Tag: ศีล

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

August 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,499 views 0

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

การฆ่าสัตว์นั้น ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกพุทธ เพราะความเป็นพุทธจะเริ่มต้นที่การตั้งใจมั่นว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่การไม่ไปฆ่าด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่สนับสนุนให้ใครฆ่า ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่า แนะนำให้ผู้อื่นเว้นขาดจากการฆ่า และยินดีชื่นชมในการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส

ผู้ที่ตั้งใจฆ่าสัตว์นั้น คือผู้ตั้งใจที่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ ฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ ฆ่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชาวพุทธจะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนไม่มีศีล ซึ่งการไม่มีศีลนั้นก็คือไม่มีปัญญา ไม่รู้คุณค่าของการมีศีลและโทษชั่วของการผิดศีล เมื่อไม่มีศีล หิริโอตตัปปะย่อมไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ ผู้ที่ทำผิดศีลฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำจึงเป็นผู้อยู่นอกพุทธ เป็นคนต่ำ เป็นคนชั่ว เป็นผู้เบียดเบียนอยู่นั่นเอง

เมื่อเราได้ยินข่าวว่าธุรกิจนั้นโกงหรือเอาเปรียบ เราก็มักจะร่วมกันคว่ำบาตร ไม่สนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ เรียกว่าถ้ารู้ว่าเขาชั่ว หรือแม้แต่เขาไม่ได้ชั่วเอง แต่ไปสนับสนุนคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว เราก็ไม่อยากจะคบหากับเขาแล้ว แม้จะเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เราเคยใช้ เคยชอบ เราก็พร้อมจะเลิกซื้อ เลิกคบค้ากับธุรกิจนั้น ๆ เพราะไม่อยากคบหาหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าชั่ว

นั่นเพราะเรามีความรู้สึกผิดและมีความเกรงตัวต่อบาปในระดับที่แตกต่างกัน เขาทำชั่ว แต่เราไม่ไปชั่วกับเขา อันนี้แสดงว่าเรามีปัญญารู้สิ่งดีสิ่งชั่วและพยายามออกจากสิ่งชั่วนั้น

กลับมาที่ประเด็นหลัก นั่นคือเรื่องของการซื้อเนื้อสัตว์มากิน น่าแปลกที่คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ มาจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบที่โหดร้ายทารุณ ไปจนถึงการฆ่าที่เรียกได้ว่าถ้าเห็นแล้วคงจะทำให้หดหู่ใจกันเลยทีเดียว

ทำไมคนเราถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งที่รู้ว่าเขากักขังทรมานมันมา ฉุดกระชากลากมันมา ทำร้ายและฆ่ามันมา คนที่เขาฆ่านี่เขาก็ไม่มีศีล ผิดศีลขั้นต่ำหมดทุกข้อ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ขโมยเนื้อที่เขาไม่ได้ให้ เสพกาม(กินเนื้อสัตว์)ที่เขาไม่อนุญาต โกหกว่าเป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ มัวเมาว่าสัตว์นั้นเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสิ่งสมควรถูกกิน เป็นการอาชีพที่เสียสละ ฯลฯ ถึงเขาจะเห็นผิดและทำชั่วได้ขนาดนี้ คนส่วนมากก็ยังคบค้าสมาคมกับเขาอยู่

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐ “อหิริกมูลกสูตร” มีคำตอบที่พระพุทธได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ผู้ที่ “ไม่มีหิริ”, “ไม่มีโอตตัปปะ”, “มีปัญญาทราม” ย่อมคบค้าสมาคมกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามา เพราะคนเหล่านั้นมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับคนที่ฆ่าสัตว์นั้นเอง

คนที่เขาฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทราม เมื่อเขาคบค้าสมาคมกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ ย่อมมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกัน จึงได้คบค้าสมาคมกัน และผู้ที่ค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะขายส่ง ขายปลีก หรือทำอาหารขายเป็นจาน ๆ ย่อมคบค้าสมาคมกับผู้ซื้อ นั่นหมายถึงผู้ที่ซื้อเนื้อสัตว์กินก็ย่อมมี หิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์และผู้ที่ฆ่าสัตว์นั้นเช่นกัน

ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “วณิชชสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) การค้าขายเนื้อสัตว์และการค้าขายชีวิตสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ผู้ที่กระทำอยู่นั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญ ไม่ทำให้เกิดกุศล ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปค้าขายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สมควร

จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจใด ๆ นั้นไม่เหมาะสม เราก็เลิกคบ เลิกสนับสนุน เพราะเรามีปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งชั่ว เราเลยตีตัวออกห่าง แต่ที่เราไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กิน เพราะข้างในจิตใจของเรานั้นยังคิดว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ยังเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน นั่นเพราะเรามีหิริโอตตัปปะและปัญญาเสมอกันกับคนที่ฆ่าสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีเผยแพร่อยู่ในคำสอนของอาจารย์ส่วนมากในปัจจุบัน แต่หลักฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีในพระไตรปิฎกนั้น ก็มีมากพอให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง สิ่งใดเป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หิริโอตตัปปะนั้นจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อมีศีล ศีลคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความผาสุกในชีวิต

เมื่อเราศึกษาศีลจนเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณค่าของศีลนั้น เราจะแบ่งปันประโยชน์ของศีลนั้นให้กับผู้อื่น แนะนำให้ผู้อื่นมีศีล เราจะสรรเสริญผู้มีศีล คบหาผู้ที่มีศีล ห่างไกลคนที่ไม่มีศีล เว้นแต่จะเอื้อประโยชน์แก่เขาเป็นกรณี ๆ เมื่อมีศีล หิริ โอตตัปปะจึงเจริญได้ เมื่อมีศีล ก็จะย่อมมีปัญญา เมื่อนั้นก็จะเห็นได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ยิ่งสังคมนั้นมีความเจริญในด้านศีลธรรมมากเท่าไหร่ การกินเนื้อสัตว์ก็จะลดลงไปมากเท่านั้น จากคำกล่าวที่ได้อ้างอิงมา จะเข้าใจได้เลยว่า ยากนักที่ชาวพุทธผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ จะคบค้าสมาคมกับคนไม่มีศีล นั่นเพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนมีหิริโอตตัปปะและมีปัญญา จะไปคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทรามได้

28.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

August 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,727 views 0

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

คำว่า “ทางสายกลาง” เป็นคำที่คนมักจะยกกันขึ้นมาพูด เมื่อต้องการแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ตนเองรู้สึกว่า ตึงหรือหย่อนเกินไป

ทางสายกลาง เป็นคำที่มักจะได้ยินกันโดยทั่วไป ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงคนเคร่งศาสนาเลยก็ว่าได้ เมื่อมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันยกคำว่า “ทางสายกลาง” ขึ้นมาพูด แล้วจริงๆ ทางสายกลางนี่มันคือตรงไหน? มันเป็นอย่างไร? ในเมื่อจุดยืนของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนไม่นับถือศาสนาเขาก็พูดถึงทางสายกลาง คนเคร่งศาสนาก็พูดถึงทางสายกลาง แล้วมุมมองที่เขามองเห็นทางสายกลางนั้นจะเป็นทางเดียวกันจริงหรือ?

ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ แล้ว ทางสายกลางนั้นคือวิถีปฏิบัติของพุทธ ไม่ใช่เพียงแค่มุมมอง แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้ เพราะบางทีมุมที่มองนั้น ก็มองออกมาจากมุมของตัวเอง มุมที่ตนเองพอใจ สบายใจ กลายเป็นทางสายกลางของฉัน ฉันก็กลางของฉัน ฉันก็พ้นทุกข์ของฉัน กลางของเราไม่เหมือนกัน แบบนี้มันก็เลยกลางเป็น “ทางสายกู” เป็นมาตรฐานกู เอาตามใจกู ซึ่งก็คือ “อัตตา” นั่นเอง

คนเราจะสร้างภาพให้ดูดี ยกธรรมะให้ดูขลังแค่ไหน สร้างบริวารมากมายเท่าไหร่ หรือมีคนเคารพศรัทธาสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอา “ทางสายกู” มาเป็นมาตรฐานของพุทธได้ เพราะทางสายกูนี่มันรู้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย ว่าตกลงหลุดพ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ยกวาทกรรมที่ดูดีขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ได้เสพสมใจโดยไม่มีคนกล้าติติง

ศาสนาพุทธนั้นมีมาตรฐานอยู่แล้วโดยลำดับ ตั้งแต่ ศีล ๕ ๘ ๑๐ จนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลและพระวินัยอีกกว่า ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อ ที่เป็นส่วนของนักบวช ซึ่งจะรู้กันดีว่า ศีล ๑๐ นั้นสูงกว่าศีล ๘ และศีล ๘ นั้นสูงกว่าศีล ๕ ไปตามลำดับ

ผู้ที่เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริงในเบื้องต้น จะมีศีล ๕ เป็นปกติทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาขึ้นไปอีกเป็นมีศีล ๘ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องคอยตั้งสติ เพราะมันไม่มีเหตุคือกิเลสเกิดขึ้นมาให้ศีลขาด ความเป็นปกติของผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นเช่นนี้ นี่คือทางสายกลางในระดับของศีล ๘

แต่แน่นอนว่าศีล ๘ ก็ยังไม่ใช่กลางที่สุดของศาสนาพุทธ แต่ก็มีส่วนที่กลางแล้ว ถูกต้องแล้ว พัฒนามาโดยลำดับ และศึกษาต่อไปจนมีศีลหรือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกข้อได้โดยไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานตน เพราะรู้ดีในตนว่า ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ดีที่สุด รู้ว่าการปฏิบัติตามศีลนี้เป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยความสุข โภคทรัพย์ วรรณะ และเป็นประตูสู่การเข้าถึงนิพพาน มาตรฐานทางสายกลางของพุทธจึงวัดในเบื้องต้น สังเกตได้ในเบื้องต้นด้วยศีล ถ้ามีศีลแล้วชีวิตมันทุกข์ มันลำบาก ยังไม่เห็นดีเห็นควรตามศีลนั้นๆ ยังมีข้อขัดแย้งที่เป็นไปในทางอกุศล แสดงว่ามันยังไม่กลาง มันยังจมกิเลสอยู่ ยังโดนกิเลสดึงไว้อยู่ ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาถือศีลเพื่อศึกษาและปฏิบัติได้

นี่คือมาตรฐานที่รู้กัน เข้าใจกัน มองเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ในพุทธบริษัทว่านี่แหละ คือมาตรฐานร่วมที่จะใช้บ่งบอกว่าสิ่งใดที่เป็นลักษณะของความเจริญ เป็นไปเพื่อกุศล ยับยั้งอกุศล ก็คงจะมีแต่ศีลนี่แหละที่พอจะเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะสภาวะที่ลึกๆ หลังจากนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งคนที่ต่ำกว่าจะไม่เข้าใจคนที่สูงกว่า ซึ่งบางคนก็ถือโอกาสมั่วนิ่ม โมเมว่าตนเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์ซะเลย จะได้ไม่มีใครกล้าตำหนิหรือกล้าแย้ง หรือในพวกคนที่หลงผิดด้วยใจซื่อๆ ว่าตนเองบรรลุธรรมก็มี พอไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบสภาวธรรมกันจริงๆ ก็เลยมีอรหันต์เก๊ พระอริเยอะกันเต็มบ้านเต็มเมือง

ศีลนี้เองจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใดที่เจริญแล้ว อยากตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองเอาศีล ๕ ไปปฏิบัติดู ถ้าไหวก็ ๘, ๑๐ ต่อไปจนถึงพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ทำหมดนั่นแหละ ถ้าอยู่บนทางสายกลางจริง มันจะไม่มีทุกข์เลย มันจะมีปัญญาเห็นตามด้วยว่า “อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีอย่างนี้นี่เอง ทำแล้วมันดีแบบนี้นี่เอง” จะมีความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ และถ้ามีความเห็นถูกตรงในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ มันจะไม่ตีกลับ ไม่เบือนหน้าหนีสิ่งดีงามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะพยายามปฏิบัติตนเองให้พัฒนาจนเข้าถึงธรรมนั้นๆ มันจะไม่หาช่องไว้เสพสุข ไม่หาจุดบอด ไม่เบี้ยวบาลี มีแต่จะทำไปเพื่อเป็นกุศลอย่างเดียว ถ้าจะปรับก็ปรับเพื่อกุศลมากกว่า อนุโลมในบางกรณีที่เกิดประโยชน์มากกว่าเท่านั้น

ผู้ที่อยู่ในทางสายกลางอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีวันเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ส่วนพระเสขะอื่นๆ ท่านก็เอียงไปในส่วนที่ท่านยังหลงอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นก็รู้แล้วว่าตรงไหนที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” ไม่ใช่เอา “ทางสายกู” ขึ้นมาอ้าง เหมือนกับคนที่หลงทางในทางธรรม…

14.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,814 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทความมังสวิรัติต่อจากนี้

December 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,112 views 0

ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนบทความชี้โทษของการกินเนื้อสัตว์และบอกประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ประยุกต์เข้ากับคำสอนของศาสนาพุทธ มาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ

บทความก่อนๆหน้านี้ สำหรับผมเรียกว่าบทความเรียกน้ำย่อยแล้วกัน เพราะโดยมากจะใช้ภาษาที่ปรับให้เบา เกลาธรรมให้ง่าย สะกิดกิเลสกันพอประมาณ ไม่รุนแรงมาก

แต่หลังจากตอนนี้ผมคิดว่า จะเพิ่มน้ำหนักแล้วนะครับ เพราะกิเลสสมัยนี้มันหนา ถ้าผมไม่ลงแรงมากขึ้นก็จะขูดกันไม่ออกครับ

อย่างบทความล่าสุด “การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า” ก็เริ่มๆจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแล้วครับ และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมจะประมาณดูอีกทีครับ

ในมุมของผู้ปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นการเบียดเบียนแบบที่เห็นกันชัดๆเลยนะ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของสิ่งนี้ แล้วศีลในระดับที่ยากกว่าเช่น การกินมื้อเดียว, การประพฤติตนเป็นโสด, การพอเพียง นี่จะเข้าใจได้อย่างไร มันต้องใช้ปัญญามากกว่านั้นในการเข้าถึงคุณของสิ่งเหล่านั้นนะ

นี่แค่เรื่องตื้นๆยังไม่เห็นโทษกัน ไม่ต้องคุยกันเรื่องยากกว่านี้หรอก เพราะที่เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเบียดเบียนกันฆ่ากัน ยังไม่รุ้ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วที่ยากกว่านี้มันจะเข้าใจได้อย่างไร มันก็ถือปฏิบัติกันเอาเท่ๆ เท่านั้นแหละ

เรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่ๆ ถือปฏิบัติให้มันดูเท่ๆ น่าเคารพ (สีลัพพตุปาทาน) แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษ

เพราะถ้ามีปัญญาจริงมันต้องเห็นโทษตั้งแต่เรื่องตื้นๆอย่างการไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว

พุทธในไทยไม่ค่อยมีลำดับ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อยู่ๆก็ไปอยู่กลางมหาสมุทรเลย แต่เรื่องตื้นๆกลับไม่รู้ …มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่นะ ลองตรวจสอบตัวเองกันให้ดี