Tag: กรรม
อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป
อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป
แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเลยมาจนถึงทุกวันนี้ จะสะสมลงเป็น “กรรม” ที่เรียกว่ากรรมเก่า เพราะทำลงไปแล้วเกิดผลแล้ว สะสมผลนั้นไปแล้ว และจะรอวันให้ผลในวันใดวันหนึ่ง แต่กรรมเก่านั้นก็ไม่สามารถลิขิตขีดเขียนให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางของมันได้เสมอไป
เมื่อเราเจอเหตุการณ์ใดๆ บางครั้งเรามักจะเหมาว่าเป็นเหตุจากกรรมเก่าเสียทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าหากเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เราก็คงจะต้องวนเวียนใช้กรรมและสร้างกรรมเช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน
ในบทความนี้จะมานำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องกรรม ในมุมของกรรมเก่า ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์
1). กรรมเก่า เก่าแค่ไหน?
คำว่ากรรมเก่านั้นเป็นคำกว้างๆ แม้จะเอ่ยมาก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะกรรมเก่ามีตั้งแต่กรรมเก่าตั้งแต่ชาติปางก่อน ชีวิตก่อน จนกระทั่งถึงกรรมเก่าที่พึ่งจะทำลงไปเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดเรียกว่ากรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะผ่านพ้นไปแล้ว ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคอยรับผลกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
2). กรรมเก่านั้นรู้ได้ยาก
กรรมเก่าที่สะสมมาก่อนจะมาถึงชีวิตนี้นั้นรู้ได้ยากมาก แม้กรรมในชาตินี้ที่ทำลงไปก็ยังรู้ได้ยากเช่นกัน แต่เราก็สามารถรู้ได้จากทุกสิ่งที่เข้ามากระทบเรา นั่นก็คือผลของกรรมที่เราทำมา กรรมจะทำหน้าที่ส่งผลเท่ากับที่เราทำมา ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยมีสัดส่วนที่แบ่งไว้อย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ
นั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เราเกิดสุข เกิดทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรที่สุดที่เราจะได้รับ และผลของกรรมนั่นเองก็คือกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำมา เราอาจจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของกรรมเก่าที่ทำในชาตินี้ได้บ้าง ในส่วนของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนเราอาจจะพอรู้ได้จากความสุขทุกข์ที่ได้รับมา นั่นคือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เรียนรู้อะไรจากการรับผลกรรมเหล่านั้น
3). เห็นกรรม ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์
บางคนเมื่อเจอความทุกข์ จะใช้เรื่องกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ปล่อยวาง เช่นเมื่อรู้ว่าเราทำมา คิดว่าเราทำมา ก็สามารถปล่อยวางได้ ยิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เราทำมาสมัยก่อนก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความผิดบาปของตัวเองได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังมีกรรมที่สืบสาวราวเรื่องได้ยาก เช่นกรรมที่สะสมมาเนิ่นนานจนมาเกิดผลเอาชาตินี้ แม้จะตรวจไปเท่าไหร่ก็หาที่มาไม่ได้ จึงมักจะทำได้เพียงคิดว่าเราก็ทำเช่นนั้นมา และทำใจยินดีรับกรรมจนหมดผลนั้นไป
เราใช้วิธีเหล่านั้นในการเข้าใจผลของกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สามารถทำให้ใจสงบและปล่อยวางได้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ได้ตรวจให้ลึกลงไปถึงเหตุเกิด เรียกได้ว่าเห็นทุกข์เกิดอยู่ แต่ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ กลับไปมอง“ผลของกรรม”ที่เกิดขึ้นเป็น“เหตุแห่งทุกข์ ”
วิบากกรรม หรือผลของกรรม ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือผล คือสิ่งที่สุกงอม คนที่มองเห็นเพียงว่าผลของกรรมที่ได้รับคือเหตุแห่งทุกข์ จะไม่สามารถศึกษากรรมที่เกิดในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ มักจะทำอยู่ในวิถีของสมถะ คือการใช้ความเข้าใจกรรมมาเป็นอุบายช่วยในการทำจิตให้สงบนิ่ง
ในเมื่อวิบากกรรม คือผล มันก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ว่าคือทำไมเราจึงไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วจนต้องมารับผลกรรมเหล่านั้น ในส่วนของกรรมชั่วก็คือกิเลส กิเลสคือเหตุให้สร้างกรรมชั่ว ส่วนจะเป็นกิเลสชนิดไหน ลีลาใดก็ลองวิเคราะห์จากผลของกรรมของตัวเองได้ ในส่วนของกรรมดีก็คือปัญญา ผู้มีปัญญาก็จะสร้างกรรมดี หรือกุศลกรรม เพื่อใช้อาศัยให้เกื้อหนุนความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นสิ่งเกื้อหนุนสู่การหลุดพ้นจากกิเลส
ดังนั้นแม้จะเห็นว่าผลของกรรมนั้นคือสิ่งที่เราทำมาจนทำให้เราต้องเกิดทุกข์ แต่ก็ยังเป็นระดับของความเข้าใจในกรรมที่ยังตื้นเขิน เพราะในผลของกรรมแต่ละอย่างก็ยังมีเหตุของสิ่งนั้น เราจึงควรศึกษาให้เห็นเหตุของกรรมดีกรรมชั่วนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าเราไม่แจ่มแจ้งในเหตุของกรรม ก็จะไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย
4). รำไม่ดีโทษปี่โทษกรรม
พอเราไม่เห็นเหตุแห่งกรรมนั้นๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็มักจะมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดนั้น เกิดจากกรรมเก่า” โดยมากจะเป็นเรื่องของทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์เราก็มักจะโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของกรรม เจอเหตุการณ์ เจอสิ่งร้ายอะไรก็โยนให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งหมด ทั้งๆที่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความเห็นผิด เพราะมีกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้หลง
ดังนั้นเมื่อเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า โดยเฉพาะโยนไปที่กรรมเก่าแต่ปางก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะไปโทษว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสียหมด
5). กรรมลิขิต แต่เราเป็นคนเลือกเดิน
ผลของกรรมนั้น ลิขิตขีดเขียนเส้นทางของชีวิตให้ก้าวเดิน เป็นเหมือนบทละครที่บีบบังคับให้เราเล่นไปตามกรรมที่ทำมา แม้กรรมจะลิขิตไว้เช่นนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลงเล่นละครไปตามกรรมเก่านั้นเสมอไป
ในแต่ละวินาทีของชีวิต เราจะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางของกรรม เราสามารถขีดเขียนทางเดินของเราใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ แล้วมีคนมาบอกว่าการลดเนื้อกินผักนั้นดี เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อได้รับข้อมูลดังนี้ เรามีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงกรรมได้
ทางที่ชัดเจนนั้นมีอยู่แค่สองทางคือกุศลและอกุศล หรือดีและชั่ว ถ้าเราตัดสินใจว่า ที่เขาเสนอมามันก็ดีนะ แม้เราจะยังรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็อยากจะลองศึกษาเพิ่ม อยากจะลองทำดูสักครั้ง ตรงนี้เป็นการสร้างกรรมดี เกิดมโนกรรมที่ดี แม้จะยังไม่ได้เลิกกินเนื้อสัตว์แต่ก็มีทิศทางที่ไปสู่ความดีงาม
แต่ถ้าเราได้ฟังแล้วคิดว่า จะเลิกกินทำไมอร่อยจะตาย เนื้อสัตว์เป็นเพียงธาตุ เราต้องการโปรตีน อันนี้ก็จะไปทางอกุศล คือมีแนวโน้มจะเสพเหมือนเดิม ตามใจกิเลสเหมือนเดิม ทำตัวปล่อยไปตามกรรมเดิม คือมีความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ที่จริงแล้วจะว่าเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วเมื่อมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอาการต่อต้าน นั่นหมายถึงเราต้องเพิ่มความชั่วขึ้นมาเพื่อไม่เอาความดีนั้น นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างกรรมชั่วที่จะยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์มากขึ้นนั่นเอง
ทุกวินาทีเราสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้กิเลสที่สะสมมาจะเขียนบทให้เราเอาแต่สิ่งชั่วเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่พยายามจะเลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ผู้ที่ไม่เคยคิดจะฝืนกิเลส ไม่เคยคิดที่จะต่อต้านกิเลส ก็จะคิดว่าตนเองนั้นถูกกรรมทำให้ไหลไปตามความชั่ว ซึ่งเป็นผู้ประมาท เหมือนปลาที่ตายลอยตามน้ำไปสู่ความฉิบหาย แม้สุดท้ายจะอ้างว่าเพราะกรรมทำมา แต่นั่นก็คือชั่วที่ตนทำมาอยู่ดี แล้วเหตุอะไรที่เราต้องหลงทำชั่วตั้งมากมายจนต้องลำบากคอยรับกรรมชั่วที่ทำให้ทุกข์ ทำให้ไร้สติ ทำให้หลงเช่นนี้ เราจึงควรศึกษาในเหตุแห่งกรรมชั่วนั้น เพื่อที่จะทำลายเหตุนั้นในท้ายที่สุด
6). กรรมเก่าที่หนีไม่พ้น
ในส่วนกรรมเก่าที่หนีไม่พ้นนั้นก็มีอยู่ แม้เราจะป้องกันเต็มที่ด้วยกำแพงศีล สร้างกุศล ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาทก็อาจจะมีวันหนึ่งที่ผลของกรรมสุกงอม สร้างเป็นเหตุการณ์ให้เราได้รับทุกข์ที่ไม่มีวันจะป้องกันได้ก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเดินทางไปต่างจังหวัด ขับรถไปด้วยความเร็วปกติ ทำตามกฎจราจร ขับด้วยความระมัดระวัง แต่แล้วกลับมีรถสวนมาชนเข้าอย่างจัง กรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของกรรมเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าเราเองไม่มีความประมาทซึ่งเป็นกิเลส เหตุหนึ่งของความซวยแล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างกรรมชั่วใหม่ ดังนั้นสิ่งที่กระทบก็เป็นผลจากชั่วเก่าที่เคยทำมานั่นเอง
อีกตัวอย่างในกรณีกรรมดี เราเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่มีจิตใจสูง พร้อมด้วยปัจจัย ๔ และความรู้ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ทำกรรมดีอะไรเลย แต่เรากลับได้รับทั้งอาหาร การดูแลเอาใจใส่ การสั่งสอนที่ดี และโอกาสในการเรียนรู้ เราคิดย้อนไปก็หาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเราจึงได้รับสิ่งที่ดี ทั้งที่เราเกิดมาก็ไม่เห็นได้ทำอะไรที่สมเหตุสมผลที่จะได้รับสิ่งดีเหล่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับก็เป็นผลจากดีเก่าที่เคยทำมานั่นเอง
7). กรรมเก่าปนกิเลสใหม่
เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนผสมของกรรมเก่าและกรรมใหม่ปนกันอยู่ โดยเฉพาะกรรมที่ปนด้วยกิเลสนั้นรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก มักจะถูกมองอย่างเหมารวมไปหมดว่าเป็นกรรมเก่า จะยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในมุมผลกรรมชั่วที่กิเลส และผลกรรมดีที่ปนกิเลส
ผลกรรมชั่วที่ปนกิเลสเช่น เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาเป็นคู่ครองในชีวิต เราก็จะตั้งความต้องการไว้ว่าต้องหน้าตาประมาณนี้ ต้องมีฐานะประมาณนั้น ต้องมีแนวคิดประมาณนี้ ฯลฯ นี้คือการสร้างกรรมชั่วขึ้นเพราะมีความโลภ ราคะและความหลงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเจอคนที่ตรงใจก็ตัดสินใจเลือก ณ ตอนนี้เป็นการปักมั่นในการเสพสมใจตามกิเลสเป็นการสนองกิเลส สร้างกรรมชั่วสะสมขึ้นมาอีก แล้ววันหนึ่งก็กลับโดนคนที่หมายมั่นทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีนี้จะโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีกิเลสเป็นตัวร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งที่ได้รับนี้เป็นผลมาจากกิเลสที่ยังคงสืบเชื้อชั่วอยู่ในจิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ผลกรรมดีที่ปนกิเลสเช่น เราเห็นคนแก่ขายล๊อตเตอรี่ ใจเราก็มีเมตตาอยากช่วย จึงช่วยซื้อไป แต่ก็ไม่ได้ซื้อด้วยจิตผ่องใส ยังมีความโลภ อยากได้ อยากถูกรางวัลอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงวันออกฉลาก ก็มีความรู้สึกลุ้น อยากให้เป็นเราที่ถูกรางวัล สุดท้ายเกิดถูกรางวัลขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สะสมมาด้วย ไม่ใช่เพียงผลที่ช่วยคนแก่ เพราะผลที่ช่วยคนแก่จ่ายไปแค่ไม่กี่ร้อย แต่เมื่อถูกรางวัลกลับได้มากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนของกรรมเก่าที่ทำมา ซึ่งก็แค่เพียงได้รับกรรมดีที่ทำมาเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือน่าสนใจแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจคือความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ในระหว่างที่ถือครองความหวังนั้นต่างหาก คือกรรมชั่วได้สะสมผลลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรอวันที่ผลของกรรมชั่วนั้นสุกงอมและได้รับผลของกรรมชั่วนั้นต่อไป
….ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของกรรมก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กรรมและผลของกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ที่ยังมีกิเลสปนอยู่ ซึ่งก็เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์แล้ว
การเรียนรู้เรื่องกรรมให้แจ่มแจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาธรรมะ ผู้ที่เรียนรู้กรรมอย่างละเอียดจนไม่มีใครเทียบได้คือพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ท่านศึกษาอย่างละเอียดมามากกว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้กรรมทุกเหลี่ยมทุกมุมอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแค่เรียนรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ เกิดจากเหตุอะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดัน แล้วจะให้ผลดีร้ายอย่างไร เรียนเกี่ยวกับกิเลสที่ผลักดันให้ทำกรรมชั่วให้แจ่มแจ้งก็เพียงพอแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
30.6.2558
เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์
เวลากับใจคน (https://www.youtube.com/watch?v=zzcv706q54I)
นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นความเชื่อกันนานๆ ก็มักจะหัวร้อน เลยเปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ จนยูทูบสุ่มมาเจอเพลงนี้ ถ้าฟังผ่านๆก็เป็นเพลงตามสมัยธรรมดาละนะ แต่ผมฟังแล้วสะดุดประโยคที่ว่า “ เหตุและผลของเวลา เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไป แล้วนับประสาอะไรกับใจคน ”
ได้ยินดังนั้นก็คิดทันทีว่าถ้าอธิบายให้คนเมืองที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงแห่งความรักด้วยวิธีนี้น่าจะเหมาะ แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังดูแล้วให้อารมณ์ผิดหวังช้ำรักอย่างโหยหวน แต่ก็มีความเข้าใจโลกอยู่บ้าง จึงลองหยิบมาอธิบายประยุกต์กับธรรมะกันดู
…………………………………………………..
เนื้อหาในเพลงนี้แสดงสภาวะของ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผลของกรรมที่ส่งผลผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้เสพสุข หมายถึงเรากำลังได้รับผลของกรรมดีที่เราทำมา ผ่านไปวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งผลของกรรมดีชุดนั้นหมดลง ก็จะไม่ได้รับสุขเหมือนเคย และเมื่อหลงติดในสุขนั้นก็จะทำให้เกิดทุกข์
เมื่อเกิดทุกข์จากการไม่ได้เสพสิ่งดี ก็มักจะโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรมบนความเข้าใจที่หลงผิด เพราะทุกอย่างที่ได้รับนั้นก็เกิดจากสิ่งที่เราทำมา สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เพราะไม่ได้ทำมา สิ่งเหล่านั้นยุติธรรมสมเหตุสมผลในตัวมันอยู่แล้ว มีเพียงผู้ที่หลงผิดเท่านั้นที่มักจะบอกว่ากฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม นั่นเพราะมีความโลภอยากได้มากกว่าตนทำมา
ต่อมากเมื่อเข้าใจเรื่องของกรรมมากขึ้นก็พยายามทำดีสร้างกุศลเพื่อจะได้เสพผลใหม่ พอผลของกรรมดีส่งผลก็มักจะหลงสุข ยึดติดในสุขนั้นแล้วประมาทต่อกิเลสจนสร้างเชื้อทุกข์ สร้างบาปสร้างอกุศลกลายเป็นกรรมชั่วใหม่ที่จะรอให้ผลชั่วต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเกิดสภาพของความไม่เที่ยงเพราะผลของกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของกรรมใดที่จะไม่มีวันหมดผล ได้รับแล้วก็หมด หมดแล้วก็ต้องมาสร้างใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้
เมื่อเวลาหมุนไปเรื่อยๆ ผลของกรรมที่ได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และในแต่ละวันเราก็สร้างกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ แม้เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน แต่ผลที่ได้รับมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตของเรามีเหตุและปัจจัยหลายอย่างให้เกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ทั้งกรรมเก่าของเรา กรรมในปัจจุบันของเรา กรรมของผู้อื่น กรรมของโลก สังเคราะห์รวมกันเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ต่างๆ มีฉาก มีนักแสดง มีบทพูด ฯลฯ ดังที่เราได้เห็นนั่นเอง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นและพยายามทำดีเพื่อให้ตนได้รับแต่ผลของกรรมดีมาเสพ เพราะกลัวความทุกข์จากผลกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีของตนนั้น จึงมักจะต้องเป็นทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในผลดีที่จะต้องเกิดกับตน อกหักอกพังเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดีมาเสพสมใจ บางครั้งทำดีแต่กลับได้รับกรรมชั่ว และจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพราะความไม่แจ่มแจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม
ไม่ว่าดีและร้ายที่เกิดขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในโลก น้ำทะเลระเหยไปเป็นเมฆ เมฆกลั่นตัวเป็นฝน ตกลงดินไหลลงแม่น้ำจนถึงทะเล ระเหยไปเป็นเมฆ มันเป็นน้ำเหมือนเดิมแต่สถานะของมันไม่เที่ยง แปรผันอยู่ตลอดเวลา กรรมดีกรรมชั่วก็เช่นกัน มันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน ถูกสร้างขึ้นมาและรับผลให้จบลงไป สลับไปมาทั้งดีและร้าย ดังนั้นวิถีแห่งโลกียะจึงยึดเอาเป็นสาระไม่ได้
และการคงอยู่เช่นนี้แหละคือความทุกข์ มีทั้งทุกข์ที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ยังไงก็ต้องทนทุกข์ ยิ่งมีกิเลสก็ยิ่งทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อเสียของรัก เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างเดิม
เพราะความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย กิเลสไม่ใช่ตัวตนของเรา ความอยากและรสสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราหลงสร้างขึ้นมาเอง จึงไม่มีอะไรที่ควรยึดและหลงเอามาเป็นตัวเป็นตนเลย
. . . เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาว่ามันเป็นความสุขของเรา เป็นความภูมิใจของเรา เป็นคุณค่าของเรา และที่แย่ที่สุดคือเรายึดสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะมาเป็นตัวตนของเรา
จึงเห็นได้ว่าการอยากครอบครองความรัก ความหลงผิดที่เข้าใจว่าหากมีคู่ที่ดีจะได้เสพสุขได้เท่าที่ใจต้องการ หรือแม้แต่ความอยากในการมีคู่ครองก็ตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์ และเป็นเพียงภาพลวงของกิเลสที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นจนสิ่งลวงเหล่านั้นเป็นกลายเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง
. . . คนที่คิดว่าตนเองนั้นหลุดพ้น ลองสังเกตกรรมของตัวเราดีๆ เช่นชาตินี้ต้องรับกรรมอะไรจากเรื่องคู่บ้าง ต้องทุกข์ขนาดไหนจากเรื่องคู่บ้าง นั่นแหละคือส่วนกรรมที่เราอาจจะต้องรับต่อไป หากเชื้อทุกข์หรือกิเลสยังไม่ดับไป การที่ไม่มีคู่ หรือยังโสดไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส
หากกิเลสยังอยู่ ก็ยังเป็นเชื้อให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปอีก ถึงแม้จะเข้าใจว่าตนเองกำจัดกิเลสไปได้แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาเพื่อเพิ่มเติมปัญญาเข้าไปได้อีก เผากิเลสที่หลงเหลือเศษไปอีก เผาไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งสร้างปัญญาที่เห็นโทษในการมีคู่ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น สะสมปัญญานี้เป็นอริยทรัพย์เก็บไว้ป้องกันตัวเองจากความทุกข์ในชาติหน้าภพหน้า
. . . จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์แบบในชาตินี้อีก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.6.2558
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ
ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่
การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก”
ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน
ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่
จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น
แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้
วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้
1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก
ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง
มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ
หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด
ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก
แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน
เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย
ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก
และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส
สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก
ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้
และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง
2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว
คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก
สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้
แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง
3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก
เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง
แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้
คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้
โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น
คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง
ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ
4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว
คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก
ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้
…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
12.5.2558
เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่
เรียนรักเพื่อผ่านพ้น มิใช่วนไปรักใหม่
ความรักและความผิดหวังที่เข้ามานั้น เป็นเพียงบทเรียนในชีวิตที่เราจะต้องนำมาเรียนรู้กิเลสของตน เราจึงใช้วิบากกรรมที่มากระทบครั้งแล้วครั้งเล่าในการจะหาทางออก ไม่ใช่หาทางเข้า
คนที่หลงในความรัก มักจะเข้าใจผิดว่าความผิดหวังจากความรักนั้น เกิดมาเพียงเพื่อให้เราเรียนรู้จักรัก ระวังตัวมากขึ้น ได้เจอคนที่ดีกว่า ถ้าในความเห็นของความรักที่ไม่ครอบครองนั้นก็ใช่ แต่ถ้ายังเป็นรักที่ครอบครองนั้นไม่ใช่
ความผิดหวังไม่ได้เข้ามาเพียงแค่ทำให้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดของเราเพื่อไปใช้กับคนอื่นในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นบทพิจารณาธรรมว่าเราได้ทำกรรมอะไรมาบ้าง แล้วเรายังต้องการเสพอะไรจากความรักนั้นอีก ดังนั้นความผิดหวังเกิดขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อให้วนอยู่ในห้วงแห่งความรัก แต่มีขึ้นมาเพื่อให้ออกจากนรกของผู้หลับใหลหลงเฝ้าฝันเฝ้าละเมอถึงความรักในอุดมคติด้วย
เมื่อคนที่หลงในความรักผิดหวัง ก็จะหาวิธีที่ตนจะยังสามารถอยู่ในความรักได้อย่างเป็นสุข จะพัฒนาตนเป็นคนดีขึ้น ระมัดระวังตัวมากขึ้น การคัดกรองดีขึ้น คาดหวังมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รักครั้งใหม่ต้องผิดหวังอย่างครั้งเก่า แต่สุดท้ายก็ยังต้องประสบทุกข์จากกรรมกิเลสของตนเองอยู่เนืองๆ เพราะยังเป็นผู้มัวเมาในความรัก เป็นคนดีที่ตาบอด เป็นคนดีที่เป็นทาสกิเลส
ส่วนคนที่มีปัญญาจะใช้โอกาสแห่งความผิดหวังแต่ละครั้งในการสำรวจใจตนเอง ว่าเราไปหลงอะไรในรักนั้น? เรายังอยากจะทุกข์อีกไหม? เรายังอยากได้อยากเสพอะไรอีกหรือ? ชีวิตเรามีสิ่งสำคัญเพียงเท่านี้เองหรือ? เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทียังต้องเป็นทาสกิเลสให้ต้องเล่นบทเป็นขอทานขอความรักขอความเห็นใจจากคนอื่นอีกหรือ? ไม่มีเขาแล้วเราจะไม่สามารถมีความสุขได้จริงหรือ?
คนที่หลงในความรัก เมื่อผิดหวังก็จะไม่ตรวจสอบให้ถึงกิเลสในใจตน แต่จะแก้ปัญหาเพียงปลายเหตุ สุดท้ายเมื่อวิบากกรรมชุดเก่าผ่านพ้นไป ได้เจอคนใหม่ที่ถูกใจ หรือคนรักเก่ามาตามง้อ ก็จะหลงวนเวียนกลับไปเสพสุขในความรักเช่นเคย แล้วเข้าใจว่าตนนั้นน่าจะเก่งขึ้น น่าจะฉลาดขึ้น น่าจะรับมือกับความเอาแต่ใจของตนและผู้อื่นได้บ้าง ตนจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมบ้าง
นี่คือการสะสมความยึดมั่นถือมั่นของคนดีที่ล้างกิเลสไม่เป็น แม้ในตอนแรกมันจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีไปตลอด วิบากกรรมนั้นมีทั้งชั่วทั้งดี เช่นที่เขาว่า ชั่ว 7 ที ดี 7 หน แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เราจะได้รับชั่วหรือสิ่งเลวร้ายตามกรรมที่เราทำมา และได้รับดีตามที่ทำมาเช่นกัน ซึ่งเราไม่สามารถรู้ชัดได้เลยว่าเราทำกรรมอย่างไรสะสมมามากเท่าไหร่ อย่างเก่งก็คงพอจะรู้ได้จากกรรมในชาตินี้ ดังนั้นคนดีที่หลงในความรักคือคนที่ประมาทต่อความไม่เที่ยง เหมือนนักโทษที่รอคอยวันประหารที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่
สุดท้ายฉากความผิดหวังเก่าๆก็จะกลับมาซ้ำรอยที่เดิม วนมาให้เรียนรู้เช่นเดิม ให้เข้าใจว่าโลกนี้มีความพร่อง มีความไม่แน่นอน มีความพลัดพรากอยู่เสมอ ดังนั้นความผิดหวัง ความไม่ถูกใจเรา จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดอย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะเตรียมใจมาดีแค่ไหน จะเป็นคนดีแสนดีมากเท่าไหร่ และถึงวันนั้นคนดีที่เอาแต่ทำดีเพื่อให้ได้รักที่ดีก็จะต้องทุกข์ระทมด้วยความผิดหวังเช่นเคย
ส่วนคนที่มีปัญญานั้น เมื่อความผิดหวังมาถึง เขาจะใช้ความผิดหวังนั้นเป็นพลังในการศึกษาทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ หาการดับทุกข์ หาวิถีทางสู่การดับทุกข์ แม้ว่าจะต้องเจ็บปวดจากความรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยปัญญาที่เห็นแล้วว่าการมีความรักที่อยากจะครอบครองนั้นเป็นทุกข์ เขาจึงเริ่มที่จะผลักกิเลสออกจากตัวเองตามกำลังที่เขามี
สุดท้ายและท้ายที่สุด นับตั้งแต่วันที่เขาได้เรียนรู้ความผิดหวัง แล้วใช้ความผิดหวังนั้นมาเป็นอาหารที่ทำให้เขาเจริญเติบโต จนกระทั่งเขามีปัญญามากพอจะรู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสและเห็นความจริงตามความเป็นจริง
ว่าความรักแบบต้องมีคู่ ความอยากครอบครอง ความอยากได้อยากมี เหล่านี้ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เราเห็นกิเลสแล้ว เรารู้ทันกิเลสแล้ว กิเลสไม่สามารถทำอะไรกับเราได้อีกแล้ว อย่าหลอกเราอีกต่อไปเลย เรารู้แล้วว่าความอยากเหล่านี้เป็นเพียงความโง่ที่เราเคยมี บัดนี้เรามีปัญญาแล้ว เราหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว
สุดท้ายเมื่อกิเลสถูกรู้จนสิ้นสงสัย จึงสลายตัวไปตามธรรม หลังจากนั้นความผิดหวังที่เคยมีกลับไม่มี ความหวังที่เคยมีก็ไม่ปรากฏ แม้จะมีคนที่เคยรักแสนรัก เคยหลงใหลหัวปักหัวปำ เคยเป็นสุข เคยเป็นทุกข์จากเขามามากเท่าไหร่ เคยหัวเราะร้องไห้ให้กับเขามาแล้วสักกี่ครั้ง บัดนี้ทุกอย่างก็หมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อใจนั้นไม่มีกิเลส จึงมองความจริงตามความเป็นจริง โดยปราศจากความลำเอียงใดๆ คนที่เคยรักก็เป็นคนที่เคยรัก แต่ก็กลายเป็นเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก ไม่มีทั้งความรัก ไม่มีทั้งความชัง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส ถึงจะมีอยู่ก็จะอยู่ไปแบบนั้น ถึงจะไม่มีอยู่ก็ไม่ได้สำคัญว่าไม่มี
หลังจากนี้จะมีแต่กุศลและอกุศล มีแต่การประมาณว่าทำเรื่องใดแล้วผลจะออกมาดีหรือร้าย ไม่มีเรื่องของกิเลสเข้ามาปน ไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นทุกข์จากความรักและความผิดหวังอีกเลย เพราะพ้นแล้วซึ่งอำนาจของความไม่รู้
และนี่คือความแตกต่างของการเรียนรักเพื่อที่จะผ่านพ้น กับคนที่เรียนรักเพื่อวนไปมีความรักใหม่ ทางแรกนั้นมีจุดจบที่แน่นอน ส่วนทางที่สองไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ไม่รู้จะต้องวนไปถึงชาติไหน ไม่รู้จะต้องทนทุกข์ไปอีกกี่กัปกี่กัลป์ ถึงจะเห็นว่าความอยากได้อยากมีของตนเองนั่นแหละคือที่มาของความผิดหวัง
– – – – – – – – – – – – – – –
9.5.2558