Tag: เรียนรู้

วิธีเรียนรู้ชีวิต

April 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,087 views 0

วิธีเรียนรู้ชีวิตมีสองวิธีกว้างๆ

  1. คือเรียนรู้จากผู้รู้และประสบการณ์ของผู้อื่น
  2. คือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

คือว่าเรียนรู้นั้นหมายถึงการเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาในใจอย่างแยบคายให้ถึง เหตุปัจจัยที่เกิดผล หรือโยนิโสมนสิการ ดังนั้นไม่ว่าจะวิธีไหน หากไม่เกิดโยนิโสมนสิการ ก็ไม่เกิดการเรียนรู้

1.เรียนรู้จากผู้อื่น

เป็นวิธีเรียนรู้ที่ได้ผลไวที่สุด และเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าเป็นทางที่ตรงที่สุดที่พาพ้นทุกข์ คือต้องเรียนรู้จากผู้รู้สัจธรรมจึงจะพาชีวิตไปสู่ความเจริญ

เมื่อเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นแล้วนำมาไตร่ตรองหรือปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ผลที่ใกล้เคียง ดังเช่นการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค ก็ย่อมให้ผลไปในทิศทางที่เจริญ ไม่หลงทาง

2.เรียนรู้ด้วยตนเอง

เป็นวิธีเรียนรู้อีกทางที่ได้ผลช้า ถึงช้ามาก ด้วยความไม่รู้และความหลงผิดซึ่งเป็นพื้นฐานของเราแต่ละคน ทำให้ชีวิตเรียนรู้ไปในทางที่ผิดอยู่เสมอ ซึ่งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้ส่วนมากเกิดจากอัตตา คือยึดว่าฉันทำได้ ฉันรู้เองได้ ฉันไม่ต้องพึ่งใคร ฉันไม่ต้องมีครู ฉันไม่ต้องมีศาสนา

จึงต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเรียนรู้ที่ทำได้ แต่ไม่ดี เพราะสุขน้อย ทุกข์มาก

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,329 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การเดินทางที่แสนพิเศษ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,672 views 0

การเดินทางที่แสนพิเศษ

การเดินทางที่แสนพิเศษ

….การท่องเที่ยวผ่านอดีต ไปอนาคต จบลงที่ปัจจุบัน

ในชีวิตหนึ่งเราอาจจะเดินทางไปไหนต่อไหนก็ได้ ไกลเท่าไรก็ได้ อาจจะทั่วโลกหรือทั่วจักรวาลก็ยังได้ เราได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งต่างๆระหว่างการเดินทางมากมาย จนถึงจุดหมายซึ่งทำให้เราพบกับสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ก็ยังมีการเดินทางที่พิเศษกว่านั้นเป็นการเดินทางไปที่ไหนก็ได้แม้ว่าจะนั่งอยู่บนม้านั่งตัวเก่า นอนอยู่บนเตียงเดิมเดิม แต่กลับงดงามอย่างหาอะไรมาเปรียบไม่ได้

จินตนาการสามารถพาเราไปที่ไหนก็ได้ ไกลแค่ไหนก็ได้ ละเอียดเท่าไรก็ได้ จะแวะพัก จะย้ายที่ จะทำอะไรก็ได้…

เราจึงใช้จินตนาการเหล่านั้นพาตัวเองผ่านอดีต ผ่านหลายภพหลายชาติที่เคยติดเคยยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา เดินทางตรวจสอบจิตใจว่าเรายังเหลืออะไรให้หวนไปในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ เรายังสุขยังทุกข์กับเรื่องราวในอดีตเหล่านั้นหรือไม่ ทุกเรื่องราวที่ผ่านมาสร้างรอยยิ้มและน้ำตามากมาย เป็นเหมือนเส้นทางที่มีแต่ความทรงจำที่ผ่านมามากมายขื่นขมและงดงามหาที่เปรียบไม่ได้

เรายังคงเฝ้าถามตัวเองว่ายังเหลือทุกข์เหลือสุขอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นหรือไม่ แม้เรื่องราวเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง เราอยากทำให้มันกลับมาหรืออยากลบมันทิ้งไปหรือไม่

หลังจากเราเดินทางไปในอดีต เราก็จะไปท่องเที่ยวกันต่อในอนาคต เราจะพาจินตนาการไปยังที่ที่อยากไป คนที่อยากพบ เหตุการณ์ที่อยากเจอ เป้าหมายในชีวิตของเราที่อยากมี ความฝันวันวานที่เราเคยมี เราใช้เวลาดื่มด่ำไปกับจินตนาการในอนาคต เรามีความสุขหรือไม่ที่เราคิดถึงมัน จะดีไหมถ้าเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นจริง เราใช้มันเป็นแรงผลักดันในชีวิตได้ไหม ถ้าถึงวันที่เราฝันจริงๆ แล้วเราจะมีความสุขจริงๆใช่ไหม?

เราเดินทางไปยังอนาคต ที่เวลาทั้งหลายจะเคลื่อนไปตามจินตนาการของเรา คนข้างๆเราเขายังจะอยู่กับเราถึงวันที่เราหวังหรือไม่ พ่อและแม่ของเราจะจากไปตอนไหน เราจะต้องอยู่คนเดียวอีกนานแสนนานไหม ถ้าเราต้องโดดเดี่ยวและสูญเสียจริงๆ เราจะทุกข์ เราจะเสียใจ เราจะทนได้ไหม เราจะไม่ร้องไห้ได้ไหม

หากเรายังคงยินดีในอดีตและอนาคต เราก็ยังคงต้องเดินทางต่อไป การเดินทางของเรานั้นยังไม่จบยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับมัน เราต้องใช้เวลามากมายเดินทางข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นจากเดือนเป็นปี จากปีเป็นชีวิต เราตายและเกิดใหม่เพื่อเดินทางเรียนรู้บนถนนเส้นเดิม แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่เราก็ยังจะเดินทางตามหาความฝันเหมือนเดิม

จนกว่าเราจะพบว่าเราพอแล้ว เราไม่ยินดีในสุขและไม่สนใจจะจมอยู่กับทุกข์ทั้งในอดีตและอนาคตแล้ว ไม่มีเรื่องใดๆให้เราต้องทำ ไม่ต้องไขว่คว้าฝันนั้นอีกต่อไปแล้ว เราจึงยินดีที่จะหยุดเดิน เราไม่กลับไปอดีต และจะไม่เดินต่อไปในอนาคต การเดินทางของเราจบลงที่ตรงนี้ ตอนนี้ เราอยู่กับปัจจุบัน อดีตคือความทรงจำดีๆ เรื่องราวมากมายที่ผ่านมานั้นยังคงมีอยู่ อนาคตต่อจากนี้ก็ยังมีอยู่แต่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเดินทางที่แสนพิเศษจะเกิดขึ้นเพราะมันมีตอนจบ มีเส้นทาง มีประสบการณ์ มีเรื่องราวมากมายที่ผ่านมาแล้วก็มีตอนจบ เป็นการสิ้นสุดของการเดินทางท่องเที่ยวที่ผ่านมานานแสนนาน ผ่านรอยยิ้มและน้ำตามากมาย บทสรุปนั้นงดงามด้วยเรื่องราวของทุกก้าวที่ผ่านมา

พระอาทิตย์กำลังขึ้นในเช้านี้ แต่ไม่มีการเดินทางอีกต่อไป ไม่ต้องท่องเที่ยวอีกต่อไป เหลือเพียงแค่คนหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตไปอย่างปกติ โดยไม่ต้องเดินทางไปไหนอีก ไม่ต้องกลับไปอดีต ไม่ต้องไปอนาคต เพราะเขาอยู่กับปัจจุบัน

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,806 views 0

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว นั่นหมายความว่าศาสนาได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ความเจริญก็ได้หายไปครึ่งหนึ่ง ความเสื่อมก็เข้ามาแทนที่ในส่วนนั้นเช่นกัน

ในความจริงที่ผ่านมานั้น เราได้เวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว อย่างองค์สมณะโคดม หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ ท่านได้ผ่านและร่ำเรียนจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมามากกว่า 3 ล้านพระองค์

ซึ่งในอนาคตก็จะมีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างภัทรกัปนี้ องค์สุดท้ายที่จะมาบังเกิดคือพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ว่าคนจะมีอายุถึง 80,000 ปี

พอชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ยินดังนั้น ก็ได้หมายมั่นตั้งจิตว่าจะไปปฏิบัติในยุคหน้า ในอนาคตที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดมา …ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน สอนให้ลด ละ เลิกกิเลสเหมือนกัน สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีทางดับทุกข์เหมือนกัน

และธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก คือปฏิบัติจนเห็นผลได้ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคใด สมัยใด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ธรรมะนั้นยังคงอยู่ หากว่าเราปฏิบัติตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยผ่านคำสอนของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกตรง ก็จะสามารถไปถึงผลได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

นั่นคือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตอนนี้ หรือไปปฏิบัติในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การได้รับความสุขจากการหมดกิเลส ก็เป็นสภาพที่เหมือนกัน แต่คนที่ขยันปฏิบัติและเรียนรู้ก็จะสามารถหมดทุกข์ได้เร็ว หมดทุกข์ก่อนก็สุขก่อน หมดทุกข์ได้ในชาตินี้ก็สุขได้เลยในชาตินี้ หมดทุกข์วันนี้ก็สุขวันนี้ และสุขยาวต่อไปอีกกี่ยุค กี่สมัยก็ได้ตามแต่ใจ

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ล้างทุกข์ หรือคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่งก็จะแบกทุกข์ไว้ แบกกิเลสเอาไว้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนแล้ว พระพุทธเจ้าผ่านมากี่พระองค์เราก็ทำแบบนี้ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิบัติ ไม่เรียนรู้สักที จะขอเสพกิเลส ตามใจกิเลสอยู่นั่น แล้วหลงว่าตัวเองควบคุมกิเลสได้ แต่จริงๆโดนกิเลสควบคุมชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว

การที่ตั้งจิตว่าจะไปบำเพ็ญในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ไปเกิดเป็นคนในยุคนั้นเสมอไป เพราะกว่าที่จะถึงยุคนั้น จะต้องผ่านกลียุค ผ่านยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานมาก นานแสนนาน จนกว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เรียนรู้และปฏิบัติในยุคนี้ ก็จะไม่รู้จักกิเลส พอถึงกลียุคก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำบาปตามเขา เสพกิเลสตามเขา สะสมกิเลสตามเขา

สุดท้ายกว่าถึงยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็สะสมบาปมากพอ กรรมอาจจะดลไม่ให้เกิดในยุคนั้น หรือไม่ก็เกิดเป็นสัตว์ อาจจะเป็นสุนัขไปสัก 40,000 ปี ตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นแมวอีก 40,000 ปี เป็นเดรัจฉานวนเวียนไม่จบไม่สิ้น จนไม่พบพระพุทธเจ้าสักที แคล้วคลาดกันทุกยุคทุกสมัย พอชาติใดชาติหนึ่งได้พบศาสนาพุทธก็พลัดวันประกันพรุ่งต่อไป วนเวียนไปแบบนี้ ถึงจะผ่านพระพุทธเจ้าอีกล้านพระองค์ก็อาจจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ก็เป็นได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เราประมาท เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ยังอยู่ในยุคที่ยังมีศาสนาอยู่ อยู่ในยุคที่ธรรมะยังดำรงอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำตัวย่อหย่อน พลัดวันประกันพรุ่ง ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์