Tag: คนพาล

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 718 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร

รู้ตัวชัดแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 850 views 0

แนะนำหนังสือครับ เล่มนี้อ่านแล้วรู้ชัดเลยว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต รู้ทั้งตัวเองและคนที่ใกล้ชิดว่าที่เขาเรียกว่ามิตรนั่นน่ะมิตรแท้หรือมิตรเทียม

เล่มใหญ่ ๆ ราคา 70 บาท ลองค้น ๆ หา ๆ กันดู ถ้าหาไม่ได้ที่ธรรมทัศน์สมาคมที่สันติอโศกมีขาย จริง ๆ น่าจะมีขายอยู่ในหลาย ๆ เครือข่ายนั่นแหละ

เล่มนี้เขาคัดข้อมูลมาจากพระไตรปิฎก มีอ้างอิง ตามไปสืบค้นพระสูตรฉบับเต็มกันได้ อ่านง่าย เหมาะกับคนที่ต้องการความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ถ้าเวลาเหลือ ผมยกมานำเสนอกันเป็นบท ๆ

คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,041 views 0

อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ “รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต” เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ

อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน บางทีมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะแยะ เราก็ไม่รู้จะคัดอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักอะไร แต่พอมาศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะมีจุดให้สังเกตได้ง่ายขึ้น

หลัก ๆ ของชีวิตนี่มันต้องมีมิตรดีไว้ก่อน แต่ก็ต้องดูด้วย บางคนเหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็ไม่ใช่มิตร บางคนดูเหมือนจะเป็นมิตรแต่ก็ไม่ใช่คนดี ถ้าทุกคนมีความจริงใจ มันจะดูกันง่าย ไม่น่ากลัว

แต่ด้วยความที่คนสมัยนี้มีกิเลสมาก มีมารยามาก ยากที่จะดูได้ สมัยพุทธกาล ก็ยังมีพระเทวทัตปนมาในหมู่นักบวช สมัยนี้ย่อมมีเยอะกว่าเพราะไม่มีพลังความดีมาต้านคนชั่ว คนชั่วก็ปนเข้ามาเสพประโยชน์ของศาสนาเยอะมาก เพราะโลกธรรมในงานศาสนานั้นหอมหวาน

วิธีคัดคือเราปฏิบัติธรรมให้ได้ผลชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะรู้จักคนชัดเจนยิ่งขึ้น มันจะมีคน 3 พวกคือ คนที่เห็นด้วยกับเรา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และคนที่ไม่ได้สนใจใยดีเราหรือไม่รู้จักเรา เราก็เลือกที่เป็นธาตุใกล้ ๆ กันนี่แหละ เพราะเอาธาตุไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยมันจะมีแต่เรื่องปวดหัว ก็ให้เขาอยู่ของเขาไป เราก็อยู่ของเรา

ยิ่งเราได้ เราชัดในวิธีการปฏฺิบัติของเราแล้ว เราไม่ต้องกลัวหรอก ที่เหลือก็แค่คัดศพออกจากทะเล คัดคนที่เป็นคนพาลออกจากชีวิต คัดผู้ไม่ใช่มิตรออกไปให้ห่างใจ

คบสหายมีปัญญา ความเป็นสหายไม่มีในคนพาล

February 7, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,086 views 0

ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน
เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน
เขาครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้
พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
แต่ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญาคอยช่วยเหลือกัน
พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำบาป
เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล

(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ “โกสัมพิขันธกะ”่ ข้อที่ ๒๔๗)

อ่านแล้วรู้สึกว่าเห็นด้วยมาก พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ไปคบคนมั่ว ๆ ท่านแนะนำให้คบคนที่สูงกว่าหรือเสมอกัน ดังที่ท่านว่า คอยช่วยเหลือกัน ช่วยให้พ้นภัยอันตราย มีความพึงพอใจในกัน คือเคารพและยินดีในการมีอยู่ของกันและกัน ท่านให้คบหากับคนเหล่านั้น

แต่ถ้าหาไม่ได้ อย่าไปคบเชียว อย่าเชียวล่ะ คนที่ต่ำกว่า มีศีลธรรมต่ำกว่า จะพาปวดหัว เพราะท่านกล่าวว่า ความเป็นมิตรสหายไม่มีอยู่ในคนพาล ซึ่งก็จริงเช่นนั้นจริง ๆ คนที่เขาไม่พัฒนาตน ไม่พัฒนาศีลธรรม เชื่อใจไม่ได้หรอก ดีไม่ดีหลอกเราด้วยว่ามีศีลมีธรรม สุดท้ายก็ทำร้ายเรา นินทาเรา แทงหลังเรา พวกนี้เกิดจากเราไปคบคนพาล เสียทั้งเวลา และสารพัดเสีย ไม่มีมิตรแท้ในหมู่คนพาลนี่เรื่องจริง มีแต่ชิงดีชิงเด่นเอาหน้าเอาผลงาน

ยุคนี้คนพาลเขาฉลาด เขาก็แสร้งว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม ก็เหมือนพระปลอม เนื้อปลอม ผู้ชายปลอม ผู้หญิงปลอม อะไรแบบนี้ ได้แค่เหมือน แต่ไม่ใช่ แม้กระนั้นก็ยังหลอกคนได้อยู่ดี แต่ถ้าเราใช้สูตรของพระพุทธเจ้า เราจะไม่พลาด เราไม่จำเป็นต้องไปอนุโลมคบกับคนต่ำกว่า แม้จะมีบทหนึ่งเว้นไว้สำหรับคนที่เขามาขอความช่วยเหลือก็สามารถเอาภาระสอนเขาได้ แต่การจะไปคบคนต่ำกว่าที่เขาไม่ได้ยินดีให้เราแนะนำหรือช่วยเหลือนี่มันผิดสัจจะ มันไม่พาเจริญ ดีไม่ดีเขายกตนข่มเราเข้าไปอีก ซวยไปกันใหญ่

ผมคบคนไม่เยอะ เพราะผมเน้นคุณภาพ ใครที่ดู ๆ แล้วท่าไม่ค่อยดี ผมก็ห่าง ๆ ไว้ มันเมื่อยหัว เพราะสร้างแต่เรื่องอกุศลและไร้สาระ เป็นคนรู้จักห่าง ๆ กันไปดีกว่า ไม่ต้องสนิทชิดใกล้กันหรอก ศีลมันไม่เสมอ ทำยังไงมันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

คนจะเป็นสหายกันนี่มันไม่ต้องพยายามหรอก คุยกันถูกคอ ศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกันเดี๋ยวก็ไปด้วยกันได้เอง ถึงจะพยายามแค่ไหน ถ้ามันไม่เสมอเดี๋ยวก็หลุดไปอยู่ดี ด้วยเหตุที่ฟังแล้วไม่เข้าใจบ้าง อิจฉาบ้าง ฯลฯ เดี๋ยวก็เพ่งโทษ ถือสา หานรก ป่วนไปหมด

ครูบาอาจารย์ก็เคยบอกสอนไว้ แม้ในองค์กรเดียวกัน ก็ต้องเลือกกลุ่มให้ถูก เพราะกลุ่มที่ไม่พาเจริญก็มี กลุ่มที่พาเจริญก็มี ต้องเลือกให้ถูกระดับศีลเรา ถ้าเราถือศีลเคร่ง เราไปอยู่กับกลุ่มเหยาะแหยะบ้ากามหลงงานไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้ตายอย่างเดียว มีแต่เสื่อม ไม่มีเจริญเลย เราก็ต้องเลือกกลุ่มที่เสมอกันเป็นอย่างน้อย ถ้ามีดีกว่า ก็ไปอยู่กลุ่มที่ดีกว่า

พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่า “สหายมีปัญญา” ด้วยผมเองก็เป็นสายปัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงหาคนที่มีปัญญามากกว่าไม่ยาก ยิ่งสายปัญญายิ่งมีน้อย ๆ อยู่แล้วด้วย คุยไปเถอะ นานไปเดี๋ยวก็รู้เอง คนไม่มีปัญญา เขาจะตามไม่ทัน เข้าใจผิด หลงประเด็น เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ แต่คนมีปัญญาเขาจะตามทัน แถมเขาจะรู้ด้วยว่าเราวางหมากอะไรไว้ แล้วเขาจะแก้ให้เราดูแล้วสอนท่าใหม่ที่เหนือกว่าที่เรามีให้เราด้วยความเมตตา