Tag: อัตตา

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,010 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แด่ความรักอันยิ่งใหญ่

December 22, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,542 views 0

แด่ความรักอันยิ่งใหญ่

แด่ความรักอันยิ่งใหญ่

ก่อนหน้านี้ ผมมักจะเอ่ยถึงความรักที่ยิ่งใหญ่อยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยากที่จะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ เพราะผู้อ่านก็ไม่รู้จะหาตัวอย่างที่ไหน และแบบไหนที่เรียกว่าความรักที่ยิ่งใหญ่ ต้องรักอย่างใดจึงจะเรียกได้ว่าประเสริฐแท้

แต่ในท่ามกลางบรรยากาศของการสูญเสีย ผมเชื่อว่าหลายคนสัมผัสได้ ระลึกได้ เข้าใจได้ว่าความรักที่ยิ่งใหญ่นั้นเป็นอย่างไร เป็นความรักที่ไม่ต้องพูดคำว่ารัก ไม่จำเป็นต้องเคยพูดคุย ไม่มีแม้แต่อ้อมกอดและไม่สำคัญว่าจะเคยได้พบกันหรือไม่ แต่หลายคนกลับรับรู้ได้ว่า สิ่งเหล่านั้นคือความรัก

เป็นความรักในมิติที่สูงยิ่ง ประเสริฐยิ่ง งดงามยิ่ง เพราะไม่มีการเบียดเบียนกัน มีแต่เฉพาะความดีงามเท่านั้นที่นำมามอบให้กัน เป็นความเมตตาที่แผ่ไปอย่างแท้จริง แผ่ไปกระทบใจใคร มนุษย์ผู้นั้นก็สามารถที่จะรับรู้ได้ว่านี่คือสิ่งดี นี่คือคุณค่า นี่คือประโยชน์แท้ แม้เพียงการระลึกถึงความรักที่ท่านมีต่อผองชน ก็สามารถทำให้หลายคนมีพลัง มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตไปสู่ความดีงาม

ตั้งแต่เกิดมาผมก็ยังไม่เคยเห็นใครมีบารมีเท่านี้มาก่อน เพียงแค่ระลึกถึงก็มีความสุข เพียงแค่รับรู้เรื่องราวของความดีงามที่ท่านทำก็สามารถทำให้คนรักและเคารพกันได้อย่างง่ายดาย และความดีงามเหล่านั้นยังมีพลังมากพอที่จะทำให้คนหันมาทำความดีด้วย

เมื่อโลกนี้สูญเสียบุคคลที่ทรงคุณค่ายิ่งอย่างท่านไป ก็เหมือนมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ การไหวครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ผืนแผ่นดิน แต่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ที่รักและศรัทธา เป็นการสั่นไหวที่สะเทือนจิตใจของคนทั่วโลก ซึ่งแต่ละคนก็มีความสั่นไหวที่แตกต่างกันออกไป ความสั่นไหวของจิตใจจนเกิดความเศร้าโศกเสียใจคงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่การที่จิตใจนั้นถูกเขย่าโดยคลื่นแห่งความดีปริมาณมหาศาลนี้ ทำให้คนบางคนอยู่ไม่เป็นสุข อยากทำสิ่งดี จนต้องลุกขึ้นมาทำดี นั่นเพราะเขาเหล่านั้นสามารถรับและตอบสนองต่อคลื่นแห่งความดีเหล่านั้นได้ดีกว่าคนทั่วไป

เหมือนกับการที่เราโยนหินลงไปในบ่อน้ำ น้ำนั้นย่อมเกิดการกระเพื่อม เป็นคลื่นกระจายออกไปทุกทิศทุกทาง สิ่งที่หนักนั้นย่อมไม่สั่นไหว สิ่งที่จะสั่นไหวก็จะมีแค่สิ่งที่เบาเท่านั้น อัตตาเป็นของหนัก ถ้าไม่มีอัตตาก็จะเบา ถ้าคนเหล่านั้นมีอัตตาจัดก็จะไม่ได้รับผลใด ๆ จากคลื่นนี้ ในขณะเดียวกัน คนที่มีอัตตาเบาบาง ก็จะลอยไปตามคลื่นเหล่านั้นไป

ความหนักแน่นมั่นคงนั้นควรจะใช้เพื่อต่อกรกับสิ่งที่ไม่ดี ส่วนความแววไวปรับเปลี่ยนง่ายไม่ยึดมั่นถือมั่น ควรใช้กับเรื่องที่ดี ในตอนนี้ นี่คือคลื่นลูกสุดท้ายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ เป็นคลื่นแห่งความดีงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะการจะเกิดสถานการณ์อย่างเช่นทุกวันนี้ เกิดจากพลังความดีที่ท่านได้บำเพ็ญเพียรอย่างต่อเนื่องมาตลอด ๗๐ ปี นี่จึงเป็นพลังงานแห่งความดีที่ยิ่งใหญ่ เป็นบทสรุปของความรักที่ยิ่งใหญ่ ดังที่นักปราชญ์อย่างไอน์สไตล์ได้กล่าวไว้ว่า ในอนาคตหลังจากที่เขาจากไป จะมีพลังงานที่ยิ่งใหญ่กว่าระเบิดนิวเคลียร์ พลังงานนั้นก็คือระเบิดแห่งความรัก ( a bomb of love ) และความรักนั้นเองจะเป็นพลังที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและเยียวยาทุกสิ่ง นั่นคือคำตอบที่สุดยอดที่สุดในชีวิตที่เขาค้นพบ ( ultimate answer )

เมื่อเกิดระเบิดแห่งความรักขึ้น แรงระเบิดนั้นก็ได้สร้างคลื่นแห่งความรัก ถ้าเป็นระเบิดนิวเคลียร์คลื่นเหล่านี้คงทำลายทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มันจะผ่านไปได้ แต่คลื่นแห่งความรักกลับแตกต่าง มันไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีการสัมผัส ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่กลับรู้สึกได้ มันไม่ได้มีอำนาจทำลายล้าง แต่มีอำนาจที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

คลื่นแห่งความดีนั้นตรงเข้าไปกระแทกในจิตใจของผู้คน ให้ตระหนักรู้คุณค่าของความดีงาม ให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ให้ออกมาทำดีกัน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนี้สามารถเห็นได้ว่า คลื่นแห่งความดีนั้นมีผลจริง มีแรงกระแทกจริง รับรู้ได้จริง เพราะคนจำนวนมากออกมาทำความดีร่วมกัน จนบัดนี้ก็ผ่านมาสักพักแล้ว แต่คลื่นนี้ก็ยังไม่หมดพลัง ยังมีแรงส่ง มีแรงผลักดันให้คนลุกขึ้นมาทำดีอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าจะไม่มีวันหมดพลังง่าย ๆ

ในความเป็นจริงระเบิดแห่งความรักนั้นก็ระเบิดออกไปแล้ว และคลื่นเหล่านั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แท้จริงแล้วคลื่นแห่งความดีงามที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันนั้นไม่ได้มาจากการจากไปของท่าน แต่มาจากบุคคลที่เพียรทำความดีตามอย่างท่าน พยายามเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแบ่งปันผองชนให้เหมือนอย่างท่าน แน่นอนว่าการทำความดีของเขาเหล่านั้นมีท่านเป็นศูนย์รวมของจิตใจ แต่การทำดีของเขาเหล่านั้นก็เป็นของเขาเอง เป็นสิ่งดีงามที่เกิดจากปัญญารับรู้ประโยชน์ของการทำดีของเขาเอง จึงเกิดเป็นคลื่นแห่งความดีอีกหลายลูกที่สร้างแรงกระเพื่อมให้จิตใจของผู้ที่ได้พบเห็นได้มาทำดีต่อกันไปเรื่อย ๆ

อาจจะมีหลายคน ที่ตอนแรกไม่คิดที่จะทำความดีอะไร แต่พอได้เห็น ได้พบ ได้พูดคุยกับคนที่ทำดี ก็กลับมีแรงใจที่จะลุกขึ้นมาทำดีบ้าง ผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่มหัศจรรย์ เพราะถ้าเป็นเพียงการระเบิดแล้วจบไป ก็คงจะไม่มีอะไรมาก แต่ในสถานการณ์ตอนนี้กลับต่างออกไป กลายเป็นว่าคนที่เห็นประโยชน์ก็ต่างมาร่วมกันทำความดี ร่วมกันสร้างคลื่นแห่งความดี ให้ความดีงามนั้นสืบต่อไป ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือความกตัญญูรู้คุณต่อความดีงามที่ท่านได้ทำไว้เป็นตัวอย่าง และเชื่ออย่างเต็มใจ ว่าความดีนี่แหละ คือความรักที่ยิ่งใหญ่ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นก็เคยได้รับสิ่งนั้น และรับรู้ได้ว่าการทำดีนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่าและเยี่ยมยอดที่สุดเท่าที่ชีวิตหนึ่งจะทำได้

ดังนั้นการตอบแทนความรักอันยิ่งใหญ่นี้ จึงไม่ได้หยุดเพียงแค่การรับรู้เท่านั้น แต่เป็นการทำให้เกิดความดีนั้นในตนขึ้นมา จนเกิดเป็นการให้ การเกื้อกูล การเสียสละ ทั้งทุนทรัพย์ เวลา แรงงาน ให้กับสังคม เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาตอบแทนคุณค่าแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ในฐานะที่ลูกของแผ่นดินผู้หนึ่งพึงกระทำได้

15.12.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

August 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,727 views 0

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

คำว่า “ทางสายกลาง” เป็นคำที่คนมักจะยกกันขึ้นมาพูด เมื่อต้องการแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ตนเองรู้สึกว่า ตึงหรือหย่อนเกินไป

ทางสายกลาง เป็นคำที่มักจะได้ยินกันโดยทั่วไป ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงคนเคร่งศาสนาเลยก็ว่าได้ เมื่อมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันยกคำว่า “ทางสายกลาง” ขึ้นมาพูด แล้วจริงๆ ทางสายกลางนี่มันคือตรงไหน? มันเป็นอย่างไร? ในเมื่อจุดยืนของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนไม่นับถือศาสนาเขาก็พูดถึงทางสายกลาง คนเคร่งศาสนาก็พูดถึงทางสายกลาง แล้วมุมมองที่เขามองเห็นทางสายกลางนั้นจะเป็นทางเดียวกันจริงหรือ?

ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ แล้ว ทางสายกลางนั้นคือวิถีปฏิบัติของพุทธ ไม่ใช่เพียงแค่มุมมอง แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้ เพราะบางทีมุมที่มองนั้น ก็มองออกมาจากมุมของตัวเอง มุมที่ตนเองพอใจ สบายใจ กลายเป็นทางสายกลางของฉัน ฉันก็กลางของฉัน ฉันก็พ้นทุกข์ของฉัน กลางของเราไม่เหมือนกัน แบบนี้มันก็เลยกลางเป็น “ทางสายกู” เป็นมาตรฐานกู เอาตามใจกู ซึ่งก็คือ “อัตตา” นั่นเอง

คนเราจะสร้างภาพให้ดูดี ยกธรรมะให้ดูขลังแค่ไหน สร้างบริวารมากมายเท่าไหร่ หรือมีคนเคารพศรัทธาสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอา “ทางสายกู” มาเป็นมาตรฐานของพุทธได้ เพราะทางสายกูนี่มันรู้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย ว่าตกลงหลุดพ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ยกวาทกรรมที่ดูดีขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ได้เสพสมใจโดยไม่มีคนกล้าติติง

ศาสนาพุทธนั้นมีมาตรฐานอยู่แล้วโดยลำดับ ตั้งแต่ ศีล ๕ ๘ ๑๐ จนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลและพระวินัยอีกกว่า ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อ ที่เป็นส่วนของนักบวช ซึ่งจะรู้กันดีว่า ศีล ๑๐ นั้นสูงกว่าศีล ๘ และศีล ๘ นั้นสูงกว่าศีล ๕ ไปตามลำดับ

ผู้ที่เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริงในเบื้องต้น จะมีศีล ๕ เป็นปกติทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาขึ้นไปอีกเป็นมีศีล ๘ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องคอยตั้งสติ เพราะมันไม่มีเหตุคือกิเลสเกิดขึ้นมาให้ศีลขาด ความเป็นปกติของผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นเช่นนี้ นี่คือทางสายกลางในระดับของศีล ๘

แต่แน่นอนว่าศีล ๘ ก็ยังไม่ใช่กลางที่สุดของศาสนาพุทธ แต่ก็มีส่วนที่กลางแล้ว ถูกต้องแล้ว พัฒนามาโดยลำดับ และศึกษาต่อไปจนมีศีลหรือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกข้อได้โดยไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานตน เพราะรู้ดีในตนว่า ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ดีที่สุด รู้ว่าการปฏิบัติตามศีลนี้เป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยความสุข โภคทรัพย์ วรรณะ และเป็นประตูสู่การเข้าถึงนิพพาน มาตรฐานทางสายกลางของพุทธจึงวัดในเบื้องต้น สังเกตได้ในเบื้องต้นด้วยศีล ถ้ามีศีลแล้วชีวิตมันทุกข์ มันลำบาก ยังไม่เห็นดีเห็นควรตามศีลนั้นๆ ยังมีข้อขัดแย้งที่เป็นไปในทางอกุศล แสดงว่ามันยังไม่กลาง มันยังจมกิเลสอยู่ ยังโดนกิเลสดึงไว้อยู่ ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาถือศีลเพื่อศึกษาและปฏิบัติได้

นี่คือมาตรฐานที่รู้กัน เข้าใจกัน มองเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ในพุทธบริษัทว่านี่แหละ คือมาตรฐานร่วมที่จะใช้บ่งบอกว่าสิ่งใดที่เป็นลักษณะของความเจริญ เป็นไปเพื่อกุศล ยับยั้งอกุศล ก็คงจะมีแต่ศีลนี่แหละที่พอจะเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะสภาวะที่ลึกๆ หลังจากนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งคนที่ต่ำกว่าจะไม่เข้าใจคนที่สูงกว่า ซึ่งบางคนก็ถือโอกาสมั่วนิ่ม โมเมว่าตนเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์ซะเลย จะได้ไม่มีใครกล้าตำหนิหรือกล้าแย้ง หรือในพวกคนที่หลงผิดด้วยใจซื่อๆ ว่าตนเองบรรลุธรรมก็มี พอไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบสภาวธรรมกันจริงๆ ก็เลยมีอรหันต์เก๊ พระอริเยอะกันเต็มบ้านเต็มเมือง

ศีลนี้เองจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใดที่เจริญแล้ว อยากตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองเอาศีล ๕ ไปปฏิบัติดู ถ้าไหวก็ ๘, ๑๐ ต่อไปจนถึงพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ทำหมดนั่นแหละ ถ้าอยู่บนทางสายกลางจริง มันจะไม่มีทุกข์เลย มันจะมีปัญญาเห็นตามด้วยว่า “อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีอย่างนี้นี่เอง ทำแล้วมันดีแบบนี้นี่เอง” จะมีความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ และถ้ามีความเห็นถูกตรงในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ มันจะไม่ตีกลับ ไม่เบือนหน้าหนีสิ่งดีงามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะพยายามปฏิบัติตนเองให้พัฒนาจนเข้าถึงธรรมนั้นๆ มันจะไม่หาช่องไว้เสพสุข ไม่หาจุดบอด ไม่เบี้ยวบาลี มีแต่จะทำไปเพื่อเป็นกุศลอย่างเดียว ถ้าจะปรับก็ปรับเพื่อกุศลมากกว่า อนุโลมในบางกรณีที่เกิดประโยชน์มากกว่าเท่านั้น

ผู้ที่อยู่ในทางสายกลางอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีวันเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ส่วนพระเสขะอื่นๆ ท่านก็เอียงไปในส่วนที่ท่านยังหลงอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นก็รู้แล้วว่าตรงไหนที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” ไม่ใช่เอา “ทางสายกู” ขึ้นมาอ้าง เหมือนกับคนที่หลงทางในทางธรรม…

14.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา

February 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,260 views 0

รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา

จริงหรือที่ว่าเขารักเรา? จริงหรือที่ว่าเราคือคนที่เขาหมายจะร่วมชีวิตด้วย? จริงหรือที่เขาจะมั่นคงและดีกับเราตลอดไป? ถ้าความรักที่เขาอ้างว่าจริงแท้ตามที่ได้แสดงออกมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่ต้นล่ะ จะเป็นอย่างไร?

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา หรือเป็นเพียงแค่สิ่งสนองตัณหา ที่จะมาบำเรอความอยากของเขา แน่ใจแล้วหรือว่าต้องเป็นเราเท่านั้น หรือว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถบำบัดความใคร่อยากของเขาได้ เพียงแค่เราบังเอิญอยู่ในความคิดของเขาตอนนั้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ถึงจะไม่มีเรา เขาก็ไปหาคู่ของเขาอยู่ดี

เขาอาจจะมีอุบายหลายอย่างที่ล่อลวงให้เราหลงว่าเราคือสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา ตั้งแต่การพรรณนาพร่ำเพ้อถึงความดีงามของเรา พูดคำหวานซึ่งว่าเขารักเราและเราจำเป็นกับชีวิตเขามากแค่ไหน หรือเราเป็นคนที่เขาเฝ้ารอมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม

คนเราเมื่ออยากได้อยากเสพสิ่งใดแล้ว ก็มักจะใช้ความพยายามในการแสวงหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองตามที่ใจตนเองอยาก บางคนอาจจะรอได้ไม่นาน บางคนอาจจะรอได้เป็นสิบยี่สิบปีหรือทั้งชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึง “ความจำเป็น” ของเราที่มีต่อเขาแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแค่สภาพของความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ของเขา ที่ใคร่อยากจะเสพคนแบบเรา หน้าตาแบบเรา รูปร่างแบบเรา เสียงแบบเรา นิสัยแบบเรา ฯลฯ

ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “สเปค” หรือคนในฝัน จึงไม่มีจริงในความจริง แต่มีจริงในความลวง คือโดนกิเลสลวง ว่าฉันชอบแบบนั้นแบบนี้ ขาว สวย หมวย ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ที่ตนมีอุปาทาน หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าได้น่ามี เพราะเอาเข้าจริงๆ ถึงจะตั้งสเปคไว้ แต่ถ้ามีดีกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้เหมือนกัน อย่างที่คนมากมายนอกใจคู่ของตน

สรุปคือสเปคนั้นคือตัวบอกอุปาทานของคน ว่าหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้เสพสิ่งที่หลงติดหลงยึดแล้วจะพอใจเช่นนั้นตลอดไป เพราะกิเลสของคนนั้นโตได้ เมื่อได้เสพสิ่งหนึ่งจนชินชาก็มักจะไปหาสิ่งที่มากกว่ามาเสพ ต้องสวยกว่าเดิม ต้องเด็ดกว่าเดิม ฯลฯ มีความอยากมากขึ้นไปตามความหลงว่าสิ่งใดเป็นสุข คล้ายกันกับอาการที่เราไม่หยุดแสวงหาของอร่อยใหม่ๆ มากิน

ถ้าการที่เขาเข้ามาในชีวิตของเราเพราะอยากเสพ หน้าตา รูปร่าง เสียง นิสัย ฐานะ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่พอเห็นและสังเกตได้ง่าย แต่ยังมีภาวะของกิเลสเชิงซ้อนคือไม่ได้อยากเสพอะไรในตัวเรา แต่ต้องการมีตัวเราเพื่อเสพภาพลักษณ์ดีๆ ในชีวิตของเขา เช่น อยากเล่นบทพระเอกนางเอก อยากแสดงตนเป็นคู่ครองที่ดี อยากเล่นบทพ่อแม่ลูก อยากเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถดูแลคู่ครองได้ บำเรอความสุขให้คู่ของตนได้ นี่กิเลสมันซ้อนมาแบบนี้เลย คือภาพลักษณ์จะเป็นคนดีมาก ไม่สวยก็ไม่ว่า หุ่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้เป็น “คนดี” ที่ดูแลเธอได้ นี่มันเสพความดีของตัวเองอยู่(อัตตา) โดยใช้คู่ครองมาเป็นตัวบำบัดความอยากนั้นๆ

และในความซ้อนนี้ก็เหมือนกันกับกรณีทั่วๆไป คือจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศเลอ หรือดีมากเป็นพิเศษ ขอแค่ใครสักคนให้ฉันได้แสดงความสามารถในการเป็นคู่ครองที่ดีก็พอ ดังนั้นคู่ครองคนนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรา จะเป็นใครก็ได้ที่ให้เขาได้แสดงบทพระเอกนางเอก ถึงเขาจะไม่เจอเรา เขาก็ไปจับคู่กับคนอื่นเสพดราม่าในชีวิตอยู่ดี

แม้เขาจะแสดงออกว่าเรานั้น “จำเป็น” ต่อชีวิตเขาเพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจำเป็นกับเขาจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มายืนแทนที่เรา ถึงจะไม่มีเราอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะไปหาคนมาบำเรอกาม บำเรออัตตาของเขาอยู่ดี เรานั้นเป็นเพียงแค่เหยื่อของกิเลสที่หลงไปตามวาทะของคนผู้มัวเมาด้วยตัณหาและอุปาทาน และหลงว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นของจริง

แค่เขาหลงมัวเมาในตัวเองก็โง่งมงายพออยู่แล้ว นี่เราดันหลงไปเชื่อคำของคนที่มัวเมาในกิเลสอีก มันก็โง่มากไปกว่าเขาอีก สุดท้ายก็ชวนกันเมาตัณหาอุปาทาน หลงว่าเป็นของจริง หลงว่าเป็นสุข กลายเป็นสิ่งสนองตัณหาของกันและกัน สร้างเวรสร้างกรรมผูกกันด้วยความหลงว่าสิ่งเหล่านั้นน่าใคร่น่าเสพ มันก็ชวนกันโง่เท่านั้นเอง

ที่หนักกว่าก็คือรู้ทั้งรู้นะว่าเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เขาไม่ได้ซื่อสัตย์มั่นคงขนาดนั้น แต่ก็ไปตกลงปลงใจกับเขา เพราะอยากได้อยากเสพในสิ่งที่เขามีเขาเป็น นี่กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชิงกันเป็นเหยื่อเป็นผู้ล่าสลับกันไปมา เธอมาเสพตัวฉันก็ได้ เพราะฉันก็จะเสพในสิ่งที่เธอมีเหมือนกัน สรุปก็กอดคอลากกันไปนรกด้วยความสวยงามแบบ happy ending ตามที่โลกเข้าใจ (คบหา/แต่งงาน)

จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความรักที่หวังจะครอบครอง ได้ใกล้ชิด ได้เสพสมสู่อะไรกันก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความรักหรอก เป็นแค่ความหลงที่ฉาบทาด้วยนิยามสวยๆ โดยให้ชื่อว่า “ความรัก” เพื่อให้ตนได้เสพอย่างตะกละมูมมามโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่มีใครกล่าวหาว่าผิดจารีตในสังคม

ให้ “ความรัก” เป็นเพียงฉากบังตาที่เอาไว้บังความจริง จากความหลงที่ลวงกันจนมัวเมา ปิดบังกิเลสที่สกปรกโสมมในจิตใจไว้ในนามของความรักเท่านั้นเอง

…เขาอาจจะบอกว่ารักเราจริง แม้เขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง แต่ความรักนั้น…ไม่ใช่ความจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

9.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)