Tag: โลกียะ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
ความรักนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเป็นทุกข์ ร้อนรน กระวนกระวาย เมื่อคนเกิดความรัก ก็เหมือนเขาถูกมนต์สะกดของกามเทพ ให้หลงใหล มัวเมา ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก ความจริงแล้วสิ่งที่ลวงคนให้หลงไปกับความรักก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกามราคะและอัตตาเท่านั้นเอง
ในมุมมองของธรรมะ ความรักไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทุ่มเทเพื่อให้ได้มา เป็นเพียงสิ่งที่ควรจะทุ่มทิ้งไป แต่ในมุมโลกียะความรักนั้นเหมือนกับเป้าหมายในชีวิตที่หลายคนเฝ้าฝันที่จะได้มาครอบครอง ทุ่มกายเทใจแลกมันมา ท้ายที่สุดก็จะได้มาแค่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์เท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าสอนว่า ในความรักนั้น มีเพียงแค่ทุกข์ ไม่มีอะไรปนอยู่นอกจากทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีความดีงามอะไร มีแต่ความทุกข์ล้วน ๆ นี่คือมุมมอง ที่เห็นผ่านสายตาของผู้ที่หมดกิเลส จึงได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ในเมื่อความรักนั้นทำให้เขาเหล่านั้นตาบอดอยู่
เมื่อความรักเกิด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นทันที ความอยากได้อยากครอบครองก็เกิดขึ้น ความอยากเติบโตขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ความหวง ความโกรธ ก็จะแรงเป็นเงาตามตัว มีใครบ้างที่เกิดความรักแล้วไม่ทุกข์ ไม่มีหรอก เพียงแต่เขาจะรู้รึเปล่าว่านั่นคือ อาการของทุกข์ ความกระวนกระวายใจ ความคิดถึง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ที่รบกวนจิตใจ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะให้มีเสี้ยนตำฝังในเท้า เดินไปก็เจ็บไป ความรักก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความอยาก ความใคร่ ความกระสัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตอยู่ไม่เป็นสุข วิ่งวนไปวนมาแต่เรื่องความรัก หาวิธีให้ได้มาเสพ ให้ได้สุขมากขึ้น หมกมุ่นอยู่กับความคันในใจเหล่านี้เรื่อยไป
แม้จะได้ความรักมาครอบครองแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป มันอาจจะโตขึ้นเพราะมีกามราคะและอัตตาเป็นอาหาร มันอาจจะรู้สึกสุขเพราะได้เสพสมอารมณ์กิเลสอยู่บ้าง แต่สุดท้ายมันจะหายไป ไม่ว่าความรักใด ก็ต้องเผชิญกับ “ความแก่” เป็นสภาพเสื่อมถอย เป็นขาลงของความรัก ความอ่อนแรง ไม่สดชื่น ความไม่ทันใจ ไม่ได้อย่างใจเหมือนก่อน ไม่เหมือนสมัยวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนทุกข์เพราะผิดหวัง เพราะมันไม่สุขสมใจเหมือนก่อน แม้จะพยายามแค่ไหน มันก็ไม่สุขเท่าตอนรักกันใหม่ ๆ นี้คือสภาพแก่ หรือความชราในความรัก นั่นเพราะกิเลสมันไม่ใช่สิ่งเที่ยง ไม่ใช่ว่าเสพรสเดิมแล้วมันจะสุขเท่าเดิมตลอด มันต้องหารสใหม่ ๆ มาเติมเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้คู่รักต้องพยายามเติม พยายามบำเรอกันยิ่งขึ้น ๆ เพื่อที่จะหนีจากความแก่เหล่านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนก็ต้องแก่ ความรักก็ต้องเสื่อม มันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะพาให้คนผู้ยึดมั่นถือมั่นในความรักนั้นทุกข์และเศร้าหมองกันเลยทีเดียว
ก็อาจจะมีบ้างที่มีคนที่มีความสามารถในการบำเรอกิเลสอีกฝ่าย มีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุขบำเรอให้ แม้จะพยายามทำให้ความเสื่อมของความรักนั้นเกิดช้าที่สุด แต่ความรักก็ยังหนีความเจ็บป่วยไปไม่ได้ คนสองคนไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันไปได้ตลอด มันจะมีเรื่องที่ทำให้เกิดการกระทบของความเห็นที่แตกต่าง แรกรักก็อาจจะยอมกันไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นถือมั่นมาก ๆ ถึงกับไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะกัน การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน อาการเหล่านี้คือสภาพเจ็บป่วยในความรัก เป็นแผลใจ เป็นรอยด่าง เป็นสภาพเสื่อมแบบสะสม เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ที่คนรักกันเลิกกันก็เพราะทะเลาะกันนี่แหละ ก็อาจจะมีบางคู่ที่จะเลิกกันไปเฉย ๆ เพราะไม่ได้ทะเลาะหรือผิดใจกัน แต่ที่เขาเลิกกันนั้น ก็เพราะว่าเขาเป็นทุกข์ เพราะทุกข์จากความรักมันมากกว่าการเลิกกัน เลิกกันมันเป็นสุขกว่า เขาก็เลิกกัน เพราะรักแล้วมันทุกข์ เขาเป็นทุกข์หนัก เขาก็ไม่อยากแบกมันไว้ เขาก็เลิก ส่วนที่ไม่เลิกก็ประคองกันไป เยียวยาแผลใจกันไป อยู่กันอย่างชิงชัง หวาดระแวง เป็นความอาฆาตแค้นสะสมไว้ในใจทีละน้อย ๆ จองเวรจองกรรมกันไปเรื่อย ๆ
สุดท้ายก็มาถึงความตายในความรัก มาถึงจุดที่มันต้องพราก เขาบังคับให้พราก ไม่จากเป็น ก็จากตาย ถ้าจากตายก็อาจจะทุกข์หนักมาก เพราะสูญเสียชัดเจน ก็น่าเห็นใจคนที่เข้าไปรัก รักใครแล้วเสียคนนั้นไป ก็เป็นทุกข์ รักมากทุกข์มาก ส่วนจากเป็นนี่ก็หลากหลายมิติ สารพัดบทละครที่วิบากกรรมจะสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นทุกข์ จะเล่นเป็นบทไหน ก็ต้องเป็นทุกข์ จะจบแบบชัดเจนก็ทุกข์ จบแบบไม่ชัดเจนก็ทุกข์ เพราะเขาจะให้พรากจากสิ่งที่รัก สุดท้ายจะเล่นได้รางวัลตุ๊กตาทองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยึดมาก จริงจังมาก ทุกข์มาก
ไล่มาตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องความรัก ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นที่เกิดขึ้น ทนทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ไม่เห็นจะน่าได้น่ามีหรือน่าครอบครองตรงไหน มีทุกข์จะมีไปทำไม ก็เว้นเสียแต่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็กลับหัวกันกับเนื้อหาในบทความนี้แหละ อธิบายแบบกลับหัวได้เลย มันจะไปคนละทิศ ก็ไปทิศที่กิเลสชอบ ทิศที่กิเลสพอใจ แต่ไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องพบกับทุกข์ในความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่าคนที่ไม่มีรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ที่มีความสุข สรุปกันชัด ๆ “คนที่ไม่มีความรัก คือคนที่มีความสุข” เป็นสภาวะที่เข้าถึงได้ยาก แต่ก็เป็นความจริงที่ควรจะยึดอาศัยไว้เป็นเป้าหมาย ถ้าไม่พากเพียรปฏิบัติธรรมที่ถูกตรงอย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางเข้าถึงสภาพที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะของท่านนั้น เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สาวกที่ปฏิบัติถูกตรง)
ดังนั้นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างตั้งมั่น ก็จะเพียรพยายามศึกษาให้รู้จักทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของความรัก จนก้าวข้ามพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก ตลอดจนเรื่องทุกข์ใจอื่น ๆ ได้โดยลำดับ
13.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
โอวาทปาฏิโมกข์ : ไม่ทำบาปทั้งปวง มุ่งทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา จึงขอหยิบยกหลักธรรม ๓ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธ จะนำมาขยายกันในบทความนี้
หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความนี้ก็จะขยายกันตามที่ได้ศึกษามา อาจจะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่ท่านได้ยินได้ฟังมาก็ได้ ซึ่งก็ขอให้ลองพิจารณากันดู
ไม่ทำบาปทั้งปวง
การไม่ทำบาปของพุทธ คือการไม่ทำบาปในทุกๆกรณี ไม่มีช่องว่างใดๆ ไว้ให้ทำบาปเลย ไม่มีชั่วและดีผสมกันในเนื้อแท้ของพุทธ บาปนั้นคืออะไร? บาปนั้นก็คือ “กิเลส” ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” หรือการชำระกิเลส ถ้าบุญคือการทำให้กิเลสลดลง บาปนั้นก็คือการทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น การสนองความอยากก็ตาม การสะสมความยึดมั่นถือมั่น หรือ โลภ โกรธ หลง ก็เป็นบาปทั้งนั้น ข้อนี้เป็นธรรมที่เป็นเป้าหมายที่ควรเข้าถึงเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้หมายความจะทำได้ทันที เพราะในภาคปฏิบัตินั้นจะต้องศึกษาให้รู้จัก “โทษของบาป” และยับยั้งการทำสิ่งที่เป็นบาปเหล่านั้น ผู้ที่ไม่ทำบาป ไม่ทำสิ่งที่กิเลสบงการ หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนฤๅษีที่ไม่ทำบาป สงบนิ่ง สันโดษ พอเพียง ฯลฯ
มุ่งทำแต่ความดี
ศาสนาพุทธนั้นไม่เคยมองข้ามการทำความดี ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ไม่หยุดทำดี ไม่ประมาทในความดีแม้น้อย สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี หรือพิจารณาแล้วว่าดีมากกว่าเสีย เป็นกุศลมากกว่าอกุศล ก็จะยินดีทำ ไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่หลีกหนีหน้าที่ เอาภาระ ไม่หนีโลก ไม่หนีสังคม เพราะการเกื้อกูลสังคมและโลกนั้นคือสิ่งดีที่ควรทำ ผู้ที่ทำแต่ความดีนั้น หากว่าพอใจเพียงแค่ธรรมข้อนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้เจริญในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมก็จะเหมือนคนดีหลายๆ คนที่โลกนั้นยกย่อง พวกเขามุ่งทำดี อดทน เสียสละได้กระทั่งชีวิต ทำดีตามที่โลกสรรเสริญและความเข้าใจตามภูมิปัญญาของท่านนั้นๆ
ทำจิตใจให้ผ่องใส
หลักธรรมข้อนี้เป็นข้อที่พิเศษ จะตีความเชิงโลกียะก็ได้แบบหนึ่ง ตีความเชิงโลกุตระก็ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขยายในมุมของโลกียะให้ทำความเข้าใจกันก่อน
การทำจิตใจให้ผ่องใสตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น คือการทำจิตใจให้สงบจากสภาวะที่ขุ่นมัวจากกิเลสที่เกิดขึ้น เช่นโกรธก็ไประงับโกรธ ด้วยวิธีใดๆ ก็ตามที่แต่ละคนได้ศึกษามา ก็จะสามารถเปลี่ยนจิตใจที่ขุ่นมัวเป็นจิตใจที่ผ่องใสได้ อันนี้เป็นความรู้ทั่วไป ปฏิบัติกันโดยทั่วไป เข้าใจกันโดยทั่วไป เป็นสามัญของโลก
ในส่วนของโลกุตระนั้นเป็นเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่มีศาสนาใดเหมือน ตามที่ได้ยกมุมของโลกียะไว้ข้างต้นนั้น ไม่ว่าศาสนาใดก็สามารถทำให้ให้ใจสงบแล้วกลับมาผ่องใสเช่นนั้นได้ด้วยวิธีเชิงสมถะ ซึ่งการทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างพุทธที่แท้จริงนั้น คือการล้วงลึกเข้าไปถึงเหตุที่ทำให้จิตนั้นไม่ผ่องใส เช่น ถ้าเกิดความโกรธ ก็จะรู้ไปถึงเหตุแห่งความโกรธนั้น ว่าไปหลงผิดคิดเห็นอย่างไรจึงทำให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น และดับเหตุนั้นรวมถึงสามารถที่จะดับความโกรธได้ด้วยเช่นกัน การดับเหตุนั้นคืออะไร คือการเข้าไปดับภพของกิเลสนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจด้วยปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสนั้นๆ จนภพ ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) นั้นดับ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นและคลายตัณหาในที่สุด เพราะไม่ได้ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นฉัน เป็นของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันควรได้ จึงปรากฏเป็นสภาพจิตใจที่ผ่องใสจากกิเลส โดยไม่ต้องไปกำหนดเป็นครั้งคราวตอนที่จิตใจนั้นขุ่นมัวเหมือนวิธีโลกียะ ถ้าทำเรื่องใดได้ก็จะผ่องใสอย่างถาวรในเรื่องนั้น ไม่เวียนกลับมาขุ่นมัวอีก นี่คือวิธีการทำจิตใจให้ผ่องใสในเชิงโลกุตระซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำจิตใจให้ผ่องใส
….เมื่อยึดเอาหลักธรรม ๓ ข้อนี้มาปฏิบัติ ชาวพุทธก็จะอดทนอดกลั้น ไม่ทำบาปได้ง่ายนัก จนถึงขั้นไม่ทำบาปเลย และหมั่นทำความดี มุ่งสร้างแต่กุศลกรรม ไม่ประมาทในกุศลกรรมแม้สิ่งนั้นจะดูน้อยนิด ถ้าหากว่ามีโอกาสทำได้ก็จะทำ ซึ่งจะใช้กุศลกรรมนี้นี่เองเป็นสิ่งที่มาหล่อเลี้ยงชีวิต สุดท้ายคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส นอกจากจะไม่ทำบาปแล้ว ยังกำจัดบาปนั้นให้หมดสิ้นไปได้ด้วย เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาของจิตใจได้อย่างบริสุทธิ์สมบูรณ์ เปรียบดังภาชนะที่เป็นแตกรั่วเป็นรูเป็นช่องมียาพิษคือกิเลสไหลทะลักแสดงตัวตนออกมา นอกจากจะคอยอุดรอยรั่วแล้วยังสามารถนำยาพิษคือกิเลสนั้นออกได้อีกด้วย คือทำให้ไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตใจ พอไม่มีกิเลส ไม่มียาพิษ ก็ไม่ต้องมาคอยอุด เพราะไม่มีอะไรที่มันจะรั่วหรือทะลักออกมา
การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ควรรู้ฐานะของตัวเอง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจึงจะเจริญ หมายถึงเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับกำลังของตัวเอง โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องขัดเกลาตน ตั้งแต่ ศีล ๕ , ๘, ๑๐, ไปจนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ปฏิบัติไปโดยลำดับ มีขั้นตอน มีความเจริญไปโดยลำดับ หยุดบาปได้โดยลำดับ ทำดีมากขึ้นได้โดยลำดับ และทำจิตใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ การปฏิบัติธรรมะของศาสนาพุทธย่อมมีลำดับเช่นนี้ ลาดลุ่มเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่เป็นไปเพื่อให้ศึกษาจนรู้จักโทษชั่วของกิเลสอย่างแจ่มแจ้งโดยลำดับ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ปหาราทสูตร ข้อ ๑๐๙)
– – – – – – – – – – – – – – –
21.2.2559
จากโลกียะถึงโลกุตระ : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ได้รับเชิญไปร่วมพูดคุยในรายการ “จากโลกียะถึงโลกุตระ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่เคยสุขตามโลก มาเป็นคนที่พยายามออกจากโลกเดิมๆที่มีกิเลส ในตอนนี้ก็จะพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์” ว่าเป็นใคร ทำไมถึงมาเขียนบทความธรรมะ ทำไมถึงหันมาปฏิบัติธรรม รับชมได้ครับ มีทั้งหมด 2 ตอน
– – – – – – – – –
จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 1
จากโลกียะถึงโลกุตระ คุณดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ตอน 2
ความกล้า
ความกล้า
ในโลกนี้มีความกล้าด้วยกันหลายแบบหลายมิติ บ้างก็กล้าทำชั่ว บ้างก็กล้าทำดี บ้างก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่รู้จะทำไปทำไม แม้แต่คนที่กล้าทำเรื่องที่ไร้สาระสุดๆ ก็ยังได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่วนอยู่ในวิถีของโลก ที่สุดแล้วความกล้าเหล่านั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับความกล้าที่จะหลุดพ้นจากโลก กล้าออกจากโลกียะไปสู่โลกุตระ
ความกล้าที่จะพาให้พ้นโลก คือ กล้าต่อต้านกิเลสไม่ยอมให้กับกิเลสเหมือนเคย มีอาการแข็งข้อ ไม่ทำตาม ไม่ส่งส่วย ไม่สนใจกิเลส
กล้าต่อสู้กับกิเลส หยิบอาวุธคือปัญญาขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส คิดหากลยุทธ์ในการทำลายกิเลสให้ราบคาบ หาทางเอาชนะมันอย่างไม่ลดละ
กล้าทำลายกิเลส ในที่สุดแล้วหากต้อนกิเลสจนมุมได้ ก็จะทำลายมันไม่ให้เหลือแม้แต่เศษเสี้ยว ไม่ให้เหลือแม้ผงธุลี แม้รอยอาลัยใดๆในจิตใจก็จะไม่ให้เหลือไว้ ถอนรากถอนโคนกันไปเลย
…เหตุที่เราไม่กล้าคิดจะต่อกรกับกิเลสเพราะกลัวเสียสุขที่เคยได้เสพไป
ทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่ากล้าสู้กับกิเลส ก็คือเริ่มจากศีล พื้นฐานก็คือศีล ๕ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ลดการเบียดเบียนลงไปเรื่อยๆ เมื่อถือศีลก็เหมือนกับเราเข้าสู่สนามรบ หากไม่มีศีลก็ไม่จำเป็นต้องอดทนอะไร อยากทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อมีศีลก็จะต้องต่อสู้กับความอยากที่จะทะลักออกมา พยายามจะทำลายศีลที่เราใช้อาศัยในการกำจัดกิเลส และนี่คือสนามรบของคนกล้า ที่กล้าจะเผชิญหน้าและกล้าทำลายผู้ร้ายที่ชั่วที่สุดในโลกที่มาฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของเรามานานแสนนาน
– – – – – – – – – – – – – – –
4.9.2558