นลักษณะก็อบเกรด A ก็มีเหมือนกัน พูดเหมือนครูบาอาจารย์เป๊ะ ๆ แต่ลอกมาล่าโลกธรรม ก็มีเหมือนกัน ในกลุ่มปฏิบัติธรรมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
คนพาลจึงมีสองมิติใหญ่ ๆ คือพาลให้เห็นกันชัด ๆ กับแบบพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต แม้สองประเภทนี้ ก็ควรจะห่างไกลเข้าไว้ เพราะคบไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
แล้วจึงหาบัณฑิตจริง ๆ คบบัณฑิตที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ทำตนเองและได้ตามนั้นจริง บูชาบัณฑิตนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะทำให้พ้นภัยและพ้นทุกข์
จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมคือ ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต เอาที่เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา จริง ๆ นี่แหละ เพราะมันต้องอาศัยการพรากออกจากธาตุที่เลว และการศึกษาจากธาตุที่ดี จิตจึงจะเจริญได้ ต้องอาศัยรูปถึงจะเรียนรู้นามได้ ไม่ใช่นึกคิดหรือศึกษาด้นเดาเอาเองแล้วจะบรรลุได้