การปฏิบัติธรรม

ทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา

March 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 781 views 0

เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม คือข้อธรรมที่เผยแพร่เป็นที่รู้กันโดยมาก เนื้อหาสั้น ๆ เหมือนจะเข้าใจง่าย แต่จริง ๆ เข้าใจได้ยากมาก

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกิเลสมันจะบังไว้ไม่ให้เห็นธรรม จะมีก็แค่ได้เป็นทุกข์เท่านั้นเอง ถ้าไม่ชีวิตไม่เจอสัตบุรุษ ไม่มีทางเห็นธรรมแล้วพ้นทุกข์ได้เลย

คนทั่วไป เมื่อมีทุกข์จากความรัก เขาจะไม่สามารถย่อยทุกข์นั้นไปเพิ่มเป็นปัญญาได้ เขาทำได้แค่เปลี่ยนทุกข์นั้นเป็นตัณหา

เช่นเขาอกหัก ช้ำรัก เขาก็เอาความทุกข์นั้นแหละ เป็นพลังในการเปลี่ยนตัวเองให้น่าเสพมากขึ้น คือเอาไปเพิ่มกามเพิ่มอัตตา เพื่อที่จะได้เพิ่มกำลังในการล่อลวงหลอกใจคนให้หลงในตัวตนของเขามากขึ้น หรือไม่ก็ไปเพิ่มข้อเรียกร้องในการเลือกคู่ให้มากขึ้น กลัวมากขึ้น กังวลมากขึ้น หวังจะเสพสุขที่มากขึ้นจากความผิดหวังในความรัก

ถ้าไม่ไปเพิ่มฝั่งกาม คือฝั่งหาคู่ยิ่ง ๆ ขึ้น ก็เพิ่มฝั่งอัตตา คือยึดดี ยึดมั่นถือมั่น เกลียดความรัก ชังความรัก เหม็นความรัก เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือจริง ๆ ตัวเองต้องการเสพความรัก แต่มันเจ็บ แล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยกดไว้ด้วยความเกลียดชัง ยึดดีถือดี

คนโลกีย์เขาก็ทำได้แค่เท่านี้ ไปได้สองฝั่ง ไม่กามก็อัตตา นรกทั้งสองฝั่ง

ที่ว่าทุกข์จากความรัก คืออาหารของปัญญา นั้นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว เพื่อที่จะใช้ทุกข์นั้นเป็นตัวพิจารณาในการละหน่ายคลายจากความหลงรัก ใช้ทุกข์นั้นเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เข้าใจธรรมะ เข้าใจตามที่ครูบาอาจารย์ เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่มีรักเลย ไม่ทุกข์เลย คือสภาพจิตเช่นใด

มันจะเป็นปัญญาก็ตรงนี้ ตรงที่ใช้ประโยชน์ให้ถูก คือใช้ทุกข์มาเป็นเครื่องมือในการล้างโลภ โกรธ หลง ถ้าเอาทุกข์ไปใช้เพิ่ม โลภ โกรธ หลง อันนั้นจะกลายเป็นว่าทุกข์คืออาหารของตัณหา

แม้ทุกข์แบบเดียวกัน เกิดเหมือนกัน แต่จิตคนต่างกัน มีความเห็นความเข้าใจต่างกัน ก็จะปฏิบัติต่างกันไป

ดังนั้นเวลาศึกษาธรรมก็ระวังให้ดี ไปเจอคนมิจฉาทิฏฐิเรื่องความรักสอนธรรมนี่จะไปคนละทิศเลย คือไปทิศเพิ่มตัณหา เพิ่มปัญหา เพิ่มทุกข์ เพิ่มความเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

เป็นไปได้ไหมที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งทางโลกทางธรรม

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 698 views 0

ก็มีคำถามเข้ามาว่า ” เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม เพราะเท่าที่อ่านมาดูเหมือนจะยากมากๆ ที่จะมีความรักไปพร้อมกับการมีอิสระทางจิตวิญญาณ

ตอบ : เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคู่แล้วจะเจริญ แต่ความเจริญจะเกิดจากการพบสัตบุรุษ ยิ่งอิสระทางใจยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่นี่แหละคือห่วงที่ผูกไว้ให้ขาดอิสระ


คนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับตั้งแต่จิตอบายภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เกิดมาเป็นคนใหม่ ๆ ก็จะไม่มีปัญญานัก ถึงจะมีคู่ ก็จะผิดศีลเป็นปกติ นอกใจ นอกกาย อันนี้เป็นฐานของปุถุชน

เมื่อวนเกิดวนตายเรียนรู้โลกหลายต่อหลายล้านชาติ ได้เรียนธรรมะ จนจิตพัฒนาขึ้นมา เป็นคนดีขึ้นมาได้มากขึ้น ก็จะสามารถพอใจในการมีคู่เดียว ไม่นอกกายนอกใจ ปฏิบัติตนในกรอบของศีล ๕

คนจะต้องวนฝึกอยู่ในด่านนี้กันนาน กว่าจะเรียนรู้ทุกข์โทษภัยของการนอกใจ จนพัฒนาจิตให้มั่นคงในคู่ของตนได้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่การพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำแนะนำของสัตบุรุษ ที่แนะนำไปสู่ความเจริญและการมีศีล อย่างในกรณีของสมชีวิตสูตร(21,55) ก็มีสามีภรรยาสองคนมาถามวิธีที่จะได้เกิดมาพบกันอีกในชาติต่อ ๆ ไป พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าจะมาเจอกันอีกจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกัน และท่านยังสอนต่อไปว่าให้หมั่นดูแลภิกษุ สำรวมอยู่โดยธรรม พูดจาด้วยคำที่ดีต่อกัน รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์อยู่ในเทวโลก

คือกว่าคนจะมาถึงฐานศีล ๕ แบบเต็มใจนี่มันยากแสนยาก ยากแสนสาหัสที่จะไม่นอกกายนอกใจ คือต้องมีคุณธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใว้ จะต้องพัฒนากันมาช่วงหนึ่งก่อน เป็นเบื้องต้น คือมีผัวเดียวเมียเดียวให้ได้

คนส่วนใหญ่ที่เขาว่ารักพากันเจริญ เขาก็มุ่งเป้าหมายตรงนี้นี่แหละ จะเป็นผู้เสพกามอยู่ในสวรรค์ อยากจะมีสุขเจอกันนาน ๆ เจอกันตลอดไป

จะสรุปเบื้องต้นก่อนว่า คู่นี่พากันเจริญไม่ได้หรอก มีแต่พาเสพกัน เสพกามเสพอัตตา พากันดึงลงต่ำ แต่ความเจริญของคนคู่ จะเกิดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของสัตบุรุษแล้วปฏิบัติตาม จึงจะเจริญได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคู่แล้วพากันเจริญโดยไม่มีสัตบุรุษ เป็นไปไม่ได้

แต่…มันก็เป็นเพียงสถานีแรก คุณธรรมที่สูงกว่ายังมี ศีลที่สูงกว่ายังมี การมีคู่เดียว รักดี มีศีล รักกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช่ความเจริญสูงสุดของหลักศาสนาพุทธ แต่ก็ถือว่าเป็นความเจริญในเบื้องต้นที่มนุษย์ควรกระทำ

การแช่หรือจมอยู่ ไม่ใช่ลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การไม่มีอธิศีลหรือการไม่ตั้งจิตที่จะปฏิบัติไปสู่ความเจริญที่สูงกว่านั้น คือรูปรอยของความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร)

แม้สามีภรรยาคู่นั้นจะถามเพียงแค่ทำอย่างไรให้ได้เจอกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ได้แถมแผนที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นคือการหมั่นไปพบปะดูแลภิกษุหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (พระหรือฆราวาสที่มีอริยะธรรม) ถ้าหมั่นไปพบสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนทางเจริญให้เป็นลำดับ

ซึ่งต่อจากศีล ๕ ก็คือศีล ๘ ทางแยกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพราะจากศีล ๘ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นฐานที่ลดการเสพกามารมณ์ รวมถึงการลดความหลงในเรื่องคู่ด้วย

ถ้าจะสรุปเป็นภาพรวมตั้งแต่ต้นสายจนจบ การมีคู่แล้วพากันเจริญเพราะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเก่งก็จะมาส่งแค่หน้าประตูบ้าน ยังมีเส้นทางอีกไกลแสนไกลในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

เมื่อคนเจริญมากขึ้น ก็จะเริ่มละเรื่องคู่ ปฏิบัติตนเป็นโสด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนก่อนหน้านี้แม้การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียวได้จะเป็นความเจริญ แต่พอพัฒนาจิตต่อไป กลายเป็นว่าการมีคู่นั่นแหละคือความเสื่อม

อันนี้เป็นลำดับของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ควรส่งเสริมการมีคู่ เพราะในความจริงคือมันเป็นบาป ในสำหรับคนในฐานอบายภูมิ คนที่เกิดมาจากเดรัจฉาน การที่เขาสามารถที่จะพัฒนาจิตให้ตนไม่นอกใจคู่ได้นั้น มันเป็นบุญ

แต่บุญเป็นของที่ชำระกิเลสแล้วก็จบงานไป เหมือนทิชชู่เอาไปเช็ดสิ่งสกปรกแล้วก็ต้องทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งสะสม ทีนี้พอเช็ดการนอกใจออกไปแล้วก็จบงานนั้นแล้ว การนอกใจไม่มี ก็มาเห็นคราบสกปรกที่ละเอียดขึ้นคือการหลงในกามารมณ์ ก็ต้องเช็ดออกอีก การทำบุญในรอบที่เจริญขึ้นคือการพรากออกจากคู่

ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอิสระ อยากมีอิสระในชีวิต ต้องการมีอิสระทางจิตวิญญาณ การมีคู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะอาศัยไว้เลย เพราะสุดท้าย การมีคู่นั่นแหละที่จะมัดอิสระเอาไว้ เป็นบ่วง เป็นทุกข์ เป็นลาภเลวที่จะสร้างโทษ ภัย ผลเสียเมื่อได้มาครอบครอง

ศาสนาพุทธนั้น ถ้าจะบอกเป้าหมายให้ถูกตรง หรือตั้งจิตให้ถูกตรง ก็คือการปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งจิตว่าจะไปแช่อยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือไปแช่อยู่ในพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ จะมีประตูเดียวเลยคือบรรลุอรหันต์เป็นเป้าหมาย การตั้งจิตอย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งจิตเพื่อความไม่เสื่อม แต่การตั้งจิตว่าจะไปแช่ ไปพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นแหละคือสัญญาณแห่งความเสื่อม

จะสรุปไว้ว่า คนเราในโลกนั้นมีหลายฐานหลายภูมิธรรม อย่าเอาเสียงส่วนมาก อย่าเอาความเห็นคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไปทางเสื่อมอยู่แล้ว ให้เราเอาใจตัวเองเป็นหลัก เอากำลังตัวเองเป็นหลัก

หลายคนมีปัญญาและกำลังใจพอที่จะก้าวไปสู่ฐานศีล ๘ หรือฐานอื่น ๆ ที่เจริญกว่าศีล ๕ แต่กลับไม่มีผู้ที่พานำไป คือไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาธรรมที่สูงกว่า ก็เกิดมาใช้กรรมไปชาติหนึ่ง ทำกุศลกินใช้ ทนอยู่แล้วตายไปชาติหนึ่ง

เพราะชีวิตจะพัฒนาได้เมื่อศึกษาในธรรมที่สูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรพยายาม ไม่ให้เสียชาติเกิด ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว แล้วมันจะร่วง มันต้องถอยเพราะมันทุกข์มาก เขาเหล่านั้นย่อมไม่ถูกติ เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า เจริญกว่า แล้วไม่ทำ ไม่ใส่ใจ อันนี้แหละ คือการประมาท ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง

เพราะพอใจอยู่ในโลกสวรรค์ มีกามารมณ์เป็นสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ หลงติดอยู่ในภพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

จะบอกใบ้เผื่อให้ ว่าจริง ๆ แล้วคนเราไม่มีวันมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันไปได้ตลอดหรอก พอถึงจุดเปลี่ยนมันจะมีโอกาสที่คนหนึ่งจะร่วงคนหนึ่งจะรอด การเป็นคู่กันนั้นจริง ๆ มันมีวิบากบาปอยู่ในตัวของมันอยู่ อกุศลกรรมจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้ดั่งใจ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอกัน นั่นคือสัจจะของความไม่เที่ยงนั่นเอง สุดท้ายสภาพเสมอกันจะตั้งอยู่ได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และท้ายที่สุดมันก็จะสลายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ดังนั้นไม่ต้องไปตั้งจิตอยากจะเจอใครหรือคบกับใครไปตลอดหรอก เพราะเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักแน่นอนอยู่แล้ว ตั้งใจทำลายความรักและความหลงจะดีกว่า ผาสุกกว่าเยอะจนเทียบไม่ได้เชียวล่ะ ตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎกมา ก็ไม่เห็นพระอรหันต์ท่านไหนกลับไปยินดีในการมีคู่เลยนะ แสดงว่าการมีคู่นี่มันไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พวกโมฆะบุรุษนั่นแหละ ที่เวียนกลับไปเสพสุขในนรก

เมื่อถูกกล่าวหา

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 625 views 0

เวลาเราอยู่นิ่ง ๆ นี่มันก็เหมือนจะไม่มีทุกข์อะไรนะ แต่เวลามีคนมากล่าวหาใส่ความเราหรือคนที่เรารักนี่สิ ใจมันก็มักจะไม่อยู่เฉย ดิ้น เดือด จนอาจจะถึงขั้นด่ากลับไปได้

ผมก็เคยเจอกรณีที่คนเขามากล่าวหาด้วยความเข้าใจผิดสมัยทำโรงทาน เขาก็กล่าวหาจริงจัง เอาเรื่องเลยนะ หาว่าเราไปด่าเขา ๆ แล้วเขาก็ยืนด่าเราสารพัดต่อหน้าฝูงชนนั่นแหละ ว่าเราไม่มีศีลบ้าง หน้าตัวเมียบ้าง หากระโปรงมาใส่บ้าง สารพัดคำดูถูกปรุงมาอย่างเผ็ดร้อน สาดใส่เรานั่นแหละ

แต่ด้วยเราก็รู้ว่าเขาเข้าใจไปผิดไง เราก็ไม่ได้โกรธตามเขา เรารู้ตอนนั้นเลยว่าเอาแล้ว วิบากกรรมมาแล้ว ก็ไม่ได้คิดแค่รับนะ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำยังไงดีหนอให้มันดีขึ้น

ก็ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั่นแหละ คือ 1. ไม่โกรธ 2.พูดแต่ความจริง แต่ทำไปแล้วมันไม่คลี่คลายก็วางใจไป สุดท้ายเขาจะให้เราขอโทษ เราก็ตรวจใจไปว่าเรายอมได้ไหม ขอโทษทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอย่างเขาว่าได้ไหม

ก็นึกไปว่า จริง ๆ ส่วนผิดเราก็มีนะ คือไปยืนคุยหน้าโรงทานทำให้เขาเข้าใจผิด ได้ยินผิด จริง ๆ เราก็ไม่ได้พูดถึงเขาหรอก เราคุยกับเพื่อน แล้วอาจจะกวาดสายตาไปโดนเขา อันนี้เราก็ไม่ได้สำรวมจริง ๆ เจตนาก็ไม่มีหรอก แต่ก็ขออภัยเขาไป เขาก็เลยยอมไม่เอาเรื่อง(ที่เขาสร้างเรื่องขึ้นมาเอง)

ในชีวิตก็เคยเจอเรื่องแบบนี้เยอะ เรื่องที่เราไม่ได้ทำหรอก แต่เขาปั้น เขาปรุงขึ้นมากล่าวหาเรา สาดสี ใส่ไข่ เติมรสกันจัดจ้าน จนเรียกว่าได้ยินแล้วงง ว่าเราไปทำขนาดนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ บางเคสมีการมาเดาใจเราแล้วสรุปเพิ่มด้วย

ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบการมานั่งแก้ต่างเท่าไหร่ ไม่เคยพยายามพูดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ตัวเอง รู้สึกว่ามันเสียเวลา มีคนถามค่อยบอกเขาไป ถ้าไม่มีคนถามก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าการที่เขาเข้าใจเราผิด หรือใส่ความเรา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะยังไงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดอยู่แล้ว ส่วนที่เขาว่ามันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเขา

ผมเชื่อว่าการที่เราไม่ต้องมานั่งพะวงกับการปกป้องตัวเองนี่แหละ คืออิสระ คือความผาสุก เราไม่หวงตัวหวงตน ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ ใครจะเข้าใจเราไปยังไงก็ได้ ใครจะใส่ความเรายังไงก็ได้ มันคือความใจกว้าง ให้อิสระทุกคนคิด เขาจะคิดผิดคิดถูกก็เป็นบาปบุญของเขา ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราตรงไหน

มันจะเกี่ยวก็แค่ตอนเขาเข้ามาถึงตัวเราเท่านั้นแหละ ที่มันจะอันตราย ก็ต้องคอยระวัง หลีกการกระทบกระทั่ง การทำร้ายก็เท่านั้น หลีกไม่ได้ก็รับไป มีพระโมคคัลลานะเป็นไอดอล เราต้องหัดทำตามท่าน ต้องรับให้ได้ทุกอย่าง ต้องทนได้แม้เขาจะมาทำร้ายเรา ฆ่าเรา เราก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขากลับ อันนี้เป็นกรรมฐานเอาไว้ฝึกน่ะนะ แต่จะฝึกได้เท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีแนวทางที่ถูกให้พัฒนาตนเองนั่นแหละ

การถูกกล่าวหานี่คือบททดสอบของชีวิตนะ ว่าเราจะยึดตัวยึดตนมากเท่าไหร่ การไปติคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง การถูกคนอื่นติหรือเข้าใจผิดนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันจะวัดความแกร่งของใจเรา วัดความทน วัดปัญญา มันต้องทนได้ทั้งเขามาติเรา ติคนที่เรารัก ติความเห็นความเข้าใจของเรา เขาติได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ เราก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกตรงอย่างเดียว คือไม่ไปโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจเพราะเขามากระทบ

คำติหรือการโดนใส่ร้ายใส่ความนี่เป็นอาหารอย่างดีของความเจริญเลยนะ เป็นโจทย์จริง ๆ ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งนึกเอาเดาเอา แต่ถ้าปรับใจไม่ทันก็เป็นนรกร้ายได้เหมือนกัน ก็มีอยู่แค่สองอย่างนั่นแหละ คือเราจะก้าวข้ามความโกรธ หรือจะร่วงลงไปในนรก มันก็อาจจะไม่ง่ายนักในโจทย์นี้ แต่ถ้าทิศทางเราชัด แม้เราร่วงไปบ้าง เราจะตั้งสติและปีนขึ้นมา

แต่ถ้าใครไม่ไหว ไม่มั่นใจ ไม่ค่อยแกร่ง ก็อย่าไปหาโจทย์ในชีวิตให้มากนัก อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน หมั่นทำความดี ขัดเกลาตัวเองไปในเรื่องที่ทำไหว กระทบโลกให้พอเหมาะกับความเจริญเท่าที่ตนเองจะทำไหว ก็จะไม่ทุกข์หนัก ไม่เสี่ยงต่อการล่วงหล่นมากนัก

ทันทีที่หันหลังไปจากธรรม เราก็ห่างกันไกลแล้ว

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 580 views 0

เมื่อชีวิตเราหันมาปฏิบัติธรรม สังคมและกลุ่มเดิม ๆ ก็จะจางไปเป็นธรรมดา ก็อาจจะมีบ้างที่มาสนใจเหมือนกับเรา แต่ถ้าเขาไม่ได้มีศรัทธาในธรรมที่เสมอกัน ไม่นานเดี๋ยวเขาก็จะหลุดไป

ผมก็เคยมีเพื่อนที่มีสนใจธรรมในทางเดียวกันนะ แต่ไม่นานเขาก็ห่างไป ก็เคยนึก ๆ เสียดายว่าพื้นฐานก็ดี ปัญญาก็มี วันใดวันหนึ่งเขาก็คงกลับมาล่ะมั้ง

แต่ในความเป็นจริงมันยากกว่าที่ผมคิด เมื่อได้คิดทบทวนไปว่า เราตั้งใจปฏิบัตินะ ชีวิตเราดำเนินไปตามทางปฏิบัติที่ถูกต้องนะ แล้วเขาหันหลังเดินไปคนละทิศกับเรา มันก็ห่างไปเรื่อย ๆ ล่ะซิ

เหมือนเราพยายามจะเดินขึ้นเหนือ เขาเดินลงใต้ เดินก้าวละวินาที ผ่านไปหนึ่งวินาทีก็ห่างกันสองก้าวแล้ว เขาก็ไปทาง เราก็ไปอีกทาง มันไม่มีทางที่จะกลับมาเจอกันหรอก

ก็คงเหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ขยายข้อธรรมในเรื่องอนันตริยกรรมไว้ว่า ถ้าเจอหมู่มิตรดีแล้ว รู้ว่าคนนั้นกลุ่มนั้นเป็นคนดีจริง แต่ไม่ทำตาม ไม่ปฏิบัติตาม ทำตรงข้าม ก็เข้าข่ายมีกรรมหนัก

ผมเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่า คนจะเข้ามาหาเราได้ มาศึกษาร่วมกับเราได้ เขาจะต้องมีศีล หรือพยายามปฏิบัติศีลที่ใกล้เคียงกับเรา หรือทำความดีอะไรอย่างหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจนอยู่ มันก็จะพาวนมาเจอกันได้ แต่พอเขาเสื่อมจากศีล เสื่อมจากความดี เขาก็จะหลุดไปเอง

ดังนั้นการจะมาพบกันได้อีกนั้น เขาจึงต้องหยุดชั่วและทำดีมาก ๆ ซึ่งมันจะยากกว่าเจอกันตอนแรกแบบมหาศาล เพราะมันมีวิบากบาปที่เคยหันหลังไม่เอาสิ่งดีแบบเรามาแล้ว จริง ๆ มันก็คือจิตดูถูกนั่นแหละ คือรู้ว่าเราดีนะ แต่ไม่เอาหรอก ไปเอาอย่างอื่นดีกว่า

ถ้าเราไม่ดีจริง มันก็จะไม่มีโทษมาก แต่ถ้าเราดีจริง ปฏิบัติถูกตรงจริง ก็เรียกว่าทำความฉิบหายให้กับชีวิตเลยล่ะ อาจจะกลายเป็นเกิดมาตายเปล่าไปชาติหนึ่งก็ได้ (โมฆะบุรุษ)

อันนี้แค่คนหันหลังเดินไปจากเรานะ ไม่นับคนเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก นินทา ฯลฯ พวกนี้ไม่ต้องห่วงนรกอยู่แล้ว นรกตั้งแต่วิบากจากกิเลสตัวเองเป็นชั้นแรก นรกชั้นที่สองก็ตามความจริงที่ได้ดูถูกไว้ ถ้าเรามีคุณค่าจริง แล้วเขาตีค่าว่าถูก เขาก็บาปมาก แต่ถ้าเราราคาถูกแล้วเขาตีค่าว่าแพง อันนี้เราขาดทุน (สรรเสริญโตเกิน) แต่ฝั่งยินดีกัน ศรัทธากันก็พอจะบอกจะปรับกันได้ แต่ฝั่งไม่ศรัทธานี่ลืมไปได้เลย ไม่ต้องเอาภาระ เพราะเขาไม่ศรัทธา บอกไปเขาก็หาว่าแก้ตัว ยังไง ๆ ถ้าเป็นคนพาล เขาก็ย่อมมีการเพ่งโทษเป็นประจำอยู่ดี อันนี้เราไปแก้เขาไม่ได้

ยังดีที่ชาตินี้ยังเหลือเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรม ที่ยังพอพูดคุยกันเข้าใจอยู่ คือทันกัน เห็นตรงกัน ส่วนครูบาอาจารย์ก็ยกไว้ อันนั้นท่านทันอยู่แล้ว เพราะท่านไปไกลกว่าเรา ส่วนใหญ่ที่เจอมานี่นอกจากจะไม่ทันแล้วยังงงกันอีก ดีไม่ดีตีความผิดไปเพ่งโทษเราก็มี ถามวัวตอบควายก็มี มันก็ส่วนใหญ่ล่ะนะที่ความเห็นไม่ตรงกัน ความเร็ว(จิต)ไม่เท่ากัน จะหาเท่ากันและสูงกว่า มันก็คงจะเป็นส่วนน้อยนั่นแหละ