Tag: ปฏิบัติธรรม

ปฏิบัติธรรมที่ไหนดี?

November 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,242 views 0

ปฏิบัติที่กิเลสสิดี
ถ้าไม่เอาธรรมะไปปฏิบัติต่อกิเลส
แล้วจะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร?

กิเลสมีตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น
มีกิเลสเรื่องไหนก็ปฏิบัติเรื่องนั้น
ให้มันถูกตัวถูกตนของกิเลส

ปฏิบัติธรรมไม่เห็นตัวตนของกิเลส
ก็เหมือนคนตาบอดถือปืนเดินเข้าป่าหมายจะล่าสัตว์
ได้ยินเสียงอะไรขยับก็ยิงออกไป
ในทิศทางที่เดาเอาเองว่าใช่
พอเสียงนั้นเงียบไป จึงเข้าใจว่าสัตว์นั้นตาย
ก็หลงดีใจว่าเรานี่เป็นผู้ล่า เราชนะสัตว์นั้นแล้ว

แต่สัตว์นั้นคืออะไรไม่รู้…
ยิงไปทางไหนก็ไม่รู้…
แล้วกำลังอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้…
ว่าแล้วก็หลงป่าไปในที่สุด….

กิเลสจะถูกเห็นได้ก็ต่อเมื่อมีศีล
และจะชัดยิ่งขึ้นเมื่อเพิ่มอธิศีล
หากคนไม่มีอธิศีล สักแต่ว่าถือศีล
ก็จะเสื่อมจากความเจริญในที่สุด

การปฏิบัติธรรมที่ไม่มีศีล
ย่อมไม่มีมรรคผลใดๆเกิดขึ้น
เหมือนนักปฏิบัติธรรมตาบอด
แต่หมายจะไล่ล่าทำลายกิเลส
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้แต่จะจินตนาการ…

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,557 views 0

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑

มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน

เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” แปลและเข้าใจกันโดยทั่วไปแค่เพียงว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ” มันจะไม่ตรงเสียทีเดียว มันจะแฉลบออกไปได้ เลี่ยงบาลีไปได้ ไม่ครบเงื่อนไของค์ประกอบของการฆ่าเพราะไม่ได้ฆ่าเอง และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่า ซึ่งทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถเข้าใจว่าไม่ผิดศีล และจะกลายเป็นว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ตีความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ถ้าศึกษาไตรสิกขา ปฏิบัติอธิศีลไปเรื่อยๆจะพบว่า อธิศีลของศีลข้อ ๑ นั้นครอบคลุมทุกองค์ประกอบอยู่แล้ว การอธิศีลนั้นคือการศึกษาศีลให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป ตั้งแต่ ๕ ๘ ๑๐ ส่วนนักบวชเริ่มต้นที่จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งฆราวาสเองก็สามารถถือเอาศีลสามหมวดนี้มาปฏิบัติได้ตามบารมี

ศีลข้อ ๑ ในจุลศีล : ดูกรพราหมณ์ อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรามีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.

คำถามก็คือ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น มีความเกื้อกูลและมีความกรุณาต่อใคร? เอ็นดูสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ? หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงยังไง? การมีความเห็นเช่นนั้นเป็นความละอายต่อบาปจริงหรือ? การฆ่านั้นมีประโยชน์กับสัตว์เหล่านั้นหรือ? ถึงยังคงให้การสนับสนุนอยู่ ในเมื่อการเข่นฆ่านั้นมีแต่ทุกข์และอกุศลกรรมจะบอกว่าศีลข้อนี้ไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธก็ไม่ใช่ เพราะเวลาพระพุทธเจ้าบวชให้ใครท่านก็ให้ถือเอาจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลเป็นข้อปฏิบัติ หลักฐานนี้พบเห็นได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก

และแม้จะเป็นศีล ๕ ที่แปลและเข้าใจกันแค่เพียงว่า “ไม่ฆ่าสัตว์นั้น” หากศึกษาในสาระของศีลข้อนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้จิตเมตตาขึ้น ไม่ใช่แค่ถือไว้เฉยๆแล้วจิตไม่พัฒนาอะไรเลย นั่นคือไม่มีอธิศีล แต่ผู้มีอธิศีลแม้ตนเองจะเริ่มจากฐานศีล ๕ ก็จะพัฒนาความเมตตาขึ้นไปเรื่อยๆ จากไม่ฆ่า พัฒนาเป็นไม่เบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นไม่มีส่วนเบียดเบียน พัฒนาต่อเป็นมีความเกื้อกูล เมตตากรุณาต่อกัน คือนอกจากไม่ฆ่า ไม่รบกวน แล้วยังต้องช่วยเหลืออีก เรียกว่าถ้าศึกษาให้ถูกต้องจะพบว่าศีลจะเป็นตัวนำให้หยุดชั่วทำดีได้เอง ปิดนรกเปิดสวรรค์ได้เองตามระดับอธิศีลที่ได้ศึกษา

ทีนี้คนที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง จะไม่สามารถยกระดับของตัวเองไปถึงจุลศีลได้ ก็มักจะยกเอาหลักฐานที่เอื้อกับความเห็นตนมา ก็สามารถทำให้ตีเนียนกินเนื้อไปได้ เพราะภาษาที่แปลมามันไม่มีข้อห้ามหรือคำผิดตรงๆ ศีล 5 เขาก็แปลกันแค่นั้นจริงๆ มันก็เลยปฏิบัติกันอยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วมันมีความลึกและมีมิติอยู่มากมาย

นี่คือความเสื่อมของชาวพุทธอย่างแท้จริงเพราะความไม่ศึกษาในอธิศีล จมอยู่กับศีล ๕ เท่าที่รู้หรือต่ำกว่านั้น และยึดเอาความเสื่อมนั้นเป็นหลักชัย ว่าฉันจะทำดีเท่านี้ ฉันดีได้แค่นี้ เรียกว่าปิดประตูสู่ความเจริญของตนในทันที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการไม่ศึกษาในอธิศีลเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เมื่อไม่ศึกษาอธิศีลก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ก็เลยมีการถกเถียงกันมากในประเด็นของศีลข้อ ๑ ทั้งผู้ที่ปฏิบัติธรรมและผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม

เมื่ออธิศีลเสื่อมไป ไตรสิกขาจึงไม่มี ก็ไปศึกษาแยกกัน จิตบ้าง ปัญญาบ้าง ถือเอาจิตเป็นที่สุดบ้าง ถือเอาปัญญาเป็นที่สุดบ้าง เข้ารกเข้าพงกันไปหมด เมื่อไม่ครบองค์ประกอบของไตรสิกขา ไม่รู้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของศีล สมาธิ ปัญญาว่าเกื้อกูลกันอย่างไร ปฏิบัติร่วมกันไปอย่างไร จิตและปัญญาเหล่านั้นจึงเป็นไปโดยมิจฉา เมื่อไม่มีไตรสิกขาก็ไม่เกิดมรรค เมื่อไม่มีมรรคก็ไม่มีการผลในรู้แจ้งเห็นจริง สุดท้ายจึงปฏิบัติธรรมแบบคิดเอา เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง เป็นมิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ แล้วก็เมามิจฉาทิฏฐิของตนอยู่เช่นนั้น

การยกธรรมะมากล่าวอ้างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประมาณให้ดี เพราะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ผิด เอามาตีกิน เอามาเพิ่มกิเลส เอามาเบียดเบียน ทำให้หลงงมงายทั้งตนเองและผู้อื่น ก็จะสร้างทุกข์ครอบขังให้ตัวเองหลงงมงายกับธรรมที่มิจฉา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรม ทำให้ต้องวนเวียนหลงไปกับโลกชั่วกัปชั่วกัลป์

ดังนั้นจากจุลศีล ซึ่งเป็นความเจริญที่สุดของศีลในศาสนาพุทธ ที่บุคคลพึงปฏิบัติ จะเห็นได้ว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นมีความขัดแย้งในเนื้อหาอย่างชัดเจน ไม่เข้ากับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นจึงไม่ควร ผู้ศึกษาและปฏิบัติสู่ความผาสุกจึงควรละเว้นเหตุแห่งอกุศลเหล่านั้นเสีย

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

September 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,408 views 0


การปฏิบัติธรรม ตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

ในวีดีโอที่แนบมานั้น เป็นเรื่องราวของกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่านเส้นทางของฝูงมด เป็นความบังเอิญตามธรรมชาติที่ไม่ได้จัดฉากหรือบังคับชีวิตใด ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

เราจะเห็นได้ว่าเมื่อกิ้งกือกระสุนถูกมดรังควาน มันก็จะม้วนตัวมันให้กลม มีเปลือกเป็นเกราะ ทำให้มดไม่สามารถเข้ามากัดได้ แต่นั่นอาจจะหมายถึงมดตัวเล็ก ถ้ามดตัวใหญ่นั้นเดินผ่านมาและสนใจกิ้งกือกระสุนล่ะ มันจะทำอย่างไร? มดตัวใหญ่นั้นสามารถกัดถุงพลาสติกเหนียวๆให้ขาดได้ ถ้ามันเข้ามารุมกัดกิ้งกือกระสุนล่ะ จะเป็นอย่างไร?

กลับมาที่เรื่องการปฏิบัติธรรม…

ถ้าฝูงมดคือสิ่งที่จะเข้ามากระตุ้นกิเลส และกิ้งกือกระสุนคือตัวเรา เมื่อเราได้กระทบกับสิ่งกระตุ้นกิเลส เราก็สามารถใช้ความอดทน ใช้สติ ใช้กำลังของจิตกดข่มอาการได้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ที่จะต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรด้วยกำลังเท่าที่ตนมี

แต่ถ้ามีการกระตุ้นกิเลสที่มากขึ้นล่ะ ถ้ามีมดตัวใหญ่เข้ามา กิ้งกือกระสุนตัวนั้นจะทำอย่างไร มันก็คงจะถูกมดยักษ์ค่อยๆกัดจนตาย เพราะไม่สามารถต้านทานพลังของมดได้ เช่นเดียวกับที่คนส่วนมากไม่สามารถต้านทานพลังของการยั่วกิเลสที่มีพลังเกินกว่าสติของตนได้

เราอาจจะสามารถฝึกจิตให้แข็งแกร่งได้ ให้มีสติรู้เท่าทันกิเลสได้ เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่พัฒนาตัวเองให้โตขึ้นและมีเปลือกที่หนาขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามวิถีของโลก ซึ่งนักปฏิบัติธรรมสำนักไหน ศาสนาใดก็สามารถทำได้ ซึ่งถ้ายกฤๅษีขึ้นมาก็จะเห็นภาพได้ชัด

ฤๅษีนั้นสงบนิ่ง เว้นขาดจากการบริโภคกาม น่าเคารพ น่าเลื่อมใส เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่สามารถป้องกันมดกัดได้อย่างสมบูรณ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการป้องกันและไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในโลกนี้

หลักการปฏิบัติของพุทธนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ป้องกันเท่านั้น ในทางจิตนั้นพุทธก็จะมุ่งพัฒนา แต่จะต่างกันตรงที่มีเป้าหมายคือการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

การหลุดพ้นของพุทธไม่ใช่การปล่อยให้กิเลสเข้ามาและยอมรับมัน ไม่ใช่กิ้งกือกระสุนที่เดินฝ่าดงมด และปล่อยให้ตนโดนมดกันโดยทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ใช่เพียงแค่มีความสามารถอดทนและปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่ผู้ที่ทำเหมือนปล่อยวางแต่ตัวยังจมอยู่กับกิเลส

การหลุดพ้นของพุทธนั้นคือหลุดพ้นจากกิเลส ลองนึกภาพกิ้งกือกระสุนที่เดินผ่าดงมด แต่มดไม่สนใจ เหมือนอยู่กันคนละมิติ ถึงจะเดินไปบนเส้นทางเดียวกันแต่ก็จะเดินผ่านกันไปโดยที่ไม่แตะต้องกัน ถึงจะเผลอไปแตะต้องแต่ก็ไม่ไปเกี่ยวกัน ไม่เป็นของกันและกัน นั่นเพราะผู้ที่ล้างกิเลสจนหมดตัวหมดตน การยั่วกิเลสใดๆย่อมไม่สามารถทำให้ผู้ที่หลุดพ้นไปข้องเกี่ยวได้

ดังนั้นการผลการปฏิบัติธรรมแบบพุทธจึงเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก รู้ได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติได้จริง เดาเอาก็ไม่ได้ คิดคำนวณยังไงก็ไม่มีวันถูก แม้มันจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถใช้ตรรกะใดๆมาอธิบายได้

จะเป็นไปได้อย่างไรที่กิ้งกือกระสุนจะเดินอยู่บนเส้นทางของฝูงมดที่หิวโหยโดยไม่โดนมดรุมทึ้ง อย่างเก่งก็แค่ม้วนตัวขดเป็นก้อนกลม ป้องกันมดกัด หรือรอเวลาที่มดเดินไปจนหมด ไม่มีทางหรอกที่จะเดินไปพร้อมๆกับมดโดยที่มดไม่กัด ธรรมชาติของมดย่อมกัดเป็นธรรมดา นั่นหมายถึงมันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาตินั่นเอง

การที่เราจะสามารถต้านทานกิเลสด้วยกำลังของจิตนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรศึกษาและปฏิบัติให้มีผลยิ่งขึ้น แต่การจะรู้และมั่นใจว่ากิเลสจะไม่สามารถทำอะไรเราได้อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่าหลุดพ้นจากกิเลสนั้น คือสภาพที่สามารถปล่อยให้ผัสสะเข้ามากระทบได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย ไม่ต้องอดทน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่ม แม้จะปล่อยให้สิ่งที่เคยติดเคยยึด เคยชอบเคยชังเข้ามากระทบอีกสักเท่าไหร่ก็ไม่มีผล แม้ไม่มีการป้องกันใดๆเลยก็ไม่มีผล แม้จะปล่อยให้เข้ามาปะทะโดยไม่เตรียมตัวเตรียมใจใดๆก็ไม่มีผล

นั่นเพราะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลในจิตใจอีกต่อไป เมื่อไม่มีกิเลส แม้จะมีผัสสะก็ไม่มีผลอะไร เหมือนกับกิ้งกือกระสุนที่แม้จะมีฝูงมดอยู่ตรงหน้าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ต่างกับคนที่มีกิเลส เมื่อหลงเข้าไปในฝูงมดย่อมจะต้องป้องกัน หากไม่ป้องกันก็ต้องเจ็บปวด ทุกข์ทรมานจากความอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งกระตุ้นและยั่วยวนกิเลสเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่บารมี

July 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,271 views 0

คู่บารมี

คู่บารมี

คนที่จะมาเป็นคู่บุญคู่บารมีจริงๆแล้วสังเกตได้ไม่ยาก เพียงแค่ถือศีลตั้งตบะ ปฏิบัติธรรมให้แกร่งกล้า ถ้าเขาคนนั้นเป็นของจริง เขาก็จะตามมาได้เอง

ในกรณีตัวอย่างของพระนางยโสธรา ซึ่งละทิ้งการประดับแต่งตัว เปลี่ยนมานอนพื้นที่แข็ง กินมื้อเดียว เป็นต้น ซึ่งเป็นบารมีเก่าที่ท่านสะสมมามาก

ส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่อยากจะถือศีลปฏิบัติธรรมกัน มักจะพากันให้เสื่อมจากศีล พากันไปชั่ว จึงไม่สามารถวัดได้จริงว่าคนที่หมายปองนั้นเป็นคู่บุญคู่บารมีหรือไม่ เพราะโดยมากก็ลากกันลงนรก พากันมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เป็นคู่เวรคู่กรรมกันเสียมากกว่า

ถ้าอยากลองทดสอบกันจริงๆ ก็ให้ถือศีลให้มั่น ตั้งตบะให้สูงเท่าที่จะทำได้ เลิกกินเนื้อสัตว์ กินมื้อเดียว เว้นจากการสมสู่ ไม่รับบุตรและภรรยา(สามี) คือไม่คบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานเลยก็ยิ่งดี เป็นศีลระดับสูงที่จะมาคัดว่าคนนั้นของจริงหรือไม่ ถ้าเป็นพวกคู่บาปคู่เวรนี่เจอศีลนิดหน่อยก็หนีแล้ว แต่ถ้าเป็นของจริงเราตั้งใจปฏิบัติธรรมขนาดไหนเขาจะไม่หนี เขาจะตาม เพราะเขาตามมาหลายชาติแล้ว ชาตินี้เขาก็เลยตามได้สบายๆ แถมเขาจะไม่ผูกมัดเราด้วยสิ่งต่างๆ ยอมปล่อยให้เราคงสถานะเช่นนั้น และยังเอื้อให้เราปฏิบัติได้สูงยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย แต่คู่เวรคู่กรรมนั้นจะตามไม่ไหว เพราะพลังดีจะกั้นคนชั่วให้ออกจากชีวิตหรือไม่ก็จะกลายเป็นมารที่พยายามผูกมัดเราด้วยสถานะของคนคู่ ยั่วยวนเราให้หลงเสพหลงสุข ให้เสื่อมจากศีล เพื่อให้เขาได้เสพสุขจากเรา

จะเห็นได้ว่าคู่บารมีคือผู้ที่เข้ามาทำให้เรามิทิศทางที่เจริญเติบโตขึ้นในทางธรรม ทำให้พ้นจากวิธีของโลกียะ ไปสู่โลกุตระ ในทางกลับกันคู่เวรคู่กรรมจะเข้ามาฉุดไม่ให้เราโตในทางธรรม ทำให้เราหลงวนอยู่กับโลกียะ มัวเมาอยู่กับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ไม่ปล่อยให้เราพ้นจากความหลงเหล่านี้

คู่บารมีจะอยู่ในสภาพของเพื่อน แม้ต่างเพศก็จะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ถึงจะพลาดแต่งงานไปแล้วแต่สุดท้ายจะอยู่กันเหมือนเพื่อน เพราะเป็นสถานะที่ดีที่สุดที่จะพากันให้เจริญ

ในละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๑ ได้มีบทพูดว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ทนทุกข์เล่า” หมายถึงการไม่เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กน้อย ยอมไม่ครองคู่เพื่อให้ประโยชน์ที่มากกว่ากับผู้อื่น แทนที่จะให้เวลากับคนแค่สองคน ก็เอาเวลาไปใส่ใจกับคนอีกมากจะดีกว่า เมื่อเห็นเช่นนี้ ศิษย์พระพุทธเจ้าทุกคนย่อมสละประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า

การไม่ครองคู่ และคงสถานะเป็นเพียงแค่เพื่อน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน จึงเป็นความเจริญของผู้ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

25.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)