Tag: การกินเนื้อสัตว์

โกงกิน

April 26, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,942 views 0

โกงกิน

ขึ้นชื่อว่าเป็นคนโกงกิน ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าคบหา โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำดี ย่อมไม่ยินดีในการโกงกิน แต่ถ้าในหมู่โจร คนชั่ว เขาย่อมยินดีในการโกงกิน ยอมชั่ว ยอมบาป เพียงเพื่อให้ตนได้ร่วมผลประโยชน์แห่งการโกงกินนั้น ๆ

โกงกิน หรือกินด้วยการโกงมา ขโมยเขามา ลักเขามา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกวัน จนกระทั่งในทุกมื้ออาหารของหลายคน ก็อาจจะสงสัยว่าฉันจ่ายเงินซื้ออาหารนี้มาโดยสุจริต งานก็งานสุจริต เงินก็เงินสุจริต แล้วจะเรียกว่าโกงกินได้อย่างไร?

ที่เรียกว่าโกงกินนั่นเพราะ ไปกินเนื้อ หนัง ส่วนประกอบของสัตว์ที่เขาไม่ได้เต็มใจให้ แต่เอาอำนาจที่เรียกว่าเงิน ไปติดสินบนคนอื่นหรือที่เรียกอย่างที่ดูเหมือนจะถูกต้องว่า “ซื้อ” เพื่อให้เขาข่มขืน เพาะ เลี้ยง กักขัง ลาก ทำร้าย ทรมาน ฆ่า ชำแหละมาเพื่อตน เพื่อให้ตนได้เสพสมอารมณ์หมายในกามรสของอาหารที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของดี เป็นสุข เป็นคุณค่า เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต ฯลฯ แม้งานหรือเงินที่ได้มาจะสุจริต แต่วิธีที่ได้เนื้อสัตว์มานั้น มันไม่สุจริตเลยแม้แต่น้อย

การค้าขายสัตว์ และค้าขายเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมิจฉาวณิชชาสูตร ที่ไม่ควรทำนั่นเพราะการซื้อขายเนื้อสัตว์จะทำให้เกิดปศุสัตว์ ทำให้เกิดกระบวนการทรมานและฆ่าอย่างไม่จบไม่สิ้น และที่สำคัญแม้มนุษย์จะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจอยู่เหนือสัตว์อื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกำหนดว่าเราเป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ จะไปมีอำนาจเหนือชีวิตเขาไม่ได้ เพราะมันไปละเมิดสิทธิ์เขา มันโกงชีวิตเขา เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราก็ยังไปสร้างความเชื่อเอาเองว่าสัตว์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารจนฝังเป็นอุปาทาน กลายเป็นค่านิยม ความยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นสิ่งปกติในสังคมไปแล้ว

การค้าชีวิตสัตว์อื่นนั้นบาปอย่างมาก ไม่มีใครอยากจะพบเจอ ดังเช่นสมัยก่อนมีการค้าทาส ไม่มีใครอยากเป็นทาส ไม่มีใครอยากจะเกิดมาเป็นสินค้า เป็นวัตถุบำเรอกาม บำเรออัตตา บำเรออำนาจของผู้อื่น แม้สมัยนี้ก็ยังมีการค้าขายมนุษย์ โดยที่เจ้าตัวไม่ยินดี คนส่วนมากมักจะรู้สึกโกรธ ชิงชัง รังเกียจ ดังเช่นข่าวว่า แม่ขายลูกบำเรอกามผู้อื่น อันนี้เขาแค่ขายเป็นบริการ ยังไม่ได้กักขัง หรือฆ่า คนยังโกรธขนาดนี้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นหมูที่ต้องถูกขังในกรงเหล็กแคบ ๆ ถูกข่มขืนด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ถูกพรากลูกที่ตัวเองคลอดไป สุดท้ายถูกทำร้ายและฆ่า คนส่วนมากกลับรู้สึกเฉย ๆ อันนี้คือสภาพของความลำเอียงที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อมีความลำเอียง การจะมีความเห็นที่ถูกต้อง การจะปฏิบัติตนไปสู่ความถูกต้องและผาสุกย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่เขาไปนั้นย่อมบิดเบี้ยวและหลงทางเป็นธรรมดา

หรือเราจะลองนึกดูว่าเราเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นจอมบงการ กำหนดทุกอย่างในชีวิต ต้องกินแบบนั้น ต้องออกกำลังกายแบบนี้ ต้องเรียนพิเศษทุกปี ต้องดีอย่างใจเขามั่นหมาย ดีไม่ดีจับคลุมถุงชนอีกด้วย พฤติกรรมอันนี้จะเป็นที่ชอบใจของเราไหม? เราจะยินดีกับชีวิตที่ถูกกดดันบีบคั้นด้วยความคาดหวังของคนอื่นไหม? ในเมื่อเราทุกคนต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีอิสระ เลือกได้เอง ตัดสินใจได้เอง กำหนดอนาคตได้เอง แต่คนส่วนมากกลับไปยินดีในการกำหนดชีวิตสัตว์อื่น ให้สัตว์อื่นเป็นไปในแบบที่ตนต้องการ เกิดเป็นหมูก็ต้องใช้กรรม ต้องอยู่อย่างหมู ต้องโตอย่างหมู (ที่ตนกำหนดไว้เองว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น) สุดท้ายต้องถูกฆ่าให้ตายให้คนที่อยากกิน เขาซื้อไปกิน ไอ้ที่เบี้ยว ๆ แบบนี้ก็ยังคิดกันไปได้ ทีตัวเองไม่อยากโดน แต่พอสัตว์อื่นโดนก็กลับเมินเฉย ดีไม่ดียังยินดีให้เป็นแบบนั้นอีก เพราะตนเองหลงสุขหลงเสพในเนื้อเขา

จริง ๆ แล้ว การแก้ปัญหาการโกงกิน ก็ด้วยหลักการง่าย ๆ คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราต้องเป็นสัตว์นั้น เราก็เป็นทุกข์ เราไม่อยากเป็นทุกข์ เราก็ไม่ยินดีให้เขาเป็นทุกข์เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเรามีอำนาจ เราก็จะไม่ใช้อำนาจเงิน บารมี ฯลฯ ของเราเพื่อไปสนับสนุนการเบียดเบียน เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้โกงกิน …โดยสุจริต (ตามความเห็นของเรา)

ที่สำคัญการโกงกินนี้มีผลระดับถึงขั้นฆ่ากันตาย ในโลกนี้จะมีอะไรร้ายแรงกว่าการฆ่ากันอีก เราเองก็ยังรักชีวิตเราที่สุด จะขายรถขายบ้านเพื่อรักษาชีวิตก็ยังทำกันได้ แม้สัตว์นั้นก็รักชีวิตของเขาเช่นกัน ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลผลิตอื่น ๆ ที่ได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ก็จะเป็นกรรมดีที่ส่งผลไปเพิ่มพลังแห่งการไม่เบียดเบียน แต่ถ้าเรายังยินดีกินเนื้อเขาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการได้เนื้อนั้นมาไม่สุจริต ก็ต้องเตรียมใจรับวิบากร้ายความทุกข์ยากด้วยความยินดีเช่นกัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะยินดีรับทุกข์นั้น จะยกคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาปิดท้าย ท่านตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.”

ดังนั้นคนเขลาก็ยังจะยินดีโกงกินกันอยู่เรื่อยไป และเข้าใจว่าสิ่งนั้นดี อร่อย มีคุณค่า ไม่บาป ไม่มีผลเสียต่อชีวิตตน ฯลฯ สุดท้ายพอวิบากกรรมซัด ก็ต้องเสร็จกันทุกรายไป นรกบนดินเลยแหละ เจ็บจริงทรมานจริง ทุกข์จริง ตายกันจริง ๆ ไปตามความเกี่ยวข้องของบาปที่ได้ร่วมทำมา

26.4.2562

ดิณห์ไอราวัณวัฒน์

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน

October 10, 2018 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,515 views 0

มหาอำนาจผู้เบียดเบียน

หลายวันก่อนระหว่างไปทำธุระในเมือง ผมเห็นรถขนหมูจอดอยู่ข้างทางใกล้ ๆ กับที่ที่ต้องแวะ จึงเดินไปดู เห็นสภาพของหมูแล้วก็รู้สึกเห็นใจ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมก็ทำได้แค่มองมัน มันก็ทำได้แค่มองผม …จนถึงป่านนี้หมูเหล่านั้นก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว

คนเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ สร้างอำนาจ บ้าอำนาจ พยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คนคิด แม้แต่การสร้างกฎ สร้างค่านิยม หรือสร้างอธรรมมาหลอกลวงตนเองและผู้อื่นว่าเป็นธรรม จนหลงแบบมืดบอดสนิท ว่าสิ่งที่เบียดเบียนที่เห็นกันอยู่ชัด ๆ คือสิ่งที่ไม่เบียดเบียน

คนแต่ละคนก็มีอำนาจเป็นของตัวเอง อย่างน้อยก็มีอำนาจในการทำลายชีวิตสัตว์ เงินคือตัวแทนของอำนาจนั้น เมื่อคุณมีเงิน ก็หมายถึงคุณมีอำนาจที่จะส่งเสริมการทำลายชีวิตสัตว์ได้ เพื่อแลกมาซึ่งการบำเรอสุขตนหรือสนองค่านิยมของตน บางคนหลงว่าเนื้อสัตว์นี่เป็นของดีของเลิศ คนจนไม่มีเนื้อดี ๆ กิน ต้องรวยถึงจะซื้อเนื้อแพง ๆ มากินได้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งแสดงความบ้าอำนาจของคนในทางหนึ่ง ดังที่เห็นเขาอวดกันว่าไปกินเนื้อนั้นเนื้อนี่ราคาหลักพัน หลักหมื่น หลัก…

อำนาจลักษณะนี้แม้มี แม้เด่นดังเพียงไร ก็ยังเป็นอำนาจที่ยังหลงยุค ยังไม่พ้นยุคค้าทาสบำเรอกามบำเรออัตตาตน ยังใช้อำนาจใด ๆ ที่ตนมีเพื่อเป็นไปในทางส่งเสริมให้ข่มเหงรังแกสัตว์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตน ยังเป็นผู้มีอำนาจที่ยังเบียดเบียนอยู่

อำนาจที่ยังล้าสมัย ป่าเถื่อน เบียดเบียนเช่นนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ใด ๆ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม แต่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ตกต่ำ เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นในท้ายที่สุด

ผู้มีอำนาจที่แท้จริง คือผู้ที่สามารถหยุดความบ้าอำนาจในตนได้ สามารถหยุดอำนาจชั่วที่กำลังจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ จริงอยู่ที่ว่าเราไม่มีอำนาจจะไปช่วยสัตว์ทั้งหมดได้ แต่เราสามารถสร้างอำนาจเพื่อช่วยจิตที่ยังหลงทางของเราได้ ให้ออกจากความมัวเมาลุ่มหลงว่าค่านิยมการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องธรรมดา

ซึ่งมันก็ใช่ ที่เขาว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังยินดีในการฆ่าสัตว์ เพราะเมื่อเขาใช้เงินซื้อเนื้อสัตว์มา ก็ย่อมยินดีให้สัตว์นั้นตาย ย่อมยินดีให้โรงฆ่าสัตว์คงอยู่ ย่อมยินดีให้มีการล่าล้างทำลายสัตว์ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะให้เขาได้มีเนื้อสัตว์กิน ไม่ขาดแคลน ความยินดีในสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดจากสภาพจิตที่หลงทาง หลงว่าการเบียดเบียนที่รับรู้และเห็นอยู่ตรงหน้านั้นไม่มีผลร้าย ไม่มีผลเสียต่อตนและผู้อื่น ไม่มีภัยแก่ตน แม้ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม

ผู้ที่ยังยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ก็คือผู้ที่ยังยินดีให้เขาฆ่าสัตว์ หมายถึงจิตยังเสมอกันกับผู้ฆ่า แต่ผู้ที่มีอำนาจในตน มีอำนาจหยุดการเบียดเบียน จะไม่ยินดีในการฆ่า ไม่ส่งเสริมให้ฆ่า และยินดีในธรรมที่ไม่เบียดเบียนที่ผู้คนได้แสดงอยู่ เหล่านี้เป็นเพียงอำนาจเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชนในฐานศีล ๕ ในทุกวันนี้ศาสนาพุทธได้ตกต่ำถึงขนาดดึงมาตรฐานศีล ๕ ตกต่ำตามไปด้วย ดังนั้นถ้ายึดเอาตามหลักทั่วไปตอนนี้ก็เรียกได้ว่าตกต่ำจนน่ากลัว เพราะผู้มีอำนาจที่ยินดีในการเบียดเบียนย่อมฉุดดึงธรรมลงต่ำเป็นธรรมดา

ดังนั้นเราควรจะตระหนัก และตรวจจิตตนว่า เรายังยินดีในการฆ่าหรือไม่ เรายังยินดีที่ได้รับของที่เขาฆ่ามาหรือไม่ เรายังยินดีในการส่งเสริมผู้คนหรือกิจกรรมที่ฆ่าสัตว์หรือไม่ ถ้าเรายังยินดีอยู่ ยังอยากให้เขาคงอยู่ ยังต้องพึ่งการมีอยู่ของเขา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์เรารู้สึกเป็นทุกข์ ทรมาน โหยหวน โหยหา คร่ำครวญถึงเมนูเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่นหมายถึงเรายังโดนอำนาจของกิเลสครอบงำ ยังเป็นมหาอำนาจที่เป็นทาสของกิเลส เพราะกิเลสจะพาให้ยินดีในการเบียดเบียน ไม่ยินดีในการไม่เบียดเบียน สุดท้ายก็ยังคงต้องเป็นทาสของเหล่าผู้คนที่มีจิตต่ำกว่าศีล ๕ เป็นหุ้นส่วนของคนพาล เพียงเพื่อจะได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตน

10.10.61

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,033 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทความมังสวิรัติต่อจากนี้

December 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,223 views 0

ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนบทความชี้โทษของการกินเนื้อสัตว์และบอกประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ประยุกต์เข้ากับคำสอนของศาสนาพุทธ มาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ

บทความก่อนๆหน้านี้ สำหรับผมเรียกว่าบทความเรียกน้ำย่อยแล้วกัน เพราะโดยมากจะใช้ภาษาที่ปรับให้เบา เกลาธรรมให้ง่าย สะกิดกิเลสกันพอประมาณ ไม่รุนแรงมาก

แต่หลังจากตอนนี้ผมคิดว่า จะเพิ่มน้ำหนักแล้วนะครับ เพราะกิเลสสมัยนี้มันหนา ถ้าผมไม่ลงแรงมากขึ้นก็จะขูดกันไม่ออกครับ

อย่างบทความล่าสุด “การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า” ก็เริ่มๆจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแล้วครับ และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมจะประมาณดูอีกทีครับ

ในมุมของผู้ปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นการเบียดเบียนแบบที่เห็นกันชัดๆเลยนะ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของสิ่งนี้ แล้วศีลในระดับที่ยากกว่าเช่น การกินมื้อเดียว, การประพฤติตนเป็นโสด, การพอเพียง นี่จะเข้าใจได้อย่างไร มันต้องใช้ปัญญามากกว่านั้นในการเข้าถึงคุณของสิ่งเหล่านั้นนะ

นี่แค่เรื่องตื้นๆยังไม่เห็นโทษกัน ไม่ต้องคุยกันเรื่องยากกว่านี้หรอก เพราะที่เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเบียดเบียนกันฆ่ากัน ยังไม่รุ้ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วที่ยากกว่านี้มันจะเข้าใจได้อย่างไร มันก็ถือปฏิบัติกันเอาเท่ๆ เท่านั้นแหละ

เรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่ๆ ถือปฏิบัติให้มันดูเท่ๆ น่าเคารพ (สีลัพพตุปาทาน) แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษ

เพราะถ้ามีปัญญาจริงมันต้องเห็นโทษตั้งแต่เรื่องตื้นๆอย่างการไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว

พุทธในไทยไม่ค่อยมีลำดับ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อยู่ๆก็ไปอยู่กลางมหาสมุทรเลย แต่เรื่องตื้นๆกลับไม่รู้ …มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่นะ ลองตรวจสอบตัวเองกันให้ดี