Tag: สวดมนต์
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
ในบทความนี้ ผมตั้งใจเรียบเรียงให้กับทั้งผู้ที่ระลึกถึงวาระสุดท้ายของตนเอง และผู้ที่ยังประมาท ใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินในกิเลส หลงมัวเมาในโลกธรรม จนหลงลืมว่าวาระสุดท้ายของเราเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ…
ผมมีประสบการณ์จากคุณยายของผมเอง ท่านเป็นมะเร็ง ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปดูแลท่านอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรก จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็กลับมาอยู่ที่บ้านสักพัก สุดท้ายก็อาการกำเริบต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลและจากไปในที่สุด
ผมจำแววตาสุดท้ายของคุณยาย ก่อนที่ท่านจะไม่รู้สึกตัวได้ดี เราเข็นเตียงพาท่านไปตรวจแสกนอะไรสักอย่าง ท่านได้แต่นอนอยู่บนเตียง ผมมองหน้าท่านแล้วยิ้มให้ แต่แววตาของท่านนั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความกังวล น้ำตาคลอที่เบ้า ผมรู้ดีว่าท่านกลัวผลที่จะออกมาจากการตรวจ กลัวที่จะรับรู้ความจริงที่โหดร้าย กลัวว่าจะต้องจากไป… ผมยังจำแววตานั้นได้ดี
คุณยายเป็นผู้หญิงแกร่งที่ต่อสู้มาทั้งชีวิต ซึ่งคุณตาก็เสียไปตั้งแต่ยายยังสาว ทำให้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกมา 5 คนด้วยตัวคนเดียว ทั้งยังสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ทำทานอยู่เป็นประจำ แต่ความแข็งแกร่งและบุญบารมีเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงผงธุลี เมื่อเจอกับการบดขยี้ของความทุกข์จากมะเร็งและความตายที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาเยือน
จากการเรียนรู้จากเรื่องราวของคุณยายทำให้ผมได้เข้าใจว่า เราจะมาคิดที่จะวางใจในนาทีสุดท้ายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะถึงเมื่อไหร่ และบุญบารมีที่ทำมาเพียงแค่ทำบุญตักบาตร บริจาคทานและสวดมนต์นั้น คงไม่เพียงพอที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขได้ในสภาวะที่ใกล้ตาย
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย…
การวางใจก่อนนาทีสุดท้ายนั้นสามารถทำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำใจให้วางได้จริงๆ ในเมื่อเรายังยึดสิ่งต่างๆอยู่ ยึดบ้าน ยึดตำแหน่ง ยึดหน้าที่การงาน ยึดครอบครัว ยึดบทบาทของตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน จะให้คนนั้นทำอย่างนั้นจะให้คนนี้ทำอย่างนี้ คนนั้นต้องมาเยี่ยมไม่เยี่ยมฉันจะทุกข์ ถ้าคนนี้ไม่มาดูแลเอาใจฉันจะทุกข์ ถ้าครอบครัวไม่มาอยู่ร่วมกันในนาทีสุดท้ายฉันจะทุกข์
เรากำลังจะต้องโดนบังคับให้ทิ้งร่างนี้ไปอยู่แล้ว แต่เรายังไปสร้างภพ สร้างเงื่อนไข สร้างการยึดไว้ แล้วเราจะวางได้อย่างไร? เรายังไม่ยอมถอดหัวโขน ไม่ยอมถอดความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นอะไรของใครหลายๆคน ยึดมันเอาไว้แบบนั้น ก็คงจะจะเป็นไปได้ยากหากจะปล่อยวาง เพราะวางแค่ปากกับกายก็คงจะไม่ไหว เพราะสุดท้ายแล้วใจคือประธาน จะเป็นตัวที่กำหนดทุกข์ กำหนดที่ไปของเรา
ไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปว่า ถ้าตายในขณะที่จิตเป็นทุกข์จะทำให้ไปนรก เพราะกรรมใดที่ทำมาแล้วให้ผลทั้งนั้น ถ้าชีวิตนี้ดีมาตลอด ชั่วไม่ทำ ทำแต่ดี ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไปที่ไหน ประตูนรกมันปิดไปหมดแล้ว มันก็มีแต่ดีน้อย ดีมาก ก็แค่นั้นเองส่วนคนที่ทำชั่วมามาก ชีวิตมีแต่อบายมุข มัวเมาในการเที่ยวกินเล่น หลงลาภยศสรรเสริญสุข ยึดมั่นถือมั่น จนเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ก็อย่าไปหวังเลยว่าถ้าไปตั้งจิตให้มันเป็นกุศลในนาทีสุดท้ายแล้วมันจะไปดี มันก็อาจจะไปดีได้สักพัก พอหมดบุญกุศลที่ทำมาก็วนกลับไปใช้กรรมชั่วที่ทำมาอยู่ดี
อีกอย่างคือ เราเองก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้กันชาติเดียว เราตายกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็แค่จำกันไม่ได้ การตายไม่ใช่การจากไปอย่างถาวร อีกไม่นานเราจะกลับมาเจอกันใหม่เหมือนที่เราเจอในชาตินี้ ในเมื่อยังมีกิเลส มีตัณหา มันก็จะพาเรากลับมาเกิดใหม่อีกที อย่ากังวลเรื่องตายเลย เพราะสุดท้ายไม่ว่ายังไงช้าหรือเร็วก็ต้องไปเกิดมาใหม่อยู่ดี มาแบกทุกข์แบกสุขกันแบบที่เกิดกันในชีวิตนี้อยู่ดี
ความทรมานนั้น คือทุกข์จากวิบากกรรมที่เราได้ทำมา เป็นสิ่งเลวร้ายที่เราเคยทำมา หน้าที่ของมันไม่ใช่เพียงทำให้เราเจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน สลด หดหู่ ฯลฯ แต่ยังทำให้เราได้ระลึกถึงสิ่งเลวร้ายที่เราได้ทำมา ว่าสิ่งนั้นมันได้ส่งผลถึงเราแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้เบียดเบียนย่อมเจ็บป่วยและมีโรคมาก …
จากวันที่เราเกิดจนถึงวันนี้ เรามีส่วนในการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารของเรามาเท่าไหร่ การมีชีวิตอยู่ของเราไปเบียดเบียนคนอื่นมากเท่าไหร่ ความเจริญในหน้าที่การงานของเราไปขัดขาใครไปสร้างทุกข์ให้ใครมาเท่าไหร่ ความฟุ่มเฟือยของเราทำลายทรัพยากรโลกมากเท่าไหร่ เราเคยได้ระลึกถึงมันไหม?
เราไม่เคยระลึกถึงกรรมที่เราเคยทำมาเลย แต่พอเจ็บป่วย ทุกข์ ทรมาน กลับมองหาคนผิด มองหาโจร มองหาผู้ร้าย คิดไปว่าฉันทำแต่ความดี ทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ …ถ้าคิดแบบนี้มันก็ทุกข์ เพราะในความจริงแล้ว เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับนั้น เราทำมาทั้งนั้น เราทำอะไรก็ต้องรับอย่างนั้น สัจจะมีอย่างเดียวและเป็นจริงตลอดกาล ไม่มีทางดิ้น ไม่มีทางหนีได้เลย
เมื่อเราสามารถทำใจให้ยอมรับทุกอย่างที่ได้ทำมาไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติก่อนได้แล้ว ทุกข์ทางใจก็จะเบาบางจางคลายลง เราจะไม่หาคนผิด เมื่อเรายอมรับทุกอย่างด้วยความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมา เราก็จะเริ่มมาพิจารณานำจิตใจเราไปสู่สิ่งที่ดีงาม สิ่งดีที่เราเคยทำมา สิ่งดีที่เรายังพอจะทำได้
ในตอนนี้แม้เราจะเหลือเวลาอีกไม่มาก เรายังสามารถพูดดีกับคนรอบข้างได้ไหม? สามารถทำให้คนรอบข้างสบายใจได้ไหม? เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต การทำความดีในขณะที่ยังมีลมหายใจนั้นสำคัญที่สุด เมื่อมีสติระลึกได้ว่าควรจะอยู่ปัจจุบัน ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกุศลเท่าที่เวลาจะเหลืออยู่ การทำกุศลก็เพียงแค่ คิดดี พูดดี ทำดี ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องลำบากไปนิมนต์พระดังวัดไหนมาทำบุญหรอก เพราะการทำให้พระลำบากก็เป็นการเบียดเบียนพระไปอีก ถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็ทำสมถะ บริกรรม พุท-โธ ไปก็ได้ เตรียมตัวเดินทางไปสู่ภพใหม่ด้วยใจที่ไม่คาดหวังอะไร ไปไหนก็ได้แล้วแต่กรรมจะพาไป
สิ่งหนึ่งที่ควรจะยึดอาศัยตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจและพาไปยังอีกภพหนึ่งด้วยนอกจากกรรมแล้วนั่นก็คือผู้ชี้ทาง ซึ่งก็คือการมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ว่าจะรู้สึกท้อแท้ ท้อถอย หดหู่ เจ็บปวดกี่ครั้งก็ตาม เราก็ยังจะยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง เราไม่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากนี้
ผู้ที่หวังการบรรลุธรรมในช่วงนาทีสุดท้าย ขออย่าได้หวังไกลไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่านาทีสุดท้ายนั้นจะเป็นอย่างไร ทำปัจจุบันให้ดีจะดีกว่า ตราบเท่าที่ยังมีสติและลมหายใจ แม้ร่างกายจะกลายเป็นแค่พืชผักก็ยังสามารถที่จะคิดดีได้ ซึ่งนั่นก็เป็นกุศลมากพอแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม
หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? แค่เมตตาสัตว์ละเว้นสัตว์ก็สามารถกินมังสวิรัติได้แล้วไม่ใช่หรือ?
ความเมตตา…
การกินมังสวิรัติไม่ได้เป็นเรื่องของความเมตตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปฏิบัติเพื่อ ลด ละ เลิก กิเลสได้อีกด้วย และในกระบวนการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์หรือล้างกิเลสนั้นจำเป็นต้องนำความเมตตามาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นการมุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสไม่ใช่ว่าไม่เมตตา ไม่รักสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคือยิ่งต้องเมตตาให้มาก เมตตาทั้งสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ เมตตากับกับทุกชีวิตกันเลยทีเดียว
ศีลมังสวิรัติ…
แล้วมังสวิรัติจะเรียกว่าศีลได้อย่างไร มีหลายคนที่ไม่ได้คิดว่าการกินมังสวิรัติคือศีล มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศีลคือการละเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย การตั้งศีลกินมังสวิรัติ คือ เว้นจากภัยที่จะเกิดจากการกินเนื้อเช่น เรื่องสุขภาพ ,วิบากกรรมที่ไปมีส่วนร่วมในการฆ่า ,ความทุกข์จากการที่ไม่ได้เสพเนื้อสัตว์สมใจ ดังนั้นการตั้งศีลกินมังสวิรัติ ก็เพื่อการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยเหล่านี้นั่นเอง
ถ้าจะบอกว่าไม่มีในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เรามาลองดูศีลข้อ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี คือเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้ว่าเราจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การกินเนื้อสัตว์ของเราก็ยังมีส่วนไปตัดชีวิต คือทำให้ชีวิตสัตว์อื่นตกร่วงอยู่นั่นเอง ถ้าเราไม่เสพเนื้อสัตว์มันก็ยังไม่ตาย การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ในขั้นละเอียดขึ้นมามากกว่าการยึดถือปฏิบัติตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นการปฏิบัติอธิศีล คือการขยับฐานของการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยให้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ปลาเป็นในตู้ที่ร้านอาหาร ทางร้านแนะนำเมนูปลา ปลาสด ปลาอร่อย เราก็สั่งปลามากิน เราไม่ได้ฆ่านะ แต่เราไปสั่งให้เขาไปฆ่ามาให้เรา ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ถ้าไม่สั่งปลามากิน ปลามันก็ยังมีชีวิตได้ต่อไปอีกตามกรรมของมัน ถ้ายกตัวอย่างไปถึงปลาที่ตายมาแล้ว ชำแหละมาแล้ว นั่นเขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น เขาก็ฆ่ามาตามอุปสงค์ อุปทาน มีคนซื้อเขาก็ฆ่ามาขายสิ ถ้าไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่าให้เมื่อยทำไม
มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม…
คงเป็นประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือมังสวิรัติมันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภาพของการปฏิบัติธรรมที่มีในใจของหลายๆคนคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะเข้าใจ
อย่างที่ยกตัวอย่างในเรื่องของศีลมังสวิรัติ ศีลนี้แหละจะเป็นตัวทำให้เห็นกิเลส เป็นตัวทำให้เห็นผีในตัวเรา ลองตั้งศีลนี้ขึ้นมาดูจะพบว่ากิเลสจะดิ้น ความอยากกินจะชัดเจน กิเลสจะให้เหตุผลมากมายในการทำลายการถือศีลนี้ เช่น…ไปกินเนื้อสัตว์สิไม่มีใครรู้หรอก,เกิดมาครั้งเดียวกินให้เต็มที่,เขาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา,เรากินสัตว์เขาก็จะได้บุญนะ,เรากินเขาก็ยินดีนะ,ร่างกายเราต้องการสารอาหารนะ ….นี่ก็เป็นตัวอย่างคำสั่งของกิเลส เมื่อเห็นกิเลสดังนี้แล้ว เราก็จะต้องพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอย่างตั้งมั่น ไม่ลดละ เป็นการปฏิบัติไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะละกิเลสในสามภพ คือ ๑. กามภพ คือสภาวะที่ยังเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อยู่ , ๒. รูปภพ คือสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังมีความอยากที่ชัดเจนแต่อดกลั้นไว้ได้ และ ๓. อรูปภพ คือสภาวะที่ไม่มีความอยากให้เห็นเป็นรูปร่างแล้วแต่จะเหลือแค่อาการที่เบาบาง อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ฯลฯ ถ้าสามารถละกิเลสจนข้ามสามภพนี้ได้ก็คือว่าประสบความสำเร็จ
ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เพราะการลด ละ เลิกการมีกิเลสนั้นๆ ทำให้เข้าใกล้ความสุขแท้ ดังในบทสวดมนต์ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อยๆ “อะระหะโต : เป็นผู้ไกลจากกิเลส” ถ้าเราไกลจากกิเลสขึ้นอีกนิด ก็เข้าใกล้ความสุขแท้ขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้วจะเรียกว่าอะไร…
– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557