Tag: สติสัมปชัญญะ

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,395 views 0

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี

ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก

ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน

การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์

เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด

หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ

ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่

การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด

ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส

ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น

คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน

ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี

การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ

ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้

ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน

ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา

จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี

ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว

ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ

สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,575 views 0

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่

การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท

มาเริ่มกันเลย…

เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น

เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗

(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)

สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้

กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา

เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป

ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้

…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส

(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)

การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้

ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้

(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)

คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง

เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป

(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)

หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน

… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน

(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม

(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป

… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง

(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)

เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก

… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร

ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง

การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย

อานิสงส์ของศีล๙

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้

1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์

4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์

5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์

6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์

7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน

8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน

9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว

สภาวะของนิพพาน๗

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้

ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้

ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้

ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก

เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน

ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน

ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย

…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา

ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้

การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี

การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์