Tag: อนัตตา
จิตว่าง
จิตว่าง
…ว่างจากอะไร?
จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน
เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?
จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…
1). จิตว่างจากความทุกข์
จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์
สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์
จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน
ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์
2). จิตว่างจากความคิด
เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย
การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ
ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ
การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง
การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป
เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้
หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง
3). จิตว่างจากตัวตน
เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี
จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้
การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด
ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน
แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด
แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย
ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น
สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง
จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…
4). จิตว่างจากปัญญา
จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด
วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน
ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน
คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย
กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส
การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ
แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส
แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา”
5). จิตว่างจากกิเลส
มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน
เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว
การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย
โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง
แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม
แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง
เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย
ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง
แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย
เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้
6). สรุป
จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
12.1.2558
กินมังอหังการ
กินมังอหังการ
…วิเคราะห์อาการติดดีในทุกระยะของการกินมังสวิรัติ
ในบทความนี้จะวิเคราะห์และไขสภาพอาการติดดีหรือในเรื่องของอัตตาในทุกระยะของการกินมังสวิรัติตั้งแต่เริ่มกินไปจนกระทั่งถึงสภาพอนัตตาคือไม่มีตัวตนให้เป็นทุกข์อีกต่อไป โดยจะแบ่งระยะของความยึดเป็น 5 ข้อ ลองมาอ่านกันเลย
1).ความยึดดีของคนกินเนื้อสัตว์
ความยึดของคนกินเนื้อสัตว์ชอบเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงว่าเนื้อสัตว์ดี จึงยึดดีนั้นไว้ และเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นดี นำประโยชน์มาให้กับเขา ประโยชน์ทางโลกที่มีการส่งเสริมกันมาอย่างเนิ่นนานคือต้องกินอาหารให้ครบห้าหมู่ โดยตัวแทนของโปรตีนก็คือเนื้อสัตว์ พอเรารับรู้ว่าโปรตีนต้องเนื้อสัตว์ แล้วกินมาทั้งชีวิตมันก็จะจำและยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นี้เองคือโปรตีนที่ดีที่สุดที่ร่างกายต้องการ เป็นความเข้าใจทางโลกที่ถูกต้องตามที่เขาสอน แต่ไม่ถูกต้องตามธรรมเพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นการยึดว่าเนื้อสัตว์คือโปรตีนที่ดีที่สุดนั้นคงไม่ใช่อย่างแน่นอน
หรือความเชื่อที่ว่าคนเราเป็นสัตว์กินเนื้อนั้นก็เป็นอัตตาหรือการยึดเนื้อสัตว์ว่าดี ถ้ายึดระดับนี้อาจจะมีเหตุหลายอย่าง แต่เหตุหลักนั้นคือการเสพติดรสเนื้อสัตว์ เมื่อเกิดความอยากเสพจึงเกิดความยึด ไม่อยากพรากไปจากเนื้อสัตว์จึงต้องสร้างเกราะอัตตาขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้มั่นใจในการเสพเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้เสพได้อย่างเป็นสุขและสบายใจมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกผิดเวลาไปเจอสื่อของมังสวิรัติ เป็นสภาพที่เกิดการต่อต้านมังสวิรัติขึ้นเองโดยธรรมชาติของกิเลส
ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันย่อมปกป้องตัวเองและพยายามให้เราหามาเสพ เราเรียกการสะสมกิเลสสนองกิเลสว่า “บาป” และการจะลดกิเลสจนถึงดับกิเลสเราเรียกว่า”บุญ” เป็นเรื่องยากที่คนจะเอาชนะกิเลสและยอมลดกิเลส นอกจากจะไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้แล้วยังโดนกิเลสเพิ่มอัตตาเข้าไปอีกหนาขึ้นไปเรื่อยๆ นี้เองคือความยึดว่าเนื้อสัตว์ดีของคนที่ยังติดเนื้อสัตว์ทั่วไป
อัตตาของคนกินเนื้อสัตว์เมื่อยึดดีแล้วจะทำให้ต่อต้านการลดเนื้อกินผัก ต่อต้านการกินมังสวิรัติ ต่อต้านการกินเจ หากต้องเจอข้อมูลมังสวิรัติมากๆหรือโดนกล่าวหาว่ากินเนื้อไม่ดีก็อาจจะเกิดการโต้เถียง เอาชนะ ทะเลาะเบาะแว้งเหตุเพราะตนนั้นยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์
2). ความยึดดีของคนที่กินมังสวิรัติได้และยังคงกินเนื้อสัตว์
ในระยะที่เจริญขึ้นมาบ้างแล้ว เราสามารถรับรู้โทษชั่วของการเบียดเบียนได้บ้างจึงหันมากินมังสวิรัติ แต่ก็ยังไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ได้ในหลายๆเหตุผล อาจจะตัดสำหรับตัวเองไม่ได้หรืออาจจะตัดสำหรับคนอื่นไม่ได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่ามังสวิรัติดีนะ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็จะกลับไปกินเนื้อสัตว์โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆให้กลับไปกิน เช่นความพอดีบ้างละ ธาตุอาหารบ้างละ สุขภาพบ้างละ จริงๆรากทั้งหมดนั้นมาจากความอยากนั่นละ ในมุมของการตัดสำหรับคนอื่นเช่น เรากินมังสวิรัติได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่เห็นดีกับการให้ลูกหลานกินหรือให้คนป่วยกินเพราะยังมีความหลงผิดในความรู้และยังมีความยึดในเนื้อสัตว์อยู่
สำหรับคนที่อยู่ในระยะกลางนี้จะเรียกว่าครึ่งๆกลางๆก็ได้ จะเป็นผีก็ไม่ใช่เป็นคนก็ไม่เชิง จะมังสวิรัติก็ไม่ชัดจะกินเนื้อสัตว์ก็ไม่เต็มที่ กินมังสวิรัติก็กินอย่างไม่รู้สาระ ไม่รู้กิเลส กินผ่านๆไปในแต่ละมื้อ จะกินเนื้อสัตว์ก็มีฟอร์ม มีลีลาก่อนกิน อ้างเหตุผลพอประมาณให้ดูดีแล้วค่อยกิน ก็จะวนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความยึดดี ใครบอกว่ามังสวิรัติไม่ดีนี่ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ เพราะตนเองนั้นกินมังสวิรัติ แต่ถ้าบอกให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็จะทำไม่ได้ เพราะยังไปยึดเนื้อสัตว์ว่าดีอยู่เช่นกัน เหมือนคนสองจิตสองใจยังไม่ยอมเลือกข้างชัดเจน ยังแยกกุศลอกุศลไม่ชัด ไม่ชัดแจ้งในธรรม ไม่ชัดเจนในกรรม
ในระยะนี้หลายคนอาจจะหลงยึดไปได้ว่านี่แหละคือความพอดีที่สุดในชีวิต คือกินเนื้อบ้างกินผักบ้างไม่ให้ทรมานตัวเองเกินไป ซึ่งเป็นทางสายกลางคนละแบบกับของพุทธ แต่จะหลงเข้าใจไปว่าถูกทางพ้นทุกข์ เข้าใจว่าพอดี เป็นกลาง ไม่ยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ถ้าเข้าไปในสภาวะเช่นนี้เรียกว่าหลงบรรลุธรรม เพราะเดินมายังไม่ถึงครึ่งทางก็หลงเข้าใจว่าถึงเป้าหมายแล้ว คนจะมาติดในระยะนี้เยอะมาก จะมายึดอยู่แค่ระยะนี้แล้วสร้างเกราะอัตตามาพอกไว้แล้วจะไม่ยินดีไปต่อ ไม่ยินดีในความดีที่มากกว่า เพราะถ้าอยู่ตรงนี้จะได้เสพทั้งเนื้อสัตว์ที่สนองกิเลสตัวเองได้และกินผักซึ่งเป็นข้ออ้างเอาไว้อวดว่าตนดีได้ เรียกได้ว่าสร้างเกราะเพื่อทำบาปโดยป้องกันไม่ให้ความดีเข้าไปถึงตัวและไม่ให้ใครมาว่าเราว่าชั่ว แล้วเสพกิเลสอยู่ในภพ อยู่ในสภาวะในอัตตาที่ตัวเองสร้างไว้ ไม่ยอมให้ใครไปยุ่ง
ถึงระยะนี้จะเริ่มอัตตาแรงและเป็นภัยมากขึ้น เพราะหลงยึดว่าเนื้อก็ดีผักก็ดี เมื่อเจอคนที่กินแต่เนื้อสัตว์จะไม่มีอาการเท่าไหร่เพราะยังเสพกิเลสเช่นเดียวกัน จะพูดออกไปมากก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็ยังชอบเนื้อสัตว์อยู่ แต่ถ้าเจอคนที่กินมังสวิรัติเก่งๆมาข่ม ก็จะเกิดอาการต่อต้านขึ้นมาทันที มีเหตุผลต่างๆนาๆที่จะบอกว่าเนื้อบ้างผักบ้างดี คนกินมัง 100% สิไม่ดี ไม่ปล่อยวาง ไม่พอดี เห็นไหมว่าอัตตาจะทำให้มองเห็นกรงจักรเป็นดอกบัว เห็นคนมีศีลเป็นคนไม่มีสาระ
คนกินเนื้อจะไม่ค่อยมีปัญหาในการกระทบกับคนกินมังสวิรัติมากนัก เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผิดบาปและยอมรับในศีลจึงเกิดศรัทธาในคนกินมังสวิรัติ ยกเว้นคนที่กินเนื้อจนเข้าระดับยึดเนื้อสัตว์ว่าดีจะเป็นอีกกรณี แต่คนที่หลงยึดดีในเนื้อและผักเป็นความพอดีนั้น จะไม่เคารพในศีลที่สูงกว่าของผู้กินมังสวิรัติได้ดีกว่า เพราะหลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ตนเองก็สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ด้วยความพอดีจึงกลับมากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง เป็นทางสายกลางที่เข้าใจไปเอง และยังมองว่ามังสวิรัติสุดโต่ง
ตรงนี้เองคือบาปและอกุศลที่จะต้องได้รับมากขึ้น เป็นนรกที่หนักกว่าคนกินเนื้อสัตว์ เพราะยิ่งเจริญขึ้นมาบ้างยิ่งต้องระวังต้องสำรวม ระวังจะไปมีอัตตา เพราะการมีอัตตานอกจากจะทำให้เราไม่เจริญแล้วยังทำให้เราหลงผิดคิดว่าตนบรรลุธรรม แล้วมีอาการยึดดี อวดดี หลงตนเองจนทำให้ไปปรามาสผู้ที่มีศีลมากกว่าได้
การจะออกจากความเหยาะแหยะต้องใช้ความจริงจังเข้ามาช่วย คือเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่งจะเลือกด้านมังสวิรัติก็ได้ จะเลือกกินเนื้อก็ได้ ถ้าทำดีทำชั่วชัดเจนผลกรรมมันก็จะชัดเจนมากขึ้นไปด้วย คนที่ทำดีมากก็เห็นดีมาก คนที่เบียดเบียนมากก็จะได้รับผลเสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอีกจุดที่เจริญขึ้น จำเป็นต้องล้างอัตตาเสียก่อนเพราะความยึดทำให้เราก้าวออกไปไม่ได้ ทำให้เราไม่พัฒนา ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่เสื่อมลงนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไร พอมันไม่ทำดี มันก็สะสมชั่วไปในตัวนั่นเอง
3). ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติ
คนที่กินมังสวิรัติได้ 100% ไม่ตกร่วง ไม่พลั้งเผลอ แม้ว่าจะต้องออกไปนอกสถานที่ ไปประชุม ไปต่างจังหวัด ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปงานเลี้ยงครอบครัว ไปที่ไหนๆก็สามารถลดเนื้อกินผักได้ สามารถอนุโลมได้บ้างในบางกรณี แต่การจะไปหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากนั้นไม่มีแล้ว อาหารใดที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์อย่างชัดเจนเพื่อให้ได้รสเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบนั้นไม่เอาแล้ว ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไม่มีแล้ว
หรือแม้กระทั่งผู้ที่กินมังสวิรัติได้นานๆ หลายเดือนติดต่อกัน หรือหลายปีติดต่อกันก็จะอนุโลมให้อยู่ในหมวดนี้แม้ว่าจะกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างก็ตาม แต่ลักษณะของการยึดมังสวิรัติว่าดีนั้นมีเต็มที่แล้วเพียงแต่อินทรีย์พละอาจจะยังไม่พอ
ในระยะนี้ถือว่าเจริญได้มากแล้ว พ้นภัยจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก แต่มักจะต้องมาติดอัตตายึดว่ามังสวิรัติดี กินมังสวิรัติแล้วเป็นคนดี ดูดี ศีลดี มีบุญ มีปัญญา มีสติ จะเริ่มรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน ไม่สามารถกินร่วมในวงเนื้อสัตว์ได้อย่างสบายใจ กินมังเขี่ยแล้วเป็นทุกข์เพราะรู้สึกขยะแขยง รวมทั้งรู้สึกไม่ดีกับคนกินเนื้อสัตว์ มีอาการข่มคนที่กินเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินมังสวิรัติไม่ได้เต็มที่
เมื่อมีคนมาแซว ด่า ว่า คนที่กินมังสวิรัติว่าโง่หรือบ้าจะมีอาการรุนแรงมาก เพราะยึดดีมาก ความรุนแรงจะเกิดตามสภาพที่ลดเนื้อสัตว์ได้ ยิ่งลดได้สมบูรณ์ก็จะยิ่งมีความยึดดีรุนแรง ไม่พอใจรุนแรง โกรธรุนแรง
คนที่อยู่ในระยะนี้จะยิ่งหลงว่าตัวเองบรรลุธรรมมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เบียดเบียนแล้วดูเป็นคนดีมาก ผู้คนต่างสรรเสริญเป็นเหมือนพ่อพระแม่พระของสัตว์อื่น สามารถสอนคนกินเนื้อสัตว์ได้เต็มที่เพราะตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว มีบารมีมาก มีพลังมาก ซึ่งโดยส่วนมากจะเข้าใจว่าสุดทางแล้ว จบแล้ว บรรลุแล้ว ซึ่งก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียวมันยังมีดีกว่านั้นอีก
แต่เมื่อเกิดการยึดดีแล้ว ก็จะไม่ยินดีในการพัฒนาจิตใจต่อ ไม่ยินดีในการดับอัตตา เพราะหลงว่าอัตตานั้นเป็นของดี หลงในความดีความดูดีของผู้กินมังสวิรัติ กอดไว้เป็นอัตตาของตน อาจเพราะหลงในยศ สรรเสริญ และสุขที่ได้รับมากขึ้นในระยะนี้จึงทำให้หลงยึดและไม่ยอมไปต่อ
เมื่อจิตมันยึดไม่ยอมไปต่อแล้วมีผู้มาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของอัตตานั้น ก็จะเกิดการต่อต้านเพราะตนหวงแหนอัตตา เมื่อต่อต้านก็สามารถออกอาการได้หลายรูปแบบไม่ต่างกับคนยึดมั่นถือมั่นทั่วไป สามารถโกรธ ไม่พอใจ ทะเลาะเบาะแว้งได้เหมือนคนทั่วไป มีความอยากเอาชนะเป็นแรงผลักดันเพราะยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อนั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ถ้าอย่างดีก็คือสงบไม่ตอบโต้ แต่ไม่เชื่อไม่พิจารณาตามให้เห็นถึงโทษของอัตตา พอไม่เชื่อคนที่มาชี้ให้เห็นอัตตามันก็ยึด พอมันยึดก็ไปไหนไม่ได้ ติดอยู่ในภพนี้ต่อไป
4).ความยึดดีของคนกินมังสวิรัติที่มองกลับมาที่คนยึดดี
ในระยะนี้จะเป็นขั้นกว่าของคนที่กินมังสวิรัติได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะสามารถกินมังได้ 100% ไม่มีความอยาก ไม่มีอัตตาไปอัดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ สามารถกินอาหารร่วมจานกับผู้อื่นได้โดยไม่ทุกข์ แม้อาหารนั้นจะมีส่วนประกอบของสัตว์ปนอยู่บ้างก็จะสามารถอนุโลมไปได้เป็นกรณีๆแต่จะไม่ทำบ่อย โดยหลักอยู่ที่ความไม่ทุกข์ใจใดๆเลยนั่นเอง
แม้จะมีใครมาด่าว่ามังสวิรัติอย่างไร ใครจะว่าโง่ว่าบ้าก็ยังเฉยๆ สามารถกินมังสวิรัติไปได้พร้อมๆกับการรับคำด่าของคนอื่นและยังสามารถสอนเขากลับด้วยท่าทีสุภาพ ด้วยเมตตา ด้วยความเห็นใจ ด้วยความเข้าใจในเวลาเดียวกัน
ผู้อยู่ในระยะนี้คือผู้เจริญมากแล้วพ้นภัยจากความทุกข์ของอัตตามาได้มากแล้ว ไปกินมังสวิรัติที่ไหนก็ไม่ทุกข์ ใครจะกินเนื้อเราก็ไม่ทุกข์ ไปดูสัตว์ถูกฆ่าดูเนื้อสัตว์ในตลาดเราก็ไม่ทุกข์
แต่มันจะเหลือทุกข์จากอัตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอัตตาปลายสุดท้ายคือยึดสภาพนี้ว่าดี ยึดว่าสภาพที่พ้นจากการเสพเนื้อสัตว์และพ้นจากอัตตามากแล้วนี่คือดี จึงทำให้มีอัตตาเหลือในส่วนหนึ่ง เมื่อมองลงไปในคนจำพวกมังสวิรัติที่ยึดดี อัตตาแรงๆก็จะรู้สึกทุกข์ รู้สึกเห็นใจ รู้สึกอยากสอน แต่คนกินเนื้อสัตว์ คนกินเนื้อกินผักเราไม่ไปทุกข์กับเขาแล้วนะ แต่จะมาทุกข์กับพวกกินมังได้ดีแล้วติดดีนี่แหละ
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการที่เราจะออกจากชั่วได้เราต้องใช้ความดี ความยึดดีเป็นตัวช่วยผลักดันเราออกมา ทีนี้พอเราผ่านมาได้มันจะเหลือความยึดดีอยู่ เหลืออัตตาอยู่ จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อผ่านมาแล้วมักจะมีปัญหากับคนที่มีลักษณะเหมือนเราก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าเราเพิ่งเคยผ่านมา เราเพิ่งเห็นทุกข์มา เราเห็นว่ามันไม่ดี เราก็เกลียด พอเราออกมาได้เจริญมาได้เราก็ยังเหลือความยึดดี สิ่งนี้เองจะทำให้เราทุกข์กับคนที่ตามหลังเรามาติดๆ
ความยึดดีตรงนี้แม้จะบางและน้อยแต่ก็ยังเป็นความชั่วอยู่ดี ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ดี แต่ข้อดีของคนที่อยู่ในระยะนี้คือเขาเหล่านั้นจะล้างอัตตาเป็นแล้ว เพราะล้างมาตั้งแต่ตอนกินมังสวิรัติติดดีแล้ว เมื่อพบกับอาการที่เราไปข่ม ไปอวด ก็จะสามารถจับอาการเหล่านี้ได้เอง และล้างกิเลสได้เอง ผู้ที่อยู่ในระยะนี้คือผู้ที่เจริญแล้ว แม้จะยังขัดเกลาตัวเองไม่สำเร็จแต่ก็คือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่ความพ้นทุกข์จากเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติในสักวันหนึ่ง
5).ความไม่ยึดดี
เป็นสภาวะสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายปลายทางของนักมังสวิรัติทุกคน เป็นสภาพที่สุขที่สุด ไม่มีอะไรเปรียบได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ความไม่ยึดดีหรือไม่มีอัตตา หรือจะเรียกว่าอนัตตาคือไม่มีตัวตนแห่งทุกข์ ไม่มีตัวตนให้ทุกข์ ไม่มีตัวตนของกิเลสในเนื้อสัตว์และความยึดดีในมังสวิรัติเหลืออยู่
ชีวิตยังมีอยู่ ร่างกายและอวัยวะยังมีอยู่ การย่อยสลายอาหารเป็นพลังงานยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์ในเรื่องของมังสวิรัตินั้นไม่มีแล้ว ไม่ว่าใครจะทำอย่างไร จะพูดอะไร ใครจะกินเนื้อ ใครจะกินมังสวิรัติ ใครจะติดดี ใครจะเจริญ เราจะไม่ไปทุกข์กับเขาไม่ไปยินร้ายกับเขาจะมีแต่ความยินดี แม้จะเห็นคนกินเนื้อก็ยินดี กินมังสวิรัติก็ยินดี กินครึ่งๆกลางๆก็ยินดี เพราะเข้าใจแล้วว่าคนมันก็เป็นแบบนี้ แม้วันนี้เขาจะยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหน้าเขาอาจจะเป็นนักมังสวิรัติที่กล้าแกร่งก็ได้ และแม้บางคนจะกินมังสวิรัติอยู่ ในวันหนึ่งเขาอาจจะเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ได้ มันไม่เที่ยงทั้งในเรื่องความเจริญและความเสื่อม เข้าใจแล้วว่าการจะมาล้างกิเลสในการกินมังสวิรัติให้สิ้นเกลี้ยงนั้นยากสุดยาก พอเห็นความจริงดังนั้นจิตจึงตั้งไว้ที่อุเบกขา
แม้จะมีเหตุการณ์ใดเข้ามากระทบ เราก็จะเมตตา กรุณา มุทิตา และจบลงที่อุเบกขาได้เสมอ ช่วยคนไปแล้ววางใจได้เสมอ ไม่ติดไม่ยึด ไม่ทุกข์ร้อนใดๆ กับเพื่อนชาวมังสวิรัติหรือเพื่อนมนุษย์ผู้ยังกินเนื้อและสัตว์ทั้งหลาย เพราะรู้แจ้งแล้วในเรื่องกิเลสและกรรม รู้ชัดจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากกรรม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นก็เกิดขึ้นจากกรรมที่เรากำลังตัดสินใจทำด้วย เมื่อชัดเจนในกรรมดังนั้นจึงเข้าใจคนในทุกฐานะของการกินมังสวิรัติ จะไม่โกรธไม่เกลียดใครเลย
ความเข้าใจทั้งหมดนั้นเกิดจากการสะสมความรู้ตั้งแต่ยังเสพติดเนื้อสัตว์ผ่านพ้นมาจนถึงระดับนี้ได้ ได้ผ่านการเรียนรู้ในทุกระดับมาหลายภพหลายชาติจนรู้ชัดเจนในทุกเหลี่ยมทุกมุม พอรู้ทั้งหมดมันก็รู้ว่าอัตตานี่มันไม่ดี มันชั่ว มันเลว มันเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ก็จะทำลายอัตตานั้นทิ้งไปจนกระทั่งเป็นอนัตตา
เรื่องของมังสวิรัติทั้งหมดมันก็จบตรงนี้นี่เอง ส่วนจะเลือกทำอะไรต่อไปนั้นก็อยู่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น ไม่มีบุญหรือบาปอีกต่อไป เพราะไม่มีตัวตนให้มีกิเลส ให้มีการสะสมกิเลส หรือให้มีการดับกิเลส เพราะมันไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วจึงมีแต่ทำความดีต่อไปเท่านั้นเอง
ในสภาพนี้จึงสามารถกินมังสวิรัติต่อไปได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นแต่เพียงว่ายึดอาศัย อาศัยให้เกิดความดี อาศัยให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกายนี้ อาศัยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและปฏิบัติตาม เป็นแบบอย่างแห่งความดีด้วยความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นสืบไป
– – – – – – – – – – – – – – –
4.12.2557
เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม
การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม
เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย
ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว
ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน
ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้
ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้
สัมมาทิฏฐิ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง
ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ
การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ
ปรโตโฆสะ
คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน
กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ
โยนิโสมนสิการ
เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น
….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน
ความเสื่อมของชาวพุทธ
การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา
เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก
เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน
เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย
นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )
– – – – – – – – – – – – – – –
11.10.2557