Tag: ความพาล
คนพาลที่ไม่รู้จักคนพาล
ยิ่งได้ศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะยิ่งได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านได้แจกแจงความเป็นคนพาล ในระดับต่าง ๆ ไว้ เช่นระดับที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ หรือแย่น้อยลงมาคือควรวางเฉย คือไม่ควรไปยุ่งนั่นแหละ ก็ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เช่นกัน
คนที่ปฏิบัติธรรมจนชัดเจน จะสามารถเห็นคนพาลได้ชัดเจน เพราะถ้าตนเองได้ล้างความพาลมาแล้ว ก็จะเห็นความพาล รู้จักความพาล ดังนั้น การเห็นความพาลในคนพาล จึงเป็นผลอย่างหนึ่งของการปฏิบัติ จะเห็นลีลาอาการวาทะที่บ่งบอกถึงความพาล หรือที่เรียกกันว่าตาทิพย์หูทิพย์
ตาทิพย์ หูทิพย์ของพุทธนั้นไม่ใช่ตาที่เห็นผี เห็นเทวดา อันนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ หูทิพย์ก็ไม่ใช่ว่าได้ยินเสียงแปลก ๆ เสียงไกล ๆ เสียงใกล้ ๆ
แต่ตาทิพย์ หูทิพย์นั้นคือฟังชั่นหนึ่งของปัญญา ที่สามารถจำแนกความเป็นทิพย์และความเป็นพิษที่มีอยู่ในโลก นั่นคือสามารถแยกความเป็นบัณฑิตและคนพาลได้ แยกความเห็นที่ถูกออกจากความเห็นที่ผิดได้ ผ่านการรับรู้ด้วยการมองเห็นและการได้ยิน
ผู้ที่เป็นบัณฑิตจะเห็นคนพาลเป็นคนพาล เห็นบัณฑิตเป็นบัณฑิต ส่วนคนพาล จะไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้จักบัณฑิต ไม่รู้จักคนพาล ดีไม่ดีก็เดามั่วเอา หรือไม่ก็เล่นคำเล่นวาทะพางงไปอีก
สรุปเลยว่าคนที่ยังล้างความพาลในตนไม่ได้ จะไม่เห็นคนพาลชัดเจน ไม่รู้จักคนพาลหรอก เพราะแค่พาลที่สิงในตัวเองยังไม่รู้จักเลย ดังนั้นข้างนอกที่ไกล ๆ เป็นอื่นไปจากตัวเรา ยังไงก็มองไม่ชัด รู้ไม่จริง ได้แค่เดาเอา และส่วนมากจะเดาผิดเพราะตนเองไม่มีภูมิธรรม
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งในความเป็นพาล จึงสามารถแจกแจงลีลาอาการของคนพาลไว้ชัดเจน แถมยังสอนให้ห่างไกลคนพาลด้วย คนจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาผู้ที่ควรบูชา
เป็นองค์ประกอบของการปิดทางชั่ว รู้จักสิ่งดี และปฏิบัติตามสิ่งดี ถ้าไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไรชัดเจน วิถีแห่งการปฏิบัติก็จะมัว ๆ มั่ว ๆ ไปตามนั้นด้วย
ตั้งแต่พรุ่งนี้ก็จะเริ่มยกระดับการพิมพ์บทความเกี่ยวกับคนพาล โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เริ่มจากชิคุจฉสูตร (เล่ม 20 ข้อ 466) ถ้าได้ศึกษาแล้วรู้จักแยกแยะคนพาลออกจากชีวิตได้ ก็เป็นความเจริญ ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้แล้วพาให้เกิดความรู้แจ้งทั้งโลกุตระและโลกียะไปด้วยกัน เติมเต็มปัญญาให้ปรากฏทั้งรูปทั้งนามไปด้วยกัน
การช่วยเหลือคนพาล
วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?
จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน
1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก
2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น
3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง
การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น
ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย
พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ
แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา
ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา
สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ
แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ
ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย
ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล
การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ คลุกอยู่กับคนพาล
การปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นมงคลประการแรกจะเริ่มต้นด้วยการห่างไกลคนพาล
แต่ความเป็นคนพาลนั้นใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย จำเป็นต้องใช้ธรรมะในการจำแนกให้ชัดเจน ยิ่งเรามีธรรมะในใจ ล้างความพาลของตัวเองได้เท่าไหร่ เราจะเห็นพาลข้างนอกได้มากขึ้น คนมีศีล ๕ ก็จะเห็นความพาลของคนไม่มีศีล ๕ คนที่มีศีลสูงกว่า ก็จะเห็นความเห็นผิดของคนที่มีฐานต่ำกว่า คนที่สูงที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งตรัสรู้แรก ๆ เห็นความจริงทั้งหมดเลยว่าโลกนี้ไม่น่าสอนใครเลย คงจะเหนื่อยเปล่า แต่สุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสร้างศาสนา เพื่อสอนคนที่มีกิเลสเบาบาง job description ท่านสอนเท่านี้ ท่านไม่ได้สอนทั้งหมดในโลกนะ ขนาดพระพุทธเจ้ายังห่างไกลคนพาล คบ(สอน)คนที่ตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์เลย (บัณฑิต)
สมัยก่อนผมก็เคยพลาดคบคนพาล แบบพาเที่ยวพาผิดศีล เกเร เกเรียนทั่วไปก็เคยอยู่ แต่แบบนั้นก็ไม่ทำให้โง่หนักหนาเท่ากับไปพลาดคบคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต
คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต จะมาพร้อมกับความฉลาดทางโลก ความฉลาดในการสร้างโลกธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อล่าบริวาร ล่าอำนาจ ล่าทรัพย์ ฯลฯ
ตอนเราศึกษาธรรมใหม่ ๆ เราก็ไม่รู้อะไรมาก หยิบจับอะไรได้ก็อันนั้นแหละ แต่สุดท้ายนั่นแหละ มันเป็นพิษ มันเป็นกับดักที่พวกคนพาลวางไว้ เขาก็สร้างตัวตน สร้างชื่อเสียง ตลอดจนสร้างภาพว่าตนนั้นบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ คือชอบที่จะพยายามสื่อสารกำกวม ๆ แต่จะไม่ยอมให้ตรวจสอบ ถ้าไปถามจะปัดไปปัดมา เข้าถึงยาก พูดจาวกวน ฯลฯ เสียเวลาศึกษาผิด ๆ อยู่หลายปี แต่เสียเวลาอีกหลายปีกับการล้างสัญญาที่เรียนมาผิด ๆ เรียนมาผิดนี่ต้องล้าง เสียเวลา พาสับสนนะ ใช่ว่าดี เป็นสัญญาพาหลง เป็นความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์
ต่อมาก็มาเจอธรรมะสายความรัก วาทะสวยหรู แค่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีรักได้ รักอย่างมีสติก็มีรักได้ มีรักก็พาเจริญได้ โอโห้! โลกสวยขึ้นมาทันที ถูกใจกิเลสยิ่งนัก มิน่าทำไมเขาดังกัน ก็เพราะมันเอื้อให้เสพกิเลสนี่เอง แต่พอมาศึกษาของจริง วาทะที่กล่าวมานี่เป็นภพทั้งนั้นแหละ เป็นข้ออ้างไว้เสพกามเสพอัตตา คือเวลาคนจะเสพตามกิเลสเนี่ย เขาจะมีวิธีคิด มีวิธีพูดให้มันดูดี ให้ดูเท่ ให้ดูข่มคนอื่น ให้ดูหลุดพ้น จะได้เสพได้โดยไม่มีใครด่า ว่า นินทา ติเตียน ก็สร้างวาทกรรมแห่งอธรรมมามอมเมาตัวเองและคนอื่น อันนี้ผมก็หลงอยู่ปีสองปีเหมือนกัน เสียเวลามาก ขยะยังมีประโยชน์กว่า เพราะยังเอาไปรีไซเคิล ทำปุ๋ย ถมทะเลได้ ความเห็นผิดไม่มีค่าอะไรเลย
พวกคนพาลล้ำลึกนี่มันพาฉิบหายได้มาก คือพาให้เกิดความเห็นผิด จิตวิปลาศไปได้เลย เมาอยู่ในโลกนั้นแหละ แล้วหลงด้วยนะว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลิศ สิ่งดีกว่านี้ไม่มี สิ่งดีนี้ดีที่สุด เหมือนกับหนอนที่ยินดีในการจมอยู่ในกองขี้ กินอยู่ในกองขี้ เพื่อนเทวดามาทักให้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า กลับชวนเทวดามากินขี้ด้วยเสียอีก อะไรประมาณนี้
เรื่องแบบนี้มันจะหลุดได้ยาก เพราะจะถูกมอมเมาแบบมืดแปดด้าน วิบากจะบังแบบมิด ๆ เลย แต่ก็พอจะมีช่องที่แสงส่องมาบ้าง คือการถือศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น การหมั่นทำความดี กุศลจะดลให้เจอกับสัตบุรุษ แล้วจะได้ฟังสัจธรรม แล้วนำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ขออย่างเดียวอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว อวดดี อวดรู้ แบบนี้ก็จมอยู่กับกองขี้เหมือนเดิมนั่นแหละ เก่งสุดก็เป็นหนอนในกองขี้ ภูมิใจอยู่กับกองขี้ ยินดีกับชีวิตในกองขี้ ไม่มีทางรู้จักและพัฒนาไปมากกว่านั้นได้เลย
สุดท้ายแล้วความเป็นพาลในตนนี่แหละ คือสิ่งที่จะสกัดกั้นการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะฟังธรรมไปก็เพ่งโทษไป ศึกษาไปก็ข่มคนอื่นไป เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับโมฆะบุรุษในประเด็นที่ว่า เขาเหล่านั้นศึกษาธรรมไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็มีแต่เอาไว้ข่มชาวบ้าน กับเอาไว้กันคนมาติฉินนินทาเท่านั้นเอง
สรุปว่าใครก็ต้องเคยชั่วเคยพาลมาทั้งนั้นแหละ แต่จะพยายามออก พยายามแก้ไขรึเปล่าก็อีกเรื่อง ถ้าพยายามออก พยายามละ ก็เป็นคนดี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว“
ช่วงบอกเล่า : บทความชุดคนพาล
เวลาที่ปรุงเรื่องอะไร มันก็มักจะมีประเด็นน่าสนใจงอกเงยขึ้นมาเรื่อย ๆ เรื่องนี้ก็เช่นกัน เพราะประสบการณ์เยอะ พอได้อ่านพระไตรปิฎก มันก็จะยิ่งชัดขึ้นอีก เพราะสิ่งที่เราได้เผชิญมา ก็ตรงกับพระพุทธเจ้าตรัสไว้ เราเอามาเทียบกันนี่มันก็ใช่เลย มันเป็นสิ่งดีที่ควรจะทบทวนและเผยแพร่นะ
บอกกันตรง ๆ ว่าเรื่องที่เตรียมไว้มีอีกหลายเรื่อง พิมพ์กันเป็นสิบวันก็คงไม่หมด เพราะเวลาอ่านพระไตรปิฎกนี่มันก็เพลิน เดี๋ยวไปสูตรนั้น เดี๋ยวไปสูตรนี้ เชื่อมโยง สอดคล้อง เรียบเรียงเข้ากับประสบการณ์ มันสนุกมาก
ถ้าติดตามกันไปต่อ จะมีบทที่ภาษาหนักขึ้นเรื่อย ๆ นี่ก็ยังเก็บไว้ก่อน เพราะเรื่องมันหนัก ก็เอาเรื่องเบา ๆ ผิว ๆ ตื้น ๆ ปูทางกันไปก่อน เพราะถ้ายกพระไตรปิฎกมาขยายกันนี่มันจะมัดคนพาลกันเลยทีเดียว
ชีวิตผมนี่พลาดพลั้งเพราะคนพาลมาหลายเรื่อง แต่ที่มาขยายกันได้ ไม่ใช่เพราะผมพลาด ผมพิมพ์ได้เยอะเพราะผมห่างไกลจากคนพาลได้ พอห่างไกลได้มันจะเห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก ไปคลุกคลีใกล้ชิดความพาลนี่บางทีมันจะมีวิบากอะไรมาบัง มันจะไม่เห็น ต้องถอยห่างมาประมาณหนึ่งจึงจะเห็น
ถ้าใครพ้นจากคนพาลมาได้ถึงจะซึ้ง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเปรียบกับกิเลสว่า เหมือนเราตาบอดแล้วมีคนเอาผ้ามาให้ บอกว่าผ้าที่ให้นั้นสวยงามและมีคุณค่า เราก็หลงดีใจ ชื่นชม ซึ้งในน้ำใจของเขาที่ให้ของดีเรามา แต่ความจริงผ้านั้นเป็นผ้าเก่า สกปรกมอมแมม แต่คนตาบอดเขามองไม่เห็น เขาก็ไม่รู้
…พอเขาได้ผ่าตัดรักษาตา มองเห็นได้ เขาจึงพบว่าผ้านี้สกปรก ไม่งาม ก็คิดเอาว่าโดนหลอกมาตลอดเป็นยังไง คบคนพาลก็อย่างนั้นแหละ มันจะซาบซึ้งตอนได้ธรรมะมารักษาใจที่มืดบอดจนมองเห็นความจริงนี่แหละ เรียกว่าเจ็บจนจุกในใจเลยก็ว่าได้ หลงอวย หลงชื่นชมไปเยอะซะด้วย
และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ผมนำมาพิมพ์กันมากมายในช่วงนี้ครับ