Tag: การกินมังสวิรัติ

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,257 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

October 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,399 views 0

มังสวิรัติทางสายกลาง

มังสวิรัติทางสายกลาง การปฏิบัติธรรมด้วยการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยเว้นจากทางสุดโต่งสองด้าน

ในสังคมยุคปัจจุบันนี้ การกินมังสวิรัติเป็นสิ่งที่เข้าใจและรับรู้กันโดยทั่วไปว่า เพื่อสุขภาพ เพื่อละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อกุศล นั่นก็เป็นความรู้ความเข้าใจที่มีทิศทางไปในด้านบวก ด้านที่เจริญ ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการกินมังสวิรัติยังมีประโยชน์มากกว่านั้น ยังมีสาระสำคัญมากกว่านั้น หากเราเข้าใจการกินมังสวิรัติเพื่อการปฏิบัติธรรม

แผนที่การเดินทางที่จะทำให้เราไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้นก็คือทางสายกลาง เป็นทางเดียวที่จะพาพ้นจากทุกข์ และเช่นเดียวกับการกินมังสวิรัติ หากเราต้องการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืน มีแค่ทางนี้ทางเดียวคือเราจะต้องเป็น “มังสวิรัติทางสายกลาง

ทางสายกลางคืออะไร?

ทางสายกลางนั้นคือมรรควิถี คือสัมมาอริยมรรค แต่การจะเดินไปบนเส้นทางสายกลางนั้นไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่คิด ไม่ใช่เพียงแค่ท่องจำ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่เพ้อฝันเอาเองว่ากำลังเดินบนทางสายกลางแต่ต้องพากเพียรปฏิบัติจนถึงผลนั้น

การจะมาสู่ทางสายกลางนั้น เราต้องต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้านเสียก่อน เหมือนกับคนเมาที่เดินเซไปเซมา ซ้ายทีขวาที เราเองก็เช่นกัน ถ้าเรายังเป็นคนที่หลงมัวเมาอยู่ในกิเลส เราก็จะเดินหลงไปทางโต่ง ไม่ด้านในก็ด้านหนึ่ง สลับกันไปมา ไม่สามารถเดินตรงได้สักที

การจะบอกว่าตนเองนั้นหลงมัวเมาอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากคนที่หลงมัวเมาก็จะไม่รู้ว่าตัวเองมัวเมา หรือหลงยึดหลงติดอยู่กับอะไร ดังนั้นการนำศีลเข้าไปปฏิบัติจะทำให้เราได้เห็นขอบเขตการมัวเมาของเรา เหมือนกับเอาเชือกมากั้นไว้ไม่ให้เดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งการกินมังสวิรัติก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราได้เห็นความมัวเมาลุ่มหลงในทางโต่งสองด้านนั่นเอง

ทางโต่งสองด้าน

ด้านกาม หรือ กามสุขลิกะ …คือการโต่งไปในทางการเสพ ในกรณีมังสวิรัติ นั่นคือการที่เรายังไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม หากกินด้วยความอยาก ด้วยความอร่อย ด้วยความติดใจในรสชาติของเนื้อสัตว์นั้น ก็หมายถึงการติดกาม เป็นทางโต่งทางหนึ่งที่ควรละเป็นอันดับแรก เพราะจะเกิดการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม คือการเอาเลือดเอาเนื้อของสัตว์อื่นมาบำรุงกิเลส บำรุงกามของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสีย

ด้านอัตตา หรือ อัตตกิลมถะ… คือการโต่งไปในทางการทรมานตัวเองด้วยอัตตา ในมุมของผู้ที่ยังยึดติดกับเนื้อสัตว์ ก็จะทรมานตัวเองโดยการกินเนื้อสัตว์ เพราะหลงยึดหลงติดว่าเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่าทางอาหาร หากไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้วจะป่วย จะไม่แข็งแรง เป็นอัตตาที่ยึดไว้ ทำให้ต้องทรมานตัวเองด้วยการกินเนื้อสัตว์

ทรมานอย่างไร? ในเมื่อกินแล้วมีความสุขจากเสพ ..พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ผู้ที่ยังหลงติดหลงยึดในการเบียดเบียนเพราะเข้าใจไปว่าต้องเบียดเบียนเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เพื่อสุขภาพดีนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ดังนั้นจึงเป็นการทรมานตัวเองด้วยวิบากบาปอันเกิดจากความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

และเมื่อเรายึดเนื้อสัตว์เป็นอัตตา แม้จะมีผู้รู้ท่านใดมาบอกว่าการยึดนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิเพียงไร คนผู้ยึดอัตตาก็มักจะกอดความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นการทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการกอดกิเลสไว้ไม่ยอมให้ตัวเองพ้นทุกข์

ในอีกมุมหนึ่งของอัตตาคือความยึดดี ถือดี อวดดี มักเกิดขึ้นในผู้ที่สามารถละทางโต่งในด้านกามได้สมบูรณ์แล้ว คือไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว ก็จะมีความยึดดี หลงว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นดี มักจะเอาความรู้ ความถือตัวไปข่ม ไปเบ่งทับคนที่เขายังไม่สามารถละกิเลสได้ ซึ่งการยึดดีถือดีเหล่านี้ก็เป็นการเบียดเบียนเหมือนกัน สุดท้ายพอไม่ได้ดั่งใจ ไม่สามารถทำให้ใครมากินมังสวิรัติได้อย่างใจ ก็มักจะทุกข์ใจ ขุ่นเคืองใจ เป็นการทรมานตนเองด้วยอัตตา เป็นทุกข์เพราะความยึดดี ถือดี เป็นการเบียดเบียนทั้งคนเองและผู้อื่น มักจะเสพยินดีกับเหตุการณ์ที่ตัวเองคิดว่าต้องเกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็ทุกข์ก็มักจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี เป็นการบำรุงอัตตาของเรา เป็นอกุศล เป็นบาป จึงควรละทางโต่งด้านนี้เสียด้วย

…ดังจะเห็นได้ว่า การกินมังสวิรัติทางสายกลางนั้น ไม่ได้หมายถึงการกินเนื้อสัตว์บ้างกินผักบ้าง แต่เป็นการเว้นขาดจากการไปเสพกาม เว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ หรือไม่ไปกินเนื้อสัตว์เลย และไม่ทรมานตนเองด้วยอัตตา คือความยึดดี ถือดี ยึดว่าคนอื่นต้องกินผัก เลิกกินเนื้อสัตว์จึงจะเป็นสุข กินมังสวิรัติด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่รังเกียจเนื้อสัตว์ ไม่ได้รักผัก แต่ก็ไม่กินเนื้อสัตว์ และยินดีในการกินผัก

การกินมังสวิรัติทางสายกลางนี้และคือทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตตนเองและผู้อื่นเป็นไปด้วยความผาสุก ตัวเราก็ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และสามารถเผยแพร่ความรู้ในการกินมังสวิรัติด้วยความเป็นอนัตตา ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจสามารถรับฟังและเข้าใจโดยไม่มีความอึดอัดขุ่นเคืองใจ ไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่บีบคั้น เป็นเพียงแค่การเชื้อเชิญให้มาพิสูจน์ประโยชน์และคุณค่าของการกินมังสวิรัติโดยการปฏิบัติทางสายกลางเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้บงการ ผู้กำกับใดๆ ใครจะกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ จะกินมังสวิรัติเฉยๆไม่ปฏิบัติธรรมก็ได้ หรือจะปฏิบัติไปด้วยก็ได้

เมื่อเราปฏิบัติล้างความยึดติดในทางโต่งสองด้านแล้ว เราก็จะเข้าสู่ความผาสุกในชีวิตหรือวิถีแห่งสัมมาอริยมรรคได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นความสุขความเจริญ เป็นคุณค่าที่ถูกสอดร้อยเอาไว้ในการกินมังสวิรัติ ซึ่งการจะเข้าถึงคุณค่าเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การปฏิบัติธรรม ลด ละ เลิก การเสพการยึดไปตามลำดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

October 13, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,406 views 0

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ

ตั้งแต่กินมังสวิรัติมาปีกว่าๆ ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่เคยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาทำอาหารเองเลย เหตุผลนั้นมีหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็คือพยายามจะใช้ของที่หาซื้อได้ทั่วไปมาทำอาหาร และอีกส่วนหนึ่งคือผมเองก็ไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว เลยไม่ต้องลำบากไปหาสิ่งเทียมเนื้อสัตว์มากินให้ยุ่งยาก และเหตุปัจจัยอื่นๆอีกยิบย่อยที่ทำให้ไม่สนใจวัตถุดิบเหล่านั้น

ผ่านช่วงเทศกาลเจครั้งแรกของปีนี้ ผมได้กินกะเพราเป็ดเจ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์เทียม เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จึงคิดได้ว่าการใช้โปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ก็สามารถที่จะทดแทนรสสัมผัสได้อย่างดีเยี่ยม จะว่าคล้ายก็คล้าย จะว่าเหมือนก็เหมือน

โปรตีนเกษตรที่หมายถึงนั้น คือวัตถุดิบที่เป็นชิ้น เป็นก้อน ไม่ได้มีรูปทรงที่ชัดเจนว่าเป็นอะไร ส่วนเนื้อสัตว์เทียมนั้น คือวัตถุดิบที่ถูกสร้างให้เป็นรูปร่างเสมือนเนื้อสัตว์ปกติเช่น ปลาเค็มเทียม หมูเทียม กุ้งเทียม สเต็กเทียม ซึ่งมีเจตนาเพื่อให้ระลึกถึงเนื้อสัตว์นั้นได้อย่างชัดเจน โดยรวมแล้วจะเรียกว่าโปรตีนเกษตรเหมือนกัน แต่ระดับในการสนองกิเลสนั้นจะต่างกัน

สำหรับคนที่ไม่ได้มีปรุงแต่งรสสัมผัสจนมันละเอียดล้ำลึก ก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบมากนัก ขอแค่มีหน้าตาและรสสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์ที่เคยกินก็พอ

ส่วนผู้ที่ติดในรสชาติหรือรสสัมผัสอันหลากหลายของเนื้อสัตว์ มักจะต้องพบกับความผิดหวังเมื่อได้กินเนื้อสัตว์เทียม เพราะรสชาติและรสสัมผัสนั้นไม่มีทางสู้เนื้อสัตว์จริงที่มีความหลากหลายในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการยากสำหรับผู้ที่หลงใหลในเนื้อสัตว์จะหันมากินมังสวิรัติ กินเจ โดยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมได้

อนุโลม…

การใช้โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียม แม้จะดูตลกและทำให้เกิดความสงสัยในมุมมองของคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าคนจะมาลดเนื้อกินผักแล้วทำไมยังต้องมากินเนื้อสัตว์เทียม?

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า โดยปกติแล้วมนุษย์เรามีกิเลสหนา การจะหักดิบมากินพืชผักทันทีเลยนั้น เขาทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ จึงมีคนคิดสร้างแหล่งโปรตีนและเนื้อสัตว์เทียมเพื่อมารองรับผู้ที่ยังมีความอยากเสพรสชาติและรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์แต่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ทำให้สามารถลดการเบียดเบียนสัตว์อื่นได้ดีเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่คิดจะลดการเบียดเบียนผู้อื่นนั้นย่อมมีจิตใจที่ดี ส่วนผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่แม้จะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นจะทำให้สัตว์นั้นทุกข์ทรมานและนำอกุศลกรรมมาสู่ตนเอง แต่ก็ยังไม่เห็นโทษภัยในการเบียดเบียน ยังไม่คิดจะเลิกเบียดเบียน ยังยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ตนได้เสพสมใจในกิเลส เขาจึงควรมีจิตศรัทธาในผู้ที่พยายามทำดี อย่าได้เผลอไปเพ่งโทษคนที่พยายามลด ละ เลิก การเบียดเบียนเลย เพราะจิตอกุศลนั้นเองจะนำภัยมาสู่ตน

ในตอนนี้ผมกลับมองว่า จริงๆแล้ว โปรตีนเกษตรกับเนื้อสัตว์เทียมมันก็ดีในระดับหนึ่งนะ คิดไปแบบง่ายๆว่า ถ้าคนทั้งโลกหันมากินโปรตีนเกษตร หรือเนื้อสัตว์เทียมได้ ก็จะไม่มีการเลี้ยงสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ ฆ่าสัตว์ และวันหนึ่งโปรตีนสังเคราะห์เหล่านั้นก็จะมาแทนที่เนื้อสัตว์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี่ก็เป็นแค่เรื่องที่ได้แค่ฝันเอา

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรากินโปรตีนเกษตรไปเรื่อยๆ เสพเนื้อสัตว์เทียมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ เมื่อกินเนื้อสัตว์เทียมและเริ่มติดใจในรสชาติ แล้วก็จะเกิดความอยากกินเนื้อสัตว์จริงๆขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เพราะกิเลสนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถกดข่มความอยากได้ไหว

เมื่อกลับไปกินเนื้อสัตว์จึงพบว่ามันสนองกิเลสได้มากกว่ากินเนื้อสัตว์เทียม คิดได้เช่นนั้นความเสื่อมก็เริ่มเข้ามา เพราะตอนที่กินมังสวิรัติ กินเจนั้น กินด้วยความกดข่ม กดกิเลสตัวเองไว้ เกิดทุกข์ ทรมาน จากการกดข่มนั้นๆ จนเมื่อตบะแตกไปเสพเนื้อสัตว์เข้าจริงๆ คราวนี้จะกลับมากินโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมยากแล้ว เพราะกิเลสมันมากกว่าเดิม มันเริ่มคิดแล้วว่าเนื้อสัตว์จริงๆอร่อยกว่าโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาก ว่าแล้วก็เสื่อมจากธรรมที่มี เสื่อมจากศีลที่ตั้งไว้

โดยสรุปแล้วผมเองก็ยังมองว่าโปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมก็ยังเป็นทางเลือกที่ผู้สนใจหันมากินมังสวิรัติสามารถกินได้ แต่จะให้ดีกว่านั้น ยั่งยืนกว่านั้น คือการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ทำได้ยาก

ต่างจากการกดข่มความอยากซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้กันทุกคน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะสามารถกดข่มสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ดีไว้ แต่การกดข่มนั้นไม่ยั่งยืน ไม่สามารถทำลายความอยากได้ สุดท้ายพออยากเข้ามากๆก็จะกลับไปเสพ เสพแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็เสพ ต้องมารอให้กิเลสเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปและเกิดขึ้นมาใหม่ วนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,590 views 0

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่

การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท

มาเริ่มกันเลย…

เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น

เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗

(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)

สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้

กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา

เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป

ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้

…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส

(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)

การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้

ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้

(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)

คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง

เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป

(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)

หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน

… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน

(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม

(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป

… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง

(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)

เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก

… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร

ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง

การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย

อานิสงส์ของศีล๙

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้

1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์

4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์

5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์

6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์

7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน

8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน

9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว

สภาวะของนิพพาน๗

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้

ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้

ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้

ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก

เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน

ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน

ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย

…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา

ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้

การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี

การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์