Tag: ปฏิบัติธรรม
ก่อนจะผ่านพ้นปี ๒๕๖๐
ก่อนจะผ่านพ้นปี ๒๕๖๐
เมื่อทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา ก็พบว่าการบำเพ็ญกุศลที่โรงทานกองทัพธรรม ในช่วงครึ่งปีหลังของการให้เข้ากราบพระบรมศพนี่แหละ คือที่สุดของปี ๒๕๖๐ สำหรับผม
ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่ได้คิดจะเข้าไปทำประจำ เพราะติดงานอื่นอยู่ ซึ่งก็แวะไปบ้างตามที่มีเวลาว่าง แต่พออาจารย์หมอเขียวแนะนำว่า ถ้าผมเข้าไปร่วมกับหมู่กลุ่มที่เขาปฏิบัติธรรม ผมจะเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับหมู่จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมที่บำเพ็ญกันที่โรงทานกองทัพธรรม ช่วงภาคบ่าย
พอได้เข้าไปคบคุ้นทำความรู้จัก ได้ทำงานร่วมกัน ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากขึ้นจริง ๆ นี่เป็นกลุ่มนักปฏิบัติธรรมกลุ่มแรกที่ผมเข้าไปคลุกด้วยเวลายาวนานเกือบครึ่งปี ไปเกือบทุกวัน เดือนหนึ่งจะหยุดซัก ๑-๓ วัน ซึ่งสภาพของการคบหากันอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ใกล้ชิดกันแบบนี้หาโอกาสไม่ได้ง่าย ๆ
และนั่นทำให้รอบของการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พัฒนากันวันต่อวัน สิ่งที่เข้ามากระทบในแต่ละวันทั้งกาม เช่น ของกินหน้าตาดี ดูน่าอร่อย ฯลฯ และอัตตา เช่น ความเอาแต่ใจของคน ความเร่งรีบของคน ฯลฯ มันกระหน่ำเข้ามาทุกวัน ในโจทย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน
ผมยังเคยโดนคนเข้าใจผิด หาว่าผมไปด่าเขา แล้วเขาก็ด่าผม ดูถูกผม กล่าวหาผมเสีย ๆ หาย ๆ เป็นเรื่องกันวุ่นวายหน้าโรงทาน จนเดือดร้อนเจ้าหน้าที่มาช่วยคุมสถานการณ์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมหวั่นไหวเลย ในตอนนั้นยังคิดอีกว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร ช่วยให้เขาสบายใจขึ้นได้อย่างไร จริงอยู่ที่เขาเข้าใจผิด แต่การแก้ไขให้เขาเข้าใจถูกอาจจะเป็นไปไม่ได้ก็ได้ ก็จบด้วยการที่เขาเรียกร้องให้ผมขอโทษ ผมก็ยินดีให้สิ่งนั้นกับเขา แน่นอนว่าอาจจะทำให้เขาสาสมใจในเชิงอัตตา แต่อย่างน้อยเขาก็จะไม่ได้ทำบาปไปมากกว่านั้น
พอผมมาสรุป ผมยังคิดอยู่เลยว่าจะหาผัสสะระดับนี้ได้จากไหน ใครเขาจะเข้ามาด่าเราฟรี ๆ ให้เราได้ฝึกปฏิบัติ ให้เราได้ตรวจใจ หาไม่ง่ายนักหรอก แบบที่เจอต่อหน้านี่มันสดใหม่ดี ในหมู่นักปฏิบัติธรรมเขาก็ไม่ด่ากับหยาบแบบนี้ เราได้เจอแบบนี้บ้างมันก็ได้ประสบการณ์ดี
และโดยเฉพาะการประชุมกันทุกค่ำหลังเลิกงานของจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตวิญญาณได้อย่างรวดเร็ว เรียนรู้ได้ทั้งทางโลกทางธรรม ทางโลกก็เรียนรู้ว่านี่เขาก็คิดแบบนี้กันด้วยเนาะ ทางธรรมเราก็ตรวจใจไปว่าเราหวั่นไหวกับคำติของเขาไหม เขาชมแล้วใจเราฟูไหม เราเสนอไปแล้วเขาไม่เอาแล้วเราขุ่นใจไหม เขาเอาตามเราแล้วเราหลงยึดมั่นถือมั่นไหม มันก็สนุกกันทุกวันทุกคืนตลอดเวลาที่บำเพ็ญนั่นแหละ
สรุปแล้วงานโรงทานที่สนามหลวง นอกจากที่เราจะได้ทำกุศลตอบแทนผู้มีพระคุณแล้ว เรายังได้พัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วย ผมมองว่าสนามหลวงคือสนามฝึกปฏิบัติที่ดีเยี่ยมที่สุดสนามหนึ่งในยุคสมัยนี้ ผ่านแล้วก็ผ่านเลย ไม่มีอีกแล้ว ซึ่งเกิดจากพลังบารมีของพ่อหลวงที่ได้บำเพ็ญอย่างยาวนานกว่า ๗๐ ปี พร้อมด้วยโอกาสที่ครูบาอาจารย์มอบให้ ทั้งพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ผู้นำของชาวอโศก ที่เป็นผู้จัดตั้งโรงทานกองทัพธรรม อาจารย์หมอเขียวที่นำเหล่าจิตอาสามาบำเพ็ญ และคนจำนวนมหาศาลที่มารวมตัวกัน
ภายใต้องค์ประกอบนี้ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่า “หลักสูตรรวบรัด” เพราะสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ เหมือนประเด็นหลายประเด็นที่ควรได้รู้นั้นถูกย่อ และรวบรวมเข้ามาให้ได้เรียนรู้กันในเวลาสั้น ๆ ซึ่งก็วัดจากที่เคยศึกษาและปฏิบัติธรรมมานี่แหละ
และหลังจากจบงาน “ผลของกรรม” นั้นยังทำให้ผมประหลาดใจอย่างมากอีกด้วย อะไรที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปี ก็เกิดขึ้นหลังจบงานแทน ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากผลกรรมดีที่ได้ทำอย่างแน่นอน
นั่นจึงทำให้มั่นใจว่า การบำเพ็ญที่โรงทานในครึ่งปีที่ผ่านมานี่แหละ คือที่สุดในปี ๒๕๖๐ นี้
๓๑.๑๒.๒๕๖๐
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
คู่ครองถ่วงธรรม
คู่ครองถ่วงธรรม
หากจะนึกถึงสิ่งใดที่เป็นบ่วงซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดและถ่วงความเจริญ หนึ่งในนั้นก็คือการมีคู่ครอง แม้ในโลกจะสรรเสริญการมีคู่ แต่ในทางธรรมการมีคู่นั้นกลับกลายเป็นขวากหนามขวางกั้นคนให้ห่างจากความผาสุกที่แท้จริง
ถ้าเราเอาเหตุผลทางโลก ก็คงจะมีหลายคนที่ให้เหตุผลที่ฟังแล้วดูดี สมควรแก่การมีคู่ ถึงแม้เขาจะพยายามขยับขามาทางธรรม ความเห็นผิดที่หลงในสุขลวงเหล่านั้นก็จะยังติดตามมาเสมอ เช่น หาคู่มาคอยเกื้อกูลกัน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน เป็นกัลยาณมิตรกัน อะไรก็ว่ากันไปตามเหตุผลของคนอยากมีคู่
ถ้าเขาไม่คิดจะเจริญทางธรรม อยากมีชีวิตไปแบบโลกๆ กิน เที่ยว เสพสุขไปตามเวรตามกรรม การมีคู่ครองก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถ่วงความเจริญของชีวิตในความเห็นของเขา เพราะเขาไม่ได้แสวงหาความเจริญในธรรม ไม่ต้องการความเจริญแบบโลกุตระ(เหนือโลก) ต้องการเพียงแค่ความเจริญแบบโลกีย์ (วนเวียนอยู่ในโลกของกิเลสตัณหา) การมีคู่ก็คงจะเป็นเหตุที่สมควรแก่ความเห็นของเขา แต่ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันในบริบทของผู้ที่ต้องการแสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการความเจริญในทางธรรม ต้องการหลุดพ้นจากการตามกระแสโลกไปวันๆ
ถ้าคิดแบบทางโลกทั่วไป การมีคู่ครองแล้วปฏิบัติธรรมไปด้วยกันก็เหมือนกับการมีจักรยานสักคัน มีแล้วปั่นไปได้เร็วกว่าเดิน ตามที่หลายคนอ้างว่า พอมีคู่แล้วพากันทำดี ชวนกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เข้าวัดฟังธรรม เป็นคนดีมากขึ้น ถ้าไม่มีคู่ก็คงจะไม่มีใครพาเข้าหาธรรม ได้เรียนรู้ศึกษา ปรับนิสัยให้เป็นคนดีขึ้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีใช่ไหม? การมีจักรยานแบบนี้เหมือนจะดูดีกว่าไม่มีใช่ไหม?
แต่ถ้าเราลองมาคิดอีกที การจะมีจักรยานนี่มันทุกข์ตั้งแต่อยากมีแล้ว ต้องเลือกหาจักรยานคันที่ถูกใจ ก็เหมือนกับคนเลือกหาคู่ ซึ่งกว่าจะมีกันก็ใช่ว่าง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์เพราะเลือกยากก็ทุกข์เพราะไม่มีให้เลือก มีมากมายหลายเหตุให้ทุกข์เพราะความอยากมีคู่นั้นเอง
พอมีคู่ครองแล้วก็เหมือนได้จักรยานมาคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนดีจริงๆ ก็อาจจะพากันไปทำดีได้อยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกนัก มีจักรยานแล้วก็ต้องคอยหาที่จอด ต้องคอยเช็ดคอยล้าง คอยดูแลเปลี่ยนอะไหล่ เอาไปจอดที่ไหนก็ต้องล็อคไว้ ไม่อย่างนั้นคนจะมาขโมยไป เป็นห่วงเป็นกังวล จะไปไหนไกลมากก็ไม่ได้ มันก็มีขอบเขตที่มันจะพาเดินทางไปได้อยู่ ก็เหมือนกับการมีคู่ มีแล้วก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่กัน เสียเงินเสียเวลาเสียแรงในการบำเรอกัน ปล่อยไปนานๆ โดยไม่ดูแลก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีคนใหม่เข้ามาเขาจะนอกใจไปได้อีก และที่สำคัญมีแล้วก็เป็นภาระ จะปฏิบัติธรรมอะไรก็ไม่สะดวก ต้องเกรงใจอีกคน ต้องคอยอนุโลม จนบางทีต้องลงยอมลงนรกไปด้วยกันก็มี
ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอยากไปศึกษาธรรม แต่อีกคนหนึ่งอยากไปกิน ไปเที่ยว มันก็ทำดีไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องเกรงใจคู่ ถึงเราจะไม่เกรงใจแล้วเลือกออกไปทำสิ่งดี แต่เขาก็ไปลากกลับมาได้ ไม่ยอมให้ทำดี หรือไม่เราก็ทิ้งการทำดีไปเสพสุขด้วยกันกับคู่เสียเอง สรุปแล้วสิ่งดีๆ ก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร คือทำความดีไม่ถึงพร้อม แต่มักพากันไปมัวเมากับกิเลสสะสมนรกกันไปเรื่อยๆ
หรือคนหนึ่งอยากเลิกกินเนื้อสัตว์ พอไปคบหาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการไม่กินเนื้อสัตว์ ถึงแม้เขาจะไม่ก้าวก่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นดีด้วย บางทีเขาไม่ได้แสดงอาการลำบากใจอะไร แต่เราก็ดันไปลำบากใจแทนเขา กลัวเขาจะอึดอัดที่เรามีวิถีชีวิตที่แตกต่าง คิดดูว่าการจะทำสิ่งดียังต้องมาเกรงใจกันอีก แล้วการจะพาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการทำสิ่งดีนั้นๆ ให้ทำตามมันไม่ง่ายนะ เช่นเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์แบบเรา เพียงเพราะเป็นคู่ครอง เขาไม่ยอมง่ายๆนะ ให้เขาหยุดเสพกามในเนื้อสัตว์นี้มันก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไป มันปากเขาไม่ใช่ปากเรา ทีนี้มันจะทนกันได้ไม่นานหรอก คนไม่กินเนื้อสัตว์ถ้าไม่ติดดียึดดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนทะเลาะกัน ก็หย่อนยานจนกลับไปกินเนื้อสัตว์กับเขานั่นแหละ ส่วนที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้จริงนี่ก็รอดไป
มาถึงเรื่องสมสู่ ถ้าคนหนึ่งอยากทำดี อยากพ้นไปจากวิสัยคนคู่ที่ต้องคอยสมสู่กันเพื่อบำเรอสุข อยากจะทำให้ชัดเจนว่าเป็นคู่กันเพราะความรักจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัตถุบำเรอกาม ก็เลยอยากจะชวนกันถือศีล ๘ เพื่อให้ชีวิตเจริญขึ้น แต่เรื่องนี้มันคิดคนเดียว ทำคนเดียวไม่ได้นะ บางทีเราอยากออก แต่คู่เขาไม่ยอมออกตาม เขาก็จะสมสู่เราอยู่นั่นแหละ หรือไม่เราก็ทนไม่ไหวเวียนกลับไปเสพเขาเสียเอง มันก็คอยฉุดกันกลับไปนรกคนคู่อยู่นั่นแหละ ไม่ปล่อยให้เจริญกันได้ง่ายๆหรอก ถ้าใครไม่เชื่อลองตั้งตบะดูเลยก็ได้ ว่าจะไม่มีเรื่องสมสู่กันแม้ว่าจะครองคู่กันนานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีบารมีเก่าไม่มีทางรอดหรอก สุดท้ายเดี๋ยวก็หาเหตุผลให้ไปเสพกันจนได้
ทีนี้ยกตัวอย่างกันให้สุดๆ แบบพ่อพระแม่พระกันไปเลย คือไม่สมสู่กันเลย ไม่บำเรอกันด้วยกิเลสใดๆเลย คบหากันอย่างเพื่อนเลยก็ว่าได้ พากันเข้าวัด เสียสละชีวิตตนเองให้ศาสนา เป็นคนวัดทั้งคู่เลย แต่มันไม่พ้นภาระนะ มันต้องดูแลกันเป็นพิเศษ พอขึ้นชื่อว่า “คู่ครอง” แล้วนี่มันเป็นสัญญาที่คนเขารู้กันว่าต้องดูแลกัน มันจะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้ยึดกันมากกว่าเพื่อน ห่วงหากันมากกว่าเพื่อน สุดท้ายก็ติดอยู่ในสัญญานั้นแหละ หลงว่าเป็นสิ่งดี สิ่งเยี่ยม เป็นศักดิ์ศรี เป็นหน้าที่ ไม่พ้นจากสภาพของคู่ครองสักที
หากเราดูเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าการมีจักรยานนั้นดีกว่าเดิน แต่จริงๆมันมีความลำบากซ่อนอยู่ เอาเข้าจริงคนไม่มีจักรยานนี่อาจจะสบายกว่าก็ได้ จะเดินไปไหนก็ไม่ต้องกังวล จะขึ้นรถคันไหนก็ได้ จะเดินทางด้วยวิธีไหนก็ได้ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นวิธีใดวิธีหนึ่ง ดีไม่ดีถ้าทำดีเข้ามากๆ จะมีคนคอยรับส่งด้วยซ้ำ สรุปคือจักรยานนี่มันไม่ต้องมีก็ได้ มันก็เดินทางไปของมันได้อยู่ดี เหมือนกับคู่ครองนี่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเช่นกัน
เราอาจจะอ้างเหตุผลว่า มีเพื่อเกื้อกูลกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน คอยดูแลเอาใจใส่ตอนแก่เฒ่า เป็นกัลยาณมิตรกัน ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครองก็ได้ แค่เราหาเพื่อนที่สนใจธรรมะในแนวทางเดียวกัน จริงจังเหมือนกัน ถ้าให้ดีก็เลือกเพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องเสี่ยงมารักใคร่ชอบพอกันเชิงชู้สาว มีเพื่อนนี่ก็เกื้อกูลกันได้ เป็นผัสสะแก่กันได้ คอยดูแลเอาใจใส่กันได้ และแน่นอนว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกว่าคู่ครองแน่ๆ เพราะอย่างน้อยก็ไม่สมสู่กัน ไม่เบียดเบียนกันเพียงเพราะความเป็นคู่ครองใดๆเลย ทีนี้พอเป็นมิตรดีแก่กันแต่ไม่ได้ครองคู่กัน พากันทำดีอย่างเดียว ไม่ทำชั่ว มันก็พากันเจริญได้เร็วกว่าคนที่ครองคู่สิ เพราะบาปไม่ได้ทำ อกุศลก็ไม่ได้ทำ แล้วจะมีอะไรมาคอยถ่วงความเจริญ
มีคนปฏิบัติธรรมมากมายที่ตั้งใจจะเป็นโสด แสวงหาความเจริญทางธรรม ยินดีที่จะเป็นมิตรดีเกื้อกูลกันและพากันดำเนินชีวิตไปในเส้นทางธรรม แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่านักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกหลายคนกลับเมินหน้าหนีมิตรดีเหล่านั้น แล้วไปแสวงหาศัตรูคู่อาฆาตที่คอยจองเวรจองกรรมกันมาแล้วหลายภพหลายชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหวังว่าจะแสวงหาความเจริญจากการมีคู่
“ คนที่แสวงหาความเจริญทางธรรมจากการมีคู่ ก็เหมือนกับคนที่หยิบขี้ขึ้นมากำไว้แล้วหวังว่ามันจะกลายเป็นทอง ซึ่งแท้จริงแล้วขี้มันก็เป็นขี้นั่นแหละ มันไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทองได้หรอก แต่ด้วยความหลงผิดจึงหยิบเอาขี้นั้นเข้ามากอดเก็บไว้
พอวันหนึ่งก็พบว่าการกำขี้นั้นเหม็นจนเป็นทุกข์ ก็ขว้างขี้นั้นทิ้งไป จะขว้างด้วยลีลาท่าทางอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องมาลำบากเช็ดคราบขี้และทรมานกับกลิ่นเหม็นที่ติดมือ แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้ชัดว่าขี้นั้นไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทอง ไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่านั่นคือขี้ เดี๋ยวก็วนกลับไปแสวงหาขี้ก้อนใหม่ขึ้นมากำไว้เหมือนเดิมอีก แล้วก็เข้าใจว่าขี้ก้อนนี้นั้นดีกว่าก้อนเก่า บางคนก็หยิบขี้ก้อนเดิมมานั่นแหละ ขว้างทิ้งไปแล้วก็ไปหยิบขึ้นมากำใหม่ เพราะคิดไปว่าครั้งนี้ฉันจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ขี้ก้อนนี้แหละที่จะเปลี่ยนเป็นทอง อะไรแนวๆนี้
สุดท้ายก็วนเวียนทุกข์เพราะขี้ไปแบบนั้นจนกว่าจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วจึงปล่อยวางขี้นั้นด้วยปัญญารู้โทษชั่วของการเอาขี้ขึ้นมากำไว้ ดังนั้นความเจริญสูงสุดที่หวังได้ก็คือการเห็นขี้เป็นขี้ เห็นการมีคู่ครองเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญทางธรรม คือสุดท้ายก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ก็สามารถหาความเจริญได้และเจริญได้มากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องมาวนเวียนเสียเวลาอยู่กับเรื่องคู่ เหมือนคนที่เสียเวลามัวเมาอยู่กับขี้ ”
– – – – – – – – – – – – – – –
28.2.2559
แยกดี แยกชั่ว
แยกดี แยกชั่ว
การที่เราจะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ไม่ง่ายนักที่เราจะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว หากคิดเอาเอง คาดคะเนเอาเองอาจจะไม่แน่ โชคดีที่เราเกิดในยุคสมัยที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องทดลองทำดีหรือชั่วนั้นเองทั้งหมด เพราะเราสามารถเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวก และคนผู้ที่ปฏิบัติดีต่างๆได้เช่นกัน
พื้นฐานแรกสุดที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมควรจะเรียนรู้ก็คือการแยกดีแยกชั่ว สิ่งที่ดีมีประโยชน์ก็ทำให้มาก เข้าถึงให้มาก สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปมัวเสพ อย่าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรมีติดตัวไว้ แยกแยะว่าสิ่งใดควรเชื่อ สิ่งใดไม่ควรเชื่อ (กาลามสูตร)
หากจะเปรียบเทียบกับการปลูกพืชในแปลงหนึ่ง เราก็ควรจะรู้ว่า พืชชนิดใดที่เราจะใช้ประโยชน์ และพืชชนิดใดที่ถ้าปล่อยให้โตจะเป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ เช่นเราเพาะเมล็ดผักบุ้ง แต่พอถึงเวลามีทั้งผักบุ้งและวัชพืชที่งอกออกมาจากพื้นดินที่เราให้การดูแล ตอนเป็นต้นเล็กๆ ก็คงจะแยกได้ยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าโตไปหรือมีความรู้ก็จะแยกได้ไม่ยากนัก
แยกพืชที่จะใช้ประโยชน์กับพืชที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้นแยกง่าย แต่แยกดีแยกชั่วนั้นไม่ง่าย ตอนที่กระทำตอนแรกๆ ก็ยากจะรู้ผล เพราะกรรมอาจจะไม่ส่งผลทันที ต้องรอดูไป เรียนรู้ไปหลายภพหลายชาติกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือชั่ว ให้ผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศมานั้นจะสามารถลดการสูญเสียเวลาจากการลองผิดลองถูกหลายชาติของเราได้ เช่นท่านตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เราก็พิจารณาตามว่าควรเชื่อไหม เราเห็นว่าสิ่งนั้นจริงอย่างไร เราจะลองลดการเบียดเบียนแล้วดูผลว่าดีจริงอย่างที่ท่านตรัสไว้หรือไม่ หรือจะเลือกเมินเฉย ยินดีเบียดเบียนต่อไปเพราะเชื่อว่ากรรมที่เบียดเบียนนั้นไม่มีผล
ศาสนาพุทธให้อิสระกับทุกคนในการเรียนรู้กรรม เชื่อสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น แต่ความจริงจะบอกผลเองว่าผิดหรือถูก ใครจะลองตามพระพุทธเจ้าก็ได้ จะลองในแบบที่ตัวเองเชื่อก็ได้ ก็พิสูจน์สัจจะกันไปตามที่เห็นสมควร
แต่กระนั้นก็การแยกดีแยกชั่วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะได้ศึกษาศาสนาพุทธมา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและแยกแยะกรรมดีกรรมชั่ว เข้าใจคุณประโยชน์ของกรรมดีและโทษภัยของกรรมชั่วได้ทั้งหมด ทั้งๆที่เรื่องดีเรื่องชั่วนี่แหละ เป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาเลย คือชั่วอย่าไปทำ ให้ทำแต่สิ่งดี และที่สุดของศาสนาพุทธคือการทำจิตใจให้ผ่องใสจากเหตุแห่งความชั่วนั้น (โอวาทปาติโมกข์)
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.” ยากนักที่จะรู้โทษของกรรมชั่ว คนโง่มักเข้าใจว่าชั่วที่ทำนั้นเป็นสิ่งดี เพราะได้เสพโลกียสุข สุดท้ายเมื่อได้รับอกุศลวิบากกรรมนั้น ก็ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเกิดจากไม่รู้ดีรู้ชั่ว จึงไม่หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสนั่นเอง
การปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการแยกดีแยกชั่ว แยกกุศลแยกอกุศล พยายามเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศล หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอกุศล จึงจะเป็นทิศทางที่จะนำพาความเจริญอื่นๆมาสู่ชีวิตได้
– – – – – – – – – – – – – – –
19.1.2559
จากโลกียะถึงโลกุตระ : ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ได้รับเชิญไปร่วมพูดคุยในรายการ “จากโลกียะถึงโลกุตระ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่เคยสุขตามโลก มาเป็นคนที่พยายามออกจากโลกเดิมๆที่มีกิเลส ในตอนนี้ก็จะพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาของ “ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์” ว่าเป็นใคร ทำไมถึงมาเขียนบทความธรรมะ ทำไมถึงหันมาปฏิบัติธรรม รับชมได้ครับ มีทั้งหมด 2 ตอน
– – – – – – – – –