Tag: สัตบุรุษ

พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 605 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น

เป็นไปได้ไหมที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งทางโลกทางธรรม

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 594 views 0

ก็มีคำถามเข้ามาว่า ” เป็นไปได้ไหม ที่จะมีคู่ที่ส่งเสริมกันทั้งในทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรม เพราะเท่าที่อ่านมาดูเหมือนจะยากมากๆ ที่จะมีความรักไปพร้อมกับการมีอิสระทางจิตวิญญาณ

ตอบ : เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคู่แล้วจะเจริญ แต่ความเจริญจะเกิดจากการพบสัตบุรุษ ยิ่งอิสระทางใจยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคู่นี่แหละคือห่วงที่ผูกไว้ให้ขาดอิสระ


คนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นโดยลำดับตั้งแต่จิตอบายภูมิสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้เกิดมาเป็นคนใหม่ ๆ ก็จะไม่มีปัญญานัก ถึงจะมีคู่ ก็จะผิดศีลเป็นปกติ นอกใจ นอกกาย อันนี้เป็นฐานของปุถุชน

เมื่อวนเกิดวนตายเรียนรู้โลกหลายต่อหลายล้านชาติ ได้เรียนธรรมะ จนจิตพัฒนาขึ้นมา เป็นคนดีขึ้นมาได้มากขึ้น ก็จะสามารถพอใจในการมีคู่เดียว ไม่นอกกายนอกใจ ปฏิบัติตนในกรอบของศีล ๕

คนจะต้องวนฝึกอยู่ในด่านนี้กันนาน กว่าจะเรียนรู้ทุกข์โทษภัยของการนอกใจ จนพัฒนาจิตให้มั่นคงในคู่ของตนได้ ต้องใช้เวลานานมาก แต่การพัฒนานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดคำแนะนำของสัตบุรุษ ที่แนะนำไปสู่ความเจริญและการมีศีล อย่างในกรณีของสมชีวิตสูตร(21,55) ก็มีสามีภรรยาสองคนมาถามวิธีที่จะได้เกิดมาพบกันอีกในชาติต่อ ๆ ไป พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ถ้าจะมาเจอกันอีกจะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกัน และท่านยังสอนต่อไปว่าให้หมั่นดูแลภิกษุ สำรวมอยู่โดยธรรม พูดจาด้วยคำที่ดีต่อกัน รักกัน ไม่คิดร้ายต่อกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์อยู่ในเทวโลก

คือกว่าคนจะมาถึงฐานศีล ๕ แบบเต็มใจนี่มันยากแสนยาก ยากแสนสาหัสที่จะไม่นอกกายนอกใจ คือต้องมีคุณธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสใว้ จะต้องพัฒนากันมาช่วงหนึ่งก่อน เป็นเบื้องต้น คือมีผัวเดียวเมียเดียวให้ได้

คนส่วนใหญ่ที่เขาว่ารักพากันเจริญ เขาก็มุ่งเป้าหมายตรงนี้นี่แหละ จะเป็นผู้เสพกามอยู่ในสวรรค์ อยากจะมีสุขเจอกันนาน ๆ เจอกันตลอดไป

จะสรุปเบื้องต้นก่อนว่า คู่นี่พากันเจริญไม่ได้หรอก มีแต่พาเสพกัน เสพกามเสพอัตตา พากันดึงลงต่ำ แต่ความเจริญของคนคู่ จะเกิดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของสัตบุรุษแล้วปฏิบัติตาม จึงจะเจริญได้ ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคู่แล้วพากันเจริญโดยไม่มีสัตบุรุษ เป็นไปไม่ได้

แต่…มันก็เป็นเพียงสถานีแรก คุณธรรมที่สูงกว่ายังมี ศีลที่สูงกว่ายังมี การมีคู่เดียว รักดี มีศีล รักกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ใช่ความเจริญสูงสุดของหลักศาสนาพุทธ แต่ก็ถือว่าเป็นความเจริญในเบื้องต้นที่มนุษย์ควรกระทำ

การแช่หรือจมอยู่ ไม่ใช่ลักษณะที่ดีของผู้ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ การไม่มีอธิศีลหรือการไม่ตั้งจิตที่จะปฏิบัติไปสู่ความเจริญที่สูงกว่านั้น คือรูปรอยของความเสื่อมของชาวพุทธ (หานิสูตร)

แม้สามีภรรยาคู่นั้นจะถามเพียงแค่ทำอย่างไรให้ได้เจอกัน แต่พระพุทธเจ้าก็ได้แถมแผนที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นคือการหมั่นไปพบปะดูแลภิกษุหรือสาวกของพระพุทธเจ้า (พระหรือฆราวาสที่มีอริยะธรรม) ถ้าหมั่นไปพบสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะสอนทางเจริญให้เป็นลำดับ

ซึ่งต่อจากศีล ๕ ก็คือศีล ๘ ทางแยกจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ตรงนี้ เพราะจากศีล ๘ พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นฐานที่ลดการเสพกามารมณ์ รวมถึงการลดความหลงในเรื่องคู่ด้วย

ถ้าจะสรุปเป็นภาพรวมตั้งแต่ต้นสายจนจบ การมีคู่แล้วพากันเจริญเพราะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเก่งก็จะมาส่งแค่หน้าประตูบ้าน ยังมีเส้นทางอีกไกลแสนไกลในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

เมื่อคนเจริญมากขึ้น ก็จะเริ่มละเรื่องคู่ ปฏิบัติตนเป็นโสด จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนก่อนหน้านี้แม้การมีคู่เดียว รักเดียวใจเดียวได้จะเป็นความเจริญ แต่พอพัฒนาจิตต่อไป กลายเป็นว่าการมีคู่นั่นแหละคือความเสื่อม

อันนี้เป็นลำดับของการปฏิบัติธรรม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ควรส่งเสริมการมีคู่ เพราะในความจริงคือมันเป็นบาป ในสำหรับคนในฐานอบายภูมิ คนที่เกิดมาจากเดรัจฉาน การที่เขาสามารถที่จะพัฒนาจิตให้ตนไม่นอกใจคู่ได้นั้น มันเป็นบุญ

แต่บุญเป็นของที่ชำระกิเลสแล้วก็จบงานไป เหมือนทิชชู่เอาไปเช็ดสิ่งสกปรกแล้วก็ต้องทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งสะสม ทีนี้พอเช็ดการนอกใจออกไปแล้วก็จบงานนั้นแล้ว การนอกใจไม่มี ก็มาเห็นคราบสกปรกที่ละเอียดขึ้นคือการหลงในกามารมณ์ ก็ต้องเช็ดออกอีก การทำบุญในรอบที่เจริญขึ้นคือการพรากออกจากคู่

ถ้าเราตั้งเป้าว่าต้องการเป็นอิสระ อยากมีอิสระในชีวิต ต้องการมีอิสระทางจิตวิญญาณ การมีคู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะอาศัยไว้เลย เพราะสุดท้าย การมีคู่นั่นแหละที่จะมัดอิสระเอาไว้ เป็นบ่วง เป็นทุกข์ เป็นลาภเลวที่จะสร้างโทษ ภัย ผลเสียเมื่อได้มาครอบครอง

ศาสนาพุทธนั้น ถ้าจะบอกเป้าหมายให้ถูกตรง หรือตั้งจิตให้ถูกตรง ก็คือการปฏิบัติจนหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหมด ไม่ใช่ตั้งจิตว่าจะไปแช่อยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ หรือไปแช่อยู่ในพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ จะมีประตูเดียวเลยคือบรรลุอรหันต์เป็นเป้าหมาย การตั้งจิตอย่างนี้ถือว่าเป็นการตั้งจิตเพื่อความไม่เสื่อม แต่การตั้งจิตว่าจะไปแช่ ไปพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นแหละคือสัญญาณแห่งความเสื่อม

จะสรุปไว้ว่า คนเราในโลกนั้นมีหลายฐานหลายภูมิธรรม อย่าเอาเสียงส่วนมาก อย่าเอาความเห็นคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไปทางเสื่อมอยู่แล้ว ให้เราเอาใจตัวเองเป็นหลัก เอากำลังตัวเองเป็นหลัก

หลายคนมีปัญญาและกำลังใจพอที่จะก้าวไปสู่ฐานศีล ๘ หรือฐานอื่น ๆ ที่เจริญกว่าศีล ๕ แต่กลับไม่มีผู้ที่พานำไป คือไม่ได้พบสัตบุรุษ ไม่ได้ศึกษาธรรมที่สูงกว่า ก็เกิดมาใช้กรรมไปชาติหนึ่ง ทำกุศลกินใช้ ทนอยู่แล้วตายไปชาติหนึ่ง

เพราะชีวิตจะพัฒนาได้เมื่อศึกษาในธรรมที่สูงขึ้น ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรพยายาม ไม่ให้เสียชาติเกิด ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่ไหว แล้วมันจะร่วง มันต้องถอยเพราะมันทุกข์มาก เขาเหล่านั้นย่อมไม่ถูกติ เพราะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า เจริญกว่า แล้วไม่ทำ ไม่ใส่ใจ อันนี้แหละ คือการประมาท ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง

เพราะพอใจอยู่ในโลกสวรรค์ มีกามารมณ์เป็นสิ่งน่าใคร่น่าพอใจ หลงติดอยู่ในภพนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

จะบอกใบ้เผื่อให้ ว่าจริง ๆ แล้วคนเราไม่มีวันมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เสมอกันไปได้ตลอดหรอก พอถึงจุดเปลี่ยนมันจะมีโอกาสที่คนหนึ่งจะร่วงคนหนึ่งจะรอด การเป็นคู่กันนั้นจริง ๆ มันมีวิบากบาปอยู่ในตัวของมันอยู่ อกุศลกรรมจะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้ดั่งใจ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอกัน นั่นคือสัจจะของความไม่เที่ยงนั่นเอง สุดท้ายสภาพเสมอกันจะตั้งอยู่ได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น และท้ายที่สุดมันก็จะสลายไป เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ดังนั้นไม่ต้องไปตั้งจิตอยากจะเจอใครหรือคบกับใครไปตลอดหรอก เพราะเราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักแน่นอนอยู่แล้ว ตั้งใจทำลายความรักและความหลงจะดีกว่า ผาสุกกว่าเยอะจนเทียบไม่ได้เชียวล่ะ ตั้งแต่อ่านพระไตรปิฎกมา ก็ไม่เห็นพระอรหันต์ท่านไหนกลับไปยินดีในการมีคู่เลยนะ แสดงว่าการมีคู่นี่มันไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ส่วนใหญ่ก็พวกโมฆะบุรุษนั่นแหละ ที่เวียนกลับไปเสพสุขในนรก

ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล

February 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 647 views 0

การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ คลุกอยู่กับคนพาล

การปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นมงคลประการแรกจะเริ่มต้นด้วยการห่างไกลคนพาล

แต่ความเป็นคนพาลนั้นใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย จำเป็นต้องใช้ธรรมะในการจำแนกให้ชัดเจน ยิ่งเรามีธรรมะในใจ ล้างความพาลของตัวเองได้เท่าไหร่ เราจะเห็นพาลข้างนอกได้มากขึ้น คนมีศีล ๕ ก็จะเห็นความพาลของคนไม่มีศีล ๕ คนที่มีศีลสูงกว่า ก็จะเห็นความเห็นผิดของคนที่มีฐานต่ำกว่า คนที่สูงที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งตรัสรู้แรก ๆ เห็นความจริงทั้งหมดเลยว่าโลกนี้ไม่น่าสอนใครเลย คงจะเหนื่อยเปล่า แต่สุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสร้างศาสนา เพื่อสอนคนที่มีกิเลสเบาบาง job description ท่านสอนเท่านี้ ท่านไม่ได้สอนทั้งหมดในโลกนะ ขนาดพระพุทธเจ้ายังห่างไกลคนพาล คบ(สอน)คนที่ตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์เลย (บัณฑิต)

สมัยก่อนผมก็เคยพลาดคบคนพาล แบบพาเที่ยวพาผิดศีล เกเร เกเรียนทั่วไปก็เคยอยู่ แต่แบบนั้นก็ไม่ทำให้โง่หนักหนาเท่ากับไปพลาดคบคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต

คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต จะมาพร้อมกับความฉลาดทางโลก ความฉลาดในการสร้างโลกธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อล่าบริวาร ล่าอำนาจ ล่าทรัพย์ ฯลฯ

ตอนเราศึกษาธรรมใหม่ ๆ เราก็ไม่รู้อะไรมาก หยิบจับอะไรได้ก็อันนั้นแหละ แต่สุดท้ายนั่นแหละ มันเป็นพิษ มันเป็นกับดักที่พวกคนพาลวางไว้ เขาก็สร้างตัวตน สร้างชื่อเสียง ตลอดจนสร้างภาพว่าตนนั้นบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ คือชอบที่จะพยายามสื่อสารกำกวม ๆ แต่จะไม่ยอมให้ตรวจสอบ ถ้าไปถามจะปัดไปปัดมา เข้าถึงยาก พูดจาวกวน ฯลฯ เสียเวลาศึกษาผิด ๆ อยู่หลายปี แต่เสียเวลาอีกหลายปีกับการล้างสัญญาที่เรียนมาผิด ๆ เรียนมาผิดนี่ต้องล้าง เสียเวลา พาสับสนนะ ใช่ว่าดี เป็นสัญญาพาหลง เป็นความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์

ต่อมาก็มาเจอธรรมะสายความรัก วาทะสวยหรู แค่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีรักได้ รักอย่างมีสติก็มีรักได้ มีรักก็พาเจริญได้ โอโห้! โลกสวยขึ้นมาทันที ถูกใจกิเลสยิ่งนัก มิน่าทำไมเขาดังกัน ก็เพราะมันเอื้อให้เสพกิเลสนี่เอง แต่พอมาศึกษาของจริง วาทะที่กล่าวมานี่เป็นภพทั้งนั้นแหละ เป็นข้ออ้างไว้เสพกามเสพอัตตา คือเวลาคนจะเสพตามกิเลสเนี่ย เขาจะมีวิธีคิด มีวิธีพูดให้มันดูดี ให้ดูเท่ ให้ดูข่มคนอื่น ให้ดูหลุดพ้น จะได้เสพได้โดยไม่มีใครด่า ว่า นินทา ติเตียน ก็สร้างวาทกรรมแห่งอธรรมมามอมเมาตัวเองและคนอื่น อันนี้ผมก็หลงอยู่ปีสองปีเหมือนกัน เสียเวลามาก ขยะยังมีประโยชน์กว่า เพราะยังเอาไปรีไซเคิล ทำปุ๋ย ถมทะเลได้ ความเห็นผิดไม่มีค่าอะไรเลย

พวกคนพาลล้ำลึกนี่มันพาฉิบหายได้มาก คือพาให้เกิดความเห็นผิด จิตวิปลาศไปได้เลย เมาอยู่ในโลกนั้นแหละ แล้วหลงด้วยนะว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลิศ สิ่งดีกว่านี้ไม่มี สิ่งดีนี้ดีที่สุด เหมือนกับหนอนที่ยินดีในการจมอยู่ในกองขี้ กินอยู่ในกองขี้ เพื่อนเทวดามาทักให้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า กลับชวนเทวดามากินขี้ด้วยเสียอีก อะไรประมาณนี้

เรื่องแบบนี้มันจะหลุดได้ยาก เพราะจะถูกมอมเมาแบบมืดแปดด้าน วิบากจะบังแบบมิด ๆ เลย แต่ก็พอจะมีช่องที่แสงส่องมาบ้าง คือการถือศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น การหมั่นทำความดี กุศลจะดลให้เจอกับสัตบุรุษ แล้วจะได้ฟังสัจธรรม แล้วนำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ขออย่างเดียวอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว อวดดี อวดรู้ แบบนี้ก็จมอยู่กับกองขี้เหมือนเดิมนั่นแหละ เก่งสุดก็เป็นหนอนในกองขี้ ภูมิใจอยู่กับกองขี้ ยินดีกับชีวิตในกองขี้ ไม่มีทางรู้จักและพัฒนาไปมากกว่านั้นได้เลย

สุดท้ายแล้วความเป็นพาลในตนนี่แหละ คือสิ่งที่จะสกัดกั้นการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะฟังธรรมไปก็เพ่งโทษไป ศึกษาไปก็ข่มคนอื่นไป เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับโมฆะบุรุษในประเด็นที่ว่า เขาเหล่านั้นศึกษาธรรมไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็มีแต่เอาไว้ข่มชาวบ้าน กับเอาไว้กันคนมาติฉินนินทาเท่านั้นเอง

สรุปว่าใครก็ต้องเคยชั่วเคยพาลมาทั้งนั้นแหละ แต่จะพยายามออก พยายามแก้ไขรึเปล่าก็อีกเรื่อง ถ้าพยายามออก พยายามละ ก็เป็นคนดี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว

ขาดแฟนชีวิตเจริญ ขาดมิตรดีชีวิตไม่เจริญ

October 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,738 views 3

ขาดแฟนชีวิตเจริญ

เป็นส่วนเกินไม่มีก็ได้

ขาดมิตรดีชีวีฉิบหาย

เจริญก็ไม่ได้ไม่พ้นโลกีย์

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดแฟน

 

แฟน คู่รัก คู่ครอง ฯลฯ แท้จริงแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีความจำเป็นในชีวิต” ถึงไม่มีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และถ้ามีแล้วนอกจากจะสามารถขวางทางเจริญ ยังสามารถฉุดกันลงนรกได้อีกด้วย กว่าจะถึงวันแต่งงานบำเรอกิเลสกันไปเท่าไหร่ เลี้ยงกิเลสโตกันไปขนาดไหน แม้ว่ามันจะดูน่าใคร่น่าเสพในทางโลกีย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือทุกข์ล้วนๆ

เหตุผลหนึ่งในการหาแฟนหรือคู่ครองที่คนมักจะซ่อนเอาไว้ก็คือ “การสมสู่” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนที่ดีไม่สามารถทำให้กันได้ เพราะการระบายอารมณ์ การให้เป็นที่พึ่ง การปรึกษาปัญหาชีวิต การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่า หรือแม้กระทั่งการง้องอน เพื่อนที่ดีก็สามารถทำหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ได้ครอบคลุมทั้งหมด

แต่การจะให้เหตุผลว่าหาคู่ครองเพื่อมาบำเรอความใคร่ เอามาบำบัดความอยากในกามอารมณ์ มันก็ดูจะตรงเกินไปสักหน่อย คนเราก็เลยโอนคุณสมบัติบางอย่างของเพื่อนเพื่อมาให้น้ำหนักทางฝั่งแฟน ลดความสัมพันธ์ของเพื่อนมาเพิ่มคุณค่าให้กับแฟน สร้างระยะว่านี่เพื่อน นี่แฟน เพื่อนได้แค่เท่านี้ แฟนต้องขนาดนี้ และเว้นอาณาเขตพิเศษไว้ให้แฟน จึงกลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการหาแฟนหรือคู่ครองในที่สุด(สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นนี้ได้โดยถือศีลการเว้นการสมสู่ตลอดชีวิต แล้วจะเห็นพลังของกิเลสว่ามีจริง)

เหตุผลอีกข้อก็คือ หลงผิดว่ามนุษย์ต้องมีคู่ ต้องแต่งงาน ต้องสืบพันธุ์ การมีคู่เป็นคุณค่า เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ฯลฯและยังมีเหตุผลยิบย่อยอีกมากมายเช่น อยากมีไว้แก้เหงา, อยากมีคนเอาใจ, อยาก…ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดมิตรดี

หากว่าชีวิตของเรานั้นไม่มีมิตรดี ไม่ได้คบหาหรือรู้จักคนที่ปฏิบัติดี จะไม่มีทางที่ชีวิตจะไปสู่ความเจริญได้เลย แม้จะเจริญไปได้ ก็หนีไม่พ้นวิถีโลก ไม่พ้นโลกีย์ วนเวียนอยู่ในโลกีย์ แม้จะมีธรรมะก็เป็นธรรมะในขั้นโลกีย์ เป็นคนดีแบบที่โลกเขาสมมุติเอา แม้จะได้รับการเชิดชูเป็นศาสดา ก็เป็นเพียงศาสดาโลกีย์ ทำความดีในวิสัยของโลกีย์ วนอยู่เพียงเท่านั้น

วิถีโลกีย์คือความวน ไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็วนลงไปต่ำสุด ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นความวนได้เพราะมีกิเลสเป็นเหตุ ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะฉลาดหรือโง่ จะทำดีหรือทำชั่ว ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่มีวันที่จะปฏิบัติสู่การหลุดพ้นจากความเวียนวนนี้ไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ก่อนจะเห็นมรรคได้นั้น ต้องมีมิตรดีเป็นอันดับแรก ถ้าเปรียบมรรคดังดวงตะวัน มิตรดีก็เป็นดังแสงแรกที่จะเห็นเมื่อตะวันนั้นกำลังจะโผล่ขึ้นมา นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่ต้องปฏิบัติมรรคเลย เพราะผิดแน่นอน ปฏิบัติไปก็ผิด เรียนไปก็ผิด ทำอะไรก็ผิด

ย้ำลงไปอีกในอวิชชาสูตร ท่านได้กล่าวว่าคนจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษหรือมิตรดีที่พาเจริญ มิตรดีในที่นี้คือผู้ที่รู้ธรรม รู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ แล้วเรียนรู้จากสัตบุรุษเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ เพราะความรู้ของศาสนาพุทธนั้นคิดเอาเอง อ่านเอาเอง ปฏิบัติเอาเองไม่ได้ ถึงจะ คิด อ่าน หรือขยันปฏิบัติแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีภูมิเก่าก็จะมีแต่หลงเท่านั้น บางครั้งหลงไปด้วยว่าตนมีภูมิ หลงซ้ำซ้อนกันไปอีกหลายชั้น หลงถึงขั้นสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ก็มี

สรุปคือ ถ้าชีวิตไม่เจอมิตรดี ไปเจอมิตรลวง หรือเจอกับมิตรหลง นอกจากจะไม่มีวันพ้นทุกข์แล้ว ยังเพิ่มความหลงในโลกีย์ซ้อนเข้าไปอีก สร้างทุกข์หนักเข้าไปอีก ในทางกลับกันถ้าเจอมิตรดี หมั่นเข้าหา สนทนา ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับ

ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าคนไหนมิตรดี คนไหนที่ควรคบ ก็ให้ดูที่ศีล พระพุทธเจ้าตรัสศีลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ย่อมจะไม่ทิ้งศีล อาศัยศีลเป็นเครื่องนำความเจริญ ไม่ถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่ก็จะไม่ถือศีลอย่างลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ ทำทีเล่นทีจริง โดยจะสามารถเข้าถึงศีลได้ตามบารมี ๕ ๘ ๑๐ จนถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)