Tag: การล้างกิเลส

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,964 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

June 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,799 views 1

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

ขุดกระถิน ขุดกิเลส

เมื่อปีก่อน พื้นที่หนึ่งเคยเป็นแค่ที่ไร่เก่าที่ถูกปล่อยร้าง อย่างมากก็มีแค่วัชพืช บนพื้นที่เป็นร่องของรอยไถ เมล็ดของกระถินได้ตกลงมาและเติบโตโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าวันนี้มันจะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้อย่างยากลำบาก

ผมได้ดำเนินการขุดพื้นที่ให้เป็นสภาพของเกาะ ซึ่งไม่สามารถนำรถไถเข้ามาปรับพื้นที่ได้อีก กระถินต้นน้อยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านเดือนมาเป็นปี แน่นอนว่าในตอนแรกมันยังเป็นแค่ต้นเล็กๆ แต่พอมันโตขึ้น ก็มีชาวบ้านเข้ามาตัดมันจนกุดไปเป็นระยะ จนผ่านไปปีกว่า พื้นที่เกาะกว่าร้อยตารางวาก็กลายเป็นดงกระถิน

มาถึงวันนี้ ผมใช้แรงและเวลาอย่างมากในการะขุดกระถินออก การนำกระถินออกใช้การตัดไม่ได้ เพราะการตัดก็ยังเหลือตอ เมื่อเหลือตอก็โตต่อได้ และถ้าโดนตัดบ่อยๆ ตอจะยิ่งใหญ่ขึ้น ทำให้ขุดยากขึ้นด้วย เพราะรากจะแทงออกไปตามปริมาณของกิ่งที่แตกแขนงออกไปเช่นกัน นั่นหมายถึงยิ่งตัดก็ยิ่งจะเอาออกยากในภายหลัง

ขุดกระถิน…

การขุดกระถินนั้นจะต้องขุดลงไปลึกถึงระดับหนึ่งให้ลึกถึงส่วนราก ซึ่งจะทำให้กระถินไม่แตกกิ่งใหม่ขึ้นมาอีก แต่การขุดนั้นไม่ง่าย ในเมื่อเราใช้รถไถกระถินออกไม่ได้ เราก็ต้องใช้เครื่องมือ ไม่ว่าจะลองใช้จอบ เสียม ก็กลับพบว่าไม่มีอะไรขุดกระถินออกได้ดีเท่าอีเตอร์ถ้านึกภาพไม่ออกก็น่าจะนึกถึงอุปกรณ์ขุดเหมือง ประมาณนั้นละนะ

ทีนี้อีเตอร์ธรรมดานี่มันก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ จึงต้องเอาปลายด้านหนึ่งมาลับให้คม เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเฉาะลงไปในเนื้อส่วนรากของกระถินเข้าไปอีก แต่ยิ่งคมก็ยิ่งอันตราย ทั้งหนัก ทั้งคม ต้องใช้แรงมาก ต้องระวังมาก ถ้าพลาดมาโดนตัวเองก็อาจจะบาดเจ็บหนักได้เช่นกัน

และการขุดแต่ละครั้งก็ใช่ว่าจะสำเร็จ ต้องเพียรอย่างมาก บางครั้งขุดพลาดบ้าง แฉลบไปข้างๆ ก็เสียแรงฟรีๆ บางครั้งเจอตอใหญ่ ขุดไปอีเตอร์กระเด้งกลับ ถ้ายึดอีเตอร์ไว้มั่นก็จะเจ็บทั้งมือทั้งแขน ต้องทำอย่างยึดแต่ไม่มั่น เพราะถ้าไม่ยึดให้ดีก็หลุดมือ หรือไม่มีแรง แต่ถ้ายึดมั่นมากเกินไปก็จะเจ็บตัว

ทั้งนี้ถ้าเราเอากระถินออกตั้งแต่ตอนแรก ก็คงจะไม่ลำบากเสียแรงกันให้วุ่นวายกันแบบนี้ เมื่อเรากั้นเขตไม่ให้รถไถเข้ามาช่วยเราก็เลยต้องออกแรงเองทั้งหมด

ขุดกิเลส…

หากจะมองในเชิงเปรียบเทียบ การขุดกระถินก็คงจะให้ภาพคล้ายๆกับการขุดกิเลส ถ้าใครอยากรู้ว่าการขุดกิเลส การล้างกิเลสเป็นอย่างไรให้ลองไปขุดกระถินสักร้อยสองร้อยต้น แล้วระลึกไว้เสมอว่าการทำลายกิเลสยากกว่านั้นจนเทียบไม่ได้

กระถินนั้นต้องใช้การขุดออก จะตัดออกไปไม่ได้ ถึงจะตัดควบคุมไม่ให้ต้นมันโต แต่ตอที่เหลือไว้มันก็จะยิ่งโตใหญ่อยู่ดี นั่นหมายถึงถ้าไม่ขุดกระถินออกก็ไม่มีทางจบปัญหา กิเลสก็เช่นกัน แม้ว่าเราจะสามารถใช้สติ ดับความฟุ้งซ่านได้เป็นคราวๆ แต่สติที่มีขอบเขตเพียงแค่การระลึกรู้ตัวนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะชำระกิเลสได้ เป็นเพียงแค่ตัวรู้เท่านั้น หากรู้แล้วปล่อยให้เกิดดับไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วกิเลสกำลังแอบกำเริบเติบโตอยู่ นั่นแหละคือภาระอันยิ่งใหญ่ที่เราต้องมาสะสางกันยกใหญ่ทีหลัง

กระถินนั้นเรายังพอจะเห็นว่ามันเริ่มเติมโตตั้งแต่ต้นเล็กไปจนต้นใหญ่ เห็นต้นเห็นรากของมัน แต่กิเลสเราไม่รู้เลยว่ามันเริ่มจากตรงไหน จับต้นชนปลายกันไม่ถูก หาเหตุกันไม่เจอ ได้แต่งงกับผลกรรมร้ายๆทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต ซ้ำร้ายกิเลสยังแผ่ขยายรากและเติบโตได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ตัดตรงนี้ ไปเกิดอีกตรงนั้น แถมตรงนี้ยังโตขึ้นไปได้อีก

ถ้ากระถินเป็นต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยรากและแตกหน่อจากใบได้ด้วย ก็คงจะเป็นพืชที่ครองโลกไปแล้ว แต่แค่ที่มันเป็นอยู่ก็กำจัดมันได้ยากแล้ว ส่วนกิเลสนั้นเป็นพลังงานที่สามารถขยายและแตกตัวได้อย่างไม่จำกัด เป็นเหมือนคลื่นที่มองไม่เห็นแต่มีพลังงานมหาศาลให้คนทำชั่ว คนมีกิเลสหนึ่งคนสามารถขยายกิเลสของตนให้คนอื่น ขยายและแพร่พันธุ์กิเลสได้อย่างไม่จำกัด

ทีนี้เมื่อกิเลสนั้นเป็นพลังงาน มองไม่เห็นได้ง่ายเหมือนกระถิน แล้วจะเอามันออกได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจับตัวตนของกิเลสได้ จะแน่ชัดได้อย่างไรว่ากิเลสเป็นเชื้อชั่วที่ควรขุดรากถอนโคนทิ้ง และถึงแม้จะมั่นใจว่าต้องขุดทิ้งก็ใช่ว่าจะสามารถจะขุดกิเลสกันได้ง่ายๆ ต้องเพียรกันสุดยากลำบาก

ที่ว่าทำได้ง่ายๆนั้นไม่มีหรอก มีแต่ขุดผิดเท่านั้นแหละ เขาให้ขุดกิเลสในสันดานทิ้ง ไปขุดอะไรทิ้งก็ไม่รู้ เช่นไปขุดความยึดมั่นถือมั่นว่ากิเลสเป็นของไม่ดีทิ้ง คล้ายๆกับมีกระถินอยู่เต็มพื้นที่ที่จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ ด้วยความเห็นผิดก็เลยปล่อยให้กระถินเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ให้มันโตตามธรรมชาติอยู่แบบนั้น แล้วเข้าใจว่าทุกอย่างก็เป็นเช่นนั้นเอง ก็เหมือนกับคนที่คิดว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแต่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลส เสพกามเมาอัตตาอยู่นั่นเอง

…การขุดกิเลสนั้นเป็นเรื่องนามธรรมที่ยากสุดยาก เป็นสิ่งที่ต้องเพียรกันถึงขั้นทุ่มชีวิตเอาใจใส่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จกันได้ง่ายๆ เพราะถึงจะขยันแต่ขุดผิดที่ ก็หมายความว่าเหนื่อยเปล่า ยิ่งทำยิ่งหลงทาง ยิ่งขยันยิ่งพาตัวเองไปสร้างทุกข์

คนขยันแต่ไม่มีปัญญานี่ต้องหยุดก่อน อย่าเพิ่งทำอะไร ลองศึกษาก่อน พิจารณาดูก่อนว่าควรจะทำอะไร ควรจะขุดตรงไหน สิ่งไหนที่เรียกว่ากิเลส อันไหนกาม อันไหนอัตตา ควรจะทำลายตัวไหนก่อน ลำดับขั้นตอนเป็นอย่างไร มีผลเป็นอย่างไร นั่นหมายถึงว่า ถ้ายังไม่เจอผู้รู้ที่มีวิชาทำลายกิเลสได้จริง ก็อย่าเพิ่งปักมั่นว่าการทำลายกิเลสไม่มี แม้จะได้ชื่อว่าวิชาล้างกิเลสนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกลวงให้หลงด้วยชื่อและคำเล่าอ้างให้หลงไปในผู้ที่ตั้งตนเป็นครูบาอาจารย์ลวงให้ผู้คนหลงมัวเมาและศรัทธาในตนเพราะหวังลาภ ยศ สรรเสริญ กาม อัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

14.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,935 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อรักขม

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,742 views 0

เมื่อรักขม

เมื่อรักขม

…เมื่อความรักที่เคยหอมหวาน กลับกลายเป็นความทุกข์ระทมขมขื่น

จะมีสิ่งใดในโลกบ้าง ที่เที่ยงแท้ ไม่ผันแปร คงที่คงทนได้อยู่ตลอดกาล แม้แต่ความรักที่อ้างนักอ้างหนาว่ายิ่งใหญ่ มั่นคง บริสุทธิ์ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปในวันใดก็วันหนึ่ง แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร ลองมาศึกษาข้อคิดเห็น 9 ข้อดังต่อไปนี้กันเลย

1). แรกรักก็ว่าหวาน

คนเราเมื่อได้เสพสมใจตามกิเลสก็จะมีความสุข เมื่อคนที่เรารักสามารถปรนเปรอกิเลสของเราได้ จนอิ่มหนำสำราญ โลกของเราก็จะสวยงามเหมือนว่าเป็นสีชมพู อะไรๆก็สวยงามดูดีไปหมด เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแห่งความหลงสุข

จะมีใครบ้างที่ไม่ชอบให้คนมาตามใจ ดูแล เอาใจ ปรนนิบัติ รับใช้ ฯลฯ แต่จะมีใครบ้างที่จะเห็นเบื้องหลังของสิ่งที่เราได้มา ความสุขที่เราได้รับนี่มันไม่ใช่ของฟรีนะ ไม่ใช่ว่าบังเอิญได้มาฟรี แต่มันมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาหรือเสียไป ไม่ได้มาจากแค่เพียงสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างเงินทอง แต่อยู่ในลักษณะของนามธรรมคือกุศลและอกุศลด้วย

สิ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกสุขส่วนหนึ่งก็มาจากกุศลหรือความดีที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ชาติก่อนจนมาถึงชาตินี้เช่นเราดูแลคู่ครองดี เขาก็ดูแลเรากลับดี แต่ความสุขที่เกิดไม่ได้มาจากกุศลเพียงอย่างเดียว มันยังมาจากแรงแห่งบาปด้วย

บาปคืออะไร? บาปก็คือการสนองกิเลส การสะสมกิเลส เช่นเรารู้สึกว่ารักนั้นหวาน มีความสุขเพราะมีรัก เหตุนั้นเพราะคู่รักของเรา เอาใจ ตามใจเรา เราอยากได้อะไรเขาก็ให้ เราอยากกินอะไรก็ได้กิน นี่มันคือสุขจากการเสพกิเลส มันหลอกเราให้เรารู้สึกหวานแบบนี้

2). รสหวานที่ไร้ความหมาย

แต่เราได้เสพสุขไปนานๆแล้ว ความหวานมักจะลดลง เกิดจากเหตุสองส่วนนั่นคือ 1).เราชินชากับความหวาน 2). ความหวานนั้นลดลงจริงๆ

เมื่อเราได้เสพสุขจากสิ่งใดบ่อยๆแล้ว เราก็มักจะเกิดอาการชินชา ด้านชา เบื่อที่จะได้รับการเสพแบบเดิมๆ ถึงแม้คู่ครองจะบำรุงบำเรอกิเลสด้วยมาตรฐานเท่าเดิม แต่เราก็จะรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม ไม่สุขเหมือนเดิม ไม่หวานเหมือนเดิม เหมือนกับคนที่กินจนอ้วน ก็จะเพิ่มปริมาณอาหารต่อมื้อมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสก็เช่นกัน ถ้าเราเลี้ยงกิเลสให้อ้วน แล้วเราไม่สนองมันด้วยอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็จะรู้สึกเบื่อ ชินชา เป็นทุกข์ อยากเสพมากขึ้น ความหวานเดิมๆจึงไร้ความหมาย

ในกรณีของความหวานที่ลดลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแรกรักเราก็มักจะต้องทุ่มเทสนองกิเลสของอีกฝ่าย เพื่อที่จะใด้อีกฝ่ายมาสนองกิเลสให้กับตัวเรา ยอมพลีกายให้เรา ยอมบำเรอเราด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่พอเราได้เสพในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ การแต่งงาน การมีลูก การมีฐานะที่มั่นคง แรงผลักดันที่ทำให้เราไปสนองคู่ของเราหรือที่เรียกว่าความหวานนั้นก็จะลดลงเป็นธรรมดา เหมือนกับนักวิ่งเมื่อเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายที่หวังไว้เขาก็จะหยุดวิ่งเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกันกับในเรื่องของคู่ ถ้าเขาได้รับการสนองกิเลสในสิ่งที่เขาต้องการจนเขามั่นใจแล้วว่า เขาจะได้สิ่งนั้นแน่นอน เขาก็จะลดความหวานลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการมีแฟนเพื่อสนองความใคร่ เขาจึงใช้กำลังส่วนหนึ่งในการเฝ้ารอ ทุ่มเท เอาใจ ดูแล เอาใจใส่ สนองกิเลสของเธอผู้โชคร้ายคนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้กระตุ้นกิเลสของเธอจนพุ่งพล่านด้วยการพาไปดินเนอร์สุดหรู พร้อมคำหวานที่คัดสรรมาอย่างดี ตบท้ายด้วยแอลกอฮอล์ที่พาให้สติกระเจิดกระเจิง สุดท้ายเมื่อเธอเห็นว่าชายคนนี้ช่างเหมาะจะมาเป็นคนที่มาสนองกิเลสของเธอในอนาคตต่อไป เธอจึงยอมพลีกายให้เขา เมื่อเขาได้สมสู่จนมั่นใจว่าผู้หญิงคนนั้นไม่มีวันพรากไปจากเขา เขาจึงลดการบำเรอกิเลสเธอลง หันกลับมาใช้พลังงานเหล่านั้นสนองกิเลสของตัวเองแทน

3). น้ำพริกถ้วยเดิม

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคนดีที่มีความเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน แต่ในความจริงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ได้นาน ความรักก็เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยใดๆเข้ามาเป็นสิ่งกระทบ แต่ความหวานก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ตามความเคยชิน จากคนที่รักสุดรักในวันแต่งงาน ค่อยๆกลายเป็นเพื่อน กลายเป็นญาติ กลายเป็นคนรู้จัก จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักกันเลย

นั่นเพราะความอยากเสพมันได้จางคลายลงไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ถึงแม้เราจะพยายามปรุงรสชาติให้ชีวิตรักมันสุดเผ็ดเด็ดสะท้านสักเท่าไร ความหวานเมื่อครั้งแต่งงานใหม่ๆก็ไม่มีวันที่จะกลับมา มันจะเปลี่ยนสภาพไป ค่อยๆจืดจาง และสลายหายไปในที่สุด

คู่รักที่คงสภาพคู่อยู่ได้ จึงมักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเพื่อนกันเสียมากกว่า เพราะถึงจะพยายามปรุงแต่งให้ดูเหมือนว่ารักกันเพียงใด แต่ในใจมันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้ว

4). เมื่อรักขม

หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของความรักที่เกิดขึ้นได้กันทั้งคู่ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในชีวิตคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในความสุขที่จืดจางลง ลดน้อยลง ไม่ว่าจะในด้านรูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา ฐานะ สมรรถภาพทางเพศ หรือด้านนามธรรม เช่นความรู้สึกที่มันไม่อยากเสพเหมือนตอนสมัยแต่งงานหรือจีบกันใหม่ๆ

ความขมนั้นเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังติดรสหวาน และยอมรับไม่ได้กับรสชาติชีวิตรักที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ได้เสพสมใจตามความเคยชิน หรือไม่ได้เสพตามที่ต้องการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ การที่ทุกข์นั้นเกิดเพราะเรายึดติดในความหวาน ยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตรักจะต้องหวานดังใจเราตลอดไป

5). ทนทุกข์ระทมขมขื่น

เมื่อเราไม่ได้เสพอย่างที่กิเลสต้องการ ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถระบายออกหรือหามาเสพเพิ่มได้ก็จะเริ่มอึดอัด กดดัน ทรมาน ยิ่งต้องอดทนเป็นแบกความทุกข์นั้นเป็นเวลานานก็ยิ่งทุกข์ระทมขมขื่น ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์แบบโลกๆ เป็นแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ที่ทำให้เห็นธรรมได้ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นทุกข์จากความอยากเสพแล้วไม่สามารถหามาเสพได้

หากใครฝืนอดทนทุกข์แบบนี้เพราะหวังพบกับความสุขนั้นก็ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะการทนทุกข์เพื่อบรรลุธรรมจะเป็นอีกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ใจเราอยากสมสู่คู่ครอง แต่เราได้ศึกษามาแล้วว่าการเว้นจากการสมสู่ เป็นศีลที่เป็นบุญเป็นกุศลมาก แม้คู่ครองจะพร้อมสนองกิเลสของเรา แต่เราก็จะไม่ตามใจกิเลสของเรา ยอมทนทุกข์เพื่อเป็นบุญกุศล แบบนี้ต่างหากคือการเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมที่แท้จริง คือการมีให้เสพแต่ไม่ไปเสพด้วยกำแพงศีลธรรม

แต่การทนทุกข์โดยที่ไม่เห็นกิเลส ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะมีความอยาก เพราะตัวเองไม่ยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันรักนั้นไม่ได้หวานเหมือนก่อนแล้วเราจึงทุกข์ พอไม่เห็นกิเลสแล้วเราก็มักจะไปโทษคู่ครองหรือคนอื่นว่าสนองกิเลสเราไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนแต่งงาน ไม่มั่นคง ไม่เสมอต้นเสมอปลาย หลอกลวง ฯลฯ

ความทุกข์แบบนี้คือการสะสมกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มโลภ โกรธ หลงเข้าไปอีก ห่างไกลธรรมยิ่งขึ้นอีก จึงทำให้จิตใจวนเวียนอยู่กับความทุกข์ระทมขมขื่น หาทางออกก็ไม่ได้ มองไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ไม่ดับ ทุกข์จึงเกิดอยู่นั่นเอง

6). หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไม่พ้น

เมื่อต้องฝืนทนกล้ำกลืนกับชีวิตรักที่ขาดความหวาน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทุกข์เหล่านั้นเกิดจากปริมาณความอยากของตัวเองที่เกินความเป็นจริง ก็จะแสวงหาทางที่ผิด นั่นคือการหนีออกจากคู่ครอง

การหนีหรือตีจากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีเลิกกันตรงๆหรือวิธีกดดันให้อีกฝ่ายเลิก ต่างก็เป็นวิธีที่เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้การเลิกราเป็นไปด้วยดีหรือสวยหรูแค่ไหน ก็เป็นหนทางที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น

เราเองเป็นคนต้อนรับเขาเข้ามาในชีวิตเอง วันนั้นเราก็ตัดสินใจเอง ไม่ว่าจะแฟนหรือสามีภรรยา เราดูแล เอาใจ บำรุงบำเรอกิเลสเขาเอง แต่พอมาวันนี้เขาเริ่มจะไม่หวานสมใจเรา เราขัดใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เราก็จะไล่เขาออกจากชีวิต มันแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะกลับกลายเป็นผลร้ายเพิ่มกรรมชั่วในชีวิตเข้าไปอีก

ผลกรรม อันคือความทุกข์ใจจากความไม่หวานสมดังใจนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องรับ เพราะเราหลงไปรับเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเอง หลงไปรับเป็นแฟน หลงไปแต่งงานเอง ก็ต้องรับกรรมในส่วนนี้ทั้งหมด จะหนีไม่ได้ กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ความสุขความทุกข์หากยังยินดีกับทางโลกอยู่ก็ต้องรับมันอย่างนี้เรื่อยไป

ทีนี้พอเราจะไปทิ้งเขา มันก็สร้างกรรมใหม่ให้เราอีกคือ “เราทิ้งเขา” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องถูกทิ้งทั้งที่ยังรักยังหวงแหนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในมุมนี้หลายคนก็คงเคยเจอว่าทำไม ฉันเองก็ดีแสนดี แต่เขายังมาทิ้งฉันได้ลงคอ กรรมมันจะเป็นในลักษณะนี้ มันจะมากระแทกให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยไปทำเลวร้ายมา ซึ่งจะเหมือนกับที่ทำก็ได้ จะต่างไปจากที่ทำก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เหมาะที่ควร

ดังนั้นเราก็ควรจะก้มหน้ารับกรรมที่เราก่อไว้ต่อไป อย่าไปเพิ่มกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าที่ทำไว้ก็ทำให้ทุกข์ระทมขมขื่นสุดจะทนอยู่แล้ว แต่นั่นแหละคือผลกรรมแห่งความอยากมีคู่ครอง เป็นกรรมที่ทำในชาตินี้และได้ผลในชาตินี้ เร็วทันใจไม่ต้องรอชาติหน้า

7). ขยาดยาขม

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะตัดสินใจเลิกรา หรือมีโอกาสให้เลิกราด้วยเหตุอันควร เช่นคู่ครองไปคบชู้ ไม่ซื่อสัตย์ หรือกระทำเหตุที่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะสามารถเลิกราได้โดยไม่เกิดกรรมชั่วแต่อย่างใด ซึ่งโดยรวมจะเป็นผลดีเสียมากกว่า

กล่าวคือหากคู่ครองผิดศีล คนผิดศีลก็เป็นคนไม่ดี โดยเฉพาะศีลข้อสาม ในฐานของคนทั่วไปรับรู้กันดีว่าถ้าต่ำกว่าศีล ๕ ระดับนี้ก็ถือว่าเป็นคนไม่เต็มคน หรือเรียกได้ว่าตกต่ำไปถึงภูมิของเดรัจฉาน เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนเราไม่ควรจะต่ำกว่าศีล ๕ จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นสุข ในกรณีที่ผิดศีลข้อ ๓ นั้นจะค่อนข้างเป็นกรรมที่รุนแรงเพราะทำร้ายใจคู่ครอง ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้คู่ครองเกิดทุกข์มาก ดังนั้นจึงเป็นคนชั่ว

เมื่อเป็นคนชั่วเราก็ไม่ควรให้เขามาใกล้เรามาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล ๓๘ ในข้อแรกว่าด้วยการไม่คบคนพาล เมื่อเราพบว่าคู่ครองของเราเป็นคนพาล เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลิกราอย่างถูกต้องได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ไม่ว่าเราจะเลิกรากับคนรักด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่หวานเหมือนก่อนหรือเขาทำผิดต่อความรักก็ตามแต่ เราอาจจะมีอาการขยาดความรักติดมาด้วย เราจะมองความรักในมุมติดลบ ระวังตัว ขลาดกลัว ระแวง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการผลักไสความรัก เป็นความยึดมั่นถือมั่นในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งความขยาดนี้เองก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เกลียดความรัก แต่เราเกลียดที่ความรักไม่เป็นดังใจเราหมาย เมื่อเราไปขยาดความรักแล้วเข้าใจว่าตนเองไม่อยากมีรักเพราะรักทำให้เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจึงเป็นความเข้าใจที่ยังผิดเพี้ยนอยู่

เพราะความเข้าใจนี้เอง ยังไม่ได้ล้างกิเลสในฝั่งของการดูด หรือความสุขจากความรัก แต่เอาการเกลียดความรักหรือเอาอัตตามากลบไว้ ลักษณะจะเหมือนคนไม่ต้องการความรัก เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่แคร์ แต่แท้ที่จริงมันอยากอยู่ในใจลึกๆ แล้วมันจะทรมานเพราะความอยากนี่แหละ

แถมความขยาดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พลาดไปมีรักอีกครั้งนะ แต่คนที่ขยาดจะตั้งสเปคไว้สูงขึ้น เช่นคบกับคนเก่าทั้งจนและขี้เกียจเลยเลิกกัน สุดท้ายก็ตั้งเป้าว่าคนใหม่จะต้องรวยและขยัน เป้าใหม่นี่มันกิเลสเพิ่มขึ้นมานะ กับคนแรกเราไม่อยากเสพเขาขนาดนี้ แต่กับคนใหม่นี่เราอยากเสพทั้งลาภและยศของเขาด้วย พอกิเลสมันเพิ่มทุกข์มันก็จะเพิ่ม มันอันตรายตรงนี้นี่แหละ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แฟนเก่ามีนิสัยเจ้าชู้ไม่เอาใจ จึงทำให้เข็ดขยาดในการมีรัก ตั้งกำแพงขวางกั้นไว้ไม่ให้คนเข้ามารัก วันหนึ่งมีพระเอกขี่ม้าขาว เต็มไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งรวย ทั้งหล่อ ทั้งเอาใจเก่ง เรื่องทางลบก็ไม่มี ด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นจึงผ่านกำแพงที่ตั้งไว้ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวที่กางปีกบินข้ามกำแพงเข้ามาในใจแบบงงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาข้ามมาหรือเรายกกำแพงออกให้เขาเข้ามา แต่สุดท้ายก็มักจะเจอหนักกว่าเดิมเพราะหนีกรรมเก่ามา เจอคนใหม่ก็มักร้ายกว่าเก่า ซ้ำร้ายยังอาจจะเจอตอนที่อยู่ในสภาพที่แต่งงานมีลูกแล้ว พระเอกค่อยๆเปลี่ยนร่างเป็นผู้ร้าย เจ้าชู้ เอาแต่ใจ โมโหร้าย และอีกมากมายแล้วแต่กรรมของเราจะบันดาล

8). หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อรักที่หวานเปลี่ยนเป็นขมนั้นไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการเพ่งมองไปที่ทุกข์ เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ หาหนทางดับทุกข์ ด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์

เพราะแท้จริงแล้วความขมหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลสในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ คู่ครองของเราคือคนที่มีหนี้บาปหนี้บุญกันมา คือคนที่จะต้องมาชดใช้กรรม การตัดสินใจเลิกราเขาโดยไม่มีเหตุร้ายแรงนั้นไม่ใช่การหนีกรรมที่ถูกที่ควรแต่การจะพ้นจากกรรมที่เป็นหนี้กันอยู่ก็คือการทำดีต่อกันให้มาก

เพราะเราเป็นหนี้เขา เราจึงต้องจ่ายหนี้ แต่หนี้ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนเราจะทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมเพื่อการใช้หนี้ก็ได้ เช่น การดูแลเอาใจใส่เขา หรือดูแลทุกคนที่มีส่วนในทุกข์ของเรา ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ การพาเขาศึกษาธรรม การพาเขาทำดี ไม่พากันสนองกิเลส พากันลดกิเลส จนถึงขั้นพากันล้างกิเลสเลยก็ยิ่งดี

กรรมชั่วทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสของเรา หากเราล้างกิเลสได้ก็จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นความดีที่ดีที่สุด เพราะการล้างกิเลสนั้นหมายถึงการตัดภพ ตัดชาติของความอยากที่จะเกิดอีกต่อไปในอนาคต เช่นเราทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ มากินมังสวิรัติ เราก็จะไม่ชวนเขาไปกินเนื้อย่าง ไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย นั่นหมายถึงเราไม่พาเขาสะสมกิเลสเพิ่ม ซึ่งหากเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ลดขนม ลดกาแฟ ลดการแต่งตัว ลดการแต่งหน้า ลดการท่องเที่ยว ลดการสะสม ฯลฯ เราก็จะพ้นจากกรรมกิเลสไปเรื่อยๆ

เมื่อเราทำดีไปเรื่อยๆ และจนกระทั่งกรรมชั่วในเรื่องนั้นๆ ได้ถูกใช้จนหมด เมื่อกุศลมากกว่าอกุศล ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดจากความทุกข์ระทมขมขื่นนั้นได้ เช่น คู่ครองเป็นคนดีขึ้น ,คู่ครองตายจากไป ,คู่ครองหนีไปมีคนใหม่ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์อยู่เช่นเคย

การล้างกิเลสที่ดีที่สุดนั้นก็คือการล้างความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ในความคาดหวังว่ารักจะต้องหอมหวานสวยงามตลอดไปซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อรักนั้นเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือใช้โอกาสแห่งทุกข์นี้พิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของเราจนกระทั่งทำลายกิเลสเหล่านั้นได้ ก็จะไม่เกิดทุกข์อีก แต่จะยังคงเหลือทุกข์ที่ยังต้องแบกภาระไว้ เช่นดูแลคู่ครอง ดูแลพ่อแม่ของคู่ครอง ดูแลลูก ซึ่งกรรมเหล่านี้ก็เป็นผลจากกิเลสที่เรายังต้องแบกรับไว้เช่นกัน

9). ไม่ติดหวานก็ไม่ต้องขม

ความสุขความทุกข์ในความรักนั้นก็เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นสลับกันไปมา ตราบใดที่เรายังคงหลงอยู่ในโลกธรรม หลงสุขอยู่ในโลกดังที่เห็นและเป็นอยู่ เราจะต้องพบกับความหวานและความขม สลับสับเปลี่ยนวนไปมาไม่รู้จบ

หากเรายังมีความต้องการความหวาน ยังติดหวาน หรือยังต้องการความรัก เราก็จะแสวงหาความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้เสพสมใจก็จะหาต่อไป แม้ว่าจะแก่และตายไปก็จะสร้างร่างใหม่ขึ้นมาเพื่อหาความรักมาเสพอยู่เหมือนเดิม เพราะเราหลงติดสุขอยู่ในความหวานเหล่านั้น เราจึงต้องเกิดมาเสพความหวานนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ซึ่งดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหวานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ เราต้องได้รับรักที่ขมขื่นด้วย เรื่องโลกมันก็เป็นแบบนี้ กรรมมันก็ส่งผลให้สุขให้ทุกข์อยู่แบบนี้ หากเราไม่หลงติดสุขอยู่ในรสสุขลวงเหล่านั้นเราก็ไม่ต้องรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ติดรสสุขในกิเลส ก็เลยเห็นแต่ทุกข์เมื่อความหวานไม่มีค่าให้หลงอีกต่อไป ไม่มีรสอะไรอีกต่อไป สิ่งที่เหลือคือทุกข์อย่างเดียว ทุกข์จริงๆไม่มีสุขปนเลย “พอล้างกิเลสได้จริงจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง” ว่าการครองคู่นั้นไม่มีสุขใดๆอยู่เลย แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะเห็นสุขลวงนั้นเป็นสุขจริง จึงเผลอลำเอียงเข้าข้างกิเลสไป หลงไปตามที่กิเลสล่อ มองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราไม่รับทั้งหวานและขม ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ด้วยภาษานั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันไม่สุข แต่เมื่อเราไม่ติดกับโลกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขและทุกข์ เราจะได้สุขที่เหนือกว่า สุขกว่า สุขตลอดเวลา สุขเรียบๆ สุขเบาๆ สุขสบายๆ สุขจากการไม่เสพ เพราะเห็นทุกข์ โทษ ภัยผลเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมและเห็นผลของกรรมอย่างชัดแจ้ง จึงรู้ชัดเจนในใจว่า ไม่เสพนี่แหละสุขที่สุดแล้ว

แต่สุขจากการไม่เสพการครองคู่นั้นทำได้ยากยิ่ง เป็นความพยายามที่ทวนกระแสโลกอย่างรุนแรง ในขณะที่คนพากันมีความรัก มีหนังรัก มีเพลงรัก มีภาพคู่รัก มีงานแต่งงาน และสารพัดข้อดีของการมีคู่รักตลอดจนการมีครอบครัว มีช้อมูลมากมายประดังเข้ามาเสริมพลังกิเลสของเราอยู่เสมอ

เราจะทนได้อย่างไร เราจะผ่านมันได้อย่างไร เราจะมีพลังพิจารณาโทษของมันได้อย่างไร ในเมื่อรสหวานแห่งความรักนั้นยากจะต้านทาน มีผู้คนมากมายใฝ่ฝันและหลงกันไปเป็นเรื่องปกติ เราจะสามารถเป็นปลาที่ว่ายน้ำทวนกระแสแห่งกิเลสที่รุนแรงแบบนี้ไหวไหม หรือเราจะยอมลอยตามกิเลสไปอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ความเพียรนี้เองคือคุณสมบัติที่จะพาเราว่ายทวนกระแสของกิเลสไปได้ เพียรลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องรัก ในเรื่องคู่ครอง พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดที่เราหลงนั้นมีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไร การออกจากสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไร เพียรพิจารณาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเพียรลดกิเลสอย่างไม่ลดละนี้เอง ที่จะพาเราข้ามกิเลสนี้ไปได้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์