Tag: คนดี
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?
ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม
ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ
1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต
เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ
2.รักแท้โลกียะ
รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน
รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน
3.รักแท้กัลยาณธรรม
ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน
ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง
ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป
4.รักแท้โลกุตระ
รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้”
รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร? มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)
ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้
พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง
ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา
สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน
26.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน
ตามที่ได้ศึกษาพุทธประวัติ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศในด้านการให้ทาน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวก หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกตรงนั่นเอง
จากประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บำรุงทั้งคนยากไร้ บำรุงทั้งนักบวช ทั้งยังบำรุงได้เยี่ยมยอดอย่างหาผู้ใดเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้คนที่ยังปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้อยู่
ผมได้เห็นผู้ที่มาเปิดโรงทานที่สนามหลวง มีคนมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มพนักงาน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆจนถึงผู้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นยังไม่เสื่อมไปจากธรรม เพราะการให้ทาน คือองค์ประกอบหนึ่งของมรรคผล
เมื่อคนมีจิตเจริญขึ้น เขาจึงจะสามารถสละความตระหนี่ บริจาคทรัพย์สินและแรงงานให้กับผู้อื่นได้ หากคนเหล่านั้นยังมีความโลภที่มากอยู่ ความโลภก็จะไม่ปล่อยให้เขาทำทาน ไม่ให้เขาเสียสละ กิเลสกับธรรมะมันจะไปด้วยกันไม่ได้ หนำซ้ำโรงทานเล็กใหญ่ที่แจกกันตามท้องสนามหลวงตามที่ได้พบเห็นนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ระบุผู้รับ เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังผล ทานที่มีแต่ให้ มีแต่แจก เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์
ทานที่ให้เพื่อหวังว่าตนนั้นจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความสุขกลับมา เป็นทานที่มิจฉา ในทางพุทธถือว่าทำไปแล้วเสียของ คือทำดีแล้วเทให้กิเลสหมด ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำของดีแล้วเทให้หมากิน” หมาในที่นี้คือกิเลส คือทำดีเท่าไหร่ก็เทให้กิเลสหมด หากทานนั้นยังเต็มไปด้วยความโลภ ทำทานด้วยความเห็นผิด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้
ในทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อจิตเจริญสูงขึ้นหรือภาวนานั้นมีผลเป็นสัมมา คือถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ รอบของการปฏิบัติจะสูงขึ้นตาม จะให้ทานได้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ล้ำลึกขึ้น เช่นเดียวกับการถือศีล ที่สามารถถือศีลที่ปฏิบัติได้ยากได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สบายขึ้น และจะเจริญไปเป็นรอบ ๆ เป็นการยกจิตทั้งหมด มิใช่ปฏิบัติธรรมไปแล้วขี้เหนียว ขี้งก หวงความสามารถ หวงความรู้ ศีลไม่มีหรือศีลขาดเป็นประจำ อันนี้แสดงว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีผล ปฏิบัติผิดทางหรือมิจฉามรรค
การที่คนมาเปิดโรงทานให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงความเจริญของจิตใจ ที่ยินดีสละ ยินดีให้ หวังจะเกื้อกูลให้ผู้รับได้เป็นสุข จากที่ผมสังเกต คนที่มาแจกนั้นถ้าไม่นับรวมกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจใหญ่น้อยหรือกลุ่มมูลนิธิต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และสำนักปฏิบัติธรรมที่มาแจก ก็เป็นสำนักที่มุ่งไปจน พากันไปจน ไม่ได้มุ่งเน้นสะสมหรือร่ำรวยอะไร เป็นความมหัศจรรย์ ตรงที่ว่า บ้านเมืองเรามีคนรวยยิ่งกว่านี้มากมาย แต่กลับมีแต่คนจนที่มาทำโรงทาน มีคนจนมาแจกของให้คนรวยกิน นี่จึงแสดงให้เห็นว่า การทำทานนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรวย แต่จำเป็นต้องมีจิตที่เสียสละแบ่งปัน แม้คนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็มาทำทานได้ คือเอาแรงงานเป็นทาน ทำงานฟรีเพื่อคนอื่น มาเป็นจิตอาสา นี่ก็คือความเจริญที่เห็นได้เป็นรูปธรรม
ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเหมาเอาว่าตนปฏิบัติถูกต้อง แล้วมันจะถูกต้องจริงอย่างที่คิด มันต้องมีตัววัดที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย เช่น ปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำทานได้หรือไม่ ถือศีลที่ยิ่งกว่าที่เคยถือได้หรือไม่ จิตใจเจริญหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงที่เคยมีอยู่เดิมได้หรือไม่
ในส่วนตัวผมเองคิดว่า การให้ทานนี่แหละเป็นเบื้องต้นที่จะวัดผลความเจริญของจิตใจ ว่าเข้าใกล้มรรคผลบ้างหรือยัง ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว ยังไม่ยินดีให้ทาน คนอื่นเขาร่วมเปิดโรงบุญโรงทาน พากันทำงานจิตอาสากัน แต่เรากลับไม่ขยับ แม้มีเหตุปัจจัยพร้อมแต่ก็ยังไม่ขยับ เรายังนิ่งเฉยั อันนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ของการให้ทานนั้น จิตยังไม่เจริญไปถึงจุดนั้น คือจุดที่เห็นว่าควรให้ในเวลาที่ควรให้ กลับเห็นว่ายังไม่ควรให้ในเวลาที่ควรให้ ทั้ง ๆ ที่เหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการประกาศธรรมะให้โลกรู้ว่า การเสียสละเป็นแบบนี้ ธรรมะยังเจริญอยู่ที่นี่ ยังมีคนที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดอยู่ที่นี่ คือประกาศธรรมให้โลกเห็นว่า ทานที่มีผลในการลดความตระหนี่ นั้นมีอยู่จริง หลักฐานก็คือสามารถสละทรัพย์สิน เวลา แรงงานออกมาทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้
การประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อการอวดตัวอวดตน แต่ทำไปเพื่อแสดงธรรมะให้ผู้อื่นเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้รับรู้ ให้เขาได้มาสัมผัส (เอหิปัสสิโก) ให้เขาได้ทำใจในใจเข้าถึงสิ่งดี และร่วมกันมาทำสิ่งที่ดีเหล่านั้น เป็นการตามหาญาติ ตามหาลูกหลานพระพุทธเจ้าที่พลัดพรากจากกัน แล้วให้มาเชื่อมต่อกันด้วยธรรมะ ด้วยทาน ด้วยศีล ที่เสมอกัน
ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามธรรมอีกเหมือนกัน ถ้าคนที่เจริญถึงขั้นที่เข้าใจว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ที่สมควรทำ เขาก็จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันให้ทานในรูปแบบที่เขาพึงกระทำได้ ส่วนคนที่ยังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าทานนั้นดีอย่างไร สมควรให้ทานอย่างไร ก็จะไม่ร่วมกันทำสิ่งใด ๆ เลย จึงเกิดสภาพเหมือน “น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน” คนดีจะเข้าไปรวมกับคนดี ส่วนคนที่ยังไม่ดีก็รวมกับคนที่ไม่ดีเหมือน ๆ กัน
อาจจะมีคนสงสัยว่าถ้าคนปล่อยวางล่ะ จะเรียกว่าอย่างไร? คำตอบคือ แม้พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ชื่นชมคนที่หยุดหรือพอใจอยู่แค่ความดี (กุศลกรรม) เท่าที่ตัวเองทำ ยิ่งถ้าพวกเสื่อมจากความดียิ่งไม่ต้องพูดถึง ท่านชื่นชมก็แต่ผู้ที่เจริญในความดี คือทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ทานก็ให้ทานได้มากขึ้น มีศีลก็มากขึ้น ส่วนกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงนี่ต้องขัดเกลามันออกไปให้ได้ยิ่งขึ้น
และตามโอวาทปาฏิโมกข์ มีระบุไว้ชัดว่าให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชี้ชัดด้วยตัวชี้วัดคืออริยะสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้ทานเป็นประจำ เมื่ออ้างอิงหลักฐานดังนี้ คนที่ไม่สนใจใยดี ไม่ยินดีในทำความดีของตนเองและผู้อื่น ในโอกาสแห่งการทำทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมก็ได้ อาจจะเป็นเพียงผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าการให้ทานในโอกาสพิเศษเช่นนี้มีผลอย่างไร เหมือนกับหมาตัวหนึ่งที่เดินไปเดินมาข้างสนามหลวง มันไม่รู้ว่าคนเขาทำอะไรกัน มันก็หากินไปวันวัน ตามเวรตามกรรมของมัน
1.12.2559
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
จริงหรือที่ว่าเขารักเรา? จริงหรือที่ว่าเราคือคนที่เขาหมายจะร่วมชีวิตด้วย? จริงหรือที่เขาจะมั่นคงและดีกับเราตลอดไป? ถ้าความรักที่เขาอ้างว่าจริงแท้ตามที่ได้แสดงออกมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่ต้นล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา หรือเป็นเพียงแค่สิ่งสนองตัณหา ที่จะมาบำเรอความอยากของเขา แน่ใจแล้วหรือว่าต้องเป็นเราเท่านั้น หรือว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถบำบัดความใคร่อยากของเขาได้ เพียงแค่เราบังเอิญอยู่ในความคิดของเขาตอนนั้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ถึงจะไม่มีเรา เขาก็ไปหาคู่ของเขาอยู่ดี
เขาอาจจะมีอุบายหลายอย่างที่ล่อลวงให้เราหลงว่าเราคือสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา ตั้งแต่การพรรณนาพร่ำเพ้อถึงความดีงามของเรา พูดคำหวานซึ่งว่าเขารักเราและเราจำเป็นกับชีวิตเขามากแค่ไหน หรือเราเป็นคนที่เขาเฝ้ารอมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม
คนเราเมื่ออยากได้อยากเสพสิ่งใดแล้ว ก็มักจะใช้ความพยายามในการแสวงหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองตามที่ใจตนเองอยาก บางคนอาจจะรอได้ไม่นาน บางคนอาจจะรอได้เป็นสิบยี่สิบปีหรือทั้งชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึง “ความจำเป็น” ของเราที่มีต่อเขาแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแค่สภาพของความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ของเขา ที่ใคร่อยากจะเสพคนแบบเรา หน้าตาแบบเรา รูปร่างแบบเรา เสียงแบบเรา นิสัยแบบเรา ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “สเปค” หรือคนในฝัน จึงไม่มีจริงในความจริง แต่มีจริงในความลวง คือโดนกิเลสลวง ว่าฉันชอบแบบนั้นแบบนี้ ขาว สวย หมวย ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ที่ตนมีอุปาทาน หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าได้น่ามี เพราะเอาเข้าจริงๆ ถึงจะตั้งสเปคไว้ แต่ถ้ามีดีกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้เหมือนกัน อย่างที่คนมากมายนอกใจคู่ของตน
สรุปคือสเปคนั้นคือตัวบอกอุปาทานของคน ว่าหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้เสพสิ่งที่หลงติดหลงยึดแล้วจะพอใจเช่นนั้นตลอดไป เพราะกิเลสของคนนั้นโตได้ เมื่อได้เสพสิ่งหนึ่งจนชินชาก็มักจะไปหาสิ่งที่มากกว่ามาเสพ ต้องสวยกว่าเดิม ต้องเด็ดกว่าเดิม ฯลฯ มีความอยากมากขึ้นไปตามความหลงว่าสิ่งใดเป็นสุข คล้ายกันกับอาการที่เราไม่หยุดแสวงหาของอร่อยใหม่ๆ มากิน
ถ้าการที่เขาเข้ามาในชีวิตของเราเพราะอยากเสพ หน้าตา รูปร่าง เสียง นิสัย ฐานะ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่พอเห็นและสังเกตได้ง่าย แต่ยังมีภาวะของกิเลสเชิงซ้อนคือไม่ได้อยากเสพอะไรในตัวเรา แต่ต้องการมีตัวเราเพื่อเสพภาพลักษณ์ดีๆ ในชีวิตของเขา เช่น อยากเล่นบทพระเอกนางเอก อยากแสดงตนเป็นคู่ครองที่ดี อยากเล่นบทพ่อแม่ลูก อยากเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถดูแลคู่ครองได้ บำเรอความสุขให้คู่ของตนได้ นี่กิเลสมันซ้อนมาแบบนี้เลย คือภาพลักษณ์จะเป็นคนดีมาก ไม่สวยก็ไม่ว่า หุ่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้เป็น “คนดี” ที่ดูแลเธอได้ นี่มันเสพความดีของตัวเองอยู่(อัตตา) โดยใช้คู่ครองมาเป็นตัวบำบัดความอยากนั้นๆ
และในความซ้อนนี้ก็เหมือนกันกับกรณีทั่วๆไป คือจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศเลอ หรือดีมากเป็นพิเศษ ขอแค่ใครสักคนให้ฉันได้แสดงความสามารถในการเป็นคู่ครองที่ดีก็พอ ดังนั้นคู่ครองคนนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรา จะเป็นใครก็ได้ที่ให้เขาได้แสดงบทพระเอกนางเอก ถึงเขาจะไม่เจอเรา เขาก็ไปจับคู่กับคนอื่นเสพดราม่าในชีวิตอยู่ดี
แม้เขาจะแสดงออกว่าเรานั้น “จำเป็น” ต่อชีวิตเขาเพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจำเป็นกับเขาจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มายืนแทนที่เรา ถึงจะไม่มีเราอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะไปหาคนมาบำเรอกาม บำเรออัตตาของเขาอยู่ดี เรานั้นเป็นเพียงแค่เหยื่อของกิเลสที่หลงไปตามวาทะของคนผู้มัวเมาด้วยตัณหาและอุปาทาน และหลงว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นของจริง
แค่เขาหลงมัวเมาในตัวเองก็โง่งมงายพออยู่แล้ว นี่เราดันหลงไปเชื่อคำของคนที่มัวเมาในกิเลสอีก มันก็โง่มากไปกว่าเขาอีก สุดท้ายก็ชวนกันเมาตัณหาอุปาทาน หลงว่าเป็นของจริง หลงว่าเป็นสุข กลายเป็นสิ่งสนองตัณหาของกันและกัน สร้างเวรสร้างกรรมผูกกันด้วยความหลงว่าสิ่งเหล่านั้นน่าใคร่น่าเสพ มันก็ชวนกันโง่เท่านั้นเอง
ที่หนักกว่าก็คือรู้ทั้งรู้นะว่าเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เขาไม่ได้ซื่อสัตย์มั่นคงขนาดนั้น แต่ก็ไปตกลงปลงใจกับเขา เพราะอยากได้อยากเสพในสิ่งที่เขามีเขาเป็น นี่กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชิงกันเป็นเหยื่อเป็นผู้ล่าสลับกันไปมา เธอมาเสพตัวฉันก็ได้ เพราะฉันก็จะเสพในสิ่งที่เธอมีเหมือนกัน สรุปก็กอดคอลากกันไปนรกด้วยความสวยงามแบบ happy ending ตามที่โลกเข้าใจ (คบหา/แต่งงาน)
จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความรักที่หวังจะครอบครอง ได้ใกล้ชิด ได้เสพสมสู่อะไรกันก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความรักหรอก เป็นแค่ความหลงที่ฉาบทาด้วยนิยามสวยๆ โดยให้ชื่อว่า “ความรัก” เพื่อให้ตนได้เสพอย่างตะกละมูมมามโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่มีใครกล่าวหาว่าผิดจารีตในสังคม
ให้ “ความรัก” เป็นเพียงฉากบังตาที่เอาไว้บังความจริง จากความหลงที่ลวงกันจนมัวเมา ปิดบังกิเลสที่สกปรกโสมมในจิตใจไว้ในนามของความรักเท่านั้นเอง
…เขาอาจจะบอกว่ารักเราจริง แม้เขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง แต่ความรักนั้น…ไม่ใช่ความจริง
– – – – – – – – – – – – – – –
9.2.2559
คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”
คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ” เพราะเธอได้สละเนื้อให้ฉันไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม
มีความเห็นหนึ่งที่เป็นไปในแนวทางโลกสวย คือทุกอย่างล้วนสร้างมาเพื่อฉัน (all for one)ทุกคนจงทำเพื่อฉัน แล้วฉันจะทำดีเพื่อทุกคน ขอทุกคนจงรวมพลังมาที่ฉัน เสียสละเพื่อฉัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเธอ
ผมเคยรับรู้แนวคิดหนึ่ง มีความเห็นในแนวทางที่ว่า กินเนื้อเขา แล้วเขาจะได้ประโยชน์ เนื้อของเขาจะเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าเราใช้ชีวิตไปทำดี แล้วเขาจะได้กุศล ซึ่งสรุปเป็นภาษาที่โลกเข้าใจได้ประมาณว่า “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”
ความเห็นเหล่านี้เป็นเหมือนคำปลอบใจของคนที่พยายามจะเป็นคนดี โดยการสร้างชุดความคิดบวก เพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่ผิดบาป
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว….
1.การที่เราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการทำดีในชีวิตเลย แม้เราไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตไปสร้างคุณงามความดีได้อย่างปกติ
2.กรรมดีต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่กินเขาแล้วเขาจะได้ดีเพราะเรากิน แต่เขาจะดีเพราะเขาทำดีนั้นของเขาเอง สัตว์ก็เช่นกัน มันจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมันเอง ไม่ใช่ว่าถูกฆ่าแล้วถูกแยกชิ้นส่วนเข้าปากลงท้องคนอื่นแล้วจะเกิดสิ่งดีขึ้น อันนี้มันผิดหลักของกรรมอย่างชัดเจน
3.สัตว์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา เราคิดไปเองเท่านั้น มันก็เกิดมาตามธรรมชาติของมัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย
4.สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ยินดีสละชีวิต มันถูกแย่งชิงอิสระ ถูกทำร้าย และถูกพรากชีวิตมา เนื้อสัตว์นั้นย่อมถือเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มันถูกขโมยมา ดังนั้นเนื้อสัตว์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งดี
5.การกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ใช่การกินเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นการกินเพื่อสนองกาม ต้องการเสพมากๆ ต้องการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส เมนูใหม่ๆ อาหารรสเลิศ ฯลฯ ต้องการอวดว่าฉันได้กินเนื้อดี ราคาแพง ต้องการเสพสุขจากการมีเนื้อสัตว์ในชีวิต
6.จะเป็นอย่างไรหากมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านคุณ จับคุณมัดไว้และขโมยของทุกอย่างออกไป รวมทั้งรื้อถอนบ้านออกไปด้วย ถึงแม้คุณจะมีคำถาม มีคำข้อร้องอ้อนวอน ก็ทำได้เพียงนั่งมองเขาพรากสิ่งที่รักไป สุดท้ายเหลือแต่คุณที่ถูกมัดนั่งอยู่บนพื้นดินโล่งๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคุณอีกต่อไป เขาเดินมากระซิบกับคุณเบาๆว่า ขอโทษทีนะมีลูกค้าต้องการ เพราะเขาจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อการทำดีของเขา… ว่าแต่คุณจะเลือกจองเวรใครระหว่างพนักงานที่มาขนของ กับคนที่ได้ของเหล่านั้นไปใช้
7.สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูมา มันมีความผูกพันกับเจ้าของบ้างไม่มากก็น้อย การที่เราจะพรากมันมาขายก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูเรามา พาเราไปเดินเล่น หาอาหารให้เรา แล้วอยู่มาวันหนึ่งพอเราโตขึ้น ก็ขายเราให้กับคนอื่นเพื่อที่เขาจะได้เอาอวัยวะของเราไปใส่ให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตต่อไป การเบียดเบียนเพื่อต่อชีวิตเช่นนี้มีความดีงามอย่างไร?
8.เราสามารถหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ โดยที่สังคมยอมรับและเข้าใจ โดยมากจะยินดีด้วย มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นดีด้วย เพราะการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นความดีที่ชัดเจน คนติเตียนได้ยาก กระทั่งนักบวชก็มีกลุ่มที่ไม่ยินดีรับเนื้อสัตว์อยู่มากมายในประเทศไทย
9.ไม่มีบุญ(การชำระกิเลส) หรือกุศล(ความดีงาม) อะไรเกิดขึ้นมาจากการเบียดเบียน มีแต่การจองเวรจองกรรม ทำทุกข์ทับถมตนด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน
10.บุญจะเกิดกับสัตว์นั้นก็ต่อเมื่อ สัตว์นั้นสละชีวิตของตนมอบให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นการสละชีวิตเป็นทานให้ผู้อื่น บุญได้เกิดตั้งแต่ตอนที่สละแล้ว ไม่ใช่เกิดเพราะคนได้กินเนื้อมัน ไม่ว่าเนื้อที่สละจะถูกกินหรือทิ้ง บุญก็สำเร็จผลไปแล้ว ส่วนถ้าคนเอาเนื้อที่สละมากินเรียกว่าได้อานิสงส์ คือได้กุศลได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
11.พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป เมื่อคนนั้นนำสัตว์ที่ถูกฆ่ามาถวายพระพุทธเจ้าและสาวกของท่าน คือไม่เกิดผลดีเลย มีแต่บาปและอกุศลเท่านั้นที่จะได้ไป (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ “ชีวกสูตร” ข้อ ๖๐ )
…เราไม่จำเป็นต้องสร้างความจำเป็นใดๆ ในการไปกินเนื้อสัตว์เลย ถึงเราจะคิดหาเหตุผลดีๆมากมายร้อยแปดเพื่อมาสร้างความดีความชอบที่จะได้กินเนื้อสัตว์ แต่ความชั่วก็คือความชั่ว ความดีก็คือความดี การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นเพื่ออ้างว่าไปทำดี ไม่มีในพจนานุกรมของคนดีที่แท้จริง คนที่ขโมยเงินคนอื่นไปทำบุญทำทานเป็นคนดีหรือ? คนที่โกงเงินคนอื่นแล้วเอาไปบริจาคเป็นคนดีหรือ? นี่ขนาดยังไม่ถึงชีวิตยังชั่วชัดเจนขนาดนี้ แล้วการที่เรายังเสพสุขอยู่บนความตายของผู้อื่นสิ่งนั้นจะชั่วขนาดไหน
เหตุผลข้ออ้างต่างๆ ที่จะปลอบใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันกินเนื้อสัตว์แล้วไปทำดี มันเป็นคนละเรื่องกันกับความจริง ส่วนที่ทำดีก็คือสิ่งดี แต่ส่วนที่ไม่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องทำเลย ศาสนาพุทธมีหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้ศึกษาและปฏิบัติ คือให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึงสิ่งชั่วที่ให้หยุดทำก่อนเลย อย่าเพิ่งเอาทำดีมาขึ้นก่อน เอาชั่วออกจากชีวิตก่อน แล้วค่อยทำดีก็ยังไม่สาย คนไม่ชั่วเลย นั้นดีกว่าคนดีที่ยังทำชั่วอยู่
หลวงปู่ชา สุภัทโท มีได้มีคำกล่าวไว้ว่า“การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาป ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ”
ถ้าให้เลือกคบเพื่อนที่ไม่ทำชั่วเลยแม้น้อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำดีอะไรชัดเจน กับคนดีที่พยายามเข้าวัดทำทาน ฟังธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังไม่เลิกเบียดเบียน ยังดูถูกคนอื่น ยังนินทาคนอื่น ยังเอาเปรียบคนอื่น จะเลือกคบแบบไหน คนหนึ่งไม่ชั่วแต่ก็ไม่ทำดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีไม่หยุดชั่ว อยากเจอคนแบบไหนในชีวิต ก็ทำตัวแบบนั้นนั่นแหละ
ผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้นประเสริฐกว่าที่กล่าวมา เพราะนอกจากหยุดชั่วทั้งหลายแล้ว ยังทำดีไม่หยุดหย่อน ทั้งยังมีจิตใจผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่ว่าทำชั่วแล้วเอาดีมากลบทับ อันนั้นยังไม่เข้าท่า ยังเฉโกอยู่ ยังเป็นความเห็นผิดที่เอาแต่หาเรื่องดีๆมาปลอบตนว่าฉันเป็นคนดีอยู่นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
22.12.2558