Tag: บุญ

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,199 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รวยเท่ากับซวย #2

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,924 views 0

รวยเท่ากับซวย #2

รวยเท่ากับซวย #2

…อาชีพที่สร้างความร่ำรวย แต่นำมาซึ่งความซวย

การได้มาซึ่งความร่ำรวย ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากการประกอบอาชีพ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้มีอาชีพหลากหลายให้เราเลือกทำเพื่อให้เกิดรายได้ แต่ควรจะเลือกอาชีพไหนเพราะอะไร เรามาศึกษาปัจจัยที่เรียกกันว่าบาป บุญ กุศล อกุศล กันก่อน

บุญ นั้นคือเครื่องชำระกิเลส การลดกิเลส อาชีพที่เป็นบุญก็คืออาชีพที่พาลดกิเลส หรือไม่เพิ่มกิเลส

บาป นั้นคือการสะสมกิเลส การสนองกิเลส การตามใจกิเลส อาชีพที่เป็นบาป ก็คืออาชีพที่พาให้ตนและผู้อื่นกิเลสเพิ่ม

กุศล นั้นคือความดี คือสิ่งที่ดี การกระทำความดีก็เรียกว่าสร้างกุศลกรรม เป็นความดีที่เก็บสะสมไว้ในจิตของเรารอวันที่จะส่งผล

อกุศล นั้นคือความชั่ว เมื่อทำชั่วก็ได้รับผลของการทำชั่ว หรือที่เรียกว่าอกุศลกรรม เก็บสะสมไว้ในจิตของเรา รอวันที่จะส่งผล

เมื่อเราเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อชีวิตสี่อย่างนี้แล้ว จึงนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกับงานหรืออาชีพที่เราจะเลือกทำ รายได้ ความมั่นคง ชื่อเสียง สวัสดิการ การเดินทาง การพัฒนา ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงกำไรสุทธิที่มากกว่าแค่จำนวนเงิน ซึ่งเราอาจจะพบว่าแม้จะรวยแต่ก็คงจะซวยไม่ใช่น้อยสำหรับบางอาชีพ

กว่าจะถึงความรวยที่เราใฝ่ฝัน การประกอบอาชีพเป็นเหมือนกับทางเดินให้ถึงฝันนั้น แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเดินทางผ่านเส้นทางบาป บุญ กุศล อกุศล อย่างไรบ้าง เพราะเราสามารถเห็นได้เพียงผลตอบแทน สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า เห็นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่เรากลับไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมได้เลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีทางรู้ เพราะอย่างน้อยพระพุทธเจ้าท่านก็ได้บอกข้อธรรมะเหล่านี้ ทิ้งไว้ให้เราแล้วเพื่อเป็นเครื่องมือให้เราแยกแยะดีชั่ว

ในบทนี้เราจะมาไขอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์) โดยใช้การบอกว่าอาชีพใดที่ผิด(มิจฉาอาชีวะ) รวมทั้งมิจฉาวณิชชา(การค้าขายที่ผิด) และงานที่เกี่ยวกับอบายมุข

1).มิจฉาอาชีวะ

มิจฉาอาชีวะ หมายถึงการทำมาหากินที่ผิด ผิดอย่างไร? คือผิดไปจากทางพ้นทุกข์ นั่นหมายถึงยิ่งทำก็จะยิ่งห่างไกลทางพ้นทุกข์อย่างพุทธไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงเส้นทางในโลกียะ ทางที่จะจำให้วนอยู่ในโลกเท่านั้น มิจฉาอาชีวะแม้จะดูดีเพียงไร ได้เงินมาเท่าไหร่ มีคนให้เกียรติให้คุณค่าขนาดไหน มีคนนับหน้าถือตามากเท่าไร หรือแม้จะได้รับความสุขเท่าไหร่ มันก็แค่นั้นเอง

1.1).การโกง (กุหนา) การประกอบอาชีพใดๆนั้นควรกระทำโดยสุจริตแม้อาชีพนั้นจะไม่ได้เป็นอาชีพที่คดโกงโดยตรง แต่ก็อาจจะมีการโกงอยู่ในการประกอบอาชีพทั่วไปก็ได้เช่น แม่ค้าที่โกงตราชั่ง คนงานก่อสร้างที่อู้งานเพื่อโกงเอาค่าแรง หรือข้าราชการที่โกงเงินใต้โต๊ะ การโกงมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ เป็นความผิดขั้นหยาบที่ควรละเสีย

1.2).การล่อลวง (ลปนา) การทำให้คนหลงใหลในสิ่งที่ไม่ควรหลง เช่น การพูดให้เคลิ้มกับสรรพคุณที่เกินจริงแบบชาวบ้านจะเห็นได้จากการโฆษณาขายยาดีตามงานวัด ถ้าแบบเห็นทั่วไปก็คืองานขายตรง ขายคอร์สลดน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ ฯลฯ ที่ต้องพูดล่อลวงให้เขาเห็นประโยชน์ในสินค้าหรือบริการของเรา ทั้งที่มีวิถีอื่นอีกมากมายที่ดีกว่าของเรา แต่เราก็พยายามจะพูดล่อลวงให้เขามาใช้สินค้าของเรา ใช้บริการกับเรา

1.3).การตลบตะแลง (เนมิตตกตา) การทำให้คนหลงเชื่อไปในครั้งแรกว่าดี แล้วตอนหลังมากลับคำ เห็นได้บ่อยในอาชีพนักการเมือง ตอนหาเสียงก็พูดไว้ซะดิบดี แต่พอได้รับเลือกจริงมักเป็นคนละอย่าง นักการเมืองคือตัวอย่างของนักตลบตะแลง ตอนเช้าพูดอย่าง ตอนเย็นพูดอีกอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน และผลประโยชน์ของตนเอง

1.4).การยอมมอบตนในทางที่ผิด (นิปเปสิกตา) จะเป็นลักษณะของลูกน้อง ลูกจ้าง ที่ตนเองนั้นก็ไม่ได้ทำชั่วอะไร แต่ไปรับใช้คนชั่วเช่น ขับรถให้เจ้านายที่ขายยาเสพติด ตัวเองไม่ได้ขายนะแต่ขับรถให้อำนวยความสะดวกให้คนชั่ว หรือทหารตำรวจที่สังกัดอยู่ในหน่วยที่ผู้บัญชาการคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว ก็มักจะสั่งการให้ไปทำเรื่องชั่วๆ นี่เป็นลักษณะการยอมให้ตัวเองเป็นลูกน้องคนผิด

1.5). การเอาลาภต่อลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ลักษณะของการเอาลาภแลกลาภที่เห็นได้ชัดเจนและหยาบคือการเล่นพนัน เล่นหวย เล่นหุ้น คือการเอาลาภที่มีอยู่นั้นไปลงทุน ไปพัฒนาให้มันงอกเงยขึ้นมาซึ่งการพนัน หวย หุ้นนี้ก็อยู่ในขีดของอบายมุข แต่ในระดับที่ละเอียดลงมาก็คือการเอาความสามารถที่ตนมีไปแลกเงิน เช่นเราพยายามไปเรียนรู้ทักษะอาชีพสูงๆ เช่นแพทย์เฉพาะทาง เพื่อที่จะทำให้รายได้ของตัวเองสูงขึ้น ที่มันไม่ดีก็เพราะมีความโลภเป็นตัวผลักดันนี่เอง

2). มิจฉาวณิชชา

มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แถมยังเป็นทางเพิ่มบาปและอกุศล ชาวพุทธไม่ควรกระทำ เพราะหากกระทำแล้วจะไม่เป็นไปในทางพุทธ เพราะไม่ใช่การค้าขายที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ การค้าที่ผิดเหล่านี้แม้ฉากหน้าจะดูเหมือนว่าทำให้เรารวย แต่ฉากหลักนั้นสะสมบาปอกุศลไว้มากมายรอวันที่จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราในวันใดวันหนึ่งนั่นเอง

2.1). ค้าขายศาสตรา (สัตถวณิชชา) หมายถึงการค้าขายอาวุธ อาวุธนั้นคือวัตถุเพื่อทำร้ายกันแม้จะเป็นการขายมีดเหมือนกันแต่มีดแบบหนึ่งออกแบบเพื่อตัดต้นไม้แต่อีกแบบหนึ่งออกแบบไว้เพื่อให้ทำร้าย มีดตัดต้นไม้จึงไม่เป็นการค้าที่ผิด แต่มีดที่สร้างเพื่อไว้ทำร้ายนั้นผิดในข้อนี้อย่างชัดเจน ยังรวมไปถึง ปืน ดาบ ฯลฯ ที่ใช้เป็นอาวุธทำร้ายกันในสมัยนี้ และรวมไปถึงความรู้ด้วย เพราะความรู้นี้เองคืออาวุธชั้นดีที่ใช้กันในระดับสงครามเศรษฐกิจ การค้าขายความรู้จึงเป็นเรื่องไม่ควร และความรู้ในระดับธรรมะ หากผู้ใดเอาธรรมะมาค้าขายหากำไร ลาภ ยศ ชื่อเสียงนั่นคือทางแห่งนรกชัดเจน

2.2). ค้าขายสัตว์เป็น (สัตตวณิชชา) ถ้าไม่นับรวมสัตว์ที่มีกรรมในระบบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั่วไปซึ่งทั้งหมดนั้นก็ผิดอยู่แล้ว การซื้อขายสัตว์ในสังคมปัจจุบันก็เป็นการค้าที่ผิด ไม่ว่าเราจะขายหมา ขายแมว ขายเต่า ขายปลา ก็เป็นการค้าที่ผิด การค้าชีวิต การตีราคาชีวิตอื่น การถือสิทธิ์ครอบครองในชีวิตอื่นไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมของชาวพุทธเลย การซื้อขายชีวิตสัตว์นั้นเขาไม่ได้ยินยอมกับเราด้วย เพราะเราใช้อำนาจเงินนำเขามา บังคับเขา กักขังเขา โดยใช้คำว่าเลี้ยงมารั้งเขาเอาไว้ในโลกของเรา ทั้งๆที่เขาควรจะมีกรรมของเขา ควรจะเกิดและตายในแบบธรรมชาติของเขา

2.3). ค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) ข้อนี้เองที่ทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในพุทธ เพราะว่าการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นผิดทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อมีการขายเนื้อก็มีคนอยากซื้อเนื้อ พอมีความอยากซื้อมากคนก็ยินดีจ่ายมาก แล้วก็จะมีคนพยายามหาเนื้อมาขายเพื่อให้ได้เงิน เกิดเป็นการค้าขายเนื้อสัตว์ กลายเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ผิดจากทางพุทธทั้งยวง ถ้าแจกฟรีนั้นก็ไม่ผิด และเนื้อสัตว์ที่นำมาแจกฟรีแม้ว่าเราจะซื้อมานั้นต้องไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ฆ่ามาเพราะจะเป็นเนื้อบาป บาปอย่างไร บาปเพราะอยากได้เงินคนอื่นก็เลยต้องพรากชีวิตสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องด้วย เพื่อเอาเนื้อไปขายได้เงินมาใช้เพื่อบำเรอกิเลสตัวเอง มันบาปตรงนี้ มันสนองกิเลสตรงนี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เบียดเบียนถ้าเริ่มต้นก็ผิดตั้งแต่ค้าขายเนื้อสัตว์ ก็ไม่เรียกว่าพุทธกันแล้ว คนที่ซื้อเนื้อสัตว์ไปประกอบอาหารใส่บาตรก็ผิดทางพุทธ คนที่ซื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์ไปถวายพระก็ผิดทางพุทธ เพราะฉะนั้นจะให้เกิดบุญก็ไม่มีทางเป็นไปได้ คงจะเป็นได้แค่กุศลเล็กน้อยกับบาปและอกุศลที่มาก เพราะทำบุญนอกขอบเขตพุทธ ไม่เป็นไปในทางของพุทธแล้วจะยังเกิดบุญกุศลในแบบของพุทธได้อย่างไร

2.4). ค้าขายของมึนเมา (มัชชวณิชชา) ของมึนเมาในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่เหล้า เบียร์ บุหรี่ ยาเสพติด แต่หมายรวมไปถึงของใดๆก็ตามที่ทำให้จิตใจของคนหลงมัวเมาไปในสิ่งนั้น เช่นของสะสมต่างๆ แฟชั่น อาหาร หลายสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตแต่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับการหลงเสพหลงติดหลงยึดกับมัน ซึ่งก็อยู่ในลักษณะของการมัวเมาสังคม มัวเมาลูกค้า ทำให้คนหลงว่าของตนนั้นดี ของตนนั้นน่าเสพ ผิดมิจฉาอาชีวะซ้อนเข้าไปอีกคือการล่อลวง

2.5). ค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา) การขายยารักษาโรคกับยาพิษนั้นมีเพียงเส้นศีลธรรมบางๆกั้นอยู่ ถ้ายานั้นกินเข้าไปแล้วไม่ได้รักษาโรคแต่กดโรคไว้ไม่ให้แสดงอาการทั้งยังไปทำลายอวัยวะส่วนอื่น นั่นก็คือยาพิษ ส่วนยาใดรักษาโรคได้จริงแล้วไม่มีผลร้ายอื่นก็พ้นผิดในข้อนี้ไป การค้าขายยาบำรุงอื่นๆยังเสี่ยงต่อการทำบาปด้วยเช่น การขายครีมบำรุงที่อวดสรรพคุณว่าทำให้ขาว เต่งตึงนั้น จะเข้าไปในลักษณะของยาพิษเพราะไม่ได้เอาสิ่งจำเป็นเข้าไปในร่างกาย แต่เอาไปเพราะมีความอยากสวยเป็นตัวผลักดัน ใช้การล่อลวงว่าจะขาวจะสวย ทำให้คนซื้อนำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น เป็นการขายยาพิษไปพร้อมๆกับการล่อลวงผู้อื่นให้เพิ่มกิเลสในกามรูป เป็นบาปบริสุทธิ์แท้ๆ ไม่มีกุศลหรือบุญปนแม้น้อย แม้จะมีผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามหรือลดความอ้วนจำนวนมากที่ดูมั่งคั่ง แต่นั่นก็เป็นความมั่งคั่งที่สะสมบาปและอกุศลไว้มากมายมากกว่าจำนวนเงินที่เห็นนัก

3). อบายมุข

อบายมุข๖ นั้นไม่ได้หมายถึงการประกอบอาชีพโดยตรง แต่เราสามารถนำมาอธิบายร่วมกับอาชีพได้ว่า อาชีพที่เราทำนั้นมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับอาชีพที่ผิดและการค้าขายที่ผิดอย่างไร มีส่วนเสริมในอบายมุขอย่างไร ขึ้นชื่อว่าอบายมุขนั้นก็เป็นบาปที่หยาบและต่ำ ถ้าตามพระไตรปิฏกนั้นก็ต่ำกว่าคน เป็นดินแดนหรือเขตแดนของผู้ที่จะไปอบายภูมิ เรียกได้ว่าจองตั๋วรอกันก่อนจะไปภพหน้ากันเลยทีเดียว ใครอยากเกิดในภพต่ำๆเช่น เปรต เดรัจฉาน อสูรกาย สัตว์นรกอะไรพวกนี้ก็ให้วนเวียนอยู่ในอบายมุขมากๆ ก็จะได้เกิดในภพเหล่านั้นสมใจ แต่ถ้าใครไม่อยากเกิดในภพเหล่านั้นก็ให้ห่างออกมาจากกิจกรรมเหล่านี้เสีย

3.1). เสพของมึนเมาให้โทษ อาชีพที่ไปข้องเกี่ยวกับอบายมุขข้อนี้ก็จะไปเกี่ยวกับข้อค้าขายของมึนเมาหรือมัชชวณิชชาด้วย ใครที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนมอบตนในทางที่ผิด ซึ่งจะไปติดมิจฉาอาชีวะด้วย นั่นก็คือผิดทั้งผู้ขาย ผู้ผลิตนั่นเอง

3.2). เที่ยวกลางคืน มีธุรกิจกลางคืนมากมาย กลางคืนนั้นเป็นเวลาที่ควรพักผ่อน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้ใช้เวลาเที่ยวในกลางคืนมากขึ้น มีผับ บาร์มากมายที่ส่งเสริมให้กินของมึนเมา ผิดซ้ำผิดซ้อนเข้าไปอีก เป็นทั้งอบายมุขและสถานที่อโคจร คือไม่ควรไปข้องแวะ คนที่ทำงานกลางคืนหรือสนับสนุนธุรกิจเที่ยวกลางคืนนั้นก็ติดมอบตนในทางผิด เพราะแม้ตัวเองจะไม่ได้ทำผิด เป็นลูกจ้างที่ขยัน ซื่อสัตว์แต่ก็ยังทำงานให้ธุรกิจที่ผิดไปจากพุทธ ก็ยังต้องรับส่วนของอกุศลวิบากอยู่ดี

3.3). เที่ยวดูการละเล่นกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมยุคนี้ไปแล้วกับการดูการละเล่น ในยุคนี้นั้นก็ปรับให้เห็นถึงการละเล่นในยุคนี้ เช่น ละคร หนัง ภาพยนตร์ กีฬา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเล่นๆทั้งนั้น ดูเพื่อความบันเทิง ไม่ดูก็ไม่เป็นไร เป็นกิจกรรมที่เป็นอบายมุขแท้ๆ เพราะพาให้หลงไปในกามทั้งหลายในระดับหยาบ แม้อาชีพนักแสดงเหล่านั้นจะแสดงอย่างจริงจัง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องเล่นๆอยู่ดี ไม่ใช่สาระของชีวิต ยกตัวอย่างเช่นฟุตบอล ถ้าคนไทยไม่สนใจดูฟุตบอลก็ไม่เห็นจะเกิดอะไรไม่ดีกับชีวิต มีเวลาเพิ่มเสียอีก เอาเวลาไปทำงานทำการ เอาไปพักผ่อนได้อีก แต่นี่เป็นเพราะเราติดอบายมุข ติดมันจนเป็นอัตตา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แล้วหลงว่ามันเป็นของจำเป็นในชีวิต ทั้งๆที่มันไม่จำเป็นและไม่มีสาระเลย

3.4). เล่นการพนัน การพนันในยุคนี้มีการพัฒนารูปแบบให้ดูเป็นสากลขึ้น เช่น เล่นหุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า และการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันพัฒนาขึ้นเลยทำให้การพนันมีรูปแบบซับซ้อนขึ้น ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ที่เล่นไพ่ แทงสูงต่ำ ชนไก่ กัดปลา ฯลฯ ทั้งหมดก็มีลักษณะเดียวกันคือลงเงินไปก้อนหนึ่งแล้วหวังให้ได้เงินมากขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลอะไรต่างๆนาๆ แต่ก็มีโอกาสที่เงินจะลดจากปัจจัยต่างๆนาๆเช่นกัน คนที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ก็เหมือนกับคนกลาง หรือเจ้ามือ ส่งเสริมเรื่องอบายมุข เป็นบาปและอกุศลเน้นๆ หาบุญไม่เจอเลย หากุศลก็ไม่มี ได้เงินมาก็เป็นเงินบาป รวยเดี๋ยวก็ต้องรับซวยไปด้วย ทุกข์เน้นๆ

3.5). คบคนชั่วเป็นมิตร เช่นเรามีเพื่อนที่ทำมิจฉาอาชีวะ ทำมิจฉาวณิชชามากๆ เดี๋ยวก็พาเราให้ลำบาก ให้ลงนรกไปด้วย เพราะคนที่ประกอบอาชีพผิดๆนี่เขาจะมีอกุศลวิบากของเขาอยู่แล้ว แต่โดยหน้าตาทางสังคมเขาจะดูรวย ดูมั่นคง ดูภูมิฐาน เหมือนคนน่าคบทั่วๆไป แต่พอวิบากส่งผลเท่านั้นแหละ เหมือนฟ้าผ่าบางคนต้องหนีวิบากหนีหนี้ บ้านก็แทบไม่มีจะอยู่ พอเราคบเป็นเพื่อนก็ต้องมาพึ่งพาเรา พาเราซวยไปด้วยอีก

3.6). เกียจคร้านการงาน งานหรืออาชีพที่พาให้เราเกียจคร้านนี่ก็เป็นอบายมุขเช่นกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนที่มองว่าตนเองนั้นจะสร้างรายได้จากการลงทุนระยะยาวแล้วเลิกทำงาน ว่าแล้วก็ใช้เวลาออกไปเสพกิเลส เสพอบายมุข เสพกาม เสพโลกธรรม ตามอัตตา นี่คือผลจากการที่เรามีอาชีพที่สร้างรายได้มากจนทำให้เรามีโอกาสไปเสริมกิเลส จะมีสักกี่คนที่มีรายได้จำนวนมาก แต่ก็ยังทำงานปกติ ไม่เสริมกิเลส เข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผล ไม่ใช่เพื่อทำความดีเอาหน้า

พอมีเงินแล้วไม่ทำงานก็คือกินกุศลเก่าที่สะสมมา ซึ่งมันก็สามารถมีวันหมดได้มันไม่ใช่แค่ให้เงินทำงานหาเงินเองอย่างที่เข้าใจ มันมีเบื้องหลังทางนามธรรมมากกว่านั้น ถ้ากุศลหมด วิบากบาปก็อาจจะลากเราเข้าสู่สภาพป่วยก็ได้ทำให้ต้องดึงเงินที่มีเกือบทั้งหมดมารักษาตัว ดังนั้นถ้าไม่ศึกษาบุญกุศลบาปอกุศลไว้ ก็จะเป็นนักลงทุนที่ประมาท มองการลงทุนไม่ขาด เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนข้ามภพข้ามชาติ ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อใช้ในชีวิตนี้ชีวิตเดียว

….อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่ามีแต่งานที่เป็นบาปเต็มไปหมด และเราเองก็อาจจะอยู่ในส่วนของบาปนั้นๆด้วยก็ได้ วิธีจะออกจากมิจฉาอาชีวะ และมิจฉาวณิชชา รวมถึงอาชีพที่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขนั้น ก็ให้ทำดีให้มากๆ ค่อยๆเขยิบขาออก ทำงานไปก็หาช่องทางใหม่ไป อย่ารีบให้มันทรมานตัวเองเดี๋ยวจะไม่มีรายได้

การที่เราไปติดอยู่ในมิจฉาอาชีวะ มิจฉาวณิชชา และอบายมุขนั้นเกิดจากกรรมกิเลสที่เราทำมา เรากำลังรับกรรมส่วนนั้นอยู่ เราต้องรับทำหน้าที่บาปนั้นเพราะเราทำบาปนั้นมา สะสมบาปนั้นมา แม้ว่าเราจะรู้ตัวแล้วมันก็จะออกไม่ได้ง่ายๆ ทิ้งไม่ได้ง่ายๆ จะมีบางอย่างดึงรั้งให้เราอยู่กับงานนั้น ก็ให้เราทำความดีมากๆ ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากๆ เช่นการล้างกิเลสนี่เองเป็นกุศลสูงสุดที่ใครคนหนึ่งจะทำได้

การที่เราต้องระวังในเรื่องอาชีพเหล่านี้เพราะจะได้ไม่ต้องมาซวยเพราะความรวย บางอาชีพสร้างรายได้มากมายมหาศาลแต่ความซวยที่รออยู่ข้างหน้าก็มหาศาลเช่นเดียวกัน หากใครอยากจะรวยแบบไม่ต้องซวยก็ต้องหลีกเลี่ยงการประกอบอาชีพที่ผิด การค้าขายที่ผิด และงานที่ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,901 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,142 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์