Tag: กิเลส
เจตนาของการนำเสนอบทความลดเนื้อกินผัก
ที่พิมพ์บทความลดเนื้อกินผักออกมากันมากมาย เจตนาของผมไม่ได้ต้องการให้คนหันมากินมังสวิรัติ กินเจอะไรหรอกนะ
แต่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ในวิธีปฏิบัติสู่การทำลายกิเลส โดยใช้โจทย์ลดเนื้อกินผักเท่านั้นเอง
จริงๆแล้วจะใช้โจทย์อะไรก็ได้ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเอามาปฏิบัติได้หมดแหละ แต่มันจะหาผัสสะกันยากหน่อย ถ้าเราเจาะไปในประเด็นไม่หลงเนื้อสัตว์นี่มันง่าย ทุกคนปฏิบัติได้เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างก็ง่าย แถมยังเป็นสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนที่ขัดเจน
เรียกว่าถ้าหลงอยู่ก็มีโทษ ออกได้ก็เป็นประโยชน์
ถ้าทำลายความอยาก ทำลายกิเลสกันได้จริงๆแล้วจะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ตามสบาย แต่ถ้าให้ดีก็ศึกษากันให้มาก เดี๋ยวกิเลสจะหลอกเอาว่ากินอย่างไม่มีกิเลสก็เป็นไปได้
ปล.ส่วนเรื่องโสด นี่เจตนาจะให้โสดกันจริงๆ เพราะจะมีบ่วงมาก ยังไม่ต้องถึงขั้นล้างกิเลสหรอก กดข่มกันไปอีกสักชาติก็ได้สำหรับเรื่องนี้
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น
ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป
– – – – – – – – – – – – – – –
จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก
คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี
ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน
ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน
เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด
ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน
นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้
ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี
– – – – – – – – – – – – – – –
4.8.2558
อะไรเป็นตัวตัดสินว่าคนไหนที่เราจะแต่งงานด้วย?
จากกระทู้ในพันทิพ : อะไรกันครับที่เป็นตัวตัดสิน ว่าคนนี้แหละ เราจะแต่งงานด้วย (http://pantip.com/topic/33997358)
กิเลสล้วนๆเป็นตัวตัดสิน ถ้าได้สมกิเลสก็ตัดสินว่าใช่ ถ้าไม่ได้สมกิเลสก็ตัดสินว่าไม่ใช่
อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข สนองกาม สนองอัตตา บ้าอบายมุข เรื่องกิเลสทั้งหมดก็วนๆอยู่กับเรื่องพวกนี้ละนะ
ก็ว่ากันไป ตามแต่กิเลสจะนำพา….
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่
กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง
ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า
กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น
ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก
การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น
ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี
ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า
เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย
พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย
เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558