Tag: ลดเนื้อกินผัก
การชวนคนลดเนื้อกินผัก กับการตอบความเห็นต่าง
ผมเป็นคนที่ลดเนื้อกินผักคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชวนใครมากินตามสักเท่าไหร่นะ อย่างมากก็แค่แนะนำ แค่บอกข้อดี โดยเฉพาะญาติพี่น้องมิตรสหายนี่ผมแทบไม่แตะเลย
เพราะถ้าเขายังไม่เห็นประโยชน์ เขาก็ไม่เข้ามาเอาหรอก พูดให้ตายยังไงเขาก็ไม่เอา ยัดเยียดไปก็มีแต่จะทะเลาะกัน เขาก็ยังอยากกินเนื้อของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ
เหมือนกันกับคนที่เข้ามาเห็นต่างเกี่ยวกับบทความลดเนื้อกินผักของผมในบาง ครั้ง ผมก็ชี้แจงไปตามเหตุปัจจัยนะ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เขาอยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ทำ จะประกาศตัวว่าจะกินเนื้อสัตว์ หรือจะมองว่ากินเนื้อสัตว์นั้นถูกต้อง ถูกธรรม ไม่บาป มันก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่บังอาจไปเปลี่ยนความเห็นของใครหรอก
จะทำให้ทุกคนมาลดเนื้อกินผักมันทำไม่ได้หรอก มันได้เฉพาะบางคนเท่านั้นแหละ คนที่เห็นว่าวิธีนี้ลดการเบียดเบียนได้ เป็นสิ่งดี มีประโยชน์ เขาก็มาเอา คนที่เขาไม่เห็นคุณค่า หรือยังอยากกินเนื้อ เขาก็จะไปตามทางของเขา
ทีนี้คนที่จะมาลดเนื้อกินผักนี่มันไม่เยอะนักหรอก มันลำบาก มันไม่สบาย มันยุ่งยากในการปรับตัว มันต้องอด ต้องฝืน ต้องศึกษา น้อยคนที่จะพยายามพัฒนาตนเองเพื่อลดการเบียดเบียน
ช่วงหลังผมก็เลยไม่รู้จะมานั่งตอบคนที่เห็นต่างทำไม ให้ผมไปตอบคนที่เห็นต่างทั้งหมดนี่เหนื่อยตายเหมือนกันนะ โลกนี้มีคนกินเนื้อสัตว์เยอะกว่าคนลดเนื้อกินผักอยู่แล้ว แล้วคนไม่ล้างกิเลสนี่นะ กามหนาอัตตาจัดกันสุดๆ
สรุปว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่า เพราะส่วนมากเขาก็แค่มาแสดงความคิดเห็น มายั่ว มาข่ม มาอวด อะไรก็ว่าไป เขาก็สร้างวิบากบาปของเขาไป เราบอกได้ก็บอก แต่ถ้ามันหนักหนาจนไม่ไหวก็วางเฉยไปดีกว่า… จะเอาอะไร ก็กรรมตัวเองทำมาทั้งนั้น ในชาติที่ยังไม่ลดเนื้อกินผัก เมารสเนื้อสัตว์ก็คงจะไปทำอย่างนั้นมาไม่มากก็น้อยนั่นแหละ
ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด
ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด
บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…
ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย
ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง
ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน
แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย
เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา
แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว
แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย
และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย
– – – – – – – – – – – – – – –
21.7.2558
ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก
ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก
เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือการทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงไม่ให้เหลือแม้แต่ซาก ไม่เหลือแม้ฝุ่นผงในจิตใจให้ต้องเกิดอาการระคายเคือง ขุ่นใจใดๆอีกต่อไป
แต่การปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นส่วนๆ มีขอบเขตในการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเราจะใช้ศีลเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบที่จะปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นการลดเนื้อกินผัก เรามุ่งเป้าที่จะลดเนื้อเท่ากับศูนย์และผักเป็นหลัก
ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าสามารถจะเข้าถึงผลได้ทันที แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้ไปเสพได้ แต่ถ้าจิตใจยังไม่สามารถชำระความหลงติดหลงยึดได้ ก็เรียกว่ายังมีกิเลสที่ต้องชำระหลงเหลืออยู่
การทำลายกิเลสนั้นเป็นการทำลายไปทีละภพของกิเลสโดยลำดับ เริ่มจากกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เมื่อทำลายอรูปภพได้นั่นหมายถึงเราได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในภพทั้งหมด ทำลายความอยากที่มี จนเกิดสภาพของกิเลสดับ ซึ่งเกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส(วิชชา) ที่จะมาแทนที่ความไม่รู้(อวิชชา) ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการหลุดพ้นเป็นเรื่องๆตามที่ขอบเขตของศีลได้กำหนดไว้
เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับภพของกิเลสกันในกรณีศึกษา ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผักกัน
เมื่อเราได้เริ่มศึกษาศีลเกี่ยวกับการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียน ด้วยเหตุจากปัญญาที่ว่าการลดเนื้อกินผักนี้ก็เป็นหนึ่งในหนทางปฏิบัติที่เราจะไม่มีส่วนเบียดเบียน โดยมีสติเป็นเครื่องประกอบในการทนรับแรงยั่วของสิ่งที่เราเคยชอบเคยหลงใหลทั้งหลาย
1).กามภพ
ในตัวอย่างนี้จะมีให้เห็นตัวเลือกของอาหารมื้อหนึ่งของผู้ศึกษาศีลนี้ มีตั้งแต่ข้อ ก ถึง ฉ ในส่วนของข้อที่ยังมีกรอบสี่เหลี่ยมไว้ให้เลือก นั้นหมายถึงสภาพของกามภพในชนิดของอาหารนั้นๆ คือยังไม่สามารถดับความอยากในระดับที่จะเข้าไปเสพได้
นั่นหมายถึงถ้ายังเป็นตัวเลือกที่เลือกได้อยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปกินเสมอ แต่ในกรณีนี้ ได้เลือก ก.ผัดผัก ทั้งที่ ค.ส้มตำปลาร้า ,ฉ. ลูกชิ้นปิ้ง ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่ มีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เลือกผัดผัก ซึ่งเราจะเหมาเอาว่าการเลือกผัดผักเพราะลดกิเลสได้นั้นไม่แน่เสมอไป เพราะการที่ไม่กินลูกชิ้นอาจจะมีหลายเหตุผล เช่น หาลูกชิ้นกินไม่ได้ ลูกชิ้นที่ขายราคาแพง ร้านค้าดูไม่สะอาด หรืออายคนที่ไปด้วยกัน ซึ่งความอายนี้ก็อาจจะเกิดจากเหตุผลทางโลกเช่นกลัวโดนนินทาก็ได้ แต่ก็อาจจะเกิดจากความเจริญทางธรรมได้เช่นกัน คือเกิดจากหิริโอตตัปปะที่เจริญขึ้นในจิตใจ ดังนั้นการไม่เลือกเสพสิ่งใดๆ เราจึงควรวิเคราะห์เป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นการลดกิเลสได้ทั้งหมด
ลักษณะของกามภพคือมีโอกาสกลับไปเสพได้เสมอ ยังเปิดตัวเลือกไว้อยู่เสมอ ยังไม่สามารถดับตัวเลือกนี้ได้สนิท ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเสพได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็เช่น คนที่บอกว่าตนเองจะเป็นโสดก็ได้มีคู่ก็ได้ แม้จะดูเผินๆจะเป็นสภาพไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความจริงแล้วคือสภาพของกามภพที่ยังไม่สามารถปิดประตูนรกหรือหยุดพฤติกรรมที่จะพาให้ไปเสพกามนั้นได้สนิท
ดังนั้นการยังอยู่ในกามภพคือ โอกาสที่จะกลับไปทำชั่วได้เสมอเพราะไม่ได้มีปัญญาเจริญขึ้นถึงระดับรู้ว่าการไปเสพนั้นสามารถสร้างโทษชั่วให้กับชีวิตจิตใจของเราได้อย่างไร
2).รูปภพ
รูปภพคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นที่น้อยลงจนไม่ไปเสพ เกิดจากปัญญาที่เจริญขึ้นมา ไม่ใช่การกดข่มไม่ไปเสพ ถ้าเกิดจากการกดข่มไม่ไปเสพนั้น จะเรียกว่าอยู่ในกามภพ แต่สามารถใช้กำลังของจิตที่ตัวเองมีกดข่มไว้ได้ ซึ่งมีโอกาสตบะแตกได้เหมือนกัน
แต่รูปภพคือสภาพที่เจริญขึ้นมาในอีกระดับ คือจะไม่ไปเสพไม่ว่าจะเหตุผลใด แต่ก็ยังมีความอยากให้เห็นเป็นรูปอยู่ ในกรณีตัวอย่างก็คือ ง.ปลาทอด ในตัวอย่างนี้ไม่มีช่องสี่เหลี่ยมให้เลือกแล้ว นั่นหมายความว่าเราจะไม่เลือกอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้นะ “แต่ไม่เลือก” คนที่ปฏิบัติธรรมลดกิเลสได้กับคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มจะต่างกันตรงนี้ คือคนที่ลดกิเลสจะไม่เลือกด้วยจิตใจปกติเพราะมีปัญญารู้ว่าถ้าเลือกแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ส่วนคนที่กดข่มจะเลือกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลือกเพราะไม่อยากให้ตนเองไปแตะต้องสิ่งที่ไม่ดีไม่งามโดยการใช้ความพยายามของจิตมาข่มความอยาก
ถึงกระนั้นรูปภพก็ยังมีอยู่ในรายการของอาหารที่อยากกิน นั่นหมายความว่าความอยากยังไม่หมด จนกระทั่งต้องเขียนออกมาเป็นรายการหนึ่ง เปรียบเทียบให้เห็นว่าแม้จะไม่เลือกแล้ว แต่ภายในจิตใจก็ยังมีความอยากเสพในสิ่งนั้นๆอยู่ ยังคิดและปรุงแต่งไปตามกิเลสว่าสิ่งนั้นยังเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพอยู่ แต่ก็ไม่ได้ตกต่ำจนต้องไปเสพ
ลักษณะของการปรุงแต่งก็เช่น เห็นปลาทอด ฉันไม่กินหรอก แต่ก็คิดในใจอยู่ว่า ปลาทอดก็อร่อยดีนะ ความกรอบของปลา ความนุ่มของปลาก็น่าลิ้มลอง แต่ไม่กินหรอก ไม่เอาหรอก คือมีความอยากที่เห็นได้ จับรูปของกิเลสได้ว่ายังมีอยู่นั่นเอง
3).อรูปภพ
เป็นสภาพของจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสมามากแล้ว ไม่มีรูปรอยของกิเลสให้เห็นเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป ไม่มีคำปรุงแต่งใดๆว่าอยากกิน ไม่มีความคิดว่าจะต้องไปกินหรือคิดว่าสิ่งนั้นน่าเสพอีก แต่ก็ยังไม่หลุดจากอำนาจของกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง
อรูปภพคือภพที่อันตรายมาก เพราะคนจะประมาทต่อพลังของกิเลสที่สงบลงมาจนถึงภพนี้ มีลักษณะบางจนจับอาการแทบไม่ได้ ยิ่งถ้าปฏิบัติมาอย่างกดข่ม ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพิจารณาล้างกิเลส จะไม่มีญาณปัญญารู้กิเลสในอรูปภพได้เลย เพราะระบบของการกดข่มกับการล้างกิเลสด้วยปัญญานั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ผู้ที่กดข่มเก่งๆจะมีสภาพเหมือนหลุดพ้นจากกิเลสแม้จะไม่เคยรู้จักแจ่มแจ้งในสามภพนี้ แม้จะเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างถูกทางก็จะเหมือนมีสภาพหลุดพ้นจากกิเลสในอรูปภพเช่นกัน ซึ่งหลักฐานเดียวที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่พ้นคืออาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบิกบานทั้งหลายเมื่อไม่ได้เสพ ซึ่งแม้ว่าจะปฏิบัติมาอย่างถูกตรง แม่นยำในสติปัฏฐาน ๔ ก็ใช่ว่าจะจับตัวตนของกิเลสที่เหลืออยู่กันได้ง่ายๆ
ยิ่งถ้าคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะการกดข่มมีกระบวนการเดียวคือกดความอยากลงไปด้วยสติหรือข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นอุบายทำให้จิตสงบต่อความอยาก การกดข่มผลของความอยากที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเข้าไปรู้ตัวตนของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นั่นหมายถึงไม่ได้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกตรง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการกดข่มจะสามารถดับกิเลสในระดับอรูปภพได้ เพียงแค่รู้ตัวตนของกิเลสยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าเป็นระดับอรูปภพนี่ถึงจะไม่กดข่มมันก็ดับไปเอง มันจะโผล่มาแวบๆวับๆ แล้วก็หายไป รวดเร็ว เบาบาง จนไม่จำเป็นต้องกดข่มใดๆ นั่นหมายถึงถ้าปฏิบัติอย่างกดข่ม อรูปภพจะกลายเป็นเหมือนสภาพที่ไม่มีอยู่จริง
จึงเป็นเหตุผลที่ว่าสายที่ปฏิบัติธรรมอย่างฤๅษีทั้งหลายที่ใช้การกดข่มความอยาก ใช้สมถะอย่างเดียว จึงไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆได้ ถึงแม้จะมีรูปสวย นั่งสมาธิได้เป็นวันเป็นเดือน กิริยาอาการน่าเคารพ พูดจาน่าเลื่อมใส มีชื่อเสียงขจรไกล แต่ถ้าไม่ฉลาดในเรื่องกิเลส ก็ยังเป็นบุคคลที่ยังมีภัยต่อตนเอง นั่นคือต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุคือกิเลสกันต่อไป
ในตัวอย่างนี้ อรูปภพ จะถูกเปรียบเทียบด้วยข้อ จ. คือหมูปิ้ง หมูปิ้งไม่ใช่ตัวเลือกที่เห็นได้ชัด แต่กระนั้นก็ยังมีอยู่ มันเลือนรางจางหายไปจากเดิมมาก ถ้ามองผ่านๆก็อาจจะไม่เห็น แต่มันยังมีอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน มันรอเวลาที่เราจะประมาทและกลับกำเริบได้
ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเจริญมาถึงอรูปภพ แต่ถ้าไม่กำจัดกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยลงได้ เพราะกิเลสเป็นพลังงานที่เติบโตได้ สะสมได้ เรียกว่าบาป หากเราประมาทและไม่สามารถรู้ถึงตัวตนของกิเลสที่ยังเหลืออยู่ในอรูปภพได้ สักวันหนึ่งมันก็อาจจะโตและกลับมาเป็นกามภพได้ พอถึงตอนนั้นก็เมาหมัดกิเลสแล้ว หลงนึกว่าตนเองได้เปรียบอยู่ดีๆ เจอกิเลสลุกขึ้นมาสวนหมัดชนะน็อกไปเฉยๆก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรนัก เพราะสภาพของอรูปภพนั้นรู้ได้ยาก ดูภายนอกก็ดูแทบไม่ออก ใครก็มองไม่เห็นนอกจากตัวเราเอง
4).ข้ามสามภพ
มาถึงข้อสุดท้าย เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติธรรมหรือผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ทุกคน คือสภาพดับไม่เหลือของกิเลส ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามี ก. ถึง ฉ. แต่ไม่มีข้อ ข.
แท้จริงแล้ว ข. นั้นมีอยู่ แต่มันไม่มีในจิตใจของผู้ที่ขัดเกลาตนเองจนถึงผล เพราะ ข. นั้นมี จึงไม่สามารถเลื่อน ค. เข้ามาเป็น ข. ได้ แม้มันจะดูเหมือนไม่มี แต่มันก็มีอยู่จริง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับจิตใจของผู้ข้ามสามภพอีกต่อไป ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขใดๆในสิ่งนั้น
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสนั้นจะถูกชำระเป็นชนิดๆไปตามลำดับ ตามศีลที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา แม้ในศีลหนึ่งๆที่ศึกษานั้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เข้าไปศึกษากิเลสในอาหารแต่ละชนิด เพราะเราไม่สามารถตั้งศีลแล้วชำระกิเลสได้ทั้งหมดเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องศึกษากระบวนการของไตรสิกขา ที่จะสอนให้ค่อยๆทำ ค่อยๆล้าง ไม่โลภบรรลุธรรม ไม่รีบจนหลงผิด และไม่หลงผิดจนต้องเสียเวลาและสร้างบาป เวร ภัย สะสมแก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว
มาถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับ ข. แล้ว ก็ใช้เวลาศึกษากิเลสในอาหารตัวอื่นไปเช่น เรายังเสพสุขอะไรในส้มตำปลาร้า เราสุขเพราะปลาร้าหรือส้มตำก็แยกให้ออก เราติดอะไรในลูกชิ้น มันมีเนื้อสัตว์ผสมแม้จะไม่เป็นรูปชิ้นเนื้อแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ เรายังอยากเสพอะไรในนั้น ในเมื่อเราจะไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเราละเว้นดีไหม? ฯลฯ ซึ่งในแต่ละชนิดก็ต้องไล่ กามภพ รูปภพ อรูปภพไปเช่นกัน
ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการย่อยลงในรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่ถ้าใครอินทรีย์พละแกร่งกล้าพอ จะตัดเนื้อสัตว์ทั้งยวงไปเลยก็สามารถทำได้ สามารถถึงผลได้เช่นกันหากปฏิบัติอย่างถูกตรง โดยไม่หลงไปใช้การกดข่มแล้วเข้าใจว่าสามารถดับกิเลสได้
เพราะการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จะเหมาเอาว่าเป็นการลดกิเลสทั้งหมดไม่ได้ ในบางกรณีอาจจะเพราะกิเลสเพิ่มด้วยซ้ำไป เช่นไปเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นคนดี ว่าแล้วก็กดข่มความอยากในการกินเนื้อสัตว์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออัตตาเพิ่ม แต่กามไม่ได้ล้าง คือความหลงติดหลงยึดสุขในการเสพนั้นอาจจะยังไม่ได้หมดไป เพราะใช้ความดีเข้ามากดข่มนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
23.6.2558
ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์
ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์
แม้ว่าการที่เราจะหันมาลดเนื้อกินผักจนถึงขั้นเลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้ความดี ความยึดดี หรือความติดดีเข้ามาช่วยเป็นกำลัง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นความดีเหล่านั้นไว้จนกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์
ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลดเนื้อกินผักได้ มักจะมาติดกับดักตรงที่กลายเป็นคนรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ รังเกียจคนขายเนื้อสัตว์ รังเกียจสังคมกินเนื้อสัตว์ รังเกียจจนเกิดความทุกข์ กระทั่งหลีกหนีจากทุกข์นั้นโดยการออกจากหมู่กลุ่มหรือสังคมนั้นไป
อาการรังเกียจนี้คือสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน เป็นสิ่งที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ ถ้าให้เทียบกับคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ พวกเขานั้นยัง “ติดชั่ว” อยู่ และคนที่ลดเนื้อกินผักที่รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ก็จะเรียกได้ว่า “คนติดดี”
ในสังคมที่มีความเห็นต่างจนต้องทะเลาะเบาะแว้งกันนั้นก็เพราะมีคนติดดีและคนติดชั่วอยู่ด้วยกัน คนติดชั่วก็คิดว่าชั่วของตนถูก คนติดดีก็ยึดมั่นถือมั่นว่าของตนถูกชั่วนั้นผิด เมื่อคนดีถือดีไม่ยอมวางดีมันก็เลยต้องเกิดสงครามเรื่อยไป ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมสงครามก็มีแต่คนชั่วทั้งนั้น ไม่ว่าจะลดเนื้อกินผักได้หรือยังกินเนื้อสัตว์อยู่แต่ถ้ายังทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ก็ไม่ดีอยู่ดี
ผู้ที่ลดเนื้อกินผักได้แต่ยังมีอาการรังเกียจ ถือดีจนต้องแสดงความเห็น กดดัน สั่งสอน ยกตนข่มผู้อื่น ไม่ยอมลดอัตตาทะเลาะเบาะแว้งกันคนอื่นอยู่ ก็ยังเรียกว่าดีแท้ไม่ได้ ความติดดีนี้เองคือนรกของคนดีที่วางดีไม่เป็น จึงต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองด้วยความดีที่ตนยึดมั่นถือมั่น
เราสามารถสงสารสัตว์ เมตตาสัตว์ ไม่ยินดีกับการกินเนื้อสัตว์ ไม่เห็นด้วยกับการเบียดเบียน แต่เราไม่จำเป็นต้องมีอาการรังเกียจ เพราะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น
– – – – – – – – – – – – – – –
1.4.2558