Tag: บาปกรรม

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,348 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,849 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์