Tag: คลายกิเลส

แบ่งปันประสบการณ์ความเบื่อหน่ายคลายกิเลส กรณีศึกษาเรื่องการท่องเที่ยว

December 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,030 views 0

แบ่งปันประสบการณ์ความเบื่อหน่ายคลายกิเลส กรณีศึกษาเรื่องการท่องเที่ยว

เรื่องการท่องเที่ยวนี่ก็เป็นเหมือนเป้าหมายในชีวิตของใครหลายคนเลยทีเดียว การได้ไปเที่ยวในที่ต่างๆที่ไม่เคยไป การได้ไปผจญกับภัยในที่ที่ไม่เคยพบเห็น เป็นประสบการณ์ใหม่ๆที่หลายคนอยากสัมผัสด้วยตัวเอง และแม้แต่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนสนองกิเลสก็ยังเป็นความฝันก็ใครหลายคนด้วยเหมือนกัน

ผมเองก็เป็นคนที่เคยรักการท่องเที่ยว แม้จะไม่ได้ไปบ่อยนักแต่จากประสบการณ์ก่อนนั้นก็ชอบที่จะเดินไปตามแนวภูเขา ทุ่งกว้าง ชอบขึ้นภูเขา หน้าผา ทะเลตามสมัยนิยม ก็ชอบเหมือนกันกับคนอื่นเขานี่แหละ มีอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิตเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งมีน้ำท่วมถึงกรุงเทพ ผมก็เป็นอีกคนที่หนีน้ำท่วมออกจากบ้านไป(แต่น้ำไม่ท่วมนะ หนีก่อนปลอดภัยไว้ก่อน) และใช้โอกาสนั้นในการท่องเที่ยว ผมเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี เมืองพัทยา ประจวบคีรีขันธ์ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่เขามีให้เที่ยวโดยใช้การพักแรมที่บ้านเพื่อนบ้าง บ้านญาติบ้างตามโรงแรมรีสอร์ทบ้าง

ด้วยความที่ตัวเราก็ชอบถ่ายรูปอยู่มากเหมือนกัน เรียกได้ว่าสนุกกับการถ่ายรูปเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการไปเที่ยวและเก็บภาพบรรยากาศต่างๆจึงเป็นกิจกรรมที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งผมเคยมีความสุขกับกิจกรรมเหล่านั้นมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง….

….วันหนึ่งผมได้มีนัดพบปะเพื่อนฝูง ในกลุ่มเพื่อนก็จะมีคนที่ชอบท่องเที่ยวเป็นประจำ เที่ยวไปในที่ต่างๆมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบกเป้ลุยเที่ยวก็เป็นเรื่องปกติของเขา ซึ่งเขาก็ได้เล่าเรื่องที่ไปเที่ยวจีน ซึ่งการเดินทางในแถบนั้นดูจะลำบากและอันตราย เขาเล่าว่ามีครั้งหนึ่งตอนขึ้นรถที่ขับไปทางริมเขาก็เกือบจะตกเขาด้วยความที่เส้นทางนั้นลาดชันและไม่สมบูรณ์สักเท่าไรนัก

พอได้ฟังเขาเท่านั้นแหละ ความอยากท่องเที่ยวมันหายไปในพริบตา หลังจากที่ได้พิจารณาตามเขาซ้ำๆ ทำไมเราต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงขนาดนั้น การได้เที่ยวมันสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ แล้วต้องไปอีกกี่ที่ถึงจะพอใจ ได้เที่ยวไปทั่วโลกแล้วยังไง ได้เห็นทั้งโลกแล้วมันยังไง จะมีความสุขจริงหรือ แค่ฟังก็รู้สึกลำบากแล้ว ยิ่งถ้าไปเสียชีวิตจากการท่องเที่ยวแล้วจะมีใครยินดีกับเราบ้าง มันจะมีประโยชน์อะไรที่เราจะแลกความสุขกับความเสี่ยงขนาดนั้น

….ความอยากมันตายลงบนโต๊ะนั่นแหละ กิเลสมันตายกลางวนสนทนา เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายที่ผมรู้สึกลึกๆอยู่คนเดียว แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป เพื่อนๆยังคงสนุกกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยว ความฝันว่าอยากไปที่นั่นที่โน่น ผมก็ยังนั่งฟังและคุยตามปกติแต่ในใจเราไม่ได้คล้อยตามเขาไปอีกแล้วมันจบไปแล้ว

หลังจากนั้นก็มักจะมีคำชวนจากครอบครัวให้ไปเที่ยวด้วยกันต่างจังหวัด เช่นไปเกาะกูด ไปฟรีนะเขาออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ไป ชวนกี่ครั้งก็ไม่ไป เพราะมันไม่ได้อยากไปแล้ว ถ้าเป็นตัวเราแต่ก่อนนี่ก็คงจะตอบตกลงแน่นอน เพราะไปฟรี กินฟรี นอนฟรี จะมีอะไรดีกว่านี้อีก แล้วมันก็มีดีกว่าจริงๆนั่นคือไม่ไป…

สภาพแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ความยินดีที่จะไม่เสพโดยที่ยังมีความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว คงต้องขอบคุณตัวผมเอง ขอบคุณกรรมของผมเอง ที่หัดพิจารณาเรื่องนี้สะสมมาหลายภพหลายชาติ ผมคงเคยเป็นคนที่เที่ยวมาทั่วโลกมาแล้วไม่ชาติในก็ชาติหนึ่ง เที่ยวจนเบื่อ เที่ยวจนทุกข์ เที่ยวจนเกิดโทษ มาถึงชาตินี้พอมีเหตุการณ์ให้พิจารณาเพียงนิดหน่อยก็หลุดจากกิเลสตัวนี้ได้ และหลุดอย่างถาวรไม่อยากเที่ยวอีกเลย เพราะรู้ชัดแจ้งแล้วว่าเที่ยวไปก็เหมือนเดิมมีแต่ดิน น้ำ ลม ไฟ พระอาทิตย์ขึ้นก็เหมือนเดิม ตกก็เหมือนเดิม หนาวก็หนาวแบบนั้น วิวสวยมันก็เป็นของมันแบบนั้น เราไม่ได้สุขจากการเสพสิ่งพวกนี้อีกแล้ว และยังเห็นโทษด้วยว่าไปก็เปลืองเงิน เปลืองเวลา เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ แถมเวลาที่ไปเที่ยวถ้าเอามาทำประโยชน์ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นมากกว่า เช่นถ้าไปเกาะกูด 3 วัน 2 คืน คงได้บทความดีๆมาอย่างน้อย 1-2 บทความแล้ว อันนี้มันเห็นประโยชน์ของการไม่เที่ยวอย่างชัดเจน

ถ้ามองในเรื่องของประสบการณ์ซึ่งถ้ามันจำเป็นต้องเก็บประสบการณ์นั้นจริงๆมันก็ต้องไป แต่ถามว่าอยากไปไหมก็คงไม่อยาก ถ้าให้หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้ก็คงใช้ทางนั้นจะดีกว่า ไปให้มันลำบากกายลำบากใจไปทำไม คนที่มันไม่มีความอยากแล้วไปให้ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์นี่มันจะไม่อยากไปนะ มันจะเมื่อยๆ เฉื่อยๆ เบื่อๆ ไปอย่างนั้นเลย การที่เราไม่ได้เที่ยวนี้มันไม่ทุกข์นะ มันสุขแสนสุขเลย แม้ไม่ได้ไปเที่ยวก็สุขมันก็สุขตลอดเวลาเพราะไม่ได้มีความทุกข์จากความอยากไปเที่ยว

ผมเข้าใจว่าเวลาที่คนเราอิ่ม มันจะพอเอง พออิ่มจนเสพไม่ไหว รู้ว่าเสพต่อไปมันจะทรมานถ้ามีสติปัญญาพอ มันก็จะพอของมันเอง เหมือนกับการเที่ยวถ้าใครยังไม่อิ่ม ยังอยู่กับโลกไม่อิ่ม ยังชื่นชมโลกไม่พอ ยังเสพกิเลสไม่พอก็คงต้องกินให้อิ่มเสียก่อน อิ่มแล้วอยากกินต่อมันก็กินจนทรมาน ทรมานแล้วก็เห็นทุกข์ เห็นทุกข์ก็คงเห็นธรรมเองสักวัน

– – – – – – – – – – – – – – –

26.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,032 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์