Tag: เหตุการณ์
ผ่าน พบ จบ จาก
ผ่าน พบ จบ จาก
ชีวิตดำเนินผ่านเหตุการณ์และผู้คนมามากมาย
ได้พบเจอกับใครสักคนเข้ามาในชีวิต
เข้ามาเป็นสีสัน เรื่องราว ความทรงจำ
ไม่ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร
สุดท้ายทุกความสัมพันธ์ก็ต้องจบลงไป
แต่เรามักจะไม่ยอมปล่อยให้มันจากไป
แม้ว่าสิ่งนั้นจะได้จบลงไปแล้วแต่เรายังเก็บเศษซากของมันไว้
ไม่ยอมปล่อยให้มันได้จากไปจากความทรงจำของเรา
เป็นซากแห่งความทรงจำที่ยังคอยตามมาหลอกหลอน
ให้เราต้องวนอยู่ในสุขและทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้น
…
การยอมปล่อยให้ทุกความทรงจำจากไป
โดยไม่เหนี่ยวรั้งไม่ผลักไส ไม่ทุกข์ ไม่สุข
ปล่อยให้มันจางหายและจากไปตามที่มันควรจะเป็น
คือการให้อิสระกับตัวเองอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
1.4.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง
ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น
ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง
การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต
…การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้
ปฏิบัติแบบสมถะ…
ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว
แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข
หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว
เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว
ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…
การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….
พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น
การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย
การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว
และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ
การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน
เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….
ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว
ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก
แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล
แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย
ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์
แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด
การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ
– – – – – – – – – – – – – – –
18.9.2557
เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง
เผชิญแบบทดสอบ : เราพร้อมตายหรือยัง
พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องตายๆกันมาเยอะแล้ว ก็ยังไม่เคยจะได้เล่าประสบการณ์กันสักที บังเอิญว่าเมื่อวานนี้มีเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบว่าเราเองพร้อมสำหรับความตายหรือยัง…
เมื่อวานมีธุระที่ต้องเข้าไปในเมือง แถวๆชิดลม โดยนั่ง“รถโดยสารปรับอากาศ” สาย 73ก ไป นั่งจากกลางๆลาดพร้าว ไปจนถึงรัชดา ทุกอย่างก็ราบเรียบดีไม่มีปัญหา จะมีก็แค่ฝนที่ตกปรอยๆอยู่ทำให้รถติดบ้างเท่านั้น
ผมนั่งเบาะข้างหลังรองสุดท้าย ข้างซ้ายด้านในติดกระจก เป็นมุมที่สามารถมองวิวข้างทางได้เพลินๆระหว่างรถติด มองคนเลิกงาน เดินกางร่มกันไปตามทาง คนในรถก็ยืนกันแน่น คุยกันบ้าง เล่นโทรศัพท์กันไปบ้าง ทุกอย่างดูเหมือนปกติดี
ในขณะที่รถติดไฟแดงอยู่ มีเสียงตะโกนขึ้นมาว่า “ เปิดประตู!!” ทุกสายตามองไปยังต้นกำเนิดเสียง มีอีกหลายเสียงตะโกนขึ้นตามกันมาให้เปิดประตู ตามมาด้วยเสียงกรี๊ดเสียงโวยวาย มีควันสีขาวๆลอยฟุ้ง ทุกคนรีบลุกขึ้นพยายามจะหาทางออกกันหมด
ด้วยความที่คนแน่นมากก็ทำให้มองไม่เห็นอะไรเลย สักพักคนขับก็เปิดประตูให้ ผู้คนจำนวนมากวิ่งทะลักออกจากรถ คนที่อยู่หลังรถด้านขวาพยายามเปิดประตูฉุกเฉินแต่ก็เปิดไม่ออก มีเสียงพูดกันขึ้นมาว่าแก๊สรั่วรึเปล่า? ผมยังนั่งอยู่ที่เดิมนิ่งๆ ดูเหตุการณ์ไป เพราะถึงจะลุกออกไปก็ติดคนอยู่ดี
ขณะนั้นเอง กระเป๋ารถก็ตะโกนบอกให้ผู้คนอย่าวิ่ง ไม่ต้องวิ่ง ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะยิ่งวิ่ง ยิ่งเบียด ก็ยิ่งอันตราย ในขณะนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอะไรรั่ว หรืออะไรจะระเบิดก็ไม่รู้ ทุกคนรู้แค่ว่าต้องหนีเท่านั้น
ก็คิดอยู่นะ ว่าถ้ามันมีอะไรระเบิดจริงๆก็คงจะรอดยากละนะ แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก คิดได้ดังนั้นก็มองดูคนที่ทยอยลงจากรถต่อไป
ผู้คนเริ่มลงจากรถไปได้ครึ่งคันแล้ว ผมก็คงต้องเริ่มจะลุกกับเขาบ้าง ที่เบาะข้างหน้าเขาคงจะรีบมาก ก็เลยทำร่มหล่นไว้ ผมก็ถือลงไปด้วย เผื่อว่าจะเอาไปให้เขา (ใครก็ไม่รู้)
ระหว่างที่เดินไปหน้าประตู ก็เห็นผงสีขาวกระจายอยู่เต็มพื้น ได้กลิ่นฉุนจมูก กลิ่นแบบที่ดมนานๆคงจะแสบจมูก ข้าวของที่หล่นกระจายประปรายหน้าประตูรถ ผมลงมาพร้อมถือร่มชูขึ้นพยายามจะให้มีคนเห็น เรียกหาเจ้าของร่ม ก็ไม่เห็นจะมีใครสนใจ …ผมลืมนึกไปว่าในสถานการณ์แบบนี้ จะมีใครสนใจร่มของตัวเองล่ะ สุดท้ายก็เลยวางไว้แถวนั้น ต้องขออภัยจริงๆ ถ้าผมคิดได้ก่อนก็คงจะไม่หยิบลงมาด้วย…และถ้าคิดได้อีกทีก็คงเดินเอาไปวางที่เดิมให้
กระเป๋ารถ และคนขับยังดูเหตุการณ์อยู่ในรถ ผมก็ยืนดูอยู่สักพักไม่ถึงนาทีหรอก แต่เหมือนว่าจะไม่มีอะไรร้ายแรงมาก ก็มีคนเดินกลับเข้าไปขึ้นรถ ขณะที่มีเสียงคนหลายคนพูดกันระงมว่าใครจะเสี่ยงขึ้นไปอีก จริงๆเขาคงขึ้นไปหาของที่ทำหล่นละมั้ง แต่ก็อาจจะมีคนขึ้นไปนั่งต่อจริงๆก็ได้
ชีวิตในเมืองช่างดูไร้ทางเลือกจริงๆ ต้องกลับไปขึ้นรถที่เต็มไปด้วยสารเคมีที่กระจายออกมาเต็มรถ ผมพิจารณาดูแล้วว่าแค่เดินผ่านยังมีอาการแสบจมูก เลยเดินไปที่รถใต้ดินและยอมต่อรถไฟฟ้าอีกทีเพื่อไปถึงที่หมายแทนที่จะต้องไปนั่งสูดสารเคมีในรถ
สรุปกันหน่อย…
ผมเองได้เห็นผลจากการซ้อมตาย หรือที่เรียกว่า “การเจริญมรณสติ” ที่เคยทำอยู่บ่อยๆ มันทำให้เราใจเย็นลง ไม่รีบร้อน แต่ก็ไม่ประมาท เห็นและยอมรับทุกอย่างตามที่เป็นจริง วิเคราะห์เหตุการณ์ตามข้อมูลที่ได้รับมา และก็ไม่ได้เป็นทุกข์กับมัน
การทดสอบนั้นควรจะมาแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้เตรียมใจ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการที่เราพยายามวิ่งเข้าหามัน ทั้งในความจริง หรือการคิดจินตนาการ พิจารณาไปถึงความตาย หรือ มรณสติ
แบบทดสอบความพร้อมก่อนตาย คงไม่ได้มีมาทดสอบเราบ่อยนัก การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ได้รับ การตรวจสอบใจตัวเอง การย่อยและขยายผลเหล่านั้นให้เกิดปัญญา คือ คุณค่าที่เราจะได้รับจากแบบทดสอบนั้น บางคนมีโอกาสได้เผชิญกับภาวะเสี่ยงตายหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยได้พิจารณาลงไปถึงรากแห่งความกลัวที่จะต้องตาย ซึ่งน่าเสียดายโอกาสเหล่านั้นมากๆ
แบบทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป บางครั้งกับบางคน เพียงแค่เห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุในข่าว ก็สามารถเกิดปัญญาเข้าใจในเรื่องความตายได้แล้ว แต่บางคนผ่านการเฉียดตายมาหลายครั้งกลับไม่สามารถเข้าใจเรื่องความตายได้
การเจริญมรณสติ ไม่ได้ทำให้เรากล้า แต่ทำให้เรายอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นกับเรา
– – – – – – – – – – – – – – –
17.9.2557
ยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข
ระหว่างทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น ก็ต้องผ่านอะไรมากมาย สิ่งเหล่านั้นก็คือผลจากการกระทำของเราที่ผ่านมา ทั้งที่รู้และไม่รู้การจะไปถึงเป้าหมายโดยที่จะหลบเลี่ยงผลของการกระทำเหล่านั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย เรารู้จักกันในนามของ กรรม
เมื่อชีวิตเริ่มต้นขึ้นกรรมใหม่ก็ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของกรรมเก่าซึ่งส่งผลให้เกิดทางเลือกแห่งกรรมใหม่เรื่อยไป ในสมัยเด็กหลายคนอาจจะเคยทำสิ่งต่างๆไว้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี สิ่งเหล่านั้นหล่อหลอมเราให้เกิดเป็นปัจจุบันขึ้นและนั่นคือผลของกรรมที่เราได้ทำไว้ โดยจะเลือกทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามในชีวิตทุกวันนี้เรายืนอยู่บนพื้นฐานของกรรมทั้งนั้น
การเกิดของวิบากกรรมแต่ละอย่างนั้นมีเหตุ มีผลของมันเอง ซึ่งในระดับปุถุชน ธรรมดาสามัญอย่างเราก็คงจะไม่สามารถสืบสาวสาเหตุของกรรมใดๆ ที่ไม่ได้ทำได้ เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ชาวพุทธรับรู้กันเป็นส่วนมาก แต่จะเข้าใจในระดับไหนก็เป็นอีกเรื่อง สำหรับกรรมที่รู้สึกว่าฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่เคยทำ ผมได้ฟังครั้งแรกจากหมอเขียวด้วยประโยคที่ว่า “อย่าถามหาความยุติธรรมในชาตินี้ชาติเดียว” เพราะผลของกรรมนั้นส่งผลข้ามภพข้ามชาติ
“สิ่งที่เรารับอยู่ ก็คือสิ่งที่เราทำมา จะได้ดีหรือไม่ดี ล้วนเกิดจากสิ่งที่เราทำมาทั้งสิ้น จะเกิดจากสิ่งอื่นไม่มี (หมอเขียว.เทคนิคทำใจให้หายจากโรคเร็ว,20)”
ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา ล้วนมีเหตุและผลของมันเสมอ เราจึงควรยอมรับสิ่งต่างๆที่เข้ามาด้วยใจที่เป็นสุข พึงยอมรับว่าเราเคยทำมา เพราะนอกจากยอมรับแล้ว ทางเลือกอื่นดูจะเป็นทุกข์ทั้งนั้น การยอมรับทำให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เอาง่ายๆว่าทำใจได้ไวนั่นเอง
เล่าเรื่อง…
ครั้งหนึ่งที่ผมไปไหว้พระตามสถานที่ที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ ปกติแล้วตั้งแต่เด็กๆผมไม่เคยขอพรหรืออธิษฐานอะไร เพราะเชื่อว่าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอง การทำบุญไหว้พระขอพรให้ได้ตามกิเลสของตัวเองเป็นการลงทุนต่ำที่หวังกำไรมากเกินไปสักหน่อย
แต่ในครั้งนั้นคิดอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน สมัยนั้นยังไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาด้วย ผมได้ตั้งจิตขอประมาณว่า “ผมยินดีรับผลของกรรมต่างๆที่เคยทำไว้ทั้งหมด”
อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นได้ แต่ก็เป็นสิ่งทีดีกับตัวเองเพราะผมไม่เคยมีคำถามต่อจากนั้นเลยว่าทำไมชีวิตของผมต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้แบบนั้น อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องไปทุกข์ ไปเสียเวลาหาสาเหตุ ตั้งรับด้วยใจที่เป็นสุขอย่างเดียวก็พอ ง่ายกว่าเห็นๆ
สวัสดี