Tag: อนุตตริยสูตร

การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,678 views 0

คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ

ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก

เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า

หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า

“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)

เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน

การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง

ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ

ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก

ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น

พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก

แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย

เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง

สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ

ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก

การช่วยเหลือคนทุศีล

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,744 views 0

จากบทความที่กล่าวถึง การเลิกรับใช้คนชั่ว ก็มีคำถามเข้ามาว่า “แล้วถ้ามีคนมาขอเงิน และเค้าเป็นคนทุศีล แต่เราให้แค่ข้าวเค้าพอกิน 1 มื้อ เพราะถือว่าฝึกการทำทานแบบไม่เลือกไม่เจาะจง อย่างนี้ได้ไหมคะ หรือ ไม่ควรให้เลย

ตอบ : ถ้าผมเห็นชัดแล้วว่าเขาเป็นคนทุศีล เน่าใน ประพฤติชั่วจริง ก็จะไม่ให้การสนับสนุนใด ๆ เลยครับ

การไปยุ่งกับคนชั่วคนพาลนั้นในท้ายที่สุดก็จะเป็นการสร้างทุกข์ให้ตน ดังนั้นมงคลชีวิตประการแรกเลย ก็คือการห่างไกลคนพาล ก็คือคนทุศีลเน่าในเหล่านั้นนั่นแหละ

ทีนี้มานิยามคนทุศีลเพิ่มกันหน่อย คนทุศีลคือผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะถือศีล แล้วล่วงละเมิดศีลเหล่านั้นเป็นนิจ หรือคนที่ประกาศตนว่าจะเสียสละ แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นต้น คือคนที่ทำผิดจากธรรม แล้วไม่แก้กลับ ไม่กลับมาทำดี

แม้ใจเราจะบริสุทธิ์ แม้ทานที่เราให้จะบริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ มันก็ยังเหลือส่วนที่ไม่บริสทธิ์อยู่ดีนั่นเอง การห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นการอุดรูรั่วตรงนี้ คือเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี คบแต่คนที่ดีไปเลย โอกาสพลาดไปทำทานที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะลดลง

ส่วนการฝึกทำทานนั้น ทานในพุทธมีไว้เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นอันดับแรก คือทำกิจตนก่อน อีกส่วนคือกิจท่าน หรือประโยชน์ของผู้อื่น อันนี้เราควรจะศึกษาเรียนรู้ให้ดีว่าเราควรจะให้ทานนั้นแก่ใคร

ในอนุตตริยสูตร ได้กล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยียม การบำรุงก็คือการทำให้สิ่งนั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างว่า

“ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว”

จะเห็นว่าเราจะไปบำรุงส่งเสริมใครมั่ว ๆ ไม่ได้นะ เพราะจะกลายเป็นการบำรุงที่เลว ส่วนการบำรุงที่ดีคือการบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกนั่นเอง

การจะให้ทานที่ไม่เจาะจง ก็ควรจะตั้งทิศตั้งธงให้ชัดก่อนว่าจะให้ทานกลุ่มไหน เพราะจะมีกลุ่มที่ให้ไปแล้วไม่พาเราพ้นทุกข์กับกลุ่มที่พาเราพ้นทุกข์ เราก็ไม่เจาะจงในกลุ่มที่เราเห็นว่าดีนั่นแหละ คือไม่ใช่ยึดเอาตัวครูบาอาจารย์เป็นหลัก แต่ให้กระจายไปในกลุ่มคนดีนั้น ๆ

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,111 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด

December 1, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,388 views 0

ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ

“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า

“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”

… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด

“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”

… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด

“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป

จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล

จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท

แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา