Tag: ความรวย

รวยเท่ากับซวย #5

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,382 views 11

รวยเท่ากับซวย #5

รวยเท่ากับซวย #5

…แบ่งปันประสบการณ์ ถ้าเร็วกว่านี้ก็คงจะรวย(ซวย) ไปแล้ว

หากวันนั้นผมได้รับโอกาสบางอย่างในเวลาอันเหมาะควร ในวันนี้ก็คงจะไม่มีบทความเหล่านี้จากคนคนนี้อย่างแน่นอน…

เมื่อหลายปีก่อนผมใช้เวลาทุ่มเทอยู่กับการศึกษาแคคตัสและไม้อวบน้ำ ผมมีทักษะมากมาย การผสมเกสร การเพาะเมล็ด การปลูก การตัดต่อฯลฯ เป็นทักษะที่ผมฝึกไว้อย่างเชี่ยวชาญเผื่อว่าวันใดวันหนึ่งที่ผมจะได้ไปทำสวนแคคตัส สร้างรายได้จำนวนหนึ่งไว้เลี้ยงชีวิต เป็นรายได้ที่คำนวนออกมาคร่าวๆแล้วอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่ารวย เพราะเล็งไว้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับทักษะทางด้านบริหารและนิสัยในการสังเกต จดบันทึก และทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทำอยู่ จึงทำให้ผมประเมินว่าถ้าผมได้พื้นที่ทำสวนแคคตัส ความรวยคงไม่หนีผมไปไหนอย่างแน่นอน

แต่ในความจริงแล้วผมยังอยู่บ้านในเมืองกรุง บ้านที่มีพื้นที่ปลูกไม่มากเท่าไหร่ และยังไม่มีที่ไหนที่จะมารองรับความฝันของผมเลย วันเวลาผ่านเลยไปจนกระทั่งวันหนึ่งพ่อได้มอบที่ดินกว่า 5 ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพให้ผมได้ใช้ตามใจชอบ

ในช่วงแรกผมเองยังมีความคิดจะเลี้ยงตัวเองและทำสวนแคคตัสอยู่ แต่เมื่อพัฒนาที่ดินไป ออกแบบไป สวนแคคตัสที่เคยฝันไว้ก็เล็กลงเรื่อยๆ จาก 1 ไร่ เหลือ 200 ตารางเมตร จนกระทั่งสุดท้ายไม่เหลือพื้นที่ให้ใจผมเลี้ยงแคคตัสอีกต่อไป นั่นเพราะผมบังเอิญพบกับธรรมะเสียก่อน ผมตัดสินใจเชื่อธรรมะไปก่อนจะได้ที่ดินแปลงนี้แล้ว เมื่อได้ที่มาแล้วแม้ว่าความฝันเดิมๆที่อยากรวยมันจะยังมีอยู่ แต่มันก็โดนธรรมะค่อยๆทำลายไปเรื่อยๆจนไม่เหลือซาก ไม่เหลือแม้แต่ธุลีความอยากมีสวนแคคตัส ไม่เหลือแม้แต่ความอยากรวยในจิตใจ

ถ้าหากว่าผมได้ที่ผืนนั้นก่อนจะพบกับธรรมะ ผมเชื่อมั่นว่าตนเองต้องเป็นนักพัฒนาพันธุ์ไม้ที่เก่งกาจอย่างแน่นอน และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจไม้ประดับที่ผมได้ออกแบบไว้ ความรวยไม่มีทางหนีผมไปไหนอย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายที่ผมได้พบกับธรรมะก่อนความฝันของผมจึงไม่มีทางเป็นจริง

ความอยากรวยไม่มีวันชนะธรรมะเลย ความอยากได้อยากมี ความฝันใดๆล้วนพ่ายแพ้ต่อธรรมะทั้งสิ้น มันแหลกสลายลงตรงหน้าผม ไม่เหลือเชื้อให้สานต่ออีกเลย

ถ้าวันนั้นผมได้ที่ผืนนั้นก่อนจะพบกับธรรมะ ก็จะไม่มีผมในวันนี้ ไม่มีทางที่ผมจะได้มีเวลามาเขียนบทความเหล่านี้ เพราะคงจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการจดบันทึกและพัฒนาพันธุ์ไม้ กลายเป็นพ่อค้าไม้ประดับที่ขายในประเทศและส่งออกคนหนึ่ง กลายเป็นคนรวยคนหนึ่งในมุมเล็กๆมุมหนึ่งบนพื้นที่เล็กๆแห่งหนึ่งของประเทศไทย

แล้วมันจะมีความหมายอะไร มันมีคุณค่าอย่างไร ในเมื่อคุณค่าของคนนั้นคือการเสียสละ การแบ่งปัน การไม่เห็นแก่ตัว การที่ผมรวยนั้นจะทำให้ศักยภาพหรือคุณค่าในตัวของผมไม่สามารถแสดงออกได้เหมือนทุกวันนี้ เพราะทุกวันนี้ผมได้พบกับสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เลิศกว่า การที่ผมได้ถ่ายทอดบทความเกี่ยวกับชีวิตออกมามากมาย ยิ่งสร้างคุณค่าให้กับชีวิตผมมากขึ้น ผมกลับยินดีในชีวิตแบบนี้มากกว่าที่จะไปรวยในแบบที่เคยฝัน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #4

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,960 views 0

รวยเท่ากับซวย #4

รวยเท่ากับซวย #4

…หยุดความซวยด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

วิธีเดียวที่จะหยุดความซวยจากความรวยได้นั้นก็คือหยุดรวย แต่จะบอกให้คนรวยนั้นหยุดรวยก็คงจะทำใจกันยากสักหน่อยเพราะคงจะไม่มีใครที่จะยอมสละกิเลสกันง่ายๆ ดังนั้นเราจึงต้องมาศึกษาความพอเพียงกัน

ความพอเพียงนี้ก็มีอยู่หลายระดับ ความพอเพียงของเศรษฐีกับความพอเพียงของคนจนยอมแตกต่างกัน ถ้าหากคนรวยมองไปในความพอเพียงของคนจนก็มักจะมองว่า ทำไมมีน้อยจัง กินน้อยใช้น้อยจัง ชีวิตลำบากจัง แต่นั่นคือความพอดีของคนจนแล้วนะ จะให้เขาไปมีในระดับความพอดีของคนรวยมันก็คงจะไม่ไหว มันก็มากเกินไป มากเกินจะแบก เป็นภาระให้ปวดหัวเข้าไปอีก

จะเห็นได้ว่าความพอเพียงนั้นต้องเป็นไปตามฐานะของแต่ละคน ไม่ใช่ให้คนรวยมาพอเพียงอย่างคนจนเลยมันทำไม่ได้ กิเลสเราสะสมมาเยอะแล้วไปขัดใจมันเข้ามากๆมันจะบีบคอเราตายเอา มันจะทำให้เราทรมานจนขยาดไปเลย ดังนั้นคนรวยก็ควรจะพอเพียงในระดับที่ตนรับไหวก่อนแล้วค่อยลดระดับลงมาเรื่อยๆ จนเข้ามาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าคนจนให้ได้ ในส่วนคนจนเมื่อพอเพียงแล้วก็จะพบว่ามีรายได้มากขึ้น ลดรายจ่ายได้มากมาย ก็อย่าหลงไปตามโลก ไปอยากได้อยากมีอะไรที่เกินความจำเป็นตามเขา ซึ่งมันจะเริ่มไม่พอเพียง มันจะฟุ้งเฟ้อแล้วกิเลสมันก็จะโตตามไปด้วย

ความพอเพียงนั้นเกิดขึ้นได้จากการลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่เราทำได้ในชีวิตประจำวันกันนี่แหละ แทรกเข้าไปในชีวิตเลย ไม่ต้องไปเรียนรู้ที่ไหน เรียนรู้กันอยู่ในใจนี่แหละว่าฉันโลภไหม ฉันอยากได้ไปทำไม กระเป๋าใบเก่าก็ยังดีอยู่แล้วจะซื้อใบใหม่ทำไม ,น้ำเปล่าก็ดีต่อสุขภาพแล้วจะกินกาแฟไปทำไม, แค่สองสามชั้นก็น่าจะเดินได้จะขึ้นลิฟท์ให้เปลืองไฟไปทำไม ,เรากินอาหารมื้อนี้แพงไปไหม ,จริงๆแล้วเรากินแค่ข้าวผัดหนึ่งจานก็อิ่มแล้วทำไมต้องกินบุฟเฟต์ให้มันจุก ให้มันลำบากด้วย เราจะเห็นได้ว่าเพียงแค่จิตใจของเราหัดพอเพียงในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ลดกิเลสจากเรื่องที่มันดูเหมือนไม่มีสาระนี่แหละ มันจะขยายไปเรื่องที่มันยิ่งใหญ่ขึ้นได้เอง

เช่น เราจะซื้อรถคันใหญ่ไปทำไม ในเมื่อเราก็ตัวคนเดียว คนในครอบครัวก็มีรถกันหมดแล้ว ,เราจะแต่งรถไปทำไม เพื่อเติมกิเลสใดให้สมใจเรา ถ้าสวยแล้วเราจะเป็นสุขหรือ ,เราจะมีบ้านใหญ่ไปทำไม ไว้อวดใครหรือแค่ไว้ซุกหัวนอนเท่านั้น ,เราจะแบกอะไรให้มากมายไปทำไม ทำงานเท่าที่ควรจะทำให้เสร็จเรียบร้อยให้เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่แล้วพักผ่อนให้เพียงพอก็พอแล้ว …

เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตมันก็เรื่องเพียงแค่นี้แหละ แค่เราถามตัวเองบ่อยๆว่าเราจะเสพมากไปทำไม จะทำตามกิเลสไปทำไม เราจะอยากได้อยากมีไปทำไม มันจำเป็นจริงหรือ เรามีแล้วมันจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีแล้วจะเป็นอย่างไร มันจำเป็นกับชีวิตไหม มันสำคัญไหม

ถ้าจิตใจมันไม่พอเพียงมันจะตีทิ้งคำถามพวกนี้หมดเลยนะ เวลาคนกิเลสขึ้นใจมันโลภ มันอยากเสพ มันจะหน้ามืดจะเสพ มันจะเอามาให้ได้ มันไม่สนอะไรทั้งนั้น จะขอข้ออ้างเหตุผลอะไรเพื่อเสพมันมีให้หมด มีธรรมะมีสติแค่ไหนมันก็ตีทิ้งหมด เวลามันจะเสพตามกิเลสมันชนะหมดทุกความพอเพียงนั่นแหละ

คนพอเพียงจริงๆแล้วก็คือคนที่ตามทันกิเลส รู้ทันกิเลส สามารถทำให้กิเลสสงบลงและสยบกิเลสนั้นได้ ส่วนคนที่ไม่พอเพียงก็เป็นเพียงคนที่ตามกระแสกิเลส ทำตามกิเลส คล้อยตามกิเลส สุดท้ายจะรวยหรือจะซวยยังไงก็ไม่สน ขอให้ได้เสพสมใจตามกิเลสก็เป็นพอ ชาติภพนี้จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน จะทุกข์ข้างหน้าก็ไม่เป็นไรขอให้ได้เสพสุขตอนนี้ก็เป็นพอ

…ดูสิพลังของกิเลสมันรุนแรงขนาดไหน จะแก่เดือน แก่ปี แก่พรรษา เป็นผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมามากแค่ไหน แต่ถ้ายังแพ้กิเลสก็ยังถือว่าเด็กๆอยู่ดี เด็กต่อกิเลส ยอมให้กิเลสมันหลอก ไม่รู้ทันกิเลส จะเกิดมากี่ชาติต่อกี่ชาติก็ยังเป็นเด็กให้กิเลสหลอกให้หัวปั่นอยู่เรื่อยไป อย่าว่าแต่เศรษฐกิจพอเพียงเลย แค่เลี้ยงตัวเองให้ทันตามกิเลส ให้พอเสพกิเลสยังเอาตัวไม่รอดเลย แบบนี้จะให้ตั้งหลักสู้กับกิเลสคงไม่ไหว คงต้องยอมปล่อยให้เป็นไปตามกิเลส ปล่อยให้เรียนรู้กันอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าจะพอเข้าใจ ว่าความรวยนั้นมันนำมาซึ่งความซวยอย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #3

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,008 views 0

รวยเท่ากับซวย #3

รวยเท่ากับซวย #3

…เมื่อความมั่งคั่งในทางโลก คือความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

คนที่เกิดมาพร้อมกับความรวยนั้นดีจริงหรือ?มีบุญวาสนาเป็นตัวผลักดันจริงหรือ?เรารู้กันหรือยังว่าสิ่งใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

สิ่งที่ทำให้คนเกิดมารวยก็คือ “กุศล” กุศลโลกียะแบบชาวบ้านๆนี่แหละ เช่นไปทำทานด้วยเงิน ส่งเสริมคนอื่นด้วยเงิน ช่วยเหลือคนอื่นไว้ด้วยเงินและด้วยปัจจัยอันมาก พอตายแล้วเกิดมาก็แค่ได้รับผลแห่งกุศลที่ตัวเองทำไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุญแม้แต่น้อย เพราะบุญเป็นเรื่องของการลดกิเลส

ทีนี้พอเกิดมารวยแล้วไม่รู้ที่มาของความรวยนั้นก็จะถล่มใช้เงินเหล่านั้นทำบาป เสพกิเลส เพราะคนรวยนั้นมีศักยภาพที่จะสนองกิเลสมากกว่าคนอื่น สะสมบาปเวรภัยไปเรื่อยๆ เมื่อไปทำทานอย่างไม่มีปัญญารู้เรื่องบุญก็ได้แต่กุศลมาสะสม ทำให้เมื่อตายไปก็จะเกิดมารวยอีก แล้วก็เกิดมาสนองกิเลสอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าบาปจะสั่งสมมากพอเป็นวิบาก เป็นผลทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเกิดทุกข์โทษภัย ทำให้ชีวิตลำบากหรือเกิดในชาติที่ชีวิตลำบากยากจน พอเห็นคนอื่นรวยก็อิจฉาแล้วก็ขยันหาเงินอีก พอมีเงินก็เอาไปทำทานเพื่อกุศล จนรวยขึ้นมาแล้วก็ตาย เกิดมาเสพกุศลตัวเองรวยไปอีกชาติ ก็วนเวียนจนๆรวยๆอยู่เช่นนี้ วนอยู่ในโลกแบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

….เกิดมารวยมันก็เท่านั้น

เกิดมารวยมันก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นสุขมากกว่าเด็กชาวเขาที่วิ่งเล่นกันทุกวันโดยไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ไม่ต้องมีมารยาท ถ้าหากเราใช้เงินและความมั่งคั่งมาเป็นตัววัดความสุข เรากำลังมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยอำนวยความสะดวกแต่ซื้อความสุขไม่ได้

มีคนมากมายที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความร่ำรวยแต่ก็ยังมีความสุขในชีวิตประจำวัน มีความสบายใจที่ไม่ต้องแบกภาระแบกกิเลสอันมากมายของเงิน แบบนี้สิเขาเรียกว่ามีบุญวาสนาบารมี เพราะเขามีการลดกิเลสมาอยู่แล้ว เขาสามารถมีความสุขได้ทั้งๆที่ไม่มีเงินมากมาย เพราะกิเลสเขาน้อย ชีวิตจึงไม่จำเป็นต้องลำบากหาเงินจำนวนมากเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าให้มันลำบากกาย ลำบากใจ เพราะไม่มีกิเลสหรือพลังแห่งบาปเป็นแรงผลักดัน

…รวยไม่ได้หมายความว่าทำบุญได้มากกว่า

การที่เรารวยไม่ได้หมายความว่าเราจะมีศักยภาพในการทำบุญมากกว่าคนอื่น การทำบุญหรือการลดกิเลสนั้นทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากจนหรือรวย ก็สามารถที่จะเรียนรู้เรื่องลดกิเลสได้เหมือนกัน ในส่วนการทำกุศลเช่นนำเงินจำนวนมากไปบริจาคสร้างสถานที่หรือสนับสนุนโครงการต่างๆ นั้นก็เป็นกุศลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะทำกุศลไม่ได้ เพราะมีคนจนหลายคน ที่สร้างตัวเองให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกคนสร้างความดี ทำให้คนในชุมชนทำดี แบบนี้มันกุศลมากกว่า เพราะความดีมันเกิดในจิตใจคน ไม่ใช่เพียงวัตถุสิ่งของ

เห็นไหมว่าการทำกุศลไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เงินจะเป็นปัจจัยที่ด้อยค่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการทำความดีของคน ดังจะเห็นได้ว่ามีคนนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจำนวนมากนั่นเพราะเขาเห็นว่าผู้ปฏิบัติดีเหล่านั้นจะสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเขา นั่นเป็นเพราะว่าความดีในจิตใจของคนนั้นมีแค่เหนือเงินนั่นเอง

….คนรวยติดสุข

ความรวยนี่เองที่จะทำให้เราอยู่กับทุกข์ชั่วกาลนาน เพราะคนที่รวยจะติดสุข ติดไปกับโลกธรรมอยู่เรื่อยไป จะไม่มีวันเห็นทุกข์ในโลกธรรม เพราะตัวเองนั้นยังติดสุขอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่เกิดจากความรวยของตน ชีวิตก็ติดอยู่ในภพของเทวดา มีคนหาของมาบำเรอ อยากได้อะไรก็หาได้ กลายเป็นเทวดาในร่างคน ติดภพ ติดสุข อยู่เช่นนี้ กอดความรวยของตนเองไว้หลงว่าเป็นสุข หลงว่าเป็นบุญ ทั้งๆที่เป็นเพียงกุศลหรือผลของความดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับบุญ

คนที่เกิดมารวยหรือคนที่พยายามจะรวยนั้น โดยมากจะมีกิเลสหรือพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอยู่เสมอ ใช้ชีวิตบำเรอกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ไม่ขาด ไปที่ไหนก็ต้องกินดี ไปที่ไหนก็ต้องนอนดี อยู่ในที่ดีๆ ติดสุขอยู่แบบนี้ ยินดีในความรวยอยู่แบบนี้ จิตจึงตั้งมั่นอยู่ในความรวย แล้วพยายามสร้างกุศลให้ตัวเองได้เกิดมารวยอีกต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อมีความติดสุขก็ย่อมไม่เห็นทุกข์ เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็ไม่มีทางเห็นธรรม คนที่รวยมากๆจะเข้าถึงธรรมได้ค่อนข้างยาก จะเข้าถึงก็ได้แค่เพียงวัด แค่พระ แต่จะไม่เข้าถึงใจที่เป็นทุกข์จริงๆ การที่เราจะบรรลุธรรมได้นั้นเราต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกิเลสด้านใดด้านหนึ่ง แต่คนรวยจะไม่ยอมทุกข์เพราะว่าตนเองติดสุข จะให้ไปทุกข์นั้นเขาจะไม่เอา แต่ถ้าให้ไปทำกิจกรรมในวัดที่เสริมโลกธรรมอันนี้จะชอบ เช่นแต่งชุดขาวเป็นประธานกฐิน ออกหน้าออกตาในสังคม อันนี้มันก็เป็นกุศลที่อาจจะปนบาปไปด้วยเช่นกัน

….ความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

ความหลงติดในความรวย ในความสุขสบายนี้เอง จะทำให้เราหลงติดอยู่ในโลกนี้ ไม่ยอมสละไม่ยอมทิ้ง คนที่ยอมสละได้ทิ้งได้ย่อมเป็นคนมีบุญเป็นอันมากและเมื่อทิ้งแล้วย่อมไม่ใช่คนรวย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ทรงสละทุกอย่างมาออกบวช แม้รองเท้าก็ไม่เอาเป็นอดีตคนรวยที่สละทุกสิ่งเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ถ้าท่านยังคงติดอยู่ในราชสมบัติติดอยู่ในความสบายก็คงจะไม่มีคำสอนเรื่องธรรมะมาถึงพวกเราจนถึงทุกวันนี้ คนรวยในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน หากยังหลงในความรวยอยู่ ยังยึดติดว่าต้องรวยก่อนจึงจะทำกุศลได้อยู่ ยังมีความเห็นผิดเป็นอันมากอยู่ ก็จะกอดเก็บและสะสมความรวยนั้นไว้ สร้างบาป เวร ภัยต่อตัวเอง เป็นคนขี้โลภที่กอดกิเลสไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมสละความรวย ไม่ยอมจน คนที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่คนรวย พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูแล้ว แต่ต้องเป็นคนจน จนขนาดที่ว่าแทบไม่มีอะไรเป็นของตัวของตนเลย มีเพียงแค่บาตร จีวรและเครื่องบริขารอีกเล็กน้อยไว้ดำรงชีพเท่านั้นจึงจะทำให้ชีวิตเบา

เพราะยิ่งรวยก็ยิ่งต้องแบกภาระ ก็ยิ่งต้องหนัก แต่พอจนมันไม่ต้องแบกไม่ต้องรับผิดชอบ ที่จริงคนรวยนี่เองคือคนที่ติดสุข ติดกิเลส ติดสะดวกสบาย ก็เลยหากาม หาโลกธรรมมาบำเรอตัวเองจนรวยเพื่อที่จะได้เสพความสบายวนเวียนไปอยู่เช่นนี้ติดภพติดสุขอยู่ในโลกไปเช่นนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,060 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์