แบ่งปันประสบการณ์

สนทนาธรรมในสวน

May 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,223 views 0

สนทนาธรรมในสวน

วันนี้ผมได้จัดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมา เป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมะกัน ซึ่งในงานนี้เราก็จัดกันในสวน

ผมเลือกสวนสาธารณะ เพราะมันมีความเป็นสาธารณะ ใครมาใช้ก็ได้ จะไม่มาก็ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ แถมยังมีห้องน้ำ และร้านค้าไว้บริการอีก ที่สำคัญคือฟรี ผมเชื่อว่าเราควรศึกษาธรรมะด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่ทำให้ทุกข์จนเกินทน

ผมเลือกที่จะนั่งใต้โคนไม้ใหญ่ บนพื้นที่นั่งนั้นไม่มีหญ้า มีแต่เศษใบไม้ การนั่งของเรานั้นจึงไม่ได้สร้างความเสียหายให้ต้นหญ้า จนต้องลำบากคนดูแลอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เราได้ตรวจใจว่า เราติดความนุ่ม ความสบายรึเปล่า หญ้านี่มันนุ่มนะ นั่งไปแล้วมันสบาย แต่เราพามานั่งในที่ที่มันไม่ได้สบายขนาดนั้น เป็นแค่พื้นดินที่มีเศษใบไม้อยู่ แต่ถ้าปูเสื่อก็พอนั่งได้ ถึงจะไม่ปูก็นั่งได้อยู่ดี เอาแค่มันไม่เลอะเทอะไม่ชื้นแฉะก็พอแล้ว

ผมเลือกเวลาค่อนข้างเช้าในการสนทนา เพราะเหมาะสมทั้งสภาพอากาศและการขัดเกลาจิตใจ ผมเห็นคนที่เขารักษาสุขภาพตื่นมาวิ่งกันตั้งแต่ก่อนตีห้าครึ่ง แล้วคนรักธรรมะ รักษาจิตใจอย่างเรา จะนอนตื่นสาย มาทำกิจกรรมกันสายๆ ก็คงจะไม่ใช่แนวทางที่เจริญแน่ๆ ผมจึงเลือกเวลาเช้าตรู่ในการนัด ซึ่งครั้งนี้นัดเวลา 7.00 น. แต่ครั้งหน้าก็อาจจะปรับเป็นเช้ากว่านี้ เพราะ 7 โมงนี่คนมาวิ่งเต็มสวนแล้ว ถ้าคนรักสุขภาพเขามาออกกำลังกายได้ คนรักธรรมะก็ควรจะมาสนทนาธรรมแต่เช้าได้เหมือนกัน (จริงๆ เราควรจะแกร่งกว่าเขานะ แต่จะให้เช้ามากในกรุงเทพฯ มันก็จะเดินทางลำบากสำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว)

ในตอนแรกผมตั้งใจรับคนมากที่สุดไว้ที่ 15 คน แต่สมัครกันมาก็น้อยกว่านั้นเยอะ และมาจริงๆไม่กี่คน แต่เมื่อได้เริ่มกิจกรรม คุยธรรมะกัน ผมพบว่าคนเยอะก็ไม่ดีหรอก อย่างมาก 5 คน ก็พอแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นถ้าคนเยอะไปมันจะได้แต่น้ำ เนื้อไม่มีเวลาเจาะ เพราะผมเองก็คงจะไม่ได้บรรยายธรรมะเป็นหลัก แต่เป็นการถามตอบกันเป็นส่วนใหญ่ ถามมาเราก็ขยายธรรมะตามที่เราได้เรียนรู้มา แนะนำกันว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ โดยใช้ไตรสิกขาเป็นแกนในการสนทนากัน

ผมเชื่อเสมอว่าการสนทนาธรรมนั้นเป็นทางแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส เพราะผมก็ได้ประโยชน์กับการสนทนาธรรมนี้มาโดยตลอด และที่สำคัญผมไม่ได้คิดเอาเอง แต่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการฟังธรรมการสนทนาธรรมกันนี่แหละ ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลส (เหตุแห่งวิมุตติ ๕) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเชื่อว่า หากเราสร้างโอกาสในการสนทนาธรรมให้ผู้อื่น ก็จะเกิดกุศลทุกฝ่าย คนพูดก็ได้ประโยชน์ คนฟังก็ได้ประโยชน์ มีแต่คนได้ประโยชน์ ผมจึงคิดว่าผมก็คงจะทดลองจัดต่อไป และศึกษาปรับปรุงให้การสนทนาธรรมนี้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน เป็นไปเพื่อความดับกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง เป็นไปเพื่อนิพพาน ดังนั้นก็จะขอเชิญชวนผู้ที่สนใจศึกษามุ่งหวังมรรคผลอย่างแท้จริง ได้เข้ามาร่วมศึกษา มาลองพิสูจน์กันว่าทางนี้สามารถพ้นทุกข์ได้จริงไหม ทางนี้นั้นไม่ใช่ทางอื่นใด ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วยการคิด พูด ทำอย่างถูกตรง โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ให้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อการพราก ไม่สะสม เพื่อการละหน่ายคลาย เพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

April 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,278 views 0

สาย8 ในความทรงจำ...ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในทีนี้ก็คือรถเมล์ สาย 8 ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตอยู่ ณ จุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้บริการของรถเมล์สาย 8 เป็นประจำ

ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนโต สาย 8 ในความทรงจำของผมคือ “ความหวาดเสียว” เพราะด้วยลีลาการขับรถชองพวกเขานั้นมักจะทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวมีสติอยู่เสมอ และในบางครั้งที่ผมได้นั่งหลังคนขับ ก็มีบางคราวที่คนขับรถเมล์สาย 8 ไม่พอใจกับรถเมล์สายอื่นแล้วขับปาดกันไปกันมา ถึงกับช่วยให้ผมได้เจริญมรณสติกันเลยทีเดียว

สรุปว่าสาย 8 ในความทรงจำของผมมันก็ไปในทางลบนั่นแหละ แต่ก็ต้องใช้บริการกันไปด้วยความจำเป็น ถ้าไม่รีบก็จะไม่เลือก ซึ่งเรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ก็คือเรื่องในวันก่อนที่แม้ไม่รีบ แต่ก็ยังเลือก

…..ผมรอรถเมล์อยู่ตั้งแต่เช้า คิดว่าจะนั่งสาย 145 หรือ 96 ไปยังจุดหมายเพราะเดินต่อไม่ไกล แต่รอไปก็ไม่มีมาสักคัน สาย 8 ก็ผ่านมาแล้วคันสองคัน จนมาถึงสาย 8 คันที่ 3 คันนี้ไม่มีคนโบกหรอก คนลงก็ไม่มี แต่ก็มาจอดหน้าผม เขาก็ไม่ได้เรียกหรอกนะ แต่เห็นเขาจอดเราก็รู้สึก เออ…ขึ้นก็ได้ เพราะจริงๆ สาย 8 ก็ไปได้เหมือนกัน แค่เดินต่อไกลกว่าสายอื่นๆ นิดหน่อย

ขึ้นไปก็ไปนั่งเบาะเดี่ยวใกล้ๆ หลังรถ ในรถคนไม่เยอะมาก พนักงานเก็บเงินก็เดินมาเก็บเงินตามปกติ พอผมยื่นเงินออกไปเขาก็ยกมือไหว้ ซึ่งผมก็ตะลึงนิดๆ คิดว่า โอ้โห! สาย 8 พัฒนาบริการแบบใหม่หรือนี่ เราอาจจะเคยเห็นในห้างหรือที่ไหนๆจนชิน แต่ในสาย 8 นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ชินจริงๆ แต่พอดูไปดูมา เขาก็ไม่ได้ไหว้คนอื่นนี่ อาจจะเพราะเราแต่งตัวเหมือนหรือไปคล้ายๆ กับคนที่เขาเคารพก็ได้นะ เรื่องนี้ก็ยกไว้ เพราะไม่รู้เหตุ

นั่งต่อไปก็มีหญิงแก่คนหนึ่งขึ้นรถมา พนักงานเก็บเงินก็เข้าไปช่วยประคองขึ้นรถอย่างนุ่มนวลประดุจบริการญาติผู้ใหญ่ เป็นภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในขณะที่นั่งรถเมล์ สาย 8 เช่นกัน ต่อมาก็มีจังหวะที่คนขับรถ เข้าจอดป้ายแล้วเบรกแรง ทำให้เบาะยาวหลังรถที่ไม่มีคนนั่งพับลงมา ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่เห็น แต่เห็นเพราะพนักงานเก็บเงินนั้นเดินมาไหว้ผมอีกรอบ แล้วเดินเลยไปยกเบาะขึ้นแล้วก็เดินกลับไปหน้ารถพร้อมยกมือไหว้เชิงขอโทษผู้โดยสารแบบรวมๆ

ผมก็เห็นว่า พนักงานหนุ่มคนนี้แม้ดูภายนอกจะออกไปทางเกเรนิดๆ อาจจะด้วยภาพของสาย 8 ที่ผมเคยยึดไว้หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นนุ่มนวลกว่าที่เห็นภายนอกมากนัก ผมเริ่มทบทวนอคติลำเอียงที่ผมมีต่อสาย 8 ว่าผมเหมาเกินไปไหม ผมรีบตัดสินไปไหม ทั้งดีและไม่ดีนั้นจะอยู่ยั่งยืนอย่างนั้นจริงหรือ…

สักพักหนึ่งรถเมล์ก็เข้าโค้งอย่างแรง ซึ่งถ้าตามค่ามาตรฐานของสาย 8 การเค้าโค้งอย่างที่ผมว่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของเขา แต่ผมก็ยังนึกอยู่ในใจว่า เข้าโค้งแบบนี้มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยนะ แต่พอเขาขับไปอีกนิดหนึ่งในจังหวะที่รถจะต้องแทรกเข้าไปในทางหลัก แทนที่เขาจะขับพรวดพราดออกไป เขากลับรอที่จะออกช้าๆ ทั้งที่ผมก็มองแล้วว่ารถที่ขับมาทางหลักก็ไม่ได้เยอะมากมาย

ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนความเข้าใจของตนเองว่าผมกำลังเอาแต่ใจเกินไปรึเปล่า อยากให้มันดีอย่างใจ ให้มันปลอดภัยตามมาตรฐานของเรารึเปล่า เพราะจริงๆ เขาก็ขับอย่างปลอดภัยในมุมที่เขาคิดว่าปลอดภัย ซึ่งมันก็ปลอดภัยจริงๆ คือภัยมันยังไม่เกิด พอไม่เกิดเขาก็อาจจะยังไม่ได้เรียนรู้การปรับบางอย่างให้ละมุนละไมในบางมุม ซึ่งในวันหนึ่งเขาก็จะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ว่าอย่างไหนปลอดภัย อย่างไหนไม่ปลอดภัย เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากใช้ชีวิตบนความไม่ปลอดภัยหรอก ก็คงมีแต่เรานั่นแหละ ที่อยากให้ทุกอย่าง “ดี” ตามที่ใจเราหมาย อยากให้บางจังหวะมันปลอดภัยอย่างใจเรา และอยากให้บางจังหวะมันไวอย่างใจเรา มันก็อยากไปเรื่อยตามความเห็นที่เรายึดว่าดีเหมือนกัน

เมื่อถึงป้ายที่ต้องลง ผมลงรถพร้อมรอยยิ้มส่งจากพนักงานเก็บเงิน ซึ่งในขณะที่ผมเดินต่อไปยังที่หมาย ก็ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนตนเองซ้ำอีกทีว่า เราจะยึดติดกับภาพใหม่นี้รึเปล่า ภาพของวันนี้มันก็เป็นเพียงแค่ในวันนี้ มันก็ดีเท่านี้ ดีกว่านี้ยังไม่เกิด แย่กว่านี้ก็ยังไม่เกิด ดีเก่าก็ผ่านพ้นไป อะไรที่มันไม่ดีก็ผ่านพ้นไป

ผมกำลังต่อสู้กับ “ความยึดมั่นถือมั่น” ในความทรงจำหรือสัญญาที่ผมมี ในลำดับแรกนั้นต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นเดิมก่อน ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตามที่เรายึดไว้ คือ เราจะไม่เอนเอียงไปทางอคติจนมองข้ามความจริงตามความเป็นจริงว่าครั้งนี้เขาก็ดีตามที่เขาเป็นจริงๆ และหลังจากนั้นคือไม่สร้างความยึดใหม่ขึ้นมา คือ เราจะไม่ลำเอียง เพราะเห็นว่าครั้งนี้เขาดีอย่างใจเรา แล้วมันจะดีไปตลอด เพราะความเป็นจริงก็คือ เขาดีดังใจเราแค่ครั้งนี้เท่านั้น ครั้งหน้าอาจจะไม่มีก็ได้ ถ้าเราเกิดความลำเอียง ฝังไว้ในใจว่ามันต้องดีอย่างนี้ทุกครั้ง เราก็จะต้องทุกข์จากความผิดหวัง เพราะวางความคาดหวังให้เกิดดีแล้วไม่ดีดังใจหมายไม่ได้

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้เก็บเกี่ยวและสังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการศึกษาธรรมะ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,340 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,286 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)