Tag: เรียนรู้

ก่อนจะผ่านพ้นปี ๒๕๖๐

December 31, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,682 views 0

2560

ก่อนจะผ่านพ้นปี ๒๕๖๐

เมื่อทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา ก็พบว่าการบำเพ็ญกุศลที่โรงทานกองทัพธรรม ในช่วงครึ่งปีหลังของการให้เข้ากราบพระบรมศพนี่แหละ คือที่สุดของปี ๒๕๖๐ สำหรับผม

ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่ได้คิดจะเข้าไปทำประจำ เพราะติดงานอื่นอยู่ ซึ่งก็แวะไปบ้างตามที่มีเวลาว่าง แต่พออาจารย์หมอเขียวแนะนำว่า ถ้าผมเข้าไปร่วมกับหมู่กลุ่มที่เขาปฏิบัติธรรม ผมจะเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับหมู่จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมที่บำเพ็ญกันที่โรงทานกองทัพธรรม ช่วงภาคบ่าย

พอได้เข้าไปคบคุ้นทำความรู้จัก ได้ทำงานร่วมกัน ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากขึ้นจริง ๆ นี่เป็นกลุ่มนักปฏิบัติธรรมกลุ่มแรกที่ผมเข้าไปคลุกด้วยเวลายาวนานเกือบครึ่งปี ไปเกือบทุกวัน เดือนหนึ่งจะหยุดซัก ๑-๓ วัน ซึ่งสภาพของการคบหากันอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ใกล้ชิดกันแบบนี้หาโอกาสไม่ได้ง่าย ๆ

และนั่นทำให้รอบของการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พัฒนากันวันต่อวัน สิ่งที่เข้ามากระทบในแต่ละวันทั้งกาม เช่น ของกินหน้าตาดี ดูน่าอร่อย  ฯลฯ และอัตตา เช่น ความเอาแต่ใจของคน ความเร่งรีบของคน ฯลฯ มันกระหน่ำเข้ามาทุกวัน ในโจทย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน

ผมยังเคยโดนคนเข้าใจผิด หาว่าผมไปด่าเขา แล้วเขาก็ด่าผม ดูถูกผม กล่าวหาผมเสีย ๆ หาย ๆ เป็นเรื่องกันวุ่นวายหน้าโรงทาน จนเดือดร้อนเจ้าหน้าที่มาช่วยคุมสถานการณ์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมหวั่นไหวเลย ในตอนนั้นยังคิดอีกว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร ช่วยให้เขาสบายใจขึ้นได้อย่างไร จริงอยู่ที่เขาเข้าใจผิด แต่การแก้ไขให้เขาเข้าใจถูกอาจจะเป็นไปไม่ได้ก็ได้ ก็จบด้วยการที่เขาเรียกร้องให้ผมขอโทษ ผมก็ยินดีให้สิ่งนั้นกับเขา แน่นอนว่าอาจจะทำให้เขาสาสมใจในเชิงอัตตา แต่อย่างน้อยเขาก็จะไม่ได้ทำบาปไปมากกว่านั้น

พอผมมาสรุป ผมยังคิดอยู่เลยว่าจะหาผัสสะระดับนี้ได้จากไหน ใครเขาจะเข้ามาด่าเราฟรี ๆ ให้เราได้ฝึกปฏิบัติ ให้เราได้ตรวจใจ หาไม่ง่ายนักหรอก แบบที่เจอต่อหน้านี่มันสดใหม่ดี ในหมู่นักปฏิบัติธรรมเขาก็ไม่ด่ากับหยาบแบบนี้ เราได้เจอแบบนี้บ้างมันก็ได้ประสบการณ์ดี

และโดยเฉพาะการประชุมกันทุกค่ำหลังเลิกงานของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตวิญญาณได้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้ได้ทั้งทางโลกทางธรรม ทางโลกก็เรียนรู้ว่านี่เขาก็คิดแบบนี้กันด้วยเนาะ ทางธรรมเราก็ตรวจใจไปว่าเราหวั่นไหวกับคำติของเขาไหม เขาชมแล้วใจเราฟูไหม เราเสนอไปแล้วเขาไม่เอาแล้วเราขุ่นใจไหม เขาเอาตามเราแล้วเราหลงยึดมั่นถือมั่นไหม มันก็สนุกกันทุกวันทุกคืนตลอดเวลาที่บำเพ็ญนั่นแหละ

สรุปแล้วงานโรงทานที่สนามหลวง นอกจากที่เราจะได้ทำกุศลตอบแทนผู้มีพระคุณแล้ว เรายังได้พัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วย ผมมองว่าสนามหลวงคือสนามฝึกปฏิบัติที่ดีเยี่ยมที่สุดสนามหนึ่งในยุคสมัยนี้ ผ่านแล้วก็ผ่านเลย ไม่มีอีกแล้ว ซึ่งเกิดจากพลังบารมีของพ่อหลวงที่ได้บำเพ็ญอย่างยาวนานกว่า ๗๐ ปี พร้อมด้วยโอกาสที่ครูบาอาจารย์มอบให้ ทั้งพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ผู้นำของชาวอโศก ที่เป็นผู้จัดตั้งโรงทานกองทัพธรรม อาจารย์หมอเขียวที่นำเหล่าจิตอาสามาบำเพ็ญ และคนจำนวนมหาศาลที่มารวมตัวกัน

ภายใต้องค์ประกอบนี้ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่า “หลักสูตรรวบรัด” เพราะสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ เหมือนประเด็นหลายประเด็นที่ควรได้รู้นั้นถูกย่อ และรวบรวมเข้ามาให้ได้เรียนรู้กันในเวลาสั้น ๆ  ซึ่งก็วัดจากที่เคยศึกษาและปฏิบัติธรรมมานี่แหละ

และหลังจากจบงาน “ผลของกรรม” นั้นยังทำให้ผมประหลาดใจอย่างมากอีกด้วย อะไรที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปี ก็เกิดขึ้นหลังจบงานแทน ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากผลกรรมดีที่ได้ทำอย่างแน่นอน

นั่นจึงทำให้มั่นใจว่า การบำเพ็ญที่โรงทานในครึ่งปีที่ผ่านมานี่แหละ คือที่สุดในปี ๒๕๖๐ นี้

๓๑.๑๒.๒๕๖๐

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,889 views 0

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด

ประโยคหนึ่งจากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 40 เป็นประโยคสั้นๆที่สรุปรวมความทรมานและเจ็บปวดที่ยาวนานมากกว่า 4 อสงไขย . . .

ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่พระนางยโสธราได้ผูกพันกับพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นการผูกกันด้วยความดีงาม ความเสียสละอย่างที่สุด แต่ก็ยังเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ ทรมานและเจ็บปวดอยู่

นับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่ผูกกันด้วยกิเลส พันกันด้วยตัณหา เหนี่ยวรั้งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีความทุกข์ เป็นไปไม่ได้เลย

ทางที่ทุกข์น้อยที่สุดก็คือไม่ต้องผูกพันกันด้วยความเป็นคู่รัก อย่าพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นนั่นแหละคือข้ออ้างของกิเลส

คู่ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คู่รัก แต่เป็นคู่ที่จะเข้ามาเพื่อให้เรียนรู้ ทุกเหลี่ยมทุกมุมของทุกข์ ทุกอย่างในจักรวาลนี้ โดนทิ้งโดนพรากไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เป็นเหตุให้อีกคนต้องเสื่อมและตายไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง

ไม่ใช่คู่ที่พากันเสพสุขอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่จะมาบำเพ็ญบารมีคู่กับพระพุทธเจ้าต้องยอมทรมานและเจ็บปวดอย่างที่สุด ไม่มีธรรมใดงอกงามบนความสุข มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่จะทำให้ธรรมะบังเกิด

ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,426 views 0

เมื่อเผยแพร่บทความที่มีความเห็นชี้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ก็มักจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา ซึ่งเราควรพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ

ผมจะนำเสนอเนื้อความตอนหนึ่งให้เพื่อนๆที่ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง”

(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๙)

พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพระอริยะ และเป็นพระอริยะที่ระดับสูงที่สุดคือพระอรหันต์ และด้วยปัญญาระดับผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง จึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนที่เหนือกว่าผู้ใดในโลก

การมีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา การโต้วาทีก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนย่อมปกป้องทิฏฐิที่ตนยึดมั่นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราชี้แจงได้ก็ชี้แจงไป แต่ถ้ามันหนักมากไปก็ให้ปล่อยวางเสีย

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ทะเลาะ ไม่ชวนทะเลาะ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปบีบบังคับให้ใครมาเห็นตามเรา บางคนเขาก็แค่มาบอกความเชื่อของเขา เราก็รับรู้ว่าเขาเชื่อแบบนั้น ถ้าเขาถามเราก็พิจารณาก่อนว่าจะตอบให้เกิดประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่ตอบเพราะยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก

หากเราปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เราย่อมไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยการเถียงเอาชนะ การเบียดเบียนความเห็นผู้อื่นแม้ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นจะผิดไปจากทางพ้น ทุกข์ก็ตาม ก็ยังเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่ชั่วอยู่

เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ จนบางครั้งหมายถึงการปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเอง ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา สุดท้ายวันใดวันหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียด ไปบังคับ หรือไปสั่งสอนผิดถูกแต่อย่างใด

โอกาสและอัตตา

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,357 views 0

โอกาสและอัตตา

โอกาสและอัตตา

จากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ในช่วงที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งนำโดยท่านโกณฑัญญะ เดินทางมาเพื่อเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า จากคนที่เคยเป็นอาจารย์ ต่อมากลายเป็นเพื่อนร่วมสำนัก และสุดท้ายก็กลายเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสงฆ์คนแรกของศาสนาพุทธ

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า สถานะนั้นไม่เที่ยงเลย จากคนที่เคยมีหน้าที่สั่งสอน ต่อมากลายเป็นเพื่อนที่มีสถานะเท่าเทียม สุดท้ายกลายมาเป็นลูกศิษย์ (แม้ในเรื่องจะนำเสนอว่าไม่รับเป็นศิษย์ ให้เป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมแทน แต่ภายหลังก็เป็นศิษย์ คือ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง)

นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญญาของท่านโกณฑัญญะ ที่ก้าวข้ามความยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวตน” จนทำให้ได้รับ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกถ้าท่านยังยึดมั่นถือมั่นว่าตนเองเป็นอาจารย์ ก็คงจะไม่มีวันยอมเป็นลูกศิษย์ ของอดีตลูกศิษย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมละวางตัวตน ความหลงติดหลงยึดในบทบาทและหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญทันทีหากเรายังยึดมั่นถือมั่นมันไว้ในวันที่หลายสิ่งได้เปลี่ยนไปจากเดิม

เราจะยอมรับได้อย่างไร หากคนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของเราเปลี่ยนมาเสมอเราและก้าวข้ามเราไป ในขณะที่อัตตาทำงานมันจะพยายามแสดงตัวตนว่าฉันเก่งกว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้มากกว่า จนต้องแสดงความคิดออกมาโดยผ่านคำพูด ท่าทาง ลีลา น้ำเสียง แล้วเราจะมีปัญญารู้ทัน “อัตตา” ของเราอย่างไร

อัตตาเป็นสิ่งที่ขวางกั้นโอกาสในการเรียนรู้ แทนที่เราจะได้เรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นแตกต่างจากเราอย่างไร? เขามีความรู้ตามที่เขาได้เปิดเผยไว้จริงหรือไม่? เขาเก่งกว่าเราจริงหรือไม่? แล้วเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร? เราจะไม่มีวันรู้เลยหากเราถูกขวางกั้นด้วยความคิดประมาณว่า “ฉันเก่งกว่า ฉันเป็นถึง…”

ความเจริญทางโลกยังพอมีรูปลักษณ์ให้พอหยิบยกเป็นหลักฐานได้ แต่ความเจริญทางธรรมนั้นเป็นเรื่องนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากจะประมาณได้

อย่ากระนั้นเลยหากเราฝึกละวางอัตตาของเราตั้งแต่ทีแรก ก็ไม่ต้องมาคอยระวังว่าอัตตาจะมาทำให้ตนเองนั้นพลาดพลั้งเสียโอกาสต่างๆ แต่โดยมากแล้วกว่าจะเห็นอัตตาของตนก็มักจะสายไปเสียแล้ว ดังเช่นพระเทวทัตถ้าท่านวางอัตตาได้เสียตั้งแต่ทีแรกก็คงจะเป็นหนึ่งในผู้พ้นทุกข์ในสมัยของพระพุทธเจ้าไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ความผิดพลาดของท่านก็จะเป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาและเรียนรู้เช่นกัน

ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ก็จะปิดโอกาสในการเรียนรู้ของตน ส่วนผู้ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นยังไม่รู้แน่ชัด ก็ยังมีโอกาสในการเรียนรู้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)