Tag: สัตว์นรก

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,032 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,917 views 0

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์นั้น หลายคนก็คงจะเข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่มีเมตตา มีปัญญา มีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน สร้างสรรค์สังคมและโลกให้เป็นไปอย่างสงบร่มเย็น

แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถเป็นสัตว์นรกได้เช่นกัน เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน เห็นแก่ตัว ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายผู้อื่น อยากได้อยากมีสิ่งต่างๆมาปรนเปรอกิเลสตนเอง เป็นมนุษย์นรกที่สามารถสร้างความเดือดร้อนฉิบหายวายวอดให้กับคน สัตว์ และโลก สามารถทำสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าที่สัตว์เดรัจฉานจะสามารถทำได้

สัตว์นั้นล่าเพื่อดำรงชีพ ประทังความหิว ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันในทุกวัน แต่มนุษย์นั้นล่ามาเพื่อบำรุงบำเรอกิเลส จะว่ามีปัญญาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่ และจะว่ามีตัณหาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่อีกเหมือนกัน

เมื่อได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับผู้กินมังสวิรัติและปัญหาที่มีการถกเถียงกันในสังคมจึงนำมาวิเคราะห์และตอบคำถามกันใน 7 ประเด็นนี้

1)…คนเป็นสัตว์กินพืช หรือสัตว์กินเนื้อ

มีประเด็นที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งระหว่างนักมังสวิรัติกับคนที่หลงรักเนื้อสัตว์ในเรื่องคนเป็นสัตว์กินพืชหรือกินเนื้อ โดยมักจะเอาหลักฐานมาตอบโต้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฟัน ลำไส้และระบบการย่อย สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันไปก็เท่านั้น เอาชนะกันไปก็เท่านั้น ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าจริงๆคนเป็นสัตว์กินพืช ยังไงคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ก็ยังเลิกไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละแต่ที่แน่ๆ คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส

ในความเป็นจริงแล้วคนกินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เราสามารถย่อยและได้พลังงานจากแหล่งพลังงานทั้งสอง แต่ผลที่ได้จะไม่เหมือนกัน หมู่คนที่มักกินเนื้อเป็นหลัก กินเนื้อเป็นส่วนมาก มักจะมีโรคมากและอายุสั้น เช่นชาวเอสกิโม มีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ด้วยเหตุแห่งโรคเช่น มะเร็ง ในทางกลับกันชาวฮันซาได้ชื่อว่าอายุยืนนั้น มักจะไม่กินเนื้อสัตว์ กินพืชเป็นหลัก มีผลทำให้อายุเฉลี่ยประมาณ 120 ปี และไม่มีอาการป่วยจากโรคยอดฮิตเช่น มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ ชาวฮันซาที่อายุ 90 ยังแข็งแรงและสามารถเต้นได้

ดังจะเห็นได้ว่าทั้งพืชและเนื้อสัตว์มันกินได้เหมือนกันแต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นคนที่หลงเสพติดเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์มาก มีส่วนเบียดเบียนมาก เขาก็จะมีโรคมากและอายุสั้น เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตของตัวเองพิสูจน์สัจจะนี้ เขาเสียสละให้เราเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ มีโทษอย่างไร เราก็ดูเขาไป ไม่ต้องไปบังคับให้ใครเขามาเชื่อตามเราว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี หรือไปบอกว่าทุกคนควรกินมังสวิรัติ

เพราะการจะมากินมังสวิรัติได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้รู้อย่าลึกซึ้งถึงคุณค่าของการกินมังสวิรัติและโทษจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นเป็นอย่างมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ หลายคนยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ได้เสพรสที่ตนติดใจและหลงใหล โดยไม่หวั่นเกรงต่อบาป เวร ภัยที่จะเกิดกับตัวเองแม้แต่น้อย

การที่เรามัวแต่จะไปเอาชนะกัน ข่มกัน เอาเหตุผลมาขัดแย้งกันด้วยอารมณ์เป็นการสร้างความบาดหมาง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย ผู้กินมังสวิรัติไม่ควรจะไปเถียงกับใครจนเกิดความผิดใจกัน ควรจะชี้แจงด้วยเหตุผลแต่พอดี เขาจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ เราได้บอกเขาแล้ว เราก็วาง สุดท้ายผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่บาปบุญของเขา แต่เราจะไม่ไปทะเลาะกับเขาอย่างแน่นอน

ผู้กินมังสวิรัตินั้นนอกจากจะต้องมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์เดรัจฉานแล้วยังต้องมีความเจริญทางจิตใจด้วย ไม่อย่างนั้นคนกินเนื้อเขาจะดูถูกเอาว่ากินผักกินหญ้าเหมือนวัวเหมือนควาย กินมังสวิรัติแล้วไม่มีปัญญา กินมังสวิรัติแล้วยังนิสัยเสียอยู่เหมือนเดิม เมื่อชาวมังสวิรัติถูกกล่าวหา พึงตั้งตนอยู่ในคำสอนสองประการของพระพุทธเจ้าคือ ๑ พึงตั้งตนอยู่ในความจริงแท้ ๒. ไม่หวั่นไหวขุ่นเคือง ผู้ที่สามารถทนต่อแรงกระแทกของโลก หรือทนต่อคำพูดของคนส่วนใหญ่ที่เขายังเสพเนื้อและหาเหตุผลมากมายที่จะยืนยันว่าการเสพเนื้อนั้นดีได้โดยไม่มีการทะเลาะวิวาท จึงจะเป็นผู้ที่เจริญ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ไม่โกรธตอบ ผู้ที่กำลังโกรธอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

คนที่เขาเห็นผิด เขาก็ต้องเห็นความถูก(มังสวิรัติ)เป็นความผิดอยู่แล้ว จะให้เขาเห็นเรื่องที่ถูกที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกไม่ได้ ดังที่เขาเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นถูกนั้นดี ทั้งที่จริงๆแล้วการเบียดเบียนเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เขาจะได้รับทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนของเขาในวันใดก็วันหนึ่ง และสุดท้ายในชาติใดชาติหนึ่งเขาก็จะเข้าใจและหันมากินมังสวิรัติเอง

2)…มังสวิรัติมีงานวิจัยรองรับไหม?

เรื่องมังสวิรัติมีงานวิจัยมากมาย และหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่างานวิจัยคือ มีคนกินมังสวิรัติที่ยังใช้ชีวิตปกติหรือมีศักยภาพมากกว่าคนทั่วไป ให้ได้ตรวจสอบคุณค่าของการกินมังสวิรัติ เป็นหลักฐานตัวเป็นๆ ไม่ใช่แค่กระดาษที่อาจจะสามารถอุปโลกน์กระบวนการวิจัยหรือบิดเบือนการเก็บข้อมูลได้ ยังเป็นคนที่ใช้ชีวิตมังสวิรัติอยู่ในโลกใบนี้ โลกเดียวกับคนที่เห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี โลกเดียวกับคนที่คิดว่าการขาดเนื้อสัตว์จะไม่แข็งแรงนั่นแหละ

ในปัจจุบันเรามีความเจริญทางด้านการแพทย์ในการดูแลสุขภาพมากมาย แต่เรากลับพบโรคมากขึ้น คนป่วยมากขึ้น หมอและพยาบาลทำงานหนักมาขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อสังคมพัฒนาไปเรื่อยๆเราก็น่าจะมีความสุขขึ้น มีโรคน้อยลง อายุยืนยาวขึ้นสิ

แต่ในทุกวันนี้กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เรามีอายุน้อยลง มีโรคมากขึ้น มีความสุขน้อยลง แม้ว่าเราจะได้เสพสมใจในสิ่งต่างๆก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เรากำลังใช้ชีวิตเบียดเบียนใครอยู่หรือเปล่า ทางที่เราเดินนั้นจะพาเราไปสู่ความสุขจริงหรือ การกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้แข็งแรงจริงหรือ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่องานวิจัยของพระพุทธเจ้าที่ท่านประกาศมาเมื่อกว่า 2600 กว่าปีมาแล้ว ว่าคนที่จะสงบจากกิเลสคือคนที่ไม่เบียดเบียน ,คนที่จะมีความผาสุกคือคนที่ไม่เบียดเบียน ส่วนใครจะเชื่องานวิจัยยุคใหม่ว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ก็ตามใจ เพราะผมเองเชื่อเต็มใจว่าไม่มีใครรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งไปกว่าพระพุทธเจ้าแน่นอน

3)…ยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย

กลายเป็นเรื่องปกติของนักบวชยุคนี้ไปแล้วที่มีการฉันเนื้อสัตว์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความพระทั้งหมดจะกินเนื้อสัตว์ ยังมีพระและนักบวชบางส่วนที่ท่านไม่ยินดีฉันเนื้อสัตว์ทำไมถึงมีทั้งนักบวชที่ยินดีและไม่ยินดี?

เหตุนั้นคงเพราะกิเลส นักบวชคนใดที่ไม่มีกิเลส รู้ถึงโทษของการเบียดเบียน ก็จะพร่ำสอนให้เหล่าศิษย์และผู้ศรัทธาได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ ในกรณีเดียวกัน นักบวชใดที่ยังไม่ตระหนักว่าความอยากกินเนื้อสัตว์คือกิเลส ก็จะไม่พร่ำสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ หากสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปแล้ว ตนเองก็อาจจะอดเสพเนื้อสัตว์ที่ตนหลงชอบไปด้วย

นักบวชนั้นอาจจะรับประเคนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ท่านจะฉันหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราไปถวายอาหารให้พระ ก็จะมีอาหารมากมายหลากหลาย ท่านสามารถพิจารณาอาหารได้ตามที่สมควร ตามกิเลสและปัญญาที่ท่านมี กิเลสมากก็หยิบเนื้อสัตว์กินไป กิเลสน้อยก็กินพืชผักแล้วพร่ำสอนให้คนได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีคุณหรือประโยชน์ใดๆเลยในการเบียดเบียน ไม่ใช่สิ่งที่น่าสรรเสริญ กลับเป็นสิ่งที่ควรละอาย ว่าเรายังต้องใช้ชีวิตสัตว์อื่นมาเลี้ยงกายเพื่อเสพกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะจริงๆแล้วมีเนื้อสัตว์ที่กินได้อยู่ นั่นคือเดนสัตว์ ซากสัตว์ที่สัตว์อื่นล่ามาแล้วเหลือทิ้งไว้ และสัตว์ที่ตายเองตามกรรมของมัน นั่นคือเนื้อที่กินได้ ไม่บาปในส่วนของปานาติปาต

ท่านยังตรัสตอบในตอนที่พระเทวทัตขอให้บัญญัติว่าให้นักบวชในพุทธศาสนาห้ามกินเนื้อสัตว์ ใครกินถือว่าผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เออออตามพระเทวทัต เพราะโดยสัจจะนั้นมีเนื้อที่กินได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ท่านจึงได้บัญญัติว่าสามารถกินเนื้อได้โดยให้เนื้อนั้นบริสุทธิ์ โดย ๓ ประการ คือ

๑ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่ามา .. เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้เห็นไม่ได้รับรู้ว่าเขาได้จากการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีฟาร์มสัตว์ มีโรงฆ่าสัตว์..

๒ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา … เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้ยินใครกล่าวอ้างว่าเขาได้จากการสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็ได้ยินแล้วว่าเนื้อชิ้นนั้นซื้อมาจากตลาด ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์

๓ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา … ข้อสุดท้ายนี้คือข้อวัดคุณธรรมของคนอย่างแท้จริง ในสองข้อแรกนั้นยังพอใช้กิเลสหลีกเลี่ยงว่าไม่ผิดได้ แต่ในข้อสุดท้าย เรารู้อยู่เต็มอกว่าเนื้อสัตว์ในยุคสมัยนี้เกิดจากการฆ่ามา ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ในจานใดๆ เขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น

เมื่อเกิดการฆ่า นักบวชผู้สงบจากกิเลสย่อมไม่ยินดีในการฆ่านั้น เมื่อไม่ยินดีจึงเกิดความรังเกียจในเนื้อนั้น เมื่อเกิดความรังเกียจก็ไม่สามารถกินเนื้อนั้นได้ เพราะไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่จะกินเนื้อสัตว์ที่เบียดเบียนมา

ในข้อสุดท้ายนี้ก็มีคนเฉโกเป็นอย่างมาก คือตีความเข้าข้างกิเลส ประมาณว่าอยากกินเนื้อเลยตีความให้กินเนื้อได้ ก็เลยบอกว่าตนเองไม่รังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ตีความเป็นแบบนี้ก็ออกนอกพุทธแล้ว เพราะพุทธนั้นย่อมไม่เบียดเบียน ย่อมไม่ยินดีในการเบียดเบียน พอตนรู้ว่าเนื้อนี้เขาฆ่ามา ไม่รังเกียจ เฉยๆ จิตว่าง คิดเอาเองว่ากินได้ ไม่บาป แล้วสุดท้ายก็กินเข้าไป มันก็มีแต่เพิ่มกิเลสเท่านั้นเอง เหมือนจะปล่อยวาง แต่ก็ไม่ปล่อยวาง

ผู้ปล่อยวางที่แท้จริงคือ ผู้ที่วางการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ทำให้สัตว์อื่นลำบาก คนที่ปล่อยวางโดยคำพูดแต่ยังเคี้ยวชิ้นเนื้ออย่างมีความสุขนั้นคือผู้ที่พูดธรรมะด้วยความคิด ไม่ใช่ความเข้าใจ

บางคนถึงกับอ้างว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครรู้หรอกเพราะเกิดไม่ทัน แม้ท่านจะรับประเคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ในยุคนี้ไม่มีใครเกิดทัน คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็ได้แต่เดาๆกันไปว่าท่านกินเนื้อสัตว์ประมาณว่าหาเหตุผลเพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์โดยชอบธรรม

พระพุทธเจ้าบอกไว้ก่อนปรินิพพานว่า หลังจากท่านปรินิพพานไปแล้วพระธรรมจะเป็นศาสดาแทนท่าน และในบทโอวาทปาติโมกว่าด้วย เรื่องบรรพชิต (ผู้ออกบวช) ว่าถ้ายังกำจัดสัตว์อื่นอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ออกบวชในพุทธศาสนา และ สมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) ถ้ายังเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้สงบจากกิเลสเลย

ธรรมะของศาสนาพุทธนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความมักน้อย เพื่อลดละกิเลส และกิเลสในด้านความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นกิเลสในระดับหยาบ ไม่ใช่กิเลสที่ฝังลึกแก้ยากแต่อย่างใด สามารถกำจัดได้ง่าย ได้โดยไม่ลำบากนัก หากนักบวชใดยังมีความสุขจากการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็ดูจะห่างไกลจากคำว่าผู้สงบจากกิเลสอยู่มาก

ถ้าเราเจอพระ หรือครูบาอาจารย์ที่เคารพก็ลองถามดูได้ว่าทำไมท่านไม่สนใจกินมังสวิรัติ ถ้าท่านยังไม่รู้โทษภัยของการเบียดเบียนก็ถวายธรรมเป็นทานให้แก่ท่านก็ได้ ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเบียดเบียนอย่างไร เปิดวีดีโอ เอาสื่อให้ท่านดู ให้ท่านพิจารณาเอาตามปัญญาของท่าน ที่เหลือก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรมว่าท่านจะเห็นว่าอย่างไร ถ้าท่านเห็นดีด้วยเราก็ให้ข้อมูลเพิ่ม ถ้าท่านไม่เห็นดีด้วยเราก็ปล่อยก็วางไป และกินมังสวิรัติของเราต่อไป วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่ง ที่ท่านเห็นโทษภัยของการเบียดเบียน ท่านก็จะเลิกกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา หันมากินมังสวิรัติเองนั่นแหละ

แต่ก็อย่างว่า… นี่มันก็ใกล้กลียุคแล้ว การที่ศาสนาจะเพี้ยนไปในทางเบียดเบียน เป็นไปในทางสะสม เป็นไปในทางเพิ่มกิเลสก็เป็นไปได้ ดังที่เราเห็นในข่าวที่ประโคมอยู่ในปัจจุบัน อย่าว่าแต่มังสวิรัติเลย ที่ชั่วกว่ามังสวิรัติก็มีมาก อลัชชีหรือคนหากินกับผ้าเหลืองที่แฝงมาในศาสนาก็ทำให้ภาพลักษณ์ศาสนาดูเหมือนจะเสื่อมไปไม่น้อย

4)…กินมังสวิรัติไม่มีแรง

เป็นประเด็นอุปาทานระดับโลก ถ้าไปถามคนหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆเขาก็จะตอบอย่างนั้น เพราะเขาไม่เข้าใจการกินมังสวิรัติ หรือกินไม่เป็น คือเลือกกินอาหารที่ไม่มีคุณค่า แต่ถ้าไปถามผู้ที่ใช้ชีวิตไปกับมังสวิรัติเขาก็จะตอบทันทีว่า “ข้อคิดเห็นที่ว่ากินมังสวิรัติแล้วไม่มีแรง ไม่เป็นความจริง

จากการทดลองกินมังสวิรัติ แม้ว่าจะกินมื้อเดียวต่อวัน (กินครั้งเดียว นอกจากนั้นไม่มีอะไรเข้าปากอีก ยกเว้นน้ำเปล่า) ยังสามารถที่จะมีกำลังขุดดิน ปลูกต้นไม้ ขนถุงปุ๋ย ผสมปูน ออกแบบงาน ออกแบบสถานที่ ฟังธรรม เรียกได้ว่ามีแรงทั้งบู๊และบุ๋น ได้ทั้งสายแรงงานและสายคิดคำนวณ ในเวลาทั้งวัน ตื่นตั้งแต่ตี 5.45 จนถึง 21.00 โดยประมาณ

ถ้าสามารถข้ามพ้นอุปาทาน หรือสภาพที่คิดไปเอง ข้ามความยึดมั่นถือมั่นว่าถ้าไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะหมดแรง อ่อนเพลีย ไปได้ ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าจริงๆแล้วกินมังสวิรัติมันก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายแตกต่างจากทั่วไปนักหรอก ออกจะเอนเอียงไปในทิศทางสบายกว่าเดิมด้วยซ้ำ

5)…เขาเกิดมาเพื่อให้เรากิน กินเขาแล้ว เขาได้บุญ

คนกินเนื้อหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าสัตว์นั้นเกิดขึ้นมาให้เรากิน จริงๆเขาไม่ได้เกิดมาให้เรากิน เราไปจับเขามา นำเขามาใส่กรง เพาะพันธุ์เขา ข่มขืนเขาด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ให้เขาได้ออกลูกออกหลานมาให้เรากิน กักขังเขา ผลิตเขา มองเขาเป็นทรัพย์ของเรา เป็นอาหารของเรา ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่เคยพูดกับเราสักคำว่ายินดีให้เรากิน ไม่มีสัตว์ตัวไหนยินดีจะตาย มันทั้งวิ่งหนี ทั้งร้องไห้ เมื่อมันจะต้องถูกจับ ถูกฆ่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาเกิดมาเพื่อให้เรากินหรือ? เราสามารถข่มเหงเขาได้หมายความเขาเป็นของเราหรือ? การที่เขาวิ่งหนีคือความยินดีให้เรากินจริงๆหรือ?

เราสามารถเลือกที่จะกินหรือไม่กินเขาได้ แต่โดยสามัญของกึ่งพุทธกาล คนส่วนมากมันโดนมอมเมาด้วยกิเลส หลงมัวเมาว่ากินเนื้อไม่ผิด เราจำเป็นต้องกินเนื้อ ถึงขนาดหลงหนักๆไปว่ากินเขาแล้วเขาจะได้บุญ ก็เฉโกกันไปตามกำลังกิเลสของแต่ละคน

เราไปกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามามันไม่มีบุญอยู่แล้ว เพราะครบองค์แห่งปาณาติปาต บาปเน้นๆไม่ต้องคิดกังวลเลย แม้แต่ในบทของมิจฉาวณิชชาว่าด้วยการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรกระทำ คือ ค้าขายสัตว์เป็น และค้าขายสัตว์ตาย สรุปคือไม่ว่าจะขายสัตว์เป็นหรือตายก็ไม่ใช่พุทธ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้าม แต่บอกว่าชาวพุทธไม่ควรทำ จะทำก็ได้ แค่ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ และถ้าศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อความผาสุก แล้วเราทำไม่ถูกทางพุทธ ก็หันหัวไปนรกเท่านั้นเอง

สัตว์ที่ถูกฆ่ามาเป็นอาหารก็ไม่มีทางได้บุญ เพราะคำว่าบุญ หมายถึงการชำระกิเลส การลดกิเลส แล้วโดนฆ่าตายมันกิเลสลดตรงไหน ถ้าบอกว่าตายเพื่อใช้กรรมอันนี้ค่อยตรงประเด็น เพราะถ้าไม่ทำกรรมมาก็ไม่ต้องไปต้องมาตายอย่างทรมาน ก็เป็นไปตามสัจจะ ดังนั้นการจะบอกว่าเรากินเขา เขาได้บุญ อันนี้คิดเข้าข้างตัวเองกันไปเพราะความหลง

หรือถ้าสมมุติแบบมั่วๆมิจฉาทิฏฐิหลุดโลกเลยว่า “กินเขา เขาได้บุญ” เอาแบบคิดเฉโกสุดๆไปเลย แล้วเรากินเขา สุดท้ายเราเอาร่างกายที่ได้พลังงานจากเนื้อของเขาไปทำบาป ไปเสพกิเลส ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ ไปทำลายโลก ไปหลงมัวเมากับกิเลส เช่น เอาร่างกายไปแต่งตัวโป๊ๆยั่วกามชาวบ้าน เอาร่างกายไปเสพอาหารอร่อย เอาร่างกายไปท่องเที่ยวบันเทิงเริงใจ เอาร่างกายไว้ห้อยกระเป๋าแพงๆ เอาร่างกายไว้ทำสารพัดกิจกรรมสนองกิเลส…มันจะได้บุญตรงไหน เขาตายไปเพื่อให้คนกิเลสหนา เอาไปต่อชีวิตสะสมกิเลส แล้วก็ไปกินพวกพ้องเขาต่อ มันได้บุญตรงไหน อย่างไร?

6)…มังสวิรัติ พวกโลกสวย

ถ้ามังสวิรัติคือโลกสวย โลกที่ไม่เบียดเบียนกัน แล้วมันไม่ดีหรือไร หรือเราชอบโลกที่เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ฆ่าฟันกัน อยากกินต้องล่า โดยไม่สนใจว่าผู้ที่ถูกล่า ถูกเบียดเบียนจะรู้สึกเช่นไร อย่างนั้นมันดีหรืออย่างไร ..อยากได้โลกแบบไหนต้องสร้างเอาเอง โลกมันจะเป็นอย่างไหนมันก็อยู่ที่คนสร้างให้เป็นแบบนั้น คนมีกิเลสสร้างโลกก็เต็มไปด้วยกิเลส มันก็เป็นเช่นนั้น โลกสวยเริ่มสร้างได้ตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมขยายขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่กำลังจะทำได้ ถึงจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่อย่างน้อยแค่พยายามทำตนเองให้เบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุดก็พอแล้ว

7)…รู้หมดแต่อดไม่ได้

การกินมังสวิรัติไม่ได้ง่ายขนาดจะคิดเอาแล้วตัดได้ทั้งหมด หลายคนลดการกินสัตว์ใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อื่นๆเหลืออยู่ บางคนแม้ว่าจะงดกินเนื้อสัตว์ทั้งหมดได้ แต่ก็ยังมีความอยากกินอยู่ จนบางครั้งตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์ อยู่ในสภาพที่ว่ารู้หมดว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่มันอดไม่ได้จริงๆ

อันนี้เรียกว่าไม่รู้จริง เพราะถ้ารู้จริง มันจะไม่มีความอยากเหลือเลย มันจะเบื่อ มันจะคลายความอยากไปเอง ต่อให้เอาเนื้อสัตว์ชั้นดีส่งฟรีถึงบ้านทุกเช้าก็ไม่สนใจใยดี ถ้ารู้จริงมันก็ต้องรู้แบบนี้ ถ้ารู้หมดแต่อดไม่ได้นี่แสดงว่ารู้ไม่จริง

การที่จะดับความอยากได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้สอนและถ่ายทอดวิธีการฆ่ากิเลสให้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจได้โดยการท่องจำ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องที่เดาเอาเองได้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูสัตว์ทรมานหรือดูสัตว์ตาย หรือเมตตาสัตว์แล้วจะผ่านไปได้ เพราะนรกจริงๆมันอยู่ที่ความสุขตอนเอาเนื้อสัตว์เข้าปาก ถ้ายังเหลืออารมณ์สุขอยู่แสดงว่ากิเลสยังไม่ตาย ต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิตแต่กิเลสไม่ตายมันก็ไม่ได้พบกับความผาสุกที่แท้จริงเสียที

ดังนั้นผู้ที่กินมังสวิรัติได้ไม่ควรประมาท เพราะการกินพืชผักทั้งชีวิต วัวควายมันก็กินได้ เราเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐผู้ประกอบไปด้วยปัญญา จึงควรเห็นค่าของมังสวิรัติมากกว่าแค่การกินพืชผัก มากกว่าแค่เมตตาสัตว์ มากกว่าแค่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นคือการกินมังสวิรัติเพื่อดับความอยากอย่างสิ้นเกลี้ยง จึงจะถือได้ว่าเป็นคุณค่าสูงสุดของการกินมังสวิรัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

30.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์